ยกฟ้อง ม. 116 จำเลยสหพันธรัฐไทใส่เสื้อดำไปเซ็นทรัล รามอินทรา ศาลชี้ ไม่ทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมาย

26 มี.ค. 2563 ศาลอาญา-ถนนรัชดา อ่านคำพิพากษาคดีสหพันธรัฐไท เหตุใส่เสื้อสีดำกินเคเอฟซี ที่เซ็นทรัล รามอินทรา ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องรานี (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยในข้อหายุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  และ 209 โดยในวันนี้ศาลได้พิพากษาจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท ฐานเป็นอั้งยี่ จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาลลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญามีกำหนด 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง โดยให้จำเลยบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชม. ส่วนข้อหายุยงปลุกปั่น ให้ยกฟ้อง 

ด้านรานีเผยหลังฟังคำพิพากษาว่า ผลของคำพิพากษาวันนี้ถือว่าได้รับความเป็นธรรม เพราะการกระทำของตนเองก็ไม่ได้สร้างความปั่นป่วนใด ๆ แต่จริง ๆ แล้วตนเองไม่ควรถูกดำเนินคดีตั้งแต่แรก และหลังจากถูกดำเนินคดีทำให้ชีวิตได้รับผลกระทบหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหน้าที่การงาน ซึ่งตนได้ตัดสินใจลาออกจากงานก่อนกำหนด เนื่องจากเครียด รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างที่ถูกดำเนินคดี และความกังวลเรื่องความปลอดภัย

คำพิพากษาชี้ จำเลยให้การเป็นประโยชน์ และการใส่เสื้อดำไม่ได้ทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน

ศาลอ่านคำพิพากษามีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัย 2 ประเด็น

ประเด็นแรก  จำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 209  ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ หรือไม่ ศาลเห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลตัดสินได้ โดยไม่ต้องฟังพยานโจทก์ 

ประเด็นที่สอง จำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  มาตรา 116 กระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันไม่ใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  หรือไม่ 

ศาลเห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงฟังว่า จำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งเป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116  บทบัญญัติดังกล่าวต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน  ศาลเห็นว่า การที่มีภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ และบัตรเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไปอยู่ในรายการสหพันธรัฐไททางยูทูบ ไม่ปรากฏว่าเป็นการกระทำของจำเลย ซึ่งตามทางนำสืบโจทก์ก็สืบว่า ผู้ที่จัดทำรายการคือแกนนำไม่ใช่การกระทำของจำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ชักชวน ส่วนการโพสต์ภาพถ่ายเจ้าหน้าที่ และบัตรเจ้าหน้าที่ ก็โพสต์เข้าไปในกลุ่มไลน์ ไม่ใช่ยูทูบ ส่วนการเป็นเพื่อนกับเอกชัย หรือประเวศ ในเฟซบุ๊กซึ่งเคยเป็นผู้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา มาตรา 112 จำเลยก็ไม่ได้เป็นผู้กระทำความผิดและเป็นความผิดในคดีอื่น 

แม้ข้อเท็จจริงที่ พ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ เบิกความ เห็นว่าเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงและความสงบเรียบร้อย ไม่ใช่การกระทำอันเป็นการกระทำความผิดเดียวกัน เมื่อไม่ปรากฏว่ามีการกระทำที่จะก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร ทั้งในการนำสืบของตำรวจที่อยูในที่เกิดเหตุก็พบจำเลยใส่เสื้อดำเท่านั้น การใส่เสื้อดำไม่ได้ทำให้ประชาชนละเมิดกฎหมายแผ่นดิน พยานหลักฐานโจทก์ยังสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลย พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดตามมาตรา 116 

จึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 ลงโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาของศาล ลดโทษเหลือจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท พิเคราะห์แล้วจำเลยไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ไม่น่าจะกระทำผิดอีก และกลับตัวเป็นคนดี เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุก 2 ปี และให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 4 ครั้ง โดยให้จำเลยบำเพ็ญประโยชน์ 24 ชม. 

