บันทึกเยี่ยม 6 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ขอบคุณแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน – คนข้างในก็ยังสู้อยู่

สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทนายเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดี 112 ทั้งที่อยู่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส,เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และทัณฑสถานหญิงกลาง 

ที่นราธิวาส “อุดม” แจ้งข่าวเรื่องการได้ย้ายแดน และต้องปรับตัวกับที่อยู่ใหม่ แต่ก็ได้ใช้ประสบการณ์ที่เคยเป็นทหารเกณฑ์มาก่อนหลังได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ช่วยฝึกแถวผู้ต้องขังใหม่ “กัลยา” ที่อยู่นราธิวาสเช่นกันเล่าว่า ได้คุยโทรศัพท์กับแฟนผ่านการเยี่ยมเป็นครั้งแรกแล้ว รู้สึกดีใจและร้องไห้ตลอดการพูดคุย และอัพเดตถึงสุขภาพเรื่องการปวดบริเวณหัวเข่า 

ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ “อัญชัญ” ที่ขณะนี้ถูกคุมขังหลังศาลมีคำพิพากษามามากกว่า 3 ปีแล้ว ฝากขอบคุณถึงแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน เธอหวังว่าสักวันจะเป็นประโยชน์ ก่อนจะแสดงความรู้สึกห่วงใยถึง บุ้ง, ตะวัน และแฟรงค์ ที่อดอาหารประท้วงเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัว 

ส่วนที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ “อารีฟ” มาบอกเล่าเรื่องสุขภาพที่ช่วงนี้ตอนกลางคืนมักนอนไม่ค่อยหลับ ต้องหากิจกรรมทำ เช่น อ่านหนังสือ และอยากได้หนังสือเกี่ยวกับดนตรีเข้ามาอ่านอีก ด้าน “เวหา” ที่ใช้วิธีอารยะขัดขืนในเรือนจำตามแบบที่ตัวเองพอจะทำได้ พูดถึงการส่งจดหมายถึง รมว.กระทรวงยุติธรรม เกี่ยวกับเรื่องการบังคับใช้มาตรา 112 ที่สุดท้ายจดหมายฉบับนั้นไม่ได้ถูกส่งออกไป 

และเก็ทเล่าว่า เขาพูดคุยกับเหล่าผู้ต้องขังเรื่องสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการสู้คดี รวมถึงสิทธิของผู้ต้องขังในเรือนจำ ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงสิทธิของตนมากขึ้น และยืนยันกิจกรรมยืนหยุดขังวันละ 1.12 ชั่วโมง

.

อัญชัญ: ฝากขอบคุณแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชนที่ยังสู้อยู่ หวังว่าสักวันมันจะเป็นประโยชน์

วันที่ 20 ก.พ. 2567 อัญชัญยิ้มและโบกมือให้ทนายตั้งแต่เห็นหน้า ทนายรู้สึกว่าป้าดูไม่ค่อยสดใสเหมือนเดิม และวันนั้นเนื่องจากมีเวลาเยี่ยมแค่ 15 นาที ทนายจึงนำรูปภาพจากแคมเปญ ส.ค.ส. ให้ดู ป้าพยายามไล่อ่านทุกข้อความอย่างตั้งอกตั้งใจ เมื่อได้พูดคุยกัน สิ่งแรกที่อัญชัญบอกคือ “ฝากขอบคุณทุกคนที่ส่ง ส.ค.ส. มาให้ป้าด้วยนะลูก รู้สึกตื้นตันใจมากจริง ๆ” 

อัญชัญเล่าว่า มีคนส่งจดหมายมาให้กำลังใจด้วย แต่ป้าก็รู้สึกว่าถูกปิดกั้นเรื่องจดหมายอยู่ดี เพราะไม่ได้รับจดหมายที่แอมเนสตี้ส่งมาให้ฉบับหนึ่ง ไม่ทราบว่าเป็นเพราะอะไร ก่อนอัพเดทชีวิตช่วงนี้ว่า สบายดี กำลังศึกษาโหราศาสตร์อยู่ เรียนไพ่ยิปซี เลข 7 ตัว 9 ฐาน “ออกไปป้าจะดูดวงให้นะ (หัวเราะ) ก็เรียนไปเรื่อย ๆ แหละ มันไม่มีอะไรทำ”

สำหรับแคมเปญนิรโทษกรรมประชาชน ป้าบอก “ขอบคุณมาก ๆ เลยที่ยังสนใจผู้ต้องขังทางการเมือง ขอบคุณที่ยังสู้อยู่ ยังไม่ทิ้งกัน ป้าหวังว่าสักวันมันจะเป็นประโยชน์ ฝากให้กำลังใจพรรคการเมืองที่ร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ด้วยนะลูก ถ้าประชาชนไม่สู้ เขาก็คงไม่รู้ว่าประชาชนคิดยังไง“

