เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 ที่ศาลอาญา รัชดา ทนายความเข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง 7 ราย ได้แก่ อาร์ม วัชรพล, ต้อม จตุพล, แบงค์ ณัฐพล และ เก่ง พลพล นักกิจกรรมทะลุแก๊ส ในคดีที่มีเหตุรถยนต์กระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ ในการชุมนุม “ราษฎรเดินไล่ตู่” เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 นอกจากนี้ ทนายความยังได้ยื่นขอประกัน แน็ก ทัตพงศ์, คทาธร และ คงเพชร (สงวนนามสกุล) ในคดีถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด
.
4 ‘พล’ เมืองดินแดง ที่ยังคงถูกคุมขังข้ามปี แม้อัยการไม่คัดค้านการประกัน และจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี แต่ศาลระบุคำสั่งเดิมเรื่อยมา “ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม”
ในคดีนี้ วัชรพลและพวกรวม 4 คน ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากเหตุการณ์ที่มีรถยนต์กระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ ในการชุมนุม “ราษฎรเดินไล่ตู่” วัชรพลกับพวกทยอยถูกจับกุมและไม่ได้รับการประกันตัวเรื่อยมาตั้งแต่ช่วงเดือนมิ.ย. 2565 และคดีอยู่ระหว่างรอการสืบพยานที่ศาลอาญาในวันที่ 25-26 เม.ย. 2566 นี้
ครั้งนี้ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันจำเลยทั้ง 4 ราย ปรากฏข้อเท็จจริงหลายประการที่ศาลควรพิจารณาคำร้องขอประกันดังกล่าว โดยมีใจความสำคัญ สรุปได้ว่า ในคดีนี้จำเลยทั้ง 4 รายประสงค์ยื่นหลักทรัพย์ประกันในระหว่างพิจารณาคดีเป็นเงินสด จำนวนคนละ 100,000 บาท รวม 400,000 บาท
อีกทั้ง คดีนี้พนักงานอัยการโจทก์ ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยทั้งสี่ กรณีดังกล่าวจึงสามารถเป็นเหตุผลให้สนับสนุนดุลยพินิจของศาล ให้เชื่อได้ว่าจำเลยทั้งหมดไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี และไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นหรือกระทำความผิดซ้ำแต่อย่างใด
ในคดีนี้ จำเลยทั้งสี่ถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 7 เดือนแล้ว ได้รับความทุกข์ทรมานทั้งทางร่ายกายและจิตใจ จากการที่ต้องถูกคุมขังด้วยอายุยังน้อยและมีภาระหน้าที่ความรับผิดชอบต่อครอบครัว การที่ศาลสั่งไม่อนุญาตให้ประกันมาโดยตลอด โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยทั้งหมดเป็นการกระทำที่ร้ายแรง มีอัตราโทษสูง
การมีคำสั่งในลักษณะดังกล่าวของศาล ไม่ต่างจากการพิพากษาไปแล้วว่าจำเลยได้กระทำผิดจริง แม้ในคดีนี้จะยังไม่ได้มีการสืบพยานแต่อย่างใด จากเหตุผลข้างต้นที่กล่าวมา ทำให้การถูกคุมขังอย่างไม่ทราบชะตากรรมของจำเลย ไม่ต่างจากการบีบบังคับให้จำเลยยอมรับสารภาพ เพื่อที่การคุมขังอันยาวนานจะยุติลงได้เสียที
ต่อมาเวลา 15.53 น. ศาลอาญายังคงคำสั่งไม่ให้ประกันตัว ระบุ “ศาลเคยไม่อนุญาตหลายครั้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ทำให้วัชรพล, จตุพล, ณัฐพล และพลพล ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป ซึ่งจนถึงวันนี้ (19 ม.ค.2566) พวกเขาถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลานานถึง 200 กว่าวันแล้ว
คทาธร – คงเพชร : สองผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ถูกขังในระหว่างพิจารณาคดี ยาวนานที่สุดของปี 2565
ในคดีนี้ ‘คทาธร และ คงเพชร (สงวนนามสกุล)’ จำเลยทั้งสองคนมีความประสงค์ที่จะยื่นหลักทรัพย์ประกัน เป็นเงินสดจำนวนคนละ 200,000 บาท และยินยอมให้ติดอุปกรณ์ติดตามตัว หรือ กำไล EM ตลอดจนขอเสนอบุคคลที่น่าเชื่อถือที่จะสามารถกำกับดูแลจำเลยทั้งสองคนให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลได้อย่างเข้มงวด ทั้งหมดนี้เป็นหลักประกันที่น่าเชื่อถือได้ว่าหากจำเลยทั้งสองได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว จะไม่หลบหนีหรือก่ออันตรายประการอื่นได้
อีกทั้ง จำเลยทั้งสองได้รับสารภาพตามคำฟ้องของอัยการไปบางประการแล้ว นอกเสียจากพฤติการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการจับกุมจำเลยทั้งสองคนในคดีนี้ อันเป็นเหตุผลที่ศาลใช้ดุลยพินิจไม่อนุญาตให้ประกัน ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้อง จึงประสงค์ที่จะได้รับการประกันตัว เพื่อออกมาต่อสู้ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
นอกจากนี้ จำเลยทั้งสองเป็นเพียงบุคคลธรรมดา โดยคทาธรประกอบอาชีพรับจ้าง และคงเพชรยังคงเป็นเพียงนักศึกษา ไม่มีอิทธิพลที่จะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานใดๆ ของโจทก์ได้ ตลอดจนพยานหลักฐานทั้งหมดในคดีนี้ก็ถูกรวบรวมอยู่ในความดูแลของโจทก์แล้วทั้งสิ้น
ตามความในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 ที่ระบุว่า ‘การคุมขังจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี’ จำเลยทั้งสองยังคงมุ่งหวังว่าศาลจะใช้ดุลยพินิจที่จะให้ประกันตัวและรับรองสิทธิดังกล่าวของจำเลยในการประกันตัวในคดีอาญา ครั้งนี้ด้วย
เวลา 16.11 น. ศาลอาญายังคงความหนักแน่นของคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุ “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการแห่งคดีแล้ว การกระทำตามที่ถูกฟ้องมีลักษณะร้ายแรง ศาลนี้และศาลอุธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 2 มาแล้ว กรณียังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”
คทาธร และคงเพชร ยังคงอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ซึ่งถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลาร่วม 284 วันแล้ว โดยยังรอคอยการนัดสืบพยานที่ศาลอาญา ในวันที่ 7 มี.ค. 2566 นี้
ชวนรู้จักต๊ะ >>> อย่าลืม “ต๊ะ” คทาธร: หนึ่งในผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดในปี 2565
ชวนรู้จักเพชร >>> อย่าลืม “เพชร” คงเพชร: อีกหนึ่งผู้ต้องขังคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังยาวนานที่สุดในปี 2565
แน็ก — ทัตพงศ์: ประสงค์ได้รับการประกันตัว หากศาลยังคงคำสั่งเดิม ไม่อาจทำให้เขาออกมาหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเองได้
ในคำร้องที่ทนายความยื่นขอประกันตัว “แน็ก” — ทัตพงศ์ เขียวขาว ปรากฏความประสงค์ที่จะวางเงินสดเป็นหลักทรัพย์ประกันจำนวน 100,000 บาท และยินยอมติดอุปกรณ์ติดตามตัว (EM) ตลอดจนขอเสนอให้ศาลแต่งตั้งบุคคลที่น่าเชื่อถือให้สามารถกำกับดูแลผู้ต้องหาหากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว ว่าผู้ต้องหาจะไม่เข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือไปก่ออันตรายประการอื่น
ในคดีนี้ แน็กถูกจับกุมเนื่องจากเดินทางผ่านด่านตรวจเช็กประวัติ ก่อนเข้าเส้นทางรักษาความปลอดภัยของการประชุม APEC เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 2565 และถูกนำตัวไปแจ้งข้อกล่าวหาเกี่ยวเนื่องกับการครอบครองวัตถุระเบิดและยุทธภัณฑ์ในช่วงการชุมนุมของทะลุแก๊ส บริเวณถนนราชปรารภ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2564
พฤติการณ์ต่างๆ ในคดีนี้ ปรากฏเพียงข้อกล่าวหาตามคำร้องขอฝากขังจากพนักงานสอบสวน ผู้กล่าวหาเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ไม่ได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาโดยศาลว่าเป็นความผิดหรือไม่ คดีนี้จึงมีปัญหาทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย
การที่ผู้ต้องหาไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว จะทำให้ผู้ต้องหาไม่สามารถหาพยานหลักฐานมาเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองหรือพบกับทนายความเพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
อีกทั้ง แน็ก ในฐานะผู้ต้องหายังเป็นเพียงบุคคลธรรมดาที่ประกอบอาชีพรับจ้าง ค้าขาย มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน จึงสามารถติดต่อหาตัวได้ง่าย ผู้ต้องหาจึงไม่มีอิทธิพล หรือมีอำนาจกระทำการใดๆ ที่อาจก่อเหตุอันตรายและไม่มีความสามารถที่จะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้
อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ศาลมีความเห็นว่าสามารถพิจารณาให้ประกันตัวผู้ต้องหาได้ ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขใดๆ ที่จะให้ผู้ต้องหาปฏิบัติตาม เพื่อป้องกันการหลบหนีหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
ในเวลา 15.15 น. ศาลอาญายังคงคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว ระบุคำสั่ง “ศาลนี้เคยสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาในระหว่างสอบสวน โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีในชั้นนี้ ยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”
อ่านบันทึกเยี่ยมล่าสุดของแน็ก — บันทึกเยี่ยม: อัพเดทชีวิตผู้ต้องขัง 8 รายถูกขังนานเกิน 200 วัน อีกครึ่งถูกขังเกือบ 300 วันแล้ว
ผลของคำสั่งทำให้แน็กถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต่อไป โดยเขาถูกฝากขัง และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน รวมระยะเวลา 62 วันแล้ว