หลวงพี่ภูผา: จากเด็กแห่งภูพาน บทกวีที่ถูกอ่านบนเวทีชุมนุม สู่ ‘แก๊งแครอท’

ปฐมเทศนาบนเส้นทางประชาธิปไตย: เรื่องราวก่อนการตื่นรู้ของ ‘พระ/เณร’ แห่งราษฎร (1)

24 ก.ค. 2564 ในปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือ ‘วันอาสาฬหบูชา’ อันเล่ากันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ‘ธรรมจักรกัปวัฒนสูตร’ ต่อหน้าปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ส่งผลให้พราหมณ์โกณฑัญญะ มี “ดวงตาเห็นธรรม” จนได้บวชเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ รวมเป็นพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์

เนื่องในช่วงวันสำคัญของชาวพุทธนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเส้นทาง “ตาสว่าง” ของภิกษุ-สามเณร 3 รูป ซึ่งมักปรากฎตัวอยู่ในการชุมนุมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียมร่วมกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 2563 นอกจากนี้ยังชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมทำความเข้าใจอุปสรรคและสถานการณ์ของนักบวชที่ออกมาสนับสนุนขบวนการประชาชน ซึ่งมักถูกมหาเถรสมาคมเรียกว่าเป็นพฤติกรรม ‘ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’

บทสัมภาษณ์ซีรีย์ “ปฐมเทศนาบนเส้นทางประชาธิปไตย: เรื่องราวก่อนการตื่นรู้ของ ‘พระ/เณร’ แห่งราษฎร” นี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 บทตอน ตามเรื่องราวของพระ-เณรแต่ละองค์ ซึ่งมีที่มาที่ไปและ “หนทาง” ก่อนเข้าสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มีความเฉพาะต่างกันไป

.


.

วัยเด็กที่ตั้งคำถามจากความไม่เป็นธรรมรอบตัว

หลวงพี่ภูผา พระหนุ่มวัย 22 ปี เล่าให้ฟังว่า พื้นเพของตนเป็นชาวบ้านที่อาศัยในแถบเทือกเขาภูพาน เขาเป็นเด็กที่สนใจพระเครื่องมาก่อน และชอบอ่านหนังสือเกี่ยวกับพระมาตั้งแต่เด็ก ช่วง พ.ศ. 2555 เมื่ออายุ 12 ปีเศษ ขณะเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เทอมสุดท้ายยังไม่ทันจบดี ได้ขอครอบครัวออกบวชเณรในภาคฤดูร้อน เพราะคิดว่าตัวเองชอบความเป็นอยู่แบบพระ

“ผมยังไม่ถึงขนาดเป็นเด็กแก่แดดนะ ก็เป็นเด็กกลางๆ ไม่ถึงกับเป็นเด็กที่เล่นสนุกไปวันๆ ไม่สนใจอะไรเลย แต่ก็ไม่ใช่เด็กเคร่งขรึมที่ดูแก่กว่าวัย” หลวงพี่ภูผาย้อนเล่า หลังถูกถามว่าชีวิตวัยเด็กของเขาที่สนใจทางพระทางเจ้านั้น จะเรียกว่าเป็นเด็กที่โตกว่าอายุได้หรือไม่ 

จากเด็กที่แทบไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหนเลย หลังจากบวชเป็นเณร หลวงพี่ภูผาต้องย้ายไปเรียนยังวัดซึ่งมีโรงเรียนปริยัติที่จังหวัดเลย ทำให้อยู่ไกลครอบครัวออกไปเป็นครั้งแรก แม้แม่ยังไม่อยากให้บวชแต่ตนเองกลับมีความสนใจอย่างแรงกล้าที่จะบวช อย่างไรก็ตามในปีเดียวกันกับที่บวชนั้นเอง “โยมแม่” ที่เป็นเสาหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว ก็เสียชีวิตลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินและฐานะความเป็นอยู่ของที่บ้านทันที

“จากที่คิดว่าบวชแล้วจะสึกตอนไหนก็ได้ พอโยมแม่เสียชีวิต ผมก็เลยต้องคิดหนัก ถ้าหากสึกไป คงจะไม่มีคนส่งเรียนหนังสืออย่างแน่นอน เรื่องของเศรษฐกิจก็เข้ามาเกี่ยวข้องในช่วงเวลานี้” ด้วยความสนใจทางพุทธศาสนาเป็นทุนเดิม บวกกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทำให้หลวงพี่ภูผาบวชเรียนมานับแต่เริ่มแตกเนื้อหนุ่มจนถึงปัจจุบัน 

