การเดินทางทางความคิดของ ‘สามเณรโฟล์ค’ นักบวชผู้เผชิญข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ

ปฐมเทศนาบนเส้นทางประชาธิปไตย: เรื่องราวก่อนการตื่นรู้ของ ‘พระ/เณร’ แห่งราษฎร (2)

24 ก.ค. 2564 ในปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือที่เรียกกันว่า ‘วันอาสาฬหบูชา’ อันเล่ากันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ‘ธรรมจักรกัปวัฒนสูตร’ ต่อหน้าปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ส่งผลให้พราหมณ์โกณฑัญญะ มี “ดวงตาเห็นธรรม” จนได้บวชเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ รวมเป็นพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์

เนื่องในช่วงวันสำคัญของชาวพุทธนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเส้นทาง “ตาสว่าง” ของภิกษุ-สามเณร 3 รูป ซึ่งมักปรากฎตัวอยู่ในการชุมนุมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียมร่วมกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 2563 นอกจากนี้ยังชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมทำความเข้าใจอุปสรรคและสถานการณ์ของนักบวชที่ออกมาสนับสนุนขบวนการประชาชน ซึ่งมักถูกมหาเถรสมาคมเรียกว่าเป็นพฤติกรรม ‘ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’

บทสัมภาษณ์ซีรีย์ “ปฐมเทศนาบนเส้นทางประชาธิปไตย: เรื่องราวก่อนการตื่นรู้ของ ‘พระ/เณร’ แห่งราษฎร” นี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 บทตอน ตามเรื่องราวของพระ-เณรแต่ละองค์ ซึ่งมีที่มาที่ไปและ “หนทาง” ก่อนเข้าสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มีความเฉพาะต่างกันไป

อ่านตอนที่ 1 >> หลวงพี่ภูผา: จากเด็กแห่งภูพาน บทกวีที่ถูกอ่านบนเวทีชุมนุม สู่ ‘แก๊งแครอท’

.

ย้อนวัยเยาว์ของ ‘สามเณรโฟล์ค’ แรงผลักดันสู่การบวชเรียน

เรื่องราวของหลวงพี่ภูผาในช่วงเริ่มต้นชีวิตนักบวชคล้ายคลึงกับ “สามเณรโฟล์ค” สหรัฐ สุขคำหล้า  สามเณรวัย 21 ปี ซึ่งเพิ่งถูกแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” มาตรา112 กรณีร่วมปราศรัยในม็อบ ‘บ๊ายบายไดโนเสาร์’ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 ซึ่งจัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว 

สามเณรโฟล์คพื้นเพเป็นคนอำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา เขาเล่าถึงช่วงชีวิตก่อนบวชเป็นเณรว่า “ตอนอายุ 7-8 ขวบ ผมยังไม่ได้บวช ตาเคยทำธุรกิจขับรถรับส่งนักเรียน ช่วงสมัยที่ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจทางบ้านดีพอที่จะมีเงินดาวน์รถมาทำธุรกิจได้ จนปี พ.ศ. 2549 ทหารเข้ามาทำรัฐประหาร ประกอบกับพ่อ (คุณตา) ป่วยและเสีย ส่วนพ่อแท้ๆ เสียไปตั้งแต่ผมอายุราว 3 ขวบ ธุรกิจจึงเกิดความติดขัด เพราะไม่มีคนขับรถและส่งเงินกองทุนต่างๆ ทางบ้านจึงแย่ลงเรื่อยๆ ตามลำดับ”

เณรโฟล์คเล่าว่าด้วยชีวิตที่พลิกผันเช่นนี้ ทำให้เส้นทางในชีวิตของเขาเผชิญกับปัญหาในการศึกษามาตั้งแต่เด็ก “ช่วง ป.4-6 ผมชอบเล่นฟุตบอลมาก ตอนนั้นเชียงรายยูไนเต็ดกำลังดัง มันจะมีการคัดตัวที่โรงเรียนเทศบาลนครเชียงราย ซึ่งถ้าได้เข้าเรียนที่นั่น สโมสรก็จะมาคัดตัวทุกปี เราคิดว่าเราจะมีสิทธิ์เป็นโรนัลโด้ได้มั้ย เด็กจนๆ ในโปรตุเกส เรารู้สึกว่าเราทำได้ แต่พอไปสอบที่โรงเรียน เขาบอกว่ามีทุนให้ แต่ค่าหอพัก ค่าข้าว เราต้องจ่ายเงินเอง ซึ่งครอบครัวผมทำไม่ได้ ยายกับแม่บอกให้เลือกเอา ถ้าเกิดพี่ได้เรียน น้องก็ไม่ได้เรียน”

