ศาลยกฟ้องคดีสหพันธรัฐไทเชียงใหม่ เพียงแค่ใส่เสื้อดำไม่ได้ผิดม.116-อั้งยี่

16 ก.ย. 2563 เวลา 10.00 น. ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีจำเลยสามราย ได้แก่ นายแดนศักดิ์, นาง “อัมพร” (นามสมมติ) และนายภานุ ซึ่งใส่เสื้อดำไปบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ตามการนัดหมายของกลุ่มสหพันธรัฐไท 

คดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด ยื่นฟ้องทั้งสามคนในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 โดยคดีมีการสืบพยานไประหว่างวันที่ 29-30 ก.ค. 2563

กรณีของอัมพร อายุ 51 ปี ประกอบอาชีพเป็นหญิงช่างเย็บผ้าในโรงงานที่จังหวัดเชียงใหม่ เคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารควบคุมตัวไปยังค่ายทหารในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นเวลา 5 วัน ในช่วงระหว่างวันที่ 7-11 ธันวาคม 2561 โดยเจ้าหน้าที่ทหารอ้างอำนาจตามมาตรา 44 เจ้าหน้าที่ได้มีการยึดโทรศัพท์มือถือของเธอไว้ และยังมีการนำกำลังทหารและตำรวจเข้าตรวจค้นบ้านพักของเธอ โดยไม่ได้มีหมายค้น แต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้พบสิ่งใดผิดกฎหมาย 

อัมพรยังถูกนำตัวไปสอบสวนที่สภ.เมืองเชียงใหม่ ก่อนได้รับการปล่อยตัว โดยยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาใด กระทั่งผ่านมากว่าครึ่งปี คือวันที่ 27 มิ.ย. 62 เธอได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตามหมายจับของศาลอาญา ก่อนนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการปราบปราม และนำตัวเธอไปฝากขังที่ศาลอาญา โดยนภาพรได้รับอนุญาตให้ประกันตัว โดยใช้หลักทรัพย์ 2 แสนบาท 

ต่อมาวันที่ 15 ส.ค. 62 อัยการได้สั่งฟ้องอัมพรต่อศาลอาญา และต่อมาได้ขอรวมการพิจารณาคดีร่วมกับนายแดนศักดิ์และนายภานุที่ใส่เสื้อสีดำไปที่ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล จ.เชียงใหม่ เป็นคดีเดียวกัน โดยมีเพียงนายแดนศักดิ์เท่านั้น ที่บนเสื้อมีตราธงสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท ขณะที่อีกสองคนใส่เสื้อสีดำที่ไม่มีสัญลักษณ์

ศาลพิพากษายกฟ้องม.116 และอั้งยี่: พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง

เวลา 10.00 น. ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์ 813 ในวันนี้มีจำเลยทั้ง 3 คน ทนายจำเลยจำนวน 3 คน และญาติของจำเลยเข้าร่วมฟังคำพิพากษา 

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยเริ่มจากการอ่านฟ้องของโจทก์ โดยโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามว่า ร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนิน มีชื่อว่า “องค์การสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข 

อีกทั้งจำเลยกับพวกได้ร่วมกันเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ โปรแกรมเฟซบุ๊ก โปรแกรมไลน์ ยูทูป ชักชวนสมาชิกแนวร่วมและประชาชนทั่วไปที่บริเวณห้างสรรพสินค้าจังหวัดเชียงใหม่ ให้ออกมาต่อต้านล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล และต่อต้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการชักชวนสมาชิกแนวร่วมที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ โดยจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

ศาลพิเคราะห์แล้วข้อเท็จจริงในวันดังกล่าว จำเลยทั้งสาม ได้เดินทางไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เชียงใหม่ โดยจำเลยที่ 1 (แดนศักดิ์) สวมเสื้อดำ มีตราธงสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท จำเลยที่ 2 (อัมพร) สวมเสื้อสีดำแขนสั้น กางเกงขาสั้นสีดำ และจำเลยที่ 3 (ภานุ) สวมเสื้อสีดำ ลายจตุคามรามเทพ มีเสื้อคลุมสีเทา

