23 ก.ย. 62 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก พนักงานอัยการ สำนักอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 6 นัดสั่งฟ้องกาญจนา (นามสมมติ) ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และข้อหาอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา 209 และข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 8 และ มาตรา 14 นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อันเป็นเท็จ ประกอบกับ มาตรา 33 การริบทรัพย์สิน ซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด มาตรา 38 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป มาตรา 91 เมื่อปรากฏว่าผู้ใดได้กระทำการอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ศาลลงโทษผู้นั้นทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป มาตรา 4 ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย โดยกาญจนาให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้หลักทรัพย์ 600,000 บาท และนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 11 พ.ย. 62 เวลา 13.30 น.
อัยการบรรยายฟ้องว่า วันที่ 5 ธ.ค. 61 จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้นำตัวมาฟ้อง บังอาจร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนิน มีชื่อว่า “องค์การสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพื่อการอันมิชอบโดยกฎหมาย
จำเลยกับพวก ได้ร่วมกันกระทำให้ปรากฎแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยการเคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่ม และประชาชนทั่วไปผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไป บริเวณห้ามสรรพสินค้าเซ็ลทรัลอุบลราชธานี อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร
กรณีดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 61 กาญจนาใส่เสื้อแจ๊กเก็ตสีดำถือธงขาว-แดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไทในห้างสรรพสินค้าเซ็ลทรัลอุบลราชธานี แล้วส่งต่อกันในสื่อออนไลน์ ก่อนกาญจนาจะถูกควบคุมตัวไปที่มณฑลทหารบกที่ 22 ค่ายสรรพสิทธิประสงค์ อยู่ 4 วัน ก่อนเจ้าหน้าที่ทหารจะนำตัวกาญจนาไปส่งที่บ้าน โดยไม่ได้มีการดำเนินคดี แต่ต่อมาวันที่ 12 ธ.ค. 61 นางกาญจนาได้ถูกควบคุมตัวอีกครั้ง โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ควบคุมตัวเธอขึ้นรถตู้เดินทางเข้ากรุงเทพฯ และนำไปควบคุมไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 ก่อนนำตัวกลับไปส่งที่บ้านในช่วงบ่ายของวันที่ 14 ธ.ค. 61 จากนั้น วันที่ 25 ธ.ค. 61 นางกาญจนาจึงได้รับหมายเรียกจาก สภ.เมืองอุบลฯ ให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา ทั้งนี้ นางกาญจนาให้ข้อมูลว่า ในระหว่างถูกควบคุมหลายวันดังกล่าวนั้น เธอถูกเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจสอบปากคำหลายครั้ง
ทั้งนี้กลุ่มคดีสหพันธรัฐไทมีการควบคุมตัวบุคคลซึ่งออกมาเคลื่อนไหวโดยการใส่เสื้อสีดำ ตั้งแต่กลางปี 2561 แต่ในช่วงเกิดเหตุวันที่ 5 ธ.ค.61 มีการควบคุมตัวบุคคลไปไว้ในค่ายทหารหลายพื้นที่ และยังมีการติดตามควบคุมตัวบุคคลซึ่งออกมาแสดงสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่องล่าสุดเป็นการจับกุมตัวชูวิทย์(สงวนนามสกุล) ที่เชียงใหม่เมื่อวันที่ 6 ก.ย.62 ที่ผ่านมาเป็นรายที่ 19
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตำรวจอุบลฯ แจ้งข้อหาหญิงสูงวัย ม.116-อั้งยี่-พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เหตุถือธงกลุ่มสหพันธรัฐไทถ่ายรูป
กองปราบแจ้งข้อหายุยงปลุกปั่น+อั้งยี่ กรณีหญิงอุบลฯ สูงวัยสวมเสื้อดำ