ด้วยข้อจำกัดของครอบครัว จนอาจต้องมีพี่น้องคนใดคนหนึ่งไม่ได้เรียนหนังสือ ทำให้ตอนนั้นกลายเป็นช่วงเวลาอันยากลำบากในการเลือก สามเณรโฟล์คต้องตัดสินใจเลือกระหว่างสิ่งที่รักในวัยเด็ก กับโอกาสทางการศึกษาของน้องสาวและตัวเขาเอง

“ตอนแรกก็ไม่ได้รู้สึกอยากบวชเท่าไหร่ เพราะชอบเตะบอลมาก จริงๆ อยากเดินตามความฝันของตัวเองแบบเด็กในยุโรป ที่ถึงแม้จะจน ก็ประสบความสำเร็จได้ ผมเชื่อแบบนั้นจริงๆ แต่พอมีสิ่งที่จำเป็นต้องเลือกให้เรารอดกันไปทั้งคู่ได้ด้วยภาวะที่จำกัด ผมจึงได้บวชเณรภาคฤดูร้อน ตอนอายุ 12”

เมื่อนึกย้อนกลับไปในอดีต เขาพบว่าตนเองก็เคยมีความสนใจเกี่ยวกับศาสนาก่อนบวช หากไม่ใช่พุทธศาสนา แต่เป็นคริสต์ศาสนา 

“จริงๆ ช่วงเวลาวัยเด็กของผม มันก็มีช่วงที่ดีอยู่นะ ผมเคยช่วยยายขายของที่โซนดอย ตอน 7-8 ขวบ มีโบสถ์คริสต์ที่นั่น เขาจะมีร้องเพลง เรียนภาษาอังกฤษ เล่นเปียโน แจกช็อกโกแลต คุ๊กกี้ ช็อกโกแลตที่ผมรู้สึกว่ามันเป็นช็อกโกแลตจริงๆ ไม่ใช่ช็อกโกแลตแบบที่ได้กินแถวร้านขายของชำ ตอนใกล้วันคริสมาส บราเทอร์บอกผมว่าผู้อุปการะจะส่งของขวัญมาให้จากต่างประเทศด้วย เราก็ลุ้นมาก อยากได้ของเล่นจากยุโรปบ้าง  

“ผมรู้สึกว่าเวลาที่ได้อยู่ในโบสถ์ เราไม่ต้องคิดอะไร ลืมความทุกข์ในชีวิตไปเลย” เณรโฟล์คเล่าถึงความทรงจำเกี่ยวกับศาสนาคริสต์ในวัยเด็ก 

อย่างไรก็ตามเมื่อยายพบว่าเขาไปโบสถ์และมีความสนใจในศาสนาคริสต์ จึงกังวลว่าหลานจะเปลี่ยนศาสนาและแก้ปัญหาโดยการนำเณรโฟล์คไปฝากกับหลวงตา ทำให้เขาไม่ได้บอกลาบราเทอร์และไม่ได้ไปโบสถ์อีกเลย 

.

โซตัสและไม้เรียวในวัด: “รุ่นก่อนๆ เขาก็ทำกันมาแบบนี้”

“ผมได้บวชเณรตอนอายุ 12 เหมือนกับหลวงภูผา แต่ไม่ได้เต็มใจ ร้องไห้ในสวนหลังบ้านอยู่ 3 วัน” เขาเล่าอย่างติดตลก แต่ในเวลานั้นเขาบอกว่าขำไม่ออก หลังจากได้บวชเรียนที่วัดในภูมิลำเนาของตัวเอง ก็ต้องพบเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “โซตัสและไม้เรียว” ในวัด สามเณรโฟล์คอธิบายว่า ไม้เรียวนี้ไม่ใช่ในแบบอาจารย์ฟาดศิษย์ แต่เป็นรุ่นพี่ฟาดรุ่นน้อง โดยการฟาดจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หากสวดมนต์ไม่ได้

