เปิดบันทึกจากห้องพิจารณา คดีเสื้อดำสหพันธรัฐไท ก่อนศาลพิพากษา 21 ม.ค. 63

ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก นัดฟังคำพิพากษาคดีครอบครองใบปลิวและเสื้อดำ “สหพันธรัฐไท” ในวันที่ 21 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น. โดยคดีนี้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5) เป็นโจทก์ฟ้องนายกฤษณะ (สงวนนามสกุล) กับพวกรวม 5 คน ในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 และสืบพยานเสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อวันที่ 19-21 และ 26 พฤศจิกายน 2562

ระหว่างการสืบพยานตลอดระยะเวลา 4 วัน มีผู้สังเกตการณ์จากองค์กร trial watch เป็นอาจารย์และนักศึกษาจาก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 4 คน พร้อมล่ามอีก 2 คน เข้าร่วมรับฟังการพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่จาก iLaw และประชาชนทั่วไป 2-3 คน สลับสับเปลี่ยนมานั่งฟังการพิจารณาคดีในแต่ละวัน โดยศาลได้สอบถามทุกคนที่อยู่ในห้องทีละคนในทุกวันที่มีการสืบพยาน ว่าเป็นใคร มาจากที่ใดบ้าง 

เดิมทีอัยการยื่นบัญชีระบุพยานบุคคลที่จะนำเข้าสืบ จำนวน 8 ปาก ฝ่ายจำเลยอ้างตนเองเป็นพยานรวม 4 ปาก อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการสืบพยานทั้งโจทก์และทนายจำเลยเห็นว่ามีข้อเท็จจริงที่รับกันได้โดยไม่ต้องนำพยานเข้าเบิกความรวม 3 ปาก จึงมีพยานโจทก์เข้าเบิกความรวม 5 ปาก เป็นทหาร 1 ปาก ตำรวจ 4 ปาก ส่วนพยานจำเลย ทนายจำเลยประสงค์นำสืบเพียง 1 ปาก คือ วรรณภา (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 4

ทั้งนี้ ศาลไม่อนุญาตให้ทนายจำเลยนำพยานนักวิชาการเข้าสืบ เนื่องจากไม่ได้ระบุไว้ในบัญชีพยาน และศาลเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องจากศาลมีความรู้ในการจะตัดสินเนื้อหาในคดีได้ด้วยตนเอง ในหลายช่วงหลายตอนตลอดการสืบพยาน ศาลได้ห้ามไม่ให้ทนายจำเลยถามคำถามบางคำถาม ได้แก่ การถามว่ามีหรือไม่มีเอกสารอะไร  การถามความเห็นของพยานเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ เช่น ข้อความในใบปลิวมีลักษณะยุยงปลุกปั่นหรือไม่, ข้อความเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ผิดกฏหมายหรือไม่ เนื่องจากศาลบอกว่าศาลจะวินิจฉัยในเรื่องเหล่านั้นเอง หากทนายจำเลยยังถามคำถามประเภทดังกล่าวจะออกข้อกำหนดไม่อนุญาตให้ถาม

ในคดีนี้ พล.ต.บุรินทร์ ทองประไพ รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้เป็นผู้เข้าแจ้งความดำเนินคดีจำเลยทั้งห้า โดยเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากแรก ก่อนเริ่มการพิจารณา พล.ต.บุรินทร์ ขอให้ศาลมีคำสั่งพิจารณาลับ โดยอ้างว่า เนื้อหาการสืบพยานอาจมีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ศาลไม่ได้มีคำสั่งพิจารณาลับตามที่พยานขอ เนื่องจากเห็นว่า ไม่ได้มีการเบิกความใดที่จำเป็นต้องพิจารณาลับ 

 

ภูมิหลังจำเลยทั้งห้า: ประชาชนผู้หาเช้ากินค่ำ

จำเลยในคดีนี้ 3 คน มีอาชีพรับจ้าง อีก 2 คน ประกอบอาชีพให้บริการและค้าขาย โดยนายกฤษณะ จำเลยที่ 1 และนายเทอดศักดิ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 ขณะถูกจับกุมเป็นพนักงานขับรถของบริษัทเอกชน, นางประพันธ์ (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 3 เปิดร้านนวดในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง, น.ส.วรรณภา จำเลยที่ 4 ประกอบอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง หารายได้เลี้ยงลูกชายวัยเรียน 2 คน และ น.ส.จินดา (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 5 เป็นแม่ค้าขายขนมในตลาด หลังถูกจับกุมดำเนินคดีทุกคนต้องเปลี่ยนงาน ปัจจุบันวรรณภาไม่ได้ทำงาน เนื่องจากอยู่ระหว่างการพักฟื้นหลังการผ่าตัด ส่วนประพันธ์ถูกขังระหว่างพิจารณาคดีมากว่า 8 เดือน เนื่องจากไม่มีหลักทรัพย์ประกัน

ทั้งนี้ น.ส.จินดา จำเลยที่ 5 ไม่ปรากฏตัว ตั้งแต่นัดตรวจพยานหลักฐาน ทำให้ศาลสั่งยึดเงินประกันจำนวน 200,000 บาท และจำหน่ายคดีของ น.ส.จินดา เป็นการชั่วคราว

 

คำฟ้องของโจทก์

พนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 24 ต.ค. 61 โดยบรรยายฟ้องว่า ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย.  – 12 ก.ย. 61 ทั้งกลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดหลายกรรมต่างกันวาระ กล่าวคือ