พยานโจทก์ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง และพ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ เบิกความว่าองค์กรสหพันธรัฐไทมีการจัดรายการโดยแกนนำ 4 คน คือชูชีพ ชีวสุทธิ์ ,วัฒน์ วรรณยางกูร, กฤษณะ ทัพไทย หรือสหายยังบลัด, วุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ โดยมีจุดมุ่งหมายเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข แบ่งประเทศออกเป็น 10 มลรัฐ โดยมีการออกแบบธงสัญลักษณ์, จัดทำเสื้อ ในระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. 2561 มีการจัดรายการปลุกระดมทางยูทูป, ไลน์ ให้สมาชิกกลุ่มใส่เสื้อสีดำและติดธงสัญลักษณ์มารวมตัวกันในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ 

ศาลเห็นว่าพฤติการณ์ขององค์กรดังกล่าวมีลักษณะเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายในการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเป็นการขัดต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ และมาตราที่ 2 ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

จากคำให้การในชั้นสอบสวน จำเลยทั้งสามยอมรับว่าฟังรายการทางยูทูปขององค์กรสหพันธรัฐไท โดยจำเลยที่ 3 เบิกความว่าฟังรายการเพื่อศึกษาแนวคิด ไม่ได้เชื่อตามที่รายการบอก และไปในสถานที่เกิดเหตุเพื่อสังเกตการณ์ว่าจะมีคนใส่เสื้อสีดำมาตามที่รายการบอกหรือไม่ แต่ไม่พบใครใส่สีเสื้อดำในวันดังกล่าว สอดคล้องกับจำเลยที่ 2 ซึ่งบอกว่าไปซื้อของและไม่พบใครใส่เสื้อดำเช่นกัน ส่วนจำเลยที่ 1 เบิกความว่าไปดูเหตุการณ์ 

อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฎว่าจำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์จัดรายการ แจกใบปลิว หรือเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับสหพันธรัฐ และมีพฤติการณ์เป็นสมาชิกกลุ่มดังกล่าว ทั้งจากคำเบิกความของพยานโจทก์ พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง และ พ.ต.ต.แทน ไชยแสง ยังไม่พบข้อมูลว่าทั้งสามเป็นสมาชิก หรือติดต่อกับแกนนำสหพันธรัฐ และไม่มีหลักฐานว่าทั้งสามได้ติดต่อกันหรือรู้จักกันมาก่อน จึงไม่ถือว่าทั้งสามมีความเป็นสมาชิกของกลุ่ม พยานหลักฐานจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามมีพฤติการณ์เป็นอั้งยี่

ในส่วนความผิดฐานยุยงปลุกปั่น จำเลยทั้งสามสวมเสื้อสีดำ ในวันเกิดเหตุ ตามภาพถ่ายที่โจทก์นำมาแสดง แม้ทั้งสาม รับว่าเคยฟังรายการสหพันธรัฐ แต่ไม่ปรากฎว่าได้มีการร่วมจัดรายการ ชักชวนให้ประชาชนออกมาต่อต้านจนถึงจะทำให้เกิดความปั่นป่วนและความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และไม่มีพฤติการณ์ก่อความรุนแรง 

ในส่วนที่ พ.ต.ต แทน เบิกความว่าระหว่างวันที่ 2-4 ธ.ค. 2561 มีการเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรตินั้น ก็ไม่ปรากฎหลักฐานว่าพวกจำเลยมีความเกี่ยวข้องแต่อย่างใด และยังเป็นเสรีภาพที่ประชาชนจะใส่เสื้อชนิดใด สีใดก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่มีกฎหมายกำหนดห้ามไว้ พยานหลักฐานจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116

พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหมดจึงยังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสามกระทำความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง

 

คำเบิกความโจทก์

หากย้อนทบทวนการต่อสู้คดีนี้ในชั้นศาล ฝ่ายโจทก์นำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 5 ปาก โดยไม่ได้นำพนักงานสอบสวนหลักในคดี ซึ่งเสียชีวิตไปก่อน เข้ามาเบิกความ ส่วนฝ่ายจำเลยไม่ได้นำพยานเข้าสืบ โดยซักค้านพยานฝ่ายโจกท์ และต่อสู้รับว่าไปยังสถานที่เกิดเหตุจริง แต่ไม่ได้กระทำผิดตามฟ้อง และพฤติการณ์ไม่ได้เข้าข่ายองค์ประกอบความผิดในทั้งสองข้อหา

พยานโจทก์ปากที่ 1: พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สารวัตรกองกำกับการ 2 กองสันติบาล 2 มีหน้าที่เป็นผู้สืบสวน

ต้นปี 2561 พยานได้รับมอบหมายให้สืบสวนติดตามบุคคลที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับเรื่องความมั่นคงและสถาบันพระมหากษัตริย์ ในเดือน มี.ค. พบการเคลื่อนไหวของบุคคลที่มีหมายจับตามความผิด ม.112 ได้แก่ ชูชีพ  ชีวสุทธิ์, โกตี๋ ซึ่งหลบไปอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน ในประเทศลาว หลังจากหลบหนี เริ่มตั้งกลุ่มสหพันธรัฐไท ผ่านการจัดรายการยูทูป ในลักษณะวิทยุ จัดแบบถ่ายทอดสด และบันทึกเทป มีการให้ประชาชนโฟนอินเข้าไปในรายการ หลังจากทั้ง 2 รวมตัวจัดรายการก็มีผู้จัดรายการร่วม 3 คน ได้แก่ วัฒน์ วรรณยางกูร, สหายยังบลัด, สยาม ธีรวุฒิ วัตถุประสงค์เคลื่อนไหวต่อต้าน คสช. และล้มล้างสถาบัน

กลุ่มสหพันธรัฐไท มีความฝัน “ล้มเลิกเผด็จการกษัตริย์ สถาปนาสหพันธรัฐไท” โดยมีประธานาธิบดีแทน ในการเผยแพร่แนวความคิด พบว่ามีการทำเฟซบุ๊กเพจ “ลุงสมชาย ป้าสมจิตร” จัดตั้งกลุ่มไลน์ และมีการออกแบบธงประจำกลุ่ม เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าลาย ขาว-แดง ทั้งมีการออกแบบเสื้อยืดที่มีลายธงสัญลักษณ์ดังกล่าว เพื่อขยายแนวร่วมกลุ่มสมาชิก

ช่วงเวลาดังกล่าว มีการจำหน่ายเสื้อหลายร้อยตัว พยานพบตัวผู้ร่วมกระบวนการในช่วง ส.ค. 2561 และพบสมาชิกทำใบปลิวและสติ๊กเกอร์เพื่อเผยแพร่ให้คนทั่วไป ลักษณะขององค์กรสหพันธ์รัฐไท พยานแบ่งโครงสร้างเป็น 3 ส่วน 1. ผู้นำทางความคิด 2. กลุ่มปฏิบัติการรุนแรง 3. กลุ่มสนับสนุนแจกจ่ายแนวร่วม ในกลุ่มไลน์จะมีการคัดสมาชิกโดยนายชูชีพ หลังเข้ากลุ่มไลน์แล้ว จะมีการแบ่งกลุ่มไลน์ เป็น 10 มลรัฐ โดยกรุงเทพฯ เป็นมลรัฐที่ 10 และแยกสมาชิกเป็นแต่ละมลรัฐ 

