“ศุภากร” กับชีวิตที่พลิกผันหลังถูกพิพากษาและจองจำคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

วันที่ 10 มีนาคม นี้ เขาถูกคุมขังในเรือนจำมาครบ 1 ปี พอดี ภายใต้โทษจำคุกที่ศาลลงโทษ เป็นระยะเวลา 4 ปี 6 เดือน

ศุภากร (สงวนนามสกุล) ในวัย 23 ปี ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษธนบุรี เขาเคยเป็นหนุ่มน้อยร่างอ้วนท้วน แต่หลังถูกคุมขังเกือบปี น้ำหนักเขาลดลงราว 20 กิโลกรัม และยังติดเชื้อโควิด-19 หนึ่งครั้งในเรือนจำเมื่อช่วงปีที่ผ่านมา เขาไม่ได้เป็นนักเคลื่อนไหว ไม่ได้มีสังกัดกลุ่มก้อนการเมืองใด ทำให้อาจไม่มีใครที่รู้จักเขา

ในช่วงเวลาที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ยังถูกระงับและลดการบังคับใช้ ศุภากรถูกจับกุม กล่าวหา และฟ้องร้องในข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (2) และ (5) โดยกล่าวหาว่าในช่วงเดือนเมษายน 2563 เขาได้สร้างบัญชีเฟซบุ๊กอวตารและได้โพสต์ภาพตัดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 และ 10 จำนวน 9 โพสต์ เขาตัดสินใจให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหาทั้งในชั้นสอบสวนและชั้นศาล ทำให้นำไปสู่การถูกจองจำมาตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเคยพูดคุยกับเขาไว้ ก่อนหน้าการสูญเสียอิสรภาพของตนเองไป จากเด็กชายฐานะยากจน เป็นนักกีฬาของโรงเรียน ออกนอกลู่นอกทางไปบ้างจนเรียนไม่จบมัธยม กลายเป็นวัยรุ่นเก็บเนื้อเก็บตัวและมีโลกส่วนตัว ชีวิตก็พลิกผันไปสู่การถูกดำเนินคดีและกระทั่งถูกจองจำ

ชวนย้อนฟังเรื่องราวชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งที่รับว่าตนผิดพลาด แต่ก็เรียนรู้ เติบโตขึ้น และยังมีความฝันอยู่ในสังคมเช่นนี้

.

จากนักกีฬาโรงเรียน ถึงเด็กเก็บเนื้อเก็บตัว และความสนุกในโลกออนไลน์

ศุภากรเติบโตในย่านฝั่งธนบุรี ของกรุงเทพมหานคร โดยมีคุณแม่บุญธรรมที่รับเลี้ยงเขามาตั้งแต่เด็ก  

ใช่, เขาเป็นเด็กกำพร้า ทำให้แม่บ้านรับจ้างทำความสะอาดคนหนี่งตัดสินใจเลี้ยงดูเขาในฐานะลูก ตั้งแต่ยังแบเบาะ ยังเดินเหินเองไม่ได้ แม่ก็แบกเขาไปทำงานทุกวันตั้งแต่เริ่มหัดเดิน

แม่บุญธรรมไม่ได้มีฐานะอะไร ไม่ได้มีลูกและสามี ทำให้เลี้ยงศุภากรมาเพียงลำพัง เคยมีรายได้จากงานแม่บ้านวันละ 300-400 บาท แล้วจึงหันไปเป็นแม่ครัวขององค์กรรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง สถานที่ทำงานอยู่ใกล้จากบ้านค่อนข้างมาก คือย่านเรือนจำคลองเปรม ทำให่แม่ของเขาต้องออกไปทำอาหารแต่เช้าตรู่ คือราวตี 4 นั่งรถเมล์ข้ามเมืองเพื่อไปทำงานทุกวัน กว่ากลับถึงบ้านก็เย็นแล้ว ทำให้ในช่วงที่ศุภากรเติบโต เขาต้องใช้ชีวิตคนเดียวเป็นส่วนมาก

ศุภากรเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาด้วยโควตานักกีฬา เล่นมันหมดทั้งฟุตบอล บาสเก็ตบอล และตะกร้อ โดยสมัยก่อนเขาเล่นฟุตบอลเป็นประจำ และยังได้รับคัดเลือกเป็นนักกีฬาของโรงเรียน  

ย้อนทบทวนกลับไปเมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษา เข้าสู่วัยวันที่ฮอร์โมนเริ่มพุ่งพล่าน เขาเริ่มไม่ตั้งใจเรียน ติดเพื่อน และติดเที่ยว ทำให้ถูกโรงเรียนคัดออกจากโควต้านักกีฬา แต่ศุภากรยืนยันว่าไม่เคยไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด แม้สภาพแวดล้อมรอบตัวในตอนนั้น มีเด็กๆ วัยรุ่นรอบบ้านที่เข้าไปพัวพันกับยาเสพติดหลายคน

“ช่วงนั้น มันสนุกกับการเที่ยวเตร่อะไรแบบนี้ครับ แล้วก็พอหลังๆ มา เรารู้สึกเราเบื่อสังคม ไปก็ต้องใช้ตังค์ ไม่มีตังค์ เพื่อนก็ไม่คบ เราก็เลยเดินออกมาอยู่คนเดียวดีกว่า ไม่ลำบากใคร ไม่ต้องไป”

เรียนยังไม่จบชั้น ม.2 ดี ศุภากรตัดสินใจเลิกเรียน หลังใช้ชีวิตวัยรุ่นกับการเที่ยวเตร่กับเพื่อนอีกพักหนึ่ง รูปแบบชีวิตแทบพลิกกลับหลังหัน เขากลายเป็นคนเก็บเนื้อเก็บตัว อยู่แต่กับบ้านอย่างเดียว

ศุภากรบอกไว้ว่าช่วงชีวิตก่อนถูกคุมขัง 2-3 ปีนั้น เขากลายเป็นคนที่แทบไม่ออกไปไหน อย่างมากก็ออกไปหาญาติที่บ้านไกลกันไม่เกิน 500 เมตร หรือแม้แต่ตัดผมยังไม่ได้ออกไปตัด ทำให้ไว้ผมยาวเฟื้อย จนได้มาตัดหลังถูกดำเนินคดีนี้แล้ว

ชีวิตที่บ้านวันๆ หมดไปกับการช่วยงานแม่ เมื่อแม่รับงานทำของชำร่วยมาทำที่บ้าน พร้อมกับใช้เวลาอ่านการ์ตูน เล่มเกมส์ และท่องโลกอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้ออกไปเล่นกีฬาอีก เพราะบริเวณรอบๆ บ้านก็ไม่มีพื้นที่ให้ทำกิจกรรมหรือเขาไม่มีเพื่อนให้ไปรวมกลุ่ม

“แบบว่าไม่เอาอะไรเลย ใช้ชีวิตไปวันๆ แล้วก็ไปสมัครเรียน กศน. ตอนแรกติดเพื่อนแล้วก็ไม่เอาอะไรทั้งนั้น จนมา 3-4 ปี ให้หลังก็อยู่แต่บ้านไม่ออกไปไหน ก็ช่วยแม่ทำงานบ้าน แล้วก็แม่เขาก็รับงานมาให้เราทำ ให้เราช่วยทำที่บ้าน”

เขาเล่นอินเทอร์เน็ต-เฟซบุ๊กผ่านโทรศัพท์มือถือ ไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีโน้ตบุ๊ก เนื่องจากครอบครัวไม่มีสตางค์ซื้อ