“มันจะเพิ่มเป็น 3 แส่ 6 แส่ 9 แส่ 12 แส่ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ น่องผมยังเป็นแผลเป็นอยู่เลย ลำพังท่องไม่ได้ก็เรื่องหนึ่ง แต่ผมแค่รู้สึกว่าไม่อยากอยู่ตรงนั้นเลย อยากหนีให้ไกลที่สุด ไม่มีกะจิตจะใจจะท่อง เพราะไม่รู้ว่าอีกสามวันจะโดนอะไรอีก แต่พอชอบหนีก็จะโดนรุ่นพี่แกล้ง เอาผ้าเช็ดตัวไปซ่อนบ้าง เอาจีวรคลุม แล้วรุมซ้อมบ้าง” 

ชีวิตในวัย 13-16 ปี ของสามเณรโฟล์ค ต้องเผชิญกับระบบโซตัสในวัด ท่ามกลางเณรเกือบ 50 คน จากร้อยพ่อพันแม่ แม้ว่าจะลองไปคุยกับพระผู้ใหญ่เกี่ยวกับเรื่องที่โดนแกล้ง ก็จะถูกบอกว่าเพราะอ่อนแอเอง เพราะรุ่นก่อนๆ ก็ทำกันมาแบบนี้

“ม.4 ผมถึงได้มาคุมเณรเอง ผมได้ย้ายมาอยู่กับกุฎิพระป่าที่ไม่ค่อยมีใครอยากมาอยู่ แต่การอบรมเณรของผม จะเปิดยูทูปให้เด็กดูบทสวด เหมือนฟังเพลง ถ้าท่องไม่ได้ก็ให้ไปฝึกท่อง” เขาเล่าถึงการเลือกวิธีปฎิบัติต่อเณรคนอื่นๆ ที่ต่างออกไปจากที่ตนเองเคยเจอ แต่ไม่วายต้องเจอกับเรื่องราวของพระในวัดซึ่งทำให้รู้สึกตกใจ 

“เพื่อนเณรของผมโดนพระอาจารย์ข่มขืนจากวัดอื่นแล้วย้ายมาอยู่กับวัดผม ผมรู้สึกว่าปัญหาหลวงเจ้ในภาคเหนือรุนแรงมาก จนเกือบกลายเป็นเรื่องปกติ โดยพระองค์นี้เคยมีคดีมาก่อนแล้ว แต่ก็ยังอยู่ในวัดได้ เพราะผู้ใหญ่ปกป้องกัน”

.

.

ความสนใจประวัติศาสตร์เปลี่ยนชีวิต

ขณะเดียวกัน พร้อมๆ กับการเรียนรู้ทางธรรม และชุมชนของนักบวช สามเณรโฟล์คในช่วงวัยรุ่น ยังเรียนรู้ทางโลก โดยเฉพาะริเริ่มสนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์โลก กระทั่งนำพาไปสู่ความคิดทางการเมือง

“ประมาณ ม.4 มีอินเตอร์เน็ตใช้  พอได้รู้เกี่ยวกับสารคดีสงครามโลก National Geographic จะมีนักวิชาการมาพูด ก็เลยสนใจการเมืองขึ้นมา ดูเรื่องญี่ปุ่นทำสงครามแล้วก็สงสัยว่าไทยจะเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้างหรือเปล่า” 

จากความสงสัยที่ได้ดูสารคดีสงครามต่างๆ ประกอบกับช่วงเวลาดังกล่าวมีคนแนะนำให้รู้จักกับคลิปเสวนาของอาจารย์ลิขิต ธีรเวคิน เกี่ยวกับเรื่องจักรพรรดิเมจิ และเชื่อมโยงไปสู่เนื้อหาอื่นๆ บนโลกออนไลน์ กลายเป็นห่วงโซ่ของการเรียนรู้ 

“จากอาจารย์ลิขิต ก็มาสู่ประชาไท มาสู่พี่แขก คำผกา และ พี่ปกป้อง ชานันท์ เหมือนเราตามเศษเนยมาเรื่อยๆ เริ่มคุยกับเพื่อนที่โรงเรียนไม่รู้เรื่อง เพื่อนๆเล่น ROV ที่โรงเรียนเณร ตอนนั้นไม่มีใครไปสอบ GAT-PAT เลย มีแค่ผมกับเพื่อนอีกคนที่ไปสอบ เพื่อจะมาเรียนต่อในกรุงเทพฯ เขาคุยกันว่าไม่ต้องสอบหรอก มหาลัยเรียนไปแล้วได้อะไร”