กลุ่มมีการเผยแพร่แนวคิด คือการขยายความรับรู้ให้ประชาชนที่ไม่ได้สนใจให้รับทราบ ช่วงเดือน ก.ย. หรือ ต..ค. เริ่มมีการปลุกระดมให้มีการใช้ความรุนแรง-เผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ โดยมวลชนที่ฝักใฝ่ได้ออกไปทำเช่นนั้นจริงๆ การเผาทำลายเพื่อบอกว่ากลุ่มนี้ล้มเลิก ไม่เอาสถาบันกษัตริย์ มีการถ่ายรูปในไลน์กลุ่ม ให้สมาชิกออกไปเลียนแบบ ในพื้นที่ภาคอีสาน สิ่งที่เบิกความทั้งหมด พยานติดตามจากสื่อสังคมออนไลน์ทั้งแบบเปิดและแบบปิด

ส่วนในคดีนี้ พยานไม่ทราบรายละเอียด เพราะพยานเพียงแต่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรสหพันธรัฐไทโดยรวม ขณะมาให้ปากคำในชั้นสอบสวน พยานจำจำเลยทั้งสามคนไม่ได้ และไม่เคยเห็นหน้าทั้งหมดมาก่อน 

 

พยานโจทก์ปากที่ 2: นายชิษณุพงษ์ ปุกคำนวล พยานทนายความ ผู้ให้ความเห็น

พยานพักอาศัยอยู่เชียงใหม่ เคยไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับวันที่ 5 ธ.ค. 61 ซึ่งเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นวันที่ประชาชนให้ความสำคัญ

หลังจากรัชกาลที่ 9 สวรรคต รัฐบาลกำหนดให้วันที่ 5 ธ.ค. เป็นวันพ่อแห่งชาติ เช่นเดิม ในวันนั้นมีการรณรงค์ให้แต่งกายสีเหลืองเพื่อแสดงความจงรักภักดี ในวันดังกล่าว หากมีผู้ออกมาแสดงสัญลักษณ์ในลักษณะใส่เสื้อสีดำ พยานเห็นว่าเป็นการแสดงออกถึงความไม่เคารพ

ในวันนั้นหากมีคนใส่เสื้อดำ จะไม่รู้สึกอะไรมาก เพราะเขาอาจไปงานศพ แต่เท่าที่ทราบคดีนี้มีการนัดแนะกันให้ใส่เสื้อดำในคดีมาก่อนวันที่ 5 ธ.ค. พยานจึงเห็นว่าการแสดงออกลักษณะนี้เป็นความจงใจไม่เคารพรัชกาลที่ 9

 

พยานโจทก์ปากที่ 3: พ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ สังกัดกองกำกับการ 1 กองบังคับการกองปราบปราม และเป็นพนักงานสอบสวนคดีสหพันธรัฐกรณีอื่นๆ

พยานเบิกความว่าตนไม่ได้เกี่ยวข้องกับการสอบสวนในคดีนี้ แต่เป็นพนักงานสอบสวนในคดีสหพันธรัฐไท ซึ่งมีนายกฤษณะ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย เหตุเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 8 มิ.ย. – 12 ก.ย. 2561 

พยานเบิกความว่าการเคลื่อนไหวขององค์กรสหพันธรัฐไทแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มแกนนำซึ่งจัดรายการ วางแนวทางการเคลื่อนไหว และกลุ่มปฏิบัติการซึ่งถูกฟ้องในข้อหาอั้งยี่ด้วย จำนวน 5 คน ในคดีดังกล่าว กฤษณะกับพวกได้รวมกลุ่มกันตั้งกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งมีแนวความคิดต่อต้านรัฐบาล คสช. และมีวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศ จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐ 

พยานมีความเห็นทางคดีว่าการกระทำที่เป็นการเผยแพร่แนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฐานเป็นอั้งยี่ จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีดังกล่าว กฤษณะ หนึ่งในจำเลยในคดีที่พยานเป็นพนักงานสอบสวน ได้เผยแพร่รายการที่มีแนวคิดสหพันธรัฐไททางยูทูปและเฟซบุ๊ก โดยมีผู้ดำเนินรายการ คือวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, ชูชีพ ชีวสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ, วัฒน์ วรรลยางกูร และกฤษณะ ทัพไทย 

