ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีชูป้ายสหพันธรัฐไทที่หน้าห้างมาบุญครอง หรือเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ในวันที่ 14 ก.ย. 2561 เวลา 9.00 น. คดีนี้อัยการสำนักงานอัยการสูงสุดยื่นฟ้องต่อศาลในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, เป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209, ชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตและชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตร จากวังของพระบรมวงศ์ตั้งแต่สมเด็จเจ้าฟ้าขึ้นไป ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 และ 10 และยังมีจำเลย 1 คนถูกฟ้องในความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากกรณีสวมเสื้อดำและชูป้ายสหพันธรัฐไทที่สกายวอล์คแยกปทุมวัน หน้าเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 โดยมีการสืบพยานในคดีนี้ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค. และ 21-22 ก.ค. 2563
เหตุในคดีเกิดขึ้นจากเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ได้มีกลุ่มบุคคลซึ่งใส่เสื้อสีดำมารวมตัวกันชูป้ายที่เป็นสัญลักษณ์ธงลายขาว-แดง มีข้อความ “Thai Federation” อยู่บริเวณสกายวอล์คหน้าห้างมาบุญครอง หรือเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับกลุ่มบุคคลขณะทำกิจกรรมดังกล่าวรวม 5 คน และติดตามจับกุมในวันต่อมาอีก 1 คน โดยมี 2 คน หลังถูกจับกุมได้ถูกควบคุมตัวไปยัง มทบ. 11 รวม 7 วัน โดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558
การสืบพยานตลอดระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 14-16 ก.ค. และ 21-22 ก.ค. 2563 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ศาลจดบันทึกสิ่งที่ทนายถามค้านอย่างครบถ้วนและรับฟังทนายกับจำเลยเป็นอย่างดี ไม่มีการห้ามจดหรือห้ามถามคำถามแต่อย่างใด
เดิมทีอัยการยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบในนัดตรวจพยานหลักฐาน จำนวน 13 ปาก มีพยานที่รับกันได้ จำนวน 4 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจปอท. แพทย์ผู้ตรวจร่างกาย และตำรวจสน.ปทุมวันซึ่งร่วมสอบปากคำ เหลือพยานเข้าสืบในชั้นศาลรวม 9 ปาก แต่มีพยานที่รับกันได้ในชั้นศาล 3 ปาก และมีการยื่นพยานโจทก์เพิ่มเติมเข้ามา 1 ปาก ซึ่งเป็นตำรวจที่จะเบิกความเกี่ยวกับหลักฐานข้อเท็จจริงในคดี โจทก์จึงมีพยานเข้าสืบรวมทั้งสิ้น 7 ปาก ในส่วนของจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานรวม 6 ปากและมีภรรยาของจำเลยที่ 3 และ 5 เป็นพยานอีก 2 ปาก รวมเป็น 8 ปาก ตลอดระยะเวลา 5 วันของการสืบพยาน มีการสืบพยานโจทก์และจำเลย ทั้งสิ้น 15 ปาก
คำฟ้องของโจทก์
พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2562 โดยบรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เวลากลางวัน จำเลยทั้ง 6 คนได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันวาระ กล่าวคือ
- จำเลยทั้งหก กับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายวัฒน์ วรรลยางกูร และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ ในคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการ ชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
- จำเลยทั้งหกกับพวกที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง บังอาจจัดชุมนุมทางการเมืองบริเวณ สกายวอร์ค มาบุญครอง โดยสถานที่นั้นอยู่ในรัศมี 150 เมตรจากวังสระปทุม อันเป็นที่ประทับของพระบรมวงศ์ชั้นสมเด็กเจ้าฟ้าเป็นต้นไป เป็นผู้ร่วมชุมนุมสาธารณะและเป็นผู้ร่วมจัด โดยไม่แจ้งการชุมนุมก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ ยูทูบ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร
ทั้งนี้ จำเลยให้การรับว่าไปในสถานที่เกิดเหตุแต่ปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง
(ภาพชูชีพ ชีวสุทธิ์ จากประชาไท)
คำเบิกความของพยานโจทก์
พยานโจทย์ปาก 1 พ.ต.ท.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ พยานปากผู้กล่าวหาและจับกุมจำเลย
เวลาเที่ยงตรง พยานได้นำกำลังไปเฝ้าดูกลุ่มสหพันธรัฐไท ที่สกายวอล์ค มาบุญครอง โดยปกติ 5 ธ.ค. เป็นวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 คนทั่วไปจะแสดงความจงรักภักดีด้วยการใส่เสื้อเหลือง แต่กลุ่มสหพันธรัฐมีเจตจำนงใส่เสื้อดำ โดยสกายวอล์ค เป็นจุดที่สร้างเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสัญจร มีการเชื่อมต่อแยกปทุมวันทั้งหมดไว้ด้วยกัน เชื่อม Siam Discovery สนามกีฬา หอศิลป์ MBK บริเวณดงกล่าวเป็น landmark บริเวณดังกล่าวยังมีวังสระปทุม ห่างจากจุดชุมนุม 100 เมตร พยานเห็นว่ามีคนราว 10 กว่าคน เห็นเป็นคนใส่เสื้อดำ และมีสัญลักษณ์แดงขาว เมื่อประชาสัมพันธ์ให้ยุติกิจกรรมแล้ว บางส่วนให้ความร่วมมือแต่บางส่วนต่อต้านตำรวจอย่างรุนแรง คือจำเลยในคดีนี้ พยานได้เชิญบุคคลที่ให้ความร่วมมือจำนวน 3 คน ไปยังสน.ปทุมวัน โดยมีจำเลยที่ 6 (นายธนชาติ) เป็นหนึ่งในนั้น ตำรวจขอให้นายธนชาติยุติการร่วมกิจกรรมและกลับที่พัก จากนั้นมีการลงบันทึกประจำวัน และปล่อยตัว