ทนายยังอัพเดทสถานการณ์ผู้ต้องขังทางการเมืองให้ฟัง บอกป้าว่า บุ้ง ตะวัน แฟรงค์ กำลังอดน้ำอดอาหาร ป้ามีท่าทีตกใจและเคร่งเครียดขึ้นมาทันที เธอยกมือขึ้นนวดขมับ พลางถามไถ่อาการของเด็ก ๆ อย่างเป็นห่วง

“จะทำยังไงดี ประเทศนี้คงปิดปากเราไปเรื่อย ๆ เขาไม่สนใจประชาชนเลย แล้วจะอยู่รอดมั้ย ป้าเป็นห่วง อยากให้เด็ก ๆ มีชีวิตอยู่รอการเปลี่ยนแปลง อยากให้คนอายุน้อย ๆ ได้เห็น”

จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางหลังศาลมีคำพิพากษามาแล้ว 3 ปี กับ 43 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 9 วัน

ย้อนอ่านคดีของอัญชัญ

.

อุดม: ได้ย้ายแดนไปอยู่แดนผู้ต้องขังระหว่างพิจารณาคดี หลังเรือนจำมีนโยบายปรับโครงสร้างใหม่ 

วันที่ 27 ก.พ. 2567 อุดมเล่าให้ทนายฟังว่า ได้ย้ายจากแดน 7 มาอยู่แดน 5 เนื่องจากทางเรือนจำมีนโยบายปรับโครงสร้างใหม่ โดยแดน 5 เป็นแดนแรกเข้า คุมขังคนที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดี (คดียังไม่ถึงที่สุด) 

อุดมเล่าสภาพปัญหาของแดน 5 ว่า มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ต้องอาบน้ำคนละ 3 ขันเอง เนื่องจากระบบการจัดการยังไม่ดีพอ ยังมีผู้ต้องขังในแดนรวมทั้งหมด 650 คน แต่มีข้อดี คือ มีโทรทัศน์ สามารถรับข่าวสาร ดูละครได้ ตั้งแต่เวลา 10.00 – 12.00 น. ทั้งในเรือนนอนก็มีโทรทัศน์ เปิดดูละครได้จนถึง 22.00 น. นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมให้เลือกทำแล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน เช่น มีเครื่องดนตรีให้เล่น 

อุดมยังแจ้งข่าวดีว่า ผู้คุมได้คัดเลือกให้เขาเป็นผู้ช่วยครูฝึกแถวผู้ต้องขังใหม่ (ผู้ช่วยงานครูฝึกแถว) เนื่องจากอุดมมีประสบการณ์การฝึกแถวมาก่อนจากการที่เคยเป็นทหารเกณฑ์ ซึ่งเขาเคยมาประจำการเฉพาะกิจที่จังหวัดนราธิวาสด้วย ก่อนที่บทสนทนาท้าย ๆ อุดมบ่นว่า น้อยใจโชคชะตาชีวิตของตนเองเหมือนกัน เกิดมาพร้อมกับความลำบาก ทำงานหาเงินเลี้ยงตนเองตั้งแต่เด็กจนโต ความสุขผ่านเข้ามาในชีวิตแล้วก็ผ่านไปไว

สุดท้ายอุดมกล่าวว่า “ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดี” อย่างน้อยสามารถเป็นกระบอกเสียงให้คนในสามจังหวัดภาคใต้ได้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับมาตรา 112 หรือผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และยังกล่าวว่า “ผมอยู่ในนามผู้เสียสละ”

จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) อุดมถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสในระหว่างฎีกามาแล้ว 185 วัน 

ย้อนอ่านคดีของอุดม

.

กัลยา: ปวดเข่า-ต้นขาซ้ายตลอดเวลา ยิ่งอากาศเย็นก็ยิ่งปวด นั่งพับขาได้ไม่เกิน 5 นาที 

วันที่ 27 ก.พ. 2567 กัลยาทักทายทนายด้วยสีหน้ายิ้มแย้มสดใส แต่ดูเหนื่อย ๆ ก่อนบอกว่า เพิ่งเสร็จจากการฝึกแถว ทำกิจกรรมตอนเช้า และเล่าต่อว่า เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2567 เพิ่งได้คุยโทรศัพท์กับแฟนผ่านการเยี่ยมเป็นครั้งแรก ดีใจมากระหว่างคุยกันร้องไห้ตลอดเลย แต่เสียดายได้คุยแค่ 15 นาทีเอง 

ทนายสอบถามถึงอาการป่วย กัลยาบ่นว่า “ปวดที่หัวเข่าและต้นขาบนข้างซ้าย ปวดตลอดเวลา ยิ่งตอนอากาศหนาวเย็นก็ยิ่งปวดมากขึ้น นั่งพับขาได้ไม่เกิน 5 นาที” ทนายถามว่าตอนนี้ปวดไหม กัลยาบอกว่า ก็ปวดอยู่ แต่สามารถเดินได้ตามปกติ ปวดแบบอยู่ได้ 

