“ขนุน” สิรภพ เข้าเรือนจำอีกราย หลังศาลพิพากษาคดี 112 ปราศรัยในม็อบ #18พฤศจิกา จำคุก 3 ปี ลดเหลือ 2 ปี ก่อนศาลอุทธรณ์สั่งไม่ให้ประกัน  

วันที่ 25 มี.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาปริญญาโท อายุ 23 ปี กรณีการปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี  จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ก่อนส่งคำร้องขอประกันระหว่างอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา

.

สำหรับเหตุในคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2563 สิรภพและชูเกียรติได้เข้าร่วมการชุมนุม #ม็อบ18พฤศจิกา บริเวณแยกราชประสงค์ ก่อนมีการเดินขบวนไปยังหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ การชุมนุมดังกล่าวจัดขึ้นภายหลังเจ้าหน้าที่มีการใช้กำลังอย่างการฉีดน้ำความดันสูง สารเคมี และแก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรที่จะไปชุมนุมที่หน้ารัฐสภาในวันที่ 17 พ.ย. 2563

ในการชุมนุมดังกล่าว ผู้ชุมนุมผลัดเปลี่ยนกันขึ้นปราศรัยบนรถบรรทุกติดเครื่องขยายเสียง ระหว่างการเคลื่อนขบวน สิรภพและชูเกียรติถูกกล่าวหาว่าได้ปราศรัยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 กรณีของสิรภพกล่าวถึงการบทบาทของกษัตริย์ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การโอนย้ายกองทัพเป็นของส่วนพระองค์ สถานะของประชาชนที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ส่วนชูเกียรติได้กล่าวเรียกร้องให้กษัตริย์ประพฤติตัวให้ดีขึ้น

เมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2564 สิรภพและชูเกียรติได้ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องทั้งสิ้น 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ 

คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยไปเมื่อวันที่ 6, 30 ก.ย., 27 ธ.ค. 2565, 7 มี.ค., 10 ส.ค., 13, 16 พ.ย. 2566 และ 31 ม.ค. 2567 โดยสิรภพยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา 

ในข้อหาตามมาตรา 112 ฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า สิรภพปราศรัยเกี่ยวกับบทบาทของกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยและสมบูรณาญาสิทธิราชย์ตามความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา ไม่ได้มีเจตนามุ่งร้ายต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และที่ผ่านมาจำเลยก็ถวายความเคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์เฉกเช่นบุคคลทั่วไปกระทำ

ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ฝ่ายจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า สิรภพไม่ได้เป็นผู้จัดการชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่แจ้งการชุมนุมและจัดมาตรการป้องกันโรค และพื้นที่ชุมนุมบริเวณแยกราชประสงค์เป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก มีห้างสรรพสินค้าและรถไฟฟ้าล้อมรอบซึ่งมีอุปกรณ์คัดกรองโรคที่ผู้ชุมนุมต้องผ่านอยู่แล้ว และไม่ปรากฏว่ามีการระบาดของโรคจากการชุมนุม

.

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยานในคดีนี้ >>> ประมวลคดี 112 ของ “ขนุน” สิรภพ เหตุปราศรัยในม็อบ #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ยืนยันพูดตามที่ร่ำเรียนมา ไม่มีเจตนามุ่งร้าย ก่อนพิพากษาพรุ่งนี้

.

วันนี้ (25 มี.ค. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 405 ครอบครัวของสิรภพ เพื่อน และประชาชนทั่วไปเดินทางมาร่วมฟังคำพิพากษาและให้กำลังใจสิรภพกว่า 10 คน

เวลาประมาณ 09.45 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดี และกล่าวสั้น ๆ ว่า ศาลว่าไปตามพยานหลักฐาน หากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็สามารถใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไป และก่อนอ่านคำพิพากษามีใจความโดยสรุปดังนี้

คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 (สีรภพ) กระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ 

ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองกับพวกว่า เป็นผู้ประสงค์จัดการชุมนุมแต่ไม่แจ้งการชุมนุมล่วงหน้าก่อน 24 ชั่วโมง และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคตามที่ราชการกำหนด 

เห็นว่า บุคคลที่มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบแจ้งการชุมนุมและจัดให้มีมาตรการป้องกันโรค คือ ผู้จัดการชุมนุม แต่จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมเท่านั้น จึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คู่ความนำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการตามที่ปรากฏในคลิปวีดีโอและคำถอดเทปการปราศรัย พยานโจทก์ซึ่งเป็นตำรวจที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมเบิกความตรงกันว่า ในการชุมนุมมีผู้ขึ้นปราศรัยรวม 7 คน จำเลยที่ 1 กล่าวพาดพิงสถาบันพระมหากษัตริย์และกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 

เห็นว่า ข้อความที่จำเลยปราศรัยทำให้เข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 และไม่ใช่การแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตตามรัฐธรรมนูญ จำเลยที่ 1 กล่าวปราศรัยโดยใช้ถ้อยคำต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ แม้จะต่อสู้ว่ากล่าวถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้กล่าวร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด แต่เมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ถ้อยคำที่จำเลยที่ 1 กล่าวหาว่า พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจ เป็นการมิบังควร จาบจ้วง ให้ร้าย ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง ไม่ใช่การติชมโดยสุจริตตามที่บุคคลปกติพึงกระทำ

พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี  จำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา

ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน คือ ณัทกร ธรรมาวุฒิกุล

.

หลังศาลมีคำพิพากษา สิรภพได้ฝากข้อความเผยแพร่ต่อสาธารณะว่า “ถึงแม้คำตัดสินจะเป็นเช่นนี้ แต่การเดินทางยังไม่สิ้นสุด” และถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังของศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์

ต่อมา ราว 12.30 น. ศาลมีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา 2-3 วัน ทำให้ในวันนี้ สิรภพต้องถูกนำตัวไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทำให้ยอดผู้ต้องขังทางการเมืองมีจำนวนรวมถึง 45 คน แล้ว 

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าก่อนหน้านี้ในคดีมาตรา 112 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งมีเหตุจากการปราศรัยและจำเลยเป็นนักศึกษา ได้แก่ คดีของเบนจา อะปัญ และ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ศาลพิพากษาให้รอลงอาญาในทั้งสองคดี โดยนำเหตุที่จำเลยยังศึกษาอยู่มาประกอบการวินิจฉัย

(อัปเดตวันที่ 27 มี.ค. 2567) วันที่ 27 มี.ค. 2567 เวลา 14.25 น. ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งว่า ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งตามคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของสิรภพว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำผิดของจำเลยที่ 1 นำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

.

X