สัปดาห์กลางเดือน ส.ค. 2567 เป็นต้นมา ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีก 4 ราย ได้แก่ ‘แม็กกี้’ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ครั้งนี้แม็กกี้ระบายถึงหนังสือ ที่เธอต้องการมาตลอดหลายเดือนที่ย้ายไปคลองเปรม ที่ยังไม่สามารถนำหนังสือจากภายนอกส่งเข้ามาให้อ่านในเรือนจำได้ แม้จะเป็นหนังสือนวนิยายที่ไม่เกี่ยวกับ “ความมั่นคง” จึงฝากให้ช่วยกันติดตามเรื่องนี้
ส่วนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ‘เก็ท’ ถูกคุมขังมาครบ 1 ปี แล้ว อดีตนักศึกษารังสีวิทยายังพูดถึงความหวังของการเปลี่ยนแปลง ขอให้ทุกคนไม่ยอมแพ้และอย่าหยุดสื่อสารเรื่องทางการเมือง โดยเก็ทเตรียมเข้าฟังคำพิพากษาคดี ‘112’ อีกคดี ในวันที่ 29 ส.ค. 2567
ส่วน ‘น้ำ’ วารุณี ครั้งนี้เธอพูดถึงช่วงเวลาที่ไม่ได้ทานยา จึงรู้สึกคิดเยอะและค่อนข้างกังวลกับตัวเองในหลาย ๆ ด้าน ขณะนี้อยู่ระหว่างการสั่งยาเข้ามาใหม่ ที่จะทำให้อาการดีขึ้น
ขณะที่ ‘ขุนแผน’ ผู้ต้องขังวัย 57 ปี จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกราย ยังต้องอยู่ในห้องกักตัวเพราะป่วยวัณโรค ก็ยังคาดหวังถึงเรื่องนิรโทษกรรม ที่หากเกิดขึ้นก็จะทำให้ผู้ต้องขัง โดยเฉพาะคดีมาตรา 112 ที่มีโทษจำนวนสูงขึ้นเรื่อย ๆ ได้มีอิสรภาพบ้าง ส่วนเขาในวัยที่สูงขึ้น ก็ไม่ได้กังวลเรื่องการติดคุกมากนัก หวั่นเพียงเรื่องจะไม่มีใครเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง
.
แม็กกี้: อยากให้ช่วยผลักดันเรื่องส่งหนังสือเข้ามาใน ‘คลองเปรม’
วันที่ 14 ส.ค. 2567 ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ทนายความรอแม็กกี้อยู่ราว 40 นาที เหตุที่ออกมาล่าช้าเพราะเจ้าหน้าที่เรียกให้ไปเซ็นเอกสาร ที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน
แม็กกี้บ่นว่าวันนี้แดดแรงมาก ลงมาข้างล่างไม่มีร่มไม้เลย ต้องไปหาที่หลบแดด ไม่สะดวกสบายเหมือนแดน 1 โดยเธอขยายความว่าแดน 1 ยังเป็นแดน LGBTQ+ เวลาส่วนกลางจัดงานประเภท TO BE NUMBER ONE ที่ให้ผู้ต้องขังเข้าร่วม ก็จะเห็นว่าผู้ต้องขังแดน 1 ไว้ผมยาวประบ่าได้ มีเครื่องสำอาง มีรองเท้าส้นสูง เวลามีกิจกรรมอะไรก็จะเป็นคนแสดง คนภายนอกที่จะเข้ามาดูงานเรื่องผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ ก็ได้ไปดูแดน 1 เลย ไม่ได้ดูแดนทั่วไป
แม็กกี้ยังบอกว่าแปลนห้องในเรือนจำก็เหมือนกัน แต่แดน 1 ความเป็นอยู่จะดีกว่า เมื่อถามว่าเธออยากย้ายไปแดน 1 ไหม เธอคิดอยู่ครู่หนึ่ง “ก็ไม่รู้สิแม่ แดน 6 ก็ดี แต่มันร้อนมาก อย่างแดน 1 จะมีโดมมีอะไรให้หลบร้อนอยู่ แล้วห้องหนูไม่มีทีวีด้วยนะ ไม่รู้ข่าวอะไรเลย ได้ยินว่ามีคนเอาทีวีมาบริจาคให้คลองเปรมเป็นร้อยเครื่อง ก็ไม่รู้ว่าห้องหนูจะได้กับเขาไหม ”
