เมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ มีนัดฟังคำพิพากษาในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “อนุชา” (สงวนนามสกุล) อายุ 48 ปี กรณีชูแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ใน #ม็อบตำรวจล้มช้าง หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564
ย้อนไปเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 อนุชาได้เข้าร่วมชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง และถูกจับกุมหลังการชุมนุมที่ สน.ปทุมวัน โดยในวันนั้นเขาไม่มีทนายความอยู่ด้วยและไม่ได้ยื่นประกันตัว เนื่องจากไม่มีผู้ใดทราบว่าเขาถูกจับกุม ทำให้เขาถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลารวม 24 วัน ก่อนที่ทนายความจะเข้ายื่นประกันตัว และศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
ย้อนอ่านข่าวให้ประกันตัวหลังคุมขังมา 24 วัน >> ศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ประกัน “อนุชา” ผู้ต้องหาคดี ม.112 หลังถูกคุมขังมา 24 วัน
.
หลังจากนั้น ในวันที่ 18 พ.ค. 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ยื่นฟ้องคดีด้วย 4 ข้อหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยคำฟ้องในส่วนที่กล่าวหาอนุชาตามมาตรา 112 นั้น มีใจความโดยสรุปว่า ขณะที่จําเลยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมือง จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการเดินชูแผ่นป้ายไวนิลในกรอบขนาดใหญ่บริเวณที่ชุมนุมสาธารณะซึ่งปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 โดยบริเวณตรงกลางแผ่นป้าย มีตัวอักษรภาษาอังกฤษพิมพ์ทับ พร้อมกับมีข้อความอื่นอีกหลายข้อความในแผ่นป้ายไวนิลดังกล่าว ซึ่งจําเลยใช้ปากกาและหมึกสีประเภทต่างๆ เขียน และพิมพ์ขึ้นมา ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาเยอรมัน
ในชั้นพิจารณาคดีศาลได้อนุญาตให้ประกันตัวในวงเงิน 150,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขประกันว่า ห้ามกระทำหรือเข้าร่วมกิจกรรมอันอาจทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์หรือมีลักษณะเช่นเดียวกันกับที่ถูกฟ้อง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร
ย้อนอ่านคำฟ้อง >> อัยการสั่งฟ้อง “อนุชา” คดี ม.112 ชูป้ายใน #ม็อบตำรวจล้มช้าง ก่อนศาลให้ประกัน พร้อมเงื่อนไข ห้ามร่วมกิจกรรมที่เสื่อมเสียต่อสถาบันฯ
.
ต่อมา ในนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา อนุชาแถลงขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้อง พร้อมกับยื่นคำแถลงประกอบคำให้การรับสารภาพ โดยข้อให้ศาลลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษไว้ ศาลจึงมีคำสั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะและพินิจประวัติจำเลยรายงานให้ศาลทราบภายใน 15 วัน และนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 ก.ค. 2566
วันนี้ (10 ก.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 402 เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยเดินทางมาศาลเพียงคนเดียว เพื่อฟังคำพิพากษา ผู้พิพากษาที่ออกนั่งพิจารณาอ่านคำพิพากษา สามารถสรุปได้ดังนี้
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 จากการสืบเสาะพฤติการณ์พบว่า จำเลยได้ดูคลิปวิดีโอของคณะราษฎร แล้วนำมาเขียนป้ายไวนิลข้อความกล่าวหากษัตริย์และราชวงศ์หลายข้อความ ลงโทษ จำคุก 3 ปี, ฐานเข้าร่วมชุมนุมโดยจงใจอำพรางตัวตน มิให้มีการระบุตัวตนได้ถูกต้อง ซึ่งไม่เป็นไปตามกฎเกณฑ์ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 5,000 บาท และฐานเข้าร่วมชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ปรับ 3,000 บาท
ทั้งนี้ จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกไม่รอการลงอาญา
หลังศาลมีคำพิพากษา ทนายความยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ ซึ่งเวลา 11.50 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์โดยให้วางหลักทรัพย์เพิ่มจากเงินประกันในชั้นพิจารณาเป็นจำนวนเงิน 75,000 บาท รวมเงินประกันในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 225,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันใดๆ
ฐานข้อมูลคดี >> คดี 112 อนุชา ชูป้ายใน “ม็อบตำรวจล้มช้าง” 23 กุมภา