ศาลอาญาไม่ให้ประกัน “ทัตพงศ์” กลับเข้าเรือนจำอีกครั้งหลังอัยการยื่นฟ้อง ขณะให้ประกัน “จักรี” ระหว่างอุทธรณ์ ชี้ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี

1 มี.ค. 2566 ที่ศาลอาญา มีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “จักรี” (สงวนนามสกุล) ในข้อหามีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จากกรณีเข้าร่วมม็อบทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 โดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ ขณะเดียวกันคดีของ “แน็ก” ทัตพงศ์ เขียวขาว ที่อัยการยื่นฟ้องต่อศาลในข้อหาเดียวกันนี้ จากการเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 ศาลไม่ให้ประกันระหว่างพิจารณาคดี ทำให้แน็กต้องกลับเข้าเรือนจำอีกครั้ง หลังได้ประกันไม่ถึง 1 เดือน

ศาลอาญาพิพากษา “จักรี” ลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีพกระเบิดปิงปองเข้าร่วมชุมนุม

ในคดีของจักรี อดีตทหารปลดประจำการวัย 34 ปี เขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดินแดง จับกุม ในวันที่ 16 ก.ย. 2564 พร้อมระเบิดปิงปองจำนวน 6 ลูก ชั้นจับกุมและสอบสวนจักรีให้การรับสารภาพ และถูกฝากขังรวม 84 วัน โดยศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2564 เนื่องจากครบกำหนดฝากขัง แต่อัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้อง ก่อนที่อัยการจะยื่นฟ้องในอีก 1 เดือนต่อมา อย่างไรก็ตาม ในชั้นพิจารณาศาลอนุญาตให้ประกันจักรีโดยเรียกหลักประกันเป็นเงินจำนวน 100,000 บาท 

พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 บรรยายฟ้องคดีนี้ในข้อหามีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย กล่าวถึงพฤติการณ์ของจำเลยโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564 จักรีได้มีวัตถุระเบิด (ระเบิดปิฝปอง) ภายในบรรจุสารระเบิดแรงต่ำ จำนวน 6 ลูก ซึ่งอยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ด้วยการขว้าง ปา หรือกระทบ และเมื่อระเบิดขึ้นสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บ หากถูกอวัยวะสำคัญอาจทำอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ หรือทำอัตรายต่อวัตถุได้ในระยะไม่เกิน 1 เมตร อันเป็นวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ เป็นการทำผิดกฎหมาย พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55

ชั้นพิจารณาจักรีให้การรับสารภาพเช่นกัน โดยศาลได้มีคำพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา 

ต่อมา ในช่วงบ่ายทนายความได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอประกันตัวทันที จากนั้นเวลา 16.35 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันจักรีในระหว่างอุทธรณ์ ระบุในคำสั่งว่า จำเลยเคยได้รับการปล่อยชั่วคราวมาก่อน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี จึงอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ โดยมีหลักประกันในวงเงิน 100,000 บาท โดยใช้เงินประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์

ทัตพงศ์ไม่ได้ประกัน หลังอัยการยื่นฟ้องคดี และเพิ่งได้รับการปล่อยตัวเหตุครบฝากขังไปเพียง 3 อาทิตย์ 

วันเดียวกัน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง แน็ก — ทัตพงศ์ เขียวขาว หนุ่มวัย 25 ปี ซึ่งถูกจับกุมและแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564 โดยก่อนหน้านี้เขาถูกฝากขัง และศาลไม่อนุญาตให้ประกันระหว่างสอบสวนเรื่อยมา จนครบฝากขัง 84 วัน แต่อัยการยังทำสำนวนฟ้องไม่เสร็จ ทัตพงศ์จึงได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566

พนักงานอัยการยื่นฟ้องทัตพงศ์ในข้อหา “ร่วมกันมีหรือใช้วัตถุระเบิดที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง, ร่วมกันมียุทธภัณฑ์ที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และร่วมกันทําให้เกิดระเบิด จนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลหรือทรัพย์ของผู้อื่น” 