แม็กกี้กล่าวถึงความต้องการว่า “หนูอยากได้หนังสือ ข้างในมีแต่เล่มเดิม ๆ ทำไมถึงส่งมาไม่ได้ ไม่เข้าใจ อยากให้ข้างนอกช่วยกันผลักดันให้ญาติหรือทนายส่งมาให้ได้ อย่างนิยายมันก็ไม่เห็นจะเกี่ยวกับความมั่นคงตรงไหนเลย”
เธอยังเล่าต่อว่า เดือน ต.ค. 2567 ก็จะครบปีที่มาอยู่ในเรือนจำ รู้สึกเวลาเร็วมากเลย ตอนนี้คดีก็ยังไม่เด็ดขาด โอกาสอบรมในเรือนจำบางอย่างก็จะให้เฉพาะผู้ต้องขังเด็ดขาดเท่านั้น หากผ่านการอบรมแล้ว ก็จะได้เกียรติบัตรไปสอบเลื่อนชั้นได้ พอพูดเรื่องนี้น้ำเสียงแม็กกี้ดูเศร้าลงทันที
ก่อนทนายความเล่าคืบหน้าเรื่องการตายของบุ้งให้ฟัง แม็กกี้บอกว่า “หมอโรงพบาลราชทัณฑ์บางคนก็ชอบตะคอก ทำเหมือนเราไม่ใช่คน หนูเคยเจอแบบ คนก่อนหน้าหนูเขาแก่แล้วไม่ค่อยได้ยิน ก็โดนหมอตะโกนใส่ว่า ไม่ได้ยินเหรอ ชื่ออะไร เป็นอะไรมา คือน้อยมากที่จะเจอหมอพูดจาดี ๆ กับเรา ”
ก่อนเล่าทิ้งท้ายว่า “ตอนวันเกิดบุ้ง (8 ส.ค. 2567) มีการมาจุดพลุหน้าเรือนจำ หน้าต่างห้องนอนหนูมันอยู่โซนที่มองออกมาเห็นหน้าเรือนจำพอดี ก็เลยเห็น พลุสวยมากค่ะแม่ (ยิ้ม)”
ปัจจุบัน (27 ส.ค. 2567) แม็กกี้ถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรมมาแล้ว 311 วัน
.
เก็ท: ครบ 1 ปี เก็ทถูกคุมขัง ยังมีอีก 1 คดีลุ้นฟังคำพิพากษา
วันที่ 16 ส.ค. 2567 นับเป็นเวลากว่า 90 วันแล้ว ที่เก็ทโกนหัวเป็นสัญลักษณ์ประท้วงเรื่องการเสียชีวิตของบุ้ง เนติพร
เก็ทเล่าว่าจากเหตุการณ์ช่วงหนึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเรื่องทางการเมืองเกิดขึ้นเยอะ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่วินิจฉัยขัดหลักการถ่วงดุลอำนาจ จากอำนาจอธิปไตยต้องมี 3 ขาไว้คานอำนาจกัน แต่ตุลาการไทยไม่มีใครมาคานได้ ตุลาการไม่เคยแคร์ประชาชน ยิ่งตั้งแต่หลังการเลือกตั้งปี 2566 เป็นที่ชัดเจนว่าตุลาการใช้อำนาจโดยไม่เห็นหัวประชาชน ตั้งแต่กรณีหุ้นสื่อ ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิทางการเมืองกรรมบริหารพรรค กระทั่งปลดเศรษฐาออกจากตำแหน่งนายกฯ ทุกอย่างที่เกิดขึ้นบิดเบี้ยวไปหมด
เก็ทให้ความเห็นว่า หลักสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไว้ก่อน สำหรับประเทศไทย ไม่ใช่ไม่มีแค่ในคดีอาญา ในศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มี เพราะทันทีที่ถูกกล่าวหา คน ๆ นั้น ก็ถูกห้ามปฏิบัติงานตั้งแต่ถูกร้อง แล้วน้ำหนักเสียง ของคนกว่า 14 ล้านเสียง ไม่เท่ากับกลุ่มที่กล่าวหาเลย เสียงของประชาชนควรมีความหมายมากกว่าเสียงของศาลรัฐธรรมนูญทั้ง 9 คน ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรทำงานก้าวก่ายฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ มากเกินไป ในระยะยาวสำหรับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งหมด ต้องทำให้ศาลยึดโยงกับประชาชนมากกว่านี้