ทั้งนี้ จำเลยถูกขังที่กองบังคับการปราบปรามเป็นเวลา 2 วัน หลังถูกจับตามหมายจับ เมื่อจำเลยไม่ถูกลงโทษจำคุก จึงคิดเป็นเงินชดเชยที่ถูกขังวันละ 500 บาท  เหลือที่จำเลยต้องชำระค่าปรับ 19,000 บาท

องค์กรสหพันธรัฐไท: เหตุแห่งการดำเนินคดี

คดีสหพันธรัฐไทเริ่มเกิดขึ้นในช่วงเดือน ก.ย. 2561 โดยเริ่มมีการติดตามจับกุมบุคคลที่ครอบครองและซื้อขายเสื้อสีดำ ที่มีตราสัญลักษณ์ธงลายสีขาวพาดแดงขนาดเล็กอยู่บริเวณหน้าอก ต่อมา ในช่วงเดือน ธ.ค. 2561 ซึ่งอยู่ในช่วงใกล้วันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษา รัชกาลที่ 9 เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารมีความเชื่อว่าคนที่ออกมาใส่เสื้อสีดำจะเป็นกลุ่มที่ยุยงปลุกปั่นในหมู่ประชาชน และทำให้เกิดความแตกแยก นำไปสู่การจับกุมและดำเนินคดีประชาชนจำนวนหนึ่งในข้อหายุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ โดยกล่าวหาว่า คนกลุ่มนี้เกี่ยวข้องกับ “องค์กรสหพันธรัฐไท” จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือน ก.ย. 2561 จนถึง ก.ย. 2562 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากกรณีที่เกี่ยวข้องกับสหพันธรัฐไท แล้วอย่างน้อย 20 ราย โดยแยกเป็นจำนวนคดีอย่างน้อย 11 คดี 

รานี ข้าราชการวัย 56 ปี เป็นหนึ่งในจำนวนผู้ถูกคุกคาม ติดตาม และดำเนินคดีจากการใส่เสื้อสีดำ โดยในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เธอใส่เสื้อสีดำ ไม่มีสัญลักษณ์ใดๆ ออกไปเดินที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทรา และไปนั่งกินข้าวที่ร้านเคเอฟซี ระหว่างนั้นตำรวจนอกเครื่องแบบ 4-5 นาย ได้เข้ามาพูดคุย และขอให้เธอไปกับพวกเขา แต่รานีไม่ยอมไป และขอถ่ายบัตรของตำรวจไว้ 

จากนั้น รานีถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจไปหาถึงที่บ้านอยู่หลายครั้งเพื่อจะขอค้นบ้าน ระบุว่า เธอขัดคำสั่ง คสช. โดยอ้างอำนาจตาม ม.44 แต่รานีไม่ยินยอม เนื่องจากไม่มีหมายค้นและเป็นยามวิกาล ต่อมา เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2562 รานีถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมระหว่างเข้าร่วมงานรับปริญญาลูกชาย ตามหมายจับลงวันที่ 14 ม.ค. 2562 ในข้อหา ยุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน รานีถูกขังที่กองปราบฯ อยู่ 2 คืน ก่อนได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2 แสนบาท 

ในคำฟ้องที่อัยการยื่นฟ้องรานีต่อศาลอาญา บรรยายฟ้องว่า “เมื่อวันที่ 4 – 7 ธ.ค. 2561 จำเลยกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ มีชื่อว่า “กลุ่มสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาล และ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุขเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการกระทำผิดฐานเป็นอั้งยี่”  

โจทก์ยังบรรยายฟ้องอีกว่า “จำเลยกับพวกที่เป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทดังกล่าวได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ มีการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. โดยจำเลยกับพวกนัดหมายสวมใส่เสื้อสีดำเดินในบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทรา ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยในวันดังกล่าวประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลือง แล้วจำเลยโพสต์รูปภาพจำเลยชูสามนิ้ว และภาพแสดงกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไทผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เฟซบุ๊ก โปรแกรมไลน์ ยูทูบ อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ และมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย” 

