จาก ‘หญิงเย็บผ้าเชียงราย’ สู่ผู้ถูกดำเนินคดีสหพันธรัฐ เรื่องราวหลังศาลอุทธรณ์รอลงอาญา

“ดีใจ จนกั้นน้ำตาไม่อยู่ ใจชื้นขึ้นมา เหมือนยกภูเขาออกจากอก ก่อนหน้านี้คิดว่าจะติดคุก เหมือนเราถูกยัดคดี เราออกไปแสดงออกโดยสงบ ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม ไม่ได้มีการชุมนุมเลย แต่กลับถูกทหารมาอุ้ม มาเอาตัวเราไป เอาตัวมาดำเนินคดีที่กรุงเทพ ถูกคุมขัง แล้วต้องเสียเงิน เสียเวลา เดินทางก็ยากลำบาก รู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม”

ศิริเพ็ญ หรือ “ป้าเพ็ญ” เล่าถึงความรู้สึกหลังการต่อสู้คดีอย่างยาวนานกว่า 2 ปี ก่อนเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 63 ศาลอาญาได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษเธอในข้อหาความผิดฐานเป็น “อั้งยี่” จำคุก 6 เดือน แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

คดีของเธอและน้องสาวนั้น เป็นหนึ่งในกลุ่มคดีที่ถูกเรียกว่า “คดีสหพันธรัฐไท” มูลเหตุจากการใส่เสื้อสีดำไปในที่สาธารณะในช่วงวันที่ 5 ธ.ค. 61 ทั้งสองคนถูกกล่าวหาจากพฤติการณ์การใส่เสื้อดำเช่นกัน แต่ที่เพิ่มเติมคือมีการพกเศษผ้าที่เย็บเป็นลายธงขาวแดง ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นธงสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท จำนวนประมาณ 100 กว่าชิ้น ไปที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่าจังหวัดเชียงราย โดยยังไม่ได้มีการแจกจ่าย หรือไม่ได้มีการกล่าวถ้อยความใดๆ ไว้ระหว่างเกิดเหตุ ทั้งสองคนถูกเจ้าหน้าที่ทหารเข้าจับกุมตัว ก่อนถูกกล่าวหาดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (ยุยงปลุกปั่น) และมาตรา 209 (อั้งยี่)

ด้วยข้อกล่าวหาและข่าวสารตามหน้าสื่อกระแสหลักในช่วงดังกล่าว การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาในคดี “สหพันธรัฐไท” ดูเป็นเรื่องร้ายแรง และพวกเธอถูกแปะป้ายกลายเป็น “อาชญากรต่อความมั่นคงของชาติ” ก่อนข่าวคราวเรื่องนี้จะค่อยๆ เงียบหายไป เช่นเดียวกับชะตากรรมของผู้เสนอแนวคิดสหพันธรัฐไท

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้ติดตามข้อมูลและเรื่องราวของคดีนี้ในภายหลัง หลังจากผู้ถูกกล่าวหาทั้งสองคนได้ให้การรับสารภาพในคดี และถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกไปแล้ว ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาในช่วงปลายปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นการบันทึกเรื่องราวที่เกิดขึ้น และการดิ้นรนต่อสู้ของ “หญิงรับจ้างเย็บผ้า” ที่ดูเหมือนไม่มีใครรู้จักคนหนึ่ง จึงบอกเล่าเรื่องราวของผู้ตกเป็นจำเลยในคดีสหพันธรัฐไทที่จังหวัดเชียงรายในคดีนี้

 

68 ปี ของชีวิตที่ดิ้นรนวันต่อวัน

ป้าเพ็ญคงเป็น “คนตุ๊ก” หรือคนทุกข์ คนรากหญ้า คนชั้นล่าง คนหาเช้ากินค่ำ ฯลฯ หากพอจะสรรหาคำทำนองนี้มาบรรยายได้อีก กล่าวจากวิถีการดำเนินชีวิตแต่ละวัน เธอไม่มีเงินเดือน ไม่มีความมั่นคง มีแต่ค่าจ้างรายวัน และการอยู่รอดไปแบบวันต่อวัน

ในวัย 68 ปี ศิริเพ็ญ ผ่านชีวิตของคนหาเช้ากินค่ำมาอย่างโชกโชน เธอเกิดและเติบโตในครอบครัวเกษตรกรในอำเภอพญามังราย จังหวัดเชียงราย มีพี่น้องทั้งหมด 9 คน โดยเธอเป็นลูกคนที่สอง มีพี่ชายคนโตอีกคนหนึ่ง มีวุฒิการศึกษาระดับชั้น ป.3 โดยแม้จะเรียนถึงชั้น ป.4 แต่อย่างไรไม่ทราบ โรงเรียนไม่ออกใบประกาศระดับชั้นนี้ให้ ป้าเพ็ญยังอ่านออกเขียนได้อยู่ แม้ทักษะการเขียนจะทำได้จำกัด การเขียนคำหรือประโยคยากๆ สำหรับเธอ ยังไม่ใช่เรื่องง่ายนัก