จำเลยคนอื่นๆ ในคดีดังกล่าวมีการทำเสื้อ แจกใบปลิว และสติ๊กเกอร์ โดยทราบว่าในคดีนั้นศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่น แต่ลงโทษจำคุกในข้อหาอั้งยี่

 

พยานโจทก์ปากที่ 4: จ.ส.ต.พิภพ ศรีคำภา สังกัดกองกำกับการ 4 กองบังคับการกองปราบปราม เกี่ยวข้องเป็นผู้เข้ากุมตามหมายจับและสืบสวนสอบสวน

พยานเป็นผู้จับกุมนางอัมพร เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้รับแจ้งจากสายสืบก่อนหน้าราว 1 สัปดาห์ ได้ไปเฝ้าดูจำเลยบริเวณที่ร้านตัดผม ก่อนเข้าจับกุมในราว 7 – 8 โมงเช้า โดยได้เข้าไปที่บ้านของจำเลย เจ้าหน้าที่มีการแจ้งสิทธิ แจ้งข้อหา และดำเนินการจับกุม ก่อนพาไปที่กองกำกับการ 1 ของกองปราบปราม เพื่อทำบันทึกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหา

 

พยานโจทก์ปากที่ 5: พ.ต.ท.ไพบูลย์ นามทอง พนักงานสอบสวน สภ.แม่ปิง จ.เชียงใหม่

พ.ต.ท.ไพบูลย์ เกี่ยวข้องเป็นพนักงานสอบสวนในคดี เมื่อวันที่ 10 ธ.ค. 2561 สภ.เมืองเชียงใหม่ ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวน โดยได้รับแจ้งว่ามีการรวมตัวของชาวสหพันธรัฐไทเชียงใหม่ และมีการลงบันทึกประจำวันเพื่อสอบสวนคดี พื้นที่เป้าหมายที่สภ.แม่ปิงดูแล คือ ห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล ทราบว่าในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 มีการรวมตัวเกิดขึ้นจริง 

ในวันที่ 11 ธ.ค. 61 ตำรวจมีการเชิญตัวนายภานุ และนางอัมพร (นามสมมติ) มาที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ และได้สอบคำให้การไว้ในฐานะผู้ให้ปากคำเบื้องต้น โดยมีภาพประกอบเป็นโทรศัพท์มือถือของของนายภานุ ที่เปิดดูรายการสหพันธรัฐไท หลังสอบปากคำ ได้ให้พยานกลับบ้านไปก่อน ภายหลังพ.ต.ต.อาคม ศรีฟอง ได้มาร้องทุกข์กล่าวโทษภานุและอัมพร โดยได้มอบรายงานการสืบสวนเบื้องต้นไว้ และพยานรับคำร้องทุกข์ไว้

หลังจากนั้นตำรวจสภ.เชียงดาว ได้ตรวจค้นบ้านนายภานุ และตรวจยึดโทรศัพท์มือถือ และบ้านของนายแดนศักดิ์ ตามลำดับ มีการยึดของกลางส่งให้พยาน โดยพบเจอเสื้อของกลางของแดนศักดิ์ และพบว่าแดนศักดิ์แสดงตัวเป็นแนวร่วมสหพันธรัฐไท เนื่องจากมีภาพของทั้งสองคนนั่งคู่กันอยู่บริเวณห้างเซ็นทรัลเฟสติวัล ส่วนภาพอัมพรก็ปรากฎภาพอยู่ในที่เกิดเหตุเช่นกัน

ต่อมา ได้มีการออกคำสั่งแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนในคดีนี้ ซึ่งมีชื่อพยานอยู่ด้วย เหตุที่ต้องตั้งคณะทำงานเพราะเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง โดยภายหลังมีโอนสำนวนของพยานให้พลตำรวจเอก ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร. ดำเนินการต่อที่กองปราบปราม หลังจากนั้นจึงมีการขอหมายจับจำเลยทั้งสามคน และคณะพนักงานสอบสวนเห็นควรให้มีการสั่งฟ้องคดี 