เมื่อถามถึงกระบวนการดูแลรักษาของทางเรือนจำ กัลยาบอกว่า ที่นี่ขอยายากมาก อาศัยประคองชีวิตเอาเอง มีอยู่วันหนึ่งเธอปวดหัวมาก จึงขอยาจากผู้คุม แต่ผู้คุมไม่ให้ แล้วสั่งให้อาสาสมัครเรือนจำวัดความดัน และแนะนำให้ดื่มน้ำเยอะ ๆ ใช้น้ำแข็งประคบ แต่ก็ไม่ได้ให้น้ำแข็งมา โชคดีที่มีน้ำหวานอยู่แถวนั้น เธอจึงเทน้ำแดงออกเอาน้ำแข็งมาประคบบรรเทาความปวดพอได้ 

สำหรับในเรือนนอนกัลยาบอกว่า เวลานอนจะปูที่นอนโดยใช้ผ้านวม 1 ผืน นอน 4 คน ต้องนอนตะแคงและขดตัว เวลาจะขยับตัวต้องบอกคนที่อยู่ตรงข้ามว่าขออนุญาตนอนหงาย แต่ต้องนอนแบบฟันปลา ซึ่งกัลยาบอกว่า ปวดมากเวลานอนตะแคงนาน ๆ

จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) กัลยาถูกคุมขังที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสในระหว่างฎีกามาแล้ว 134 วัน 

ย้อนอ่านคดีของกัลยา

.

อารีฟ: ช่วงนี้ตอนกลางคืนรู้สึกง่วง แต่นอนไม่หลับ เลยอ่านหนังสือฆ่าเวลาไปเรื่อย

วันที่ 27 ก.พ. 2567 อารีฟเข้ามาที่ห้องเยี่ยมช้ากว่าปกติ เมื่อเข้ามาก็ทักทายทนายตามปกติ พร้อมกับแจ้งว่า แม่เก็ทเพิ่งมาเยี่ยมเลยทำให้มาพบทนายช้า 

เมื่อทนายถามถึงสุขภาพ อารีฟเล่าว่า ช่วงนี้ตอนกลางคืนนอนไม่ค่อยหลับ มักจะสะดุ้งตื่นตอนตีหนึ่งถึงตีสอง เขากลัวว่าความเครียดจะลงกระเพาะ ซึ่งช่วงนี้ก็กินน้อยลงมาก แต่รวม ๆ แล้ว ถือว่ายังโอเคอยู่

วันต่อมา อารีฟนั่งรออยู่ในห้องเยี่ยมทนาย สวมเสื้อผู้ต้องขังสีฟ้าตามปกติ ผมยาวขึ้นมาอีกเล็กน้อย ใส่หน้ากากอนามัยแบบผ้าสีขาว ก่อนเปิดออกให้ดูและบอกว่าใส่ตอนออกมา เพราะไม่ได้โกนหนวด อารีฟเล่าอีกว่า ได้เจอเก็ตเวลาที่ญาติมาเยี่ยม เพราะแม่เก็ทจะเบิกอารีฟไปด้วยตลอด แม่เก็ทมาเยี่ยมสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง 

อารีฟเล่าว่า เขายังโดนปั่นประสาทเหมือนเดิม เจอทุกวัน เข้ามาแซะ เช่น “ไอ้พวกไม่รักเจ้า ไม่รักในหลวง” เขาก็พยายามจะไม่สนใจ ช่วงนี้จะนอนดูทีวีตั้งแต่ 16.00 – 21.30 น. พอทีวีปิดก็จะนอนกึ่งหลับกี่งตื่น แล้วก็มาตื่นช่วงห้าทุ่มหรือไม่ก็เที่ยงคืน แล้วก็นอนไม่หลับ ตาสว่าง ซึ่งเขาก็นอนอ่านหนังสือไปเรื่อย ๆ จนถึงตีสามตีสี่ บางทีก็ถึงหกโมงเช้าถึงจะหลับ นอนได้นิดหน่อยก็ตื่นมาเช็คแถวตอน 07.50 น. แล้วค่อยอาศัยไปหานอนกลางวันเอา  

เมื่อทนายให้อธิบายอาการตื่นกลางดึก อารีฟบอกว่า ก็ง่วงนะ แต่นอนไม่หลับ อ่านหนังสือไปเรื่อยเปื่อย เมื่อคืนอ่านหนังสือเพลง แล้วก็ร้องเพลงในใจ จนจบเล่ม 200 กว่าหน้า ว่างมาก เพราะตื่นมาตอนดึก ถ้าเป็นไปได้เดือนหน้าอยากได้หนังสือเพลงแนวโฟล์คซอง เพราะชอบเล่นดนตรี  กีต้าร์ก็ได้ คาฮองก็ได้ กลองก็ได้ 

อารีฟเล่าอีกว่า ตอนนี้จริง ๆ ในแดนก็มีกีต้าร์ แต่เขาบอกเล่นไม่ได้ อ้างว่าเป็นของคนอื่น ต้องเป็นของกองงานดนตรีถึงจะเล่นได้  

จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) อารีฟถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 156 วัน 

ย้อนอ่านคดีของอารีฟ

.

