จำคุก ‘ไพฑูรย์’ 33 ปี 12 เดือน – ‘สุขสันต์’ 22 ปี 2 เดือนเศษ ถูกกล่าวหาโยนระเบิดใส่ตำรวจดินแดง #ม็อบ11กันยา64

แก้ไขเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566

14 ก.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ ‘ไพฑูรย์’ (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี และ ‘สุขสันต์’ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี ผู้ถูกฟ้องในคดีจากการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก และ ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้ระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 

ศาลตัดสินจำคุกไพฑูรย์ 33 ปี 12 เดือน และจำคุกสุขสันต์ 22 ปี 2 เดือน 20 วัน แม้กรณีสุขสันต์จะไม่มีพยานหลักฐานว่าเข้าร่วมการชุมนุม แต่ศาลเห็นว่าเป็นผู้สนับสนุนช่วยเหลือ

เห็นว่าไพฑูรย์กระทำผิดจริง ส่วนสุขสันต์ไม่มีพยานหลักฐานว่าเข้าร่วมชุมนุม แต่เห็นว่าสนับสนุนช่วยเหลือ

ณ ห้อง 709 จำเลยทั้งสองมาศาลพร้อมกับครอบครัว ศาลออกนั่งพิจารณาเวลา 9.45 น. บรรยากาศในห้องพิจารณาคดีเต็มไปด้วยความตึงเครียด ศาลอ่านคำพิพากษากว่า 30 นาที โดยสรุปความได้ว่า

พิเคราะห์จากพยานหลักฐานโจทก์และจำเลย พบว่าจำเลยให้การว่าได้ไปชุมนุมในวันเกิดเหตุจริง ตำรวจมีการสั่งให้เลิกชุมนุมแต่ไม่เลิก มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 ในวันเกิดเหตุ สุขสันต์เป็นผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ให้ไพฑูรย์ซ้อน ซึ่งในกระเป๋าไพฑูรย์พบว่ามีวัตถุระเบิดอยู่ด้วย

จากการตรวจค้นตามหมายค้นและหมายจับของเจ้าหน้าที่ พบวัตถุระเบิดอยู่ในบ้านของไพฑูรย์ โดยจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ทำและรับสารภาพในชั้นจับกุม และจากการตรวจค้นเพิ่มเติม เสื้อผ้า กระเป๋าและรองเท้า ตรงกับวันเกิดเหตุตามพยานหลักฐาน รวมถึงระเบิดที่ค้นพบในบ้าน เห็นว่าเป็นชนิดเดียวกับในที่เกิดเหตุ

ส่วนสุขสันต์ เป็นผู้ขับมอเตอร์ไซค์ให้ไพฑูรย์ซ้อน และทราบดีว่าไพฑูรย์ ซึ่งอยู่บ้านเดียวกัน พกระเบิดออกไป แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าในวันนั้นสุขสันต์เข้าร่วมการชุมนุมหรือไม่ การกระทำของสุขสันต์จึงเป็นการช่วยเหลือ ให้ความสะดวกในการพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน พิเคราะห์ว่าข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมฯและไม่เลิกการชุมนุม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 216 มีเหตุสงสัยตามสมควร จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับสุขสันต์

พิพากษาว่าไพฑูรย์มีความผิดตามฟ้อง เป็นความผิดกรรมเดียวต่อกฎหมายหลายบท กรณีการร่วมชุมนุมมั่วสุมลงโทษในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 216 จำคุก 1 ปี กรณีพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (2) ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต 

ส่วนสุขสันต์มีความผิดฐานสนับสนุนการฆ่าเจ้าพนักงานตาม ประมวลกฎหมายอาญา 289 (2) ซึ่งขณะเกิดเหตุอายุ 19 ปี จึงลดโทษ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก 33 ปี 4 เดือน

ทั้งนี้ จำเลยทั้งสองให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษกระทงละ 1 ใน 3 เหลือโทษจำคุก ไพฑูรย์ทั้งสิ้น 33 ปี 12 เดือน และสุขสันต์ เหลือโทษจำคุกทั้งสิ้น 22 ปี 2 เดือน 20 วัน

ภายหลังมีคำพิพากษาจำเลยทั้งสองน้ำตาคลอเบ้า ไพฑูรย์พูดว่า “ก็ทำใจไว้แล้วว่าจะติดคุกซักประมาณ 5-6 ปี ไม่ได้ติดยาวขนาดนี้  ส่วนสุขสันต์นั่งนิ่งเงียบไม่ได้พูดอะไร ทั้งสองคนได้ฝากข้าวของส่วนตัวไว้ให้กับญาติที่มาด้วยกัน ก่อนถูกควบคุมตัวลงไปใต้ถุนศาลทันที เพื่อรอการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ 