  1. จำเลยทั้งห้า กับนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายวัฒน์ วรรลยางกูร และนายกฤษณะ ทัพไทย ซึ่งหลบหนียังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันเป็นหัวหน้า ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ ในคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีการ ชื่อกลุ่มสหพันธรัฐไท มีความมุ่งหมายเพื่อต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทยจากระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ไปสู่ระบอบการปกครองในระบอบสหพันธรัฐ ที่มีประธานาธิบดีเป็นประมุข
  2. จำเลยทั้งห้า กับพวกดังกล่าว ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ โดยได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ได้แก่ เฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ ยูทูบ และการแจกเอกสารแผ่นปลิว ชักชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนทั่วไปต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ต่อต้านรัฐบาลและ คสช. ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดินและเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร

 

ข้อต่อสู้ของจำเลย

ในนัดถามคำให้การเมื่อวันที่ 11 ก.พ. 62 จำเลยทั้งห้าให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา โดยระบุว่า จำเลยทุกคนต่างไม่รู้จักกันมาก่อน วันเกิดเหตุขณะที่จำเลยทุกคนถูกจับกุมนั้น จำเลยทั้งหมดไม่ได้ไปแจกเอกสารหรือแผ่นพับแก่ประชาชนแต่อย่างหนึ่งอย่างใด และไม่ได้เดินทางเข้าไปในบริเวณที่เกิดเหตุตามฟ้องแต่อย่างใด จำเลยทุกคนถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารเดินทางไปควบคุมตัวจากบ้านแล้วพาไปควบคุมไว้ในค่ายทหาร หลังจากนั้นได้ส่งตัวให้แก่ตำรวจเพื่อดำเนินคดี ซึ่งจำเลยทุกคนไม่มีส่วนร่วมรู้เห็นและเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดแต่อย่างใด

 

คำเบิกความของพยานโจทก์

บุรินทร์ชี้ จำเลยกระทำผิดจากการเป็นแอดมินเพจ พิมพ์สติ๊กเกอร์ แจกใบปลิว และขายเสื้อดำมีสัญลักษณ์ “สหพันธรัฐไท”

พล.ต.บุรินทร์ เบิกความว่า ทางการข่าวได้ติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่มีแนวคิดล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยสืบทราบว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวหลบหนีไปประเทศลาว ได้แก่ วุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ, ชูชีพ ชีวะสุทธิ์, สยาม ธีรวุฒิ, กฤษณะ ทัพไทย, วัฒน์ วรรลยางกูล, สุรชัย แซ่ด่าน ต่อมา วุฒิพงษ์, ชูชีพ, กฤษณะ, สยาม และวัฒน์ แยกตัวไปตั้งกลุ่ม “สหพันธรัฐไท” โดยมีวัตถุประสงค์คือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประเทศ โค่นล้มพระมหากษัตริย์ มีการแบ่งประเทศออกเป็น 10 มลรัฐ มุ่งหวังให้มีการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นไปจนถึงเลือกตั้งประธานาธิบดี จัดตั้งศาลลูกขุน มีการจัดทำวิทยุเผยแพร่ทาง YouTube ทำธงสัญลักษณ์สีขาว แดง สีขาวหมายถึงความบริสุทธิ์ของประชาชน สีแดงหมายถึงความกล้าหาญของประชาชน และมีแนวคิดทำเสื้อดำแจกจ่ายสมาชิก

นายทหารซึ่งเป็นผู้กล่าวหาเบิกความต่อไปอีกว่า หนึ่งในการเคลื่อนไหวของกลุ่มดังกล่าวคือ เพจเฟซบุ๊กที่ชื่อ “สหพันธรัฐไทกับเรื่องลึกลับของทรราช” ซึ่งมีนายกฤษณะ จำเลยที่ 1 เป็นแอดมินเพจ ในเพจมีข้อความโจมตีสถาบัน มีการเผยแพร่แถลงการณ์สหพันธรัฐไท และนำคลิปรายการมาเผยแพร่ โดยเพจเฟซบุ๊กนี้เป็นเพจที่เปิดสาธารณะ นอกจากนี้ ยังมีการติดต่อกันผ่านช่องทางไลน์ ซึ่งเป็นกลุ่มลับ ประชาชนทั่วไปไม่สามารถเห็นข้อความได้ ขณะจัดรายการจะมีประชาชนที่เป็นสมาชิกขบวนการ โทรศัพท์เข้าไปในรายการเพื่อแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นการยุยงปลุกปั่นให้เห็นพ้องด้วยกับการล้มล้างสถาบัน โดยนายเทอดศักดิ์ จำเลยที่ 2 และนางประพันธ์ จำเลยที่ 3 ก็ได้อยู่ในกรุ๊ปไลน์ข้างต้นด้วย   

พล.ต.บุรินทร์ กล่าวต่อไปว่า จากนั้นทางการข่าวทราบว่ามีบุคคลนำใบปลิวและสติ๊กเกอร์ไปวางตามสถานศึกษา ได้แก่ ม.รามคำแหง 2, มศว., วิทยาลัยเทคโนโลยีพัฒน์อ่อนนุชบริหาร เพื่อขยายมวลชน ตำรวจสันติบาลจึงตามไปดูกล้องวงจรปิดและสอบถามชาวบ้านบริเวณดังกล่าว พบว่า นายกฤษณะและนายเทอดศักดิ์ เป็นผู้วางใบปลิว จึงมีการนำกำลังไปควบคุมตัวนายกฤษณะ เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 61 ที่บ้าน และค้นบ้านพบสติ๊กเกอร์ เสื้อและใบปลิว ก่อนนำตัวนายกฤษณะไปยัง มทบ. 11 เพื่อซักถาม จากการซักถาม นายกฤษณะยอมรับว่า เป็นผู้แจกจ่ายสติ๊กเกอร์และใบปลิว และรับว่าเป็นเจ้าของเพจดังกล่าว  