ชีวิตของป้าเพ็ญ สรุปง่ายๆ ได้ว่าไม่ทำไร่ทำนาอยู่ที่บ้านเกิด ก็เดินทางเข้าเมืองหลวงหางานรับจ้างทำ

ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา เธอเข้ากรุงเทพฯ และกลับมาเชียงรายอยู่หลายต่อหลายครั้ง เริ่มแรกในวัยสาว ป้าเพ็ญเข้ากรุงฯ ไปทำงานเย็บกระสอบในโรงงานของกระทรวงการคลังอยู่ราว 1 ปี ก่อนกลับมาทำนาที่บ้าน เมื่อรายได้ไม่พอกิน ก็ตัดสินใจเดินทางเข้าเมืองหลวงอีก โดยคราวนี้ไปทำงานที่โรงงานเย็บเสื้อผ้าของบริษัทย่านบางแค ทำอยู่ได้หลายปี ก็พอดีพบรัก ได้แต่งงาน จึงได้เดินทางกลับมาอยู่เชียงรายอีก

ชีวิตครอบครัวครั้งแรกไปไม่รอด หลังการหย่าร้าง เธอกลับไปหางานทำอีกในกรุงเทพฯ หนนี้ไปทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ย่านบางมด ทำอยู่อีกหลายปีเหมือนกัน แล้วก็ได้เจอ “ลุงวี” สามีคนปัจจุบัน ซึ่งแก่กว่าเธอ 1 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดนครราชสีมา และทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ทั้งสองคนตกลงใช้ชีวิตด้วยกัน

เข้าๆ ออกๆ กรุงเทพฯ เธอว่าอย่างงั้น ไม่กลับมาทำนาที่บ้าน สักพักก็ต้องกลับไปทำงานโรงงานหรืองานเย็บผ้าในเมือง ชีวิตตกอยู่ในวงจรเช่นนั้น

หนสุดท้ายที่ทั้งสองคนอยู่ในกรุงเทพฯ ช่วงทศวรรษ 2550 ป้าเพ็ญทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ที่สำนักงานสถิติแห่งชาติ ส่วนลุงวีทำงานเป็น รปภ. ที่กระทรวงไอซีที ทำกันอยู่ได้ประมาณ 4 ปี ก็ตัดสินใจย้ายกลับมาเชียงรายอีกครั้งเมื่อเดือนมิถุนายน 2561 เนื่องจากสุขภาพของลุงวีไม่แข็งแรง มีโรคประจำตัวทั้งความดันและเบาหวาน

ลุงและป้าไม่ได้มีลูกด้วยกัน แต่ลุงมีลูกติดอยู่ 2 คน ซึ่งไปทำงานอยู่ที่อื่นหมดแล้ว ส่วนป้ามีลูกติดกับสามีเก่า อยู่ 1 คน

ก่อนเกิดเหตุในคดีนี้ ป้าเพ็ญกับลุงวีอาศัยอยู่บ้านเช่าในตัวเมืองเชียงราย ป้าเพ็ญทำงานรับจ้างเย็บผ้าเป็นรายชิ้น ไม่ได้มีรายได้แน่นอน ขึ้นกับลูกค้าที่ว่าจ้างงานเข้ามา วันหนึ่งอาจได้รายได้ไม่เกิน 100 บาท ขณะที่ลุงวีทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยให้บริษัทแห่งหนึ่ง มีรายได้รายเดือนอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้มากนัก แค่ทำให้มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้าน และพออยู่กินไปวันๆ

“ชีวิตป้า ต้องดิ้นรนตลอด 60 กว่าปี” เธอสรุปอย่างนั้น

 

ภาพห้องเช่าในตัวเมืองเชียงรายของครอบครัวป้าเพ็ญ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้อาศัยอยู่แล้ว

 

ก่อนคดีความ: การเริ่มสนใจฟังคลิปยูทูป

“ชีวิตป้าทำงานอย่างเดียว ทำมาหากิน เรื่องชุมนุมอะไรไม่ได้อยู่ในหัวเลย แล้วเราจะไปล้มล้างการปกครอง อะไรได้ยังไง ไม่เข้าใจเลย”

ไม่เคยไปร่วมชุมนุมที่ไหนมาก่อน ป้าเพ็ญยืนยันแบบนั้น แค่ใช้เวลาทำมาหากินและพอได้พักผ่อนบ้าง ก็แทบไม่มีเวลาไปร่วมกิจกรรมที่ไหน แต่ป้าก็ยอมรับว่าก่อนหน้านี้ เธอเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง เพียงแต่มีส่วนร่วมด้วยการติดตามฟังวิทยุ ฟังยูทูป หรือได้อ่านข่าวสารต่างๆ บ้างเท่านั้น

