อาทิตย์กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่ถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยมีทั้งผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างการพิจารณาในศาลชั้นต้น ได้แก่ วุฒิ ที่ถูกฟ้องคดีมาตรา 112 และมาร์ค ชนะดล ที่ถูกฟ้องคดีครอบครองระเบิดปิงปองระหว่างการชุมนุมที่ดินแดง และผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างชั้นอุทธรณ์คดี ได้แก่ เวหา ในคดีมาตรา 112 และ “ธี” ถิรนัย ในคดีครอบครองระเบิดปิงปองเช่นกัน
.
วุฒิ “เครียดเรื่องประกันและเรื่องคดี แต่ยังมีความหวังกับการเลือกตั้ง”
“วุฒิ” ถูกอัยการมีนบุรีสั่งฟ้องในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์เฟซบุ๊กจำนวน 12 ข้อความ ในช่วงปี 2564 และไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณามาตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2566 ปัจจุบันเขาถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี มาแล้ว 87 วัน
เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2566 ทนายเล่าว่าเขาค่อนข้างเครียดเกี่ยวกับเรื่องการประกันตัวที่ศาลยังไม่อนุญาต และคดีความที่ยังต้องรอสืบพยานในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 แต่ก็รู้สึกมีความหวังกับผลการเลือกตั้ง การจัดตั้งรัฐบาล เขาคาดหวังว่าจะได้ประกันตัวออกมาสู้คดีข้างนอกอย่างเต็มที่
“อยู่ข้างในกว่าจะได้คุยเรื่องคดีก็ยาก และรู้สึกว่าไม่มีโอกาสได้ต่อสู้เลย ผิดหวังกับกระบวนการยุติธรรมมากๆ ผมก็ยังหวังว่าจะได้ประกันตัวออกไปก่อนศาลนัดครั้งหน้า หวังว่าจะได้สิทธิประกันตัวเหมือนคดีปกติ
เพราะกฎหมายบ้านเมืองเรามันบิดเบี้ยวแบบนี้ไง คนรุ่นใหม่ คนที่คิดได้เค้าเลยไม่ยอมกัน แค่คิดต่างก็ต้องโดนยัดข้อหา ยัดเข้าคุกง่ายๆ มันน่าเบื่อมากๆ”
เขาเล่าว่า ตอนออกจากเรือนจำไปที่ศาลคราวก่อนได้เจอแฟน ซึ่งทำงานเป็นแม่บ้านอยู่ในโรงงานย่านปทุมธานีเช่นเดียวกันกับเขา แต่ก็ได้คุยกันน้อยมากเพราะเจ้าหน้าที่ไม่ค่อยให้คุย ทั้งแฟนเขากว่าจะมาเยี่ยมแต่ละครั้ง ต้องลางานและต้องเดินทางค่อนข้างไกล ข้ามจากปทุมธานีมาที่มีนบุรี ทำให้มีค่าใช้จ่ายมาก จึงมาเยี่ยมไม่ได้บ่อย
“ผมก็ไม่กล้าจะคุยอะไรมาก ไม่รู้ว่าทำไมถึงกีดกันขนาดนี้ ผมคิดว่าออกศาลจะได้คุยจะได้บอกแฟนเรื่องจำเป็นบ้าง กลายเป็นว่าเจ้าหน้าที่คอยดู คอยห้ามอยู่ตลอด แฟนผมก็อยู่ไกลไม่ได้มาเยี่ยมเท่าไหร่ ถ้าเค้าจะมาเค้าก็ต้องหยุดงานมา ผมก็เข้าใจเค้าแหละ เพราะผมเข้ามาอยู่ในนี้เค้าก็ต้องรับผิดชอบดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด ไหนจะต้องแบ่งมาส่งให้ผมอีก ลางานทีก็โดนหักเงิน ไม่รู้ว่าจะช่วยแฟนยังไง”
นอกจากนี้เขายังบอกว่า “คอยติดตามเรื่องการเมืองอยู่ตลอด ในเรือนจำก็พอได้ข่าวบ้าง ผมก็ยังตาม ยังมีความหวังกับรัฐบาลก้าวไกลอยู่เสมอ”
สำหรับการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัวครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 2566 ศาลอาญามีนบุรียังคงยกคำร้อง โดยเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตประกันตัวชอบแล้ว เนื่องจากการกระทำที่ถูกฟ้องไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง ทั้งกระทบต่อความรู้สึกและศีลธรรมอันดีของประชาชน หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี
.
