ไม่ให้ประกัน ขนุน-สิรภพ! คดีม.112 ศาลอ้างทำผิดต่อ “สถาบันหลักของประเทศ” เสี่ยงก่อเหตุซ้ำ

ไม่ให้ประกัน! ขนุน-สิรภพ คดี #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ศาลระบุ ทำผิดต่อสถาบันหลัก-เสี่ยงก่อเหตุซ้ำ แม้ถูกกล่าวหา ม.112 คดีเดียว

วันนี้ (6 พ.ค. 64) ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 3) มีความเห็นสั่งฟ้องคดีของ “ขนุน” สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นิสิตภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ และ แกนนำกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน และ “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์ ในข้อหาหลัก “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สืบเนื่องจากการปราศรัยในชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์  บริเวณสี่แยกราชประสงค์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 63 

หลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวสิรภพด้วยเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ต่อมา ศาลยกคำร้องขอประกันตัว โดยให้เหตุผลว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาพยานหลักฐานที่ปรากฎและพฤติการณ์แห่งคดีตามคำฟ้องโจทก์ และเห็นว่าสิรภพ (จำเลยที่ 1) ถูกฟ้องในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นสถาบันหลักของประเทศก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติและคดีมีอัตราโทษจำคุกสูง กรณีนี้จึงมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าหากปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1 อาจก่อเหตุลักษณะเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ซ้ำอีก” แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว สิรภพถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรา 112 ในคดีนี้เพียงคดีเดียวเท่านั้น

ส่วนชูเกียรติ ปัจจุบันยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ ในคดีมาตรา 112 จากการแปะกระดาษบนรูปกษัตริย์รัชกาลที่  10 ในการชุมนุม แม้เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (3 พ.ค. 64) พี่สาวของชูเกียรติได้ยื่นประกันตัวเป็นครั้งที่ 5 เพื่อลดความแออัดในเรือนจำระหว่างการระบาดของไวรัสโควิด-19 และขอให้ศาลเบิกตัวชูเกียรติมาไต่สวนผ่านคอนเฟอร์เรนซ์ แต่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากเห็นว่าชูเกียรติยังคงป่วยด้วยโรคโควิด-19 เกรงกระทบกับผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ 

เฟซบุ๊ก Suwanna Tallek ยังเผยอีกว่า สิรภพจำเป็นต้องสอบวิชาหนึ่งในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค. 64) โดยเขายังพกพาหนังสือเรียนมาอ่านเตรียมสอบในวันนี้ แต่เนื่องจากเจ้าตัวถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้รับการประกันตัว จึงถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ทำให้ไม่สามารถเข้าสอบได้

.

Image

ที่มา: เฟซบุ๊ก Suwanna Tallek

Image

ข้อความที่สิรภพฝากให้มวลชน ก่อนจะถูกนำตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร

ที่มา: เฟซบุ๊ก Suwanna Tallek

.

เปิดคำฟ้องกล่าวหา “สิรภพ-ชูเกียรติ” ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุม-พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-ม. 112

คำฟ้องบรรยายว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ 

  1. เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 63 เวลากลางวัน ถึงวันที่ 18 พ.ย. 63 เวลากลางวัน สิรภพและชูเกียรติกับพวกอีกหลายคนซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมจัดการชุมนุมสาธารณะทางการเมืองเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลและสถาบันพระมหากษัตริย์ บริเวณแยกราชประสงค์  โดยทั้งสองไม่แจ้งการชุมนุมภายในระยะเวลาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง ต่อผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ซึ่งเป็นหัวหน้าสถานีตำรวจแห่งท้องที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะ  อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  1. นอกจากนี้ สิรภพและชูเกียรติกับพวกไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามที่ทางราชการกำหนด ได้แก่ การให้ผู้ใช้พื้นที่สาธารณะใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากทางเลือก และการเว้นระยะห่างทางสังคม อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดออกตามมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 
  1. เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 เวลากลางวันถึงเวลากลางคืนหลังเที่ยงต่อเนื่องกัน สิรภพและชูเกียรติได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ด้วยการใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยต่อพันตำรวจตรีสิทธิศักดิ์ สุดหอม และประชาชนผู้เข้าร่วมชุมนุม