“สมัยก่อนถูกสอนให้เกลียดกลัวคอมมิวนิสต์มาตลอด เขาบอกว่าพวกนั้นโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด ผมก็ไม่เคยรู้เหตุผลว่าทำไมถึงถูกสอนแบบนั้น อาจจะเป็นเพราะยังเด็กด้วย รู้แต่ว่าคนพวกนี้เป็นคนป่า จับอาวุธ นิยมความรุนแรงต่อต้านรัฐ” เขาเล่าถึงเรื่องราวที่มักได้ยินเมื่อตอนยังเป็นเด็ก 

หลวงพี่ภูผาไม่ได้สนใจเรื่องการเมืองมาก่อน แต่จำได้ว่าตอนอายุ 14 ปี ในปี พ.ศ. 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำรัฐประหารเป็นครั้งที่ 13 ในการเมืองไทย

“ผมโตมากับประยุทธ์จริงๆ นะ ถูกปลูกฝังความกลัวมาตลอดว่าอย่ารวมตัวกันนะ อย่าวิพากษ์วิจารณ์ อย่าไปด่ารัฐบาล ให้กลัวไว้ก่อน เดี๋ยวโดนจับปรับทัศนคติ ทั้งที่เรายังไม่รู้เลยว่าการเมืองคืออะไร” หลวงพี่ภูผาเล่าถึงช่วงเวลาของชีวิตที่ผูกติดและเติบโตมากับช่วงเวลาที่สังคมไทยมีผู้ถืออำนาจที่มาจากคณะรัฐประหาร ก่อนเล่าต่อถึงชีวิตความเป็นอยู่ในวัด และความไม่เป็นธรรมที่ได้พบเจอ

“เดิมวัดที่ผมอาศรัยอยู่เพื่อเรียนมัธยม เจ้าอาวาสดีมาก สมัยเขาเป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆเขาปรับเปลี่ยนกฎอะไรหลายอย่างเพื่อฟื้นฟูความศรัทธาของชาวบ้าน เนื่องจากเจ้าอาวาสองค์ก่อนทำชื่อเสียไว้มาก” 

หลวงพี่ภูผาเป็นเณรที่ไม่ค่อยอยู่วัด เนื่องจากมักจะไปช่วยงานของพระในรูปแบบต่างๆ โดยได้เข้าไปช่วยงานที่กองงานของพระในจังหวัดเลย และมองเห็นระบบที่ย่ำแย่ของสมณเพศที่นั่น

“ช่วง ม.5 ผมเห็นปัญหาภายในหลายอย่างเกี่ยวกับพระ จากการได้เข้าไปช่วยงาน ได้ใกล้ชิดกับพระผู้ใหญ่ ในจังหวัด แม้ยังไม่เคยเห็นว่ามีการซื้อขายสมณศักดิ์อะไรขนาดนั้น แต่ก็เห็นการพยายามแย่งชิงตำแหน่งทางคณะสงฆ์กัน ผมรู้สึกว่ามันไม่มีหลักการอะไรเลย ถ้าโยมเข้าไปเห็นเรื่องราวพวกนี้อาจจะตกใจเลยก็ได้ เหมือนพวกข้าราชการ ซึ่งผมรู้สึกตั้งแต่นั้นว่าเป็นเรื่องที่ต้องหาทางแก้กัน”

นอกจากปัญหาในองค์กรสงฆ์ที่หลวงพี่ภูผาได้พบเจอ ขณะยังบวชเป็นเณรแล้ว ยังได้เจอปัญหาเกี่ยวกับการใช้อำนาจของเจ้าอาวาสด้วยตัวเอง

“ตอนหลัง วัดที่ผมอยู่เปลี่ยนเจ้าอาวาสรูปใหม่ ผมมีปัญหากับเจ้าอาวาสมาก ผมแสดงออกด้วยกันไม่ไปร่วมกิจกรรมของวัดเนื่องจากผมรู้สึกว่าการเทศนาของเจ้าอาวาสมีแต่เรื่องการนินทาคนอื่น เมื่อผมเริ่มตั้งคำถาม ผมก็ถูกระงับการออกกิจนิมนต์อะไรได้อีก เพราะถูกกีดกันจากเจ้าอาวาส ผมจึงเริ่มรู้สึกว่าอำนาจของเจ้าอาวาสมีเยอะจนเกินไป เจ้าอาวาสเป็นเผด็จการ ใช้อำนาจไม่เป็นธรรม สุดท้ายผมต้องย้ายออกจากวัดเพื่อหาวัดและที่เรียนใหม่ ซึ่งก็พอดีกับช่วงที่จบ ม.6” 