ก่อนเกิดเหตุ ศุภากรเล่าว่าเขาได้เริ่มติดตามเรื่องราวทางการเมือง โดยเริ่มจากการอ่านข้อมูลข่าวสารในโลกออนไลน์ เห็นข่าวเรื่องการชุมนุมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2563 เขามีกลุ่มเพื่อนในโลกออนไลน์ ที่ไม่เคยเจอหน้ากัน ได้แต่พูดคุยกันทางโลกเสมือน

“ตอนแรกผมเป็นคนที่แบบไม่ค่อยเชื่อเรื่องศาสนาหรอก ทำไมต้องไหว้พระ ทำไมเราต้องยึดอะไรแบบนั้น ทุกอย่างมันขึ้นอยู่ที่ตัวเรา เราก็เข้าไปกลุ่มเฟซบุ๊ก ชื่อกลุ่ม ‘การเมืองแบบคนไม่มีศาสนา’ อะไรประมาณนี้ มันก็มีทั้งเรื่องการเมือง และเรื่องศาสนามารวมกัน ผมก็แม่งการเมืองว่ะ มันก็น่าสนใจดี ก็อ่านๆ ข้อมูลมา จนพอมีความรู้ ว่าอะไรเป็นอะไร”

และด้วยเวลาที่ต้องอยู่กับบ้านไม่ได้ไปไหน บวกกับความรู้สึกสนุกที่ได้ลองทำอะไรให้มีตัวตนบนโลกออนไลน์ นำเขาไปสู่คดีที่เกิดขึ้น

“ในเฟซบุ๊กส่วนใหญ่ที่ผมดูๆ ก็มีเป็นกลุ่มแบบพูดคุยเล่นกัน โพสต์ในแบบที่มันดูฮาๆ คนก็จะมาแชร์ หรือว่าจะเป็นเรื่องการเมืองเขาก็มาแชร์กันในกลุ่ม แล้วก็มาเห็น มันมีกลุ่มบางกลุ่มที่เอารูปตัดต่อมาลง เป็นเรื่องสนุก ผมก็เลยลองทำบ้าง แล้วทีนี้เหมือนว่าไปเข้าตาเขาไง ผมก็ยังคิดว่าคนทำกันเป็นหมื่น ทำไมมาแจ็กพ็อตที่กูวะ คือความสนุกอ่ะ แอบมีการเมืองบ้าง แต่ว่าตอนนั้นมันสนุกมากกว่า”

.

.

การติดตามจากเจ้าหน้าที่รัฐ การจับกุม และคดีความ

เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 มิ.ย. 2563 ชุดเจ้าหน้าที่ตำรวจได้นำหมายค้น เข้าตรวจค้นบ้านพักของเขา ก่อนนำตัวนายศุภากรไปยัง สน.เพชรเกษม เพื่อทำการสอบสวน

“ผมนอนอยู่ ประมาณ 9 โมง หรือ 10 โมง ตอนแรกเขาไปหาผมที่บ้านที่อยู่ในใบบัตรประชาชน ทีนี้ผมไม่อยู่ เพราะว่าผมย้ายออกไปอยู่กับแม่ 2 คนที่ห้องเช่า ญาติผมที่อยู่บ้านนั้นเขาก็พาพวกเจ้าหน้าที่มา เขาก็มาหาผม ‘ใช่ศุภากรไหม ใช่คนที่ทำแบบนี้ไหม’ ผมก็บอกใช่ครับผมทำเอง เขาก็พาผมไป สน. คนที่มาหาผม เขาขึ้นมา 2 คน แต่ว่าทีมงานเขามี 10 กว่า เกือบ 20 คน มั้ง รถ 2-3 คัน จอดรออยู่”

ศุภากรไม่แน่ใจว่าเจ้าหน้าที่มีหมายจับหรือไม่ แต่มีการแสดงเอกสารโพสต์ต่างๆ ให้ดู แล้วเขาก็รับไปว่าเป็นโพสต์ของเขาเอง เขายังถูกตำรวจตรวจยึดโทรศัพท์มือถือไว้ เจ้าหน้าที่ยังพยายามสอบถามหาคอมพิวเตอร์ระหว่างการตรวจค้น แต่เขายืนยันว่าที่บ้านไม่มีคอมพิวเตอร์สักตัว

