‘วรรณภา’ จำเลยคดีสหพันธรัฐไท- หัวอกแม่เลี้ยงเดี่ยวลูกสอง และฝันร้ายที่รัฐไทยมอบให้ 

วรรณภา (สงวนนามสกุล) แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 35 ปี อาศัยอยู่กับลูกชาย 2 คน วัย 13 และ 18 ปี ในห้องเช่าแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ค่าเช่าห้อง ค่าไฟ ค่าน้ำ ค่าเล่าเรียนของลูกชายคนเล็ก ทั้งหมดคือภาระที่เธอต้องแบกรับเพียงลำพังมานานหลายปีแล้ว 

โดยเฉพาะหลังถูกจับกุมและดำเนินคดีนี้เมื่อปี 2561 เรื่อยมาจนศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา ยิ่งทำให้วรรณภาต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบากกว่าเดิมหลายเท่าตัว เธอถูกไล่ออกจากงาน หวาดระแวงในการใช้ชีวิต รายได้และความสุขลดน้อยลงอย่างมาก 

แต่เธอบอกว่า สิ่งที่คดีนี้สร้างภาระให้มากที่สุด คือ การถูกให้ใส่ EM ที่ข้อเท้า นอกจากจะสร้างความรำคาญและความเจ็บปวดมานานนับปีแล้ว ยังสร้างความอับอายให้แก่เธอ เมื่อต้องเข้าสังคมและพบปะผู้คน สายตาและเสียงซุบซิบนินทายังคงเป็นบาดแผลในใจของเธอมาจนถึงทุกวันนี้ โดยเฉพาะ “ประตูตรวจจับโลหะ”

30 พ.ย. 2565 นี้ ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาของศาลฎีกา ซึ่งเป็นบันไดขั้นสุดท้ายในการต่อสู้คดีแล้ว หากศาลฎีกาพิพากษายืนจำคุก 3 ปี ตามศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้น เธอจะต้องก้าวเข้าเรือนจำอีกครั้ง โดยทิ้งลูกชาย 2 คนไว้เบื้องหลังอย่างไม่มีทางเลือก

ถูกทหารบุกอุ้มจับคาห้องเช่าไปค่ายทหาร ทิ้งลูก 2 คนต้องอยู่ลำพังตลอด 6 วัน 

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2561 ในเช้ามืดของวันที่ 6 ก.ย. เวลาประมาณ 05.30 น. ขณะที่วรรณภาและลูกทั้งสองคนยังคงนอนหลับสนิทอยู่ในห้องเช่า จู่ๆ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 30 นายได้บุกเข้ามาในห้องพักและตรวจยึดเสื้อยืดติดโลโก้ ‘สหพันธรัฐไท’ ไป พร้อมกับเชิญให้วรรณภาขึ้นรถตู้ไปกับเจ้าหน้าที่ โดยไม่ได้แจ้งเธอว่าจะพาไปที่ใด เพราะเหตุผลใด

ในรถมีเจ้าหน้าที่นั่งรออยู่ประมาณ 5-6 นาย เธอถูกสั่งให้นั่งเบาะตัวกลางในแถวกลางของรถ โดยมีเจ้าหน้าที่นั่งขนาบรอบตัว รถตู้ขับไปจนถึงมณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) ในเวลาประมาณ 08.00 น. เมื่อถึง เธอถูกพาตัวไปสอบปากคำทันที ระหว่างนั้นมีเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเดินมาบอกกับเธอว่า “วรรณภาจะต้องติดคุก 20-30 ปีเลยนะ เพราะว่าเสื้อยืดสีดำที่ยึดมาได้เป็นสัญลักษณ์ของทรราช ถือว่าวรรณภาเป็น ‘กบฏ’…” 

“ตอนนั้นวรรณภากลัวมาก, เขาถามอะไรเราก็ตอบหมด เล่าให้ฟังว่าเสื้อที่ยึดมามีที่มาที่ไปยังไง เพราะเรากลัวจะไม่ได้เจอหน้าลูกอีก” เธอพูด 