หลวงพี่ภูผาจำวัดอยู่ที่บ้านเกิดช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะสอบเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัยของพระสงฆ์ฝ่ายมหานิกายในส่วนกลาง 

“ผมย้ายมาจำวัดใกล้ๆ มหาวิทยาลัยเพื่อเรียนหนังสือ การย้ายเข้ามาเรียนในส่วนกลาง เนื่องจากอยากได้รับโอกาส ได้รับคุณภาพ และเจอคนที่หลากหลายมากขึ้น  แต่หลายอย่างค่อนข้างผิดหวังไม่เหมือนที่คิดเอาไว้ การศึกษาของพระสงฆ์ค่อนข้างล้าหลังเป็นอย่างมาก มันไม่ตอบโจทย์กับยุคปัจจุบัน ทั้งระบบการสอนและระบบมหาวิทยาลัย”

“ในช่วงเวลานั้นเริ่มสนใจเรื่องความไม่เท่าเทียมมากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย เพราะช่วงเรียนปี 1 ผมยังไม่ได้บวชเป็นพระ วัดที่ผมอยู่มีกฎประหลาดๆ อย่างหนึ่ง คือเณรห้ามรับกิจนิมนต์ เรื่องนี้ทำให้เณรไม่มีรายได้มาใช้เรียนหนังสือ แม้ว่าพวกเณรจะต้องทำงานทุกอย่างในวัดอย่างหนักกว่าพระก็ตาม พอผมบวชเป็นพระจึงมีโอกาสสอนพุทธศาสนาศาสนา วิชาศีลธรรมในโรงเรียน ทำให้พอมีเงินนิตยภัตอยู่บ้าง แบ่งเบาภาระได้ระดับหนึ่ง”

.

ปฐมเทศนาบนเส้นทางประชาธิปไตย: “ไฟที่โหมเข้ามาในใจเรา” บทกลอนที่ถูกอ่านบทเวที

“ผมเริ่มมาสนใจการเมืองช่วงปี 63 เลย คือเมื่อเร็วๆ นี้เท่านั้นเอง ช่วงปี 1 ปี 2 สนใจการเมืองบ้างประปรายแต่ไม่ได้ใช้ชีวิตเป็นการเมือง มาช่วงปีที่ 3 นี่แหละ ที่เริ่มมีม็อบ ก็ไปเกือบทุกม็อบ ม็อบเป็นการอภิปรายสรุปรวมปัญหาต่างๆ ที่เราเจอ ทำให้ฟังเข้าใจง่าย ตั้งแต่เริ่มมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ รู้สึกถึงความไม่ถูกต้อง แต่ก็ยังไม่ได้ออกมาร่วมเคลื่อนไหวอะไร จนกระทั่งการประกาศจัดม็อบของกลุ่มเยาวชนปลดแอก (18 ก.ค. 63) เราได้ฟังการปราศรัยครั้งนั้นผ่านอินเทอร์เน็ต รู้สึกว่าประทับใจการปราศรัยครั้งนั้นและติดตามการปราศรัยครั้งต่อๆ ไปมาโดยตลอด” หลวงพี่ภูผาเล่าถึงสิ่งที่จุดประกายให้เริ่มสนใจติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมือง และการปราศรัยในเวทีต่างๆ อย่างจริงจังขึ้น

“หลังจากได้ดูการปราศรัยในอินเทอร์เน็ต ก็ตัดสินใจนั่งรถจากมหาวิทยาลัยไปม็อบ ครั้งแรกคือม็อบ 10 ส.ค. 63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์รังสิต ผมไม่รู้จักใครเลย ในชีวิตก็ไม่คิดว่าจะนั่งรถไป มธ. ด้วย แต่ผมกระกระเสือกกระสนไป งานชุมนุมในครั้งนั้นเปลี่ยนชีวิตเลย มีเรื่องบังเอิญในวันนั้นอีกอย่างหนึ่ง คือก่อนหน้านั้นพี่ที่รู้จักกันประกาศหาบทกวีเพื่ออ่านในม็อบ ผมจึงส่งบทกวีเข้าร่วมกิจกรรม แล้ววันที่ 10 ส.ค. 2563 บทกลอนของผมได้รับเลือกให้อ่านบนเวทีด้วย ก็งงเหมือนกัน แต่เป็นไฟที่โหมเข้ามาในใจเรา เหมือนได้รับแสง ได้มีส่วนร่วมกับการเคลื่อนไหว”

