บันทึกเยี่ยม 4 ผู้ต้องขังคดี ม.112: ‘วุฒิ’ ยังไม่ได้ตรวจปอดแม้ไอหนัก – ‘เวหา’ เล่าถึงการซื้อขายยาแก้ไข้ในเรือนจำ – ‘อารีฟ’ กำลังใจดีหลังได้พบลูกเมีย – ‘เก็ท’ ตั้งคำถามเรื่องการจัดการนักกิจกรรมของตร.

ระหว่างวันที่ 16-20 ต.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม 4 ผู้ต้องขังทางการเมืองซึ่งถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ได้แก่ ‘วุฒิ’ ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี และ ‘เวหา’, ‘เก็ท’ โสภณ, และ ‘อารีฟ’ วีรภาพ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

‘เวหาและวุฒิ’ ยังอยู่ระหว่างการรักษาตัว โดย ‘วุฒิ’ ได้พบหมอและได้รับยาพาราฯ แต่สิ่งที่เขาต้องการอย่างแท้จริงคือการได้ตรวจเอกซเรย์ปอด เนื่องจากเขามีอาการไออย่างหนัก ขณะที่ ‘เวหา’ กำลังปรับตัวกับการเริ่มกินอาหารประเภทเนื้อ 

ด้านอารีฟบอกว่าเขาปรับตัวได้ดีหลังถูกจำแนกแดนและมีกำลังใจมากขึ้นเมื่อได้พบกับครอบครัวที่จองเยี่ยมผ่านไลน์ ส่วนเก็ทซึ่งทราบเรื่องการบาดเจ็บของบุ้งที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็ได้แสดงความห่วงใย และตั้งข้อสังเกตถึงวิธีการทำงานของตำรวจกับกลุ่มคนรักสถาบันฯ เทียบกับกลุ่มคนเห็นต่างทางการเมือง 

.

วุฒิ: หมอยังไม่ตรวจวัณโรคให้ อ้างผลตรวจปอดเมื่อ 2 เดือนก่อนปกติดี แม้ปัจจุบันมีอาการไอหนัก

วุฒิเล่าให้ฟังว่าเขาได้ไปหาหมอเมื่อวันที่ 17 ต.ค. โดยหมอเรียกไปตรวจ ติดตามอาการและสอบถามอาการหลังจากที่รับการรักษาไปเมื่อสัปดาห์ก่อน เขาบอกว่าไม่ได้มีอาการปวดหัวหรือมีไข้แล้ว แต่ยังมีอาการไอตลอดและมีเสมหะ โดยในการตรวจครั้งก่อนหมอให้ยาลดไข้กับยาพาราฯ อย่างละ 10 เม็ด ไม่มียาแก้ไอหรือยาลดเสมหะให้ 

“ยาในนี้มีแค่นี้แหละครับ รอบนี้หมอไม่ได้ให้ยาอะไรมาเพิ่มอีก แต่เดี๋ยวผู้ช่วยจะเอายามาให้ที่แดน สำหรับเรื่องขอตรวจวัณโรค ผมบอกหมอแล้ว แต่หมอบอกว่าผลตรวจปอดผมที่เคยเอกซเรย์ไว้เมื่อ 2 เดือนแรกที่เข้ามาเรือนจำ ไม่มีความผิดปกติ ถ้าปอดมีความผิดปกติ หมอจะแจ้ง และจะมีการตรวจเอกซเรย์ครั้งใหญ่อีกครั้งเร็ว ๆ นี้”

วุฒิบอกว่าญาติกับแฟนของเขาไม่ได้มาเยี่ยมเนื่องจากเรือนจำอยู่ไกลและมีค่าใช้จ่ายเยอะ เขาบอกว่าตอนนี้ที่บ้านก็ลำบากกัน เขาจึงรอวันที่จะได้พบกับครอบครัวที่ศาล ซึ่งคดีของเขามีกำหนดสืบพยานที่ศาลอาญามีนบุรีในวันที่ 22-24 พ.ย. นี้

วุฒิพูดถึงข่าวทนายอานนท์ที่ไม่ได้รับการประกันตัวจากการยื่นครั้งที่ 2 แต่ในขณะเดียวกันก็มีนักการเมืองที่ดูเหมือนจะหนีคดี แต่ได้ประกันตัวในคดีทุจริต 

“ความเป็นธรรมไม่เคยเกิดขึ้นกับพวกผมเลย ดูเค้าเลือกปฏิบัติชัดเจน ในคดีการเมืองคนที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ไม่ได้หนี แต่ก็ไม่เคยได้ประกัน มันอดคิดไม่ได้ว่าความเป็นธรรมไม่มี เป็นใคร ๆ ก็คิด มันปฏิเสธความจริงไม่ได้ หากเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐ เราไม่เคยได้รับความยุติธรรมเลย”

