19 มี.ค 2564 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวอนุชา (สงวนนามสกุล) อายุ 47 ปี ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 หลังจากถูกจับกุมตั้งแต่วันที่ 23 ก.พ. 64 จากกรณีชูป้ายแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่ในชุมนุม #ม็อบตำรวจล้มช้าง บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยจะอนุชาจะถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในช่วงเย็นนี้ หลังจากถูกคุมขังมาแล้วทั้งหมด 24 วัน
ในการยื่นประกันตัว ทนายได้วางหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมทั้งระบุเหตุผลในการขอประกันโดยสรุปว่า ผู้ต้องหาเป็นผู้มีภูมิลำเนาถิ่นฐานที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน โดยประกอบอาชีพเป็นพนักงานบริษัท ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถที่จะไปยุ่งเหยิงเกี่ยวกับพยานหลักฐาน ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และไม่เคยถูกออกหมายจับในคดีใดๆ มาก่อน ทั้งผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิด ต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิด ตามที่รัฐธรรมนูญไทย กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนรับรองไว้
ทั้งนี้ อนุชายังเป็นเสาหลักดูแลครอบครัว ประกอบสัมมาอาชีพสุจริต ซึ่งหากไม่ได้ประกันย่อมส่งผลให้ครอบครัวขาดรายได้ ขาดผู้อุปการะ ได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งพฤติการณ์คดีนี้ไม่ร้ายแรง การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาไม่ก่อให้เกิดภยันอันตรายหรือความเสียหายใดๆ
ต่อมาศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวอนุชา พร้อมกำหนดวันนัดรายงานตัวในวันที่ 16 เมษายน 2564 ทำให้เขาจะได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในช่วงเย็นวันนี้
กรณีนี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุม #ม็อบ23กุมภา หรือ #ม็อบตำรวจล้มช้าง ซึ่งมีการเดินขบวนจากแยกราชประสงค์ ไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยอนุชาได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุมตัวภายหลังได้เดินชูแผ่นป้ายไวนิลขนาดใหญ่อยู่บริเวณสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งตรงกลางป้ายมีภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 บนธงชาติเยอรมนี พร้อมข้อความภาษาต่างประเทศ และมีข้อความภาษาไทย โดยเจ้าหน้าที่อ้างว่าข้อความเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
พนักงานสอบสวนสน.ปทุมวัน ได้แจ้งข้อกล่าวหาต่ออนุชาทั้งหมด 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, ข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6) ขณะที่แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วยแต่อย่างใด
ต่อมาวันที่ 24 ก.พ. 64 พนักงานสอบสวนได้นำตัวอนุชาไปขออำนาจศาลอาญากรุงเทพใต้ในการฝากขัง และคัดค้านการประกันตัวอนุชา โดยอ้างเหตุว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูง และเกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ศาลอาญากรุงเทพใต้จึงอนุญาตให้ฝากขังอนุชาระหว่างสอบสวนเป็นระยะเวลา 12 วัน โดยระบุว่าเป็นคดีร้ายแรงจึงอนุญาตตามคำขอของพนักงานสอบสวน และในวันดังกล่าว ผู้ต้องหายังไม่ได้มีการยื่นขอประกันตัว ทำให้เขาถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครตั้งแต่นั้นมา
>> เผยมีผู้ต้องขังคดี ม.112 อีกหนึ่งราย ถูกจับกุมเหตุชูป้ายในชุมนุม “ม็อบตำรวจล้มช้าง”