เณรโฟล์คเล่าว่าช่วงชีวิต ม.4-ม.6 นั้น เขาได้ทุนการศึกษาของสมเด็จพระเทพฯ ทำให้ได้มาเข้าคอร์สอบรมที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จ.พระนครศรีอยุธยา หลายครั้ง ประกอบกับความสนใจในเรื่องราวทางสังคมและประวัติศาสตร์ ทำให้บทสนทนาในชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป จนเกิดเป็นความเหินห่างกับเพื่อนๆ เนื่องจากความสนใจที่ต่างกัน ส่งผลให้มีความเครียดสะสม เนื่องจากรู้สึกว่าไม่สามารถคุยกับใครได้ นอกจากอาจารย์และเพื่อนไม่กี่คนได้  

แม้จะมีภาวะเครียด แต่เณรโฟล์คก็ได้หลวงพี่ที่สนิทกันองค์หนึ่ง พาไปฝึกปฏิบัติธรรม โดยพระองค์ดังกล่าว ชอบหาวิธีฝึกสมาธิแบบแปลกๆ ในความรู้สึกของเณรโฟล์ค เช่น การฝึกสมาธิด้วยการเล่นเกมส์ การไปธุดงค์ในป่าช้า 7-15 วัน หรือ การพิจารณาอสุภะ โดยการดูศพที่เผาไม่หมด

“ช่วงนั้นเริ่มตั้งคำถามกับชีวิตเลย ว่าเกิดมาทำไม” เณรโฟล์คกล่าว 

พระองค์เดียวกันนี้เองที่พาเขามายังกรุงเทพฯ มารู้จักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และนักศึกษาธรรมศาสตร์ โดยเณรโฟลค์เล่าว่าเมื่อได้ฟังบทสนทนาของนักศึกษาแล้ว รู้สึกเหมือนได้ค้นพบสิ่งน่าสนใจ นอกจากนี้หอสมุดปรีดี พนมยงค์ ที่วิทยาเขตท่าพระจันทร์ ก็ทำให้เขาตื่นเต้นกับจำนวนนักศึกษาที่เข้าห้องสมุด และความน่าสนใจของหนังสือจำนวนมาก ไม่เพียงเท่านั้นหลวงพี่ยังได้พาเขาไปร้านหนังสือ แล้วให้เลือกซื้อหนังสือมาอ่านอีกด้วย

“เล่มแรก ผมได้หนังสือ Marx: A Very Short Introduction ที่แปลโดยอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ตอนนั้นอ่านไม่รู้เรื่องเลย แต่รู้สึกว๊าวมาก ผมก็ต้องไปตามหาต่อว่าคาร์ล มาร์กซ์นี่คือใคร” เขาเล่าติดตลกเมื่อสามเณรเริ่มสนใจมาร์กซ์ จนต้องไปเสิร์ชหาคลิปในยูทูปต่างๆ เพื่อหาความรู้เพิ่มเติม จนได้พบกับคลิปการเสวนาถึงมาร์กซ์ของอาจารย์พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ ในหัวข้อ​ “Karl Marx มายา หรือวิทยาศาสตร์?” โอกาสครบรอบ 200 ปี คาร์ล มาร์กซ์

หลังจากสอบ GAT-PAT ไว้แล้ว สามเณรโฟล์คได้เข้าเรียนที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย 4 เดือน เขาได้เรียนวิชาปรัชญาพื้นฐาน และรู้สึกชอบ เพราะคิดว่าวิชาลักษณะนี้เปิดให้ถกเถียงได้ ส่วนวิชาที่ชอบอีกวิชาคือธรรมภาค ซึ่งว่าด้วยการจำแนกแยกแยะธรรมะเป็นหมวดหมู่ต่างๆ สำหรับการศึกษาค้นคว้า

ถึงจะมีวิชาที่ชอบอยู่บ้าง แต่สามเณรโฟล์คก็ยังอยากลองสอบเข้าที่วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลดู เพราะดูหลักสูตรแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ ก่อนในท้ายที่สุดเขาก็สามารถเข้าเรียนระดับปริญญาตรีที่นั่นได้ และยังค้นพบว่าวิชาการโดยเฉพาะภาษาอังกฤษที่เคยเรียนมานั้น แข่งขันกับเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันได้ยาก ส่งผลให้เกรดเฉลี่ยช่วงมหาวิทยาลัยตกลงจากช่วงมัธยมอย่างมาก

.