 

ข้อสังเกตจากการถามค้าน

พยานตำรวจสันติบาล ตอบอัยการถามเรื่องการสวมเสื้อดำ “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

ในส่วนของพ.ต.ท.แทน นั้น ยังได้เบิกความตอบอัยการว่าการใส่เสื้อดำมา เป็นการกระทำเพื่อให้ประชาชนสนใจ เข้าไปค้นหาพูดคุยว่ามีองค์กรนี้อยู่ ใครมีความคิดเห็นแบบนี้ให้มารวมกันได้ เป็นการขยายแนวร่วมมวลชน เป็นการเปิดเผยตัวตนองค์กร หากมีประชาชนเห็นด้วย ก็จะเริ่มปลุกระดมให้ใช้ความรุนแรง ถ้าไม่เข้าไปยับยั้งก่อน จะมีการทำผิดกฎหมายมากขึ้น การกระทำเช่นนี้ผิดกฎหมายเพราะต้องการล้มสถาบัน ล้มรัฐธรรมนูญ ผู้ที่จะออกมาใส่เสื้อดำวันที่ 5 ธ.ค. ได้ ต้องมีทัศนคติเชิงลบต่อสถาบัน โดยเห็นว่า “กรรมเป็นเครื่องชี้เจตนา”

พ.ต.ท.แทน ยังตอบทนายจำเลยที่ 2 (ภานุ) ขณะถามค้าน ในเรื่องที่จำเลยที่ 2 ไม่ได้สวมเสื้อที่มีธงสัญลักษณ์และไม่พบหลักฐานการใช้ไลน์ ว่า “มองตากันก็อาจรู้ ไม่จำเป็นต้องคุยผ่านไลน์ แค่เห็นสัญลักษณ์ก็รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน”

พยานโจทก์ตอบทนายจำเลย ใส่เสื้อดำ 5 ธ.ค. ไม่ได้ผิดกฎหมาย

ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ไพบูลย์ พยานปากพนักงานสอบสวน ตอบคำถามค้านของทนายจำเลย ว่าการฟังยูทูปไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ในส่วนของพยานความเห็น ตอบทนายจำเลยว่าคนใส่เสื้อดำในวันที่ 5 ธ.ค. อาจจะไม่เท่ากับไม่จงรักภักดีโดยอัตโนมัติ โดยบางคนอาจไปงานศพ การใส่เสื้อดำไม่ได้ให้ความรู้สึกถึงความกระด้างกระเดื่อง คนใส่เสื้อดำกันเป็นปกติ ใส่ได้ไม่ผิด 

เช่นเดียวกับพยานตำรวจสันติบาล พ.ต.ท.แทน ที่กล่าวว่าการใส่เสื้อดำเพียงอย่างเดียวไม่ผิดกฎหมาย ซึ่งพนักงานสอบสวนผู้มีความเห็นสั่งฟ้องในคดีนี้ เบิกความว่าจำเลยที่ 2 พบเพียงพฤติการณ์ใส่เสื้อดำไปที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเชียงใหม่เท่านั้น


อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลนัดสืบพยาน ‘สาวเย็บผ้าเชียงใหม่’ คดีสหพันธรัฐไท ก.ค. 63
อัยการฟ้อง “หญิงโรงงานเย็บผ้า” ข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ กรณีใส่เสื้อสหพันธรัฐไท
ตำรวจจับกุมเพิ่มอีก 1 คน คดีสหพันธรัฐไท
ตำรวจจับ ‘หญิงโรงงานเย็บผ้า’ จากเชียงใหม่ ดำเนินคดีม.116-อั้งยี่ กรณีใส่เสื้อสหพันธรัฐไทอีก

 

X