ช่องทางเทคโนโลยีสื่อสารที่ราคาถูกลงในช่วงหลายปีหลัง ทำให้ลุงกับป้าเข้าถึงเครื่องมือสื่อสาร โทรศัพท์เครื่องเล็กทำให้ป้าเพ็ญใช้เปิดรายการต่างๆ ผ่านทางยูทูปฟังได้ ทำงานเย็บผ้าไปด้วย เปิดรายการหรือเปิดเพลงคลอกับการทำงานไปด้วย ไม่ต่างจากวิทยุสมัยก่อน แต่สื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊กหรือทวิตเตอร์เป็นอย่างไร ป้าเพ็ญไม่เคยใช้และใช้ไม่เป็น เพราะไม่ได้จำเป็นและไม่มีเวลาเข้าไปลองใช้

ด้วยความสนใจเรื่องปากท้อง และข่าวสารบ้านเมืองอยู่บ้าง ป้าเพ็ญรู้จักคลิปรายการของ “ลุงสนามหลวง” ราวช่วงสิงหาคม-กันยายน 2561 เธอจำได้ว่ามีคลิปแสดงขึ้นมาแนะนำให้กดฟังในยูทูป หลังจากที่ฟังคลิปอื่นๆ จบแล้ว ทำให้ลองกดเข้าไปเปิดฟังต่อ โดยไม่ได้รู้จักว่าคนจัดรายการเป็นใคร ชื่อเสียงเรียงนามจริงๆ คืออะไร และไม่เคยติดต่อรู้จักกับใครในคลิป

ป้าเพ็ญเห็นว่าเนื้อหารายการมีการพูดถึงเศรษฐกิจและปากท้อง มีการอ่านข่าวเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจ เปิดให้คนโฟนอินเข้าไปเล่าเรื่องการทำมาหากิน ปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจที่แต่ละคนประสบ ทำให้เกิดความสนใจติดตามฟังเรื่องเหล่านี้ต่อๆ มา

ป้าเพ็ญยอมรับว่าเคยได้ยินคำว่า “สหพันธรัฐไท” อยู่บ้างตอนฟังช่องยูทูปรายการนี้ แต่ก็ไม่ได้เข้าใจความหมายของมันทั้งหมด ทั้งป้าเพ็ญและลุงวียืนยันว่าครอบครัวไม่ได้ต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ถ้าจะไม่เห็นด้วย ก็คือรัฐบาลเผด็จการที่มาจากการยึดอำนาจไปจากประชาชน แต่ก็ไม่เคยไปร่วมแสดงออกใดๆ เพราะยังต้องสนใจปัญหาปากท้องเป็นหลัก

ป้าเพ็ญยังเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัวก่อนเกิดเหตุในคดีของเธอไม่นาน คือการได้เห็นคนเอาข้าวและสัปปะรดไปเททิ้ง ที่หน้าอบจ.เชียงราย เพราะราคาผลผลิตตกต่ำ ขายไม่ได้ ทำให้รู้สึกตอนนั้นว่าเศรษฐกิจของบ้านเมืองกำลังย่ำแย่

การได้สัมผัสปัญหาลักษณะนี้ ทำให้คิดว่าการได้ติดตามฟังข้อมูลข่าวสารออนไลน์ไปด้วย จะทำให้หาทางมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้ รวมทั้งหาช่องทางทำมาหากินให้ดีขึ้น ไม่ได้คิดเลยว่าเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะตัวคนจัดรายการก็คุยหลายเรื่องราว ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องรัฐบาล เรื่องเผด็จการ ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องสถาบันกษัตริย์เพียงอย่างเดียว

แต่ความสนใจติดตามฟัง และการออกไปร่วมแสดงออก ก็นำเธอไปสู่คดีความอันรุนแรงโดยไม่คาดคิด

 

 

เมื่อการใส่เสื้อดำ ถือเศษผ้าไปนั่งอยู่ในห้าง ถูกดำเนินคดีความมั่นคง

ป้าเพ็ญเล่าว่าก่อนหน้าวันที่ 5 ธ.ค. 61 เธอได้ฟังคลิปรายการของลุงสนามหลวง ผู้จัดรายการได้พูดถึงการออกไปพบปะกันกับคนที่สนใจปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจ โดยร่วมกันใส่เสื้อสีดำ พร้อมติดสัญลักษณ์สีขาว-แดงไปเพื่อให้เห็นกัน มีการกล่าวถึงจุดนัดหมายในจังหวัดต่างๆ โดยในจังหวัดเชียงราย เธอได้ยินว่าให้ไปห้างเซ็นทรัล เธอจึงสนใจจะไปตามการนัดหมาย บวกกับจะไปซื้อข้าวของเข้าบ้านด้วยพอดี

“วันนั้น สิ่งจูงใจให้ป้า อยากออกไป เพราะอยากไปพบปะเพื่อน วันก่อนนั้น มีน้องจาก (อำเภอ) แม่จัน เขาเอาสัปปะรดมาเทหน้าอบจ. สองคันรถหกล้อ เขาขายไม่ออก ไม่มีใครมารับซื้อ ป้าเห็นเหตุการณ์นั้น ก็คิดว่าหดหู่มาก ป้ายังไปคุยกับน้องชายที่บ้านพญามังราย เห็นข้าวใส่กระสอบกองเต็ม มันไม่มีราคา มันหดหู่ เลยอยากออกไป เอาสัญลักษณ์ออกไปแบ่งกัน แล้วก็คุยกันว่าบ้านเมืองกำลังแย่น่ะ”

