จำคุก “เบนจา” 4 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี 8 เดือน และให้รอลงอาญา คดี 112 – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุกล่าวชื่อ ร.10 ในการปราศรัยวิจารณ์รัฐบาล หน้าอาคารซิโน-ไทย

วันที่ 30 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เบนจา อะปัญ” นักกิจกรรมและนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 

โดยศาลพิพากษาให้เบนจามีความผิดตามฟ้อง ในความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ในข้อหาตามมาตรา 112 คงจำคุก 2 ปี และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ เห็นว่า ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเพียง 21 ปีเศษ เชื่อว่า กระทำไปโดยขาดวุฒิภาวะ และอยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี 

คดีนี้ มีจักรพงศ์ กลิ่นแก้ว, มะลิวัลย์ หวาดน้อย และปิยกุล วงษ์สิงห์ สมาชิกกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษไว้ที่ สน.ทองหล่อ เมื่อวันที่ 12 ส.ค. 2564 โดยกล่าวหาจากเนื้อหาคำปราศรัย และเนื้อหาในแถลงการณ์ของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 เรื่อง ประกาศเป้าหมาย “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” และการเมืองหลังระบบประยุทธ์

ต่อมา วันที่ 7 ต.ค. 2564 ขณะเบนจาเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีอื่นที่ สน.ลุมพินี เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ทองหล่อ ได้มาติดตามสังเกตการณ์ ก่อนแสดงตัวเข้าจับกุมตามหมายจับในคดีนี้บริเวณหน้า สน.ลุมพินี โดยที่เบนจาไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน จากนั้น เบนจาถูกขังในระหว่างสอบสวนจนถึงชั้นพิจารณาคดี โดยศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมาเป็นระยะเวลา 99 วัน ก่อนให้ประกันตัวเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 

ซึ่งเมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2564  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องเบนจาในข้อหาตามมาตรา 112 และฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีใจความสำคัญกล่าวหาว่า เบนจาได้อ่านแถลงการณ์ “ประกาศแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ฉบับที่ 2 ประกาศเป้าหมาย ‘นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา’ และการเมืองหลังระบบประยุทธ์” โดยได้ยกข้อความใน 2 ส่วนขึ้นมา อันเกี่ยวกับความตกต่ำในรัฐบาลระบอบทรราช เนื่องจากการแสวงผลประโยชน์ในองคาพยพโดย “นายทุน ขุนศึก ศักดินา” และการตั้งรัฐบาลที่มาจากประชาชน มิใช่ชนชั้นศักดินา 

อัยการระบุว่า คำปราศรัยดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการให้ร้าย จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์และสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานทั้งหมด 3 นัด โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 6 ปาก ในระหว่างวันที่ 5 – 7 ก.ย. 2566 และจำเลยอ้างตัวเป็นพยานจำเลยขึ้นเบิกความต่อสู้ด้วยตนเองในนัดสืบพยานวันสุดท้าย เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2566 โดยให้การต่อสู้ว่า ประกาศทั้งหมดที่ปราศรัยมีเจตนาเดียวเท่านั้นคือ ต้องการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ได้มีข้อเรียกร้องใดที่ต้องการเรียกร้องต่อพระมหากษัตริย์แม้แต่ข้อเดียว

อ่านบันทึกการสืบพยาน: บันทึกการต่อสู้คดี ม.112 “เบนจา อะปัญ” กรณีอ่านแถลงการณ์วิจารณ์รัฐบาล “นายทุน-ขุนศึก-ศักดินา” หน้าอาคารซิโน-ไทย ใน #คาร์ม็อบ10สิงหา64

วันนี้ (30 ต.ค. 2566) เวลา 09.30 น. มีสื่อมวลชนหลายสำนักข่าวติดตามสังเกตการณ์อยู่รอบบริเวณรั้วศาล โดยมีประชาชน นักวิชาการ และเพื่อนนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินทางมาร่วมให้กำลังใจและสังเกตการณ์คดีเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น “รุ้ง ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล”, “ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์” สื่อมวลชนอิสระ และ “พวงทอง ภวัครพันธุ์” นักวิชาการคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

เวลา 10.20 น. เบนจาเดินทางมาถึงห้องพิจารณาคดี 402 พร้อมกับเพื่อน ๆ โดยศาลได้เรียกให้เบนจาแสดงตัวก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา ศาลได้ถามกับเบนจาว่า อยากกลับไปเรียนหรือไม่ ซึ่งเบนจาตอบว่า ก็ขึ้นอยู่กับคำพิพากษาในวันนี้ว่าจะเป็นอย่างไร 

ศาลได้เริ่มอ่านคำพิพากษามีใจความสำคัญระบุว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  พิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และคำเบิกความของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยแสดงให้เห็นว่า การชุมนุมดังกล่าวมีการเตรียมการ วางแผน โดยกลุ่มของจำเลยได้ทำการเชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมผ่านเพจเฟซบุ๊ก แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพื่อแสดงจุดมุ่งหมายกดดันและวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น ให้ทบทวนการบริหารงานของตนเอง 

