บันทึกเยี่ยม 4 ผู้ต้องขัง: ‘วุฒิ’ เจ็บป่วยเรื้อรัง กังวลวัณโรค – ‘เวหา’ ยังรักษาตัวจากผลกระทบการอดอาหาร – ‘เก็ท’ มุ่งมั่นวิพากษ์สังคม – ‘อารีฟ’ ปรับตัวกับการย้ายแดน ต่อสู้โรคซึมเศร้า

ระหว่างวันที่ 11-12 ต.ค. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม 4 ผู้ต้องขังทางการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ในคดีที่มีข้อหาหลักเป็นประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 4 คน ได้แก่ ‘วุฒิ’ ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรี และ ‘เวหา’, ‘เก็ท’ โสภณ, และ ‘อารีฟ’ วีรภาพ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

สภาพจิตใจโดยรวมของพวกเขายังดี ถึงแม้จะต้องเจอกับบททดสอบที่แตกต่างกันออกไป ‘เก็ท’ ยังคงมุ่งมั่นวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นทางสังคมแม้เขากำลังถูกคุมขังอยู่ก็ตาม ด้าน ‘วุฒิ’ ที่ถูกขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษมีนบุรีเพียงคนเดียวนั้นต้องต่อสู้กับความเจ็บป่วยเรื้อรัง ขณะที่ ‘เวหา’ ต้องต่อสู้กับผลกระทบทางร่างกายภายหลังยุติการอดอาหารและการตัดสินใจไม่อุทธรณ์คำพิพากษา 

‘อารีฟ’ ซึ่งเพิ่งเข้ามาอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และต้องถูกจำแนกแดน ต้องต่อสู้กับความกังวลที่จะถูกย้ายไปอยู่แดนที่เกรงว่าไม่มีเพื่อนผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอยู่เลย และโรคภัยไข้เจ็บอย่าง ‘โรคซึมเศร้า’ ยังไม่รวมถึงความห่วงกังวลเกี่ยวกับแฟนที่ต้องเลี้ยงลูกวัยทารกเพียงลำพัง
.


วุฒิ: ไข้และไออย่างหนัก-กังวลเรื่องวัณโรค

เมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2566 ทนายความได้รับแจ้งว่าระบบโทรศัพท์ของเรือนจำมีนบุรีเสียทั้งหมด ญาติ ทนาย ที่มาเยี่ยมผู้ต้องขังต่างต้องตะโกนคุยกันผ่านผนังกั้นอะคิลิค แต่เสียงดังมาก ทำให้ไม่สามารถพูดคุยกันได้เลย จึงจำเป็นต้องใช้วิธีเขียนใส่กระดาษเพื่อสื่อสารกัน 

วุฒิเล่าว่า ตอนนี้ป่วย กักตัว ดูอาการอยู่ที่ เรือนจำแดน 5 ซึ่งเป็นสถานพยาบาล โดนแดนดังกล่าวค่อนข้างแออัด แต่ก็น้อยกว่าที่แดน 10 ในแดนมีผู้ป่วยทั้งหมด 46 คน ที่สถานพยาบาลมีแพทย์ประจำ 1 คน และพยาบาล 1 คน วุฒิป่วยกระเซาะกระแซะมาตลอด เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้มาตรวจดูอาการ เนื่องจากวันจันทร์ที่ผ่านมาตัวร้อน มีไข้ขึ้นสูง 

“อาการผมถือว่าหนัก ถึงได้รับอนุญาตให้มาตรวจที่สถานพยาบาล โดยในวันนั้นมีแพทย์มาจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 4-5 คน ซึ่งนาน ๆ ทีจะเข้ามา ผมมีอาการตัวร้อน ไข้ขึ้นสูง 38 ได้ มีอาการไอตลอดเวลา ปวดหัว คันคอ เจ็บหน้าอกจากการไอ หมอวินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดธรรมดา ให้ยาพาราฯ มา 10 เม็ดเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่ผมแจ้งอาการไปว่าผมไอหนักมาก ๆ แต่หมอก็จ่ายยาให้เท่านี้