วันนั้น บังเอิญเธอชวนน้องสาวแท้ๆ อายุ 51 ปี ไปซื้อของเป็นเพื่อนด้วยกัน ตัวเธอใส่เสื้อสีดำที่ได้รับบริจาค บนเสื้อไม่ได้มีข้อความใด แต่ป้าเพ็ญได้นำเศษผ้าลายสีขาวและแดง ซึ่งเหลือจำนวนมากจากการเย็บผ้า มาตัดเย็บติดหน้าอกเสื้อ นอกจากนั้นเธอยังเย็บแถบสีขาวแดงดังกล่าวเป็นชิ้นๆ ประมาณ 100 ชิ้น ใส่ถุงก็อบแก๊บนำติดตัวไปด้วย โดยคิดเอาเองว่าถ้ามีคนมาร่วมพูดคุย ก็จะแบ่งแจกให้เขา ป้าเพ็ญเล่าว่าเธอเองก็ไม่ทราบว่าสัญลักษณ์สีขาวแดงนี้สื่อความหมายถึงอะไร ทราบแต่ว่าเป็นสัญลักษณ์ในรายการที่จัดทางยูทูป

เมื่อไปถึงห้างเซ็นทรัลเชียงรายเวลาเที่ยงๆ เธอกับน้องสาวไปซื้อไอศกรีมมานั่งกินอยู่เฉยๆ บริเวณห้างสักพักหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้เจอใครที่ติดหรือสวมสัญลักษณ์ธงลายขาวแดง และไม่ได้แจกเศษผ้าที่เตรียมมาให้กับใคร ผ่านไปเกือบชั่วโมง เธอกับน้องสาวเตรียมจะไปซื้อข้าวของในซุปเปอร์มาร์เก็ต แล้วจะเดินทางกลับ ก็พบว่ามีชายแต่งตัวนอกเครื่องแบบ เข้ามาแสดงตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ทหาร พร้อมแจ้งว่าอยากเชิญตัวทั้งสองคนไปพูดคุย

ตอนนั้น เธอไม่ทราบว่าเป็นเรื่องอะไร จึงได้ติดตามเจ้าหน้าที่ไปที่ห้องรับรองชั้นล่างของห้าง ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่อีกรวมเกือบ 10 คน เดินทางมาพูดคุยด้วย โดยระบุว่าทั้งสองคนกำลังกระทำความผิด เป็นการมาชุมนุมและแสดงสัญลักษณ์ เจ้าหน้าที่ได้ขอตรวจสอบโทรศัพท์มือถือของทั้งสองคน ทำให้ทั้งสองคนไม่สามารถติดต่อใครได้ และไม่สามารถเดินทางออกจากห้องรับรองได้

ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้ระบุว่าจะพาตัวไปค่ายทหาร และได้มีการติดต่อนำรถตำรวจมารับทั้งสองคนไปที่ค่ายเม็งรายมหาราช ป้าเพ็ญจำได้ว่าเธอถูกพาไปยังเรือนรับรองในค่าย โดยมีเสนาธิการทหารนายหนึ่ง พร้อมกับนายทหารอีกหลายนาย เข้ามาพูดคุยด้วย หลักๆ เจ้าหน้าที่ถามถึงเหตุผลการมาแสดงออกที่ห้างดังกล่าว ได้รับเงินมาจากไหนหรือไม่ มีใครเป็นท่อน้ำเลี้ยงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับทักษิณหรือไม่ รู้จักคนที่พูดในยูทูปหรือไม่ รวมทั้งเคยไปชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองหรือไม่

การสอบสวนในค่ายทหารดังกล่าว ใช้เวลาหลายชั่วโมง มีเจ้าหน้าที่ถามวนไปมา จนช่วงค่ำ ป้าเพ็ญเล่าว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจร่วม 20 นาย ได้พาตัวเธอและน้องสาวไปตรวจค้นบ้าน ทั้งที่อำเภอพญามังราย และบ้านเช่าในตัวเมืองเชียงราย โดยไม่มีหมายค้น เจ้าหน้าที่ทหารยังเรียกกำนันและผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่มาร่วมตรวจค้นด้วย พร้อมสอบถามข้อมูลของเธอและน้องสาว เมื่อมาค้นที่บ้าน ทำให้ลุงวีได้ทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย โดยทหารยังยึดโทรศัพท์ลุงวีไปตรวจสอบด้วย แต่ก็ได้คืนมาภายหลัง

การตรวจค้นมีการตรวจยึดข้าวของ ได้แก่ เสื้อสีดำที่มีการเย็บตราสัญลักษณ์ขาวกับแดงติดไว้ที่หน้าอกเสื้อ รวม 3 ตัว เสื้อแดงนปช. 1 ตัว ซึ่งป้าเพ็ญเคยได้รับแจกมา และจักรเย็บผ้าตัวเล็กที่ใช้เย็บตราสัญลักษณ์ 1 หลัง เจ้าหน้าที่ยังนำสมุดบัญชีธนาคารไปตรวจดู แต่ไม่ได้ยึดเป็นของกลาง