หลังรานีถูกดำเนินคดี ยังมีเจ้าหน้าที่ทหารไปหาเธอถึงที่ทำงาน โดยอ้างว่าจะขอพบผู้ใหญ่ จนทำให้เธอเครียดและกังวล ประกอบกับเธอป่วยมีโรคประจำตัวอยู่แล้ว รานีจึงขอลาออกจากราชการก่อนกำหนด 

3 วันในห้องพิจารณาคดี

18-20 ก.พ. 2563 ศาลอาญาได้นัดสืบพยานในคดีนี้ โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบรวม 6 ปาก และจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานเพียงปากเดียว  

ตำรวจผู้สังเกตการณ์เบิกความ จำเลยใส่เสื้อดำไม่มีสัญลักษณ์  

ร.ต.อ.พรชัย ว่องประเสริฐการ และ พ.ต.ท. นิเวศน์ นิลวดี ชุดสืบสวน สน.บางเขน เบิกความเป็นพยานโจทก์สอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุ ได้รับรายงานว่า มีกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งมีวัตถุประสงค์ต่อต้านระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  ได้นัดหมายกันใส่เสื้อสีดำเดินตามห้างสรรพสินค้า เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พยานจึงไปสังเกตการณ์ที่เซ็นทรัล รามอินทรา พบจำเลยใส่เสื้อสีดำ ไม่มีสัญลักษณ์ อยู่ในเคเอฟซี พยานกับพวกในชุดนอกเครื่องแบบ 4 นาย จึงเดินเข้าไปหาจำเลย และสอบถามว่าเป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐหรือไม่ จำเลยปฏิเสธและมีท่าทีไม่ให้ความร่วมมือด้วยการไม่ค่อยตอบคำถาม  พร้อมทั้งได้ขอถ่ายบัตรข้าราชการของ ร.ต.อ.พรชัย ไว้ ตำรวจชุดสืบสวนยังระบุว่า ในห้างดังกล่าวมีคนอื่นใส่เสื้อสีดำอีกเช่นกัน แต่ไม่ได้มีการดำเนินคดีเพราะไม่ได้มีความน่ากังวล และหลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว ที่เซ็นทรัล รามอินทราก็ไม่มีคนใส่เสื้อสีดำมาทำกิจกรรมในรูปแบบอื่น ๆ

สันติบาลรับ ไม่มีการนัดหมายที่เซ็นทรัล รามอินทรา

ร.ต.ท.แทน ไชยแสง กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจสันติบาล 2 พยานโจทก์เบิกความว่า มีหน้าที่สืบสวนติดตามกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่หลบหนีหมายจับในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปยังต่างประเทศ ได้แก่ นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือลุงสนามหลวง, นายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายกฤษณะ ทัพไทย จากการติดตามพบว่า กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จัดตั้งกลุ่ม “สหพันธรัฐไท” และจัดรายการตามยูทูบ เพื่อปลุกระดมแนวร่วมในประเทศไทยให้เกิดการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์  โดยเปิดให้สมาชิกโฟนอินเข้าไปในรายการได้ และมีการพูดคุยกันผ่านกลุ่มไลน์ แบ่งเป็น 10 มลรัฐ 

พยานเบิกความต่อว่า เมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2561 ซึ่งเป็นช่วงใกล้ถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กลุ่มสหพันธรัฐไทได้มีการสั่งให้ปฏิบัติการ เช่น เผาพระบรมฉายาลักษณ์, ใส่เสื้อหรือหมวกสีดำที่มีสัญลักษณ์ธงสีขาวแดงตามห้างสรรพสินค้า หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยให้สมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทออกมาอย่างพร้อมเพียงกัน ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวประชาชนทั่วไปจะใส่เสื้อสีเหลือง หากใส่เสื้อสีดำ จะเป็นการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ พยานได้รับมอบหมายให้ไปสังเกตการณ์ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ และได้รับรายงานว่ามีการชุมนุมในอีกลายจุด เช่น ที่พารากอน สกายวอล์คปทุมวัน ส่วนที่เซ็นทรัลรามอินทรา พยานได้รับรายงานว่า มีคนใส่เสื้อดำมา 1 ราย คือ นางรานี 