ผู้รับมอบอำนาจจาก คสช. ให้ดำเนินคดีจำเลย เบิกความอีกว่า ต่อมา ในวันที่ 3 ก.ย. 61 ได้เข้าควบคุมตัวนายเทิดศักดิ์ มีการตรวจค้นบ้านและตรวจยึดใบปลิวได้ 400 แผ่น วันเดียวกันนั้นยังได้ควบคุมตัวนางประพันธ์ นำตัวไปซักถามในค่ายทหารด้วย โดยทราบว่า นางประพันธ์เป็นกลุ่มแกนนำที่ชักชวนประชาชนเข้าร่วมกลุ่ม ตำรวจสันติบาลยังตรวจสอบพบว่า น.ส.วรรณภา จำเลยที่ 4 ข้ามไปฝั่งลาวเพื่อรับเสื้อ 60 ตัว จากแม่ของตนเอง และนำมาส่งที่ไปรษณีย์หนองคายเพื่อแจกจ่ายให้สมาชิกกลุ่ม จากนั้นยังไปรับเสื้ออีก 2 ครั้ง ที่หนองคายและสำโรง เจ้าหน้าที่ทหารจึงเข้าควบคุมตัว น.ส.วรรณภา และตรวจยึดเสื้อได้ราว 454 ตัว พร้อมรายชื่อผู้ที่วรรณภาจะต้องส่งเสื้อไปให้ นอกจากนี้ ฝ่ายข่าวยังมีการสืบขยายผลไปถึง น.ส.จินดา จำเลยที่ 5 โดยทราบว่า น.ส.จินดา เป็นแกนนำสหพันธรัฐชลบุรี ในวันที่ 12 ก.ย. 61 จึงควบคุมตัวจากบ้านใน จ.ชลบุรี ไปซักถาม โดย น.ส.จินดา รับว่าเป็นผู้ทำเสื้อขายแก่สมาชิกกลุ่ม 

ตำรวจใช้ภาพหลักฐานจากทหาร มาซักถามจำเลยขณะอยู่ในค่ายทหาร

พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ตำรวจผู้ได้รับหน้าที่จาก คสช.ให้ทำหน้าที่สืบสวนและซักถามจำเลยทั้ง 5 ร่วมกับฝ่ายทหาร เข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์โดยระบุว่า ได้ร่วมกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เจ้าหน้าที่จาก คสช. ซักถามจำเลย 3 คน ในเบื้องต้น ได้แก่ จำเลยที่ 1-3 ต่อมาในวันที่ 7 และ 17 ก.ย. 61 ได้ร่วมซักถามจำเลยที่ 4 และ 5 ตามลำดับ

พล.ต.ต. สุรศักดิ์  เบิกความอีกว่า ได้ใช้เอกสารภาพที่ได้มาจากทหารในการซักถามจำเลย ได้แก่ ภาพบันทึกหน้าจอที่จำเลยที่ 2 และ 3 พูดคุยกันในกลุ่มไลน์สหพันธรัฐไท, ภาพการวางใบปลิว, ภาพสิ่งของซึ่งยึดมาจากจำเลยที่ 3 เช่น เสื้อยืดสหพันธรัฐไท, เสื้อ นปช., ขันน้ำที่มีข้อความสหพันธรัฐไท, โทรศัพท์ที่จำเลยที่ 3 ใช้เล่นไลน์  รวมทั้งภาพที่ถูกระบุว่ามาจากโทรศัพท์ของจำเลยที่ 4 เช่น ภาพถ่ายจำเลยที่ 4 กับผ้าห่มที่นำไปแจกในชื่อสหพันธรัฐไท และภาพที่ถ่ายกับใบปลิว พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ยังระบุว่า ภาพเสื้อที่ยึดได้จากจำเลยที่ 3 และ 4 มีความคล้ายคลึงกัน เนื่องจากมีสัญลักษณ์สหพันธรัฐไทรูปธงแดง-ขาวเหมือนกัน


เจ้าหน้าที่เปิดดูข้อมูลในโทรศัพท์ ขณะเข้าควบคุมตัวจำเลยที่ 4 และตรวจค้นบ้าน

พ.ต.ท.ณพอนนท์ ส่องแสงจันทร์ ตำรวจสันติบาลผู้สืบสวนหาข่าวและจับกุมวรรณภา จำเลยที่ 4 ประจำอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ เบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า เป็นผู้ร่วมจับกุมและตรวจยึดสิ่งของจากห้องพักของวรรณภา โดยในวันที่ไปจับกุมได้พบกองเสื้อสีดำมีตราสัญลักษณ์สหพันธรัฐไทที่หน้าอก 454 ตัว หลังสอบถามว่าเอาเสื้อมาจากไหน วรรณภาตอบว่าเอามาจากแม่ นอกจากนี้ยังพบสมุดที่บันทึกชื่อบุคคลที่จะไปส่งเสื้อให้ และเลขบัญชีที่จะให้โอนเงิน เจ้าหน้าที่ได้ยึดคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์ของวรรณภามาเปิดดูข้อมูล พยานได้เห็นภาพถ่ายเอกสารคล้ายใบปลิว และภาพวรรณภาที่ถ่ายกับใบปลิวต่างๆ โดยพยานทราบจากแหล่งข่าวว่า การถ่ายภาพเช่นนี้เพื่อเป็นการบอกว่า สหพันธรัฐไทได้เกิดขึ้นแล้ว เป็นการถ่ายภาพเพื่อให้แกนนำทราบ แหล่งข่าวยังบอกว่า วรรณภาได้ค่าตอบแทนจากการขายเสื้อและถ่ายภาพเหล่านี้ หลังจากนั้น มีการควบคุมตัววรรณภาไปที่ มทบ.11 โดยพยานได้ตามไปด้วย และทราบจากการซักถามของทหารว่า วรรณภาไปรับเสื้อมา 3 ครั้ง ครั้งแรกรับจากแม่ที่ลาว 50-60 ตัว ครั้งที่ 2 200 ตัว ครั้งที่ 3 300 ตัว ภายหลังจากการจับกุมในวันดังกล่าว พยานก็ไม่ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับจำเลยอีก


สันติบาลผู้สืบสวนหาข่าวเผย ติดตามองค์กรสหพันธรัฐไทตั้งแต่มีนาคม 61 

ร.ต.อ.ครรชิต สีหรอด ตำรวจสันติบาล ซึ่งทำหน้าที่ผู้สืบสวนหาข่าวกลุ่มสหพันธรัฐไท เบิกความในฐานะพยานโจทก์ว่า เดิมปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับความมั่นคงของพระมหากษัตริย์ เริ่มสืบสวนเกี่ยวกับองค์กรสหพันธรัฐไทตั้งแต่มีนาคม 2561 โดยได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา จากการสืบสวนพบว่า กลุ่มดังกล่าวหลบหนีอยู่ที่ประเทศลาว มีนายชูชีพ, นายวุฒิพงศ์ หรือโกตี๋ และบุคคลอีกหลายคน แนวคิดของกลุ่มคนเหล่านี้มีเรื่องการต่อต้านและยกเลิกสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสาธารณรัฐ โดยแบ่งแยกประเทศไทยออกเป็น 10 รัฐ พยานยังเป็นผู้ติดตามหาข่าวโดยการฟังรายการของลุงสนามหลวงและบันทึกเสียงออกมา เนื่องจากเห็นว่ามีการจูงใจให้ล้มล้างสถาบัน 

พยานยังเบิกความอีกว่า ได้ข้อมูลเรื่องการแยกรัฐมาจากกลุ่มไลน์ สมาชิกของกลุ่มจะมีรหัสประจำตัว 8 หลัก จำเลยที่มีรหัสดังกล่าวคือ นายกฤษณะ จำเลยที่ 1 โดยทราบมาจากการที่เจ้าหน้าที่นำโทรศัพท์ของนายกฤษณะไปตรวจสอบหลังถูกจับกุม จึงพบกลุ่มไลน์และสมาชิกคนอื่น ๆ ซึ่งมีรหัส 8 หลัก และยังพบผู้ใช้งานชื่ออวตารต่อด้วยรหัส 8 หลัก ภายหลังสืบทราบว่าคือนางประพันธ์ จำเลยที่ 3 ทั้งนี้ พยานเป็นคนไปชี้ตัวให้ทหารไปจับจำเลยที่ 1 โดยระบุตัวได้จากสายข่าว  

นอกจากนี้ ในช่วงสิงหาคม 2561 พยานยังสืบพบไลน์ชื่อ original beer มีการโพสต์ภาพวางใบปลิวที่มหาวิทยาลัย โดยจากการตรวจสอบพบว่าเป็นของนายเทอดศักดิ์ (จำเลยที่ 2) และสืบจนทราบว่าจำเลยที่ 2 ทำหน้าที่ขับรถอยู่ที่บริษัทแห่งหนึ่ง และในช่วงเดือนกันยายน 61 พยานสืบทราบว่า น.ส.วรรณภา (จำเลยที่ 4) ซึ่งอยู่ในกลุ่มไลน์ สหพันธรัฐ ทำหน้าที่รับเสื้อจากแม่ซึ่งหลบหนีอยู่ที่ลาวรวม 3 ครั้ง เพื่อนำไปส่งให้สมาชิกกลุ่ม 


พนักงานสอบสวนระบุว่า จำเลยทั้งหมดเป็นแนวร่วมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง 

พ.ต.ท. เสวก บุญจันทร์ พยานโจทก์ปากพนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่า วันที่ 4 ก.ย. 61 พล.ต.บุรินทร์ได้มาแจ้งความให้ดำเนินคดีนายเทอดศักดิ์, นายกฤษณะ และนางประพันธ์ ในข้อหา ยุยงปลุกปั่น โดยนำ ซีดี, หนังสือมอบอำนาจจาก คสช., บันทึกซักถาม, สติ๊กเกอร์ และเสื้อของกลางมามอบให้กับพยานด้วย จากนั้น วันที่ 7 ก.ย. 61 พล.ต.บุรินทร์มาแจ้งความอีกครั้งให้ดำเนินคดี น.ส.วรรณภา พร้อมทั้งนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ, นายสยาม ธีรวุฒิ, นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ และนายวัฒน์ วรรลยางกูร โดยนำเสื้อสหพันธรัฐไทและซีดี รวมถึงหนังสือมอบอำนาจ มามอบให้พยาน และในวันที่ 17 ก.ย. 61 พล.ต.บุรินทร์ยังได้มาแจ้งความอีกครั้งให้ดำเนินคดี น.ส.จินดา และนายกฤษณะ ทัพไทย หลังจากพยานได้รับแจ้งความก็ขอออกหมายจับ

