ยื่นประกันตัวต่อเนื่อง แต่ศาลยังคงไม่ให้ประกันผู้ต้องขังคดีการเมือง 9 ราย ส่วนของสมบัติ-อุกฤษฏ์-สิทธิโชค ส่งศาลอุทธรณ์พิจารณาอีกครั้ง

ตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ม.ค. 2566 ทนายความเข้ายื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง 7 ราย ได้แก่ อาร์ม วัชรพล, ต้อม จตุพล, แบงค์ ณัฐพล และ เก่ง พลพล  นักกิจกรรมทะลุแก๊ส ในคดีที่มีเหตุรถยนต์กระบะตำรวจเกิดเพลิงไหม้ ในการชุมนุม “ราษฎรเดินไล่ตู่” เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2565 นอกจากนี้ ทนายความยังได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว แน็ก ทัตพงศ์, คทาธร และ คงเพชร (สงวนนามสกุล) ในคดีถูกกล่าวหาเกี่ยวกับการครอบครองวัตถุระเบิด

ศาลชั้นต้นไม่ให้ประกันผู้ต้องขังทั้ง 7 รายมาอย่างต่อเนื่อง อ้างว่าเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง เชื่อว่าหากให้ประกันอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันตรายอื่น แม้อัยการไม่คัดค้านการประกัน จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งต่อมาศาลอุทธรณ์ชี้คำสั่งศาลชั้นต้นชอบแล้ว 

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2566 ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันจำเลยทั้ง 7 ราย ปรากฏข้อเท็จจริงหลายประการที่ศาลควรพิจารณาคำร้องขอประกันดังกล่าว โดยมีใจความสำคัญ สรุปได้ว่า จำเลยทั้งหมดประสงค์ยื่นหลักทรัพย์ประกันในระหว่างพิจารณาคดีเป็นเงินสดจำนวนคนละหลักแสนบาท ในทุกคดี แต่ศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวทั้งสี่คน ระบุว่า “ศาลเคยไม่อนุญาตหลายครั้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง”

.

ทนายยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกัน ขอต่อสู้ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

วันที่ 21 ม.ค. 2566 ทนายความจึงอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ประกันผู้ต้องขังทั้ง 7 ราย ทั้งในประเด็นข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนี้

ประเด็นที่ 1 ในคดีของ 4 ทะลุแก๊ส จำเลยและโจทก์ได้ตรวจพยานหลักฐานของแต่ละฝ่าย และได้ส่งพยานหลักฐานทั้งหมดต่อศาลเสร็จสิ้นแล้ว จําเลยจึงไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานและก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดําเนินคดีในศาลได้

นอกจากนี้ ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยในระหว่างสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา เมื่อปัจจุบันพยานวัตถุและพยานเอกสารทั้งหมดล้วนถูกรวบรวมไว้โดยโจทก์และยื่นส่งเสนอต่อศาลและให้คู่ความได้ตรวจสอบแล้ว หากได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว จำเลยย่อมไม่สามารถเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดําเนินคดีในศาลได้

ประเด็นที่ 2 จําเลยทั้งหมดไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทําความผิด และไม่เคยต้องโทษในคดีอาญาใด ๆ มาก่อน จึงไม่อาจไปก่ออันตรายประการอื่นได้ ตลอดจนจําเลยทั้งหมดเป็นผู้มีภูมิลําเนาถิ่นที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน และยินยอมให้ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) เพื่อรับรองให้ศาลมั่นใจว่าจําเลยจะไม่หลบหนี

การที่ศาลอาญามีคําสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจําเลยมาโดยตลอด โดยเห็นว่าการกระทําของจําเลยตามที่ถูกกล่าวหาเป็นข้อหาร้ายแรงมีอัตราโทษสูงมีลักษณะร่วมกันกระทําการโดยใช้ความรุนแรงในที่สาธารณะและกระทําต่อทรัพย์สินของทางราชการ เชื่อว่าหากให้ปล่อยชั่วคราวไปจําเลยอาจหลบหนีหรือไปก่อภยันตรายอื่นได้นั้น ไม่ต่างจากการที่ศาลอาญาได้พิพากษาไปแล้วว่าจําเลยได้กระทําความผิดจริง ทั้งที่ยังมิได้มีการสืบพยาน

