วันที่ 19 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดฟังคำพิพากษาคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “อดีตสามเณรโฟล์ค” หรือ สหรัฐ สุขคำหล้า บัณฑิตชั้นปริญญาตรีจากวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ สมาชิกแนวร่วมราษฎรศาลายาเพื่อประชาธิปไตย เหตุจากปราศรัยในม็อบ ‘บ๊ายบายไดโนเสาร์’ ของกลุ่มนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563
ศาลพิพากษาว่าสหรัฐมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์จึงลดโทษเหลือ 2 ปี ก่อนได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ 300,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขประกัน
ย้อนไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 โฟล์ค สหรัฐ ซึ่งในขณะนั้นเขาบวชเรียนเป็น “สามเณร” ได้ขึ้นปราศรัยภายใต้หัวข้อ ‘อำนาจที่มองไม่เห็นและความรุนแรงของรัฐ’ ในการชุมนุม #ม็อบบ๊ายบายไดโนเสาร์ ที่จัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับระบบการศึกษาและปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา ผ่านการสะท้อนปัญหาจากเยาวชน
ต่อมา ‘รัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์’ ประชาชนทั่วไป เข้าไปแจ้งความไว้ที่ สน.ปทุมวัน เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 โดยอ้างว่าได้ฟังพบการเผยแพร่เทปบันทึกคำปราศรัยของสหรัฐและเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน กล่าวหาในข้อความปราศรัยสองส่วนหลัก
1.ข้อความตอนหนึ่งว่า “เมื่อคุณได้เข้าไปที่วัด คุณมักจะเห็นการเทศน์ของพระสงฆ์ แต่คุณไม่เคยตั้งคําถามหรือถามพระสงฆ์กลับไปว่า สิ่งที่พระสงฆ์สอนนั้นมันถูกจริงหรือไม่ ทําไมการที่พูดถึงพระราชานั้นจะต้องพูดถึงแค่ด้านดีอย่างเดียว ทําไมเราไม่พูดถึงภัยของพระราชาบ้างครับ…”
2. ข้อความตอนหนึ่งว่า “…พล.อ. ประยุทธ์ ได้บอกว่า เนี่ย จะมีการใช้กฎหมายทุกมาตรา แม้กระทั่ง 112 ถ้าคุณพูดแบบนี้ปุ๊บเนี่ย พระมหากษัตริย์จะผิด คําสัญญาหรือคําซื่อสัตย์นะครับ เพราะกษัตริย์ตรัสว่า จะไม่ใช้ 112 กับมวลชน และมันมีที่มาบอกว่า กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคํา ถ้าคุณยังใช้ ม.112 เนี่ย แสดงว่าคุณยังเป็นกษัตริย์อยู่หรือไม่…”
การสืบพยานในคดีนี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 สหรัฐรับข้อเท็จจริงได้ว่าได้พูดปราศรัยตามคำฟ้องจริง แต่คำปราศรัยไม่ได้เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด จากนั้น ศาลจึงสืบพยานทั้งฝ่ายรวมแล้วทั้งหมด 7 นัด จนเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 5 ก.ย. 2566 ที่ผ่านมา
ภาพรวมการสืบพยานโจทก์กล่าวหาว่าจำเลยปราศรัยเป็นการทำลายสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน ส่วนด้านจำเลยต่อสู้ว่า เป็นการพูดถึงปัญหาในศาสนาพุทธ รวมถึงเสนอหลักการแยกศาสนาออกจากรัฐ และประเด็นเรื่องการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 เป็นการวิจารณ์พลเอกประยุทธ์ ที่ทำให้พระมหากษัตริย์ผิดคำสัญญาตามหลักทศพิธราชธรรม
.
วันนี้ (19 ต.ค. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 604 เวลาประมาณเก้าโมงเศษ โฟล์ค สหรัฐ เดินทางมาถึงศาล โดยมีเพื่อนนักกิจกรรม อาจารย์ นักข่าว ประชาชนทั่วไปหลายคนเดินทางเข้ามาให้กำลังใจ ขณะที่รอฟังคำพิพากษา
เวลา 9.45 น. จงมาด อักษรเสนาะ และ ชนิดา เลิศสิทธิสกุล ผู้พิพากษาออกนั่งบัลลังก์และเริ่มอ่านคำพิพากษาราว 20 นาที โดยมีใจความสำคัญสรุปได้ว่า
ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ว่า ทั้งศาสนาและคนต่างมีข้อดีและข้อเสีย มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงวิจารณ์พลเอกประยุทธ์ที่กล่าวอ้างคำพูดของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่อย่างไรก็ตาม ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่าองค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ทั้งนี้ ขณะเกิดเหตุจำเลยบวชเป็นเณร ต้องระมัดระวังในการพูดของตน การที่จำเลยแสดงความคิดเห็นว่า ศาสนาและพระราชามีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งอ้างว่าเป็นคติสอนใจ แต่การที่จำเลยกล่าวอ้างถึง “ภัยพระราชา” ซึ่งพยานโจทก์เบิกความทำนองเดียวกันว่าฟังแล้วเข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงทำให้ประเทศเสียหายและอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับฟังเกิดความดูถูกเกลียดชังพระมหากษัตริย์
และถ้อยคำปราศรัยในเรื่องกษัตริย์จะผิดสัญญาหรือคำซื่อสัตย์ กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ในเรื่องการใช้มาตรา 112 ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นคำพูดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏว่าเคยทรงมีรับสั่งใด ๆ ให้ใช้มาตรา 112 เป็นเพียงนายกรัฐมนตรีที่ออกมาให้สัมภาษณ์เพื่อปรามผู้ที่มีพฤติการณ์หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์
ขณะที่จำเลยพูด ร.10 ยังทรงครองราชย์อยู่ แต่มีการปราศรัยและแสดงออกไม่เหมาะสม คำปราศรัยทำให้ประชาชนคล้อยตามคำพูดได้ และเกิดความเข้าใจว่ากษัตริย์ว่าไม่น่าเคารพ และประชาชนเกิดความเสื่อมศรัทธา จึงเห็นว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุให้ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนคำขอที่ให้นับโทษคดีนี้ต่อจากคดีที่ศาลแขวงดุสิตและศาลแขวงพระนครเหนือ เนื่องจากทั้งสองคดียังไม่มีคำพิพากษาออกมา จึงให้ยกคำร้องในส่วนนั้นไป
หลังศาลอ่านคำพิพากษา ศาลแจ้งว่าหากไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาก็สามารถยื่นอุทธรณ์และฎีกาได้ตามลำดับ
จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลกำลังจะเตรียมใส่กุญแจมือโฟล์ค และนำตัวลงไปใต้ถุนศาล ได้มีนักกิจกรรมเข้าไปเจรจากับเจ้าหน้าที่ จนในที่สุดโฟล์คก็ถูกควบคุมตัวลงไปใต้ถุนศาลโดยที่ไม่ได้ใส่กุญแจมือ
จากนั้นนายประกันจึงได้ยื่นขอประกันตัวจำเลยในชั้นอุทธรณ์ ต่อมาเมื่อเวลา 13.25 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์คดี โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 300,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์
โดยกำหนดเงื่อนไขเช่นเดิมที่โฟล์คได้รับประกันตัวระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น คือ ห้ามจำเลยร่วมการชุมนุมอันอาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก, ห้ามกระทำการใด ๆ อันจะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต โดยให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ดูฐานข้อมูล คดี 112 “สามเณรโฟล์ค” ปราศรัยในม็อบ #บ๊ายบายไดโนเสาร์ วิจารณ์การนำ ม.112 กลับมาใช้