วรรณภาถูกกักขังอยู่ในห้องๆ หนึ่งที่ไม่มีหน้าต่าง ผนังทุกด้านปิดทึบสนิท โดยจะมีทหารผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเฝ้าตลอดเวลา 1-2 นาย เธอคาดว่าเดิมทีห้องนั้นน่าจะถูกใช้เป็นห้องทานข้าวหรือห้องรับรองแขก แต่ขณะนั้นได้ถูกนำเตียงนอนทหารเข้ามาวางไว้ให้เธอได้นอนพักเท่านั้นเอง 

ระหว่างวรรณภาถูกกักขังอยู่ในห้อง ทหารเวียนกันมาสอบปากคำ เค้นเอาข้อมูลจากเธอไม่หยุดหย่อนเกี่ยวกับสถานการณ์และเครือข่าย ‘สหพันธรัฐไท’ วรรณภาเล่าว่า  ด้วยความกลัวเธอจึงได้พูดไปจนหมดเปลือกเท่าที่เธอรู้แล้ว แต่ก็ยังคงถูกเค้นถามด้วยคำถามเดิมอยู่เช่นนั้นทุกๆ วัน 

“ตอนนั้นเรารู้แค่ว่าอยู่ค่ายทหาร แต่ไม่รู้เลยว่าอยู่ส่วนไหนของประเทศไทย ไม่รู้เลยว่าทำไมถึงถูกขังอยู่ที่นี่ เราทำอะไรผิดนักหนาถึงมาทำกันรุนแรงขนาดนี้ ตอนนั้นเราไม่รู้อะไรสักอย่างเลย”

ตลอดเวลาที่อยู่ในนั้นวรรณภารู้สึกสับสน ตกใจ และคิดถึงแต่หน้าลูกเท่านั้น 

“คิดแค่ว่าอยากออกมาเจอลูก ลูกจะอยู่ยังไง เขาอยู่กันแค่สองคน ตอนนั้นเขาเด็กกันมาก ลูกคนโตอายุแค่ 13 คนเล็กเพิ่งจะ 7 ขวบ ลูกสองคนของหนู เขาก็งงที่แม่หายไป เขาก็ร้องไห้ตลอดเลย”

ระหว่างนั้นลูกชายทั้งสองคนของวรรณภาต้องอาศัยอยู่กันตามลำพัง บนห้องเช่าชั้นที่ 7 ของตึกแห่งหนึ่งในสมุทรปราการ ทั้งสองคนไม่ได้ไปโรงเรียนเลยสักวันระหว่างที่แม่ของพวกเขาหายตัวไป สองพี่น้องมีเงินติดตัวเพียง 400 บาท เป็นเงินซึ่งทหารชุดจับกุมทิ้งไว้ให้

“แม่เขาไม่อยู่แล้วเขาจะกินจะอยู่ยังไง ต้องอยู่กันลำพังเลยค่ะตอนนั้น”

“ตอนเราถูกกักตัวอยู่ก็ร้องไห้ตลอดเวลา เพราะคิดถึงลูก…” 

จนกระทั่งเข้าสู่วันที่ 3 ของการถูกกักขัง อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมกับลูกชายทั้งสองคนของวรรณภา บุกเข้าไปถึงค่ายทหาร อังคณาต่อว่าเจ้าหน้าที่ทหารทำนองว่า ‘ทำอย่างนี้ได้ยังไง พรากลูกพรากแม่ คุณยังมีความเป็นคนอยู่หรือเปล่า แล้วลูกสองคนเขาจะอยู่ยังไง’ 

ในวันนั้นวรรณภาจึงได้เจอลูกชายครู่หนึ่งและถูกกักขังต่อไป จนเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2561 ทหารส่งวรรณภาไปกองบังคับการปราบปราม เพื่อให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาในคดีอันเนื่องมาจากเสื้อสหพันธรัฐไท และเป็นคดีความยืดเยื้อยาวนานมาจนถึงชั้นฎีกา

กำไล EM – ตีตราชีวิต

เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา วรรณภาพร้อมกับจำเลยอีก 2 คนในคดีนี้ถูกนำตัวไปคุมขังในเรือนจำเป็นการชั่วคราว ระหว่างรอฟังคำสั่งจากศาลฎีกาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ 

ต่อมาเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2564 ศาลฎีกาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างฎีกา โดยหนึ่งในเงื่อนไขของการปล่อยตัวคือให้ติดกำไล EM โดยเธอต้องใส่มาตั้งแต่วันที่ 3 มิ.ย. 2564 จนถึงบัดนี้เป็นเวลานานกว่า 1 ปีแล้วที่ข้อเท้าข้างซ้ายของเธอถูกพันธนาการด้วยตรวนไร้สายสีดำนี้ 

