ยกฟ้อง 2 จำเลยสหพันธรัฐไท เหตุโจทก์ฟ้องซ้อนข้อหาอั้งยี่-ไม่มีพยานหลักฐานข้อหา 116

9 มี.ค. 2563 เวลา 9.30 น .ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีสวมเสื้อดำ “สหพันธรัฐไท” ซึ่งพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องนายเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยที่ 1 และนางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยที่ 2 ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ 209 โดยกล่าวหาว่า ทั้งสองสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้ายพร้อมข้อความ “Federation” ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท ไปที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2561 โดยในวันนี้ศาลได้พิพากษายกฟ้องทั้งสองข้อหา 

จำเลยทั้งสองถูกฟ้องว่าเกี่ยวข้องกับ “สหพันธรัฐไท” ในข้อหาเดียวกันนี้เป็นคดีที่ 2 โดยคดีแรก ทั้งสองและจำเลยอื่นๆ รวม 5 คน ถูกฟ้องจากกรณีแจกใบปลิวและสวมเสื้อดำ ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาในคดีแรกไปแล้วเมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2563

ในคดีนี้อัยการบรรยายฟ้องว่า 

“วันที่ 5 ธ.ค. 2561 จำเลยทั้งสองกับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ มีชื่อว่า “องค์การสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพื่อการอันมิชอบด้วยกฏหมาย”

“…..จำเลยทั้งสองกับพวกนัดหมายสวมใส่เสื้อดำมีแถบธงขาวแดงติดที่บริเวณหน้าอกด้านซ้าย และมีอักษรสีขาวข้อความภาษาอังกฤษ “Federation” อยู่กลางหน้าอกด้านหน้า ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ขององค์การสหพันธรัฐไท เดินบริเวณห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 โดยในวันดังกล่าวประชาชนสวมใส่เสื้อสีเหลือง เพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ อันมิใช่การกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญและมิใช่เพื่อแสดงความเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”

ศาลอ่านคำพิพากษายกฟ้องทั้งสองข้อหา

เวลา 9.35 น. ทนายจำเลย 3 คน, ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและ iLaw มารอฟังคำพิพากษา โดยไม่มีญาติของจำเลยมาร่วม เมื่อจำเลยทั้งสองมาพร้อมกันแล้ว โดยนางประพันธ์ จำเลยที่ 2 ถูกเบิกตัวมาจากทัณฑสถานหญิงกลาง ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษา ในคำพิพากษาศาลมีประเด็นวินิจฉัยโดยสรุปดังนี้

1) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป 
ศาลวินิจฉัยว่า ในคดีหมายเลขดำที่ อ.3157/2561 ที่จำเลยถูกฟ้องและมีคำพิพากษาไปแล้ว เป็นคดีหมายเลขแดงที่ อ.91/2563 โจทก์ได้บรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย.– 12 ก.ย. 61 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยที่ 2 (นายเทอดศักดิ์) และจำเลยที่ 3 (นางประพันธ์) กับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายวัฒน์ วรรลยางกูร และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ ในคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการ ชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข 

ต่อมาวันที่ 22 พฤษภาคม 2562 จำเลยถูกฟ้องในคดีนี้ โดยโจทก์บรรยายฟ้องวันที่ 4-5 ธ.ค. 2561 ในเวลากลางวัน จำเลยทั้งสอง (เทอดศักดิ์และประพันธ์) กับพวกอีกหลายคนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ร่วมกันเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการดำเนินการ มีชื่อว่า “องค์การสหพันธรัฐไท” มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข เพื่อการอันมิชอบด้วยกฏหมาย”

ศาลเห็นว่าแม้โจทก์จะบรรยายฟ้องคนละเวลา แต่เป็นเหตุการที่เกิดต่อเนื่องกัน จำเลยยังคงเป็นสมาชิกกลุ่ม ในคดีหมายเลขแดงที่ อ.91/2563 การนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ในคดีนี้จึงต้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตราที่ 39 (4)