พยานกลับมายังสกายวอล์คอีกครั้ง โดยพบว่า 17.00 น. กลุ่มสหพันธรัฐไท ยังรวมตัวกัน 20 กว่าคน ไม่ยอมยุติกิจกรรม และเนื่องจากสถานที่เกิดเหตุกว้าง จึงทำให้มีผู้หลบหนีไปได้ โดยพยานเห็นผู้หญิง 2 คนนำธงออกไป ติดตามได้จากกล้องวงจรปิด แต่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ ทั้งนี้มีการจับกุมตัวจำเลย 5 คน มีการยึดโทรศัพท์และสติ๊กเกอร์สัญลักษณ์ไว้ได้ โดยจำเลยที่ 2 (ธีรพันธ์) และ 5 (อมรเทพ) เป็นผู้ร่วมเดินขบวนแห่ธงไปรอบๆสกายวอล์คและร่วมชูธง แต่ไม่ปรากฎภาพจำเลยที่ 3 (สมหมาย) หรือ 4 (คมหมาย) ได้ร่วมชักชวนหรือตะโกนแห่กับผู้ชุมนุม
สำหรับจำเลยที่ 6 (นายธนชาติ) ภายหลังมีการสืบสวนคดีต่อ โดยพบว่าเฟซบุ๊ก TONY JHAR (โทนี่จา) มีความเคลื่อนไหว โดยมีการ upload ภาพเคลื่อนไหวของเหตุการณ์วันที่ 5 ธ.ค. 2561 พยานสังเกตเห็น ธนชาติ เป็นผู้ถ่ายคลิป และเมื่อดูจากมุมที่ถ่ายในวงจรปิด จึงเชื่อได้ว่าคือภาพจากธนชาติ โดยดูจากมุมกล้องสถานที่ใกล้เคียง จึงรายงานผู้บังคับบัญชา ต่อมากองบัญชาการตำรวจนครบาลได้พิสูจน์ทราบ พยานจึงได้เข้าพบพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับ นายธนชาติ เป็นจำเลยที่ 6 ซึ่งมีการกระทำความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ด้วย
พยานโจทย์ปาก 2 พ.ต.ท.แทน ไชยแสง พยานปากตำรวจสันติบาล ฝ่ายสืบสวน
ร.ต.ท.แทน ไชยแสง เบิกความว่า มีหน้าที่สืบสวนติดตามกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. โดยเริ่มสืบสวนเรื่องสหพันธรัฐไทตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งกลุ่มสหพันธรัฐไท เป็นกลุ่มบุคคลที่หลบหนีหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปยังต่างประเทศ ได้แก่ นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง, นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายกฤษณะ ทัพไทย จากการติดตามพบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จัดตั้งกลุ่ม “สหพันธรัฐไท” และจัดรายการตามยูทูบ เพื่อปลุกระดมแนวร่วมในประเทศไทยให้เกิดการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเปิดให้สมาชิกโฟนอินเข้าไปในรายการได้ และมีการพูดคุยกันผ่านกลุ่มไลน์ แบ่งเป็น 10 มลรัฐ โดยสมาชิกจะมีบัญชีไลน์ SSS๑๑๒๑๑๒ สมาชิกแต่ละคนจะได้รับรหัสสมาชิก 8 หลัก โดย 4 ตัวแรกของรหัสมลรัฐ 4 ตัวสุดท้ายเป็นรหัสสมาชิก พยานยังได้ทำเอกสารแผนผังความเกี่ยวข้องของกลุ่มองค์กรสหพันธรัฐไทเอาไว้ด้วย
พยานเบิกความต่อว่า กลุ่มสหพันธรัฐไทได้มีการสั่งให้ปฏิบัติการ เช่น เผาพระบรมฉายาลักษณ์, ใส่เสื้อหรือหมวกสีดำที่มีสัญลักษณ์ธงสีขาวแดง โดยไม่มีสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงพระมหากษตริย์ ตามห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เกี่ยวกับการล้มล้างสถาบันกษัตริย์ โดยให้สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทออกมาอย่างพร้อมเพียงกัน ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวประชาชนทั่วไปจะใส่เสื้อสีเหลือง หากใส่เสื้อสีดำ จะเป็นการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานได้รับมอบหมายให้ไปสังเกตการณ์ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ที่มาบุญครอง
พยานโจทก์ปากที่ 3 นายพล จงเกรียรติกุล ทนายความ พยานความเห็นและได้อยู่ในเหตุการณ์
ตำรวจเชิญให้มาให้ความเห็นต่อพฤติการณ์ของจำเลย โดยเหตุการณ์คดีนี้เกิดขึ้นที่สกายวอล์ค ห้างสรรพสินค้ามาบุญครอง มีคนเข้าร่วมเยอะมาก กลุ่มคนใส่เสื้อดำ มีธงขาว-แดง มีคำว่า Thai Federation บนธง การชุมนุมนี้เป็นการชุมนุมเรียกร้องทางการเมือง เพื่อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลง ให้มีการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ บุคคลทั่วไปที่เห็นน่าจะถูกโน้มน้าวใจให้คล้อยตาม สิ่งที่เห็นคือมีการถือธงขาว-แดง พร้อมคำ
พยานรู้จักกลุ่มนี้ เนื่องจากเคยเข้าร่วมสอบปากคำ ผู้ต้องหาคดีนี้หลายครั้ง พบว่าพวกจำเลยต้องการล้มล้างสถาบัน นอกจากนี้เห็นว่าการที่กลุ่มคนหลายคนมารวมกันเกิน 5 คนขึ้นไป เป็นเรื่องผิดกฎหมาย ขณะที่อยู่ในเหตุการณ์มีเจ้าหน้าที่คอยควบคุมเหตุการณ์อยู่ พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่าพยานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความคุ้นเคยกันไปพยานเข้าออก เป็นทนายร่วมสอบสวนมากว่า 10 ปีและมีเป็นทนายของพล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล หัวหน้าชุดพนักงานสอบสวนในกลุ่มคดีสหพันธรัฐไท
พยานโจทก์ปากที่ 4 พ.ต.อ.ธีระชัย ชำนาญหมอ ตำรวจผู้สืบสวนและจับกุมจำเลยที่ 6 (ธนชาติ)
พยานเป็นผู้สืบสวนนายธนชาติ จากการใช้เฟซบุ๊ก TONY JHAR (โทนี่จา) จากการสืบสวนที่บริเวณสกายวอล์ค มีผู้ชุมนุมหลายสิบคน มีการแสดงธงสัญลักษณ์ ชูภาพถ่าย ใส่เสื้อดำ โดยในช่วงบ่ายวันที่ 5 ธ.ค. 2561 มีเหตุปะทะต่อสู้ขัดขวางกับตำรวจที่ขัดขวางการชุมนุม ช่วงเวลากลางคืนของวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ตัวพยานพบว่าเฟซบุ๊กดังกล่าวมีการโพสต์คลิปวิดีโอและภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นคลิปที่แสดงออกถึงการชุมนุมและคลิปที่เจ้าหน้าที่เชิญตัวผู้ชุมนุม มีการเขียนข้อความว่า “นี่คือชุดหัวหน้าตำรวจที่จับกุมประชาชนและมีลูกน้องอีกจำนวนหนึ่ง ร่วมปฎิบัติการจับกุม ละเมิดสิทธิมนุษยชนของประชาชน ทำตัวเป็นปฎิปักษ์ สน.ปทุมวัน” พยานประสานงานและได้ข้อมูลจากสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน หลังจากได้เห็นคลิป ทางเฟซบุ๊ก TONY JHAR (โทนี่จา) ประกอบการพฤติกรรมของนายธนชาติแล้ว จึงเชื่อว่า TONY JHAR น่าจะเป็นธนชาติ จึงสืบสวนและออกหมายค้นบ้านและที่ทำงาน