วุฒิยังได้ฝากกำลังใจให้เพื่อนผู้ต้องขังที่กำลังรักษาตัวทุกคนด้วยความห่วงใยเช่นที่เป็นมาเสมอ

“เป็นกำลังใจให้วารุณีและเวหา ผมเป็นห่วงมาก ๆ กลัวเค้าจะเป็นอะไรไป ตอนนี้อยากให้ทั้ง 2 คนดูแลตัวเอง รักษาสุขภาพไว้ และก็ขอให้เอกชัยหายป่วยไว ๆ นะครับ ผมเห็นเพื่อน ๆ ในเรือนจำทุกคน เข้าใจดีว่าการเจ็บป่วยในนี้มันแย่ อยากให้ทุกคนได้รับการรักษาที่ดี และได้รับยาถูกต้องกับโรค”

นอกจากนี้เขาได้ทิ้งท้ายคำขอบคุณทุกคนที่ยังเรียกร้องให้มีการปล่อยผู้ต้องขังทางการเมือง “มันทำให้มีความหวัง มีกำลังใจขึ้นมาตลอด อยู่ข้างในกำลังใจใหญ่ ๆ มาจากคนข้างนอกนี่แหละครับ”

.

เวหา: เรือนจำเต็มไปด้วยคนป่วย – มีการซื้อขายยาเกิดขึ้นในแดน

วันนี้ห้องเยี่ยมแบบผ่านกระจกและห้องเยี่ยมผ่านกล้องไม่ว่าง เจ้าหน้าที่จึงให้คุยกับเวหาผ่านโทรศัพท์ในห้องเยี่ยมทนายความ โดยเป็นการเยี่ยมในลักษณะที่มีแต่เสียงไม่มีภาพ

เวหาเล่าว่า เขาเริ่มกินเนื้อได้แล้ว กระเพาะสามารถย่อยได้ แต่ยังมีอาการของโรคกระเพาะอยู่ โดยจะปวดท้อง เวลากินอะไรเข้าไปต้องเผื่อเวลาเจ็บท้อง 1 ถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งหมอได้ให้กินยาโรคกระเพาะไปก่อน เขาบอกว่าปกติตามหลัก เนื้อมื้อแรกควรเป็นปลา แต่อาหารทั่วไปของที่นี่ไม่มีปลา เขาจึงได้กินไก่แทน 

นอกจากนี้เขาบอกว่ายังมีอาการไม่ค่อยอยากอาหารร่วมด้วยเนือง ๆ เวหาบอกว่าแม้เขาไม่ได้อดอาหารแล้ว แต่ยังอยู่ในการดูแลของทางแดนและแพทย์  โดยเข้าใจว่ายังมีการรายงานสภาพความเป็นอยู่และสภาพร่างกายของเขาออกไปภายนอกอยู่

เขายังบอกว่าเพิ่งมีอาการหวัด แต่หายดีขึ้นแล้ว เวหาเล่าว่าข้างในเรือนจำมีไข้หวัดใหญ่ระบาดหนัก ตอนนี้เขายังทำงานที่ห้องสมุด ซึ่งปัจจุบันกลายเป็นเหมือนที่พักเพราะใครป่วยก็จะมานอนพักที่นั่น 

“ผมติดและหายไปก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ช่วงระบาดใหม่ ๆ แต่ตอนนี้ทุกคนไม่มีใครรอดแล้ว ติดกันจนครบ ระบาดหนักมาก คนที่เป็นคือนอนซม ลุกไม่ขึ้น ปวดเมื่อย ดีที่ยังไม่มีใครสาหัสถึงกระทบชีวิต ล่าสุดเจอเก็ท เก็ทก็ติด”

เวหายังเล่าถึงปัญหาเกี่ยวกับสถานการณ์การหาซื้อยาพาราฯ ในเรือนจำ ระหว่างที่ทุกคนล้วนเจ็บป่วยและการจะได้ยามาเป็นไปอย่างยากลำบาก

“ยาที่มีก็เป็นพาราฯ ยาข้างในนี้หายากมาก ใครมีเขาก็เอามาขายกัน เกิดตลาดมืดข้างใน ซึ่งยาที่เขาขายกันมันก็คือพาราฯ ยาแก้แพ้ ยาลดน้ำมูก ที่ปกติข้างนอกเราหาได้ง่าย ๆ แต่ที่ต้องซื้อขายกันเพราะว่าถ้าเราต้องการยามากินรักษาตัว ก็ต้องลงชื่อไปหาหมอ แล้วหมอถึงให้ยามา อย่างเร็วที่สุดก็ 3-4 วัน ซึ่งมันไม่ทันกับอาการป่วยที่เกิดขึ้นหนัก ๆ แล้ว ทางออกก็คือต้องซื้อยามากินเอง”