เนื่องจากเฟซบุ๊กของเขาไม่ได้ใช้ชื่อนามสกุลจริง ศุภากรคาดว่าเจ้าหน้าที่ติดตามตัวได้จากการใช้วิธีการ “ฟิชชิง” (Phishing) คือมีผู้ส่งลิงค์บางอย่างเข้ามาในกล่องข้อความ และเขาได้กดเข้าไป ทำให้เป็นที่มาของสืบค้นตัวตนของเขาได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นราวหนึ่งอาทิตย์ก่อนเขาถูกจับกุม อีกทั้งยังทราบว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามสอบถามข้อมูลของเขา จากเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มแชทด้วยกันด้วย

ตำรวจยังได้โทรศัพท์ติดต่อแม่ของเขาที่ออกไปทำงาน ทำให้แม่เดินทางติดตามมาที่บ้าน ก่อนจะพาตัวกันไป สน.เพชรเกษม ศุภากรจำได้ว่ากลุ่มเจ้าหน้าที่ที่ร่วมจับกุม น่าจะมีทหารนอกเครื่องแบบอยู่ร่วมด้วย แต่เขาไม่ทราบว่าเหตุใดทหารถึงเข้ามาเกี่ยวข้อง

จากนั้นเขาได้ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเขาให้การรับสารภาพทั้งหมด แต่การสอบสวน ตำรวจไม่ได้มีการให้ผู้ต้องหาติดต่อทนายความ หรือจัดหาทนายความมาร่วมแต่อย่างใด มีเพียงแม่ของเขาที่อยู่ร่วมด้วย

“ผมก็สารภาพตั้งแต่ชั้นสอบสวนตั้งแต่แรก แต่ตอนที่เขาซักถามผมมียุ่งเกี่ยวกับการเมือง รู้จักใคร ได้เงินจากใคร ทำแบบนี้ได้ยังไง ผมบอกผมไม่ได้ ผมบอกผมทำเพราะความสนุกจริงๆ ผมไม่ได้คิดอะไรเลย ไม่ได้เป็นเรื่องการเมือง มันเป็นความสนุกของเราตอนนั้น ตอนที่เราคิดที่จะทำ มันไม่ใช่เรื่องการเมือง เขาก็อัดวิดีโอไว้ของเขา”

ศุภากรเล่าว่าในการสอบสวน เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมีการตั้งกล้องวิดีโอถ่ายเขาเอาไว้ และมีเจ้าหน้าที่ที่พิมพ์บันทึก โดยพยายามสอบถามเหตุผลที่ได้ทำไป มีใครร่วมด้วยหรือไม่ ได้อะไรจากใครหรือไม่ รู้จักใครเป็นพิเศษ หรือได้ติดตามเรื่องทางการเมืองหรือไม่ เป็นคำถามลักษณะนี้วนไปวนมาหลายชั่วโมง

“เขาถามประวัติผม คือจริงๆ เราก็ไม่อยากดำเนินคดีผม เขาบอกพี่ก็ไม่อยากจะไอ้นี่เอ็งหรอก แต่ว่าเบื้องบนเขาสั่งมา เขาสั่งมาก็ต้องทำ เพราะว่าตอนที่คุยๆ กันอยู่เขาก็โทรถาม ‘นาย’ เขาว่า ไอ้เนี่ยไม่ดำเนินคดีได้ไหมอะไรแบบนี้ แต่นายเขาเหมือนไม่ยอม”

หลังการสอบสวน เขาถูกควบคุมตัวไว้ที่ สน. สองวัน โดยมีแม่ของเขาคอยส่งข้าวส่งน้ำ ก่อนจะถูกตำรวจส่งขอฝากขังต่อศาลอาญาธนบุรีหลังวันหยุดในช่วงนั้น

“ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่าจะได้ประกัน ก็ทำใจไว้แล้ว คือเราคิดเผื่อไว้แล้วว่าเราจะต้องติดคุก เพราะผมคือคิดเผื่อไว้เลย เข้าคุกเราจะต้องใช้ชีวิตยังไงว่ะ ต้องไปเจออะไร แต่ทีนี้ผมเหลือบไปเห็นว่ามีประกันตัวโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ ใช้ชื่อคุณแม่เอา ผมก็ใช้ตรงนั้นออกมาครั้งแรก แล้วทีนี้เขาก็เลื่อนนัดมาตลอด มาถึงประมาณเดือนธันวา (2563) เขาค่อยส่งฟ้องผม”

.

.

การรับสารภาพ และการเผชิญหน้ากับโทษทัณฑ์

ในช่วงก่อนการฟ้องคดี ศุภากรได้ติดต่อมาที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ทำให้มีการแต่งตั้งทนายความเข้าไปในคดีนี้ จนในการสั่งฟ้องคดีต่อศาล เขาได้รับการประกันตัว โดยต้องวางหลักทรัพย์ 1 แสนบาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนดา ตอร์ปิโด

ณ จุดนั้น เขาเล่าถึงความกังวลในระหว่างรอคอยจุดสิ้นสุดของคดีว่า “เราไม่รู้ว่าเราต้องไปเจอกับอะไรบ้าง ใช้ชีวิตไม่มีความสุข ปกติเราจะเป็นคนร่าเริง แบบร่าเริงกว่านี้ มันกังวลแต่เรื่องนี้ แบบว่ามันเครียด คิดไปเรื่อย คิดถึงภาพตอนที่ผมอยู่ข้างในคุก จะต้องจินตนาการว่า ถ้าสมมติเราอยู่ข้างในจะเป็นยังไง คอยคิดไปเรื่อย แล้วยิ่งอยู่คนเดียวด้วย มันก็เลยไปเรื่อยๆ เลย”

“ถ้าสมมติมันยังไม่จบไปสักทีผมก็จะคิด ผมกังวลว่ามันจะยืดเยื้อ ก็เลยอยากให้มันจบๆ ไป มันจบออกมาแบบไหน อย่างน้อยก็มันจบ ถ้าตัดสินว่าเราต้องติดคุก อย่างน้อยเราก็เห็นตัวเลขว่าเราต้องออกวันไหน ประมาณนี้ แต่ถ้าเราไม่จบ เราก็จะไม่รู้ว่ามันจะไปจบตอนไหน”

ผลของคดีต่อสภาพจิตใจเช่นนี้ ทำให้เมื่อถึงนัดสอบคำให้การในศาล ศุภากรได้ตัดสินใจรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงได้ส่งให้มีการสืบเสาะพฤติการณ์เพิ่มเติม เพื่อประกอบการจัดทำคำพิพากษา

ในช่วงก่อนการพิพากษา เขากับแม่บุญธรรมต้องไปพบเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานคุมประพฤติรวมทั้งหมด 2 ครั้ง เพื่อให้เจ้าหน้าที่สอบถามข้อมูล ในตอนนั้น เขายังพอมีความหวังว่าจะได้รับการรอการลงโทษ แต่อีกห้วงคิดหนึ่ง ก็ได้เผื่อใจไว้สำหรับการต้องติดคุกติดตะรางจริงๆ

“เราไม่เคยกระทำความผิด เราทำไปเพราะอะไร เราไม่ได้มีเจตนา ถ้าศาลจะตัดสินเยอะก็ตามดุลยพินิจศาล แต่จริงๆ เราไม่ได้ทำเพราะเรื่องการเมืองโดยตรง เราทำไปเพราะความสนุก ตอนนั้นเราสนุกที่ได้ทำ