กระทั่ง 26 ธ.ค. 2561 ได้ไปรอพบธนชาติที่สถานที่ทำงาน บริเวณลานจอดรถ และเชิญตัวไปกองบังคับการสืบสวนสอบสวน มีการยึดคอมพิวเตอร์จากที่ทำงาน แต่ไม่ได้พบข้อมูลกรโพสต์เรื่องการกระทำความผิด ผู้บังคับบัญชาได้นำตัวธนชาติไปตรวจค้นที่บ้าน บริเวณทางเข้าบ้าน เคยมีการพ่นกำแพงเป็นรูปธง ขาว แดง แต่วันที่เข้าตรวจค้นถูกลบไป พยานพูดคุยกับธนชาติด้วยดี เมื่อพูดก็เริ่มยอมรับว่าคือ ตนคือผู้ใช้เฟสบุ๊ก TONY JHAR ธนชาติบอกว่ารับข้อมูลจาก โซเชียลมีเดียและยูทูป และเชื่อตามนั้น พยานอธิบายต่อธนชาติว่าการกระทำเช่นนี้อาจทำให้บุคคลอื่นที่ถูกพาดพิง แก้ตัวไม่ได้
ธนชาติยินยอมให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เข้าถึง Username และ password โดยพยานทำบันทึกถ้อยคำ ถอดเทป ระหว่างพยานกับธนชาติไว้ จากนั้นมีทหารเข้ามารับตัวธนชาติไป ส่วนพยานได้รวบรวมหลักฐานส่งสน. ปทุมวัน จากการสอบถามไม่พบความเกี่ยวข้องกับ จำเลยที่ 1-5 โดยธนชาติเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก TONY JHAR เพียงผู้เดียว
พยานโจทก์ปากที่ 5 พันตำรวจโท เสวก บุญจันทร์ พนักงานสอบสวนคดีสหพันธรัฐคดีอื่น
เหตุในคดีที่ตนรับผิดชอบเกิดระหว่างวันที่ 8 มิ.ย.-12 ก.ย. 2561 พ.ต.ท. เสวก เบิกความว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้ แต่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีสหพันธรัฐไทคดีซึ่งมีนายกฤษณะ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ในคดีดังกล่าว กฤษณะกับพวกได้รวมกลุ่มกันตั้งกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งมีแนวความคิดต่อต้านรัฐบาล คสช. และมีวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศ จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐ โดยพยานมีความเห็นทางคดีว่า การกระทำที่เป็นการเผยแพร่แนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฐานเป็นอั้งยี่ จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีดังกล่าว กฤษณะ หนึ่งในจำเลยในที่ตนเป็นพนักงานสอบสวน มีการอัดรายการเผยแพร่ทางยูทูป สนามหลวง๒๐๐๘ และเพจสหพันธรัฐไท กับเรื่องลึกลับของทรราช โจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เผยแพร่แนวคิดสหพันธรัฐไท โดยแอคเคาท์ยูทูป สนามหลวง ๒๐๐๘ มีผู้ดำเนินรายงานคือ วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ ชูชีพ ชีวิสุทธิ์ สยาม ธีรวุฒิ วัฒน์ วรรณยางกูร และ กฤษณะ ทับไทย จำเลยคนอื่นๆในคดีดังกล่าวมีการทำเสื้อ แจกใบปลิวและสติ๊กเกอร์ โดยในคดีนั้นศาลพิพากษา ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่นแต่ลงโทษจำคุก นายกฤษณะและวรรณภา, ในข้อหาอั้งยี่ 3 ปี ส่วนนายเทอดศักดิ์และนางประพันธ์ จำคุก 2 ปี เนื่องจากรับสารภาพในชั้นสอบสวน
พยานโจทก์ปากที่ 6 ร.ต.ท. ปรีชา เข็มศิริ พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวน
ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 มีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ ก็คือ พตท.อาทิตย์ ซิ้มเจริญ กับพวกได้ร่วมกันจับกุมตัว จำเลยที่ 1-5 มีการแจ้งข้อหาในความผิด ฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 และร่วมกันชุมนุมสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต,ร่วมกันชุมนุมในรัศมี 150 เมตรจากวังของพระบรมวงศ์ตั้งแต่ชั้นเจ้าฟ้าขึ้นไป และข้อหายุยงปลุกปั่น จำเลยที่ 2-5 ส่วนจำเลยที่ 1 มีทหารรับตัวไปควบคุม พยานได้นำผู้ต้องหาไปพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อตรวจประวัติอาชญากร โดยพบประวัติเคยกระทำผิดของนายสมหมาย ภายหลังยังมีการแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมต่อจำเลยทั้ง 5 คน ในข้อหาความผิดฐานอั้งยี่
พยานอธิบายว่าสกายวอล์คเป็นทางเชื่อมห้างหลายห้าง โดยบริเวณใกล้เคียงเป็นวังสระปทุม ที่ประทับของพระเทพ อยู่บริเวณ Siam Discovery จากจุดชุมนุมถึงวัง มีระยะ 130 เมตร หากจะชุมนุม 150 เมตร ต้องชุมนุมอยู่หน้าห้างมาบุญครอง ในส่วนของจำเลยที่ 6 มีการสืบทราบว่ามีผู้ใช้เฟซบุ๊ก TONY JHAR เพื่อปลุกระดมความเคลื่อนไหวทางการเมือง จากรายงานการสืบสวน พบว่าเฟซบุ๊กนี้ โพสต์ภาพในการกระทำความผิด ทั้งยังได้สืบทราบว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กนี้คือ นายธนชาติ จึงมีการไปขอศาลออกหมายจับ และมีการแจ้งข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แก่จำเลยที่ 6 เนื่องจากมีคลิปวิดีโอ 2 คลิป เป็นคลิปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมจำเลยที่ 1-5 พร้อมข้อความว่า “ที่ sky walk ตำรวจประเทศไทยเป็นแบบนี้ พี่น้องคนไทยทั่วประเทศ เราแค่ใส่ดำครับ ตอนนี้สหายเรา 5-6 คน ถูกตำรวจ สน.ปทุมวัน จับไปตอนนี้ ไม่ทราบชะตากรรม แต่เราจะไม่ปล่อยให้เพื่อนๆเราถูกจับไปฟรีๆ ใช่ไหมครับพี่น้อง” ทั้งนี้พยานมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งหมดในข้อหาตามที่ได้มีการแจ้งความดำเนินคดีไปข้างต้น
พยานโจทก์ปากที่ 7 ร.ต.อ. กรัณฑ์วาริษฐ์ สมจันทร์ พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวน
พยานเกี่ยวข้องเป็นพนักงานสอบสวน ขณะเกิดเหตุรับราชการสน. ปทุมวัน ทำหน้าที่รวบรวมพยานหลักฐาน วันที่เกิดเหตุมีการให้พนักงานสอบสวนไปร่วมสอบสวน ผู้สอบสวนหลักคือ รตอ.ปรีชา ไม่ทราบรายละเอียดลึกๆ แต่ทราบว่าพวกจำเลยอยากเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองราย ในวันดังกล่าวได้สอบสวนจำเลยที่ 4 (คม) ในวันดังกล่าวจำเลยที่ 4 ใส่เสื้อสีดำและไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อในเอกสารต่างๆ
