อย่าลืม “มาย” ชัยพร: รัฐรุนแรงในวันนั้น มีฉัน ‘การ์ดม็อบ-นักโทษการเมือง’ ในวันนี้     

อย่าลืมฉัน

“มาย” — ชัยพร นักกิจกรรมและการ์ดผู้ชุมนุมอิสระ อายุ 23 ปี หนึ่งในนักกิจกรรมคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลายาวนานที่สุดในรอบปี 2566 พร้อมกับเพื่อนคู่คดี “ธี” ธีรนัย ทั้งสองถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) ซึ่งถูกพบก่อนมีการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ

มาย เด็ก ‘สารพัดช่าง’ กับครอบครัวที่สอนให้ซื่อตรงต่อ ‘ความถูกต้อง’ มาตั้งแต่เด็ก 

ชัยพร ปัจจุบันอายุ 23 ปี จบการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ระดับชั้น ม.6 ก่อนถูกคุมขังในคดีนี้ ประกอบอาชีพรับจ้างติดกล้องวงจรปิดเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวมาก่อน 

มายอาศัยอยู่ที่บ้านย่านบางขุนเทียน ในกรุงเทพฯ มาตั้งแต่เด็ก ครอบครัวของเขามีสมาชิกอยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 คน ได้แก่ พ่อ แม่ พี่ชาย และมาย แม่รับราชการเป็นครู ส่วนพ่อทำธุรกิจบ่อเลี้ยงกุ้งและรับเหมาก่อสร้างเป็นครั้งคราว แต่เมื่อไม่นานมานี้พ่อของมายต้องเข้ารับการผ่าตัด ‘เนื้องอกในดวงตา’ จึงต้องพักฟื้นและไม่ได้ทำงานเหมือนแต่ก่อน 

พ่อและแม่ของมายเป็นคนต่างจังหวัดทั้งคู่ แต่ได้ตกลงสร้างครอบครัวด้วยกันอยู่ที่กรุงเทพฯ มายเล่าว่าเขาเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่อบอุ่น พ่อกับแม่แทบจะไม่ทะเลาะกันเลย ส่วนพี่ชายก็รักน้องและคอยปกป้องเสมอ มายชอบที่จะพูดคุยแลกเปลี่ยนเรื่องการเมืองกับพี่ชายอยู่บ่อยๆ ด้วย ตั้งแต่จำความได้ ครอบครัวจะคอยปลูกฝังเรื่อง ‘ความถูกต้อง’ อยู่เสมอ ผิดก็ต้องบอกว่าผิด พ่อแม่ไม่เคยโกหกเพื่อเอาใจลูกเลยสักครั้ง

“มายเป็นเด็กรักอิสระ ชอบทำงาน แต่ไม่ชอบเป็นลูกจ้างใคร ชอบเป็นนายตัวเอง พ่อของมายเคยทำงานที่โรงกลึงเหล็กมาก่อน น้องมายเลยมีความสามารถหลายอย่าง ทั้งเชื่อมเหล็ก อ็อกเหล็กได้ ทำงานไม้ หรืองานไฟฟ้าก็ยังได้ มายเป็นคนรักสัตว์มาก รักเพื่อน มีน้ำใจ คอยช่วยเหลือเพื่อน เขารักเพื่อนมาก”

แม่พูดถึงมาย

หลังศาลพิพากษาจำคุกสูงถึง 6 ปี ครอบครัวของมายรู้สึกตกใจอย่างมาก ว่าเหตุใดศาลถึงได้สั่งลงโทษหนักหนาขนาดนี้ มิหนำซ้ำศาลยังไม่ได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาอีกด้วย 

“ถ้าไม่มีเรื่องร้ายแรงจริงๆ ครอบครัวเราจะไม่ร้องไห้กัน แต่ตอนผมถูกขังอยู่ครั้งหนึ่งแล้วพี่ชายเข้ามาเยี่ยม แค่ยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาคุยเท่านั้น พี่ชายผมก็ร้องไห้ทันทีเลย ส่วนผมกลั้นไม่ไหวก็เลยร้องไห้ตาม จริงๆ ผมตั้งใจจะไม่ร้อง เพราะไม่อยากให้คนข้างนอกเป็นห่วงมาก …”

