เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ประวิตร” (สงวนนามสกุล) อายุ 20 ปี กรณีถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันวางเพลิงป้อมตำรวจจราจร บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง ภายหลังการชุมนุม #ม็อบ10สิงหา เมื่อปี 2564
คดีนี้มี พ.ต.ท.ธนศักดิ์ สว่างศรี เป็นผู้กล่าวหา โดยมีมูลเหตุมาจาก การทำกิจกรรม #คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ซึ่งจัดขึ้นโดย ‘กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม’ นัดหมายที่แยกราชประสงค์ ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนไปที่อาคารชิโน-ไทย ทาวเวอร์, บ้านของธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และอาคารคิง พาวเวอร์ ก่อนที่จะยุติกิจกรรมในเวลา 17.06 น. โดยมีการอ่านแถลงการณ์ยืนยันข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560
ต่อมาหลังจากประกาศยุติการชุมนุม มีกลุ่มผู้ชุมนุมบางส่วนไม่ยอมเลิก และได้มีกลุ่มผู้ชุมนุมก่อเหตุ ‘เผาป้อมจราจร’ ที่บริเวณใต้ทางด่วนดินแดงจนได้รับความเสียหาย
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่การขอศาลอาญาออกหมายจับประวิตร และกำลังตำรวจจากกองกำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ได้เข้าจับกุมประวิตรที่บ้านพักใน จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. 2564 ก่อนได้รับการประกันตัวในวันถัดมา จากนั้นเมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 อัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาล
ภาพบรรยากาศกิจกรรม Car Mob 10 ส.ค. 2564 จาก Matichon
อัยการยื่นฟ้อง “ร่วมวางเพลิงทรัพย์ผู้อื่น – สาธารณสมบัติ” และอีก 4 ข้อหา ชี้เสียหายเป็นเงินเกือบ 1 ล้านบาท
อัยการยื่นฟ้องต่อศาลอาญา โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 ประวิตรได้ร่วมชุมนุมทำกิจกรรมทางการเมืองโดยใช้รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะที่บริเวณแยกราชประสงค์ ต่อมาหลังกลุ่มผู้ชุมนุมได้ประกาศยุติการชุมนุมที่บริเวณหน้า King Power จำเลยกับพวกประมาณ 20 คน ไม่ยอมเลิกและร่วมชุมนุมอยู่บริเวณใต้ทางด่วนดินแดง
จากนั้นจำเลยกับพวกได้ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์อาคารคอนกรีตเสริมเหล็กที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมสัญญาณไฟจราจร รวมถึงตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร, โทรทัศน์, วิทยุ, ตู้เย็น, ตู้ทำน้ำเย็น, ชุดกล้องวงจรปิด, เครื่องปรับอากาศ, ถังเก็บน้ำ และอุปกรณ์สำนักงาน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเหตุให้ทรัพย์ดังกล่าวที่อยู่ในป้อมจราจรตำรวจถูกเผาไหม้ได้รับความเสียหาย คิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวน 993,000 บาท
อัยการจึงได้ยื่นฟ้องประวิตร รวม 4 ข้อหา ได้แก่
- ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น
- ร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและเป็นสาธารณสถาน
- ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป ใช้กําลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กําลังประทุษร้าย หรือก่อความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
- ฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
ต่อมา ศาลได้ดำเนินการสืบพยานในช่วงวันที่ 19-20 ม.ค. 2566 โดยสืบพยานโจทก์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจไปได้ประมาณ 5 ปาก โดยในนัดสุดท้ายประวิตรตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
ภาพป้อมจราจรตำรวจใต้ทางด่วนดินแดงถูกเผา จาก Thaipost