อินเตอร์เน็ตและสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ มอบคำตอบให้ทุกความสนใจใคร่รู้

เมื่อชวนย้อนไปว่าจุดเริ่มต้นของความสนใจในการติดตาม กระทั่งนำไปสู่การร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองคืออะไร 

สามเณรโฟล์คตอบว่า “จริงๆ ผมก็เริ่มฟัง ‘สมศักดิ์ เจียม’ ตั้งแต่ ม.5 พระอาจารย์ผมฟัง ผมก็ไปฟังด้วย แต่ฟังด้วยความรู้สึกคลั่งว่า ไอ้คนนี้มันเป็นใคร เพราะผมได้ทุนสมเด็จพระเทพฯ และรู้สึกว่าท่านดีกับผมมาก ทำไมอาจารย์คนนี้พูดอยู่เรื่องเดียว ทำไมไม่ด่าพวกนักการเมืองบ้าง แต่มีคลิปหนึ่งที่เขาพูดแล้วผมรู้สึกเอ๊ะขึ้นมา คือตอนที่เขาพูดประมาณว่า เขาจะด่านักการเมืองแน่นอนหากสังคมใช้มาตรฐานเดียวกันนี้ ในการวิพากษ์วิจารณ์สถาบัน” 

สามเณรโฟล์คกล่าวว่าเป็นเรื่องยากที่จะชี้ชัดลงไปว่าความสนใจทางการเมืองของเขาเกิดจากใครคนใดเป็นพิเศษ แต่ก็เล่าว่าช่วงก่อนประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในปี 2562 เขาได้ฟังงานเสวนาของอาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ซึ่งพูดถึงการปฎิวัติ 2475 เรื่องราวของ 6 ตุลา 14 ตุลา ทำให้เขาได้เข้าใจว่า ความเข้าใจของเขาเกี่ยวกับนักศึกษา และสิ่งที่นักศึกษาเรียกร้องในช่วงเวลาดังกล่าวผิดเพี้ยนไป 

เขาเริ่มสนใจเรื่องประวัติศาสตร์การเมืองไทยมากยิ่งขึ้น และต้องไปตามหาคลิปมาฟัง กระทั่งเริ่มไปร่วมงานเสวนาด้วยตนเอง ทำให้ได้ฟังงานเสวนาที่รู้สึกประทับใจอีกงานหนึ่ง คืองานเสวนา “13 ปี รัฐประหาร’49 ก้าวพ้นหรือย่ำวนในวงจรของทรราชย์ พอหรือยังกับรัฐประหาร พอหรือยังกับผู้นำเผด็จการ” ซึ่งมีอาจารย์ผาสุก พงษ์ไพจิตร อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และอาจารย์พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ ร่วมเสวนาในช่วงปี 2562 โดยในงานนั้นได้เจอกับกลุ่มนักศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้แลกเปลี่ยนรายชื่อหนังสือที่น่าสนใจกัน 

“หลังจากช่วงนั้นยังมีเรื่องการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตอนนั้นผมรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว ต้องทำอะไรซักอย่าง แล้วเพื่อนในมหิดลก็ร่วมกันเขียนป้ายด้วย มีการจัดม็อบในมหาวิทยาลัย ตอนนั้นเพื่อนก็จะให้ขึ้นพูด แต่ผมเลือกทำงานเบื้องหลัง” การได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ นักศึกษา ทำให้มีการแลกเปลี่ยนพูดคุยในเรื่องการเมืองกับเพื่อนๆ มากขึ้น และได้รู้จักกับกลุ่มนักศึกษาที่ทำกิจกรรมหลายกลุ่มขึ้นอีก ทำให้สามเณรโฟล์คพบเจอเส้นทางที่นำเขาไปสู่การเคลื่อนไหวทางสังคม

“มีการประชุมของกลุ่มนักศึกษาต่างมหาวิทยาลัย ทำให้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน กู่ไม่กลับเลยทีนี้” เขาได้ตามอ่านสกู๊ป บทความ และบทวิเคราะห์การเมืองรายสัปดาห์ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองของตนเอง ก่อนจะเริ่มซื้อหนังสือชุดฟ้าเดียวกันมาอ่านเสริมอีกด้วย

“วัดที่ผมอยู่ เจ้าอาวาสจะให้นำหนังสือมาอ่านและสรุปให้ฟังคืนสองคืนก่อนจะเทศน์ เพราะจะต้องให้พระ-เณรหัดขึ้นเทศน์ให้ชาวบ้านอีกที ผมก็จัดฟ้าเดียวกันชุดสยามพากษ์มาเลย โดยเจ้าอาวาสเปิดกว้างมาก จะเป็นหนังสืออะไรก็ได้” เนื่องจากจำเป็นต้องอ่านเพื่อสรุปให้เจ้าอาวาสฟัง ทำให้สามเณรโฟล์คจำเป็นต้องอ่านหนังสือให้จบเร็วที่สุด การอ่านหนังสือชุดนั้นยังทำให้เณรเชื่อมโยงกลับไปยังประวัติศาสตร์การต่อสู้ของภาคเหนือ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาของตนเองอีกด้วย