อย่างไรก็ตาม พยานตอบคำถามของทนายจำเลยโดยรับว่า การจัดรายการของกลุ่มสหพันธรัฐไท นอกจากจะเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่พยานเบิกความไปแล้ว ยังมีการเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตย และจากเอกสารที่ถอดเทปมาจากคลิปรายการของกลุ่มแกนนำ ไม่มีการนัดหมายให้สมาชิกไปเจอกันที่เซ็นทรัล รามอินทรา ในวันเกิดเหตุ 

เชื่อว่าจำเลยมีส่วนร่วมกับ “สหพันธรัฐไท” เหตุมีรูปบัตรตำรวจที่จำเลยถ่ายไว้ปรากฏในยูทูบ “สหพันธรัฐไท”

พ.ต.ท. นิเวศน์ สารวัตรสืบสวน สน.บางเขน ยังเบิกความในประเด็นที่ว่า ในวันเกิดเหตุ หลังจำเลยกลับออกจากห้างไปแล้ว พยานได้รับแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่พบภาพบัตรข้าราชการตำรวจไปปรากฎในยูทูบรายการ “สหพันธรัฐไทเปิดใจประชาชน” โดยเนื้อหาในคลิปมีการโจมตีเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาขัดขวาง ซึ่งเป็นภาพเดียวกันกับที่จำเลยถ่ายไว้ เช่นเดียวกับที่ ร.ต.อ.พรชัย เบิกความว่า พยานได้ทราบจากผู้บังคับบัญชาว่า ในช่องยูทูบปรากฏภาพบัตรข้าราชการของพยาน จากนั้นพยานได้เข้าไปตรวจสอบก็พบเช่นนั้นจริง 

พ.ต.ท. นิเวศน์ ยังเบิกความอีกว่า พยานได้ติดตามพฤติกรรมของจำเลย และหลังจากที่ทราบชื่อและทราบที่ทำงานของจำเลยแล้ว พยานได้ไปติดตามที่ทำงานของจำเลย และได้ไปที่บ้านของจำเลย 2 ครั้ง โดยอาศัยอำนาจของ คสช. เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ทหารไปด้วย เพื่อตรวจค้นหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมเกี่ยวกับกลุ่มสหพันธรัฐไท และพยานได้สอบถามจำเลยว่า รูปบัตรข้าราชการของ ร.ต.อ.พรชัย ไปปรากฏในยูทูบได้อย่างไร จำเลยบอกว่า ได้ส่งภาพดังกล่าวไปในกลุ่มเพื่อน พยานระบุว่า เนื่องจากรูปบัตรข้าราชการของ  ร.ต.อ.พรชัย ซึ่งจำเลยเป็นถ่ายรูปไว้ ไปปรากฏอยู่ในยูทูบรายการของสหพันธรัฐไท จึงเชื่อว่าจำเลยมีส่วนร่วมกับองค์การสหพันธรัฐไท

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า ได้สอบถามจำเลยว่ารูปบัตรข้าราชการของ ร.ต.อ.พรชัย ไปปรากฏในยูทูบได้อย่างไร จำเลยบอกพยานว่าได้ส่งภาพดังกล่าวไปในกลุ่มเพื่อน และสาเหตุที่รูปบัตรข้าราชของเจ้าหน้าที่ไปปรากฎอยู่ในยูทูบรายการของสหพันธรัฐไท จึงเชื่อว่าจำเลยมีส่วนร่วมกับองค์การสหพันธรัฐไท

สหพันธรัฐและรัฐสวัสดิการ

พ.ต.ท. เสวก บุญจันทร์ กองบังคับการปราบปราม เบิกความว่า ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีนี้  แต่พนักงานสอบสวนในคดีสหพันธรัฐไทคดีซึ่งมีนายกฤษณะ กับพวกรวม 10 คน เป็นจำเลย ในคดีดังกล่าว กฤษณะกับพวกได้รวมกลุ่มกันตั้งกลุ่มสหพันธรัฐไท ซึ่งมีแนวความคิดต่อต้านรัฐบาล คสช. และมีวัตถุประสงค์ในการเปลี่ยนระบอบการปกครองประเทศ จากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นระบอบสหพันธรัฐ โดยพยานมีความเห็นทางคดีว่า การกระทำที่เป็นการเผยแพร่แนวความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และฐานเป็นอั้งยี่ จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดีดังกล่าว  