ศาลพิพากษาผิดทุกข้อหา ให้จำคุกข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ – วางเพลิงฯ รวม 12 ปี 8 เดือน ก่อนลดเหลือ 6 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา พร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหายกว่า 4 แสนบาท
วันนี้ ณ ห้องพิจารณาที่ 915 ประวิตรเดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับภรรยาและลูกสาว อายุ 4 เดือน จากนั้นเวลา 10.00 น. ศาลได้อ่านคำพิพากษา สามารถสรุปได้ดังนี้
คดีนี้มีพยานโจทก์เบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด ในวันเกิดเหตุ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์นัดหมายการชุมนุม Car Mob ที่แยกราชประสงค์
การชุมนุมในวันดังกล่าวยุติลงในเวลาประมาณ 17.00 น. แต่มีผู้ชุมนุมบางส่วนที่ยังไม่ยอมเลิกไป จากนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมก่อเหตุวางเพลิงทำลายป้อมตำรวจ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถถ่ายภาพไว้ได้ พบว่า ผู้ก่อเหตุเป็นชาย 3 คน คนแรกซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นจำเลยนั้นถือกระดาษลังอยู่ในมือเพื่อสุมไฟให้เกิดเพลิงในป้อมจราจร ส่วนชายอีก 2 ราย ไม่ทราบชื่อและยังไม่สามารถตามตัวมาได้นั้นถือถังน้ำมันเทราดเข้าไปในป้อมตำรวจให้เกิดเพลิงลุกไหม้ขึ้น
จากการสืบสวนพบว่า รถจักรยานยนต์ที่ผู้ก่อเหตุใช้ขับขี่มีป้ายทะเบียนตรงกันกับรถที่จำเลยใช้ขับขี่ และยังพบอีกว่า เฟซบุ๊กส่วนตัวของจำเลยได้โพสต์รูปภาพและเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมในวันเกิดเหตุ เมื่อนำภาพถ่ายของจำเลยเปรียบเทียบกับหลักฐานที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายไว้ได้จึงพบว่ามีลักษณะตรงกับจำเลย
ศาลเห็นว่า จำเลยมีเจตนาวางเพลิงเผาป้อมจราจร ซึ่งไม่ใช่สาธารณสถานแต่อย่างใด แต่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน จำเลยจึงมีความผิดในฐาน “ร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือน อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน”
ส่วนทรัพย์สินอื่นๆ ในป้อมจราจรที่ถูกเผาไหม้เสียหายไปด้วยนั้น ถือว่าจำเลยมีเจตนาเผาทรัพย์สินของผู้อื่นในคราวเดียวกัน
ดังนั้น จำเลยจะต้องชดใช้สินไหมทดแทนตามการกระทำของตนเอง ซึ่งภายหลังเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่า กล้องวงจรปิดและทรัพย์สินอีกหลายอย่างถูกเผาไหม้เสียหายอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถซ่อมแซมให้กลับมาใช้งานใหม่ได้
โดยผู้ร้องได้นำสืบในประเด็นราคาทรัพย์สินที่ถูกเพลิงเผาไหม้ว่า มีค่าเสียหายรวมทั้งสิ้น 533,000 บาท แต่ศาลเห็นว่า ป้อมตำรวจดังกล่าวสร้างมาได้ประมาณ 5 ปีแล้ว และค่าเสียหายดังกล่าวคิดจากราคาที่ซื้อสินค้า ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปย่อมมีค่าเสื่อมราคาตามระยะเวลา การคำนวณราคาค่าเสียหายจึงต้องคิดบนฐานราคาในช่วงเกิดเหตุละเมิด ไม่ใช่คิดจากราคาซื้อเดิม
การที่ผู้ร้องเรียกค่าเสียหายกรณีป้อมจราจรและตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจรถูกเผาไหม้ เป็นเงินรวม 340,000 บาทนั้น ศาลเห็นว่าเหมาะสมแล้ว แต่ค่าเสียหายของทรัพย์สินอื่นที่อยู่ในป้อมจราจรและถูกเผาไหม้ไปด้วยนั้น ศาลเห็นว่าผู้ร้องเรียกค่าเสียหายที่สูงจนเกินไป สมควรกำหนดราคาใหม่เป็นดังนี้
โทรทัศน์ 9,000 บาท, วิทยุสื่อสาร 30,000 บาท, ตู้เย็น 600 บาท, ตู้ทำน้ำเย็น 400 บาท, กล้องวงจรปิด 12,000 บาท, เครื่องปรับอากาศ 21,000 บาท, ถังเก็บน้ำ 2,600 บาท และอุปกรณ์สำนักงาน 13,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 88,600 บาท