หลวงพี่ภูผายังเล่าถึงความพยายามไปลงชื่อแก้รัฐธรรมนูญกับไอลอว์ ซึ่งตั้งโต๊ะล่ารายชื่อในช่วงเวลานั้นแล้วจึงได้เพิ่งตระหนักว่าพระไม่มีสิทธิ์ที่จะไปลงชื่อร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อทีมงานบอกว่ารายชื่อนี้อาจจะถูกคัดออกในท้ายที่สุด

“เราเพิ่งรับรู้ว่าการที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ทำให้ไม่สามารถลงชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เราออกเสียงอะไรไม่ได้เลย แต่ทีมงานเขาว่าถ้าหลวงพี่จะสึกก็ลงได้นะ” หลวงพี่ภูผาเล่าให้ฟังพร้อมเสียงหัวเราะ และยังเล่าว่าหลังจากม็อบ 10 ส.ค. แล้ว ตนก็ติดตามไปม็อบแทบทุกม็อบ โดยใช้เงินที่สะสมเอาไว้เป็นค่ารถ กลายเป็นพระที่ไม่ค่อยได้อยู่วัด ทำให้ไม่มีกิจนิมนต์มากนักจึงไม่มีรายได้อะไร ประกอบกับช่วงโควิด เดิมที่เคยสอนพุทธศาสนาในโรงเรียน ก็ต้องงดสอนไปด้วย

“ผมสนใจถึงปัญหาในคณะสงฆ์ เพราะย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่เป็นเณร และถูกห้ามรับกิจนิมนต์ต่างๆ ทั้งที่เณรทำงานหนักกว่าพระมาก มันทำให้เรารู้สึกว่าเจ้าอาวาสไม่มีเมตตาเลย มีแต่การขูดรีดกดขี่เรา (ที่เป็นเณร)  ทำให้รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม และอยากเปลี่ยนแปลงสิ่งนี้ ผมรู้สึกว่ามันเป็นระบบที่เถื่อนมาก การปกครองโดยคนๆ เดียวโดยไม่ต้องปรึกษาใครเลย ด้วยความที่เราสนใจศาสนาด้วย ผมคิดว่าพุทธศาสนาต้องมีเมตตาธรรมต่อกัน ทำให้คิดว่าถ้าเราไม่ลงมือทำ แล้วใครจะทำ”

“จึงได้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ที่มีอุดมการณ์ร่วมกัน อยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงของศาสนา ไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมบ้านเมือง มีทั้งพระ ทั้งเณร และฆราวาส มาช่วยกับทำหน้าที่ขับเคลื่อนปัญหาของศาสนาออกสู่สายตาประชาชน ด้วยมีเจตนาร่วมกันว่าจะเกิดการแก้ไขเปลี่ยนแปลงคณะสงฆ์ โดยการเน้นไปที่ระบบโครงสร้างที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อการกดขี่และปกครองโดยเฉพาะ”

“ประเด็นก็เกี่ยวเนื่องกันเพราะมันเป็นการเมืองระบบเดียวกัน อย่างเช่น รัฐธรรมนูญที่ห้ามพระเลือกตั้ง พ.ร.บ.สงฆ์ฯ ที่เขียนมาให้พระ แล้วไม่มีช่องทางให้แก้ไขเลย กฎมหาเถรสมาคมที่ห้ามพระยุ่งเกี่ยวกับการเมืองมีโทษถึงจับสึกได้ เป็นต้น ประชาชนชาวม็อบรู้จักกลุ่มของพวกเราในชื่อ ‘แก๊งแครอท’”

.

.