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท. เสวก ตอบคำถามทนายจำเลยว่า พยานไม่ทราบว่ากลุ่มแกนนำสหพันธรัฐไทออกจากประเทศไทยเมื่อใด ประชาชนทั่วไปจะเปิดเข้าไปดูรายการของกลุ่มสหพันธรัฐไทผ่านช่องยูทูบได้หรือไม่ พยานก็ไม่ทราบ เนื่องจากพยานไม่เคยเข้าไปดู ส่วนระบอบสหพันธรัฐที่กลุ่มสหพันธรัฐไทต้องการนั้น ที่พยานทราบมาก็คือ มีการการกระจายอำนาจให้มีการเลือกตั้งในทุกระดับ เป็นรัฐสวัสดิการดูแลตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต และให้การศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัย แนวความคิดดังกล่าวมีการเผยแพร่ลงในใบปลิวในประเทศไทย และลงในกลุ่มไลน์มลรัฐต่าง ๆ ด้วย ทั้งนี้ พยานไม่ทราบด้วยว่า จำเลยในคดีนี้จะเกี่ยวข้องกับจำเลยในคดีที่พยานเป็นพนักงานสอบสวนหรือไม่

พนักงานสอบสวนชี้ จำเลยเป็นเจ้าของไอดีไลน์ที่เป็นสมาชิกไลน์กลุ่มสหพันธรัฐไท 

พ.ต.ท.สราวุธ บุตรดี พนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2561 ร.ต.อ.พรชัย ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์กับพยาน เพื่อดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้ในข้อหาอั้งยี่ และ ม. 116 พยานได้ลงบันทึกประจำวันไว้ พยานได้สอบปากคำ พ.ต.ท.นิเวศน์ และ พ.ต.ท.แทน  โดยทั้งสองได้มอบรายงานการสืบสวนให้พยาน พยานทราบจากรายงานดังกล่าวว่า เฟซบุ๊กของจำเลยมีการโพสต์เกี่ยวกับการเมืองเป็นหลัก พยานเบิกความต่อไปว่า เชื่อว่าจำเลยใช้ไอดีไลน์ว่า ป้าจอมซน เนื่องจากมีการโพสต์ภาพบัตรข้าราชการของ ร.ต.อ.พรชัย ในกลุ่มของสหพันธรัฐไทในวันเกิดเหตุ และจากการรายงานสืบสวน ปรากฏว่า ไอดีไลน์ “ป้าจอมซน” ได้เปลี่ยนเป็น “ยูเรนัส” เนื่องจากพบว่า ไอดีไลน์ทั้งสองได้โพสต์ข้อความเดียวกันในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งมีข้อความเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ อย่างไรก็ตาม พยานรับว่า ไม่ได้สอบปากคำบุคคลที่พบข้อความทั้งในไลน์และเฟซบุ๊กเองโดยตรง เป็นเพียงเอกสารที่ พ.ต.ท.แทน เอามาประกอบคำให้การในชั้นสอบสวน และตามเอกสารรายงานความเคลื่อนไหวของกลุ่มสหพันธรัฐ ไม่มีข้อความระบุว่าให้นัดรวมตัวกันที่เซ็นทรัล รามอินทรา 