พ.ต.ท.เสวก เบิกความต่อว่า หลังจากนั้นทหารได้จับผู้ต้องหามาส่งให้พยาน ชุดแรก ได้แก่ นายกฤษณะ, นายเทอดศักดิ์ และนางประพันธ์ ชุดที่ 2 มี น.ส.วรรณภา ส่วน น.ส.จินดา ถูกนำตัวมาส่งคนเป็นสุดท้าย พยานแจ้งสิทธิและแจ้งข้อกล่าวหาทั้งห้าคนในข้อหา ยุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ โดยนายกฤษณะและ น.ส.วรรณภา ให้การปฏิเสธ ส่วนนายเทอดศักดิ์, นางประพันธ์ และ น.ส.จินดา ให้การรับสารภาพ พยานยังระบุว่า จำเลยในคดีนี้เกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิว 3 คน คือ จำเลยที่ 1-3 ส่วนจำเลยที่ 4 รับเสื้อมาแจก ทั้งหมดเป็นแนวร่วมที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ

น.ส.วรรณภา ขณะทหารส่งตัวให้กองปราบดำเนินคดี

 

ข้อสังเกตจากห้องพิจารณา

ข้อเท็จจริงที่นำมาฟ้องคดีได้จากการซักถามในค่ายทหาร ซึ่งไม่มีทนายหรือญาติอยู่ด้วย  

แม้ พล.ต.บุรินทร์จะเบิกความว่า ทางการข่าวสืบทราบเรื่องของจำเลยทั้ง 5 ก่อนจะเข้าควบคุมตัว แต่ก็ตอบคำถามค้านของทนายจำเลยในตอนหนึ่งว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน สำหรับผู้ที่มีความผิดเกี่ยวกับ ม. 112, ม.116, คดีอาวุธ และคดีชุมนุมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป จึงนำตัวจำเลยทั้งห้าไปซักถามในค่ายทหาร โดยทั้ง พล.ต.บุรินทร์ และ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ รับว่า กระบวนการซักถามในค่ายทหารไม่อนุญาตให้มีญาติหรือทนายอยู่ด้วย รวมทั้งไม่มีการแจ้งสิทธิของผู้ถูกดำเนินคดี และไม่ได้แจ้งว่า คำให้การของพวกเขาจะถูกนำไปใช้ในศาล

สอดคล้องกับพนักงานสอบสวนในคดีที่ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับจำเลยได้มาจากการซักถามในค่ายทหาร โดยที่ทหารเป็นผู้ส่งเอกสารต่างๆ เช่น บันทึกการซักถาม บันทึกตรวจค้น/ตรวจยึดของกลาง และบันทึกการควบคุมตัว มาให้พนักงานสอบสวน พ.ต.ท.เสวก ยังรับว่าหากจำเลยไม่ให้ข้อมูล ฝ่ายสืบสวนแทบไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยเลย 

 

ทหารไม่ได้ขอหมายศาลเพื่อเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์จำเลย และไม่ได้ส่งโทรศัพท์จำเลยให้พนักงานสอบสวน

พล.ต.บุรินทร์ ยังตอบคำถามทนายจำเลยเกี่ยวกับกระบวนการซักถามในค่ายทหารว่า จำเลยทุกคนได้ให้ความร่วมมือโดยการให้มือถือของตนกับเจ้าหน้าที่ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้นำโทรศัพท์เหล่านั้นเสียบกับเครื่องอ่านข้อมูล และส่งข้อมูลให้ คสช. โดยเจ้าหน้าที่ไม่ได้ขอหมายศาลเพื่อทำการตรวจสอบข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ถูกควบคุมตัว เมื่อได้ข้อมูลจากโทรศัพท์แล้วจึงมีเจ้าหน้าที่ชุดซักถามนำข้อมูลดังกล่าวมาซักถามจำเลย

สอดคล้องกับที่ พ.ต.ต.สุรศักดิ์ ซึ่งเบิกความอีกว่า ได้รับข้อมูลในโทรศัทพ์มาจากทหารอีกที ได้ตอบทนายจำเลยว่า ไม่ทราบว่าทหารจะได้รับอนุญาตจากศาลในการเข้าถึงข้อมูลหรือไม่ พ.ต.ต.สุรศักดิ์ ยังตอบทนายจำเลยด้วยว่า ไม่ทราบว่าปัจจุบันบุคคลที่จะสามารถเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์ ได้มีแค่ 4 หน่วยงาน คือ ปปง., ปอท., DSI และหน่วยปราบปรามยาเสพติด ทั้งนี้ พ.ต.ท.เสวก พนักงานสอบสวน ยังรับว่าหลักฐานภาพถ่ายที่ทหารนำส่งโดยอ้างว่าได้จากโทรศัพท์ของผู้ต้องหาทั้งหมดนั้น ไม่ได้มีการส่งเครื่องโทรศัพท์มาให้ตำรวจตรวจสอบด้วยแต่อย่างใด

 

ไม่มีการตรวจสอบข้อมูลกับบริษัทไลน์เพื่อระบุตัวตนจำเลย อาศัยการแฝงตัวของเจ้าหน้าที่ในกรุ๊ปไลน์และคำรับสารภาพในค่ายทหาร

ในการสืบพยาน พยานโจทก์หลายคนเบิกความถึงไลน์ไอดี ซึ่งนายกฤษณะ จำเลยที่ 1 นายเทอดศักดิ์ จำเลยที่ 2 และนางประพันธ์ จำเลยที่ 3 ใช้สื่อสารในกรุ๊ปไลน์สหพันธรัฐไท โดยระบุว่าเป็นการแสดงความเป็นสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไท เพราะมีการกำหนดรหัสจังหวัดและมลรัฐที่แต่ละคนสังกัด อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ากลุ่มสหพันธรัฐไทมีการทำบัตรสมาชิกอย่างเป็นกิจลักษณะ และแม้ว่าภายหลังมีข่าวการจับกุม น.ส.วรรณภา จำเลยที่ 4 จะมีเฟซบุ๊กชื่อ Preechamahachai (ปรีชามหาชัย) เผยแพร่แถลงการณ์ให้ปล่อยคนครอบครองเสื้อดำซึ่งมีรูปธงสหพันธรัฐไท แต่พล.ต.บุรินทร์รับว่า ในแถลงการณ์ไม่ได้ระบุว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นสมาชิกขององค์กรแต่อย่างใด