“แล้วผมก็คิดว่าแต่ละปีก็น่าจะมีลดโทษแล้ว ถือโอกาสถ้าเข้าไปจริงๆ ก็จะเข้าไปเรียนหนังสือในนั้นด้วย ก็คือเตรียมใจคิดเผื่อไว้ ว่าถ้าต้องติดคุกติดอะไร แต่ถ้าไม่ต้องติด ก็ถือว่าเราโชคดี ถือว่าเป็นเมตตาของศาล แต่ก็เตรียมใจไว้หมดแล้วว่าต้องไปติด”

วันที่ 10 มี.ค. 2564 ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาว่าเขามีความผิดทั้ง 9 กรรม จำคุกกรรมละ 1 ปี ให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์การพิจารณา จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกรรมละ 6 เดือน รวมลงโทษจำคุก 54 เดือน (คิดเป็นราว 4 ปี 6 เดือน) ศาลยังเห็นว่าพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง จึงไม่สมควรมีเหตุให้รอลงอาญา

ในวันนั้น ทนายความยื่นขอประกันตัวศุภากรระหว่างอุทธรณ์คดี แต่ศาลชั้นต้นพิจารณาให้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ทำให้เขาถูกนำตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษธนบุรีทันที ก่อนที่ในวันถัดมา ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัว โดยระบุเหตุผลว่า พฤติการณ์แห่งคดีมีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดี นับว่าเป็นเรื่องร้ายแรง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี

ตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค. 2564 จนถึงปัจจุบัน เขาจึงสูญเสียอิสรภาพไปครบหนึ่งปีพอดี เขาและครอบครัวตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษาอีก ทำให้คดีสิ้นสุดลง

.

.

ห้วงระหว่างการจองจำ กับความฝันถึงอนาคต

“แม่เป็นห่วงนะ หนูเป็นยังไงบ้าง แม่อยากเห็นหน้าหนู แต่เขาก็ยังไม่ให้แม่เห็นหน้าเลย เพราะโควิดมันดันมาระบาด ให้หนูดูแลตัวดีๆ นะ แม่ได้แต่ภาวนา ไหว้พระ ขอให้หนูอย่าเป็นอะไรเลย ออกกลับมาหาแม่นะ แม่ไม่ทิ้งหนูหรอก แม่จะรอดูนะลูกนะ”

หลังถูกคุมขัง แม่ของศุภากรยังไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมลูกชายได้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เรือนจำงดเยี่ยมญาติทั้งที่เรือนจำและผ่านไลน์ มีเพียงทนายความที่ยังพอได้เยี่ยมและเป็นผู้ส่งข่าวสารระหว่างแม่กับลูกชาย แม้ต่อมาแม่พอได้เยี่ยมผ่านทางระบบไลน์ ราวเดือนละครั้ง และศุภากรได้ส่งจดหมายถึงแม่บ้าง แต่ก็ไม่สามารถเยี่ยมแบบพบหน้ากันได้

ทั้งชีวิตของแม่เอง ก็ต้องเปลี่ยนไป เมื่อไม่มีเด็กชายคนเดิมที่นอนข้างกันมากว่ายี่สิบปี แต่ตอนนี้ข้างกายไม่มีใคร ข้อความที่ทั้งสองคนส่งถึงกัน แม่จึงย้ำเสมอว่าอยากเห็นหน้าลูกอีกครั้ง ขณะที่ศุภากรก็บอกเสมอว่าเขาคิดถึงแม่

ก่อนต้องคำพิพากษาคดีนี้ ในช่วงปี 2563 ศุภากรได้ไปลงเรียนระบบการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) โดยมีความหวังใหม่ๆ ว่าตัวเองจะกลับไปเรียนให้จบ อย่างน้อยก็ชั้น ม.6 จะได้พอมีวุฒิการศึกษา หลังต้องใช้ชีวิตในเรือนจำ เขาได้เริ่มเรียนต่อจากในเรือนจำอีกครั้ง