หลังการตรวจค้นเสร็จสิ้น เป็นเวลา 01.00 น. แล้ว เจ้าหน้าที่ได้พาตัวป้าเพ็ญและน้องสาวไปยังสภ.เมืองเชียงราย โดยมีลุงวีติดตามภรรยาไปด้วย เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจชุดจับกุมได้ส่งตัวทั้งสองคนให้กับพนักงานสอบสวน คืนนั้นทั้งสองคนถูกคุมขังในห้องขังในสถานีตำรวจ

เช้าวันถัดมา (6 ธ.ค. 61) ตำรวจได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนในข้อหายุยงปลุกปั่นและอั้งยี่ ป้าเพ็ญจำได้ว่ามีทหารในเครื่องแบบมานั่งอยู่ด้วยระหว่างการสอบสวน โดยนายทหารยังบอกตำรวจในลักษณะว่ามีสัญลักษณ์อยู่ตั้งเยอะ ต้องมีการตั้งข้อหา ตอนนั้น ป้าเพ็ญยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่าข้อหาที่ถูกแจ้ง มีความร้ายแรงเพียงใด โดยเธอและน้องตอบตำรวจไปว่าเป็นเจ้าของเสื้อที่ตรวจยึด และผ้าที่เย็บเป็นธงสัญลักษณ์ขาวแดงจริง แต่ไม่ได้มาชุมนุม และไม่ได้เป็นอั้งยี่หรือไปยุยงปลุกปั่นดังที่มีการกล่าวหา

ระหว่างการสอบสวน ตำรวจยังได้ติดต่อเรียกทนายความขอแรงให้มาร่วมด้วย จึงมีทนายเดินทางมาพบผู้ต้องหาทั้งสองคน แต่ป้าเพ็ญเล่าว่าทนายก็อยู่เพียงไม่นาน แค่ขณะแจ้งข้อกล่าวหา เมื่อช่วยลงชื่อในเอกสารของเจ้าหน้าที่เสร็จ ก็เดินทางกลับ ส่วนลุงวีนั้นก็ไม่ได้ร่วมอยู่ในการสอบสวนด้วย ต้องรออยู่ภายนอกห้อง

ป้าเพ็ญจำได้ว่าวันนั้น ตำรวจที่สอบสวนบอกด้วยว่าคดีไม่มีอะไรหรอก ให้ให้การไปเลย เดี๋ยวเขาก็ยกฟ้องหรือรอลงอาญา เพราะทั้งสองคนก็ไม่ได้ไปชุมนุมก่อความวุ่นวาย แต่ตำรวจอ้างว่าต้องนำตัวไปฝากขังที่ศาลในวันถัดไปด้วย ทำให้ป้าเพ็ญและน้องสาวต้องถูกควบคุมตัวที่สถานีตำรวจต่ออีก 1 คืน

วันที่ 7 ธ.ค. 61 ป้าเพ็ญและน้องสาวถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปขออำนาจศาลจังหวัดเชียงรายในการฝากขัง และศาลอนุญาตให้ฝากขัง ก่อนลุงวีจะหายืมเงินจากคนรู้จักมายื่นขอประกันตัว คนละ 1 แสนบาท ซึ่งศาลอนุญาตให้ประกันตัว รวมต้องใช้เงินประกัน 2 แสนบาท และทั้งสองคนต้องไปรายงานตัวที่ศาลทุกๆ 12 วัน

 

รอง ผบ.ตร. พาตัวลงกรุงเทพฯ ก่อนคุมขังในเรือนจำ

กระบวนการยังไม่ได้จบเพียงแค่นั้น ช่วงนั้นปลายปี 2561 ป้าเพ็ญและน้องสาวถูกทหารและตำรวจติดตาม มีการแวะเวียนมาที่บ้านเป็นระยะ และมีครั้งหนึ่งที่มีทั้งสองคนถูกทหาร “บังคับพาตัว” ไปสอบข้อมูลส่วนตัวเพิ่มภายในค่ายเม็งรายมหาราชด้วย

ไม่เพียงเท่านั้น หลังครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 3 ทั้งสองคนไปรายงานตัวที่ศาลในวันที่ 14 ม.ค. 62 แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้โทรติดต่อให้ไปที่สภ.เมืองเชียงรายก่อน แต่ปรากฏว่าเมื่อไปถึง เจ้าหน้าที่ได้เข้าควบคุมตัวทั้งสองคน เหตุเพราะมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น และทีมงานตำรวจ เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ตำรวจได้พาทั้งคู่ไปทำเรื่องที่ศาลจังหวัดเชียงรายใหม่ โดยเข้าใจว่าเป็นการยื่นขอถอนคำร้องฝากขังเดิม เพื่อโอนตัวผู้ต้องหาไปขอฝากขังที่ศาลอื่นแทน