เวหา: ยังแสดงออกถึงอารยะขัดขืน ยืนประท้วงหน้ากล้องวงจรปิด-เขียนข้อความใส่แผ่นกระดาษ 

วันที่ 28 ก.พ. 2567 ที่ห้องเยี่ยม เวหาชิงทักทายทนายก่อน ทนายเริ่มการสนทนาด้วยการอัพเดตสถานการณ์ตามปกติ จากนั้นได้ถามถึงการประท้วงหรือแสดงอารยะขัดขืนในเรือนจำ เวหาเล่าว่า ทุกวันนี้ยังทำอยู่ ยังยืนประท้วงหน้ากล้องวงจรปิด และเขียนข้อความใส่แผ่นกระดาษเพื่อเป็นการแสดงออกถึงอารยะขัดขืน ซึ่งเมื่อชูป้ายกระดาษเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหน้าที่เข้ามาถ่ายภาพเพื่อไปทำรายงาน  

ก่อนจะเล่าว่า ตอนนี้ความเป็นอยู่ของเขาก็เรื่อย ๆ แต่อยากทราบข่าวของเพื่อน ๆ มากกว่า โดยปกติแล้ว ถ้าทนายยังไม่ได้เข้ามาเยี่ยมก็จะติดตามอัพเดตข่าวจากเพื่อน ๆ ป้า ๆ ที่เข้าเยี่ยม 

เวหาแจ้งด้วยว่า เขาได้เขียนจดหมายส่งถึงรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม แต่จดหมายไม่ผ่าน โดยเนื้อหาในจดหมายพูดเกี่ยวกับมาตรา 112 ในทำนองว่า การบังคับใช้มาตรา 112 ในปัจจุบันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการเมืองโดยตรง อยากให้ รมต.ยุติธรรม พิจารณาตรงนี้ด้วย “จริง ๆ เราเชื่อมั่นมาตลอดว่า รัฐบาลนี้เป็นรัฐบาลที่มาจากประชาชน เลยเชื่อมั่นว่าจะทำเพื่อประชาชน เวลาจดหมายส่งไม่ผ่านทางเรือนจำจะแจ้งแค่ว่า จดหมายไม่ผ่าน แต่ไม่แจ้งว่าไม่ผ่านเพราะอะไร ขนาดเขียนคำว่า ‘กำลังใจ’ เต็มหน้ากระดาษ ทางเรือนจำยังไม่ให้ผ่านเลย”

จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567) เวหาถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 289 วัน 

ย้อนอ่านคดีของเวหา

.

เก็ท: คนข้างในตรงนี้ก็ยังสู้อยู่

วันที่ 27 ก.พ. 2567 เก็ทเล่าให้ทนายที่เข้าเยี่ยมฟังว่า ช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมานี้ เขาได้พูดคุยกับผู้ต้องขังคดีทั่วไปในแดน 4 ถึงเรื่องสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการสู้คดี รวมถึงสิทธิของผู้ต้องขัง ทำให้พวกเขาเข้าใจถึงสิทธิของตนมากขึ้น  

เก็ทยังคงพยายามเขียนจดหมายออกไปจากเรือนจำหวังยื่นถึงกระทรวงยุติธรรม เรื่องการถูกขังระหว่างพิจารณาคดีทำให้ไม่สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เขียนเรื่องตะวัน, แฟรงค์ และบุ้ง ชี้ว่า ต่อให้ไม่ป่วยพวกเขาก็ควรได้รับสิทธิพื้นฐานในการต่อสู้คดี รวมถึงสิทธิที่จะได้รับการประกันตัว เพราะต้องได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ 

ก่อนจะอัพเดตว่า ผู้ต้องขังที่แดน 4 ยังคงยืนหยุดขัง เวลา 08.00 – 09.12 น. และฝากข้อความว่า คนข้างในตรงนี้ก็ยังสู้อยู่ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนในช่วงเวลาแบบนี้

จนถึงปัจจุบัน (1 มี.ค. 2567)  เก็ทถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 191 วัน

ย้อนอ่านคดีของเก็ท

ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม

บันทึกเยี่ยม 8 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ยังไม่มีใครได้ประกันตัว แต่ทุกคนยังคาดหวัง

X