วันที่ 5 ธันวาคม ประชาชนก็มีสิทธิใส่เสื้อสีอื่นได้

พล จงเกียรติกุล ทนายความ พยานโจทก์ผู้ให้ความเห็นด้านกฎหมาย เบิกความว่า คดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเฉลิมพระชนมพรรษาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งในวันดังกล่าวประชาชนจะใส่สุดสีเหลือง เหตุแห่งคดีนี้คือ เจ้าหน้าที่ตำรวจพบจำเลยใส่ชุดสีดำ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจไปพบจำเลย จำเลยได้ถ่ายรูปบัตรข้าราชการของเจ้าหน้าที่ลงในยูทูบของกลุ่มสหพันธรัฐไท พยานเห็นว่าการที่กลุ่มสหพันธรัฐไท มีแนวคิดล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบอบ คสช. เพื่อที่จะแบ่งแยกการปกครอง และมีกิจกรรมปลุกระดมเพื่อเชิญชวนประชาชนที่มีความคิดแนวเดียวกันมาร่วมกิจกรรม เป็นความผิดตามกฎหมาย และความผิดต่อความมั่นคง ขัดต่อรัฐธรรมนูญที่บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันไม่สามารถแบ่งแยกได้ และมีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ  

ทั้งนี้ พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า แม้ในวันที่ 5 ธ.ค. ประชาชนส่วนใหญ่จะใส่เสื้อสีเหลือง แต่ประชาชนก็มีสิทธิใส่เสื้อสีอื่นได้ นอกจากนี้ พยานยังไม่เคยเข้าไปฟังรายการของกลุ่มสหพันธรัฐด้วยตัวเอง เพียงแต่ทราบข่าวจากสื่อ พยานยังรับว่า ไม่เคยทำงานวิจัยหรืออ่านบทความเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในรูปแบบต่าง ๆ และพยานไม่ทราบว่า รูปแบบการปกครองแบบสหพันธรัฐจะมีความเป็นประชาธิปไตยอยู่ด้วยหรือไม่ ทั้งไม่ทราบว่าประเทศมาเลเซียปกครองโดยระบอบสหพันธรัฐแต่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

จำเลยยืนยันเห็นด้วยกับแนวคิดรัฐสวัสดิการ ไม่ได้คิดล้มล้างสถาบัน

ก่อนเริ่มการสืบพยานจำเลย รานีขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหา เป็นอั้งยี่ โดยได้คำให้การเป็นเอกสารรับว่า จำเลยเป็นสมาชิกองค์กรสหพันธรัฐไท และเป็นผู้ใช้บัญชีไลน์ชื่อ “ป้าจอมซน” และ “ยูเรนัส” โดยอยู่ในกลุ่มไลน์ กทม.ปริมณฑล ๑๐ เนื่องจากจำเลยสนใจฟังข่าวสาร และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับคนในกลุ่ม และมีความสนใจในประเด็นที่องค์กรดังกล่าวนำเสนอ เรื่องการกระจายอำนาจ โดยจัดให้มีการเลือกตั้งทุกระดับ เป็นรัฐสวัสดิการโดยดูแลตั้งแต่เกิดจนตาย และให้การศึกษาฟรีตั้งแต่อนุบาลจนถึงมหาวิทยาลัยเท่านั้น อีกทั้งตั้งแต่ที่จำเลยเข้าร่วมกลุ่มไลน์ จำเลยไม่เคยมีส่วนช่วยเหลือ หรือสนับสนุนกิจกรรมที่ผิดกฎหมายของบุคคลดังกล่าว และไม่ได้เห็นด้วยกับแนวคิดทั้งหมด จึงต้องการเข้าไปสังเกตการณ์ด้วยตัวเอง

จากนั้นรานีได้เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า หลังจากที่กินข้าวที่ร้านเคเอฟซี ในห้างเซ็นทรัลรามอินทราเสร็จแล้ว ระหว่างนั้นมีตำรวจนอกเครื่องแบบ 4-5 นาย ได้เข้ามาพูดคุยด้วย และขอให้เธอไปกับเจ้าหน้าที่ แต่รานีไม่ยอมไป โดยตอบไปว่าหากจะคุยขอให้คุยตรงนี้ จากนั้นเธอได้ขอถ่ายบัตรข้าราชการของตำรวจไว้ และตำรวจก็ได้ขอถ่ายบัตรประชาชนและบัตรข้าราชการของเธอไว้เช่นเดียวกัน และที่จำเลยส่งรูปบัตรข้าราชการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปในกลุ่มไลน์ เนื่องจากจำเลยรู้สึกเกิดความกลัวที่ถูกเจ้าหน้าที่มาขอถ่ายบัตรประชาชนและถ่ายบัตรข้าราชการ แต่จำเลยไม่ทราบว่าใครเอาไปโพสต์ในยูทูบ ที่จำเลยโพสต์รูปชูสามนิ้วในเฟซบุ๊กก็เพื่อแสดงออกว่าจำเลยจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการ และเพื่อแสดงออกถึงความมีเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับสถาบันแต่อย่างใด ซึ่งสัญลักษณ์ดังกล่าวมีการแสดงออกโดยทั่วไปตั้งแต่เกิดรัฐประหาร 