เขายังได้พูดถึงการมีหนังสือจากรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมให้สำรวจผู้ต้องขังที่โทษยังไม่เด็ดขาดว่ามีใครที่มีความต้องการประกันตัว แต่ไม่มีหลักทรัพย์บ้าง เวหาไม่แน่ใจว่าทำไมจึงมีการสำรวจ แต่เขารู้สึกว่าเป็นสัญญาณบางอย่างว่าฝ่ายบริหารก็คงคิดจะทำอะไรกับเรื่องนี้อยู่

เวหาทิ้งท้ายว่าแม้เขาจะเคยเข้าเรือนจำมาแล้ว แต่ก็พบว่าการอยู่ในเรือนจำทำให้ต้องระวังการสูญเสียตัวตนของตัวเองเพราะสภาพแวดล้อมมีแต่ความวุ่นวาย เสียงดัง และพูดจาไม่ดีใส่กัน นอกจากนี้การรวมผู้คนไว้หลากหลายทำให้เกิดการทะเลาะกันบ่อยครั้ง บางครั้งเขาก็ตกอยู่ในความเครียดเพราะเลือกและหลบเลี่ยงสภาพแวดล้อมเช่นนี้ไม่ได้

.

อารีฟ วีรภาพ: การได้เห็นหน้าแฟน หน้าลูกก็ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น

ทนายได้เข้าเยี่ยมอารีฟผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์ เนื่องจากเขายังอยู่ระหว่างการกักตัว หลังจากย้ายมาอยู่แดน 5

อารีฟบอกว่าช่วงนี้สุขภาพกาย-ใจดีขึ้น แม้ยังคงต้องทานยาซึมเศร้าที่เรือนจำจัดให้ทุกวัน นอกจากนี้ยังได้เจอเพื่อน ๆ คดีการเมืองที่อยู่ในแดนเดียวกันหมดแล้ว โดยได้คุยกันบ้างและบางคนก็อยู่เรือนนอนใกล้กัน

อารีฟบอกว่าแดน 5 ไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเพราะส่วนใหญ่ต่างคนต่างอยู่ เขารู้สึกดีกว่าตอนที่โดนกักตัวอยู่ที่แดน 2 เพราะตอนอยู่แดน 2 แทบไม่ได้ออกจากเรือนนอน “มันอุดอู้ แต่พอมาอยู่นี่ก็ได้ลงมาข้างล่าง เดินไปมาบ้าง”

นอกจากนี้เขายังมีความรู้สึกว่า ‘อาหารหลวง’ ของแดน 5 ดีกว่าแดน 2 เพราะ ‘ยังพอมีเนื้อมีหนังให้กินบ้าง’ เขาพูดย้ำจากที่เคยพูดไปแล้วว่าอาหารแดน 2 แย่มาก ๆ กินไม่ได้เลย 

อารีฟบอกว่าตอนนี้เขาอยู่กับบ้านคนใต้ ซึ่งส่วนใหญ่กลุ่มบ้านในนี้จะแบ่งตามจังหวัดหรือเขต แต่อารีฟบอกว่าอยู่กับคนใต้สบายใจกว่า จึงมาอยู่บ้านนี้ โดยจะกินข้าว อาบน้ำด้วยกัน 

เขาเล่าย้อนกลับไปสัปดาห์ก่อน ว่าแฟนกับลูกมาเยี่ยมผ่านไลน์ครั้งแรก โดยมีเวลาให้ 20 นาที 

“ตอนแรกคิดว่าเยอะ สรุปไม่พอ แล้วพอหมดเวลาเจ้าหน้าที่ก็ตัดสัญญาณเลย ที่จริงคิดว่าจะเข้มแข็งต่อหน้าลูกได้ แต่พอได้เห็นหน้าลูกก็น้ำตาแตกเลยครับ แต่การได้เห็นหน้าแฟน หน้าลูกก็ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น ทุกวันนี้ก่อนนอนก็จะเอารูปลูกขึ้นเรือนนอนมาดูทุกคืนก่อนนอน คิดถึงลูกมาก อยากกอดลูก”

อารีฟบอกว่าก่อนเข้าเรือนจำ เขาเพิ่งเริ่มงานนักดนตรีได้ไม่กี่วัน และอันที่จริงกำลังจะได้เป็นเด็กเสิร์ฟในร้านด้วย แต่ยังไม่ทันเริ่มทำ เมื่อทางร้านรู้ว่าเขาต้องเข้ามาอยู่ในนี้ ก็ได้ให้กำลังใจมาด้วย 

อารีฟทิ้งท้ายว่าเขาไม่ค่อยได้คิดหรืออยากทำอะไร เพราะคิดแค่อย่างเดียวว่าอยากกลับบ้าน นอกจากนี้เขายังได้พูดถึงมาตรา 112 ว่า  “ไม่ควรมีใครต้องโดน 112 มาตรานี้ควรต้องได้รับการแก้ไข การใช้ 112 เหมือนเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองมากกว่า”

.

