วันที่ 13 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “จิตรกร” (สงวนนามสกุล) อายุ 23 ปี ในข้อหา “มีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง และออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีเหตุอันควร” สืบเนื่องมาจากการที่จิตรกรถูกจับกุมที่หน้าคอนโดบริเวณดินแดง ขณะเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนเข้าสลายการชุมนุม #ม็อบ6ตุลา64 ในช่วงดึกของวันที่ 6 ต.ค. 2564 และตำรวจอ้างว่าค้นตัวพบระเบิดแสวงเครื่อง (ระเบิดปิงปอง) ในตัวเขา
หลังจิตรกรถูกจับกุม พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังต่อศาลอาญา ซึ่งต่อมาศาลไม่ได้อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้จิตรกรถูกคุมขังตั้งแต่ชั้นสอบสวนไปจนถึงชั้นพิจารณาคดี รวมทั้งสิ้น 149 วัน ก่อนได้รับการประตัวเมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2565 จากการยื่นประกันของทนายความเป็นครั้งที่ 8
คดีนี้ศาลได้ดำเนินการสืบพยานไปเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 ซึ่งเป็นการสืบพยานโจทก์ทั้งวัน รวม 3 ปาก ได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้จับกุม 2 ปาก และเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก โดยฝั่งจำเลยไม่ประสงค์นำพยานเข้าเบิกความแม้แต่ปากเดียว ก่อนนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้
ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ข้อหาครอบครองระเบิด แม้ตรวจไม่พบลายนิ้วมือจำเลย – ยกฟ้องฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ก่อนให้ประกันชั้นอุทธรณ์
วันนี้ เวลา 09.00 น. ศาลออกห้องพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปว่า คดีนี้จำเลยถูกฟ้องใน 2 ข้อหา ข้อหาแรกคือ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนอกเคหะสถานระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลวินิจฉัยว่า ที่พยานโจทก์เบิกความว่า เห็นจำเลยที่ด้านนอกแฟลตดินแดงและจำจำเลยได้ เพราะเคยถูกจับมาหลายคดี แต่กลับตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ไม่เคยรู้จักมาก่อน พยานโจทก์จึงไม่น่าเชื่อถือว่า พบเห็นจำเลยจริง
ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยถูกจับที่บริเวณแฟลตดินแดง ซึ่งเป็นที่ที่มีคนอยู่อาศัย แม้จะมีรั้วรอบหรือไม่ก็ตามก็ถือเป็นเคหสถานในนิยามนี้ด้วย จึงพิพากษายกฟ้องในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกนอกเคหสถานระหว่างเวลา 22.00 – 04.00 น. โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือมีเหตุอันควร
ส่วนฐานความผิด “มีวัตถุระเบิดซึ่งนายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ไว้ในครอบครอง” ศาลเชื่อว่า ที่พยานโจทก์ 2 ปาก เบิกความตรงกันว่า ได้จับกุมจำเลยที่บริเวณแฟลตดินแดง หลังทำการตรวจค้นพบวัตถุระเบิดในกระเป๋ากางเกง หลังทำการตรวจยึดได้ให้จำเลยชี้ระเบิดที่ตรวจยึดมาได้พร้อมถ่ายภาพเป็นหลักฐาน ทั้งจำเลยเองก็ยังเคยถูกดำเนินคดีในลักษณะเดียวกันนี้มาก่อน จำเลยจึงทราบดีว่า การให้ชี้วัตถุระเบิดหมายความว่าอย่างไร
ประกอบกับลักษณะวัตถุระเบิดที่ตรวจยึดและส่งตรวจมีลักษณะตรงกับที่จำเลยชี้ แม้เมื่อส่งวัตถุระเบิดไปตรวจยังกองพิสูจน์หลักฐานจะตรวจไม่พบลายนิ้วมือจำเลย แต่ก็ไม่พบลายนิ้วมือของบุคคลอื่นที่จะทำให้เชื่อได้ว่า ผู้ครอบครองไม่ใช่จำเลย ประกอบกับจำเลยไม่มีพยานนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น จึงน่าเชื่อได้ว่า ระเบิดดังกล่าวเป็นของจำเลย พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิดฯ ลงโทษจำคุก 3 ปี
ภายหลังศาลมีคำพิพากษา ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจิตรกรระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ด้วยหลักทรัพย์ 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยไม่มีเงื่อนไขอื่น
เรื่องที่เกี่ยวข้อง