ข้อสังเกตจากห้องพิจารณา
ตำรวจยืนยันว่ามีการติดตั้งป้ายห้ามชุมนุมบริเวณสกายวอล์คแต่ไม่มีภาพมาแสดงต่อศาล
พ.ต.ท.อาทิตย์ พยานปากผู้กล่าวหา ยืนยันต่อศาลว่ามีการติดตั้งป้ายห้ามชุมนุมภายในระยะ 150 เมตร บริเวณสกายวอล์คและมีการประกาศอยู่ในเว็บไซต์เฟซบุ๊กของสน.ปทุมวัน โดยเหตุที่มีการติดตั้งป้ายเพราะตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา มักมีการชุมนุมบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้นายพล พยานโจทก์ผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้ตอบทนายจำเลยว่าไม่พบป้ายห้ามชุมนุมบริเวณดังกล่าว
ระยะ 150 เมตร คือระยะจากบริเวณที่ชุมนุมถึงรั้ววังไม่ใช่ที่ประทับ โดยวัดในแนวระนาบไม่ใช่แนวทะแยง
พ.ต.ท.อาทิตย์ พยานปากผู้กล่าวหารับว่าบริเวณหอศิลป์ตั้งอยู่ใกล้เขตพระราชฐานมากกว่าจุดที่ชุมนุม โดยเจตนารมณ์ของพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อไม่ให้มีเสียอกทึก รบกวนเข้าไปยังเขตพระราชฐาน อย่างไรก็ดี 150 เมตร คือระยะจาก skywalk ถึงรั้ววังสระปทุม ส่วนระยะจากรั้วถึงที่ประทับจะมีระยะเท่าใด พยานไม่ทราบ นอกจากนี้พ.ต.ท.อาทิตย์ยังรับว่าในการตรวจสอบวัดระยะทางจากสกายวอล์คถึงรั้ววัง เป็นการวัดแต่แนวระนาบ โดยหากทำการวัดระยะแนวแทยง จะมีความยาวกว่าแนวระนาบพยานรับว่าโดยปกติมีการชุมนุมบริเวณลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ อยู่เสมอ แต่พยานไม่เคยจับกุมใครและไม่เคยเป็นพยานในคดีเกี่ยวกับการชุมนุม
ในส่วนร.ต.อ. ปรีชา พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ได้เบิกความตอบทนายจำเลยเรื่องระยะห่างของวังกับจุดชุมนุมว่า บริเวณใกล้เคียงกับจุดชุมนุมเป็นวังสระปทุม ซึ่งเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเทพ โดยมีระยะ 130 เมตร ซึ่งเป็นระยะที่ตำรวจเคยวัดไว้ในคดีอื่น โดยหากจะชุมนุมให้เกิน 150 เมตร จะต้องชุมนุมบริเวณหน้าห้างมาบุญคลอง อย่างไรก็ดียังไม่เคยมีการวัดในแนวทะแยงว่าจะมีระยะทางเท่าใด
ตำรวจเชื่อว่าจำเลยที่ 1 (สมชัย) เป็นผู้จัดการชุมนุมแม้ไม่พบหลักฐานว่าเป็นผู้เชิญชวนคนมาร่วมในทางใดทางหนึ่ง
ทนายจำเลยถามพยานปากผู้กล่าวหาว่า ตามพ.ร.บ.ชุมนุม ผู้ชี้ชวน เชิญชวนจะถูกนับว่าเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่สมชัยในคดีนี้ไม่ได้เป็นผู้เชิญชวน คนมาร่วมตาม ทำไมจึงมีข้อหา พยานตอบว่า ตอนจับแจ้งจำเลยแล้วว่าผิดกฎหมาย โดยตำรวจเชื่อว่าสมชัยเป็นผู้จัดการชุมนุมและเชื่อว่าประชาชนตรงนั้นร่วมกันจัดการชุมนุม ทั้งนี้พยานตำรวจผู้กล่าวหายังเบิกความว่าได้โต้เถียงอย่างรุนแรงกับจำเลยที่ 1 อีกด้วย ในส่วนคำเบิกความของร.ต.อ.ปรีชา พนักงานสอบสวนรับว่าผู้ที่จะเป็นผู้จัดการชุมนุมตามกฎหมายจะต้องเป็นผู้ทำหน้าที่แจ้งการชุมนุม แต่ในการจัดการชุมนุมวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ต่างคนต่างเดินทางมา
จำเลยที่ 6 (ธนชาติ) โพสต์คลิปตำรวจจับผู้ชุมนุมและโพสต์ภาพตำรวจผู้จับกุม จึงถูกแจ้งความพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
พ.ต.ท.อาทิตย์ พยานปากผู้กล่าวหา เบิกความว่าในวันที่ 4 ธ.ค. 2561 เฟซบุ๊ก TONY JHAR (โทนี่จา) ได้แชร์โพสต์ข้อความเชิญชวนมาชุมนุมในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 จำเลยที่ 6 โพสต์ภาพถ่ายของพยานและเจ้าพนักงานตำรวจที่จับกุมพวกจำเลยในเฟซบุ๊ก และมีการเชื่อมโยงไปยังเฟซบุ๊กของสหพันธรัฐไท แต่รับว่าผู้ที่เป็นคนเชิญชวนให้แสดงสัญลักษณ์ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 คือ ลุงสนามหลวง ซึ่งออกอากาศผ่านยูทูป ทั้งนี้พ.ต.อ.ธีระชัย พยานตำรวจผู้สืบสวนและจับกุมจำเลยที่ 6 ตอบทนายจำเลยไว้ว่า การโพสต์รูปตำรวจของจำเลยไม่เหมาะสม ทั้งนี้ ไม่อาจบอกได้ว่าในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 มีคนมาชุมนุมกันเพราะโพสต์เชิญชวนของจำเลยที่ 6 หรือไม่
การปกครองแบบสหพันธรัฐ เป็นระบอบปกครองที่สามารถมีกษัตริย์ได้
พ.ต.ท.อาทิตย์ พยานปากผู้กล่าวหา ตอบทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับระบบการปกครองว่า การปกครองแบบสหพันธรัฐ ซึ่งแบ่งเป็นมลรัฐนั้น อาจจะเป็นการปกครองแบบประธานาธิปดีแบบสหรัฐอเมริกาหรือมีพระมหากษัตริย์แบบอังกฤษก็ได้
ไม่พบรายงานสืบสวน ถึงความเกี่ยวข้องระหว่างจำเลยกับกลุ่มแกนนำสหพันธรัฐไท
พ.ต.ท.อาทิตย์ พยานปากผู้กล่าวหา รับว่า ในการสืบสวนไม่พบจำเลยทั้งหกเกี่ยวข้องประชุมวางแผนกับแกนนำกลุ่มสหพันธรัฐไทที่ได้ถูกฟ้องร่วมกันในคดีนี้ และไม่มีหลักฐานว่าพวกจำเลยจะมีความเกี่ยวข้องเป็นสมาชิก เช่นเดียวกับร.ต.ท.แทน ตำรวจสันติบาลผู้รวบรวมข้อมูลทั้งหมดขององค์กรสหพันธรัฐไท เบิกความตอบทนายจำเลยว่าตำรวจแบ่งกลุ่มสหพันธรัฐเป็น 3 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มแกนนำ ซึ่งเป็นผู้ชี้นำทางความคิด
ส่วนพวกจำเลยเป็น
ประชาชนที่เดินผ่านไปมา อาจจะไม่ทราบเรื่องกิจกรรมและความหมายของสัญลักษณ์ขาวแดง
พ.ต.ท.อาทิตย์ พยานปากผู้กล่าวหาและร.ต.อ.ปรีชา พนักงานสอบสวน รับว่าแม้มีการแจกสติ๊กเกอร์และชูแถบผ้าขาวแดง แต่ประชาชนที่สัญจรไปมาบริเวณสกายวอล์คหากไม่ใช่ผู้เข้าร่วมชุมนุม ก็อาจจะไม่เข้าใจ ทั้งนี้ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ประชาชนทั่วไปอาจจะไม่ได้ใส่เพียงเสื้อสีเหลืองเท่านั้น ทนายจำเลยให้พยานดูภาพถ่ายที่ถูกถ่ายโดยตำรวจชุดต่างๆ พยานรับว่า เสื้อผ้าที่ประชาชนทั่วไปสวมใส่ในวันดังกล่าว ไม่ได้มีเพียงสีเหลืองแต่มีสีอื่นๆด้วย