2) โจทก์ไม่ได้นำหลักฐานที่หนักแน่นมาแสดงต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดข้อหา ม.116 ศาลกล่าวถึงคำเบิกความของพยานโจทก์ 4 คน คือ พ.ต.ท.แทน ตำรวจผู้เข้าสังเกตการณ์ในที่เกิดเหตุ , ร.ต.อ.อนันต์ พนักงานสอบสวน ผู้แจ้งข้อกล่าวหา และพยานพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้า 2 ปาก ซึ่งเบิกความว่า เห็นจำเลยทั้งสองสวมเสื้อดำ โดยนายเทอดศักดิ์ สวมเสื้อดำที่มีคำว่า Federation ส่วนนางประพันธ์ สวมเสื้อดำ โดยผูกโบว์สีขาว-แดง เดินทางมาที่ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค. 2561 และรวมกลุ่มพูดคุยกับกลุ่มคนที่ใส่เสื้อดำ นอกจากนี้ พ.ต.ท. แทน พยานโจทก์ปากแรกยังให้การว่า ในวันที่ 4 ธ.ค. 2561 ช่องยูทูบสหพันธรัฐไทได้ออกอากาศเรื่องการล้มล้างสถาบันและให้ประชาชนสวมเสื้อดำในวันที่ 5 ธ.ค. 61 ไปตามห้างสรรพสินค้า ตั้งแต่เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป โดยในวันดังกล่าว พ.ต.ท.แทน และ ร.ต.อ.อนันต์ ได้ไปสังเกตการณ์ที่เดอะมอลล์ บางกะปิ พร้อมทั้งมีการถ่ายภาพนิ่งและวิดิโอ พยานทั้งสองให้การว่า ได้ยินจำเลยกล่าวถึงการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่ไม่มีกษัตริย์ โดยเป็นลักษณะแนวคิดที่คล้ายกับในเพจสหพันธรัฐไท

ศาลเห็นว่าแม้จากการให้การของพยาน พยานย่อมทราบว่าจำเลยมีแนวคิดอย่างไร พยานทั้งสองเป็นเจ้าพนักงาน ไม่มีเหตุให้ปรักปรำจำเลย  แต่พยานซึ่งให้การว่าได้ถ่ายภาพและวิดิโอเอาไว้ ไม่ได้นำหลักฐานที่หนักแน่นมาแสดงต่อศาล จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิด พิพากษายกฟ้อง 






ย้อนดูคำเบิกความพยาน

การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นในระหว่างวันที่ 16,17 และ 24 ม.ค. 2563 ตลอดการพิจารณาคดี 3 วัน มีผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, iLaw รวมถึงมีประชาชนทั่วไปที่ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังการพิจารณา เดิมพนักงานอัยการแถลงต่อศาลว่า มีพยานบุคคลที่ต้องนำเข้าสืบทั้งสิ้น 10 ปาก แต่เนื่องจากทั้งสองฝ่ายสามารถรับข้อเท็จจริงกันได้ จึงมีการสืบพยานโจทก์ 8 ปาก ประกอบด้วย ตำรวจ 4 ปาก พนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้า 2 ปาก, พยานความเห็นซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความ 1 ปาก และอดีตคนเฝ้าหอพักที่จำเลยอาศัยอยู่ 1 ปาก  ส่วนทนายจำเลยไม่ประสงค์จะนำจำเลยเข้าเบิกความ

ตำรวจผู้สืบสวนเบิกความถึงการเคลื่อนไหวของแกนนำในลาว โดยไม่มีหลักฐานการติดต่อกันของแกนนำและจำเลย

พยานโจทก์ พ.ต.ท.แทน ไชยแสง สังกัดกองกำกับการ 2 กองบังคับการปราบปราม ซึ่งได้รับมอบหมายให้สืบสวนและบริหารงานข่าวกรอง แจ้งเตือนหน่วยงานเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการกระทำที่กระทบความมั่นคง ได้เบิกความว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐาน เป็นอั้งยี่ ร่วมกับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายวัฒน์ วรรลยางกูร และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งมีการจัดรายการทางช่องยูทูบชื่อรายการ ลุงสนามหลวง มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขไปสู่ระบอบการปกครองแบบสหพันธรัฐมีประธานาธิบดีเป็นประมุข  ซึ่งฝ่ายข่าวกรองได้แบ่งกลุ่มสหพันธรัฐเป็น 3 กลุ่ม 1) กลุ่มชี้นำความคิดซึ่งอยู่ต่างประเทศ  2) กลุ่มปฏิบัติการกองกำลังใช้อาวุธ 3) กลุ่มมวลชน ซึ่งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทุกอย่างที่เกี่ยวกับสถาบัน โดยกลุ่มแกนนำจัดรายการผ่านยูทูบ และสั่งการต่างๆ ผ่านช่องทางดังกล่าว ส่วนจำเลยทั้งสองถูกจัดอยู่กลุ่มมวลชน ทำหน้าที่เผยแพร่แนวคิด ชักชวนผู้อื่นเข้าร่วม โดยทั้งสองเป็นผู้ไปแจกใบปลิวตามที่ต่างๆ 