อัยการบรรยายฟ้องว่า วันที่ 21 พ.ย. 2564 จำเลยและพวกได้มีระเบิดปิงปอง จำนวน 26 ลูก เป็นสารระเบิดแรงต่ำ ซึ่งอยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ด้วยการขว้าง ปา หรือกระทบ และเมื่อระเบิดขึ้นสามารถทำอันตรายต่อชีวิตและร่างกายได้ อีกทั้งเป็นยุทธภัณฑ์ที่ไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ เป็นการผิดกฎหมาย ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 55 และ พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530 

อัยการบรรยายฟ้องต่อไปว่า จำเลยกับพวกได้ใช้วัตถุระเบิดดังกล่าวจำนวน 9 ลูก ขว้างปาไปที่ถนนราชปรารภ จนทำให้เกิดระเบิด ขณะที่มีประชาชนสัญจรผ่านไปมาจนน่าจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต หรือทรัพย์สินของผู้อื่น ทัตพงศ์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน 

ต่อมา ภายหลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันทัตพงศ์ในชั้นพิจารณาคดี ระบุใจความสำคัญว่า ในคดีนี้จำเลยไมไ่ด้กระทำผิดตามฟ้อง และได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เป็นคดีที่จำเลยมีหนทางจะต่อสู้ได้ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

อีกทั้งจำเลยได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตลอด ทั้งในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยต่อสู้ขัดขืนเจ้าพนักงานตำรวจหรือมีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด ภายหลังการได้รับการปล่อยตัวในชั้นฝากขัง เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2566 จำเลยยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองได้แล้วว่าไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และเพื่อความสะดวกในการติดตามตัว ก็ได้เข้าแจ้งกับตำรวจว่าได้เปลี่ยนภูมิลำเนาที่อยู่ปัจจุบันให้เจ้าหน้าที่ทราบแล้ว 

และในวันที่ 23 ก.พ. 2566 จำเลยได้เข้าพบกับพนักงานสอบสวนด้วยตนเอง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการออกหมายเรียก เนื่องจากจำเลยต้องการให้เจ้าหน้าที่ทราบถึงความบริสุทธิ์ใจว่าจะไม่หลบหนี และไม่ได้กระทำผิดต่อกฎหมาย พร้อมที่จะอยู่ในกระบวนการยุติธรรม จึงได้เดินทางไปให้ปากคำเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนด้วยตนอง

ต่อมา ในเวลา 16.19 น. ศาลอาญาได้มีคำสั่งไม่ให้ประกันทัตพงศ์ ระบุคำสั่งว่า “กรณีการกระทำที่ถูกกล่าวหา เป็นความผิดร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เป็นการกระทำเกี่ยวกับวัตถุระเบิดที่ไม่สามารถออกใบอนุญาต ทำให้เกิดระเบิดในถนนสาธารณะกลางเมือง อันอาจเป็นอันตรายแก่ประชาชนและทรัพย์สินได้ ซึ่งเป็นภัยร้ายแรงมาก หากให้ปล่อยชั่วคราว อาจหลบหนีได้ จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง” 

ผลของคำสั่งในวันที่ 1 มี.ค. 2566 ทำให้ทัตพงศ์ต้องกลับเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที และทำให้มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดี และรอฟังคำสั่งประกันตัวเพิ่มเป็น 4 รายแล้ว

น่าสังเกตว่า ในวันเดียวกันและในคดีเกี่ยวกับระเบิดเช่นกัน ศาลอาญามีคำสั่งให้ประกันระหว่างอุทธรณ์จำเลยในคดีที่มีคำพิพากษาจำคุกแล้ว  แต่กลับไม่ให้ประกันจำเลยในคดีที่อัยการเพิ่งยื่นฟ้อง ยังไม่มีการรับฟังพยานหลักฐานจากฝ่ายจำเลย ทั้งที่จำเลยทั้งสองไม่มีพฤติการณ์หลบหนีเช่นเดียวกัน 

X