ทางด้านร.ต.ท.แทน พยานปากตำรวจสันติบาลยังเบิกความว่าประชาชนที่ไม่ได้ติดตามทางยูทูปและแอพพลิเคชั่นไลน์จะไม่สามารถรับรู้เกี่ยวกับกิจกรรมหรือ วันเวลาที่นัดหมายกันของกลุ่มได้ นอกจากนี้สติ๊กเกอร์ที่ประชาชนได้รับแจก แต่ไม่มีข้อความใดใด ไม่อาจทำให้ประชาชนเข้าใจความหมายของการตั้งองค์กรได้
คำว่า Thai Federation อาจถูกใช้ในความหมายอื่นด้วย แต่พยานไม่ทราบ
ทนายจำเลยได้ยกตัวอย่าง กลุ่มธุรกิจ สมาพันธ์ สมาคม อุตสาหกรรม ใช้ภาษาอังกฤษว่า federation เกือบทั้งหมด ให้พยานฟัง โดยถามว่าพยานเคยได้ยินคำเหล่านี้หรือไม่ พยานตำรวจปากผู้กล่าวหาตอบว่าเคยได้ยินแต่คำภาษาไทย ส่วนพยานโจทก์ทนายความผู้ให้ความเห็นตอบว่าไม่เคยทราบมาก่อนว่ามีการใช้ในหน่วยงานอื่น
ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 ก่อนและหลังการชุมนุมของพวกจำเลย ไม่ปรากฎความรุนแรงหรือวุ่นวาย
แต่ก็เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
พ.ต.ท.อาทิตย์ พยานปากผู้กล่าวหา ตอบทนายจำเลยถาม ว่าในวันดังกล่าวไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ไม่มีการลุกฮือของคนหรือการแตกตื่น อย่างไรก็ตามพ.ต.ท.อาทิตย์ ตอบอัยการถามติงว่าแม้การกระทำดังกล่าวไม่พบว่ามีความวุ่นวายหรือรุนแรงแต่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย สอดคล้องกับร.ต.ท.แทน ตำรวจสันติบาล ซึ่งตอบทนายจำเลยว่าไม่ปรากฎข้อมูลในทางสืบสวนว่าจำเลยทั้ง 6 จะเข้าไปเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการรุนแรง เช่นการเผาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ หรือแม้แต่การทำสติ๊กเกอร์ เสื้อ และใบปลิวแจกจ่าย ทางด้านร.ต.อ.ปรีชา พนักงานสอบสวนก็เบิกความไปในทางเดียวกันว่าการชุมนุมของพวกจำเลยไม่มีความรุนแรง การใช้เครื่องขยายเสียงหรือการปราศรัยแต่อย่างใด
(ภาพธงในที่เกิดเหตุ จาก ประชาไท)
เปิดคำเบิกความจำเลย: ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างและไม่ได้ตั้งใจจะมาชุมนุม 2 ใน 6 คนถูกนำตัวซักถามในค่ายทหาร 7 วัน
จำเลยที่ 1 (สมชัย) : ช่วยถือป้ายขาวแดงตามคำขอของผู้ชุมนุม ยืนยันในวันนั้นเดินทางไปรอรับลูกเรียนพิเศษ
จำเลยเป็นข้าราชการ วันเกิดเหตุ 5 ธ.ค. 61 เช้า 8 โมง ไปส่งลูกสาวคนเล็ก กวดวิชาที่พญาไท โดยลูกนัดให้มารับตอนเย็นที่สยามแสควร์ บ่าย 3-5 โมงเย็น หลังส่งลูกสาวเสร็จก็กลับบ้าน แล้วเที่ยงกว่า บ่ายโมงก็ไปรับลูก โดยจอดรถที่โลตัส พระราม 1 จากนั้นก็ทานข้าวเที่ยงและเดินเล่นฆ่าเวลา ระหว่างทางเดินเข้าไปหอศิลป์ มีการประกวดภาพถ่ายแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ออกจากหอศิลป์ 4 โมงกว่า จำเลยแวะสกายวอล์คนั่งเล่นแถวนั้นราว 16.40 น. ผู้หญิง 2 คน เดินมาขอให้ถือป้ายผ้าใหญ่มาก โดยจำเลยเห็นว่าป้ายใหญ่มาก จะช่วยถือก็ไม่น่าเป็นไร โดยทั้งสองคนบอกว่าจะถ่ายรูปนำไปตกแต่งที่ทำงาน จำเลยได้ดูคำบนธงเขียนว่า Thai Federation การถ่ายใช้เวลาไม่นาน มีภาพเคลื่อนไหวโดยให้เดินวนรอบสกายวอล์คและภาพนิ่ง เมื่อให้ผ้าคืนไป ผู้หญิงทั้งสองก็รับธงแล้วก็เดินจากไป
หลังจากนั้นจำเลยยังยืนอยู่บริเวณนั้นซักพักนึง มีผู้ชาย 2 คนเดินมาแจกกระดาษแผ่นเล็กๆ คิดว่าเป็นแผ่นโฆษณา ไม่ได้ทิ้งเพราะไม่มีที่ทิ้ง โดยรับไว้และเก็บไว้ในกระเป๋ากางเกงยังไม่ทันได้ดู สักครู่ก็มีผู้ชายคล้ายจะเป็นตำรวจมาจับกุม และจับกุมคนที่อยู่รอบๆ ด้วย จำเลยไม่ได้หนี ไม่ได้ขัดขืน ได้ถามตำรวจว่าจับข้อหาอะไร ตำรวจไม่บอก ไม่แจ้งสิทธิ์ จะใส่กุญแจมืออย่างเดียว ตำรวจพาไปนั่งรถที่จอดอยู่ล่างสกายวอล์ค เมื่อถึงโรงพักตำรวจค้นกระเป๋ากางเกงก่อน พบกระดาษที่ได้รับแจก หน้าหนึ่งเป็นขาว แดง ขาว อีกหน้าเป็นขาวล้วน ไม่มีข้อความ จำเลยไม่ทราบความหมายอะไร
ตำรวจได้ยึดมือถือรุ่นเก่าของจำเลยและขอเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์ โดยให้เซ็นยินยอม จำเลยก็ให้ความร่วมมือทุกประการ ภายหลังตรวจค้น ถ่ายรูป เสร็จแล้วยังไม่มีการสอบปากคำ ไม่แจ้งสิทธิ์หรือข้อกล่าวหา ไม่พูดอะไรให้นั่งรออย่างเดียว จำเลยแจ้งตำรวจว่าจอดรถยนต์ไว้ที่โลตัสพระราม1 ตำรวจจึงพาไปเอารถ ซ้อนมอเตอร์ไซต์ นอกเครื่องแบบไป ตำรวจตรวจรถทุกซอกทุกมุมทั้งภายในภายนอก แต่ไม่พบสิ่งผิดกฎหมาย จึงขับรถมาจอดไว้ที่หน้าสถานีตำรวจปทุมวัน ตอนนั้นเป็นเวลาเกือบ 5 ทุ่มครึ่ง ตำรวจนำตัวผู้ต้องหาทั้งหมด พร้อมบันทึกการจับกุม มาส่งมอบให้พนักงานสอบสวน พยานอ่านแล้วพบว่าบันทึกจับกุมไม่ตรงกับความเป็นจริง จึงขอไม่เซ็น ที่เซ็นไปแล้วขอให้เขียนว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง
จำเลยถูกพาเข้าค่ายทหารเพื่อซักถาม 7 วัน ระหว่างวันที่ 5-11 ธ.ค. 2561
ขณะที่กระบวนการที่สถานีตำรวจยังไม่เสร็จสิ้น จำเลยเห็นทหารเปิดประตูห้องสอบสวนเข้ามา และถามว่าใครชื่อสมชัย จำเลยจึงยกมือ หลังจากนั้นทหารพาตัวออกไปจากห้องสอบสวนและบอกตำรวจให้ทำบันทึกส่งตัว ก่อนจะเอาขึ้นรถ โดยตำรวจบอกทหารว่าให้ไปรถตำรวจ โดยมีตำรวจนั่งไปด้วย และมีรถทหารนำไป ในเวลาราว 5 ทุ่ม 45 ทหารไม่ได้แจ้งอะไร ใช้คำว่าไปพูดคุยและไม่แจ้งว่าจะพาไปไหน แต่จำเลยเห็นป้ายว่าสถานที่ที่ถูกพาตัวมาคือ มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ไปถึงราวเที่ยงคืน มีแพทย์ทหารมาตรวจร่างกาย มีห้องโล่งๆ มีโต๊ะ ที่นอนเป็นเตียงทหาร ไม่มีมุ้งลวด เป็นหน้าต่างโล่งๆ
