ศาลฎีกายืนจำคุก 3 ปี คดีแจกใบปลิว-เสื้อโลโก้สหพันธรัฐไท “กฤษณะ-วรรณภา” เข้าเรือนจำทันที 

30 พ.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาของศาลฎีกา ในคดีเกี่ยวเนื่องกับสหพันธรัฐไท ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 ในชั้นนี้จำเลยยื่นฎีกา 3 ราย จากทั้งหมด 5 ราย แต่ตามตัวมาศาลได้ 2 ราย คือ กฤษณะและวรรณภา ต่อมาศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 3 ปี ในข้อหาเป็นอั้งยี่  ทั้งสองจึงถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที  

ย้อนดูเหตุแห่งคดี “แจกใบปลิว-ขายเสื้อมีโลโก้สหพันธรัฐไท” ศาลชั้นต้น-อุทธรณ์เคยยกฟ้อง 116 แต่ลงโทษจำคุก 3 ปี ข้อหา “เป็นอั้งยี่”

ความเป็นมาในคดีนี้ เกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนกันยายน ปี 2561 เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวประชาชนไปไว้ในค่ายทหารอย่างน้อย 6 คน ในจำนวนนี้ต่อมาถูกกล่าวหาดำเนินคดีทั้งหมด 5 คน ได้แก่ กฤษณะ, เทอดศักดิ์, ประพันธ์, วรรณภา และจินดา

ทั้งหมดถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นคดีเดียวกันในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และ 209 ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2561 โดยกล่าวหาว่าทั้งห้าคนได้เคลื่อนไหวปลุกระดมสมาชิกกลุ่มสหพันธรัฐไทและประชาชนทั่วไป ผ่านการแจกใบปลิวและขายเสื้อที่มีตราสัญลักษณ์ของกลุ่มสหพันธรัฐไท ระหว่างวันที่ 8 มิ.ย. – 12 ก.ย. 2561 แต่ต่อมาจินดาไม่ได้เดินทางมาศาล ทำให้เหลือจำเลยสี่คน

จากนั้นศาลดำเนินการสืบพยานระหว่างวันที่ 19-21 และ 26 พ.ย. 2562 จนแล้วเสร็จ โดยทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้ง 4 มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 จำคุกคนละ 3 ปี โดยจำเลยที่ 2 (เทอดศักดิ์) และที่ 3 (ประพันธ์) รับสารภาพในชั้นสอบสวน ให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษ 1 ใน 3 เหลือจำคุกคนละ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และให้ยกฟ้องข้อหายุยงปลุกปั่น มาตรา 116

จำเลย 3 รายขอฎีกาคำพิพากษา แต่สุดท้ายเหลือเพียง “กฤษณะ-วรรณภา” 

เมื่อคดีเข้าสู่ชั้นฎีกา มีจำเลยยื่นฎีกาคำพิพากษา 3 ราย โดย 1 ใน 3 ไม่สามารถติดต่อและเดินทางมาศาลได้ ในการฟังคำพิพากษาของศาลฎีกาครั้งนี้ จึงเหลือเพียงกฤษณะและวรรณาที่เดินทางมาศาลเพื่อฟังคำพิพากษา และจะรับผลทางกฎหมายต่อไป

  • ประพันธ์ถูกจับกุมระหว่างชั้นพิจารณาคดี และไม่ได้ประกันตัวเรื่อยมาจนกระทั่งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาในคดีนี้ และประสงค์จะรับโทษตามที่ศาลพิพากษาไว้ ไม่ได้ฎีกาต่อ ปัจจุบันได้พ้นโทษและได้รับการปล่อยตัวแล้ว เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 หลังถูกคุมขังเป็นเวลานานกว่า 2 ปี 
  • เทอดศักดิ์ ไม่ได้เดินทางมาศาล เมื่อครั้งนัดฟังคำพิพาษาของศาลฎีกาเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2565 และศาลได้สั่งออกหมายจับ