ข้อสังเกตของทนายความจำเลย

คดีนี้มีการสืบพยานระหว่างวันที่ 4-5 และ 25-27 ก.ค. 2566 โดยทนายความได้ตั้งข้อสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งเป็นผู้ได้รับบาดเจ็บเบิกความอย่างชัดเจนว่าระเบิดที่ถูกปาใส่ เป็นระเบิดประเภทไปป์บอม แต่ตำรวจที่เข้าไปตรวจสอบระเบิดที่พบที่ตัวจำเลย รวมถึงที่บ้านของจำเลยขณะถูกจับกุม ไม่สามารถยืนยันได้ว่าระเบิดดังกล่าวเป็นระเบิดชนิดใด 

ทนายความตั้งข้อสังเกตต่อว่า ระเบิดชนิดไปป์บอมนั้น มีใช้ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งส่วนประกอบของระเบิด จะต้องมีแบตเตอรี่ ตัวตั้งเวลา รวมถึงกระเดื่อง แต่ไม่มีพยานคนใดเบิกความยืนยันได้ว่าระเบิดที่เจ้าหน้าที่ตำรวจโดนเป็นระเบิดที่มีส่วนประกอบดังกล่าว

นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนเบิกความว่าในขณะเกิดเหตุ ไพฑูรย์ยืนห่างกับตำรวจผู้เสียหาย ราว 27 เมตร และได้ใช้เวลาปาระเบิดราว 2.5 วินาทีไปถึงตัวผู้เสียหาย ซึ่งทนายจำเลยมองว่าในความเป็นจริงระยะห่างขนาดนั้นไม่น่าจะสร้างความเสียหายได้ มีเพียงคำเบิกความที่ว่าเวลาขณะปาระเบิดกับเวลาที่ไพฑูรย์อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นเวลาเดียวกัน 

ทั้งนี้ในการเบิกความของไพฑูรย์ เขาได้เบิกความว่าสิ่งของที่เขาปาใส่ตำรวจและปรากฏภาพเคลื่อนไหวจากกล้องวงจรปิดคือก้อนหิน

อีกข้อสังเกตหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องการสั่งฟ้องสุขสันต์ในข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน ซึ่งมีเพียงภาพหลักฐานว่าสุขสันต์ขับขี่รถจักรยานยนต์อยู่บริเวณงามวงศ์วานซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุบริเวณดินแดง นอกจากนี้พยานหลักฐาน รวมถึงคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งหมดไม่สามารถสืบไปถึงสุขสันต์ว่าได้ปรากฏตัวในที่เกิดเหตุ 

แม้ปรากฏมีภาพทั้งสองคนอยู่ด้วยกันจากกล้องวงจรปิดในหลักฐาน แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าอยู่บริเวณที่เกิดเหตุ ทั้งนี้ศาลได้อาศัยเพียงคำเบิกความที่บอกว่าทั้งสองคนอยู่บ้านเดียวกันขณะถูกจับกุม (ทั้งสองคนเช่าบ้านอยู่ด้วยกัน โดยอาศัยกันอยู่คนละห้อง) และพบวัตถุระเบิดอยู่ที่บ้านหลังนั้น อย่างไรก็ตามไม่มีการเบิกความยืนยันจากพยานโจทก์ว่าวัตถุระเบิดที่พบที่บ้านจะเป็นชนิดเดียวกับที่ถูกปาออกไปหรือไม่ 

จากการเบิกความของพยานโจทก์และหลักฐาน ทำให้ทนายความคาดหวังว่าศาลจะพิพากษายกฟ้องในส่วนของสุขสันต์ แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

ความเป็นมาของคดี

ไพฑูรย์และสุขสันต์ ถูกตำรวจชุดสืบสวน ของ บช.น., บช.ภ.2 และ บช.ภ.7 จับกุมตามหมายจับตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่วันที่ 1 ต.ค. 2564 ก่อนถูกนำตัวไปที่สอบสวนที่ สน.ห้วยขวาง โดยไม่มีทนายความ ก่อนที่ทนายความจะได้รับแจ้งเรื่องการถูกจับกุมในช่วงค่ำและเดินทางไปยังสถานีตำรวจ 

