ศาลจำคุก “ไพฑูรย์” 6 ปี ลดโทษเหลือ 3 ปี ถูกฟ้องทำและมีระเบิด ช่วงม็อบดินแดง แต่ยกฟ้อง “สุขสันต์” คู่คดีที่ให้การปฎิเสธ

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษา ในคดีของ “ทูน” ไพฑูรย์ (สงวนนามสกุล) อายุ 22 ปี และ “ดั๊ก” สุขสันต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี กรณีถูกฟ้องว่าร่วมกันทำและมีวัตถุระเบิดไว้ในครอบครอง จากการถูกจับกุมและตรวจค้นบ้าน เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 ตามหมายจับและหมายค้นกรณีถูกกล่าวหาว่า ใช้วัตถุระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ซึ่งถูกแยกฟ้องเป็นอีกคดีอยู่ที่ศาลอาญา

จุดเริ่มต้นของคดีความ 

ไพฑูรย์และสุขสันต์ถูกกล่าวหาว่าได้ใช้วัตถุระเบิดโยนใส่เจ้าหน้าที่จนได้รับบาดเจ็บ ในการชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส ที่หน้าบริเวณดุริยางค์ทหารบก เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2564 ต่อมา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ขอให้ศาลอาญาออกหมายจับทั้งสอง พร้อมทั้งขอให้ศาลจังหวัดนนทบุรีออกหมายตรวจค้นบ้านพักที่ทั้งสองพักอยู่ร่วมกันในจังหวัดนนทบุรีด้วย

ต่อมา เช้ามืดของวันที่ 1 ต.ค. 2564 เวลาประมาณ 04.00 น. สุขสันต์ถูกจับตามหมายจับก่อนเป็นคนแรกระหว่างทำงานขับรถส่งของที่ละแวกพญาไท และถูกพาตัวมาที่บ้านพักในนนทบุรี ซึ่งไพฑูรย์กำลังนอนหลับอยู่ในห้องของตัวเอง จากนั้นไพฑูรย์จึงถูกจับกุมด้วยในเวลาประมาณ 06.00 น. 

เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจค้นบ้านพัก พบวัตถุระเบิดแสวงเครื่องที่จัดทำขึ้นเอง จำนวน 26 ลูก พร้อมกับอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบวัตถุระเบิดหลายรายการ ได้แก่ ดินประสิว ผงกำมะถัน เทปพันสายไฟสีดำ มีดคัตเตอร์ ที่ชั่งน้ำหนัก ครกพร้อมสากไม้ ก้อนหิน และถ่านไม้  

ไพฑูรย์และสุขสันต์จึงถูกพนักงานสอบสวน สภ.บางบัวทอง แจ้งข้อหาเพิ่มเติมเป็นอีกคดีหนึ่ง เกี่ยวกับการร่วมกันจัดทำวัตถุระเบิดขึ้นเองและมีวัตถุระเบิดนั้นที่นายทะเบียนจะออกใบอนุญาตให้ไม่ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย จากนั้นเมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2565 อัยการยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี พร้อมกับนัดสืบพยานโจทก์และจำเลย 1 นัด ในวันที่ 19 ต.ค. 2566

ระหว่างนั้น ไพฑูรย์และสุขสันต์ถูกคุมขังถึง 2 ครั้งในคดีของศาลอาญา ครั้งแรกถูกคุมขังภายหลังถูกจับกุมและต้องถูกฝากขังเรื่อยมากระทั่งถูกสั่งฟ้องคดี รวมทั้งสิ้น 151 วัน ระหว่างวันที่ 2 ต.ค. 2564 – 1 มี.ค. 2565 ก่อนจะได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี โดยให้ติดกำไล EM ที่ข้อเท้า

การถูกคุมขังครั้งที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566 เป็นต้นมา ภายหลังศาลอาญาพิพากษาจำคุกไพฑูรย์ 33 ปี 12 เดือน และจำคุกสุขสันต์ 22 ปี 2 เดือน 20 วัน โดยไม่รออาญา ทั้งสองจึงถูกส่งตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ก่อนย้ายไปยังเรือนจำกลางคลองเปรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน  

เมื่อถึงนัดสืบพยานในคดีของศาลจังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ทั้งสองจึงถูกเบิกตัวจากเรือนจำกลางคลองเปรมเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดี ไพฑูรย์ได้กลับคำให้การเป็น ‘รับสารภาพ’ ทุกข้อกล่าวหา ส่วนสุขสันต์ยืนยันให้การปฏิเสธในชั้นศาล การสืบพยานจึงยังคงต้องดำเนินต่อไป

ศาลได้สืบพยานโจทก์ เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุม รวม 2 ปาก และสืบพยานจำเลย รวม 2 ปาก ซึ่งเป็นจำเลยทั้งสองอ้างตัวเป็นพยาน จากนั้นศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาเป็นวันนี้

คำพิพากษา

วันนี้ คนรักและครอบครัวของทั้งไพฑูรย์และสุขสันต์มานั่งรอตั้งแต่เวลาเช้า โดย “เฟิร์น” คนรักของไพฑูรย์เดินทางมาถึงศาลตั้งแต่เวลา 06.00 น. และเข้ามานั่งรอในห้องพิจารณาคดีตั้งแต่เวลา 07.00 น. เธอบอกว่าเลิกงานเสิร์ฟอาหารประมาณตี 3 จากนั้นได้เดินทางมาศาลตั้งแต่เช้าตรู่ โดยยังไม่ได้หยุดพักเพื่อนอนหลับเลย เธอให้เหตุผลว่า “ถ้าไม่ได้เจอหน้ากันครั้งนี้ก็ไม่รู้จะได้เจอกันครั้งไหนอีก”