“ตอนนี้ข้อเท้าดำมาก มันคล้ำจากการที่ใส่ EM เหมือนมันไม่ใช่ขาคนแล้วค่ะ”

“มันเป็นแผล มันช้ำ เป็นรอยแดง เนื้อนี่เปลื่อยเลย เป็นแล้วก็หาย แล้วก็เป็นอีก บางครั้งเกาจนเลือดออกเลยค่ะ เป็นเฉพาะตรงที่ใส่ EM เท่านั้น อยากถอดมาก ไปทำงานที่ไหนก็ไม่ได้ ใช้ชีวิตแบบลำบากมากมาหนึ่งปีแล้ว”

แม้ในขั้นตอนการใส่ EM เธอได้ร้องขอให้เจ้าหน้าที่ศาลมันอย่างหลวมๆ แล้ว แต่ก็ยังไม่วายมีแผลถลอกจากการเสียดสีและกดทับของ EM เราสังเกตเห็นว่าข้อเท้าของเธอเป็นรอยช้ำเขียวม่วง ลักษณะเป็นจ้ำๆ ผิวหนังรอบบริเวณ EM มีแต่รอยแผลเรื้อรัง ทั้งแห้งกรังและบางจุดยังคงแดงระเรื่อเหมือนรอยแผลที่เพิ่งสมานไปได้ไม่นาน 

โดยเฉพาะช่วงที่เป็นแผล จะสร้างความทรมานต่อเธอมาก เพราะเมื่อเยื้องย่าง กำไล EM จะกระทบกับเนื้อขาแล้วจะรู้สึกแสบแผลมาก ยิ่งถ้าเป็นตอนอาบน้ำแล้วด้วย เธอบอกว่าจะยิ่งรู้สึกแสบไปกันใหญ่ วังวนความทรมานเช่นนี้เป็นๆ หายๆ นานนับปีแล้ว

“เวลาวรรณภาไปไหน วรรณนภาไม่เคยใส่ขาสั้นให้คนอื่นเห็น EM เลย มีแต่เพื่อนสนิทไม่กี่คนเท่านั้นที่รู้ว่าวรรณภาใส่ ถ้าเกิดใครเห็นว่าเราใส่ EM อยู่แล้วเขามองมาเราจะรู้สึกอายมาก”

“ใช้ชีวิตลำบากมากตั้งแต่มีมัน…”

“ประตูตรวจจับโลหะ” ฝันร้ายของวรรณภา 

ก่อนหน้านี้วรรณภาประกอบอาชีพเป็นขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง (วินรับจ้าง) และเคยเปลี่ยนไปขับแท็กซี่อยู่พักหนึ่งนานประมาณ 1 ปี แต่เมื่อถึงช่วงก่อนศาลอุทธรณ์จะนัดฟังคำพิพากษา เธอได้เปลี่ยนไปทำงานเป็นพนักงานคัดแยกพัสดุอยู่ที่คลังสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งรายได้และความมั่นคงค่อนข้างน่าพอใจ

“ตอนนั้นทำงานที่คลังสินค้า ชีวิตกำลังดีเลย มีเงินให้ลูกได้กินข้าว ไม่เดือดร้อนแล้ว”

หลังทำงานที่คลังสินค้าอยู่นาน 1 ปี เธอถูกเสนอให้เลื่อนขั้นเพื่อบรรจุเป็นพนักงานประจำ โดยจะได้รับเงินเดือนและสวัสดิการที่ดีกว่าและมากกว่า แต่ในขั้นตอนตรวจสอบประวัติอาชญากรรม บริษัทตรวจเจอว่าเธอมีคดีนี้ติดตัวอยู่ วรรณภาจึงถูกให้ออกจากงานทันที ไม่ให้ทำแม้กระทั่งตำแหน่งพนักงานพาร์ททาม ซึ่งเป็นตำแหน่งเดิมที่เธอเคยทำ 