และจากการเบิกความของจำเลยรับฟังได้ว่า จำเลยและพวกได้รวมตัวกันประกาศเชิญชวน ทำแถลงการณ์และคำปราศรัยแจกจ่ายให้กับประชาชนที่สัญจรผ่านไปมาบริเวณพื้นที่ชุมนุม โดยไม่มีการอธิบายถึงสิ่งที่แจกจ่ายออกไป การกระทำของจำเลยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยเป็นผู้จัดการชุมนุม 

และแม้ว่าจำเลยจะเบิกความถึงลักษณะการชุมนุมที่เป็นในรูปแบบคาร์ม็อบ ซึ่งไม่ได้สร้างความวุ่นวายหรือเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19 แต่จำเลยก็ไม่ได้แสดงให้เห็นว่า ในการชุมนุมมีมาตรการควบคุมโรคระบาดอย่างไร และจำเลยย่อมรู้ดีว่า ในการชุมนุมจะมีกลุ่มคนจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุม แม้จำเลยจะเบิกความว่า ผู้ชุมนุมได้แสดงความรับผิดชอบโดยใส่หน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างแล้ว แต่จำเลยไม่สามารถควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมได้ กิจกรรมดังกล่าวจึงมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาดโควิด – 19 

ทั้งนี้ เมื่อพิเคราะห์คำปราศรัยของจำเลยตามฟ้อง รับฟังได้จากพยานโจทก์ซึ่งเบิกความไปในทำนองเดียวกันว่า คำปราศรัยของจำเลยเป็นการพูดด้อยค่า และดูหมิ่นกษัตริย์ โดยมีเจตนาพูดถึงรัชกาลที่ 10 โดยตรง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข 

และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้ อีกทั้งในมาตรา 50 ยังได้บัญญัติกำหนดหน้าที่ของชนชาวไทยที่ต้องพิทักษ์และธำรงไว้ซึ่งชาติ ศานา และพระมหากษัตริย์ รวมถึงการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา ในหมวดความมั่นคงยังได้บัญญัติข้อกฎหมายพิเศษเพื่อคุ้มครองพระมหากษัตริย์ ไว้ในมาตรา 112 ย่อมแสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่า รัชกาลที่ 10 ดำรงอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ประชาชนจะต้องรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ การกระทำของจำเลยเป็นสิ่งมิบังควร 

ในส่วนที่จำเลยได้กล่าวพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ตามฟ้อง ศาลเห็นว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท และดูหมิ่นกษัตริย์ แม้จำเลยจะเบิกความว่า คำปราศรัยมุ่งหมายเพื่อวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล โดยไม่ได้มีข้อเรียกร้องใดที่กล่าวถึงพระมหาษัตริย์โดยตรง แต่การวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลย่อมสามารถทำได้โดยไม่ต้องเอ่ยชื่อหรือมีถ้อยคำที่มุ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 จำเลยไม่มีเหตุให้ต้องใช้สถาบันกษัตริย์มาเปรียบเทียบเพื่อให้กษัตริย์เสื่อมเสียและทำให้ประชาชนเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงไม่ใส่ใจราษฎร หมกมุ่นแต่การแสวงหาผลประโยชน์และอำนาจกับกลุ่มมหาเศรษฐีและข้าราชการชั้นสูง

เมื่อพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว การกระทำของจำเลยมีความผิดตามฟ้อง เป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป  ในความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี และฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 12,000 บาท จำเลยให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้ 1 ใน 3 ในข้อหาตามมาตรา 112 คงจำคุก 2 ปี และฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงจำคุก 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท รวมจำคุก 2 ปี 8 เดือน ปรับ 8,000 บาท 

พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ เห็นว่า จำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ขณะกระทำผิดจำเลยมีอายุเพียง 21 ปีเศษ เชื่อว่า กระทำไปโดยขาดวุฒิภาวะ และอยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี

ทั้งนี้ ในส่วนของค่าปรับนั้น เนื่องจากเบนจาถูกขังในระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีเป็นเวลา 99 วันแล้ว แต่เมื่อศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษจำคุก จึงให้หักค่าชดเชยการถูกขังชำระแทนค่าปรับ วันละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 49,500 บาท เกินกว่าค่าปรับในคดีจำนวน 8,000 บาท ทำให้เบนจาไม่ต้องชำระค่าปรับอีก

อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ทำให้ตั้งข้อสงสัยต่อดุลพินิจของศาลที่ไม่อนุญาตให้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลยในระหว่างการต่อสู้คดีว่า ไม่ได้สัดส่วนและเกินกว่าที่จำเป็นหรือไม่ เพราะหากในที่สุดศาลไม่ได้มีคำพิพากษาจำคุกเช่นในคดีนี้ แต่จำเลยถูกขังไปในระหว่างการต่อสู้คดี และได้รับผลกระทบต่อการศึกษาหรือหน้าที่การงานไปแล้ว กระบวนการยุติธรรมจะชดเชยเยียวยาความเสียหายที่เกิดแล้วได้หรือไม่      

X