สั่งไม่ขังได้ ทำไมไม่สั่ง ? : ความ 2 มาตรฐานในการสั่งปล่อยตัวชั่วคราวหลังศาลชั้นต้นพิพากษา

                กิตติศักดิ์ กองทอง

เมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2565 ได้มีประกาศข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ 2565 ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป ข้อบังคับดังกล่าวได้กำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการปล่อยชั่วคราวไว้หลายประการ โดยที่กำหนดให้การพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยภายหลังมีคำพิพากษา มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

“ข้อ 24 กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง

 ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ แม้จำเลยยังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลที่มีอำนาจอาจมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้เงื่อนไขหรือมาตรการอย่างเดียวกับศาลล่างหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้”

แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า ข้อบังคับดังกล่าวยังไม่ถูกนำไปอนุวัตตามเจตนารมณ์ ซึ่งต้องการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวเพื่อต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่และเป็นธรรมเท่าที่ควร โดยเฉพาะคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงเดือนที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น คดีในศาลอาญา ได้แก่ คดีของ “เวหา แสนชนชนะศึก” ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี 18 เดือน, คดีของ “ทีปกร” ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 3 ปี, คดีของ “วารุณี”  ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน และคดีของ “วัฒน์” ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลา 1 ปี 6 เดือน  


ใน 4 คดีนี้ มีคดีของทีปกรที่จำเลยต่อสู้คดี ส่วนอีก 3 คดี จำเลยตัดสินใจให้การรับสารภาพ โดยที่ทุกคดีดังกล่าวนั้น ในระหว่างสอบสวนตลอดจนในชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอด แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาและจำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญากลับมีคำสั่งส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา ทั้งๆ ที่ตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ 2565 ข้อ 24 ก็ได้กำหนดหลักเกณฑ์ให้ศาลชั้นต้นอาจมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยต่อไปได้เอง เมื่อ

1. จำเลยถูกพิพากษาลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี

2. จำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ 

3. จำเลยไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ

ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณา หรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง 

จึงเห็นได้ว่า กฎหมายกำหนด “ให้ปล่อยชั่วคราว” ต่อไปได้เลย โดยไม่ต้องส่งให้ศาลสูงพิจารณาอีกเมื่อกรณีเข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้ว แต่ศาลชั้นต้น (ศาลอาญา) กลับมิได้ปฏิบัติตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกา โดยส่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยในทุกคดีที่ได้กล่าวมาแล้วให้ศาลสูงพิจารณา

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทุกคนในสี่คดีดังกล่าว โดยมักมีคำสั่งในทำนองเดียวกันที่ว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูงจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีจึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง ”

และ “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์และกระทบกระเทือนต่อความรู้สึกของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนีหรือไปก่อเหตุอันตรายประการอื่น จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ยกคำร้อง” 

สังเกตได้ว่า ข้อเท็จจริงแห่งคดีมีความเปลี่ยนแปลงไปเพียงว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย จำเลยทุกคนไม่ได้มีพฤติการณ์อื่นที่จะทำให้ศาลไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ ไม่อย่างนั้นศาลชั้นต้นก็คงต้องมีคำสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจำเลยไปก่อนแล้ว และจำเลยทุกคนก็ไม่ถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวเพราะฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยชั่วคราวแต่อย่างใด

แม้มาตรา 112 เป็นฐานความผิดที่มีอัตราโทษสูง (โทษจำคุกสูงสุด 15 ปี) แต่การพิจารณาความหนักเบาของข้อหานั้น ก็เป็นเพียงการพิจารณาเหตุผลประกอบการพิจารณาตาม มาตรา 108 ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ไม่ใช่เหตุผลเบ็ดเสร็จที่จะนำมาใช้สันนิษฐานว่าจำเลยจะหลบหนีเพราะคดีมีโทษสูงได้ 

การพิจารณาว่าจำเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีตามมาตรา 108/1 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่นั้นก็ต้องพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยอันเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจริงในคดี ก่อนนำไปสู่ข้อสรุปอันเป็นเหตุผลทางกฎหมายด้วย มิใช่จะพิจารณาและคาดการณ์ไปก่อนล่วงหน้าว่าเมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยแล้ว จำเลยจะต้องหลบหนีทุกรายไป 

หากศาลพิจารณาเพียงว่าจำเลยถูกลงโทษจำคุกจึงอาจมีพฤติการณ์หลบหนีก็จะเป็นการทำลายหลักกฎหมายสำคัญที่ว่าต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิด

อย่างไรก็ตาม จากการติดตามการพิจารณาคดีการเมืองนอกจากคดีมาตรา 112 แล้ว พบว่าในคดีอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมทางการเมืองภายหลังจากศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาก็มักส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ทั้งที่ในระหว่างพิจารณาจำเลยได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมาโดยตลอด และไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เช่น คดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.380/2566 (คดีของถิรนัยและชัยพร) ศาลมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยไม่รอการลงโทษ กรณีดังกล่าวมีลักษณะเบื้องต้นแห่งคดีไม่แตกต่างจากคดีมาตรา 112 ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว และต่อมาศาลอุทธรณ์ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสอง 

ทว่าในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อ.1649/2566  ของศาลอาญา (คดีของสามนักกิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่าปาระเบิดปิงปองบริเวณหน้าบ้านพักของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) จำเลยทั้งสามถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยไม่รอการลงโทษ จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลอาญาก็ส่งคำร้องไปยังศาลอุทธณ์ 

ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสาม โดยในระหว่างที่รอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่าจะให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสามหรือไม่ จำเลยทั้งสามก็ถูกคุมขังไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร และทัณฑสถานหญิงกลางเป็นระยะเวลาร่วม 1 คืน 

คดีนี้ หากในภายหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้รอการลงโทษจำเลย การที่จำเลยถูกขังไว้เพียงเพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ก็ไม่อาจเยียวยาความเสียหายที่ล่วงไปแล้วคืนมาได้ มาตรการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจึงเป็นเพียงหลักการที่สวยหรู แต่มิได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี การไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ 2565 นั้นมีลักษณะไม่เป็นเอกภาพ มีมาตรฐานและการปฏิบัติที่แตกต่างกันระหว่างแต่ละศาล เช่น ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในช่วงสถานการณ์ก่อนหน้านี้ หรือในศาลอื่นๆ แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาออกมาหลายคดี แต่ทั้งศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ (กรณีมีการส่งคำร้องให้พิจารณา) ยังคงมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์

ยกตัวอย่างเช่น คดีของ “อนุชา” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ คดีนี้จำเลยให้การรับสารภาพ และศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยเป็นระยะเวลารวม 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ จำเลยยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และต่อมาในวันเดียวกัน ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ โดยมิได้ส่งคำร้องไปให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณามีคำสั่งแต่อย่างใด

หรือคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษรุนแรง อย่างคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร ที่ถูกศาลจังหวัดเชียงราย พิพากษาจำคุกสูงถึง 28 ปี นับเป็นโทษที่สูงที่สุดในยุคของการบังคับใช้มาตรา 112 ในช่วงหลังปี 2563 และศาลจังหวัดเชียงรายได้ส่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์คดี ให้ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิจารณา และต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์ออกมาในเย็นวันฟังคำพิพากษานั้นเอง โดยมิได้นำเหตุของอัตราโทษที่ศาลชั้นต้นกำหนดมากล่าวอ้างในการไม่ให้ประกันตัวแต่อย่างใด

คำถามสำคัญจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คือ มาตรฐานในการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราวอยู่ตรงไหนกันแน่ ?

X