ปัจจุบันเธอก็ยังคงทำงานเป็นพนักงานคัดแยกสินค้าแบบพาร์ททามตามคลังสินค้าหลายแห่ง เวียนไปเรื่อยๆ แล้วแต่จะถูกเรียกตัว เธอจะได้ทำงานอาทิตย์ละ 2-3 วันเท่านั้น เมื่อคลังสินค้านั้นๆ มีพนักงานลาหยุดหรือวันที่พัสดุเยอะจริงๆ อย่างเช่นช่วงเทศกาลหรือโปรโมชั่นลดราคา  

ทุกเช้าก่อนจะเข้าไปทำงานในคลังสินค้าได้ พนักงานทุกคนจะต้องเดินผ่านเครื่องตรวจจับโลหะก่อน อุปกรณ์สื่อสารและเครื่องประดับโลหะจะถูกสั่งห้ามไม่ให้นำเข้าไปในพื้นที่ทำงานอย่างเด็ดขาด ประตูตรวจจับโลหะนี้เองที่เป็นเหมือน ‘ฝันร้าย’ ของวรรณภา 

“เราเคยไปทำงานที่หนึ่งแล้วต้องผ่านประตูนี้ ปรากฏว่าประตูมันร้องดังลั่นเลย เพราะว่าที่ขาเรามี EM เจ้าหน้าที่ก็วิ่งเข้ามาดูเลยค่ะ ถกขากางเกงเราขึ้นมาดู จากนั้นคนทั้งคลังสินค้าก็หันมามองกันหมดเลย แล้วก็ซุบซิบกันเสียงดัง”

วรรณภารู้สึกอายมาก หลังจากนั้นเธอก็ไม่ได้ไปทำงานที่นั่นอีกเลย

“ถ้าเราไปคลังสินค้าที่ไหน แล้วเห็นว่ามีประตูตรวจจับโลหะ เราก็จะไม่ทำงานเลย จะกลับบ้าน กลายเป็นว่าเรากลัวไปเลย นี่แหละค่ะคือผลกระทบที่เกิดขึ้นกับเรา”

ทุกวันนี้วรรณภาเลยจะทำงานได้แค่ที่คลังสินค้าขนาดเล็กที่ไม่มีประตูตรวจจับโลหะเท่านั้น สูญเสียโอกาสและรายได้ในการทำงาน นั่นทำให้ EM คือ ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดของเธอที่ได้รับจากคดีนี้ โดยคดียังไม่ได้ถูกพิพากษาอย่างถึงที่สุดแต่อย่างใด 

“ติด EM มา 1 ปี ก็เหมือนขังวรรณภาไว้ในคุกแล้วค่ะ แค่ตัวไม่ได้อยู่ในคุกแค่นั้นเอง”

ถ้าต้องติดคุก ใครจะดูแลลูก

สิ่งที่วรรณภากังวลที่สุดหากจะต้องสูญเสียอิสรภาพและก้าวเท้าเข้าเรือนจำอีกครั้ง ก็คือ ‘ลูกชายทั้งสองคน’ วรรณภาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวมานาน 10 กว่าปีแล้ว ค่าใช้จ่ายทุกอย่างในครอบครัวเป็นหน้าที่ของเธอที่ต้องรับผิดชอบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าห้อง ค่าเล่าเรียนของลูก ค่าน้ำ ค่าไฟ ฯลฯ หากต้องจากลูกไป เธอกังวลอย่างยิ่งว่าแล้วใครจะแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเหล่านี้เพื่อให้ลูกของเธอทั้งสองอยู่รอดต่อไปได้

ความกังวลต่ออนาคตอันสิ้นหวัง ทำให้เธอเดินทางไปฝากฝังลูกชายคนเล็กกับแม่ของตัวเองที่ต่างจังหวัด และนั่นทำให้ลูกคนเล็กจะไม่ได้เรียนหนังสืออีกต่อไป เพราะแม่และพ่อของวรรณภาแก่ตัวมากแล้ว ไม่มีกำลังที่จะส่งเสียลูกของวรรณภาให้ได้ร่ำเรียนได้ 

ส่วนลูกชายคนโตเลือกจะอยู่รอวรรณภายังห้องเช่าห้องเดิมที่สามแม่ลูกเคยอยู่ด้วยกันมานานหลายปีต่อไป โดยระหว่างนี้เขาบอกแม่ว่าจะทำงานเก็บเงินเพื่อรอวันที่แม่ได้ถูกปล่อยตัว 