ถ้าถึงขั้นได้เรียนมหาวิทยาลัย เขาก็สนใจอยากเรียนไปทางด้านการกีฬา ซึ่งศุภากรคิดว่ายังเป็นความสนใจของเขา นอกจากนั้นเขายังสนใจด้านภาษาอังกฤษ เนื่องจากเคยฝึกทักษะภาษาจากการเล่นเกมส์

“จริงๆ ผมชอบใช้ภาษาอังกฤษ เพราะว่าผมเล่นเกมส์ แล้วผมชอบภาษาอังกฤษ ผมเล่น Rise of kingdoms เป็นมันแนวการเมืองด้วย การทูต การอะไร ผมก็พอคุยกับต่างชาติได้เราพอรู้เรื่องคุยมา แต่แกรมม่าเราไม่ได้นะ แต่เขาถามเรา เราก็ตอบได้ เลยอยากขัดเกลา แต่เราไม่รู้จะเริ่มต้นยังไง เราไม่มีคนชี้ทาง ไม่มีโอกาส ไม่รู้เลย พูดไม่ถูก มันก็คิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นยังไง”

นั้นยังเป็นความฝัน, ถ้าไปไม่ถึงระดับนั้น เขาบอกว่าก็คงแค่อยากหางานทำ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระแม่ ที่อายุย่างเข้า 59 ปี และยังคงต้องทำงานหนัก

ผ่านไปหนึ่งปี ศุภากรได้รับการลดหย่อนโทษลง เนื่องจากมีพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษในโอกาสสำคัญมาแล้วสองครั้งในรอบปีที่ผ่านมา ทำให้เขาสามารถเข้าเกณฑ์การทำเรื่องพักโทษได้ แต่ยังอยู่ระหว่างรอรอบการยื่นเรื่องขอพักโทษต่อไป โดยคาดว่าอาจจะได้ออกจากเรือนจำภายในปีนี้ ขณะที่ชีวิตในเรือนจำ ก็มีทางกองทุนดา ตอร์ปิโด คอยดูแลเรื่องข้าวของที่จำเป็นในชีวิตประจำวันต่างๆ อยู่

ศุภากรบอกไว้ว่าการถูกดำเนินคดีนี้กลายเป็นบทเรียนสำคัญในชีวิตเขา มันเป็นความผิดพลาดไปบ้าง แต่ก็ได้ทบทวนและเรียนรู้จากสิ่งเหล่านั้น “มันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว ติดก็ติดไป ถือโอกาสเรียนข้างในให้จบ ออกมาจะได้เป็นผู้เป็นคนกับเขาบ้าง”

ขณะเดียวกัน ความคิดความสนใจต่อสังคมที่เกิดขึ้นแล้ว ก็ยังไม่ได้สูญหายไปตามโทษทัณฑ์ที่ได้รับ ศุภากรยังมีความฝันถึงตนเองและสังคมที่ดีกว่านี้อยู่

“ความสนใจต่อเรื่องต่างๆ มันก็ยังคงอยู่อ่ะ เราสนใจไปแล้ว แต่หลังเกิดคดี ก็เสพอยากเดียว ไม่ได้ไปทำอะไรแบบเดิม ผมไม่ได้ทำตั้งแต่ก่อนโดนจับแล้ว ตั้งแต่บัญชีเฟซบุ๊กผมโดนปิดไป แล้วก็ไม่ได้ยุ่ง แต่เราก็อ่านเหมือนเดิม เราเห็น (สังคม) มันเป็นอย่างนี้ เราก็อยากเปลี่ยนแปลง แต่ว่าเราตัวลำพัง ตัวผมคนเดียวมันทำไม่ได้หรอก มันก็ต้องช่วยกันนั่นแหละ”

.

X