“ถ้าคนข้างนอกไม่เข้มแข็ง คนข้างในจะอยู่ได้ยังไง”

ความรุนแรงโดยรัฐ นำทางมายสู่ถนนสายนักเคลื่อนไหวและ ‘การ์ดผู้ชุมนุม’ 

เมื่อช่วงปี 2563 สถานการณ์การเมืองไทยในขณะนั้นร้อนแรงเป็นอย่างมาก ประชาชนต่างไม่พอใจกับคำวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ของศาลรัฐธรรมนูญ ก่อเกิดเป็นการประท้วงกระแสสูง กระจายอยู่เกือบทั่วประเทศ และกลายเป็นจุดตั้งต้นของการเคลื่อนไหวระลอกใหม่นี้จนถึงปัจจุบัน

มายเองได้เพียงติดตามสถานการณ์ผ่านทางโซเซียล ทว่า ‘จุดเปลี่ยน’ เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่สี่แยกปทุมวัน ในการชุมนุมของคณะราษฎร เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2563 ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้รถฉีดแรงดันสูงฉีดน้ำผสมสารเคมีและแก๊สน้ำตาใส่ประชาชนเป็นครั้งแรก จากเหตุการณ์นั้นมายตัดสินใจรวมกลุ่มกับเพื่อนออกไปช่วยเหลือผู้ชุมนุมในฐานะ “การ์ด” เป็นครั้งแรก

มาย (ซ้ายมือ) ขณะรับหน้าที่เป็นการ์ดผู้ชุมนุมในการชุมนุมครั้งหนึ่ง

“มันเกินไป เขาเอาน้ำใส่หัวรถดับเพลิงมาฉีด คนโดนจังๆ ต้านไม่ไหวหรอก ประชาชนไม่มีอาวุธอะไรเลย”

อีกเหตุผลหนึ่งที่มายเลือกออกไปเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเขาเห็นความเดือดร้อนของคนในสังคม อย่างเช่นความเดือดร้อนของเกษตรกรที่ต้องขายพืชผลในราคาต่ำมาก ไม่ว่าจะเป็นข้าว ยางพารา ผลไม้ ฯลฯ 

“อยากช่วยให้เกษตรกรลืมตาอ้าปากได้ นั่นคือความฝันของผม”

มายเข้าร่วมกับเพื่อนกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย รับทำหน้าที่เป็นการ์ดดูแลผู้ชุมนุม ต่อมา กลุ่มดังกล่าวได้ผนวกเข้ากับกลุ่มราษฎร และมายยังคงทำหน้าที่เป็นการ์ดเรื่อยมา บทบาทหลักคือการคอยสอดส่องภาพรวม ไม่ให้มีมือที่ 3 หรือผู้ไม่หวังดีเข้ามาสร้างสถานการณ์ในการชุมนุม 

“ครั้งหนึ่งมีม็อบหน้าเรือนจำ มีตำรวจนอกเครื่องแบบคนหนึ่งเหน็บปืนเข้ามาในที่ชุมนุม สภาพเมาแอ๋เลย พวกเราที่เป็นการ์ดก็เลยเข้าไปยึดปืน หรือม็อบครั้งหนึ่งก็เคยมีคนปาระเบิดใส่ เวลามีการชุมนุมมักจะมีคนเข้ามาป่วนอยู่เรื่อย เราที่เป็นการ์ดก็ต้องคอยดูแลสอดส่องความปลอดภัยอยู่ตลอด

“พวกผมคิดอย่างเดียวว่า ถ้ามีการสลายการชุมนุมหรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันอะไรก็แล้วแต่ เราต้องเคลียร์พื้นที่ให้ประชาชนได้ออกไปก่อนอย่างปลอดภัย”