 

แถลงการณ์ปิดคดีของจำเลย ยืนยันการใส่เสื้อสีดำและการโพสต์ภาพชู 3 นิ้ว ไม่ใช่การยุยงปลุกปั่น

หลังสืบพยานเสร็จสิ้น ต่อมาในวันที่ 13 มี.ค. 2563 ทนายจำเลยได้ยื่นคำแถลงปิดคดีของจำเลย เพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาของศาล มีเนื้อหาโดยสรุปว่า 

คดีนี้มีปัญหาว่า จำเลยได้ร่วมกับ “กลุ่มสหพันธรัฐไท”  กระทำผิดฐานยุยงปลุกปั่น เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่การปกครองในระบอบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ตามฟ้องของโจทก์หรือไม่  จำเลยเห็นว่า ทางนำสืบพยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักเพียงพอให้ศาลรับฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดในฐานดังกล่าว แต่ทางนำสืบของจำเลยมีน้ำหนักหักล้างทางนำสืบของโจทก์ว่า จำเลยไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องในข้อหานี้ เนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชักชวนและนัดหมายให้สมาชิกหรือประชาชนทั่วไปมารวมตัวสวมใส่เสื้อสีดำ เดินในบริเวณห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล รามอินทรา ในวันเกิดเหตุ โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยเกี่ยวข้องเป็นคนจัดรายการองค์กรสหพันธรัฐไท ที่พูดให้คนไปรวมตัวกันที่จุดนัดหมาย รวมทั้งเฟซบุ๊กของจำเลยก็ไม่มีการโพสต์ข้อความในลักษณะดังกล่าว อีกทั้ง ตามคำถอดเทปรายการสหพันธรัฐไทที่โจทก์นำสืบ ไม่ปรากฏว่ามีเซ็นทรัล รามอินทรา เป็นจุดนัดหมายในการรวมตัวกัน  

นอกจากนี้ จำเลยไม่ได้ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. โดยพยานโจทก์ปากตำรวจที่ไปสังเกตการณ์ ก็เบิกความสอดคล้องกันว่า ในวันเกิดเหตุจำเลยใส่เสื้อสีดำ ไม่มีตราสัญลักษณ์ เดินทางไปที่ห้างเซ็นทรัล รามอินทรา และอยู่ในร้านเคเอฟซี ซึ่งนอกจากจำเลยแล้วไม่มีบุคคลอื่นในร้านที่ใส่ชุดสีดำ จากนั้นจำเลยเดินออกมาจากร้านเคเอฟซีเพียงคนเดียว และกลับออกจากห้างโดยไม่ได้ทำอะไรต่อในห้างเซ็นทรัล รามอินทรา อีกทั้ง พยานอยู่ที่ดังกล่าวจนเกือบเย็นก็ไม่พบบุคคลสวมชุดดำมาทำกิจกรรมอีกเลย 