ทั้งนี้ พยานโจทก์ให้การสอดคล้องกันว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ไลน์ในกลุ่ม ได้มาจากการซักถามจำเลยในค่ายทหาร รวมถึงการแฝงตัวหาข่าวในกลุ่มไลน์ของเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ โดยไม่มีพยานโจทก์คนใดให้การถึงหรือทราบว่ามีการส่งข้อมูลไปตรวจสอบกับบริษัทไลน์เพื่อระบุตัวตนจำเลยแต่อย่างใด รวมทั้งไม่มีพยานโจทก์ที่ให้การว่า น.ส.วรรณภา ใช้โปรแกรมไลน์สนทนากับผู้ใด หรือให้การถึงความเกี่ยวข้องของ น.ส.วรรณภากับจำเลยคนอื่นๆ 

 

แจ้งข้อหาอั้งยี่ แต่ไม่มีหลักฐานเชื่อมโยงว่าจำเลยร่วมวางแผนกับแกนนำสหพันธรัฐไทในฝั่งลาว

พล.ต.บุรินทร์ ผู้แจ้งความ, ร.ต.อ.ครรชิต ตำรวจสันติบาล ผู้สืบหาข่าว รวมถึง พ.ต.ท.เสวก พนักงานสอบสวน ต่างก็รับว่า ไม่สามารถระบุได้ถึงความเกี่ยวโยงของจำเลยทั้ง 5 กับการใช้ความรุนแรงหรือการใช้อาวุธ รวมถึงหลักฐานเกี่ยวกับการประชุมวางแผนกับนายชูชีพ, นายสยาม, นายวัฒน์, นายวุฒิพงศ์ และนายกฤษณะ บุคคลที่ถูกฟ้องว่า ร่วมกันเป็นอั้งยี่ในคดีนี้ มีเพียงการพบว่า นางประพันธ์และนายเทอดศักดิ์เคยโทรศัพท์เข้าไปร่วมรายการวิทยุของลุงสนามหลวง แต่ก็ทราบจากการซักถามบุคคลทั้งสองในค่ายทหาร ไม่ได้สืบทราบจากการข่าว พล.ต.บุรินทร์ ยังรับว่าในทางการข่าวของทหารแบ่งผู้มีความคิดต่อต้านสถาบันกษัตริย์ออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มโกตี๋หรือนายวุฒิพงศ์ กชธรรมคุณ เป็นกลุ่มคนที่ใช้อาวุธ ส่วนกลุ่มลุงสนามหลวง หรือนายชูชีพ เป็นกลุ่มหามวลชน โดยจำเลยทั้งห้าถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สอง ทั้งนี้ กลุ่มของโกตี๋ไม่ปรากฏการเคลื่อนไหวมาตั้งแต่ปลายปี 60 และภายหลัง 5 ธันวาคม 2561 ทางการข่าวก็ไม่ได้ติดตามกลุ่มของลุงสนามหลวงอีกว่า ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่

นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองซึ่งปรากฏชื่อในคำฟ้องคดีนี้ว่า ร่วมกันเป็นอั้งยี่ (ภาพตาก ประชาไท)

 

พยานโจทก์รับว่าเนื้อหาใบปลิวไม่มีถ้อยคำยุยงปลุกปั่น แต่เชื่อว่าจำเลยทราบจุดมุ่งหมายขององค์กรสหพันธรัฐไทดี

พยานโจทก์เบิกความว่า จำเลยที่ 1-4 ซึ่งอยู่ในห้องพิจารณามีส่วนเกี่ยวข้องกับการแจกใบปลิว โดยใบปลิวของแต่ละคนมีการเผยแพร่แนวคิดสหพันธรัฐไทและมีข้อความแตกต่างกันไป

พล.ต.บุรินทร์ ผู้กล่าวหาจำเลยทั้งห้ากล่าวว่า แม้เนื้อหาของใบปลิวต่างๆ จะเป็นเพียงองค์ประกอบในการเชิญชวนเข้าร่วมองค์กรสหพันธรัฐไทของพวกจำเลย แต่อนุมานได้ว่าจำเลยทุกคนทราบว่าเป้าหมายในการเปลี่ยนแปลงสังคมของลุงสนามหลวงคืออะไร