วันที่ 21 ส.ค. 2567 เก็ทพูดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นวันที่ 29 ส.ค. 2567 ที่ศาลอาญานัดพิพากษาคดีมาตรา 112 อีกคดี เป็นเหตุจากการปราศรัยในกิจกรรมวันแรงงานสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565
เก็ทอยากให้สหภาพทำงาน องค์กรสิทธิมนุษยชน สถานทูต และทุกคนมาร่วมฟังคำตัดสิน ในวันนั้นที่เขาพูดอยู่สองประเด็นคือเรื่องวัคซีน และเรื่องแรงงาน อยากให้ทุกคนมาเห็นการตั้งคำถาม การพูดความจริง ในประเทศนี้มันไม่มีเสรีภาพอย่างที่เขาบอก ถ้ามันมีเสรีภาพจริง ตัวเขาและเพื่อน ๆ คงไม่ถูกดำเนินคดี
ก่อนส่งสารทิ้งท้ายว่า “ไม่น่าเชื่อเลยว่าผมจะอยู่ในที่นี้มาเกือบ 1 ปีแล้ว จากข่าวสารข้างนอกและจดหมายที่ส่งเข้ามา เพื่อน ๆ หลายคนบอก เดี๋ยวรอการเลือกตั้งใหม่ เราชนะแน่นอน ผมเห็นด้วยกับการเลือกตั้งนะ แต่อย่างที่เราเห็น ครั้งนี้ชนะการเลือกตั้ง แต่สุดท้ายพรรคก้าวไกล ก็ถูกยุบโดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อพรรคเพื่อไทยได้เป็นรัฐบาล จึงตั้งคำถามว่า ใครต้องรับผิดชอบการเลือกตั้งที่ผ่านมา เราควรตรวจสอบจริยธรรมของศาลรัฐธรรมนูญได้หรือยัง
“สิ่งที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นกรณีอนาคตใหม่ ก้าวไกล เราจะเห็นศาลเป็นเครื่องมือของเผด็จการในรัฐสภา ใช้เล่นงานพรรคการเมือง ส่วนในภาคประชาชน ใช้เล่นงาน ผู้คนที่เห็นต่าง ผมอยากให้ทุกคนยังมีความหวัง อย่ายอมแพ้ เรามีหนทางการแสดงออกทางการเมืองได้หลายแบบ ไม่จำเป็นต้องลงถนนเสมอไป แต่ขอแค่ทุกคนอย่าหยุดสื่อสาร”
ปัจจุบัน (27 ส.ค. 2567) เป็นระยะเวลา 1 ปี กับอีก 3 วัน แล้วที่ “เก็ท” ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ต่อมาเก็ทยังถูกศาลอาญาธนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกอีก 3 ปี ในคดีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ทำให้รวมโทษจำคุกของเขาอยู่ที่ 6 ปี 6 เดือน
เก็ทกำลังรอคอยฟังพิพากษาคดี 112 ของศาลอาญา อีก 1 คดี ในวันที่ 29 ส.ค. 2567
.
น้ำ วารุณี: พอไม่ได้ทานยา ก็คิดเยอะตลอดเวลา ต้องทำตัวสดใสเข้าไว้
วันที่ 16 ส.ค. 2567 น้ำเล่าว่ายาที่กินเกี่ยวกับควบคุมขั้วดีดขั้วลบของอารมณ์นั้นหมดลง และเกิดข้อผิดพลาดเกี่ยวกับการสั่งยาของพยาบาล ทำให้เธอไม่ได้รับยามาแล้วเกือบ 2 สัปดาห์ ผลจากการไม่ได้ทานยา ทำให้มีอาการคิดเยอะตลอดเวลา สมองรู้สึกล้า ต้องการนอนตลอดเวลา เลยต้องพยายามทำตัวสดใสเข้าไว้ ที่เห็นแต่งหน้าเพราะเป็นเรื่องเดียวจริง ๆ ในนี้ที่ทำให้รู้สึกดีขึ้นมาบ้าง ส่วนเรื่องยา เพื่อนจะมาเอาใบสั่งยา และน่าจะได้ยาในสัปดาห์ถัดไป