“ผมอยู่ที่สถานพยาบาลตั้งแต่วันจันทร์ (9 ต.ค.) แล้ว ตอนนี้อาการก็ดีขึ้น ไข้ลดลงแล้ว เห็นเค้าว่าจะส่งตัวผมกลับไม่เย็นนี้ ก็พรุ่งนี้ จริง ๆ ผมขอให้หมอตรวจวัณโรคให้ เพราะผมไอหนักมาก ๆ ไอจนเจ็บหน้าอก แต่หมอก็ไม่ได้บอกอะไร ผมไม่รู้เลยว่าผมจะได้ตรวจมั้ย 

“ผมกลัวว่าจะเป็นวัณโรค เพราะในเรือนจำผู้ต้องขังเป็นวัณโรคกันเยอะมาก ๆ ที่ผมรู้เพราะได้มาตรวจนี่แหละ ผู้ต้องขังด้วยกันเค้าบอก คือเรื่องแบบนี้เค้าไม่ปิดกัน ผมก็กังวลมาก ๆ แต่ไม่รู้จะทำยังไง อยู่ในเรือนจำมันกินนอนด้วยกันเยอะ หายใจ ไอใส่กัน มันป้องกันยาก

วุฒิยังบอกอีกว่าได้ทราบข่าวตี้ วรรณวลี ได้ประกันตัว ในคดีมาตรา 112 แม้ศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาจำคุก ก็ดีใจกับตี้ด้วย

“ในฐานะผู้ต้องหาคดีการเมือง เห็นใครได้ประกันก็ดีใจ แต่มันก็เศร้านะ ที่ผมและอีกหลายคนไม่ได้รับสิทธิการประกันในระหว่างต่อสู้คดีสักที ทั้ง ๆ ที่คดียังไม่มีคำพิพากษาตัดสินเลย อยากให้ศาลคืนสิทธิการประกันตัวให้ผู้ต้องหาทางการเมือง”

ก่อนจากกันวุฒิยังได้ฝากกำลังใจถึงผู้ต้องหาและผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนและฝากขอบคุณทุกคน และขอให้ติดตามข่าวสารกันต่อไป

ปัจจุบัน (16 ต.ค. 2566) วุฒิถูกคุมขังมาแล้ว 204 วัน 

.

เวหา: เริ่มเข้าสู่กระบวนการ Refeeding หลังอดอาหารนาน 49 วัน

11 ต.ค. 2566 เวหานั่งอยู่ในห้องเยี่ยมทนายด้านหลังกระจก ด้วยท่าทางนิ่ง ๆ ยิ้มเล็กน้อยตอนทนายความเดินเข้าไปทักทาย เขาเล่าว่า วันนี้เริ่มเข้าสู่กระบวนการ Refeeding แล้ว พึ่งได้เริ่มทานข้าวต้ม 

“หมอบอกว่าต้องทานแบบนี้ก่อนใน 3 วันแรก แล้วค่อย ๆ ปรับความเข้มข้นของอาหารขึ้น ทานได้น้อยมาก รู้สึกว่าเจ็บท้อง กินแล้วท้องอืด แม้ว่าจะกินข้าวเช้าไปตั้งแต่ 10 โมง (ทนายเข้าเยี่ยมตอน 14.00 น.) จริง ๆ แล้วก็จะมีข้าวเที่ยงด้วย แต่ก็ยังไม่ได้กิน เพราะรู้สึกหน่วง ๆ จะอ้วก เวียนหัว คลื่นไส้ แต่ก็ยังไม่ได้อ้วกออกมา ยังรู้สึกว่าหนักเกินไป แม้จะกินอาหารอ่อน ๆ” เขาบรรยายถึงสภาพร่างกายหลังกลับมาเริ่มรับประทานอาหาร 

“เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าให้ทานของอ่อน ๆ ย่อยง่ายก่อน ใน 3 วันแรก อย่างพวกโจ๊ก ข้าวต้ม เพราะเราไม่ได้ทานอะไรมานาน แล้วก็ให้สังเกตอาการตัวเอง จะได้เอาไปบอกหมอ ได้ชั่งน้ำหนักไป ตอนนี้หนัก 52 กิโล ลดลงมาจากก่อนเข้ามาในนี้ 8 กิโล