ส่วนที่โจทก์นำสืบอ้างว่า จำเลยใช้ชื่อบัญชีไลน์ “ป้าจอมซน” และ “ยูเรนัส” ส่งภาพเข้ากลุ่มไลน์ “กทม.ปริมณฑล 10” ก็เป็นเพียงภาพบัตรข้าราชการ และภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาสังเกตการณ์ในชุดนอกเครื่องแบบ เหตุที่จำเลยทำเช่นนั้นก็เพื่อให้คนรับรู้  เนื่องจากจำเลยกลัวถูกกลุ่มชายดังกล่าวอุ้มและสะกอรอยตาม ไม่ได้มีเจตนาแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจ และไม่ให้คนมาที่ห้างดังกล่าว อีกทั้งไม่ปรากฏว่า จำเลยพูดคุยกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ดังกล่าวในลักษณะยุยงปลุกปั่น มีเพียงการพูดคุยทำนองว่า มาถึงห้างแล้ว อยู่ตรงไหน เห็นอะไร  และสอบถามว่ามีใครมาที่ห้างแล้วเท่านั้น 

ประเด็นที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยแสดงออกถึงการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วยการใส่เสื้อสีดำเดินในห้าง ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 โดยที่ในวันดังกล่าวประชาชนทั่วไปใส่เสื้อสีเหลือง จำเลยแย้งว่า การใส่เสื้อดำในวันเกิดเหตุนั้นไม่ผิดกฎหมาย ไม่ได้เป็นการยุยงปลุกปั่น การที่โจทก์กล่าวหาในลักษณะว่า คนใส่เสื้อสีต่างกันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง นั้นเป็นการขัดกับหลักเหตุผล ทั้งพยานโจทก์ยังเบิกความต่อศาลว่า จำเลยเพียงแต่ใส่เสื้อสีดำ ไม่มีตราสัญลักษณ์ใดๆ ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบได้ว่าเสื้อสีดำหมายถึงอะไร และในวันเกิดเหตุยังมีประชาชนใส่เสื้อสีอื่น ซึ่งเป็นสิทธิที่ประชาชนทุกคนทำได้ แม้แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังไม่ได้ใส่เสื้อสีเหลืองทุกคน

และในประเด็นที่โจทก์กล่าวหาว่า จำเลยยุยงปลุกปั่นด้วยการโพสต์ภาพตนเองชูสามนิ้วและภาพกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไทผ่านสื่อสังคมออนไลน์นั้น จำเลยยืนยันว่า การโพสต์ภาพจำเลยชูสามนิ้วไม่เป็นการผิดกฎหมาย หรือยุยงปลุกปั่น อีกทั้งจำเลยโพสต์ภาพชูสามนิ้ว เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2563 เนื่องจากในวันดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจำนวนหลายคนมาขอค้นบ้านในช่วงเวลาประมาณ 21.00 น.. โดยไม่มีหมายค้น และมีลักษณะคุกคาม  ไม่ฟังเหตุผล การชูสามนิ้วเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายว่า เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและแสดงออกอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้รับการรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

 

คำพิพากษาในคดี “สหพันธรัฐไท” ก่อนหน้านี้

คดีของรานีนับเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับ “สหพันธรัฐไท” คดีที่ 5 ที่มีคำพิพากษา ก่อนหน้านี้ ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วอย่างน้อย 4 คดี โดยใน 2 คดีแรกในจังหวัดเชียงรายและกรุงเทพฯ จำเลยให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา คดีที่จังหวัดเชียงราย จำเลย 2 คน ถูกกล่าวหาว่าได้ใส่เสื้อดำมีธงขาวแดงสัญลักษณ์กลุ่ม “สหพันธรัฐไท” ไปที่ห้างเซ็นทรัล ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และยุยงปลุกปั่น ลงโทษจำคุกคนละ 1 ปี ส่วนอีกคดี จำเลยถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ลงในกลุ่มไลน์สหพันธรัฐไท ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จ ลงโทษจำคุก 1 ปี 

อีก 2 คดี จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้คดี คดีแรก จำเลย 4 คน ถูกกล่าวหาว่า ครอบครองใบปลิวและเสื้อดำ “สหพันธรัฐไท” ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ จำคุกคนละ 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนข้อหา ยุยงปลุกปั่น ให้ยกฟ้อง และก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2563 ศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยอีก 2 คน ที่ถูกกล่าวหาจากการใส่เสื้อดำ “สหพันธรัฐไท” เนื่องจากโจทก์ฟ้องซ้อนในข้อหาอั้งยี่ และไม่มีหลักฐานว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่น

 

X