ทั้งสองถูกแจ้งข้อกล่าวหา ร่วมกันพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ, ร่วมกันจัดกิจกรรมฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เลิก และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังหรือมีอาวุธ โดยพฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาคือ ได้ใช้ความรุนแรง และต่อสู้ขัดขวางกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยได้ใช้ระเบิดปาใส่ ส.ต.ต.ธนาวุฒิ จิรคเชนทร์ ผบ.หมู่ บก.อคฝ. จนเป็นเหตุได้รับบาดเจ็บสาหัสมีแผลฉีกขาดบริเวณหน้าและบริเวณตาขวา มีเลือดออกในสมอง และเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลตำรวจ 

ทั้งนี้ในชั้นจับกุม ไพฑูรย์ได้ให้การรับสารภาพ แต่ปฎิเสธในชั้นสอบสวน ขณะที่สุขสันต์ปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งคู่ถูกตำรวจนำตัวไปฝากขังเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 โดยศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน พวกเขายังถูกสั่งฟ้องขณะถูกคุมขังในเรือนจำ และไม่ได้ประกันตัวในระหว่างการพิจารณาคดี รวมถูกขังระหว่างวันที่ 2 ต.ค. 2564 – 1 มี.ค. 2565 จำนวน 151 วัน ก่อนจะได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวโดยให้ติดกำไล EM ที่ข้อเท้า

ทั้งนี้ #ม็อบ11กันยา2564 นับเป็นการชุมนุมที่เจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมครั้งที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่ง มีการยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้เข้าร่วมชุมนุมบริเวณปากซอยมิตรไมตรี ทั้งมีการยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเข้าไปในแฟลตดินแดงนานกว่า 40 นาที ส่งผลให้ผู้อยู่อาศัยในแฟลตดังกล่าวได้รับผลกระทบ ทั้งทางร่างกาย และห้องพักได้รับความเสียหาย 

นอกจากนี้ สื่อมวลชนยังถูกปิดกั้นการทำหน้าที่ ถูกข่มขู่ และมีการจับกุมประชาชนมากถึง 77 ราย เป็นเยาวชน 11 ราย หลายรายได้รับบาดเจ็บ โดยแพทย์ พยาบาลอาสา และอาสากู้ภัย จำนวน 25 ราย ถูกจับกุมไปด้วยก่อนได้รับการปล่อยตัว

ถูกสั่งฟ้องขณะถูกคุมขังในเรือนจำ

ปานทิพย์ สวัสดิ์รักษา พนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ได้บรรยายฟ้องโดยสรุประบุ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 เวลากลางวันถึงเวลากลางคืนหลังเที่ยง ต่อเนื่องกันจําเลย ไพฑูรย์และสุขสัตน์กับพวกอีก 5 คน ที่แยกไปดําเนินคดีแล้ว และผู้ร่วมชุมนุมรวมจํานวนประมาณ 100 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมชุมนุมมั่วสุม ที่บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดงและถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มบุคคลที่มีจํานวนมากกว่ายี่สิบห้าคน โดยไม่ได้รับอนุญาต

ตำรวจควบคุมฝูงชนได้สั่งการให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุม แต่กลุ่มผู้ชุมนุมรวมถึงจําเลยทั้งสอง ยังคงขัดขืนไม่เลิกกระทําการดังกล่าว เจ้าพนักงานตํารวจชุดควบคุมฝูงชนจึงได้เข้าควบคุมสถานการณ์ 

จำเลยร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานและใช้กําลังประทุษร้ายโดยมีและใช้วัตถุระเบิด โดยจําเลยทั้งสองมีเจตนา ร่วมกันฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทําการตามหน้าที่ดังกล่าว ด้วยการใช้วัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่จําเลยทั้งสองประกอบจัดทําขึ้นเองเป็นอาวุธที่มีอานุภาพร้ายแรงและทําให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้จํานวนหลายลูก ร่วมกันขว้างปาใส่ร่างกายของสิบตํารวจตรีธนาวุฒิ จิรคเซนร์ ผู้เสียหาย ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตํารวจที่กําลังปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชนที่มาชุมนุม 

ทั้งคู่ถูกสั่งฟ้องขณะถูกคุมขังในเรือนจำเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. 2564 โดยภายหลังถูกสั่งฟ้อง ไพฑูรย์และสุขสันต์ยังคงปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย

เวลา 16.45 น. ศาลอาญามีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ในวันนี้ ไพฑูรย์และสุขสันต์ ถูกนำตัวไปควบคุมยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวเมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2566

” พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 12 เดือน และ 22 ปี 2 เดือน 22 วัน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 และ ที่ 2 ในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

X