จากนั้น ตำรวจนำตัวทั้งสองคนขึ้นเครื่องบินตำรวจเข้ากรุงเทพฯ โดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ นั่งไปด้วย พร้อมทีมงานตำรวจเต็มลำประมาณ 20-30 นาย โดยมีลุงวีขอติดตามไปด้วย ตำรวจอ้างกับทั้งสองคนว่าจะต้องนำตัวไปฟ้องรวมกับคดีอื่นๆ ในเมืองหลวง

ป้าเพ็ญจำได้ว่าเมื่อไปถึงกองบินตำรวจ มีเจ้าหน้าที่แต่งกายแบบคอมมาโดพร้อมถืออาวุธปืนรออยู่ และเข้ามาคุมตัวทั้งสองคนไปนั่งรถ เธอบอกว่าตนนั่งร้องไห้ไปตลอดทาง รู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ทำเหมือนกับตัวเองเป็นนักโทษสาหัสสากรรจ์

เจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งสองคนไปสอบสวนเพิ่มเติมที่กองบังคับการปราบปราม โดยมี พล.ต.อ.ศรีวราห์ มาเป็นผู้สอบถามเพิ่มเติมเอง ป้าเพ็ญจำได้ว่าเป็นคำถามทำนองว่ารู้จักชื่อคนนั้นคนนี้ไหม ถามเรื่องการฟังรายการในยูทูปมานานหรือยัง ถามเนื้อหาของรายการ โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ด้วย และลุงวีก็ไม่ได้เข้าร่วมการสอบสวน

จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้นำตัวทั้งสองคนไปขอฝากขังที่ศาลอาญา โดยศาลอนุญาตให้ฝากขัง และมีการเพิ่มหลักทรัพย์ประกันตัวเป็นคนละ 2 แสนบาท รวมต้องใช้เงินประกันตัว 4 แสนบาท ทำให้ลุงวีไม่สามารถหาเงินมาประกันตัวได้ทันในเย็นวันนั้น เนื่องจากมีเพียงหลักทรัพย์เดิม 2 แสนบาทเท่านั้น นั่นทำให้ป้าเพ็ญกับน้องสาวถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

วันถัดมา ลุงวีและน้องชายของป้าเพ็ญอีกคนหนึ่งต้องวิ่งหาเงินประกันตัวเพิ่ม จนตัดสินใจไปกู้ยืมเงินจำนวน 2 แสนบาท จากผู้ให้กู้ที่น้องชายรู้จัก ซึ่งคิดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างแพง แต่ก็ต้องยินยอม เพราะอิสรภาพของครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญกว่า

ช่วงค่ำวันที่ 15 ม.ค. 62 ป้าเพ็ญและน้องสาวจึงได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำ หลังลุงวีนำหลักทรัพย์ 4 แสนบาท ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลอาญา

 

 

ภาพ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล สอบศิริเพ็ญและน้องสาว ที่กองบังคับการปราบปราม เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 62 (ภาพจากมติชนออนไลน์)

 

ยินยอมรับสารภาพในชั้นศาล เพื่อให้คดีสิ้นสุด

ปลายเดือนมกราคมนั้นเอง อัยการก็สั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ครอบครัวของป้าเพ็ญต้องเดินทางจากเชียงรายไปรายงานตัวที่ศาล ครั้งนี้สามารถใช้หลักทรัพย์เดิมในการขอประกันได้

เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ศาลนัดพร้อมคดี ทั้งสองคนอยู่ในห้องพิจารณาโดยไม่มีทนายความ ทำให้ศาลได้แต่งตั้งทนายความขอแรงให้

ในการพูดคุยปรึกษาทางคดี ตัวป้าเพ็ญยืนยันคิดว่าตนเองไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา แต่น้องสาวเห็นว่าอยากให้เรื่องจบเร็วๆ เพื่อไม่ให้มีภาระทางคดี ทางทนายความก็ประเมินให้ฟังว่าหากต่อสู้คดี แล้วศาลไม่ยกฟ้อง อาจถูกลงโทษหนักได้ ทำให้น้องสาวตัดสินใจจะรับสารภาพ ทำให้ตัวป้าเพ็ญต้องว่าตามกันไปด้วย

หลังจากทั้งสองคนให้การรับสารภาพในนัดนั้น ศาลได้สั่งให้พนักงานคุมประพฤติไปสืบเสาะประวัติและพฤติกรรมของจำเลยทั้งสองคน เพิ่มเติม เพื่อประกอบการจัดทำคำพิพากษา

วันที่ 12 มี.ค. 62 ศาลอาญานัดพิพากษา โดยเห็นว่าทั้งสองคนมีความผิดในข้อกล่าวหาทั้งสองมาตรา ให้ลงโทษจำคุกข้อหาละ 6 เดือน แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกข้อหาละ 3 เดือน รวมจำคุก 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา

ป้าเพ็ญเล่าว่าศาลพูดขึ้นมาหลังอ่านคำพิพากษา ว่าตัดสินให้เบาที่สุดแล้ว ให้ลองไปรีบยื่นอุทธรณ์ดู ตอนนั้นเธอเองก็มึนงงไปหมด เพราะยังคิดว่าศาลจะรอลงอาญา และไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องติดคุก ด้วยพฤติการณ์ที่ตัวเธอเองก็ไม่เห็นว่าจะร้ายแรงหรือเป็นความผิดแต่อย่างใด

วันนั้น ทั้งสองคนยังได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ด้วยหลักทรัพย์ประกันเดิม และทางทนายความขอแรงได้ช่วยยื่นอุทธรณ์คดีให้ต่อมา

 

ผลกระทบต่อชีวิต และการถูกจนท.คุกคามไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง

ป้าเพ็ญเล่าว่าการถูกดำเนินคดีนี้ ส่งผลกระทบต่อครอบครัวอย่างหนักหน่วง เนื่องจากเงินประกันตัวที่กู้ยืมมา ทำให้มีภาระต้องส่งดอกเบี้ยรายเดือนเพิ่มขึ้นมาก หลายเดือนหลังศาลชั้นต้นตัดสิน ครอบครัวจึงพยายามนำที่นาไปจำนองกับ ธกส. เพื่อนำเงินมายื่นแทนหลักทรัพย์ประกันตัวที่ไปกู้ยืมมาก่อนหน้านี้ ใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะผ่านจำนอง

ด้านลุงวีได้รับผลกระทบด้านการงาน เนื่องจากทางหัวหน้างานของบริษัทรักษาความปลอดภัยทราบเรื่องที่เกิดขึ้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจมาตามหาบ่อยครั้ง ทั้งลุงวียังต้องลางานเพื่อไปติดตามคดีของภรรยาที่กรุงเทพฯ หลายครั้งเข้า ครั้งละหลายวัน ทำให้มีแรงกดดันจากหัวหน้างาน ทำให้ต้องตัดสินใจลาออกจากงานที่ได้เงินเดือน

ลุงวีหางานใหม่ ได้เป็นคนสวนที่ได้ค่าแรงรายวัน ทำได้อยู่ไม่กี่เดือน สุขภาพก็แย่ลงเนื่องจากอายุมากแล้ว ลุงยังหน้ามืดเป็นลม เพราะเครียดและนอนไม่หลับ ทั้งมีปัญหาเรื่องไต ต้องเข้าโรงพยาบาล จึงตัดสินใจลาออกจากงานนี้ในที่สุด ทำให้ลุงวีไม่ได้มีงานประจำทำอีก

ตัวป้าเพ็ญเอง ยังเริ่มมีอาการปวดหัวข้างเดียว เนื่องจากความเครียดจากทั้งภาระคดี และเศรษฐกิจของครอบครัว เธอเข้าใจว่าเป็นไมเกรน และยังมีอาการนอนไม่หลับ ฝันร้ายบ่อยครั้ง เธอหางานประจำเป็นแม่บ้านที่โรงแรมในเมืองเชียงราย ซึ่งได้ค่าแรงเป็นรายวัน ไม่ได้มีเงินเดือน รวมทั้งยังรับงานเย็บผ้าเป็นรายชิ้น ซึ่งก็ได้ไม่มากนัก แทบไม่พอจุนเจือครอบครัวและใช้หนี้สิน เมื่อตัวลุงวี หัวหน้าครอบครัวไม่ได้มีรายได้ประจำอีก

ส่วนน้องสาวป้าเพ็ญก็ประสบปัญหาความเครียดจากคดีที่เผชิญ จนมีอาการซึมเศร้า ต้องกินยานอนหลับ และมีอาการหวาดกลัว เพราะมีเจ้าหน้าที่มาติดตามบ่อยครั้ง เธอต้องหลบจากเชียงรายไปอยู่บ้านเพื่อนในจังหวัดอื่นอยู่พักใหญ่

ตั้งแต่หลังเกิดเหตุการณ์ในเดือนธันวาคม 2561 ทั้งสองคนได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในจังหวัดเชียงราย ติดตามความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง โดยมีการเดินทางมาถ่ายรูปและจับตาที่บ้านหลายครั้ง และเจ้าหน้าที่เข้ามาสอบถามข้อมูลป้าเพ็ญ ทั้งที่บ้านและที่ทำงานเป็นระยะตลอดช่วงสองปีนี้

รวมๆ แล้ว ตลอดสองปีที่ผ่านมา ป้าเพ็ญประมาณว่าน่าจะถูกเจ้าหน้าที่รัฐทั้งตำรวจและทหารมาพูดคุยหรือติดตามที่บ้าน มากกว่า 30 ครั้ง ยังไม่นับกรณีที่สังเกตว่ามีบุคคลที่น่าจะเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบคอยมาสอดส่องหน้าบ้าน โดยไม่ได้เข้ามาพูดคุยด้วย หรือกรณีที่โทรศัพท์มาสอบถามข้อมูลเป็นระยะ แม้เธอจะย้ำกับเจ้าหน้าที่ตลอดว่าเธอไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ และคดีก็รอการพิจารณาของศาลเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ก็ยังไม่หยุดมาติดตาม