จำเลยให้การในค่ายทหารว่า ไม่ใช้ Social media ไม่ได้ฟังรายการยูทูป ทหารอยากรู้ทำไมจึงถือป้าย จำเลยบอกแค่ช่วย ทหาร 4 นาย นอกเครื่องแบบมาถามถึงสภาวะเศรษฐกิจ ถามแนวความคิดเกี่ยวกับการปกครอง ห้องที่สอบเป็นห้องมืด พยานไม่ทราบกี่โมง อาจใกล้เช้า ทหารปลุกอาบน้ำ กินข้าวเช้า ราว 7 โมง ทหารเข้ามาถามไม่ซ้ำทีม แต่ถามซ้ำไปซ้ำมา คำถามเดิมๆ ทหารยังถามว่าเป็นสมาชิกสหพันธรัฐหรือไม่ แต่จำเลยยืนยันว่าไม่ใช่และไม่ทราบเรื่องว่ามีระบบสมาชิกด้วย
วันท้ายๆของการอยู่ในค่ายทหาร ยังถูกกักอยู่ในฉากกั้น เตียงนอน มีอาหารเช้า กลางวัน เย็น ก่อนกินข้าวต้องถ่ายรูปทุกมื้อ จำเลยกลัวมาก ระหว่างนั้นทหารไม่ให้ติดต่อญาติ จำเลยเคยขอใช้โทรศัพท์แต่ทหารไม่ให้
เช้าวันที่ 11 ธ.ค. 2561 มีทหาร 2 นาย ถือเอกสารมาเป็นปึก เอกสารอ่านยากเพราะมืด จำเลยเซ็นโดยไม่ได้อ่าน เอกสารจำนวนมาก ทหารบอกว่าจะปล่อยหากเซ็นชื่อในเอกสาร เอกสารตัวเล็กมาก เมื่อได้ยินว่าจะถูกปล่อยจึงรีบเซ็น เซ็นเสร็จ มีแพทย์ตรวจร่างกายและให้รอผู้การนำตัวไปปล่อย
จำเลยที่ 2 (ธีรพันธ์) : มีคนมาขอให้ช่วยถือธงถ่ายภาพ ขณะจำเลยมารอรับแฟนซึ่งทำงานอยู่ในห้างมาบุญครอง
จำเลยเคยเป็นลูกจ้าง ช่วงเกิดเหตุตกงานและกำลังฝึกวิชาชีพตัดผมอยู่ ตอนนั้นแฟนทำงานคนเดียว วันที่ 5 ธ.ค. 2561 8 โมงเช้าไปส่งแฟนทำงานที่มาบุญครองจากนั้นกลับมาที่ห้องพักจนแฟนไลน์มาให้ไปรับ จึงออกมาราวบ่าย 3 ครึ่ง เดินขึ้นมาชั้น 2 ตรงสกายวอล์ค มองเห็นคนชูธง ตอนนั้นใส่เสื้อดำโดยลืมไปว่าวันนี้วันอะไรเพราะกำลังเครียดกับการหางาน จำเลยเป็นพวกหาเช้ากินค่ำ แม้มองเห็นคนชูธง แต่ยังไม่รู้ว่าคนทำอะไรกัน จากนั้นมีผู้หญิงสูงอายุมาขอให้ช่วยถือธง เขาบอกว่าเป็นการเรียกร้องอยากให้มีการเลือกตั้ง จำเลยไม่รู้ความหมายบนธงแต่อย่างใด
ป้าบอกว่าจะให้ข้าวกล่องกิน จำเลยคิดว่าประหยัดดี จึงตกลง มีการแปะสติ๊กเกอร์บนเสื้อ เนื่องจากป้าให้แปะ ตอนนั้นรู้สึกไม่ค่อยมีเงิน จึงคิดว่าได้ข้าวก็หยัดดี เขาบอกว่าให้ถือธงเพราะจำเลยสูงและบอกอยากถ่ายภาพเก็บไว้ จำเลยเข้าใจว่าเป็นการเรียกร้องการเลือกตั้ง นอกจากแค่ถ่ายรูปไม่ได้บอกอะไรเลย ก่อนมาที่นี่ไม่เคยเจอคนเหล่านั้นมาก่อน ไม่เคยได้ยินชื่อเฟซบุ๊ก ไลน์หรือยูทูป สหพันธรัฐมาก่อนเลย
จำเลยถือป้ายอยู่ราว 30 นาที และยังรอข้าวกล่อง แต่สักพักตำรวจนอกและในเครื่องแบบ บุกจับจำเลย ขณะนั้นไม่มีการก่อให้เกิดความวุ่นวายอะไร ตัวพยานไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ตำรวจพูดคำเดียวว่าไปสถานีตำรวจก่อน
ถูกจับกุมแต่ยังมั่นใจในความบริสุทธิ์ของตนเอง
ตอนโดนจับไป โดนจับไป 4-5 คน จำเลยรู้สึกตกใจมาก จำเลยไปด้วยดีไม่ขัดขืนเพราะมั่นใจว่าตนเองบริสุทธิ์ ไปถึงสน. ก็นั่งรอเงียบๆรอไปเรื่อยๆ มีการใส่กุญแจมือจำเลย นั่งรอราวหนึ่งชั่วโมง ตำรวจจึงมาถามข้อมูล โดยยังนั่งรวมกัน มีการตรวจค้น โทรศัพท์ สติ๊กเกอร์ กระเป๋าเงิน ตอนแรกไม่ให้ติดต่อใครและไม่ให้เหตุผลอะไร จำเลยขอร้องตำวจคนหนึ่งว่า วันนั้นจำเลยไม่ได้กินข้าวเที่ยง รวมถึงข้าวเย็น
เวลาราว 4 ทุ่ม จำเลยถูกจับแยกสอบสวน โดยเป็นตำรวจในเครื่องแบบ 2 คน นอกเครื่องแบบ 4 คน นั่งถามเกี่ยวกับสหพันธรัฐ ถามวนไปวนมาโดยยังไม่แจ้งสิทธิ์ใดๆ ตอน 5 ทุ่ม ตำรวจถามว่าจะยอมรับหรือปฏิเสธ จำเลยไม่ค่อยเข้าใจข้อกล่าวหาว่าตัวเองถูกจับข้อหาอะไร เวลาใกล้เที่ยงคืน ตำรวจปริ้นเอกสารมาบอกว่าเซ็นให้จบๆ ไปจะได้ไปรับแฟน มีการบันทึกจับกุมมาให้เซ็นชื่อ โดยพยานไม่ได้ลงชื่อในบันทึกการจับกุม ไม่ลงเนื่องจากเอกสารไม่มีอะไรให้อ่าน
ตำรวจไม่แจ้งสิทธิ์ทั้งตอนจับและตอนรับทราบข้อกล่าวหา ขณะนั้นจำเลยเป็นเวลาดึกแล้ว จำเลยอ่านไม่ไหวและยังไม่ได้ทานข้าว รู้สึกตาลาย ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาที่เขียนว่าไม่ประสงค์ใช้ทนายความ จำเลยไม่ได้ตอบเอง เป็นการพิมพ์ขึ้นมาเอง การตอบพนักงานสอบสวนในเอกสารไม่ได้มาจากคำตอบของจำเลย คำถามตำรวจที่ว่าก่อนเกิดเหตุ ใครนัดที่ไหน เมื่อไหร่ จำเลยตอบว่าไม่เกี่ยวข้อง ไม่ได้ตอบไม่ทราบตามเอกสาร
จำเลยถูกนำตัวเข้าห้องขังในโรงพัก ตอนเช้ายังมีการสอบต่อ แต่จำไม่ได้ว่ามีการให้ลงชื่ออีกหรือไม่ จำเลยถูกยึดโทรศัพท์ แต่ตำรวจไม่ได้แจ้งว่ามีของผิดกฎหมายอะไร ปัจจุบันยังไม่ได้มือถือคืน หลังจากนั้นมีการเรียกไปแจ้งข้อหาอั้งยี่เพิ่มเติม วันที่แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม ไม่ให้โทรศัพท์หรือแจ้งสิทธิ์เช่นเคย ในบันทึกแจ้งสิทธิ์ จำเลยไม่ได้เซ็นเพราะไม่ได้รับแจ้ง ในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม จำเลยไม่เข้าใจข้อกล่าวหา จึงไม่ลงลายมือ
หากจำเลยทราบว่ากลุ่มที่นั่นจะล้มล้างสถาบันจะไม่เข้าไปเด็ดขาด อีกทั้งหากพูดถึงวัง จำเลยนึกถึงวังสวนจิตและวังตรงวัดพระแก้ว บริเวณสกายวอล์คพยานไม่เห็นว่ามีวังเห็นแต่ห้าง ในวันเกิดเหตุ พยานไม่เห็นป้ายห้ามชุมนุม หรือติดประกาศว่าเป็นรัศมี 150 เมตรจากวัง ตำรวจไม่ได้เข้ามาบอกว่าห้ามชุมนุม
จำเลยที่ 3 (สมหมาย) : จำเลยช่วยถือธงโดยไม่ได้ทราบความหมายของคำบนธงขาว-แดง ถูกจับไปทั้งครอบครัว