เวหาบอกว่าเขายังมีอาการอ่อนเพลียอยู่แม้ว่าจะทานอาหารแล้ว และตอนนี้ยังอยู่ในการดูแลของแพทย์ เป็นหมอที่ประจำสถานพยาบาล แต่ไม่รู้ว่าเป็นหมอด้านไหน 

“หมอที่นี่ดูแลค่อนข้างดูแลดี เหมือนเขามีกระบวนการรับมือกับการอดอาหารอยู่แล้ว ตอนนี้เจ็บท้องมากแต่ได้กินยารักษาโรคกระเพาะอยู่ คิดว่าเป็นเอฟเฟคจากการอดอาหาร”

เวหายังได้ย้ำถึงการตัดสินใจที่จะไม่อุทธรณ์ในคดีของตนเองอีกแล้ว โดยครั้งก่อนเขาได้ฝากข้อความไปบอกแม่ถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน 

“ไม่รู้จะพูดอะไรถึงแม่ มันเป็นอะไรที่ค่อนข้างหนักสำหรับเราทั้งสองคน แต่ที่เน้นคืออยากให้แม่ดูแลตัวเอง เพื่อวันนึงได้ออกไป จะได้เจอแม่อยู่ เพราะตอนนี้ก็เหลือแค่แม่คนเดียว”

นอกจากผลกระทบจากการอดอาหาร เวหาก็เป็นอีกหนึ่งคนที่ป่วยในช่วงอาทิตย์ก่อนแต่ปัจจุบันเขาบอกว่าตัวเองหายแล้ว แต่ก็บอกว่าหากในเรือนจำมีคนแออัดเพิ่มขึ้นอีก ก็อาจจะป่วยอีกได้ 

“เมื่อวานนี้มีคนจำแนกมาจากแดน 4 ประมาณ 20 คน แล้วไม่มีผ้าห่มเพียงพอ ห้องที่พวกผมอยู่ข้างล่างซึ่งเป็นห้องสำหรับคนที่เป็นผู้ช่วยงาน อยู่กัน 80 คน ต้องบริจาคผ้าห่มให้กับคนที่จำแนกแดนมาใหม่ คนละผืน คือปกติผู้ต้องขังจะมีผ้าห่มคนละ 3 ผืน ผืนนึงใช้เป็นหมอน อีกผืนใช้ปูนอน และอีกผืนใช้เป็นผ้าห่ม ถ้าจะให้รอผ้าห่มจากส่วนกลางต้องรอถึงปีงบประมาณใหม่” เวหาเล่าถึงความแออัดของผู้ต้องขังที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

เวหายังบอกถึงเรื่องผ้าห่มเพิ่มเติมอีกว่า ก่อนหน้านี้มีการเรียกคืนผ้าห่มตั้งแต่ ปี 61 ลงไป เก็บคืนไปไม่นานนี่เอง ไม่ถึงเดือน 

“ผู้ต้องขังมาเยอะ ทำให้เรือนจำหาผ้าห่มไม่ทัน ตอนนี้คนเยอะมาก นักโทษเด็ดขาดจะอยู่แดน 3, แดน 5, แดน 6 ใครที่ตัดสินแล้วจะถูกมาในแดนนี้ แล้วพอมาอยู่แดนนี้ ก็จะอยู่ยาว แต่ถ้าเป็นแดนระหว่าง คนมันหมุนเวียนก็อาจจะไม่หนาแน่นเท่าแดนขังเด็ดขาด ตอนนี้คนเข้ามาทุกสัปดาห์ ที่มีการจำแนก ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะจบที่ตรงไหน

“เรื่องหน้ากากอนามัยที่นี่มีแจก แต่ก่อนจะได้ ต้องทำกิจกรรมตามที่สั่งก่อน เช่น ลุกนั่ง 10 ครั้ง คือที่นี่ 

เหมือนพยายามกันไม่ให้นักโทษขอบ่อย ส่วนใหญ่นักโทษก็จัดหากันเอง ส่วนหน้ากากอนามัยของผมยังมีอยู่ เพียงพอสำหรับแบ่งคนอื่นด้วย”

เมื่อถามถึงสภาพจิตใจ เวหาตอบว่ารู้สึกโล่งใจที่ได้ผ่อนคลายวิธีการเรียกร้องที่ส่งผลกระทบต่อร่างกาย อย่างไรก็ดี เขาบอกว่าตอนนี้ก็ค่อนข้างทำใจที่จะต้องติดยาวและค่อนข้างควบคุมอารมณ์ตัวเองได้ดี 