วันที่ 19 ส.ค. 2567 เมื่อพูดคุยเรื่องอภัยโทษ เธอบอกว่าเข้าเกณฑ์ทุกอย่าง ตามที่ทนายในคดีแจ้งไว้ เพียงแต่ตอนนี้รอใบเด็ดขาดที่ไม่มาสักที ส่วนบรรยากาศข้างในหลังจากที่มีพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ น้ำเล่าว่า ข้างในดูเงียบ ๆ ไม่ได้ดูเฉลิมฉลองขนาดนั้น เหมือนปีนี้ได้น้อย ในตึกที่น้ำอยู่มีประมาณ 57 คน เข้าเกณฑ์ได้น่าจะประมาณ 7 คน
น้ำเล่าเพิ่มว่า ช่วงนี้พอไม่ได้ทานยา สิ่งที่เกิดขึ้นกับโรคซึมเศร้าที่เธอเป็น บวกกับสภาวะแวดล้อม ทำให้ส่งผลกระทบพอสมควร อย่างเรื่องใบเด็ดที่พอไม่ได้ ก็เริ่มดิ่ง กังวล หรือบางทีนอนคิดไปว่าแผนในชีวิตหลังจากออกจากที่นี่จะเป็นยังไง อนาคตจะเป็นยังไง คิดไปถึงวันปล่อยว่าถ้ามีอายัดตัว จะทำยังไง
ในตอนที่ได้กินยา น้ำจะคิดเรื่องพวกนี้แบบครู่เดียวที่เข้ามาในหัว แต่ก็จัดการความรู้สึกตัวเองได้ แต่พอขาดยาไปนาน ๆ ก็รู้สึกว่าความคิดฟุ้งซ่าน ล่องลอยไปเรื่อย
ปัจจุบัน (27 ส.ค. 2567) น้ำถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี กับอีก 2 เดือน โดยหากเธอต้องถูกคุมขังจนครบกำหนดโทษ จะเหลือระยะเวลาถูกคุมขังอีก 4 เดือน จะพ้นโทษในเดือนธันวาคมนี้ แต่ยังต้องติดตามเรื่องใบเด็ดขาดในคดีของเธอ และพิจารณาว่าเข้าเกณฑ์ได้อภัยโทษตามพระราชกฤษฎีกาที่ออกมาหรือไม่ต่อไป
.
ขุนแผน: ไม่กลัวติดคุก กลัวแค่จะไม่มีคนเรียกร้องปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมือง
วันที่ 15 ส.ค. 2567 ขุนแผนเล่าว่าอยู่ข้างในมาได้เกือบเดือนแล้ว ช่วงนี้แฟนมาเยี่ยมทุกวัน เขาย้อนเล่าว่าอาการป่วยเป็นวัณโรคเกิดขึ้นตอนเดือนเมษายน ตอนนั้นมีอาการไอเป็นเลือด พี่สาวก็เลยพาไปหาหมอ ก็เข้ารักษามาแล้วนับถึงตอนนี้ก็ 4 เดือนแล้ว กินยามาเรื่อย ๆ หมอบอกว่า ถ้ากินยาจนครบก็ต้องไปตรวจกับหมออีกที แต่คงได้หาหมอในเรือนจำ เพราะข้างในนี้ก็มีคนเป็นวัณโรคเยอะอยู่
ขณะนี้ ขุนแผนต้องนอนในห้องที่เป็นห้องกักโรค มีป้ายเขียนหน้าห้องว่า “ห้องกักโรค ไม่แพร่เชื้อ” ทั้งห้องมี 25 คน คนในห้องนี้เข้าใจว่าป่วยเป็นวัณโรคหมด ขณะที่ตอนกลางวันก็ลงมาข้างล่างได้ตามปกติ
ขุนแผนเล่ากิจวัตรว่า ตอนกลางวันก็ไม่ได้ทำอะไรมาก ว่าง ๆ นอนเล่น ไปอาบน้ำ เล่นหมากรุก หาอะไรทำฆ่าเวลาไปเรื่อย ข้างในนี้ไม่ค่อยมีอะไรให้ทำมาก ก็มีเพื่อนใหม่ เป็นเพื่อนที่นอนห้องเดียวกัน ส่วนเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่น ๆ หรือเจ้าหน้าที่ก็ปฏิบัติกับขุนแผนปกติ
ส่วนเรื่องกองงาน ขุนแผนบอกว่า ตั้งแต่สัปดาห์แรกก็ได้เข้ากองงานเรือนนอน มีหน้าที่ดูแลความเรียบร้อยของเรือนนอน กับเอาข้าวไปให้คนที่ป่วยหรือคนที่กักตัว โดยจะถูกจำแนกแดนอีกครั้งตอนที่รักษาตัวหายแล้ว ก็จะได้ออกจากห้องกักโรค