จำเลยขับมอเตอร์ไซต์รับจ้าง ขณะเกิดเหตุภรรยาขายกับข้าวถุง ในวันเกิดเหตุพาภรรยากับลูกชายไปทานข้าวที่มาบุญคลองและเดินเล่นก่อนเที่ยง และกำลังจะเดินไปดูปลาที่โอเชียนเวิร์ล แต่มองเห็นกลุ่มคนยืนอยู่เขาแจกสัญลักษณ์ขาวแดง น่าจะเป็นสติ๊กเกอร์ มีคนมาบอกว่าช่วยถือผ้าหน่อยจะถ่ายรูป จำเลยจึงช่วยถือให้ถ่ายรูป ในตอนนั้นอ่านไม่ออก ธงเขียนว่าอะไร แต่รู้ว่าเป็นป้ายผ้าขาวแดง จำเลยไม่ได้ไปแจกเอกสารหรือขายเสื้อ ตอนทำกิจกรรมอยู่ ไม่มีใครมาพูดเรื่องสหพันธรัฐไท หลังคืนผ้า ก็มีเจ้าหน้าที่ใส่เสื้อธรรมดา ไม่ทราบว่าเป็นตำรวจหรือไม่ ไม่พูดอะไรนอกจากบอกว่าจับเลยๆ โดยขณะนั้นตำรวจไม่แจ้งข้อหา ไม่แสดงบัตร เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ จำเลยตกใจและขัดขืน แต่ก็ถูกรวบไปสถานีตำรวจปทุมวัน ก่อนจะเข้าห้องสืบสวนได้ฝากมือถือไว้กับลูก ให้ลูกช่วยถ่ายคลิป แต่ตำรวจมาแย่งมือถือจากลูก ทำให้เด็กร้องไห้
ตำรวจแยกห้องระหว่างจำเลยกับภรรยาและลูก ยังคงไม่มีการแจ้งสิทธิ์ ตำรวจสอบคำให้การจริงๆ คือก่อนเที่ยงคืน โดยจำเลยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ไม่ได้ลงลายมือชื่อเพราะไม่มีแว่นตาจึงมองไม่เห็น ตำรวจไม่ได้อ่านให้ฟัง เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบ 7 คน บนโต๊ะยาวนั่งถ่ายวิดีโอ โดยถามจำเลยว่าไปทำอะไร จากนั้นมีทีมตรวจสอบโทรศัพท์เข้ามาในห้องแต่บอกว่าไม่พบสิ่งผิดกฎหมายในโทรศัพท์ของจำเลย
ทั้งนี้จำเลยไม่ทราบว่าคนที่ถูกจับมาเป็นใครบ้างเพราะไม่รู้จักใคร การเสื้อดำของจำเลยใส่มาตลอด เนื่องจากดูแลง่าย ไม่เปื้อนและซื้อมาตั้งแต่ รัชกาลที่ 9 สวรรคต ไม่ได้ทราบว่ามีการรณรงค์ใส่เสื้อเหลือง
จำเลยที่ 4 (คม) : จำเลยเห็นสามีถูกจับ จึงไปช่วยสามี ไม่ได้เซ็นเอกสารใดใดในชั้นตำรวจเพราะอ่านหนังสือไม่ออก
จำเลยเป็นแม่ค้าขายอาหาร วันเกิดเหตุเข้าไปช่วยแฟนจึงโดนจับไปด้วย ลูกชายคนเล็กซึ่งเดินทางไปด้วยกันก็ถูกนำตัวไปด้วย จำเลยเข้าไปช่วยเนื่องจากไม่ทราบว่ากลุ่มคนที่อ้างตนเป็นตำรวจ เป็นตำรวจริงหรือไม่ เพราะไม่ได้ใส่ชุดตำรวจ พอถูกนำตัวไปถึงสน.ปทุมวัน ตนเองถูกแยกไปอยู่อีกห้องกับลูกชาย และไม่มีการแจ้งสิทธิ์
ตำรวจให้เซ็นเอกสารจำนวนหนึ่ง แต่จำเลยไม่เซ็นเพราะอ่านไม่ออก และตำรวจก็ไม่ได้อ่านให้ฟัง ในวันนั้นไม่ถูกยึดอะไรเพราะไม่มีมือถือ อยู่ในห้องขังสน.ถึงวันรุ่งขึ้นที่ต้องถูกนำตัวไปฝากขัง หลังเกิดเหตุ ยังเคยถูกตำรวจไปเคาะประตูห้อง 2-3 ครั้ง ที่ห้องเช่า ทำให้เครียดจนต้องไปพบจิตแพทย์และยังคงทานยาอยู่ ช่วงหลังจากเกิดเรื่อง ตำรวจยังไปเฝ้าที่ที่ขายของอีกด้วย
จำเลยที่ 5 (อมรเทพ) : จำเลยเพิ่งทราบความหมายของคำและสัญลักษณ์จากตำรวจ
จำเลยทำอาชีพรับจ้าง และเป็นอาสาสมัครของมูลนิธิ วันที่ 5 ธ.ค. 2561 วางแผนกับภรรยาว่าจะไปบ้านแม่ยาย และจะไปทำโรงทานที่ตลาดคลองเตย เช้าวันที่ 5 เดินทางมาคลองเตยไปทำโรงทาน พยานเตรียมสถานที่ จัดแถว ช่วยยก เตรียมของ หม้อกะทะ เมื่อพยานจัดเตรียมเสร็จแล้ว พยานก็ได้ช่วยถ่ายรูปงานที่คลองเตยด้วย
หลังจากเสร็จงานบุญ พยานไปมาบุญครองเพื่อเดินเล่น ตั้งแต่สกายวอล์คสร้างเสร็จ จำเลยไม่เคยมาที่มาบุญคลองเลย จำเลยเห็นคนมาชุมนุมกันและหยิบกล้องมาถ่าย VDO เนื่องจากสงสัยว่าใครทำอะไรกัน พอถ่ายเสร็จก็เห็นบุคคลกลุ่มนั้นเก็บป้ายจึงก็ไม่ได้สนใจ หลังเก็บป้ายไปแล้ว จำเลยได้รับแจกป้ายสติ๊กเกอร์ ขาว แดง ขาว ไม่ทราบว่าคืออะไร ส่วนภาษาที่เห็นในธง จำเลยก็ไม่ทราบความหมาย ขณะเกิดเหตุตอนที่ได้รับสติ๊กเกอร์ หากทราบว่าเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท เป็นเรื่องการล้มล้างก็จะเดินเลี่ยง ไม่รับของ จำเลยรับว่าคดีทราบความหมายของคำและสัญลักษณ์จากตำรวจ เดิมทีความหมายของการใส่เสื้อดำหรือความหมายของธง จำเลยไม่ทราบว่า แปลว่าสหพันธรัฐ
ก่อนวันที่ 5 ธ.ค. พยานไม่รู้จักคนที่มา มาก่อนและไม่ได้นัดหมายกับใคร หลังจากที่กลุ่มที่เดินถือธง พยานก็ยังอยู่ เห็นมีกลุ่มคนเอะอะโวยวาย จำเลยเอากล้องมาถ่ายคลิป ถ่ายรูป ตำรวจจึงเชิญจำเลยไปโรงพักด้วย ตำรวจถามว่าจะไปดีๆ หรือให้ใส่กุญแจมือ แต่บอกตำรวจว่าเพียงมาถ่ายภาพ ไม่ได้รู้เรื่อง ไม่ทราบว่าบริเวณนั้นมีวัง เพราะไม่เห็นมีป้ายห้ามชุมนุม จำเลยถูกยึดของ ได้แก่ เทปแดง,เทปผ้าและสติ๊กเกอร์ 3 แผ่น ส่วนโทรศัพท์ที่ถูกยึดไป ตำรวจไม่ได้แจ้งว่าเกี่ยวกับสหพันธรัฐไท โทรศัพท์ของจำเลยไม่มีรหัสผ่าน สามารถเปิดเข้าได้หมด
เมื่อไปถึงสถานีตำรวจ จำเลยยังไม่โดนขัง แต่มีคนเข้าๆ ออกๆ ไม่ได้แจ้งอะไรแก่จำเลย เกือบ 3 ทุ่ม จึงเริ่มกระบวนการสอบสวน มีการสัมภาษณ์เรื่องความเห็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง โดยตั้งกล้องถ่ายวิดิโอ ตำรวจถามเกี่ยวกับสหพันธรัฐไท แต่จำเลยบอกว่าไม่ได้ฟัง ไม่รู้จัก จำเลยไม่เคยร่วมประชุมหรือเป็นสมาชิก สหพันธรัฐไท ไม่ทราบต้องสมัครสมาชิกอย่างไร รวมทั้งไม่เคยติดต่อทางโซเชียลมีเดียกับกลุ่มสหพันธรัฐไท ตลอดเวลาไม่มีการแจ้งสิทธิ์และแจ้งข้อหา 5 ทุ่มถึงเกือบเที่ยงคืน ตำรวจได้เอาเอกสารมาให้อ่านหรือเซ็นแต่พยานไม่เซ็นเอกสาร แม้ตำรวจจะบอกว่าให้เซ็นแล้วจะได้ไปนอน เพราะไม่ทราบว่าคือเอกสารอะไรบ้าง จำเลยได้เห็นบันทึกจับกุมด้วยแต่ได้มาโดยที่ไม่มีหน้ารายละเอียดจึงไม่เซ็นเช่นกัน คำให้การของจำเลย ตำรวจเอามาให้อ่านตอนง่วง จำเลยจึงไม่ยอมเซ็น คำถามที่ตำรวจบันทึกพยานไม่ได้อ่าน คำตอบต่างๆ ที่ตอบว่าจำเลยไม่ขอให้การ หรือจำเลยไม่ทราบ ไม่ใช่คำตอบของจำเลยและไม่ทราบทำไมตำรวจึงทำเอกสารเช่นนั้น ทั้งนี้มีคำถามกับคำตอบของพนักงานสอบสวน ที่ถาม-ตอบ ไม่ตรงเช่น ถามว่ามาทำอะไรที่มาบุญคลองแต่ในคำตอบ ตอบว่า ไม่ได้ขับมอเตอร์ไซต์มา
จำเลยที่ 6 (ธนชาติ) : เหตุที่โพสต์คลิปเพราะอยู่ในช่วงคสช. กลัวว่าคนที่ถูกจับจะหายตัวไป