ส่วนพี่สาว พี่เขย และหลานของไพฑูรย์ เดินทางมาพร้อมกันกับน้าและ “เมย์” คนรักของสุขสันต์ จากจังหวัดเพชรบูรณ์ ตั้งแต่เวลาเช้ามืดประมาณตี 4 ครึ่ง และถึงศาลในเวลาประมาณ 7 โมงเช้า นี่เป็นครั้งแรกที่สมาชิกครอบครัวได้เจอกันหน้าไพฑูรย์และสุขสันต์ หลังถูกคุมขังมาเกือบ 80 วัน ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566  

เวลาประมาณ 10.30 น. ไพฑูรย์และสุขสันต์ถูกพาตัวเข้าห้องพิจารณาที่ 9 ซึ่งล่าช้ากว่าเวลานัดหมายไปประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ศาลแจ้งว่าเป็นเพราะระยะทางจากเรือนจำกลางเปรมถึงศาลนั้นค่อนข้างไกลกัน ประกอบกับช่วงเช้าการจราจรติดขัดมาก

แต่ละคนถูกตรวนที่ข้อเท้า ต้องค่อย ๆ เดินเขย่งขาเข้าห้องเบา ๆ ไม่ให้ตรวนเสียดสีผิวหนัง ส่วนมือถูกให้ใส่กุญแจคู่เดียวกัน โดยแขนข้างหนึ่งเป็นของไพฑูรย์และอีกข้างหนึ่งเป็นของสุขสันต์ เหมือนเช่นครั้งก่อนที่ถูกพาตัวมาศาล

ศาลอ่านคำพิพากษาโดยสรุปมีใจความว่า คดีนี้พนักงานสอบสวนนำวัตถุระเบิดที่ตรวจยึดได้ไปส่งตรวจพิสูจน์และพบว่าอยู่ในสภาพใช้ทำการระเบิดได้โดยวิธีการจุดสายชนวน หรือขว้างปา หรือได้รับแรงกระแทก จำนวน 26 ลูก หากเกิดระเบิดขึ้นและสะเก็ดระเบิดภายในไปโดนอวัยวะสำคัญของร่างกาย อาจได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ตลอดจนทรัพย์สินเสียหายได้

เมื่อไพฑูรย์ จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ จึงมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาจำคุก 6 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากรับสารภาพ คงเหลือจำคุก 3 ปี และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญาที่ถูกพิพากษาจำคุก 33 ปี 12 เดือน ในคดีที่ถูกฟ้องว่าโยนระเบิดทำมือใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจดินแดง พร้อมทั้งให้ริบของกลางที่ตรวจยึดได้ทั้งหมด

ส่วนสุขสันต์ จำเลยที่ 2 ซึ่งให้การปฏิเสธนั้น จากการเบิกความของพยานโจทก์รับฟังได้ในทำนองเดียวกันว่า แม้ว่าจำเลยทั้งสองจะพักอาศัยอยู่ในบ้านพักหลังเดียวกัน แต่จำเลยที่ 2 ถูกจับกุมก่อนระหว่างที่ทำงานอยู่ข้างนอกและถูกพาตัวไปบ้านพักเพื่อทำการตรวจค้นบ้านพัก ซึ่งขณะถูกจับกุมจนถูกพาตัวไปบ้านพักก็ไม่พบว่าจำเลยมีวัตถุระเบิดไว้ในการครอบครอง

และวัตถุระเบิดที่ตรวจยึดได้ที่บ้านพัก ซึ่งจำเลยที่ 1 ยอมรับว่าเป็นผู้ทำและครอบครองไว้นั้น จำเลยที่ 1 ก็ไม่ได้ซัดทอดความผิดไปถึงจำเลยที่ 2 ว่าได้ร่วมกระทำความผิดด้วย ศาลเห็นว่าไม่มีหลักฐานอื่นอีกว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด พยานโจทก์ที่นำมาเบิกความนั้นศาลเห็นว่ามีพิรุธอยู่พอสมควร จึงยกประโยชน์ความสงสัยให้กับจำเลย ส่วนของจำเลยที่ 2 ให้พิพากษายกฟ้อง 

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จทั้งสองต้องรีบลงชื่อในเอกสารที่เกี่ยวข้องอยู่ครู่หนึ่ง จากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวออกไปจากห้องทันที โดยญาติและคนรักยังไม่ได้มีโอกาสได้พูดคุยหรือสวมกอดกันเลยแม้นิดเดียว ทั้งไพฑูรย์และสุขสันต์ได้พูดลาเพียงว่า “ไปก่อนนะทุกคน …”

ผลจากคำพิพากษาในวันนี้ สรุปได้ว่า สุขสันต์ไม่ได้รับโทษจำคุกในคดีนี้ แต่ยังต้องรับโทษจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน ในคดีเดิมที่ศาลอาญา จึงยังต้องถูกคุมขังต่อไปที่เรือนจำกลางคลองเปรม ส่วนไพฑูรย์เมื่อรวมโทษจำคุกนี้กับคดีเดิมที่ศาลอาญา ไพฑูรย์จะต้องรับโทษจำคุก รวม 36 ปี 12 เดือน หรือราว 37 ปี และต้องถูกคุมขังต่อไปที่เรือนจำกลางคลองเปรมเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม คดีของทั้งสองยังคงไม่ถึงที่สุด ทั้งคดีนี้ที่ศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลอาญา โดยคู่ความยังสามารถอุทธรณ์และฎีกาได้อีกเป็นลำดับต่อไป ซึ่งโทษจำคุกของทั้งสองคดีอาจจะเปลี่ยนแปลงได้

X