Missing Votes: 1 เสียงก็เปลี่ยนประเทศได้ Voter ‘ถิรนัย’ รู้สึกเสียดาย สู้มานานแต่อาจไม่ได้เลือกตั้ง 

เสียงที่ถูก(ขัง)ลืม

เมื่อวันที่ 1 และ 2 พ.ค. 2566 ทนายความเดินทางไปที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อเข้าเยี่ยม “ธี” ถิรนัย (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วัย 22 ปี ซึ่งถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษาในคดีครอบครองวัตถุระเบิด (ระเบิดปิงปอง) ซึ่งถูกพบก่อนมีการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64 โดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ. 2566 ภายหลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ

ธียังคงมีแววตาที่สดใส ตอนนี้เขาได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ให้ทำหน้าที่ช่วยงานอยู่ในฝ่ายธุรการของเรือนจำ มีหน้าที่ดูแลรายงานของเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง เช่น รายงานการนับยอดประจำวัน รายงานการเข้า – ออกของผู้ต้องขัง เป็นต้น 

ทักทายกันได้ไม่ทันไร ธีก็เริ่มเร่งเร้าถามถึงการยื่นประกันตัวและอุทธรณ์คำพิพากษาของเขาและเพื่อนคู่คดีอย่าง “มายด์ – ชัยพร” ว่าจะมีทิศทางเป็นอย่างไรต่อไป ทั้งยังได้บอกอีกว่าได้อ่านคำฟ้องในคดีนี้แล้ว เมื่ออ่านเสร็จก็เกิดคำถามว่า เหตุใดอัยการจึงบรรยายฟ้องรุนแรงมากเกินกว่าความเป็นจริงไปมากเหลือเกิน 

“การที่เขาฟ้องผมกับพี่มายแบบนี้ สังคมจะมองพวกผมว่าเป็นคนหัวรุนแรงหรือเปล่า ทั้งที่ความเป็นจริงผมสองคน ‘ยังไม่ได้ทำอะไรเลย’ ระเบิดที่เขาอ้างก็เป็นแค่ ‘ประทัดลูกบอล’ ที่สามารถซื้อได้ตามตลาดทั่วไป ตามงานบุญ งานลอยกระทงเขาก็จุดกัน การที่เขาฟ้องแบบนี้ การที่ศาลตัดสินแบบนี้ มันไม่รุนแรงไปเหรอพี่”

“ผมอยากรู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ พอจะช่วยอะไรพวกผมได้มั้ย …” ธีถาม

เข้าใกล้วันเลือกตั้งเข้ามาทุกที ผู้ต้องขังในเรือนจำที่สนใจการเมืองก็มักจะจับกลุ่มพูดคุยกันในประเด็นนี้อย่างใจจดจ่ออยู่ตลอดๆ แม้พวกเขาส่วนใหญ่คงจะไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งของตัวเองก็ตาม ธีบอกว่าเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ที่มีอายุ 28 ปีขึ้นไป มักจะชื่นชอบ ‘พรรคก้าวไกล’ ส่วนคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ขึ้นไป ส่วนใหญ่มักจะชื่นชอบ ‘พรรคเพื่อไทย’ 

“เวลามีข่าวการเมือง เจ้าหน้าที่ก็จะมาชวนพวกผมคุยด้วย มาถามว่าผมรู้ข่าวนู้นนี้หรือยัง มาถามว่าแคนดิเดตนายกฯ คนนี้ดูเป็นยังไงบ้าง พิธา อุ๊งอิ๊ง ฯลฯ

“มีบางคนมาพูดกับผมว่า ‘นักการเมืองพวกนี้จะไว้ใจได้เหรอ, เขาจะช่วยจริงเหรอ, ถ้าหมดกระแสเขาก็ไป, มึงยังหวังอีกเหรอวะ, ติดคุกไปให้มันจบๆ เถอะ …’ ผมได้ยินก็รู้สึกโมโหนะ อยากถามกลับว่าอะไรทำให้เขามั่นใจขนาดนั้นนักการเมืองดีแต่พูด จะว่าผมหวังเกินตัวก็ได้ แต่ผมเชื่อว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะต้องมีเรื่องดีเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังในเรือนจำอยู่บ้าง ขึ้นอยู่กับว่าใครจะได้ขึ้นมาเป็นรัฐบาล”

