ศาลนัดสืบพยาน ‘สาวเย็บผ้าเชียงใหม่’ คดีสหพันธรัฐไท ก.ค. 63

วันนี้ (7 ต.ค. 62) ศาลอาญารัชดาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่พนักงานอัยการสูงสุด เป็นโจทก์ฟ้อง นาง “อัมพร” (นามสมมติ) อายุ 50 ปี หญิงช่างเย็บผ้าในโรงงานจากจังหวัดเชียงใหม่ จากกรณีถูกกล่าวหาว่าได้ใส่เสื้อสีดำไปอยู่บริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัลในจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ในข้อกล่าวหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อกล่าวหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ด้านจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้นัดสืบพยานในวันที่ 29-31 ก.ค. 63 เวลา 9.00 น.

เวลาประมาณ 9.50 น. เมื่อผู้พิพากษาขึ้นนั่งพิจารณาคดี พนักงานอัยการได้แถลงขอรวมคดีนี้ กับคดีสหพันธรัฐไทอีกคดีหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล จังหวัดเชียงใหม่ เช่นเดียวกัน ซึ่งทางอัยการได้สั่งฟ้องคดีไปก่อนหน้านี้ และคดีมีกำหนดนัดสืบพยานที่ศาลอาญาในวันที่ 28-29 พ.ค. 63

แต่ทางทนายจำเลยของอัมพรได้แถลงว่าไม่สะดวกเข้าสืบพยานในวันนัดที่ได้นัดไว้อีกคดีหนึ่ง เพราะเป็นทนายคนละคณะกัน และแม้ผู้ต้องหาถูกตั้งข้อหาร่วมกัน แต่ไม่ได้มีความเกี่ยวพันกันแต่อย่างใด โดยที่พนักงานอัยการเอง ก็ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอรวมคดีเข้าไปในคดีดังกล่าวด้วย ศาลจึงให้พนักงานอัยการจัดการยื่นเอกสารเข้าไปให้เสร็จสิ้นก่อนในคดีนั้น

จากนั้นอัยการได้แถลงว่าในคดีนางอัมพร มีพยานเอกสารจำนวน 19 ฉบับ โดยเป็นพยานวัตถุแผ่นซีดี 5 แผ่น ซึ่งยังไม่ได้คัดสำเนามาจากสำนวนหลัก และพยานบุคคลที่ต้องนำเข้าสืบทั้งสิ้น 8 ปาก ทนายจำเลยได้แถลงคัดค้านที่โจทก์ยังไม่ส่งพยานวัตถุแผ่นซีดีให้คู่ความได้ตรวจก่อนการสืบพยาน ศาลจึงได้บันทึกคำคัดค้านดังกล่าวไว้

ในส่วนฝ่ายจำเลย ทนายได้แจ้งว่ามีพยานบุคคลที่ต้องการนำเข้าสืบทั้งสิ้น 1 ปาก โดยจำเลยอ้างตนเองเป็นพยาน และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันนี้ไม่สามารถรับข้อเท็จจริงระหว่างกันได้ รวมแล้วจึงมีพยานบุคคลที่คู่ความประสงค์จะนำสืบทั้งสิ้น 9 ปาก ศาลได้กำหนดนัดสืบพยานในวันที่ 29-31 ก.ค. 63


จำเลยเคยถูกคุมตัวเข้าค่ายทหาร ก่อนถูกดำเนินคดีครึ่งปีถัดมา

สำหรับคดีนี้ นางอัมพรได้เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวจากบ้านไปยังค่ายทหารในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 5 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-11 ธ.ค. 61 โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามมาตรา 44 เจ้าหน้าที่ได้มีการยึดโทรศัพท์มือถือของเธอไว้ และยังมีการนำกำลังทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเธอ โดยไม่ได้มีหมายค้น แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้พบสิ่งใดผิดกฎหมาย ต่อมาเธอยังถูกนำตัวไปสอบสวนที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนได้รับการปล่อยตัว โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด

จากนั้น เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 62 นางอัมพรได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปราม 2 นาย เข้าแสดงหมายจับและทำการจับกุมตัว ใกล้กับบริเวณบ้านของเธอในจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะนำตัวเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยมีลูกสาวติดตามมาด้วย และเจ้าหน้าที่ตำรวจได้คุมขังนางอัมพรไว้ที่กองบังคับการปราบปรามเป็นเวลา 1 คืน เช้าวันต่อมาพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาเธอ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 หรือข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 หรือข้อหาอั้งยี่ โดยแจ้งถึงพฤติการณ์การสวมใส่เสื้อสีดำ ที่มีลายธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว-แดง อันเป็นสัญลักษณ์ของธงของสหพันธรัฐไท ติดอยู่บริเวณอกข้างซ้าย ไปอยู่ที่บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2561 อันเป็นการแสดงว่าตนเองเป็นสมาชิกหรือแนวร่วมของกลุ่มองค์กรสหพันธรัฐไท

นางอัมพรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินจำนวน 2 แสนบาท ที่ญาติของอัมพรได้ทำการเช่าหลักทรัพย์เพื่อวางเงินประกันตัว

แต่ภายหลังเมื่ออัยการสั่งฟ้องคดีนี้ ในคำฟ้องไม่ปรากฏเรื่องที่นางอัมพรได้สวมเสื้อดำที่มีลายธงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสีขาว-แดง อันเป็นสัญลักษณ์ของธงของสหพันธรัฐไท ติดอยู่บริเวณอกข้างซ้ายแต่อย่างใด ปรากฏเพียงรายละเอียดการตรวจยึดเสื้อซึ่งเป็นของจำเลยอีกคนหนึ่งซึ่งถูกฟ้องว่ากระทำผิดร่วมกัน ขณะเดียวกันนางอัมพรก็ยืนยันว่าตนเองไม่ได้ใส่เสื้อที่มีลายสัญลักษณ์ดังกล่าวในวันดังกล่าวแต่อย่างใด เพียงแต่ใส่เสื้อสีดำธรรมดาเท่านั้น คดีนี้จึงต้องติดตามถึงการสืบพยานที่จะเกิดขึ้นต่อไป

จนถึงปัจจุบัน จากข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท แล้วอย่างน้อย 20 ราย โดยแยกเป็นจำนวนคดีอย่างน้อย 11 คดี อ่านกรณีทั้งหมดในรายงาน  1 ปี ความเคลื่อนไหวคดี ‘สหพันธรัฐไท’: ดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน ใน 11 คดี

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

อัยการฟ้อง “หญิงโรงงานเย็บผ้า” ข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ กรณีใส่เสื้อสหพันธรัฐไท

ตำรวจจับ ‘หญิงโรงงานเย็บผ้า’ จากเชียงใหม่ ดำเนินคดีม.116-อั้งยี่ กรณีใส่เสื้อสหพันธรัฐไทอีก

 

X