ร.ต.อ.ครรชิต ตำรวจสันติบาล ตอบทนายจำเลยถึงเนื้อหาใบปลิวของนายเทอดศักดิ์ จำเลยที่ 2 ว่า หากพิจารณาเฉพาะเนื้อหาในใบปลิว ไม่น่าจะก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง แต่พยานเชื่อว่าแนวคิดของจำเลยน่าจะมีมากกว่าในใบปลิว ร.ต.อ.ครรชิต ยังเบิกความว่า กล้องวงจรปิดไม่ได้มีภาพจำเลยที่ 2 วางใบปลิวแต่อย่างใด เช่นเดียวกับที่ พ.ต.ท.เสวก พนักงานสอบสวน ตอบคำถามทนายจำเลยว่า ใบปลิวของจำเลยที่ 2 ไม่มีข้อความที่ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง รุนแรงหรือผิดกฏหมาย อย่างไรก็ดี พ.ต.ท.เสวก ได้คำตอบอัยการในภายหลังว่า แม้ข้อความจะไม่ก่อให้เกิดความกระด้างกระเดื่อง แต่พยานเห็นว่าจุดหมายของใบปลิวเป็นไปเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ในส่วนเนื้อหาของใบปลิวที่เจ้าหน้าที่พบว่าจำเลยที่ 3 มีไว้ในครอบครอง ทั้ง พ.ต.ต.สุรศักดิ์ ตำรวจสืบสวน และ ร.ต.อ. ครรชิต ต่างตอบว่าไม่มีความเห็นและไม่ขอยืนยันว่า เนื้อความของใบปลิวเป็นเพียงการประชาสัมพันธ์กลุ่มสหพันธรัฐไท หรือมีการเชิญชวน รณรงค์ให้คนกระทำผิดกฎหมาย ยุยง ปลุกปั่น

สำหรับเอกสารใบปลิวที่ น.ส.วรรณภา จำเลยที่ 4 ถ่ายภาพด้วยนั้น มีข้อความตอนหนึ่งว่า อยากได้ความเจริญแบบญี่ปุ่น ทนายจำเลยได้ถาม พล.ต.บุรินทร์ว่า ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ใช่หรือไม่ พล.ต.บุรินทร์ตอบว่า ใช่ ทนายยังถามต่อว่า ปัจจุบันมีการปกครองแบบสหพันธรัฐทั้งที่มีกษัตริย์และไม่มีกษัตริย์ เช่น ประเทศมาเลเซียก็เป็นสหพันธรัฐที่มีกษัตริย์ พยานทราบหรือไม่ พล.ต.บุรินทร์ตอบว่า ทราบ นอกจากนี้ พ.ต.ท. ณพอนนท์ ตำรวจสันติบาลผู้ร่วมจับกุมจำเลยที่ 4 ก็รับว่าภาพถ่ายใบปลิวที่ได้จากโทรศัพท์ของ น.ส.วรรณภา ไม่ปรากฏว่ามีหน้าของ น.ส.วรรณภา ด้วย อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังรับว่าในรายงานการสืบสวนเองก็ไม่พบว่า น.ส.วรรณภาได้เผยแพร่รูปใบปลิวดังกล่าวในช่องทางใด

นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนยังตอบทนายจำเลยเกี่ยวกับเสื้อดำที่ยึดจากจำเลยว่า ไม่มีข้อความ มีเพียงธงของสหพันธรัฐไท หากคนทั่วไปเห็น ก็ไม่สามารถทราบได้ว่ามีความหมายอย่างไร

 

ไม่มีข่าวการเคลื่อนไหวของแกนนำสหพันธรัฐอีกหลังช่วง 5 ธ.ค. 61 จำเลยเองก็หยุดเคลื่อนไหวเช่นกัน

ทนายจำเลยได้ถามพยานโจทก์หลายช่วงหลายตอน เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำองค์กรสหพันธรัฐไทในลาว พล.ต.บุรินทร์ รับว่าตั้งแต่ปี 2560 ไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวของโกตี๋ ส่วนนายชูชีพ, นายกฤษณะ และนายสยาม ก็ไม่ได้จัดรายการอีกแล้วในขณะที่มีการสืบพยานอยู่นี้ พล.ต.บุรินทร์ ยังระบุว่า เคยได้ยินข่าวการถูกอุ้มหายของบุคคลเหล่านั้น แต่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าจริงหรือไม่ ทั้งนี้ พล.ต.บุรินทร์ กล่าวว่า ภายหลังวันที่ 5 ธ.ค. 61 ไม่พบว่าจำเลยออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องสหพันธรัฐไทอีก เช่นเดียวกับที่ ร.ต.อ.ครรชิต เจ้าหน้าที่สันติบาลรับว่า ปัจจุบันกลุ่มสหพันธรัฐไทหยุดการเคลื่อนไหวมาพักใหญ่  

ขณะที่ พล.ต.บุรินทร์ เบิกความตอนหนึ่งกล่าวถึงนโยบายในการดำเนินคดีว่า ทหารมีนโยบายว่ากลุ่มบุคคลที่ฟังรายการของกลุ่มสหพันธรัฐไทแล้วทำตาม หน่วยงานความมั่นคงจะเรียกไปปรับทัศนคติก่อนให้เลิกหลงผิดและเข้าใจในสิ่งที่ถูกต้อง และภายหลังหากมีบางคนเป็นผู้ที่ยากจะแก้ไขและกระทำการโดยมีแนวโน้มที่อันตราย ก็จะดำเนินคดี

ทั้งนี้ สื่อหลายสำนัก รวมถึงองค์กรสิทธิมนุษยชนได้นำเสนอข่าวการหายตัวไป ของกลุ่มบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแกนนำสหพันธรัฐไทตามฟ้อง ประกอบด้วย นายชูชีพ ชีวะสุทธิ์ หรือ ลุงสนามหลวง, นายสยาม ธีรวุฒิ , นายกฤษณะ ทัพไทย และนายวุฒิพงษ์ กชธรรมคุณ หรือโกตี๋ ขณะที่บีบีซีไทย รายงานข่าวว่า นายวัฒน์ วรรลยางกูร เดินทางลี้ภัยไปยังประเทศที่สาม คือประเทศฝรั่งเศสแล้ว

มารดาของนายสยาม ธีรวุฒิ ยังคงติดตามการหายตัวไปของลูกชาย โดยไม่ทราบชะตากรรม

 