พยานยังเบิกความถึงกลุ่มไลน์สหพันธรัฐไท ซึ่งพยานอ้างว่า จำเลยทั้งสองอยู่ในกลุ่มด้วย ในลักษณะเดียวกับที่พยานโจทก์ในคดีสหพันธรัฐไทก่อนหน้านี้เคยเบิกความไว้ (อ่านบันทึกสืบพยานคดีที่ 1)  อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้มีหลักฐานการติดต่อกันของกลุ่มแกนนำและจำเลยทั้งสองเป็นการส่วนตัว มีเพียงคลิปเสียงที่อ้างว่า เป็นเสียงของจำเลยที่ 2 ขณะโทรศัพท์เข้าไปในรายการ อย่างไรก็ตามพยานให้การตอบทนายจำเลยว่าไม่ได้มีการส่งคลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นเพียงจำเลยไปตรวจสอบทางนิติวิทยาศาสตร์ แต่มีสายลับซึ่งไม่อาจเปิดเผยยศ ตำแหน่งได้ยืนยันว่าเป็นเสียงจำเลย


พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกัน การใส่เสื้อสีเหลืองในวันที่ 5 ธ.ค. เป็นเรื่องสามัญสำนึก

ตลอดการสืบพยานโจทก์ ตำรวจและพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้าง เบิกความตรงกันว่า มีคำสั่งให้เฝ้าระวัง ติดตาม กลุ่มบุคคลที่ใส่เสื้อดำในวันที่ 5 ธ.ค. 61 โดยมีจุดสังเกตของบุคคลกลุ่มนี้ คือ สัญลักษณ์ ธงขาว-แดง ทนายจำเลยที่ 2 ถามพยานโจทก์ทุกปากเกี่ยวกับการสวมใส่เสื้อผ้าของพยานและประชาชนทั่วไปในวันดังกล่าว พยานทั้งหมดระบุว่า การใส่เสื้อสีเหลืองในวันที่ 5 ธ.ค. ไม่ได้เป็นคำสั่งหรือกฏหมาย โดยหลายคนรับว่าในวันนั้นคนทั่วไปไม่ได้ใส่เสื้อสีเหลืองกันทุกคน และพยานโจทก์ที่เป็นตำรวจนอกเครื่องแบบไม่มีใครใส่เสื้อสีเหลือง อย่างไรก็ดี พยานหลายคนต่างยืนยันว่า ผู้มีสามัญสำนึกและสติสัมปชัญญะจะต้องใส่เสื้อสีเหลืองในวันดังกล่าว เพราะเป็นวันมงคล  

ระหว่างการพิจารณาคดี ศาลกล่าวเตือนทนายจำเลยหลายครั้ง เมื่อทนายจำเลยถามค้านเกี่ยวกับเรื่องการใส่เสื้อสีดำ โดยศาลกล่าวว่า ใส่เสื้อดำหรือไม่ ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับคดี เนื่องจากศาลจะพิจารณาดูจากเจตนาของจำเลย ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ชี้แจงต่อศาลว่า ไม่สามารถงดเว้นการถามเรื่องการใส่เสื้อในวันดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นข้อความที่โจทก์ฟ้องเข้ามา

พยานโจทก์ไม่อาจแสดงหลักฐานว่า จำเลยพูดเรื่องการล้มล้างการปกครองต่อบุคคลอื่น

พ.ต.ท.แทน ในฐานะผู้สืบสวนหาข่าวและไปสังเกตการณ์การรวมตัวของกลุ่มสหพันธรัฐไท ยังได้เบิกความตอนหนึ่งว่า ได้ยินนางประพันธ์ จำเลยที่ 2 กล่าวถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงการปกครองกับกลุ่มคนใส่เสื้อดำในห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ และยังได้ยินจำเลยพูดถึงอีกเมื่อถูกนำตัวมาหน้า สน.ลาดพร้าว  เช่นเดียวกับคำเบิกความของ ร.ต.อ.อนันต์ รองสารวัตร (สืบสวน) สน.ลาดพร้าว ซึ่งเป็นผู้นำกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบไปสังเกตการณ์ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 และเป็นผู้กล่าวหาจำเลยทั้งสอง อย่างไรก็ดี พยานโจทก์ทั้งสองรับว่า ไม่ได้มีการอัดเสียงและถอดเทปการพูดคุยของจำเลย ถึงแม้จะเบิกความว่า มีการบันทึกภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวของจำเลย นอกจากนี้ พยานยังตอบทนายจำเลยว่า ไม่ได้ให้การในเรื่องดังกล่าวไว้กับพนักงานสอบสวน