อีกทั้ง พนักงานอัยการโจทก์ก็ไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจําเลย โดยให้อยู่ในดุลพินิจของศาล กรณีข้างต้นจึงเป็นเหตุผลสนับสนุนที่ทําให้ศาลเชื่อได้ว่าจําเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไม่มีพฤติการณ์ที่จะไปก่อเหตุร้ายประการอื่นหรือกระทําความผิดซ้ำ

ประเด็นที่ 3 แม้ความหนักเบาแห่งข้อหาจะเป็นข้อหนึ่งที่นำมาพิจารณาประกอบคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวได้ ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 (1) แต่มิใช่เหตุที่ศาลอาญาต้องนํามาพิจารณาในการสั่งให้ประกันหรือไม่ให้ประกันตาม มาตรา 108/1 

แม้การกระทําของจําเลยตามที่ถูกกล่าวหา ศาลอาญาจะเห็นว่าเป็นข้อหาร้ายแรง มีอัตราโทษสูง (โทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี) แต่เมื่อพิจารณากับคดีอาญาทางการเมืองอื่นๆ เช่น คดีหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ที่มีอัตราโทษต้องระวางโทษจําคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี จะพบว่าคดีของทั้ง 7 ราย เป็นคดีที่มีอัตราโทษไม่สูง และแม้ความหนักเบาแห่งข้อหาจะเป็นข้อหนึ่งที่นำมาพิจารณาประกอบคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวได้ ตามป.วิ.อ. มาตรา 108 (1) แต่มิใช่เหตุที่ศาลอาญาต้องนํามาพิจารณาในการสั่งให้ประกันหรือไม่ให้ประกันตาม มาตรา 108/1 ซึ่งมีเพียงห้าเหตุ 

การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาเชื่อตามคําร้องฝากขังครั้งที่ 1 และขังจําเลยเรื่อยมาทั้งที่จําเลยยังไม่ได้ถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทําความผิด ย่อมขัดหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคําพิพากษาถึงที่สุดตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 29

และวันที่ 23 ม.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหา และพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 7 ราย ในระหว่างพิจารณาและในชั้นสอบสวนมาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่เพียงพอที่จะเปลี่ยนแปลงคำร้องเดิม ให้ยกคำร้อง

ต่อมาในวันที่ 24 ม.ค. 2566 ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องขังคดีทางการเมืองระหว่างพิจารณาคดีอีกครั้ง โดยยื่นขอประกันตัวจำเลยทั้งหมด 11 ราย ที่ศาลอาญา และจำเลยอีก 1 ราย ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ 

เวลา 16.10 น. ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวจำเลย 9 ราย ได้แก่ อาร์ม วัชรพล, ต้อม จตุพล, แบงค์ ณัฐพล และ เก่ง พลพล  นักกิจกรรมทะลุแก๊ส, แน็ก ทัตพงศ์, คทาธร และ คงเพชร (สงวนนามสกุล), พรพจน์ แจ้งกระจ่าง และ เอก (นามสมมติ) (คดีมาตรา 112)  ระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วศาลนี้เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง”

ส่วนกรณีของสมบัติ ทองย้อย, อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล และสิทธิโชค เศรษฐเศวต สามผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แต่อยู่ระหว่างอุทธรณ์คดีนั้น ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาต่อไป ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาอีก 2-3 วัน จึงจะทราบผล

ทั้งนี้หนึ่งในข้อเรียกร้องของ ตะวัน – แบม ที่กำลังอดอาหารและน้ำประท้วงล่วงเข้าวันที่ 7 คือต้องการให้ศาลคืนสิทธิประกันตัวและปล่อยผู้ต้องขังคดีการเมืองทั้งหมด

.

ดูรายชื่อผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาทั้งหมด 

X