    คำฟ้องระบุเนื้อหาเป็นท่อนๆ ที่ทั้งสองกล่าวปราศรัย โดยแนบคำถอดเทปปราศรัยของทั้งสองคน กรณีของสิรภพกล่าวถึงการบทบาทของกษัตริย์ที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยของไทย บทบาทที่เกี่ยวข้องกับการเมือง การโอนย้ายกองทัพเป็นของส่วนพระองค์ สถานะของประชาชนที่สัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์ ส่วนชูเกียรติได้เรียกร้องให้กษัตริย์ประพฤติตัวดีขึ้น 

อัยการบรรยายฟ้องว่าถ้อยคำของทั้งสองคนเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ความ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่จะทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย

สิรภพและชูเกียรติได้ถูกฟ้องทั้งสิ้น 3 ข้อกล่าวหา ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 

สำหรับชูเกียรติ อัยการได้ขอให้ศาลสั่งนับโทษจำคุกของคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกใน 3 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่ศาลอาญา คดีชุมนุม #ม็อบ29ตุลา ที่ทําการสํานักข่าวเนชั่น ที่ศาลอาญาพระโขนง และคดีชุมนุม #ม็อบ1พฤศจิกา บริเวณแยกอุดมสุข ที่ศาลอาญาพระโขนง

ทั้งนี้ ท้ายคำฟ้องยังระบุด้วยว่าหากจำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว โจทก์ขอให้อยู่ดุลยพินิจของศาล 

สำหรับการชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์ ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีนอกจากชูเกียรติและสิรภพ อีก 5 ราย ได้แก่ พรพจน์ แจ้งกระจ่าง, ธานี สะสม, ชินวัตร จันทร์กระจ่าง, อานนท์ นำภา และ ภาณุพงศ์ จาดนอก โดยแต่ละคนถูกแจ้งข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้ถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 คดีนี้ยังอยู่ในชั้นอัยการ

การชุมนุมในวันที่ 18 พ.ย. 63 เป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมวันที่ 17 พ.ย. 63 ที่รัฐสภาเกียกกาย เพื่อติดตามการพิจารณาลงมติรับหลักการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับ รวมถึงร่างฉบับประชาชนที่มีประชาชน 100,732 ราย ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่าง ซึ่งเจ้าหน้าที่มีใช้เครื่องกีดขวาง ลวดหนามหีบเพลง ปิดกั้นการเดินขบวน มีการฉีดน้ำผสมสารเคมีจากรถฉีดน้ำแรงดันสูง และใช้แก๊สน้ำตาหลายชั่วโมง ทำให้มีการนัดหมายชุมนุมในวันต่อมาเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการใช้ความรุนแรง

การไม่ได้รับประกันตัวของสิรภพ ทำให้เขาถูกควบคุมตัวไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพทันที เวลา 17.50 น. ทวิตเตอร์ของ iLaw รายงานว่า ในขณะที่มวลชนกำลังรอ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานหญิงกลาง หลังศาลอนุญาตให้ประกันตัว รถบัสของเรือนจำพิเศษกรุงเทพได้ขับผ่านบริเวณดังกล่าว ด้านในมีสิรภพกำลังถูกนำตัวไปที่เรือนจำ มวลชนได้ตะโกน “ปล่อยเพื่อนเรา” ขณะสิรภพได้ชูสามนิ้วและตะโกนหามวลชนว่า “อย่าลืมผม” 

สิรภพ ในวัย 20 ปี คือนักกิจกรรมรายล่าสุดที่ถูกควบคุมตัวระหว่างต่อสู้คดีทางการเมือง เขาถูกกล่าวหาในคดีการเมืองรวมทั้งหมด 6 คดี โดยคดีนี้เป็นคดีมาตรา 112 คดีเดียวที่เขาถูกกล่าวหา

ปัจจุบันมีผู้ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีทางการเมืองทั้งสิ้น 22 คน (นับจนถึงวันที่ 6 พ.ค. 64) นอกจากนี้เอง  นับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 63 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองด้วยข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 90 ราย ใน 83 คดี

>>>สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564

>>>สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ประมวลเหตุการณ์ 7 ชม. #ม็อบ17พฤศจิกา จนท.ตร.ฉีดน้ำแรงดันสูง ใช้แก๊สน้ำตา ขัดขวางการชุมนุมหน้ารัฐสภาของกลุ่มราษฎร

‘จัสติน’ – ‘ขนุน’ รับทราบข้อหา 112 เหตุปราศรัยพาดพิงกษัตริย์ชุมนุม #18พฤศจิกาไปราษฎรประสงค์

X