ก่อนเขาจะชวนพูดถึงสถานการณ์การเมืองว่า การเปลี่ยนนายกฯ ไม่ได้มีผลกับประชาชน เพราะเป็นคนกลุ่มเดิม นโยบายก็เหมือนเดิม ถ้าจะส่งผลต่อประชาชนก็ทางอ้อมมาก ๆ “ผมคิดว่าเรื่องยุบพรรคมันส่งผลต่อประชาชนมากกว่าอีก เพราะมันคือการตัดช่องทางการต่อสู้ของประชาชน”
ทั้งนี้ขุนแผนอยากรู้เรื่องนิรโทษกรรมคดีการเมืองที่สุด เพราะจะช่วยผู้ต้องขังทุกคนได้ หลายคนหวังเรื่องนี้โดยเฉพาะคนที่มีโทษสูง “ของผมมันเล็กน้อยเต็มที่ก็ 3 ปี 6 เดือน ก็พอทนอยู่ไหว แต่กับเพื่อนที่โดน 20 ปี 30 ปี 50 ปี อย่างเก็ท อานนท์ อัญชัญ บัสบาส ผมอยากให้มีนิรโทษกรรมนะ ผมอยากให้พวกเขาออกมา ถ้าเคลื่อนไหวไม่ได้ก็พัก คุณสู้มาเยอะแล้ว ให้คนอื่นเขาสู้ต่อ คุณออกมาใช้ชีวิตก่อน”
ในวันที่ 22 ส.ค. 2567 ทนายเข้าเยี่ยมอีกครั้ง ขุนแผนเล่าว่า สุขภาพก็ยังแข็งแรง ได้กินยารักษาวัณโรคตามปกติ น่าจะอีกราว 1 เดือนยาจะหมด ก็ต้องไปตรวจอีกรอบว่าหายหรือยัง หรือต้องรักษายังไงต่อ โดยแฟนยังมาเยี่ยมทุกวัน แต่อาทิตย์หน้าแฟนจะกลับบ้านที่ จ.สุโขทัย เพราะที่บ้านน้ำท่วม จึงต้องไปช่วยดูหน่อย
ในเรื่องชีวิตประจำวัน เวลากลางวัน เขาก็จะได้ลงมาข้างล่างเหมือนเดิม นั่ง ๆ นอน ๆ คุยกับเพื่อนผู้ต้องขัง รอเวลากินข้าว อาบน้ำ เช็คแถว แล้วก็ขึ้นเรือนนอน
“ตอนนี้ มี 100 ผมว่าผมเต็ม 100 นะ ผมเป็นคนรู้ตัว คิดไว้แล้วว่าถ้าเราออกมาทำแบบนี้ เหตุการณ์เลวร้ายที่สุดที่จะเกิดกับเราได้คืออะไร ก็เตรียมใจไว้แล้ว ไม่ได้ทุกข์ร้อนใจขนาดนั้น ไม่ได้ทำให้ท้อแท้ที่ติดคุก เพราะเรารู้ว่ามันไม่ใช่เรื่องที่เราเป็นคนกำหนด”
สำหรับขุนแผน ไม่ได้ประกันก็ไม่ได้เป็นอะไร เพราะกำหนดตัวเองมาสู้แล้ว ก็ต้องรับสภาพให้ได้ “คนอายุอย่างพวกผมผ่านประสบการณ์ชีวิตมาระดับหนึ่ง เลยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเตรียมใจเท่าไหร่” ก่อนฝากบอกว่า “ผมติดคุก ผมไม่กลัว ผมกลัวแค่ว่าจะไม่มีคนเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองต่อ พอผมรู้ว่ายังมีคนทำอยู่ก็ดีใจ ฝากขอบคุณเพื่อน ๆ ด้วย”
ปัจจุบัน (27 ส.ค. 2567) “ขุนแผน” หรือ เชน ชีวอบัญชา ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 41 วัน หลังจากเขาถูกศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาคดีมาตรา 112 และดูหมิ่นศาล จำคุก 3 ปี 6 เดือน จากคดีร่วมกิจกรรมเรียกร้องสิทธิประกันตัวสองนักกิจกรรมทะลุวังที่หน้าศาลอาญากรุงเทพใต้
.
ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม
บันทึกเยี่ยม คดี ‘112’ แม็กกี้-อัญชัญ: “ยังรอความหวังต่อไป ทั้งที่ไม่มีข่าวเรื่องอภัยโทษ”