เวหา “ฝากถึงหยกอยากให้หยกเข้มแข็งมากๆ”
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 “เวหา” ผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 บอกกับทนายความว่าตอนนี้เขาได้ย้ายแดนมาอยู่ที่แดน 3 ซึ่งเป็นแดนที่รวมผู้ต้องขังสำคัญ โดยเจ้าหน้าที่จะต้องมีการถ่ายรูปทำรายงานส่ง ผบ.เรือนจำ ทุกวัน
“ตอนแรกผมขอจำแนกไปแดน 8 หรือถ้าไปแดน 8 ไม่ได้ ก็ขออยู่แดน 5, 6 ก็ได้ แต่เขาไม่ให้ บอกว่าเคยอยู่แดน 3 แล้ว ก็ไปแดน 3 นั่นแหละ ห้องที่ผมนอนก็มีกล้อง 2 ตัว”
เวหาบอกว่า ตอนนี้เขาได้มาทำงานอยู่กองงานห้องสมุด “ก็ได้ดูแลความเรียบร้อยภายในห้องสมุด เลยเห็นความขาดแคลนมาก หนังสือในแดนส่วนใหญ่มีแต่หนังสือธรรมะ สวดมนต์ ซึ่งมันไม่ใช่หนังสือที่ผู้ต้องขังอยากอ่าน
“ผมเลยคุยกับหัวหน้าฝ่ายควบคุมว่า อยากชวนพี่น้องข้างนอกร่วมกันส่งหนังสือเข้ามาในเรือนจำ รวบรวมส่งมาในกล่องสักใบ ไม่ต้องปิดผนึก เขียนว่า ‘ส่งถึงหัวหน้าฝ่ายควบคุมผู้ต้องขังแดน 3’ ระบุผู้ส่งว่า ‘เพื่อนเวหา’ แล้วผมจะไปตรวจสอบหนังสือ ก่อนเอาไปใส่ในห้องสมุด ผมคุยกับเขาแล้วเขาบอกว่าสามารถทำให้ได้”
เขายังคงเล่าถึงปัญหาความขาดแคลนหนังสืออีกว่า “ผู้ต้องขังบางคนติดหลายปี ในเรือนจำมันก็ไม่ได้มีความบันเทิงอื่นใดนอกจากหนังสือ แต่ข้างในมันเก่ามาก แมกกาซีนบางเล่มยังเป็นของปี 46-47 เลย ไม่ก็ชำรุดจนอ่านไม่ได้ หนังสือที่เขาชอบอ่านก็จะเป็นพวกแมกกาซีน นิยาย หรือบทความอะไรก็ได้ครับ”
“เราอยู่ด้วยกัน ก็ต้องมองกันเป็นมนุษย์เนอะ ข้างในทรัพยากรขาดแคลนมาก คนเยอะ คนไม่มีญาติเยอะมาก ถ้าผมสามารถแบ่งปันอะไรได้ก็แบ่ง แต่ถ้าให้แบ่งทั้งหมดคงไม่ไหว”
เวหายังทราบข่าวสารเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของหยก จึงฝากข้อความถึงหยกว่า “อยากให้กำลังใจมากๆ เข้าใจว่าการถูกวิพากษ์วิจารณ์มันกระทบกับจิตใจมากแค่ไหน ในฐานะคนที่โดนมาก่อน ผมก้าวข้ามความเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมมาหมดแล้ว หยกเองก็สู้มาขนาดนี้ ถ้าทำไปแล้วก็ต้องเข้มแข็งพอที่จะยอมรับสิ่งที่ตามมาให้ได้ ทั้งคำวิจารณ์ที่ดีและไม่ดี เพราะยังไงเราก็จะถูกโจมตีอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ตาม อยากให้หยกเข้มแข็งมากๆ”
ปัจจุบันเวหาถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้ว 35 วัน และศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ประกันตัว ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี 18 เดือน ไม่รอลงอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีใช้บัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝา ver.เกรี้ยวกราด” ทวีตข้อความเล่าประสบการณ์การถูกคุมขังในคุกเรือนจำชั่วคราวพุทธมณฑล เขตทวีวัฒนา หรือ #คุกวังทวี และทวีตข้อความจนเกิดกระแสใน #แอร์ไม่เย็น บนทวิตเตอร์ เมื่อช่วงปี 2564
.