ต่อมา มายแยกตัวไปเข้าร่วมกับกลุ่ม “ฟันเฟืองประชาธิปไตย อาชีวะปกป้องประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย”  แต่สุดท้ายมายตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวอิสระ โดยให้เหตุผลว่า กลุ่มนักศึกษาอาชีวะค่อนข้างมีหลายกลุ่มและบางกลุ่มก็เป็นคู่อริกัน ฉะนั้นเมื่อกลุ่มคู่กรณีเจอกันในการชุมนุมก็มักจะมีปากเสียงและเหตุวิวาทกันบ่อยครั้ง ซึ่งมายไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งจึงได้ถอนตัวออกมา แต่ยังคอยอาสาเป็นการ์ดผู้ชุมนุมอิสระ 

ตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมช่วงปี 2563 เรื่อยมาจนถึงปี 2566 นี้ ดูเหมือนว่าเมื่อมีการชุมนุมคนจะออกมาเคลื่อนไหวน้อยลงเรื่อยๆ จากหลายปัจจัย บางกลุ่มที่เคยมีสมาชิกหลักร้อยคน ตอนนี้กลับเหลือเพียงไม่กี่สิบคน หนึ่งในนั้นคือมายที่ยังยืนหยัดอยู่ที่เดิมไม่ไปไหน 

“ผมมีอุดมการณ์ชัดเจนที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและปกป้องผู้ชุมนุมให้ปลอดภัย ที่ผมยังเคลื่อนไหวอยู่ เพราะผมคิดว่าถ้าเรายอมกันหมด แล้วใครจะออกมาสร้างการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศดีขึ้น

“ถ้าผมย้อนเวลากลับไปได้ ผมก็จะทำเหมือนเดิม ออกมาต่อสู้เพื่อประชาชนเหมือนเดิม เพราะถ้ามันสำเร็จ ประชาชนทุกคนจะได้รับผลประโยชน์เหมือนกันหมด ผมรู้ว่ามันแก้ยาก ก็ไม่ได้คิดว่าทุกอย่างจะเปลี่ยนแปลงได้ในครั้งเดียวหรอก แต่มันก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีได้” 

สังคมในฝัน: ยุติความเหลื่อมล้ำ ปฏิรูปการศึกษาเพื่อทุกคน

ในมุมมองของมาย ‘ความเหลื่อมล้ำในสังคม’ เป็นปัญหาสำคัญที่สุดที่ต้องถูกแก้ไข เพราะปัญหานี้มีอยู่ในทุกมิติของสังคมก็ว่าได้ โดยเฉพาะตั้งแต่หลังการรัฐประหารของ คสช. เมื่อปี 2557 เขารู้สึกว่า คนที่รวยอยู่แล้วก็รวยยิ่งขึ้น ส่วนคนที่จนก็ยิ่งจนลงไปกว่าเดิม ‘รวยกระจุก จนกระจาย’ 

สังคมในฝันของมาย ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องรวยเหมือนกันหมด แต่ทุกคนต้องมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานจากรัฐได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน 

“ผมเกลียดเงิน (หัวเราะ) มันเป็นทั้งปัญหาและวิธีการแก้ปัญหาในเวลาเดียวกัน”

‘การศึกษา’ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่มายมองว่าสำคัญและต้องถูกปฏิรูปให้ดีขึ้น ย้อนกลับไปเมื่อช่วงปี 2558 ขณะนั้นมายยังเป็นนักศึกษาอาชีวะและมีโอกาสได้ร่วมแข่งขันสิ่งประดิษฐ์ระดับประเทศ ‘อาชีวะฝีมือชนคนสร้างชาติ’ ทีมของมายคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ถังขยะเซนเซอร์ ที่สามารถเปิด-ปิดได้เองอัตโนมัติ ผลงานชิ้นโบแดงนี้ทำให้มายและเพื่อนได้รับรางวัลรองชนะเลิศ แต่เมื่อการแข่งขันเสร็จสิ้นลง พวกเขากลับไม่มีหนทางที่จะต่อยอดผลลัพธ์ของความพยายามนั้นให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะไม่มีทั้งโอกาสและงบประมาณสนับสนุน  