“มีเพื่อนที่มานั่งให้กำลังใจกัน บางทีเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกันก็มานั่งคำนวณว่าวันติดเหลืออยู่เท่าไหร่ วันติดเท่านี้จะได้ชั้นไหน ถ้าอภัยโทษจะกี่ปี ส่วนตัวจะได้ชั้นช่วงสิ้นปี ชั้นแรกที่ได้น่าจะเป็นชั้นกลางเลย ส่วนพวกคดี เกี่ยวกับเพศ พวกความผิดเกี่ยวกับร่างกายจะเริ่มต้นที่ชั้นเลวมาก

“คือชั้นนักโทษจะมีชั้น เลวมาก เลว กลาง ดี ดีมาก เยี่ยม ซึ่งแต่ละชั้นก็จะมีสิทธิที่แตกต่างกัน เช่น อยู่ชั้นไหนก็มีสิทธิสมัครฝึกอบรมวิชาชีพชั้นนั้น ส่วนผู้ต้องขังที่สามารถออกมาทำงานข้างนอกได้ ต้องเป็นชั้นเยี่ยมเหลือโทษน้อย  

“ถ้าปล่อยคดีเด็ดขาด เช่น เราจำคุก 1 เดือน จะได้วันลดโทษ 5 วัน แล้วถ้ามีเรื่องอภัยโทษก็ลดโทษไปอีกครึ่งของโทษเลย แต่เรื่องอภัยโทษก็แล้วแต่วาระ ไม่ได้มาทุกปี ส่วนมากถ้าไม่ใช่อภัยโทษก็จะหวังเรื่องวันลดโทษกัน” เขาอธิบายระบบการจัดชั้นนักโทษและการคิดคำนวณเรื่องการลดโทษในเรือนจำ

ปัจจุบัน (16 ต.ค. 2566) เวหาถูกคุมขังมาแล้ว 152 วัน 

.

เก็ท โสภณ: ผู้มีอำนาจกำลังงัดกับยุคสมัยที่คนตื่นรู้แล้ว


12 ต.ค. 2566 เก็ทแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาแจ้งข้อกล่าวหาในคดีชุมนุมช่วงเอเปคถึงในเรือนจำ โดยเก็ทให้ทนายเข้าร่วมฟังด้วย แต่เขาไม่ได้ลงลายมือชื่อใด ๆ ทั้งสิ้น เก็ทมีความเห็นว่าสถานการณ์คดีทางการเมือง มีคดีฟ้องใหม่อยู่เรื่อย ๆ แม้เป็นรัฐบาลเพื่อไทยแล้ว 

“มันชัดแล้วว่า 112 ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลไหน ก็ยังคงถูกใช้กับผู้เห็นต่างเช่นเดิม”

เก็ทยังพูดถึงว่าผู้มีอำนาจกับพวกโหนสถาบันว่า กำลังงัดกับยุคสมัยที่คนตื่นรู้แล้ว

“แม้ตอนนี้มันจะเงียบ แต่มันไม่ได้แปลว่าคนไม่สนใจนะ สุดท้ายแล้วคนที่ตื่นรู้จะแสดงออกมาอยู่ดีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง และมันแค่สะสมเพื่อรอเวลาระเบิด”

เก็ทยังได้แสดงความคิดเห็นเรื่องวันสำคัญในไทยเนื่องจากใกล้ถึงวันหยุดยาวของเดือนตุลาคม ว่ามักจะมีแต่วันสำคัญของชนชั้นนำ ทั้งที่ประชาชนก็มีวันสำคัญหลายอย่าง แต่ไม่ได้รับการให้ความสำคัญอย่างที่ควร 

“เช่น 14 ตุลา ที่ควรจะเป็นหนึ่งในวันที่เราควรเฉลิมฉลองกับชัยชนะในการขับไล่เผด็จการทหารสำเร็จด้วยพลังประชาชน ถึงแม้มันจะกลับมาใน 3 ปีก็เถอะ หรืออย่างวันชาติที่เคยเป็นวันที่ 24 มิถุนายน ก็ถูกกลืนไปกับวันที่ 5 ธันวาแทน 