“วรรณภาบอกลูกคนเล็กว่า หนู เดี๋ยวแม่จะต้องไปติดคุก 1 ปีนะ แป๊บเดียว เดี๋ยวแม่กลับมา”

“เขาบอกกับวรรณนภาว่า ‘หนูไม่อยากให้แม่ไปเลย’ เราก็บอกว่าไม่ไปไม่ได้หรอกลูก, ส่วนลูกชายคนโตเขาเริ่มทำงานเป็นไรเดอร์ขับรถรับส่งอาหารอยู่ ถึงแม้เขาจะอายุ 18 แล้ว แต่ก็เพิ่ง 18 ได้ไม่กี่เดือนเอง เขาบอกว่าจะรอแม่อยู่ที่ห้องเช่าเหมือนเดิม เพราะกลัวแม่ออกมาแล้วไม่เจอใคร…”

“ลูกคนโตถึงเขาจะ 18 แล้ว แต่ถ้าวันไหนเขาเกิดไม่สบาย ไปขับรถส่งอาหารไม่ได้ แล้วเขาจะเอาเงินจากตรงไหนมาจ่ายค่าห้อง มาเป็นค่าข้าว เราก็คิดตลอด คนเป็นแม่ทรมานใจแสนสาหัสที่สุด คือเรื่อง ‘ลูก’ นี่แหละ ไม่ได้มีอะไรมากหรอกชีวิตเรา ห่วงแต่ลูก”

“ถ้าวรรณภาไม่อยู่ ลูกวรรณภาจะอยู่ยังไง ถ้าลูกติดยา ติดเพื่อนไม่ดี เพราะไม่มีใครดูแลเขา ใครจะรับผิดชอบ ศาลจะรับผิดชอบไหม เด็กเคยมีผู้ปกครองดูแล เขาเคยปรึกษาแม่เขา เขาจะอยู่คนเดียวได้ยังไง”

แค่เสื้อ คุณกลัวมากเลยเหรอ?  

“มันรุนแรงมากเลยเหรอ แค่เสื้อตัวเดียวคุณกลัวมากเลยเหรอ สงสัยมากเลยว่าเสื้อตัวนี้มันไปทำอะไรให้ใคร สาระสำคัญคือเป็นแค่การพูดถึงชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกว่าเดิม เขาไม่ได้ไปเชิญชวนให้ไปฆ่าใครหรือไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครเลย

“แต่มาบอกว่าเสื้อตัวนี้เป็นทรราชแผ่นดิน มันแรงมากเลยนะ เราโดนตั้งข้อหาอั้งยี่ ยุยงปลุกปั่น มันรุนแรงมากนะ แค่กับเสื้อตัวเดียว แค่เสื้อตัวเดียวถึงกับเป็นอั้งยี่ เป็นกบฏเลยเหรอ 

“ทำไมต้องมาแยกเรากับลูกด้วย ถ้าเด็กมีพ่อดูแลก็ว่าไปอย่าง แต่นี่เราอยู่กันแค่สามคนแม่ลูก

“พูดแล้วท้อใจ ยิ่งพูดยิ่งท้อ” (ถอนหายใจ)

“ชีวิตที่ผ่านมาคิดว่า ความยุติธรรมถูกต้องเสมอ ศาลต้องยุติธรรม แต่ไม่เลย เราคิดผิด เราคิดผิดมาตลอด…”

“ตั้งแต่เราไปสัมผัสคุกมาระหว่างรอศาลฎีกาให้ประกัน เราเจอแต่คนจนในคุก รู้เลยว่ามีแค่คนรวย คนมีเงินเท่านั้นที่จะรอดไปได้, ส่วนวรรณภาเป็นคนจนก็ต้องไปติดคุก…” 

ย้อนอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

อุทธรณ์ยืน! ลงโทษ 4 ปชช. ข้อหา “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา คดีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำสหพันธรัฐไท แต่ยกฟ้องข้อหา “ยุยงปลุกปั่น”

บันทึกสังเกตการณ์ในวันที่ 4 จำเลย คดี “สหพันธรัฐไท” ต้องเข้าเรือนจำ ก่อนศาลฎีกาไม่ให้ประกัน

ย้อนอ่านรายงาน 9 ปัญหาที่ผู้ถูกสั่งติด EM เผชิญ

X