ชีวิตหลังกรงขัง และความหวังได้อิสรภาพ 

ช่วงแรกของการถูกคุมขัง มายยังคงต้องใส่กำไล EM อยู่ ซึ่งถูกให้ใส่มาตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน ปี 2564 ทำให้เวลาฝึกระเบียบจะถูกกำไล EM กระแทกตรงข้อเท้าเสมอ กลายเป็นอุปสรรคสำคัญอย่างหนึ่งของการใช้ชีวิตในเรือนจำ โดยเจ้าหน้าที่เพิ่งจะทำการถอดออกให้มายหลังเขาถูกคุมขังไปได้ระยะหนึ่งแล้ว

ภาพจากประชาไท

ก่อนถูกดำเนินคดีนี้ มายเพิ่งเรียนจบชั้น ม.6 และตั้งใจว่าจะสมัครเรียนต่อวิทยาลัยอาชีวะแห่งหนึ่งในระดับชั้น ปวส. สาขาช่างไฟฟ้า แต่ตลอดการสู้คดี 2 ปีที่ผ่านมา เขาไม่กล้าสมัครลงเรียนที่สถาบันแห่งใดเลย เพราะคดีความยังคงไม่สิ้นสุด เขากังวลว่าหากต้องติดคุกขึ้นมากลางคัน เงินค่าเทอมและค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเรียนจะกลายเป็นสูญเปล่าไปโดยปริยาย 

นอกจากนี้ การถูกคุมขังในคดีนี้ ทำให้มายต้องหยุดทำงานและสูญเสียรายได้ ก่อนหน้านี้ มายจะแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งจากงานรับจ้างติดตั้งกล้องวงจรปิดไว้จุนเจือครอบครัว ผ่อนมอเตอร์ไซค์ของตัวเอง และช่วยที่บ้านผ่อนจ่ายหนี้ที่เอาที่ดินไปจำนองไว้ ซึ่งต้องผ่อนจ่ายเดือนละ 3,400 บาท   

“การถูกคุมขังทำให้ผมสูญเสียทุกอย่าง แต่เรื่องที่หนักสุดตอนนี้ คงเป็น ‘สภาพจิตใจ’ ผมมีความคิดว่าทำไมต้องมาอยู่ในนี้ทั้งที่ไม่ได้ทำอะไรผิดวนอยู่ในหัวตลอด …”

ความต้องการของมายตอนนี้เหมือนกับผู้ต้องขังคดีการเมืองคนอื่นๆ เขาหวังให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาโดยเร็ว จะได้กลับไปทำงาน สมัครเรียนต่อ และสู้คดีจากข้างนอก ความหวังสูงสุดมายขอให้ศาลพิจารณาลดโทษให้น้อยลง หรือไม่ก็กลับคำพิพากษาให้เป็นรอลงอาญาไปเลย 

“พอเป็นเรื่องการเมือง ผมก็เลยไม่มั่นใจในความยุติธรรมของศาล”

พฤติการณ์คดี: ถูกจับครอบครองระเบิดปิงปอง ก่อนศาลพิพากษาจำคุก 6 ปี

 

ช่วงเดือน ส.ค. จนถึง ต.ค. 2564 มีการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุมอิสระ “ทะลุแก๊ส” เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบจะรายวัน ที่บริเวณบริเวณแยกดินแดง ทำให้พื้นที่ในรัศมีโดยรอบมีการตั้งด่านตรวจและการดูแลความสงบเรียบร้อยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจให้เห็นอยู่หลายจุด  

29 ส.ค. 2564 ตามบันทึกจับกุมระบุว่า เวลาประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับคำสั่งให้ตั้งจุดตรวจด่านความมั่นคง ที่บริเวณหน้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.) ถนนนครสวรรค์ แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต 