“วิบากกรรม” ของพระเณรเมื่อเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เมื่อพระ-เณร เริ่มแสดงออกทางการเมืองในประเทศที่ไม่ยอมรับการแสดงออกทางการเมืองของ-พระสงฆ์อย่างประเทศไทย รัฐไทยมีวิธีควบคุมและปราบปรามการแสดงออกของพระสงฆ์ ผ่านการควบคุมของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและมหาเถรสมาคม โดยสามารถใช้อำนาจสั่งการเป็นลายลักษณ์อักษรลงมา เพื่อนำไปสู่ปฎิบัติการรูปแบบต่างๆ กับผู้ใต้ปกครอง 

รูปแบบการคุกคามโดยองค์กรที่ควบคุมดูแลพระสงฆ์ เป็นสิ่งที่พระเณรได้พบเจอ เมื่อเข้ามายุ่งเกี่ยวกับกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม โดยเฉพาะเรื่องที่ถูกมองว่า “อ่อนไหว” สำหรับรัฐ อย่างการเรียกร้องสิทธิทางการเมือง และความเท่าเทียมกัน

“ปลายเดือน เม.ย. 2564 ผมพาหลวงพ่อดาวดินไป สน.นางเลิ้ง เป็นสิ่งที่แก๊งแครอท มักจะทำอยู่แล้วเพื่อร่วมเป็นพยานและเก็บข้อมูลพระ-เณรที่ถูกคุกคาม ถ้าหากมีคดีความก็จะไปรับทราบข้อกล่าวหาเป็นเพื่อน ไปให้กำลังใจ 

“วันที่ผมไปนั้น เมื่อตำรวจเห็นผม ก็ขอถ่ายรูปใบสุทธิและบัตรประชาชน เพื่อจะได้ทราบชื่อและที่อยู่ของผม ผมบอกว่าให้ดูได้ แต่ไม่ให้ถ่ายรูปหรือจดบันทึกข้อมูล ผมเลยเดินหนีออกมา แต่เขาก็ตามมาจะถ่ายรูปเอกสารต่างๆ ของผมให้ได้ บอกว่าถ้าไม่ให้ดู จะตามสำนักพุทธฯ มา จนคนที่ไปด้วยกันบอกว่าให้เขาถ่ายไปเถอะ จะได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะเราแค่มาเป็นเพื่อนเท่านั้นไม่ได้มีคดีอะไรเสียหน่อย ซึ่งก่อนหน้านี้ผมก็ไปเป็นเพื่อนท่านที่ สน.พหลโยธิน เขาก็ทำแบบนี้กับผมเหมือนกัน ตอนนั้นยื้อเอกสารกับตำรวจเหมือนกัน”

“จากที่เราคิดว่าไม่มีอะไร หลังจากกลับไปที่วัด ก็ถูกเจ้าอาวาสให้พระมาเรียกไปคุย บอกว่าตำรวจโทรมาถามเกี่ยวกับผมและถามข้อมูลส่วนตัว ถามว่าผมอยู่วัดเป็นยังไง เรียนที่ไหน เจ้าอาวาสได้ตอบตำรวจไปว่า ‘พระรูปนี้ออกจากวัดไปแล้ว ไม่รู้ไปไหน’ ซึ่งเป็นการบอกปัดของเจ้าอาวาส เพื่อไม่ให้ตำรวจมาที่วัด ยังไงก็ตาม ท่านบอกให้ผมย้ายออกไปก่อนสักเดือน สองเดือน เราไม่รู้จะทำยังไง ได้แต่ยกมือไว้ขอบคุณที่ช่วยเราไว้ ผมมาคิดได้ทีหลังว่า อ้าว ทำไมต้องกลัวตำรวจมาดักจับ ทั้งที่ผมไม่เคยมีคดีและไม่ได้ทำอะไรผิดเลย”  

หลวงพี่ภูผายังขยายความให้ฟังว่าก่อนเจ้าอาวาสจะตัดสินใจเรื่องดังกล่าว ได้โทรไปคุยกับพระอาจารย์ที่บวชให้ตน และปรึกษากับพระอาจารย์ที่แนะนำให้เข้ามาอยู่ที่วัดในปัจจุบัน คุยกันสามองค์คล้ายกับจะบอกว่าการตัดสินใจต่างๆ ผ่านการขออนุมัติและไตร่ตรองมาอย่างดีแล้ว

“สุดท้ายเราหลุดออกจากวัด ด้วยเหตุผลง่ายๆ” หลวงพี่ภูผากล่าวสั้นๆ

ปัจจุบันหลวงพี่ภูผาต้องย้ายไปอยู่ที่หอพักของมหาวิทยาลัย ซึ่งการอยู่หอพักทำให้พระมีสถานะคล้ายนักศึกษาโดยจะไม่ได้รับกิจนิมนต์ต่างๆ ทำให้แทบไม่มีรายได้เข้ามา และการระบาดของโรคโควิดก็ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการออกไปบิณฑบาต 

.