“มาร่วมกันพูดถึงเรื่องราววันสำคัญของคนสำคัญในการเรียกร้องประชาธิปไตย วันเกิด-วันเสียชีวิตจิตร ภูมิศักดิ์, ทองใบ ทองเปาด์ บอกเล่าบอกต่อเรื่องราวของประชาชนคนธรรมดาบ้าง ไม่ได้มีแต่ชนชั้นนำที่ทำอะไรดี ๆ ให้ประเทศ”

นอกจากเก็ทจะสนใจสอบถามสถานการณ์ของผู้ต้องขังคนอื่น ๆ ทั้งยังฝากถามต่อคุณทักษิณ ชินวัตร ด้วยว่า “คุณกลับประเทศมาแล้ว คุณออกมาแสดงความรับผิดชอบแต่กรณีตากใบ กรือเซะ ในฐานะมนุษย์ด้วยกันได้หรือไม่”

นอกจากนี้เก็ทได้ทิ้งท้ายถึงปัญหาระบบเยี่ยมญาติของเรือนจำ “แม่เคยบอกว่ามารอรับคิวตั้งแต่ตี 4 ของญาติเพื่อนคนอื่น ๆ ก็เช่นกัน ถ้าต้องการเยี่ยมเร็วก็ต้องมาเช้ามาก ๆ” 

ปัจจุบัน (16 ต.ค. 2566) เก็ทถูกคุมขังมาแล้ว 54  วัน 

.

อารีฟ วีรภาพ: ต่อสู้กับอาการซึมเศร้า-แพนิค แต่ก็พยายามอดทนเพื่อลูก

12 ต.ค. 2566 ทนายยังคงได้เจออารีฟผ่านจอภาพเหมือนครั้งก่อน แต่จอไม่เสียแล้ว ทำให้พอได้เห็นหน้าค่าตากันบ้าง อารีฟเล่าว่าเมื่อวานจำแนกแดนเรียบร้อยแล้ว แต่ใจจริงไม่อยากย้ายแดนเลยเพราะไม่รู้จะย้ายไปเจออะไร แม้ตอนอยู่แดนนี้ก็มีเขม่น ๆ กันกับผู้ช่วยบ้าง แต่อย่างน้อยเขาก็พอปรับตัวได้แล้ว

อารีฟบอกว่าที่จริงแล้วตอนที่เจ้าหน้าที่แจ้งผลว่าจะได้อยู่แดนไหน อารีฟได้ยินว่าตัวเองอยู่แดน 4 แต่พอถามซ้ำเพื่อยืนยัน เจ้าหน้าที่กลับบอกว่าตนเองอยู่แดน 5 โดยพอย้ายแดนแล้ว เขาน่าจะต้องถูกกักตัวอีกประมาณ 5 วัน อารีฟค่อนข้างกังวล เขาไม่อยากไปอยู่แดน 5 หรือแดน 6 เพราะ ทั้งผู้คุม ผู้ช่วย และเพื่อนนักโทษต่างบอกว่าเป็นแดนวินัย มีคนในแดนไม่ชอบนักโทษคดีการเมือง ทำให้ไม่ค่อยสบายใจที่จะต้องไปอยู่

“ไม่รู้มีใครอยู่แดน 5 บ้าง ไม่รู้จะมีนักโทษคดีการเมืองอยู่ด้วยกันมั้ย อยู่แดนนี้อย่างน้อยก็มีบุ๊คกับทนายอานนท์อยู่ห้องข้าง ๆ ได้เจอกันบ้างสั้น ๆ ตอนลงไปซื้อของ”

สำหรับเรื่องจิตใจ อารีฟเล่าว่าเมื่อว่าเพิ่งได้เจอหมอจึงได้ยาซึมเศร้ามากิน 

“ได้เป็นยาซึมเศร้าเหมือนที่เคยกินก่อนเข้ามา กับยาแก้อาการแพนิค ซึ่งคิดว่าน่าจะอ่อนกว่าที่เคยกิน เพิ่งกินไปเมื่อเช้าเป็นครั้งแรก แล้วคิดว่าหลังจากนี้อาการซึมเศร้าน่าจะดีขึ้นเพราะมียากินแล้ว หมอให้กินตอนเช้ากับก่อนนอน”