ธี ถิรนัย “ผมโคตรอยากระบายความคับข้องใจที่ต้องมาอยู่ข้างในเลย”
“ธี” ที่ถูกคุมขังในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง พูดด้วยท่าทางเบื่อหน่ายว่าอยากกลับไปเรียนหนังสือ “อยากออกไปทำอะไรที่มันโอเคกว่านี้ อยากมีอิสรภาพ ไม่รู้ว่ายื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ศาลจะฟังหรือเปล่า ถ้าต้องติดคุก 3 ปีจริงๆ ผมคงรู้สึกเสียดายเวลามาก คนเราเกิดมาก็ไม่ได้มีชีวิตที่ยืนยาวนะ ผมทำเพื่อคนอื่นมาเยอะแล้ว อยากได้โอกาสทำเพื่อตัวเองบ้าง”
“หวังไว้ 50/50 แหละ ผมรู้ว่าศาลมีดุลยพินิจที่จะพิจารณาให้ผมออกหรือไม่ออกก็ได้ ผมอยากได้สิทธินั้นจากเขา”
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2566 ซึ่งได้มีการยื่นประกันตัวธีอีกครั้ง ศาลยังคง “ยกคำร้อง” โดยเห็นว่าไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม แม้ล่าสุดในคดีของธีและมาย ทนายความจะได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาไปแล้วก็ตาม
ธีเล่าให้ฟังว่า เขามักพูดคุยกับพวกผู้บริหารหรือคนที่มีตำแหน่ง มีการศึกษาสูงๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดกัน เขาอยากใช้จุดนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงอนาคตตัวเอง
“ผมไม่อยากให้คนมาพูดว่าเพราะเราเคยเกเร เราคิดไม่ได้ เลยต้องติดคุก ผมอยากใช้จุดนี้เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองให้มันดีขึ้น” เขากำลังสนใจและอยากได้หนังสือเกี่ยวกับภาษีอากร การบริหาร แล้วก็พวกนิติศาสตร์ ที่เขาอยากศึกษาเพิ่มเติม
“แม่บอกผมว่าจะไปเปิดร้านที่ตลาดสี่มุมเมือง เอาผลไม้มาลงขาย เค้าบอกผมว่า ออกไปก็ไม่ต้องเรียนแล้ว มาช่วยแม่ ช่วยย่า ดีกว่า เรียนหนังสือมันเปลืองเวลา ออกไปก็อายุเยอะแล้ว ผมบอกแม่ว่า ยังไงผมก็จะออกไปเรียนต่อ การเรียนไม่เคยเป็นเรื่องเปลืองเวลาสำหรับผม อายุเท่าไหร่ก็ไม่สายเกินไปหรอก อยู่ในเรือนจำนี่สิที่เปลืองเวลา” เขาหัวเราะ
“ถ้าได้ออกไป นอกจากเรียนหนังสือแล้วก็จะช่วยครอบครัวทำงาน ตอนอยู่ข้างนอก ผมเป็นคนจ่ายค่าใช้จ่ายในบ้านทุกอย่าง”
ธีเล่าย้อนกลับไปถึงช่วงเวลาก่อนที่ศาลจะตัดสิน
“ชีวิตผมกำลังจะดีขึ้นเลยนะ ที่บ้านก็บอกว่าผมโตขึ้นเยอะ ก่อนหน้านี้เพิ่งซื้อมอเตอร์ไซค์เป็นของขวัญตัวเอง แล้วจะทำงานผ่อนต่อ แต่ในวันที่ 15 ก.พ. (วันตัดสินคดี) ทุกอย่างพลิกผันหมดเลย”
“วันที่ผมโดนจับ ปี 2564 เป็นครั้งแรกที่ผมได้เข้าไปกักในที่บำบัด ระหว่างรอประกันตัว มันเป็นวันที่แย่ที่สุดในชีวิต เขาเอาข้าวเหม็นๆ เละๆ เหมือนข้าวหมามาให้ผมกิน น้ำก็เป็นน้ำที่เค้ารองจากก๊อกในห้องน้ำ ผมไม่กล้ากินอะไรเลย สิ่งแรกที่ขอตอนเจอหน้าครอบครัวคือขอกินน้ำ”
“พอได้ประกัน (ระหว่างพิจารณาคดี) กลับบ้าน น้ำตาไม่หยุดไหลเลยพี่ จากนั้นก็ได้ติด EM ลำบากมาก ไปไหนก็ต้องใส่ขายาว แม้แต่ตอนไปร่วมวันเกิดญาติตัวเอง สมัครงานเขาก็ไม่ค่อยจะรับ คนมองเหยียด จนพี่ผมเอาสติ๊กเกอร์ lll สีขาวมาแปะให้”
ปัจจุบันธีถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้ว 127 วัน และยังหวังเรื่องการได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
.