สามเณรโฟล์คยังเผยถึงมุมมองของสงฆ์ต่อสังคมอีกว่า “การเป็นพระ ทำให้เราเห็นทั้งคนจนและคนรวยมาใส่บาตร ในยามที่มีโควิดแล้วต้องเอาอาหารให้คนที่ไม่มีอาหารกิน เรามานั่งคิดว่ามันเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่สุด แก้ไม่ได้จริง เราต้องเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มันคงจะทำให้ทุกคนมีที่อยู่ มีอาหารกิน มีเศรษฐกิจที่ดี และได้ใช้ชีวิตตามความฝัน”

.

.

“วิบากกรรม” ของพระเณรเมื่อเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

สามเณรโฟล์คถูกดำเนินคดีทางการเมืองไปแล้ว 3 คดี โดยหนึ่งในนั้นคือ “คดีหมิ่นกษัตริย์” อันมีโทษรุนแรง อย่างไรก็ตาม การมีคดีความไม่ใช่สิ่งเดียวที่เขาต้องพบเจอ เมื่อออกมาร่วมแสดงความคิดเห็นหรือเคลื่อนไหว การติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่ และความเสี่ยงจะต้องถูกจับสึกเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญสำหรับเขา

“เรื่องที่รุนแรงต่อผมมาก คือการที่ผมโดนสำนักพุทธฯ และตำรวจติดตามเมื่อปีที่แล้ว (2563) ซึ่งดูเหมือนพยายามจะจับผมสึกหรือทำอะไรซักอย่าง ผมไม่ได้ถูกติดตามแค่ที่เดียว แต่เขาติดตามไปทุกที่ ทั้งที่หอพัก ที่วัดที่อยู่อาศัย หรือแม้แต่บ้านของเพื่อนที่เราไปอยู่ ทำให้ผมรู้สึกว่าไม่มีที่ปลอดภัยสำหรับผมเลย 

“พอรู้สึกระแวงและความกลัวเข้าครอบงำมากๆ เข้า ก็รู้สึกว่าเรามีสิทธิ์ที่จะมีชีวิตต่อไปไหม กลัวไปถึงจะโดนอุ้มหายหรือเปล่า มีความคิดที่เกิดขึ้นในหัวเยอะมาก” เขาเล่าให้ฟังถึงความหวาดกลัวต่อท่าทีที่รัฐใช้กับพระ เณรที่ออกมาร่วมชุมนุม และเล่าว่าผ่านจุดนั้นมาได้เพราะเพื่อนๆ

“พวกเพื่อนๆ ผมมันเปลี่ยนความสามานย์ให้กลายเป็นความสามัญ ทำให้ความกลัวน้อยลง แต่จริงๆ มันก็ไม่ดีหรอก ความรุนแรงก็คือความรุนแรง เราไม่ควรทำให้มันเป็นปกติ” สามเณรโฟล์คทบทวน   

“ปีนี้ (2564) ยังมีตำรวจสันติบาลไปหาพระอาจารย์ผม ไปเอาข้อมูลอะไรซักอย่าง ทำให้เรารู้สึกถูกคุกคามไม่สิ้นสุด นอกจากนั้นยังมีเรื่องการจะจับผมสึกเมื่อวันที่ 7 ก.ค. 2564 ซึ่งเป็นวันที่ผมไปรับทราบข้อกล่าวหา ม.112 จากการปราศรัยเดือน พ.ย. 2563”

สามเณรโฟล์คได้เคยเล่าเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ภายหลังเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่สน.ปทุมวัน ตำรวจได้เรียกเขาเข้าไปพบตัวแทนจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งมาด้วยกันสามคน โดยอ้างว่าเนื่องจากสามเณรไม่ได้กลับไปวัดต้นสังกัด ตามที่เจ้าอาวาสเรียกกลับไปตักเตือน ตั้งแต่ช่วง 3 พ.ย. 2563  ทำให้เกิดข้อหาทางพระธรรมวินัย คือไล่ออกจากวัด (ลิงคนาสนะ) และตามมติมหาเถรสมาคม เห็นว่าถ้าหากเณรไม่มีสังกัดวัด ก็จะต้องถูกจับสึก