ทั้งป้าเพ็ญยังเล่าว่ามีช่วงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารในเครื่องแบบเข้ามาติดตามขอพบเธอถึงที่ทำงานในโรงแรม ทำให้ถูกหัวหน้างานที่ทำงานเพ็งเล็ง เพื่อนร่วมงานตื่นตกใจ ทำให้เธอยิ่งเกิดความเครียดมากขึ้นอีก ว่าจะส่งผลกระทบต่องานที่ทำ

ต้นปี 2563 ป้าเพ็ญกับลุงวีตัดสินใจกลับไปใช้ชีวิตที่อำเภอพญามังราย บ้านเกิด โดยเธอออกจากงานแม่บ้านที่ทำ และคืนบ้านเช่าในตัวเมืองเชียงราย หันไปทำงานหลักๆ คือทำไร่ทำสวนบนที่ดินของครอบครัว และรอคอยว่าเมื่อไรศาลจะนัดพิพากษาอีกครั้ง

 

ภาพแขนป้าเพ็ญเข้าเฝือกขณะเดินทางมาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

สู่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์

“ชีวิตมันโหดร้ายมาก เขาจะรู้ไหมว่าชีวิตเราลำบากขนาดไหน ถ้าต้องไปติดคุก ยังหวังว่าจะรอลงอาญา ให้ป้าไปล้างห้องน้ำ ทำความสะอาดวัดวาที่ไหนก็ได้ แต่อย่าให้ไปติดคุกเลย” ป้าเพ็ญบอกถึงความคาดหวังก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา

เธอเล่าว่าจากที่เคยเข้าไปในคุกเพียงแค่คืนเดียว ช่วงระหว่างรอหาหลักทรัพย์ประกันตัว ทำให้เธอรู้สึกว่ามันลำบากมาก อย่างเรื่องการอาบน้ำ ที่เรือนจำมีการใช้สายยางเจาะเป็นรูป และเปิดน้ำให้หยดเป็นครั้งๆ และเป็นรอบ รอบหนึ่งก็ให้ล้างหน้า ให้แปรงฟัน ซึ่งค่อนข้างเร็ว ทำให้หลายคนยังฟอกสบู่ไม่เสร็จเลย น้ำก็หยุดไหลแล้ว รวมถึงเรื่องสุขภาพอนามัยในเรือนจำ ซึ่งตัวเธอเองคิดว่าด้วยอายุขนาดนี้ และเจ็บป่วยง่ายๆ ทำให้หากต้องถูกจองจำ ตัวเธอเองก็ไม่สามารถแน่ใจได้เลย ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตตนเองได้

เดิมนั้น ป้าเพ็ญและน้องสาวได้รับหมายเรียกให้ไปฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในช่วงต้นเดือนเมษายน 2563 แต่เนื่องจากช่วงนั้นมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทางไปกรุงเทพฯ ทางทนายความขอแรงจึงได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป

ต่อมา ศาลได้นัดอ่านคำพิพากษาใหม่เป็นวันที่ 16 ธ.ค. 63 ที่ผ่านมา ก่อนวันนัดไม่นาน ป้าเพ็ญประสบอุบัติเหตุลื่นล้มขณะไปรดน้ำผักในไร่ ทำให้กระดูกมือแตก ต้องเข้าเฝือกและต้องรอการผ่าตัด ทำให้เธอหารือว่าจะขอเลื่อนคดีไปอีกดีหรือไม่ เนื่องจากเกรงว่าถ้าศาลลงโทษจำคุก จะประสบปัญหาในการออกมาผ่าตัดและดูแลรักษา ทนายความจึงได้ช่วยยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีเอาไว้ แต่ตัวเธอและน้องสาวยังต้องเดินทางไปแสดงตัวที่ศาลอาญาอยู่

ในห้องพิจารณา เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองคนมาแล้ว จึงได้ตกลงว่าจะอ่านคำพิพากษาเลย โดยศาลอ่านเฉพาะบทสรุปของโทษที่ศาลอุทธรณ์พิจารณา ไม่ได้อ่านเนื้อหารายละเอียดคำวินิจฉัย โดยสรุปว่าศาลอุทธรณ์ลงโทษป้าเพ็ญและน้องสาวในข้อหาตามมาตรา 209 วรรคแรก “เป็นอั้งยี่” โดยให้ลงโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท แต่ให้การรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวกับคุมประพฤติและทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ต่อไป และให้ริบของกลางทั้งสามรายการ

สิ้นเสียงผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษาอย่างรวดเร็วและใช้เวลาไม่นานนัก เมื่อทราบว่าตนเองจะไม่ถูกจองจำ ราวกับความอัดอั้นที่กักเก็บอยู่ภายในกว่าสองปีทะลักทลายออก ป้าเพ็ญน้ำตาไหลออกมาเงียบๆ ในห้องพิจารณาของศาล…

 

อ่านภาพรวมชุดคดีสหพันธรัฐไทเพิ่มเติม

เปิดฐานข้อมูล “คดีสหพันธรัฐไท” จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

X