เปิดฟ้องคดี ม.112 ‘อดีตสามเณรโฟล์ค’ เหตุปราศรัยกิจกรรม “บ๊ายบายไดโนเสาร์” ปลายปี 63

คดีนี้สหรัฐได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 โดยคดีดังกล่าวมีนายรัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ เป็นผู้เข้าแจ้งความไว้ที่ สน.ปทุมวัน โดยอ้างว่าได้ฟังพบการเผยแพร่เทปบันทึกคำปราศรัยของสหรัฐและเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อรัชกาลที่ 10 จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คดีใช้เวลา 5 เดือนครึ่ง จึงถูกอัยการฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาล

รพีพัฒน์ ภักดีวงศ์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 เป็นผู้เรียงบรรยายฟ้องคดีนี้ โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือ แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการขึ้นกล่าวปราศรัยในหัวข้อ “อํานาจที่มองไม่เห็น” แก่ประชาชนทั่วไปประมาณ 500 คน ที่เข้าร่วมการชุมนุมสาธารณะทางการเมือง ชื่อกิจกรรมว่า “บ๊ายบายไดโนเสาร์” ซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มผู้ชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า “กลุ่มนักเรียนเลว” ที่ถนนพระรามที่ 1 บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) สถานีสยาม แขวงปทุมวัน 

การชุมนุมมีวัตถุประสงค์ในการจัดการชุมนุมสาธารณะทางการเมืองนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับระบบการศึกษาและปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน นักศึกษา ผ่านการสะท้อนปัญหาจากเยาวชน

พนักงานอัยการได้แนบคำถอดเทปการปราศรัยฉบับเต็มมาในท้ายฟ้อง แต่ได้คัดเลือกและเน้นเฉพาะข้อความจากการถอดเทปบางตอนเข้ามาในการบรรยายฟ้อง โดยบรรยายว่าข้อความดังกล่าวเข้าข่ายองค์ประกอบมาตรา 112 ซึ่งประกอบด้วย 2 ข้อความ ได้แก่

1.ขณะขึ้นปราศรัย จําเลยได้กล่าวข้อความตอนหนึ่งว่า “เมื่อคุณได้เข้าไปที่วัด คุณมักจะเห็นการเทศน์ของพระสงฆ์ แต่คุณไม่เคยตั้งคําถามหรือถามพระสงฆ์กลับไปว่า สิ่งที่พระสงฆ์สอนนั้นมันถูกจริงหรือไม่ ทําไมการที่พูดถึงพระราชานั้นจะต้องพูดถึงแค่ด้านดีอย่างเดียว ทําไมเราไม่พูดถึงภัยของพระราชาบ้างครับ…” 

อัยการบรรยายว่า คําว่าพระราชา หมายถึง พระมหากษัตริย์ และขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ข้อความดังกล่าวจึงทําให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งได้รับฟังหรืออ่านข้อความนั้นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 เป็นบุคคลผู้ทรงน่ากลัว หรือเป็นบุคคลผู้ทรงอันตรายที่จะนําพามาซึ่งความเดือดร้อนแก่ประเทศ 

2. ข้อความตอนหนึ่งว่า “…พล.อ. ประยุทธ์ ได้บอกว่า เนี่ย จะมีการใช้กฎหมายทุกมาตรา แม้กระทั่ง 112 ถ้าคุณพูดแบบนี้ปุ๊บเนี่ย พระมหากษัตริย์จะผิด คําสัญญาหรือคําซื่อสัตย์นะครับ เพราะกษัตริย์ตรัสว่า จะไม่ใช้ 112 กับมวลชน และมันมีที่มาบอกว่า กษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคํา ถ้าคุณยังใช้ ม.112 เนี่ย แสดงว่าคุณยังเป็นกษัตริย์อยู่หรือไม่…”

อัยการบรรยายว่า ข้อความดังกล่าวทําให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมหรือประชาชนทั่วไปซึ่งได้รับฟังหรืออ่านข้อความนั้นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ทรงตรัสว่าไม่ให้ใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ หรือจะไม่ใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 มาดําเนินคดีกับผู้ที่ล่วงละเมิดสถาบัน และภายหลังกลับคําให้มาใช้กฎหมายอาญา มาตรา 112 บังคับแก่ประชาชน ทําให้ประชาชนเข้าใจรัชกาลที่ 10 เป็นกษัตริย์ที่ไม่น่าเคารพเชื่อถือ ไม่มีสัจจะวาจา ไม่รักษาคําพูดหรือไม่รักษาคํามั่นสัญญา และทําให้เข้าใจว่ารัชกาลที่ 10 ทรงเข้ามาแทรกแซงยุ่งเกี่ยวกับการบังคับใช้กฎหมายบ้านเมือง อันเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง 

อัยการบรรยายอ้างว่า จําเลยมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนชาวไทยเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้

ท้ายฟ้อง อัยการระบุเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ขอให้อยู่ในดุลยพินิจของศาล แต่ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยต่อจากคดีชุมนุมซ้อมต้านรัฐประหาร เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2563 ที่ห้าแยกลาดพร้าว ของศาลแขวงพระนครเหนือ ซึ่งขณะนี้คดีดังกล่าวอยู่ระหว่างพิจารณาในชั้นศาลเช่นกัน

ภายหลังอัยการสั่งฟ้อง ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 200,000 บาท ซึ่งเป็นหลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยร่วมการชุมนุมอันอาจทำให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองอีก, ห้ามกระทำการใดๆ อันจะทำให้เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาต โดยให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด

ศาลได้กำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีต่อไปวันที่ 7 ก.พ. 2565 เวลา 9.00 น.


อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

คดี 112 “สามเณรโฟล์ค” ปราศรัยในม็อบ #บ๊ายบายไดโนเสาร์ วิจารณ์การนำ ม.112 กลับมาใช้

ตร.แจ้ง ม.112 “สามเณรโฟล์ค” กรณีปราศรัยในม๊อบ #บ๊ายบายไดโนเสาร์ วิพากษ์วิจารณ์การใช้ ม.112

การเดินทางทางความคิดของ “สามเณรโฟล์ค” นักบวชผู้เผชิญข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์

X