การปรากฏตัวของจำเลยไม่ได้ก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือมีการกระทำผิดอื่น

พยานโจทก์ปากตำรวจและพนักงานรักษาความปลอดภัย ล้วนเบิกความตรงกันว่า จำเลยทั้งสองและกลุ่มคนเสื้อดำ มีการยืนและนั่งพูดคุยกันหน้าร้านแมคโดนัลด์ โดยไม่ได้มีการกระทำอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้ โดยนายอัศวเมธ พนักงานรักษาความปลอดภัยที่อยู่ในเหตุการณ์ กล่าวว่า ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 ไม่มีความวุ่นวายเกิดขึ้น แม้จะเห็นกลุ่มคนเสื้อดำจับกลุ่มพูดคุยกัน ในขณะที่นายภัสสร ทนายความซึ่งเป็นพยานโจทก์ในฐานะผู้ให้ความเห็น กล่าวตอบทนายจำเลยว่าลำพังเสื้อดำและการติดโบว์สีขาว-แดง ไม่อาจบอกได้ว่าเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่ เช่นเดียวกับที่ พ.ต.ท.แทน เบิกความว่า ประชาชนทั่วไปไม่ทราบว่ากลุ่มคนสวมเสื้อดำคือกลุ่มสหพันธรัฐไท เพราะไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเปิดเผย

จำเลยแถลงปิดคดีชี้โจทก์ฟ้องซ้อนในข้อหาอั้งยี่ อีกทั้งจำเลยไม่มีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่น

เนื่องจากจำเลยทั้งสองเคยถูกฟ้องข้อหาอั้งยี่มาแล้วในคดีสหพันธรัฐไทคดีแรก คดีหมายเลขดำที่ อ.3157/2562 ของศาลอาญาเช่นเดียวกับคดีนี้ โดย พ.ต.ท.เสวก บุญจันทร์ ซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีดังกล่าว มาเบิกความเป็นพยานโจทก์ในคดีนี้ยืนยันข้อเท็จจริงดังกล่าว ทั้งยังระบุว่า คดีทั้งสองมีข้อเท็จจริงเดียวกัน แถลงการณ์ปิดคดีของจำเลยทั้งสองจึงระบุว่า คดีนี้จำเลยถูกฟ้องในข้อหาอั้งยี่จากพฤติการณ์เดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ อ.3157/2562 ของศาลนี้ จึงถือเป็นการฟ้องในเรื่องเดียวกัน มีสภาพแห่งข้อหา และข้ออ้างที่โจทก์อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาอย่างเดียวกัน และฟ้องต่อศาลเดียวกัน เป็นการฟ้องซ้อนซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15

ทั้งนี้ จำเลยเห็นว่าตามหลักกฎหมายทั่วไป “บุคคลไม่อาจถูกลงโทษหลายครั้งสำหรับการกระทำความผิดครั้งเดียวได้”  การลงโทษบุคคลทางอาญาเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สินของบุคคลผู้ถูกลงโทษ การลงโทษบุคคลมากกว่าหนึ่งครั้งสำหรับการกระทำความผิดที่บุคคลนั้นได้กระทำเพียงครั้งเดียว จึงเท่ากับเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลโดยปริยายเกินความจำเป็นแก่การรักษาไว้ซึ่งประโยชน์สาธารณะ

ในคำแถลงปิดคดีของจำเลยยังระบุว่า ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ยุยงปลุกปั่นนั้น พยานโจทก์ก็เบิกความสอดคล้องตรงกันว่า ในที่เกิดเหตุจำเลยทั้งสองมีเพียงการพูดคุยในกลุ่มของตนเองเท่านั้น ไม่มีการใช้เครื่องขยายเสียงปราศรัยโจมตีต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ รัฐบาล และ คสช. แม้พยานโจทก์บางปากจะเบิกความต่อศาลว่า จำเลยทั้งสองมีการพูดปลุกระดมล้มล้างการปกครอง แต่พยานปากนั้นๆ ก็ไม่เคยให้การในเรื่องดังกล่าวในชั้นสอบสวนทั้งที่เป็นสาระสำคัญ และไม่ได้นำแถบบันทึกภาพและเสียงที่อ้างว่าได้มีการจัดทำมาแสดงต่อศาล คดีจึงไม่มีพยานหลักฐานอันน่าเชื่อถือยืนยันได้ว่าจำเลยทั้งสองพูดคุยกันในที่เกิดเหตุในเรื่องใดบ้าง 