สำหรับธี เขาเริ่มออกมาเคลื่อนไหวและชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์ ‘พรรคอนาคตใหม่’ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค เมื่อต้นปี 2563 และต่อมาได้เข้าร่วมกับกลุ่ม ‘อาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย’ เคลื่อนไหวเรื่อยมากระทั่งถูกดำเนินคดีนี้ ซึ่งเป็นเพียงคดีเดียวที่เขาถูกกล่าวหา 

ธีบอกว่าแรงจูงใจแรกเริ่มนั้นมาจากความตั้งใจต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น รวมถึงต้องการเรียกร้องวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่มีคุณภาพให้กับประชาชนคนไทยทุกคน

“ผมไม่ใช่นักโทษคดีอาชญากรรม ไม่ได้ปล้นหรือฆ่าใคร ‘คดีการเมือง’ มันต่างจากคดีประเภทอื่น ผมออกไปเคลื่อนไหวก็เพื่ออนาคตที่ดีกว่าของทุกคน ดังนั้นมันไม่ยุติธรรมเลยที่ผมต้องมาใช้ชีวิตในเรือนจำ …

“ถ้าประเทศมันไม่แย่ ผมคงไม่ได้เข้ามาอยู่ในคุกหรอก …”

Q: วันที่ 14 พ.ค. 2566 นี้ คุณอาจจะไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพราะถูกคุมขังและไม่ได้รับสิทธิการประกันตัว

A: รู้สึกเสียดายหากไม่ได้ใช้สิทธิ, ผมนั่งนับวันรอทุกวันว่าเมื่อไหร่จะถึงวันที่ 14 พ.ค. 2566 สักที ผมคอยแอบดูข่าว ถามข่าวจากเพื่อน ผมอยากเลือกตั้ง เพราะผมเชื่อว่าเสียงของทุกคนมีค่าเท่ากัน สิทธิหนึ่งเสียงก็สามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ ผมสู้มาตั้งนาน สุดท้ายกลับจะไม่ได้ไปเลือกตั้ง รู้สึกเสียดายมาก

Q: หากมีโอกาสได้พูดคุยกับ “ว่าที่ผู้นำประเทศ” (แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี) คุณอยากจะพูดหรือถามคำถามอะไร

A: คนแรก ผมอยากพูดกับ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จากพรรครวมไทยสร้างชาติว่า ถ้าบ้านเมืองดี ผู้ใหญ่รับฟังเด็ก ผมคงไม่ได้เข้ามาอยู่ในคุกหรอก ที่ผมเข้ามาอยู่ข้างในนี้ไม่ใช่ในฐานะนักโทษคดีอาชญากรรม แต่ผมต้องจำใจเข้ามาเพราะคุณ และที่ผมทำก็เพื่อประชาชนทุกคน 

คนที่สอง อยากบอกกับ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” จากพรรคก้าวไกลว่า ผมมั่นใจในตัวคุณ คิดว่าคุณพิธาจะทำได้ เขาจะสามารถเปลี่ยนแปลงการเมืองได้จริง ผมอยากให้แก้ปัญหาที่ผู้นำคนเก่าได้ทำผิดพลาดไว้ให้ได้โดยเร็ว

Q: “ผู้นำในดวงใจ” ของคุณต้องมีลักษณะโดดเด่นอย่างไรบ้าง

A: ยุติธรรม มีความรู้ มีคุณธรรม มองคนเท่ากัน 

Q: เสนอนโยบายของตัวเองให้พรรคการเมืองนำไปพิจารณาและผลักดันให้เกิดขึ้นจริงโดยเร็วที่สุด

A:   1. เพิ่มค่าแรง

       2. แก้ไขปัญหายาเสพติด

       3. ยุติการคอร์รัปชั่น

Q: หากมีการจัดการตั้งรัฐบาลขึ้นในเร็ววันนี้ ในมุมมองของคุณ “ปัญหาสำคัญใด” ในสังคมควรได้รับการแก้ไขมากที่สุด 

A: “ระบอบเผด็จการ” คือปัญหาสำคัญที่สุดของสังคมไทย ต้องรื้อเครือข่ายอำนาจเผด็จการให้สิ้นซากโดยเร็วที่สุด

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

เหตุในคดีนี้: ม็อบ29สิงหา วันที่ คฝ. สลายชุมนุม “เยาวชนทะลุแก๊ส” โดยไม่มีอำนาจ แต่จับ 37 ราย ดำเนินคดี 29 ราย เป็นเยาวชน 13 ราย

X