อีกทั้ง ในคดีนี้ จำเลยทั้งสามรายที่ต่อสู้คดีมาถึงชั้นฎีกานี้ต่างถูกให้ใส่กำไล EM ในฐานะเงื่อนไขการประกันตัว เป็นระยะเวลานานทุกคน โดยกฤษณะและเทอดศักดิ์ ถูกให้ใส่มาตั้งแต่ปี 2561 หลังศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวในระหว่างสอบสวน จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลานานกว่า 4 ปีแล้ว ถือเป็น 2 จำเลยที่ถูกดำเนินคดีการเมืองและถูกให้ใส่กำไล EM นานที่สุด ส่วนวรรณภาถูกให้ใส่กำไล EM มาตั้งแต่ มิ.ย. 2564 หลังได้ประกันตัวในระหว่างฎีกา จนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้วเช่นกัน 

ศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 3 ปี วรรณภา-กฤษณะ เข้าเรือนจำทันทีในฐานะ ‘นักโทษเด็ดขาด’

วันนี้ เวลา 09.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 804 เราพบว่ากฤษณะนั่งรออยู่แล้วเป็นคนแรก เขาสวมเสื้อยืดและกางเกงขายาวสีขาวทั้งตัว โกนผมจนเกลี้ยงเกลา และนั่งรออย่างใจเย็นอยู่บนเก้าอี้ตัวริมสุดฝั่งซ้ายของห้องพิจารณา อย่างที่กฤษณะได้เคยบอกเราว่าตั้งแต่ถูกดำเนินคดีนี้ เมื่อปี 2561 เขาต้องเผชิญผลกระทบที่ตามมาหลายประการ ตลอดกว่า 4 ปีที่ผ่านมาจึงพยายามใช้เวลาศึกษาธรรมะและนั่งสมาธิเพื่อบรรเทาความทุกข์ใจที่เกิดขึ้น

ก่อนศาลจะนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้ กฤษณะเคยบอกไว้ว่า หากจะต้องเข้าเรือนจำอีกครั้งก็จะถือว่าเข้าไปใช้เวลาในการปฏิบัติธรรม วันนี้เขาจึงเตรียมพร้อมมาอย่างที่เราได้เห็น ไม่นานวรรณภาและลูกชายคนโตก็เดินเข้ามา วันนี้ยังมีประพันธ์ ซึ่งเป็นอดีตจำเลยในคดี มาร่วมให้กำลังใจและรอฟังคำพิพากษาด้วยเช่นกัน 

ศาลอ่านคำพิพากษาของศาลฏีกา ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า 

ในคดีนี้มีประเด็นที่ศาลฎีกาจะต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้กระทำความผิดฐานอั้งยี่ ตามที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่าส่วนที่จำเลยที่ 1, 2 และ 4  ฎีกาว่าข้อความในใบปลิวไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมายเป็นเพียงความคิดเห็นต่าง เห็นว่าแม้ถ้อยคำในใบปลิวจะเป็นเพียงความคิดที่แตกต่างและสามารถวิจารณ์ได้ แต่ในใบปลิวดังกล่าวได้ระบุช่องทางการเข้าถึงข้อมูลผ่านโปรแกรมสื่อสารออนไลน์ยูทูปที่กลุ่มสหพันธรัฐไทจัดทำขึ้นเพื่อปลุกระดมมวลชนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองของไทย ถือเป็นวิธีการดำเนินการที่มีความมุ่งหมายเพื่อกระทำการที่ผิดกฎหมายแล้ว ฎีกาข้อนี้ของจำเลยจึงฟังไม่ขึ้น

ส่วนฎีกาที่ว่าจำเลยที่ 1, 2 และ 4 ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มสหพันธรัฐไท ศาลฎีกาเห็นว่าพฤติกรรมที่ได้จากการนำสืบพยานโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้งานบัญชีเฟซบุ๊กหนึ่งและใช้โพสต์ข้อความโจมตีรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ มีกลุ่มไลน์ไว้ติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ อีกทั้งแจกใบปลิวในสถานที่ต่างๆ 

ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่หนึ่งแจกใบปลิวด้วย ส่วนจำเลยที่ 4 ทำหน้าที่แจกจ่ายเสื้อของกลุ่มสหพันธรัฐไท อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1, 2 และ 4 เป็นสมาชิกของกลุ่มได้มีส่วนร่วมและดำเนินกิจกรรมตามที่กลุ่มมอบหมายให้แล้ว 

ฎีกาของจำเลยทั้งสามจึงฟังไม่ขึ้น พยานหลักฐานของโจทก์นำสืบมาฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทั้งสามได้กระทำความผิดฐานอั้งยี่แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย พิพากษายืน

ลงนามคำสั่งโดย ศิริชัย ศิริกุล, กษิดิศ มงคลศิริภัทรา และ ณรงค์ ประจุมาศ ผู้พิพากษาศาลฎีกา

หลังศาลคำพิพากษาเสร็จ วรรณภาเดินจากเก้าอี้แถวหน้าสุดมาหาลูกชายคนโตที่นั่งอยู่เก้าอี้แถวหลัง พร้อมเข้ามากุมมือลูกและพูดว่า “ไม่เป็นไรนะลูก ไม่ต้องร้องไห้ มันจะได้จบๆ ไป แม่จะได้ใช้ชีวิตแบบปกติสักที”

“ไม่ได้ร้องไห้” ลูกของวรรณาตอบทั้งๆ ที่ตาแดงกล่ำ และรอยน้ำตาที่ไหลอาบแก้มยังไม่แห้ง เมื่อพูดจบเขาก็เอามือทั้งสองข้างปิดหน้าและก้มตัวลงไปร้องไห้อีกครั้ง 

“ถ้าคิดถึงแม่ ก็กอดเสื้อแม่แทนแล้วกันนะ” วรรณภาพูดพร้อมลูบหัวลูกชาย ก่อนจะเดินกลับไปนั่งยังที่เดิม

กฤษณะถูกนำตัวลงไปห้องขังใต้ถุนศาลก่อนเป็นคนแรก สักครู่หนึ่งเจ้าหน้าที่จึงควบคุมตัววรรณภาตามไป โดยมีลูกชายคนโตกอดถือเสื้อแขนยาวสีดำของแม่เดินตามไปห่างๆ ทั้งสองคนจะถูกส่งตัวเข้าเรือนจำในวันนี้ทันที ตามโทษจำคุก 3 ปี ที่ศาลฎีกามีคำพิพากษายืน

จากคำพิพากษาของศาลฎีกาในครั้งนี้ ทำให้จำนวนนักโทษเด็ดขาดในคดีการเมืองเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 6 ราย ได้แก่ อัญชัญ, ศุภากร, อดีตพลทหารเมธิน, มะ ณัฐชนน, กฤษณะ และวรรณภา

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

เปิดฐานข้อมูล “คดีสหพันธรัฐไท” จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คำพิพากษาศาลชั้นต้น: ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 4 จำเลย สหพันธรัฐไท ข้อหา”อั้งยี่”

คำพิพากษาศาลอุทธรณ์: อุทธรณ์ยืน! ลงโทษ 4 ปชช. ข้อหา “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา คดีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำสหพันธรัฐไท แต่ยกฟ้องข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”

เรื่องของกฤษณะ: “กฤษณะ” จำเลยคดีสหพันธรัฐไท ผู้ต้องใส่ EM มากว่า 4 ปีแล้ว นานที่สุดตั้งแต่มีรัฐประหาร 57

เรื่องของวรรณภา: ‘วรรณภา’ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท- หัวอกแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง และฝันร้ายที่รัฐไทยมอบให้ 

X