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดในเอกสารเรียกตัวดังกล่าว ไม่ได้เป็นเอกสารของวัดตามสังกัดของเณรโฟล์ค ทำให้ยังไม่สามารถสึกเณรได้ในวันนั้น เนื่องจากรายละเอียดในเอกสารผิดพลาด สามเณรยังได้ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า

“พวกเขาจะใช้จริงหรือไม่ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายสมเด็จพระสังฆราช พระพุทธเจ้าเองยังไม่มีพระธรรมวินัยข้อไหนมากำกับเลยว่า ดูหมิ่นอาฆาตมาดร้าย คุณจะใช้แค่กฏหมายที่เกิดไม่ถึง 200 กว่าปี และละเลยกฏพระธรรมวินัยที่มีมาตั้ง 2,500 ปี ได้อย่างไร ราวกับว่าคุณเอาเท้าเหยียบพระธรรมวินัย และถือกฏหมายบ้านเมืองเป็นใหญ่ และไม่สนใจกระบวนการไต่สวนโดย สัมมุขาวินัย เลยฤา? ” เณรโฟล์คกล่าวว่าหากจะจับตนสึกอย่างน้อยก็ควรจะต้องทำเอกสารให้ถูกต้องก่อน 

.

.

ขอเพียง “พระ/เณร” ได้ถูกนับเป็นพลเมือง

“การเป็นพระแล้วก็เป็นนักเคลื่อนไหวด้วยลำบากมาก เวลาไปที่ไหนก็จะมีชื่อเราโดนคดีแรกๆ เลย เพราะสีเราเด่นมาก มันเหมือนต้องเก็บเราให้หมด การเป็นคนใต้สังกัดมันทำอะไรได้ยากมาก คำว่าสังฆะมันแปลว่าการตัดสินใจของพระสององค์ขึ้นไป แต่ตอนนี้อำนาจเจ้าอาวาสเพียงคนเดียวเด็ดขาดมาก สามารถไล่ใครออกหรือเอาใครเข้าวัดก็ได้ เดี๋ยวนี้คนที่มาทำงานในวัด ก็อาจเป็นญาติเจ้าอาวาสทั้งหมด ถ้าทำอะไรให้ไม่พอใจเจ้าอาวาสก็อาจถูกจับสึกได้ ทำเหมือนเราเป็นหมู เป็นหมาในวัด” 

เมื่อถามว่ามีความกังวลหรือความท้อแท้ระหว่างการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองบ้างหรือไม่ เณรโฟล์คตอบอย่างรวดเร็วว่า “ผมเป็นคนชั้นล่าง ผมวางเดิมพันกับการต่อสู้ครั้งนี้ไว้สูงมาก ส่วนตัวจะท้อใจถ้าเห็นว่าใครมองการต่อสู้เป็นเรื่องไม่จริงจัง แต่ผมไม่เสียใจเรื่องอื่นๆ เลย ยังอยากเคลื่อนไหว แม้จะกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยของครอบครัว แต่เจ้าอาวาสใจดี หากใครสนใจเรียนก็จะออกค่าเรียนให้ครึ่งหนึ่ง ผมจึงต้องทำงานที่วัดเสาร์-อาทิตย์ เพื่อหาเงินจ่ายค่าเทอมด้วย เนื่องจากตอนช่วงปี 1 เทอม 2 ไม่ได้รับทุนเรียนแล้ว”

การมีสถานะที่ได้รับการเคารพในสังคม จนอาจเรียกได้ว่าอภิสิทธิ์ชน อาจทำให้พระถูกมองว่าสุขสบาย แต่เณรโฟล์คมองว่าการที่พระมีสถานะเป็นอภิสิทธิ์ชนในสังคมพุทธ ทำให้ต้องทำอะไรมากกว่าคนอื่น แต่สิ่งที่เณรต้องการจริงๆ นั้นเรียบง่าย

“เรามีต้นทุนทางวัฒนธรรม การจะทำให้คนยอมรับไม่ใช่เรื่องง่าย สิ่งที่ส่วนตัวอยากได้ ไม่ใช่สิทธิในการใช้ขนส่งฟรี เราอยากจะเท่าเทียมกับคนอื่น สามารถเก็บเงินได้ให้เท่ากัน ผมอยากได้สิทธิในการเลือกตั้งมากกว่า”

.