เก็ท โสภณ: ตั้งคำถามการทำงานของตำรวจ มุ่งจัดการแต่กับคนเห็นต่าง

เก็ทเริ่มต้นด้วยการแสดงความเห็นเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตำรวจศาลฟาดบุ้งด้วยดิ้วเหล็กจนเกิดการบาดเจ็บ ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ เมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2566 ขณะที่บุ้งและหยกเดินทางไปให้กำลังใจโฟล์คในคดีมาตรา 112 ที่ถูกพิพากษาลงโทษ จำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา

“ผมมองว่าเจ้าหน้าที่ทำเกินกว่าเหตุ หากจะอ้างว่าการตะโกนคุยกับผู้ต้องหา เป็นการละเมิดอำนาจศาล แบบนี้ชาวบ้านที่ไปตะโกนคุยกับญาติเค้าก็โดนละเมิดอำนาจศาลกันหมด มันเป็นเรื่องปกติมาก ๆ ที่ใต้ถุน ในระหว่างที่จำเลยรอผลประกัน  หากจะบอกว่าพี่บุ้ง หยกทำไม่ถูกต้อง แล้วคุณมีสิทธิ์อะไรไปทำร้ายร่างกายพี่บุ้ง ไปจับหยกทำไม ยิ่งเป็นเจ้าหน้าที่ ก็ต้องรับมือให้ได้

“ต่อให้เกิดการวิวาทจริง ทำไมไม่ใช้มือเปล่าละ ใช้อาวุธทำไม นี่ไม่นับว่าพี่บุ้งกับหยกเป็นผู้หญิงนะ อีกทั้งหยกก็ยังเป็นเด็กอยู่เลย มันแย่มาก ๆ ทั้งการที่เจ้าหน้าที่ศาลบอกว่าแจ้งศาลแล้วเรื่องละเมิดอำนาจศาล ผมรู้สึกตลกมาก” 

เก็ทแสดงความเห็นต่อไปโดยกล่าวถึงพฤติกรรมของกลุ่ม ศปปส. ซึ่งมีท่าทีคุกคามกลุ่มนักกิจกรรมหลายครั้งแม้อยู่ในศาล

“กับ ศปปส. ที่มาศาลด้วยท่าทีคุกคามกลุ่มผู้ต้องหาคดีชุมนุม คดีการเมือง ทำไมเจ้าหน้าที่ศาลไม่ทำงานแบบนี้บ้าง เปรียบเทียบเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่กลุ่มนี้ไปที่ศาล แล้วปาขวดใส่ ปาสิ่งของใส่บัสบาสที่ป้ายศาล ไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่ศาลออกมาห้ามปราม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ทำการจับกุมใด ๆ ปล่อยให้มีการทำร้ายร่างกันที่หน้าศาล”

“หรือในเคสของผม กลุ่มนี้ก็เคยท้าทายในบัลลังก์ศาลเลย ในวันที่มีการสืบพยาน พยายามพูดยั่วยุ ‘ว่าเอามั้ย ๆ ลงไปข้างล่างเลย’ ก็ไม่เห็นว่าศาลหรือเจ้าหน้าที่ศาลจะทำอะไรกับกลุ่ม ศปปส. กลุ่มคนรักสถาบันฯ เลย” 

เก็ทยังตั้งคำถามต่อว่า แม้มีการทำร้ายคนหรือข่มขู่เกิดขึ้น แต่เขาไม่เห็นว่ากลุ่มคนรักสถาบันฯ จะถูกตำรวจจัดการแต่อย่างใด

“ในคดี 112 บางคนมาด้วยท่าทีคุกคามคนเห็นต่างอย่างชัดเจน ผมเคยเจอที่ผู้ชายคนหนึ่งใส่เสื้อเกราะเข้ามาได้ ถ้าใส่เสื้อเกราะเข้ามาได้ เค้าก็พกอาวุธเข้ามาได้หรือเปล่า เจ้าหน้าที่ศาลก็ปล่อยเข้า 

“แล้วสังคมกลับเฉยชา เจ้าหน้าที่ตำรวจมักจะไม่สนใจ ไม่กล้าจับ ทั้ง ๆ ที่เค้ามีดิ้ว มีอาวุธ แต่กับพวกผมต่อให้ไม่มีอาวุธก็จับทันที ผมอยากให้สังคมกลับมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เกิดขึ้น เป็นห่วงเพื่อน ๆ มาก”

X