จำเลยทั้งสองยืนยันว่า การใส่เสื้อดำในวันเกิดเหตุนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบหรือล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โดยพยานโจทก์ก็ได้เบิกความต่อศาลว่า ประชาชนทั่วไปไม่อาจทราบได้ว่าเสื้อและสัญลักษณ์หมายถึงอะไร ส่วนที่พยานโจทก์เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุนั้นบุคคลทั่วไปสวมใส่เสื้อสีเหลือง ก็เป็นการขัดกับหลักเหตุผลที่ว่า คนใส่เสื้อสีต่างกันจะก่อให้เกิดความไม่สงบในบ้านเมือง อีกทั้งพยานโจทก์ยังได้เบิกความว่า ในวันเกิดเหตุห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางกะปิ เปิดให้บริการตามปกติ  ไม่มีความวุ่นวายใดเกิดขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามที่โจทก์ฟ้อง


ผลกระทบหลังถูกรัฐตีตราว่า “ล้มล้างการปกครอง”

สำหรับนายเทอดศักดิ์และนางประพันธ์ หลังทั้งสองถูกจับกุมและดำเนินคดีในคดีสหพันธรัฐไทคดีแรกเมื่อเดือนกันยายน 2561 รวมทั้งหลังถูกนำตัวไปสถานีตำรวจในวันที่ 5 ธ.ค. 61 และปล่อยกลับโดยยังไม่มีการดำเนินคดี ทั้งสองคนก็ถูกติดตามและรบกวนการใช้ชีวิตประจำวันจากเจ้าหน้าที่ด้วยวิธีการต่างๆ ทั้งการนำตัวไปควบคุมและซักถามในค่ายทหาร มีการติดตามเข้าสอบถาม ขอให้รายงานการเคลื่อนไหว และขอมิให้เข้าร่วมกับกลุ่มหรือบุคคลใดอีก  ทำให้นายเทอดศักดิ์ตัดสินใจออกจากภูมิลำเนาเดิมในกรุงเทพมหานคร และเริ่มทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมจากสถานที่ทำงานในวันที่ 2 เม.ย. 2562 และส่งตัวกลับมายังกองบังคับการปราบปรามเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา “ร่วมกันกระทำความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและเป็นอั้งยี่” ในคดีที่สองนี้ นายเทอดศักดิ์ได้รับการปล่อยชั่วคราวจากการวางเงินเป็นประกันจำนวน 200,000 บาท ปัจจุบันนายเทอดศักดิ์ยังต้องติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือกำไล EM เนื่องจากเป็นเงื่อนไขการประกันตัวในคดีสหพันธรัฐไทคดีแรกที่ฟังคำพิพากษา ไปก่อนหน้านี้ 

ส่วนนางประพันธ์นั้น ผลกระทบจากการถูกติดตามทำให้ตัดสินใจเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียเพื่อขอแสวงหาที่ลี้ภัยจากองค์กร UNHCR อย่างไรก็ตาม แม้นางประพันธ์จะได้รับเอกสารในฐานะผู้แสวงหาผู้ลี้ภัยทางการเมืองจากองค์กรดังกล่าวแล้ว ในวันที่ 10 พ.ค. 2562 ภายหลังที่ถูกจับกุมและควบคุมตัวอยู่ในสถานีตำรวจและสถานที่ควบคุมตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียรวมทั้งสิ้น 18 วัน นางประพันธ์ก็ถูกส่งตัวกลับจากมาเลเซีย และถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาที่กองบังคับการป้องกันและปราบปราม เป็นคดีที่สองนี้ร่วมกับนายเทอดศักดิ์ นับแต่นั้นนางประพันธ์ก็ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์เพียงพอที่จะยื่นประกัน โดยถึงปัจจุบันนางประพันธ์ถูกคุมขังมาเป็นเวลา 10 เดือนแล้ว

X