คำเบิกความจำเลย: ไม่รู้จักองค์กรสหพันธรัฐไท และไม่ได้อ่านข้อกล่าวหาในค่ายทหาร แต่ลงชื่อเพราะอยากกลับบ้าน

น.ส.วรรณภา จำเลยที่ 4 เป็นจำเลยหนึ่งเดียวในคดีที่ขึ้นเบิกความเป็นพยานจำเลย โดยเบิกความว่า ได้รับเสื้อสหพันธรัฐไทจากแม่ที่อยู่ในลาวและนำไปแจกจ่ายเพื่อหารายได้ เนื่องจากมีอาชีพขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและต้องเลี้ยงลูกชาย 2 คนซึ่งยังอยู่ในวัยเรียน โดยตอนที่ข้ามไปเยี่ยมแม่ซึ่งไปอยู่ที่ฝั่งลาวนั้น ไม่ได้ทราบว่าสหพันธรัฐไทคืออะไร เพราะแม่ไม่ได้พูดถึง เพียงถามว่าอยากมีรายได้หรือไม่ โดยแม่จ่ายเงินให้ครั้งละราว 2,000 บาท เพื่อให้ตนนำเสื้อไปส่งตามรายชื่อที่ได้รับมา ในครั้งแรกรับเสื้อจำนวน 60 ตัว ได้นำข้ามฝั่งมาบรรจุและส่งที่ไปรษณีย์ที่ จ.หนองคาย โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งพบเห็นยังกล่าวว่าเสื้อสวยดี หลังจากนั้นได้ข้ามไปนำเสื้อมาอีก 2 กระสอบ ราว 200 ตัว โดยถูกเรียกเก็บเงินจากด่านจำนวน 1,500 บาท เนื่องจากเจ้าหน้าที่อ้างว่าเป็นเสื้อหนีภาษี

จำเลยที่ 4 ยังเบิกความถึงภาพใบปลิวซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มาจากโทรศัพท์ของจำเลยที่ถูกตรวจยึดไปว่า แม่จ้างเป็นเงิน 2,000 บาท ให้ถ่ายรูปใบปลิวในที่ต่างๆ โดยใบปลิวถูกส่งมาในช่องข้อความของเฟซบุ๊ก ตนจึงไปถ่ายรูปโดยที่ไม่ได้อ่านข้อความในใบปลิว ถ่ายเสร็จก็ฉีกทิ้ง เพิ่งได้อ่านข้อความในตอนเช้าของวันนี้ พยานยังระบุว่า ในโทรศัพท์ของตนมีเพียงแอพพลิเคชั่นของเฟซบุ๊ก ไม่มีไลน์ และในเฟซบุ๊กตนก็ไม่เคยโพสต์เรื่องการเมืองหรือสหพันธรัฐไทเลย

น.ส.วรรณภา กล่าวถึงการเซ็นเอกสารคำให้การต่างๆ ในค่ายทหารว่า ตนไม่ได้อ่านเอกสารจำนวนมากซึ่งเจ้าหน้าที่ทหารนำมาให้เซ็น เพราะอยู่ในค่ายทหารมาแล้ว 7 วัน แต่ละวันมีคนมาถามในคำถามเดิมๆ ไม่มีใครแนะนำตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยไหน ทหารบอกว่า ถ้าเซ็นเอกสารก็จะได้กลับบ้าน ตนจึงเซ็นเอกสารเหล่านั้นโดยไม่ได้อ่านข้อกล่าวหา เพราะอยากรีบกลับบ้าน น.ส.วรรณภายังเบิกความว่า ไม่ทราบว่าองค์กรสหพันธรัฐไทคืออะไร ไม่เคยฟัง YouTube ไม่เคยรู้จักลุงสนามหลวง จนกระทั่งถูกจับเข้าค่ายทหาร และหลังจากถูกจับ ตนไม่เคยกลับไปที่ลาวอีกเลย

 

สถานการณ์คดี “สหพันธรัฐไท”

ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2561 มีการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับองค์กรสหพันธรัฐไทแล้วอย่างน้อย 20 คน ใน 11 คดี โดยข้อกล่าวหาหลักที่ใช้ดำเนินคดี คือ ข้อหายุยงปลุกปั่น และเป็นอั้งยี่ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป เกือบทั้งหมดได้รับการประกันตัว แต่ต้องใช้หลักทรัพย์ในการประกันตัวสูงตั้งแต่ 2 แสนบาทถึง 6 แสนบาท หรือมีการติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือกำไล EM

ในจำนวน 11 คดีนี้ ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 2 คดี เนื่องจากจำเลย 3 ราย ให้การรับสารภาพ ซึ่งศูนย์ทนายไม่ได้รับการติดต่อเพื่อขอความช่วยเหลือทางกฎหมาย ทั้งนี้ นายเทอดศักดิ์และนางประพันธ์ จำเลยในคดีที่ศาลจะมีคำพิพากษาในวันที่ 21 ม.ค. นี้  ยังมีคดีอีก 1 คดี ซึ่งกำหนดนัดสืบพยาน ในระหว่างวันที่ 16-17 และ 24 มกราคม 2563 โดยเป็นคดีเกี่ยวกับสวมเสื้อดำที่ห้างเดอะมอลล์ บางกะปิ ในวันที่ 5 ธ.ค. 61 

 


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

1 ปี ความเคลื่อนไหวคดี ‘สหพันธรัฐไท’: ดำเนินคดีอย่างน้อย 20 คน ใน 11 คดี

ศาลนัดสืบพยาน ‘สาวเย็บผ้าเชียงใหม่’ คดีสหพันธรัฐไท ก.ค. 63

 

 

 

X