การศึกษาที่ดีจะเปลี่ยนอนาคตสังฆมณฑล

เณรโฟล์คมองว่าในอนาคตควรมีการใช้พระธรรมวินัยปกครองสงฆ์ นอกจากนี้ยังควรจะต้องปรับสถานะของสงฆ์อีกด้วย

“สำหรับผมแค่ยกเลิก พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ฉบับปี 2505 ก็พอ ปรับพระสงฆ์เป็นพลเมือง และทำให้วัดเป็นนิติบุคคลหรือเป็นบริษัทเอกชนเลยแล้วเก็บภาษี มีบัญชีรายรับรายจ่าย มีการเปิดกว้างให้คนได้นับถือศาสนาได้อย่างหลากหลายในสังคมประชาธิปไตย” 

เขายังเสริมเกี่ยวกับประเด็นเรื่องการปฎิรูปสงฆ์ว่าพระเณรอาจกำลังเคลื่อนไหวเป็นคลื่นใต้น้ำที่เรามองไม่เห็นอยู่ก็เป็นได้ พระที่เห็นด้วยกับการปฎิรูปอาจจะมีเยอะ แต่อาจเป็นพวกแทงกั๊ก พออำนาจขั้วใหญ่เปลี่ยน กลุ่มพระก็น่าจะเปลี่ยนไปด้วย ยังไงก็ตาม ผมเชื่อว่าวงการสงฆ์จะต้องถูกเปลี่ยนแปลงด้วยโลกทุนนิยม การทำบุญหรืออะไรต่างๆ ตอนนี้ก็ถูกทำให้กลายเป็นสินค้า เพียงแต่ศาสนาจะปรับตัวเข้ากับเรื่องนี้อย่างไร 

“ถ้าวัดเป็นนิติบุคคลได้ ผมคิดว่าผมอยากเปลี่ยนวัดเป็น complex ดูแลผู้สูงอายุได้ เก็บเงินด้วย มีกิจกรรมต่างๆ ให้ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมเทศนาหรือเชิญนักวิชาการมาพูด เขาจะได้ไม่เหงา พระก็ไม่ต้องไปดิ้นรนทำผ้าป่าหรืออะไรต่างๆ เพราะมีต้นทุน-กำไรจากการบริหารจัดการกิจการแบบนี้”

นอกจากนี้ สามเณรโฟล์คยังมองว่าประเด็นสำคัญที่ควรจะเกิดขึ้นกับวงการสงฆ์อีกอย่าง คือการให้ความสำคัญและพัฒนาคุณภาพการศึกษาของพระเณร

“ผมอยากให้ปฎิบัติกับผมเหมือนผมเป็นคนในรัฐคนหนึ่งก็พอ และที่สำคัญควรให้พระได้เข้าถึงการศึกษาที่ดีด้วยศักยภาพของตัวเราเอง ควรต้องพัฒนาโรงเรียนที่พระสงฆ์เรียนให้ดีทัดเทียมกับโรงเรียนของโยม โรงเรียนที่ผมเคยอยู่ ครูอัตราจ้างของโรงเรียนมีเงินเดือนเพียงแค่ 6,000 บาท งานเอกสารก็เยอะไปหมด ทำให้สอนได้ไม่เต็มที่ วิชาสามัญที่ควรจะได้เรียน จึงเหมือนเป็นการเรียนแซมๆ ไปมากกว่า”

“ถ้าหากเป็นไปได้ พระ-เณร ควรจะสามารถอยู่ในวิถีปฏิบัติของตนเองได้ ขณะเดียวกันก็สามารถเข้าเรียนร่วมกับฆราวาสได้ตามปกติ เรียนกลับมาก็มาเรียนศาสนาในวัดต่อ แล้วถ้าหากโรงเรียนพุทธมีศักยภาพจะเปิดการเรียนการสอนเหมือนโรงเรียนคริสต์ที่ดังๆ บ้าง ก็ทำเลย”  

“คำหนึ่งที่มันตรึงใจผมมาก ก้องอยู่ในหัวตลอดของมาร์กซ์คือ นักปรัชญาเพียงแต่มองดูโลกแต่สิ่งที่สำคัญคือต้องเปลี่ยนแปลงโลก ผมรู้สึกว่ามันต้องลงมือเปลี่ยน เราเพียงแค่นั่งอธิบายมันอย่างเดียวไม่ได้ ทำให้สังคมก้าวไปข้างหน้า ให้มันดีกว่านี้ให้ได้”

.

X