เผยมีผู้ต้องขังคดี ม.112 อีกหนึ่งราย ถูกจับกุมเหตุชูป้ายในชุมนุม “ม็อบตำรวจล้มช้าง”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งในช่วงอาทิตย์นี้ว่ามีประชาชนที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 อยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพอีกหนึ่งราย ซึ่งก่อนหน้านี้ยังไม่มีทนายความให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายในระหว่างถูกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา และถูกฝากขังในระหว่างการสอบสวน

ผู้ต้องหารายนี้ชื่อ นายอนุชา (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี เขาถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 ก.พ. 64 ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ23กุมภา หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง ซึ่งมีการเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายหลังรังสิมันต์ โรม สมาชิกผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล ได้อภิปรายไม่ไว้วางใจในสภา กล่าวถึงการเลื่อนขั้นภายในองค์กรตำรวจอย่างก้าวกระโดด ทำให้เกิดกระแสการวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เรียกว่า “ตั๋วช้าง”

ตามเอกสารของเจ้าหน้าที่ตำรวจระบุว่าในการชุมนุมวันดังกล่าว อนุชาได้เดินชูแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่อยู่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยตรงกลางป้ายมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี พร้อมข้อความภาษาต่างประเทศ และมีข้อความภาษาไทย ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ในวันดังกล่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สน.ปทุมวัน ได้ติดตามดูอนุชา โดยยังไม่จับกุมในทันที

แต่ภายหลังอนุชาชูป้ายอยู่ราว 10 นาที ก่อนเดินไปที่ริมกำแพงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการถอดเปลี่ยนเสื้อและเก็บแผ่นป้ายไวนิลดังกล่าวไว้ในกระเป๋า และเดินออกจากพื้นที่ชุมนุม ตำรวจจึงได้ติดตามไปทันที กระทั่งมาถึงแยกราชประสงค์ หน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าแสดงตัวเป็นตำรวจ ขอทำการตรวจค้นตัว ซึ่งอนุชาได้ยินยอมให้ทำการตรวจค้น เจ้าหน้าที่ได้พบป้ายไวนิลดังกล่าว ท่อพีวีซี ไม้เซลฟี่ อยู่ในกระเป๋าสะพาย เจ้าหน้าที่จึงทำการจับกุมอนุชา พร้อมของกลาง นำส่งพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ในเวลาประมาณ 19.25 น.

บันทึกจับกุมระบุเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมทั้งหมด 14 นาย สังกัดกองบังคับการสืบสวนตำรวจนครบาล 6 และฝ่ายสืบสวน สน.ปทุมวัน

พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออนุชาทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) โดยการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วยแต่อย่างใด อนุชาได้ให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 ก.พ. 64 หลังควบคุมตัวไว้ที่ สน.ปทุมวัน 1 คืน พนักงานสอบสวนได้นำตัวอนุชาไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ในการฝากขัง โดยระบุต่อศาลว่ายังต้องทำการสอบพยานเพิ่มเติมอีก 5 ปาก รอผลตรวจประวัติอาชญากร และยังได้คัดค้านการประกันตัวอนุชา อ้างเหตุว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี

จากนั้นศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อนุญาตให้ฝากขังอนุชาระหว่างสอบสวนเป็นระยะเวลา 12 วัน โดยระบุว่าเป็นคดีร้ายแรงจึงอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน ในวันดังกล่าว ผู้ต้องหายังไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัว ทำให้เขาถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตั้งแต่นั้นมา

อีกทั้งในวันที่ 9 มี.ค. 64 ร.ต.ท.พงศกร ข้องสาย รองสารวัตรสอบสวนสน.ปทุมวัน ยังได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.การชุมนุมฯ ต่ออนุชาเพิ่มเติมอีกข้อหาหนึ่งภายในเรือนจำ โดยได้ประสานงานทนายความเข้าร่วมการสอบสวนด้วย

ตำรวจได้กล่าวหาเพิ่มเติมว่าอนุชาได้ร่วมการชุมนุมกีดขวางการจราจร เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถสัญจรไปมาได้ และยังปิดบังใบหน้า โดยใช้ผ้าปิดหน้าและใส่หมวก เพื่อไม่ให้บุคคลทั่วไปเห็นใบหน้า และยังมีการเตรียมเสื้อผ้ามาเปลี่ยนทันที ทำให้เข้าข่ายเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 เพิ่มเติมอีก

อนุชาได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 20 วัน ขณะเดียวกันยังต้องติดตามเรื่องการยื่นขอประกันตัวผู้ต้องหารายนี้ ซึ่งถูกฝากขังในระหว่างการสอบสวนอยู่

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 63 จนถึงวันที่ 9 มีนาคม 64 มีผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 65 ราย ใน 53 คดี และอนุชานับเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองรายที่ 19 แล้ว

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

>> จำนวน “ผู้ต้องขังทางการเมือง” ถูกคุมขังระหว่างการดำเนินคดี (8 มี.ค. 64)

 

X