จำเลยจึงต้องชดใช้ค่าสินไหมแก่ผู้ร้อง รวมทั้งสิ้น 428,600 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของเงินต้น นับตั้งแต่เกิดเหตุละเมิดในวันที่ 10 ส.ค. 2564 คำนวณไปจนถึงวันที่อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาล คิดเป็นดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 5,460.25 บาท รวมเป็นค่าสินไหมที่จำเลยต้องชดใช้แก่ผู้ร้องทั้งสิ้น 434,060.25 บาท
ศาลเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องทุกข้อหา เป็นความผิดหลายกรรมต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงไป แต่ขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 19 ปีเศษ จึงสมควรให้ลดอัตราส่วนโทษ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 76
ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ให้จำคุก 8 เดือน ส่วนข้อหาอื่นๆ ที่เหลือให้ลงโทษในข้อหาร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งเป็นบทลงโทษที่มีโทษหนักที่สุดเพียงบทเดียว โดยให้จำคุก 12 ปี
จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นเหตุให้บรรเทาโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง ความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงจำคุก 4 เดือน ส่วนฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนฯ คงจำคุก 6 ปี รวมโทษจำคุกทั้งสิ้น 6 ปี 4 เดือน โดยไม่รอลงการลงโทษ
ภายหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ประวิตรถูกใส่กุญแจมือและถูกพาตัวไปคุมขังไว้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล ขณะนายประกันได้ยื่นประกันในชั้นอุทธรณ์ กระทั่งต่อมา เวลาประมาณ 17.20 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องขอประกันให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาสั่ง ประวิตรจึงถูกควบคุมตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังคำสั่ง ซึ่งคาดว่าศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งภายใน 2-3 วันนี้
สำหรับ “ประวิตร” ปัจจุบันอายุ 20 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานขนสินค้าในโรงงานน้ำมันแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ อาศัยอยู่กับแม่ ภรรยา และลูกอีก 2 คน วัย 3 ปี และ 4 เดือน
ประวิตรเป็นหัวหน้าครอบครัว ทำงานหาเงินเพียงคนเดียว มีรายได้จากการทำงานเดือนละ 10,600 บาท ด้านภรรยาไม่ได้ทำงาน เนื่องจากต้องเลี้ยงลูกทั้ง 2 คนที่ยังเล็กอยู่ ส่วนแม่ของประวิตรอายุมากแล้วและเพิ่งเข้ารับการผ่าตัดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังไม่สามารถลุกเดินหรือเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างเป็นปกติ
การที่ประวิตรถูกคุมขังในคดีนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อครอบครัวให้ได้รับความลำบากมากขึ้น โดยภรรยาของประวิตรเล่าว่า แต่ละเดือนนั้นมีค่าใช้จ่ายหลายอย่างในการเลี้ยงดูลูก เฉพาะค่านมผงและค่าผ้าอ้อม ก็ตกเป็นค่าใช้จ่ายกว่า 3,000 บาทแล้ว
การที่ศาลอาญายังไม่มีคำสั่งให้ประกันประวิตรในวันนี้ และประวิตรต้องถูกคุมตัวไปเรือนจำ ทำให้ปัจจุบัน มีผู้ต้องขังคดีทางการเมืองถูกคุมขังอยู่อย่างน้อย 19 ราย เป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดี จำนวน 8 ราย และผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว 11 ราย
ภาพจาก Inn News
ต่อมา ศาลอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์ระหว่างอุทธรณ์ โดยให้เหตุผลว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี 4 เดือน มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง
เรื่องที่เกี่ยวข้อง