ต่อมา เวลาประมาณ 14.30 น. ชัยพรขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยมีธีรนัยนั่งซ้อนท้ายมาด้วย โดยขับมาจากแยกเทวกรรม มุ่งหน้าไปแยกนางเลิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้เรียกให้มีการหยุดรถเพื่อทำการตรวจค้น ก่อนจะพบว่า ในกระเป๋าสะพายของชัยพรมีระเบิดปิงปอง จำนวน 2 ลูก และพบว่าใต้เบาะรถมีระเบิดปิงปองอีกจำนวน 8 ลูก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดไว้เป็นของกลางและควบคุมตัวทั้งสองไปดำเนินคดีที่ สน.นางเลิ้ง 

(แผนที่แสดงตำแหน่งธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ จุดตั้งด่านตรวจที่ชัยพรและธีรนัยถูกจับกุม)

30 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชัยพรและธีรนัยต่อศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังได้ แต่ต่อมาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตามคำร้อง ด้วยหลักทรัพย์คนละ 10,000 บาท พร้อมกับให้ติดกำไล EM  

19 พ.ย. 2564 อัยการยื่นฟ้องชัยพรและธีรนัย 1 ข้อหา ในฐานความผิด “ร่วมกันมีวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ได้ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย” ระบุว่า ระเบิดปิงปองในครอบครองทั้ง 10 ลูกที่ถูกตรวจค้นเจอนั้น อัยการเห็นว่าเป็น ‘ระเบิดแสวงเครื่อง’ อยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้ และสามารถทำอันตรายต่อร่างกายให้ได้รับบาดเจ็บหรือบาดเจ็บสาหัสได้หากถูกอวัยวะสำคัญ อีกทั้งยังสามารถทำอันตรายต่อวัตถุและทรัพย์สินได้ ในระยะไม่เกิน 2 เมตร 

ช่วงเดือน ก.พ. 2566 คดีเข้าสู่การสืบพยาน ศาลได้นัดสืบพยานโจทก์ รวม 2 นัด ในนัดสุดท้ายซึ่งพยานโจทก์ปากสุดท้ายกำลังจะขึ้นเบิกความ ชัยพรและธีรนัยตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ทั้งสองเล่าว่า ก่อนพยานโจทก์ปากสุดท้ายซึ่งเป็นตำรวจจะขึ้นเบิกความ พยานคนดังกล่าวได้เดินมาพูดกับทั้งสองในทำนองว่า

“สู้ต่อ … มันจะไม่เสี่ยงเหรอ รับสารภาพไปเลยสิ คดีแค่นี้เอง เป็นความผิดครั้งแรกด้วย ยังไงศาลก็ให้รอลงอาญา ไม่ติดคุกหรอก”

ตอนนั้นพวกเขาคิดเพียงแต่ว่าถ้ารับสารภาพแล้วก็มีโอกาสที่ศาลจะพิพากษาให้รอการลงโทษเอาไว้ (รอลงอาญา)

15 ก.พ. 2566 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกทั้งสองคนละ 6 ปี แต่ลดกึ่งหนึ่ง เนื่องจากให้การรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 3 ปี ชัยพรและธีรนัยถูกคุมขังมาตั้งแต่วันนั้น โดยศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน แม้จะยื่นประกันตัวไปแล้ว 3 ครั้ง พร้อมกับยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันอีก 2 ครั้งก็ตาม 

14 มิ.ย. 2566 ทนายความยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีของชัยพรและธีรนัยแล้ว พร้อมกับยื่นประกันตัวทั้งสองในวันถัดมาเป็นครั้งล่าสุด ซึ่งศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยกคำร้องเช่นเดิม โดยระบุเหตุผลเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ว่า

“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกคนละ 3 ปี มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ประกอบกับศาลอุทธรณ์เคยไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่ปรากฏเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม …”

X