ปัจจุบันจำเลยขับรถส่งอาหาร เดิมทำงานในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง ก่อนวันที่ 5 ธ.ค. 61 ได้ฟังคลิปในยูทูป สหพันธรัฐไท โดยมีการประกาศให้ไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ สวมเสื้อดำ จำเลยเลือกไปที่สกายวอล์ค มาบุญคลอง โดยวันที่ 4 ธ.ค. 2561 โพสต์ข้อความเชิญชวนคนออกมาแสดงสัญลักษณ์ เฟซบุ๊กของจำเลยไม่ได้มีเพื่อนมากมาย จึงเหมือนเป็นการโพสต์บอกตัวเอง ช่วงเวลา 11 โมงกว่า ของวันที่ 5 ธ.ค. 2561 จำเลยไปถึงสกายวอล์คเหตุที่ไปก็เพื่อไปแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ผมเดินไปถึงเพียงหัวบันไดก็ถูกเชิญตัวไปสน.ปทุมวัน โดยตอนนั้นถูกนำตัวไป 2 คน
จำเลยถามตำรวจว่าเอาไปทำไม ตร.บอกว่าเอาไปบันทึกประจำวันเฉยๆ เกือบๆ 17.00 น. ก็ถูกปล่อยตัวกลับ จึงเดินกลับมาสกายวอล์คและเอามอเตอร์ไซต์กลับบ้าน แต่เมื่อเดินกลับมาผ่านสกายวอล์คก็เห็นว่ายังมีคนเสื้อดำยืนอยู่ และมีการจับกุมเกิดขึ้น จำเลยถ่ายเหตุการณ์เก็บไว้ มีการตะโกนโหวกเหวก และบอกว่าจับเลยๆ หลังจากนั้นจำเลยก็ลงไปเอารถแล้วก็กลับบ้าน ผมถ่ายคลิปผญ.โวยวายอีกคลิปไว้ด้วย
กลับถึงบ้านราว 20.00 น. จึงโพสต์ คลิปใน เฟซบุ๊ก TONY JHAR (โทนี่จา) จำนวน 2 คลิป คลิปผู้หญิงพูดกับคลิปจับ จำเลยเห็นตำรวจเข้ามาจับคน โดยที่คนก็ยืนกันอยู่เฉยๆ เหตุที่โพสต์คลิปเพราะอยู่ในช่วงคสช. กลัวว่าคนที่ถูกจับจะหายไป นอกจากนั้นวันต่อมา (6 ธ.ค. 2561) จำเลยเข้าเว็บไซต์ สน.ปทุมวัน เพื่อหารูปตำรวจที่จับไปมาโพสต์ ในวันนี้มีเฟซบุ๊กหลายอันแชร์ภาพคนถือป้ายขาวแดง จำเลยได้เซฟภาพมาโพสต์ต่อ เนื่องจากคิดว่าเป็นกลุ่มคนที่ถูกจับไป
เฟซบุ๊ก TONY JHAR (โทนี่จา) เปิดมิ.ย. 2561 ตอนแรกเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัว พอเริ่มฟังสหพันธรัฐไท จึงเริ่มโพสต์เรื่องสหพันธรัฐไท คิดว่าแนวคิดเขาก็ดี จะทำให้อยู่ดีกินดีกว่านี้ เฟซบุ๊กดังกล่าวเป็นเฟซบุ๊กส่วนตัวของตนเอง ไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มสหพันธรัฐไทแต่อย่างใด
ถูกจับหลังจากวันเกิดเหตุ 21 วันและถูกพาตัวเข้าค่ายทหารอีก 7 วัน
วันที่ 26 ธ.ค. 2561 มีเจ้าหน้าที่นครบาลมาสอบถามชื่อที่ที่ทำงาน ก่อนเชิญตัวไปโรงพักโดยเขาไม่ได้บอกว่าจะพาตัวไปทำไม ตำรวจยึดเอาโทรศัพท์และถามเกี่ยวกับรายการสหพันธรัฐ ตำรวจบอกว่าสิ่งจำเลยทำผิดกฎหมาย จำเลยไม่เคยรู้ว่าการทำสติกเกอร์ผิดกฎหมาย รายการให้ทำสติกเกอร์ขาว-แดง จำำเลยจึงทำเอง 1 อัน ติดที่เสื้อ ตำรวจยังถามอีกว่ามันผิดคุณจะแก้ไขมั้ย จำเลยจึงบอกว่าจะแก้ไขทุกอย่าง จำเลยได้ทำการลบภาพและปิดเฟซบุ๊ก TONY JHAR (โทนี่จา) และยังมีบันทึกถ้อยคำที่เขียนเองด้วยลายมือ
ทหารมารับจำเลย มทบ.11 ตอน 5 ทุ่ม จำเลยอยู่ในค่ายทหารตลอดวันที่ 26 ธ.ค. 2561 – 1 ม.ค. 2562 รวม 7วัน ในค่ายทหาร วันแรกได้รับการตรวจร่างกาย ไม่มีการทำร้าย วันๆหนึ่งจะถูกทหารสอบถาม 3-4 ชุด ถาม 5 วันติดกัน 2 วันสุดท้ายจึงเงียบหน่อย ทหารบอกว่าจะให้อยู่ 7 วันจึงปล่อยกลับบ้าน การให้ถ้อยคำกับทหารคล้ายกับที่ให้ตำรวจ ครบ 7 วัน 1 ม.ค. ก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปสน.ปทุมวัน พอมาถึงตำรวจก็แสดงหมายจับ จับจำเลยและเอาตัวไปเซ็นเอกสาร จำเลยอ่านแล้วเห็นว่าข้อหาหนักและยังมีพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จำเลยจึงอยากขอรับสารภาพ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์อย่างเดียว แต่ตำรวจบอกว่าถ้ารับสารภาพต้องรับหมด จำเลยคิดว่าการโพสต์คงผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์จึงจะรับสารภาพในคดี แต่ก็ไม่ทราบในรายละเอียดว่าการโพสต์นี้จะผิดอย่างไร อันที่จริงจำเลยแค่อยากช่วยเหลือคนกลุ่มที่ถูกจับไป ในวันดังกล่าว มีเอกสารอะไรให้เซ็นจำเลยก็เซ็นเพราะรู้สึกมึนงงมาจากค่ายทหาร ในคำให้การของจำเลยที่เขียนว่าเกี่ยวข้องเป็นเพื่อนกับเฟซบุ๊กสหพันธรัฐไม่ตรงตามความเป็นจริงเพราะทราบเกี่ยวกับสหพันธรัฐมาจาก youtube นอกจากนี้ยังไม่ได้เป็นสมาชิกกลุ่มไลน์แต่ในคำเบิกความเขียนว่าจำเลยอยู่ในกลุ่มไลน์ จำเลยไม่ทราบว่าจะเข้าเป็นสมาชิกและรับรหัสอย่างไร
จริงอยู่ที่จำเลยได้รับสารภาพในชั้นตำรวจ แต่พอคดีเข้ามาชั้นศาล จำเลยยังคิดว่าตนไม่ได้ผิด ไม่ได้ยุยงปลุกปั่นหรือเป็นอั้งยี่ตามฟ้องและรู้สึกว่าข้อกล่าวหาหนักเกินไป จึงเปลี่ยนมาให้การปฏิเสธ สิ่งที่แสดงออกมาทาง FB และการไปร่วมกิจกรรมวันที่ 5 ธ.ค. 2561 จำเลยเห็นว่า การมีชีวิตที่ดีขึ้น ประชาธิปไตยที่ดีขึ้น มันก็น่าจะดีกว่าที่เป็นอยู่ จำเลยจึงออกไปแสดงสัญลักษณ์
สถานการณ์คดี “สหพันธรัฐไท” สืบพยานไปแล้ว 6 คดี
คดีชูป้ายสหพันธรัฐไทที่หน้าห้างมาบุญครอง หรือเอ็มบีเคเซ็นเตอร์ จะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 14 ก.ย. 2561 เวลา 9.00 น. ซึ่งนับว่าเป็นคดีที่ 4 ที่จะมีคำพิพากษาในศาลชั้นต้น ปัจจุบันมีการสืบพยานกลุ่มคดีสหพันธรัฐไทที่อยู่ในความดูแลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในศาลอาญารวมทั้งสิ้น จำนวน 6 คดี
อ่านประมวลคดีและคำพิพากษาในกลุ่มคดีสหพันธรัฐ
เปิดบันทึกจากห้องพิจารณา คดีเสื้อดำสหพันธรัฐไท ก่อนศาลพิพากษา 21 ม.ค. 63
ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 จำเลย สหพันธรัฐไท ข้อหา”อั้งยี่”
ยกฟ้อง ม. 116 จำเลยสหพันธรัฐไทใส่เสื้อดำไปเซ็นทรัล รามอินทรา ศาลชี้ ไม่ทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย
ยกฟ้อง 2 จำเลยสหพันธรัฐไท เหตุโจทก์ฟ้องซ้อนข้อหาอั้งยี่-ไม่มีพยานหลักฐานข้อหา 116