มาร์ค ชนะดล “ผมจะจำไม่ลืมเลยว่าครั้งหนึ่งประเทศเคยเป็นแบบนี้”
“วันนี้ครบ 3 เดือนแล้วนะพี่ที่ผมอยู่ในนี้” มาร์คบอกกับทนายเมื่อเจอกัน หลังไม่ได้รับการประกันตัวตั้งแต่ถูกอัยการสั่งฟ้องคดีครอบครองระเบิดปิงปองระหว่างการชุมนุมที่ดินแดง โดยศาลยังไม่ได้พิจารณาคดีแต่อย่างใด
ทนายความสังเกตว่ามาร์คดูเครียดมาก โดยเขาเล่าว่าเขามีอาการป่วย “ผมปวดหัวเหมือนเป็นไมเกรน มันปวดหัวข้างเดียว ปวดมา 2-3 วันล่ะ วันนี้เพิ่งจะดีขึ้น มันคิดมากเรื่องประกัน เรื่องคดี คิดไม่หยุดเลยพี่ ไหนจะเรื่องบ้านอีก วันก่อนเค้าลงเยี่ยมไลน์ แล้วผมเห็นสภาพบ้าน ครอบครัวที่ไม่มีผม มันแย่ลงจริงๆ”
“คำแรกที่ยายพูดคือ ไปจากบ้าน 3 เดือนแล้วนะ ผมไปไม่ถูกเลย ตั้งแต่นั้นผมก็คิดเรื่องที่บ้านมาตลอด ต่อให้พยายามจะไม่คิด มันก็ทำไม่ได้ แค่เห็นหน้ายาย เห็นที่บ้าน ผมไปไม่ถูกเลย มันไม่รู้จะทำยังไง ผมพยายามมีสติอยู่กับมันทุกวัน แต่มันยากมากๆ เลยพี่” มาร์คระบายความในใจเกี่ยวกับครอบครัวของเขา
เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2566 ทนายความยังได้แจ้งผลของคำสั่งขอประกันตัวให้มาร์คทราบ โดยศาลยังคงมองว่า “คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวชอบแล้ว” ทำให้ปัจจุบัน (21 มิ.ย. 2566) มาร์คถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมาแล้ว 99 วัน เมื่อมาร์คทราบผลการขอประกันตัวในครั้งล่าสุดเขากล่าวว่า
“เห็นคำสั่งแบบนี้ผมก็ไปไม่ถูกเลยจริงๆ ยื่นรอบหน้ามันก็น่าจะไม่ต่างกันมั้ย ผมจะทำยังไงดีพี่ ผมต่อสู้อะไรได้บ้าง หรือว่าผมควรรับให้มันจบๆ ไปไม่ถูกเลยจริงๆ ที่เค้าอ้างว่ากลัวหลบหนี เราก็ยินดีให้ติด EM แล้ว พฤติการณ์ที่ว่าร้ายแรง ผมก็ยังไม่ได้ลงมือกระทำเลยพี่ ผมงงว่าเค้าจะเล่นตลกอะไรกับผม ทุกวันผมรอทนายเข้ามา เวลา 19:30 น. ก็รอว่าจะมีชื่อผมมั้ย มันทรมานมากๆ เลยพี่ ความหวังของผมมันหายไปทุกครั้งที่ไม่ได้ประกัน”
เขายังคงระบายความอัดอั้นเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมต่อไป โดยคดีของมาร์คจะมีนัดสืบพยานที่ศาลอาญาในช่วงเดือนตุลาคม 2566 หากเขายังไม่ได้รับการประกันตัว ก็ต้องอยู่รอคอยการต่อสู้คดีภายในเรือนจำต่อไป
“ผมต้องปลุกตัวเองให้สู้ใหม่ทุกครั้งไป ถึงหมดหวังแค่ไหน แต่ผมก็บอกตัวเองว่ามันไม่ได้เป็นตามกฎหมายเลยกับคดีของพวกผม คดีอื่นได้ประกัน แต่พวกผมไม่ได้ มันไม่ยุติธรรมเลย ติด EM ก็ป้องกันการหนีได้ มันมีทางออกเยอะแยะ แต่เค้าเลือกจะไม่ใช้ทางออกไหนเลยกับคดีพวกผม”
“บางทีมันก็คิดนะ ประยุทธ์กับพวกกลับไม่ต้องมาอยู่ในนี้ ทั้งๆ ที่ทำการรัฐประหารมา เป็นกบฏจริงๆ แต่กลายเป็นพวกผมเองที่ต้องมาอยู่ในนี้ ทั้งๆ ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย”
“ผมจะจำไม่ลืมเลยว่าครั้งหนึ่งประเทศเคยเป็นแบบนี้”