อารีฟยังเล่าว่ากลางคืนเขายังฟุ้งซ่านอยู่ คิดเรื่องที่อยากออกไปตลอด

“ช่วงตี 2 ตี 3 ตื่นขึ้นมาร้องไห้ แต่ก็พยายามนึกถึงลูก พยายามดึงสติ อดทนเพื่อลูก พอพูดถึงลูกหรือครอบครัวน้ำตาก็จะไหล เนื่องจากอยู่แต่ในห้องเกือบทั้งวัน ได้ออกมาแค่ตอนซื้อของ ไม่ก็ตอนที่ทนายมา สภาพแวดล้อมมันแย่มาก ทำให้รู้สึกหดหู่อยู่ตลอด สภาพจิตใจก็แย่ แต่ช่วงนี้มีคนญี่ปุ่นที่อยู่ห้องเดียวกันมาคุยด้วยบ้าง เค้าเห็นเราเหม่อหรือร้องไห้ก็จะมาถามไถ่บ้าง ก็ยังดีหน่อย

“แต่สังคมข้างในมัน toxic คนส่วนใหญ่ในนี้ก็หวังรออภัยโทษ เลยไม่ค่อยมีใครอยากยุ่งกับเรา แต่ก็ยังดีมีเพื่อนคอยคุยเล่นบ้าง คนสองคน”

เขาเล่าว่าก่อนหน้าที่จะเข้ามาในเรือนจำ เขาทำงานมาตลอด เคยทำงานเซเว่น ล่าสุดกำลังจะเริ่มงานที่ร้านเหล้า แต่ก็มาเข้าเรือนจำเสียก่อน ส่วนเรื่องการเลี้ยงลูกวัยขวบกว่า ปกติแฟนเป็นคนเลี้ยงเป็นหลัก จะได้เจอหน้าลูกก็หลังเลิกงานกลับบ้านแล้ว 

“อยู่ในนี้ก็คิดถึงลูกมาก ๆ คิดถึงลูกตลอด อยากรู้ลูกกับแฟนเป็นยังไงบ้าง อยู่กันได้มั้ย”

อารีฟยังเล่าย้อนกลับไปว่าวันที่ เก็ทเข้าเรือนจำ อารีฟเป็นหนึ่งในคนที่มาส่งเอง ยังพูดติดตลกอยู่เลยว่า “ไม่ต้องห่วงนะ เดี๋ยวเดือนหน้าก็ได้อยู่ด้วยกัน สรุปศาลก็ตัดสินให้เข้ามาอยู่ในนี้จริง ๆ”

เขาบอกกับทนายว่าวันที่มีคำพิพากษา แฟนและลูกก็ไปฟังด้วย แต่พอไม่ได้กลับบ้านพร้อมครอบครัว ก็เศร้าและวิตกกังวลไปหมด 

“ช่วงวันแรก ๆ ที่เข้ามาเลยดาวน์มาก ๆ ยังคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ คิดว่าทำยังไงจะได้กลับไปเจอลูก แต่ช่วงนี้เริ่มปรับตัวได้แล้ว พยายามควบคุมอารมณ์ เริ่มจัดการความรู้สึกได้แล้ว พยายามคิดว่าเพื่อลูกจะต้องอดทนจนกว่าจะได้ออกไปให้ได้ ถ้าเทียบกับที่เข้ามาวันแรก วันนี้ดีขึ้นมากแล้ว”

อารีฟบอกว่าโดยปกติเขาเป็นคนกินเยอะ กินวันละ 4-5 มื้อ แต่พอมาอยู่ข้างใน ‘อาหารหลวง’ (อาหารเรือนจำ) กินไม่ได้เลย ต้องซื้อกิน แล้วก็กินแค่วันละมื้อสองมื้อ จนรู้สึกได้เลยว่าตัวเองน้ำหนักลดลง 

“เมื่อวานตอนไปเจอหมอ พอเห็นหน้าตัวเองก็รู้สึกว่าซูบไปเยอะเลย รู้เลยว่าน้ำหนักหายไปหลายกิโล”

ปัจจุบัน (16 ต.ค. 2566) อารีฟถูกคุมขังมาแล้ว 19 วัน 

X