“มรรคาที่ถูกปิด” สำหรับพระเณรที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหว

“พระส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อว่าเราจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ และไม่ค่อยปกป้องพระที่ถูกกระทำด้วย พระบอกผมว่า ถ้าท่านถูกจับสึกก็บวชใหม่ก็ได้ คือพูดง่ายมาก แล้วส่วนใหญ่ก็อยู่กันแบบนี้ ถึงไม่ค่อยมีพระออกมาม็อบ เนื่องจากเป็นระบบโครงสร้างที่วางไว้และกดทับกันอยู่”  

“หากเราโดนคุกคาม และต้องออกจากวัดถือเป็นเรื่องใหญ่ของพระมาก การหาแผนสำรองหากต้องออกจากวัดเป็นเรื่องสำคัญ พระที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง วัดต่างๆ ก็ไม่ค่อยกล้ารับมาอยู่ เพราะกลัวจะโดนหางเลขไปด้วย พวกเจ้าอาวาสจึงไม่ค่อยสนับสนุนให้พระเคลื่อนไหว” 

หลวงพี่ภูผาเห็นว่าปัจจัยที่จำเป็นน่าจะเป็นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก แต่ขณะเดียวกันการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ทำให้พระเสี่ยงที่จะสูญเสียสถานะความเป็นพระไปอย่างง่ายดาย จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเห็นพระออกมาเคลื่อนไหว ที่เห็นๆ อยู่ก็อาจะนับได้ว่ากล้าหาญมากแล้ว

“ผมเคยทำแบบสำรวจในงานรับปริญญาของมหาวิทยาลัย โดยการให้พระแสดงมาความเห็นโดยไม่ต้องลงชื่อหรือข้อมูลส่วนตัวใดๆ แค่เขียนอายุลงในสติ๊กเกอร์และเขียนคอมเมนต์ลงในโพสต์อิท หลายคนก็กลัวไม่กล้าทำ มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เพราะการเป็นพระเป็นอภิสิทธิ์ชนอย่างหนึ่งของสังคมแห่งความเหลื่อมล้ำนี้ โดยพื้นฐานพระเณรหลายรูปมาจากครอบครัวชนชั้นรากหญ้าด้วยซ้ำ การสูญเสียสถานะพระไปอาจจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนคนนั้น เพราะการโดนข้อหายุ่งเกี่ยวทางการเมืองและไม่มีสังกัดวัดเสี่ยงต่อการถูกจับสึกได้ตามพ.ร.บ.สงฆ์ฯ” 

หลวงพี่ภูผาสะท้อนว่า พระมักลอยตัวเหนือปัญหาการเมือง แม้ว่าจริงๆ ถ้าการเมืองไม่ดี ทุกชีวิต ซึ่งรวมถึงพระสงฆ์ย่อมได้รับผลกระทบร่วมกันทั้งหมด 

“พระที่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองจะถูกตีตราว่าเป็นพระนอกรีต นอกคำสอน แม้พระจะบ่นเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบเกี่ยวกับการเมืองที่มีต่อตนเอง แต่ก็จะแค่บ่นและห่อเหี่ยวท้อแท้ไปเอง เข้าสู่ภาวะจำยอม”

.

อนาคตขององค์กรสงฆ์ และสังฆมณฑลในฝัน 

เมื่อถามถึงสิ่งที่อยากจะเห็นเกี่ยวกับวงการสงฆ์ หลวงพี่นิ่งคิดก่อนจะตอบ

“อยากเห็นความเปลี่ยนแปลงของคณะสงฆ์ครับ วิถีชีวิตที่มันถูกต้องและเป็นธรรม รู้สึกอยู่เสมอว่าพวกเราเหมือนครอบครัวใหญ่ แหล่งรวมคนที่มีความคิดหลากหลายไว้ด้วยกัน ที่จริงการเปลี่ยนแปลงนั้นเรายังมองเห็นหนทางและเป้าหมายไม่ชัดเจน คงต้องอาศัยการระดมความคิดและความต้องการของมวลชนที่เป็นพระเณรเป็นหลัก ตัวแปรสำคัญของเราก็คือ คณะสงฆ์ หากพวกเขาเห็นด้วยก็จะกลายมาเป็นแนวร่วมที่ทรงพลังของขบวนการ เราพยายามสื่อสารปัญหาและเผยแพร่อุดมการณ์แนวคิดออกไปให้ได้มากที่สุด เพื่อปลุกพลังอันหลับใหลของพระเณรลุกขึ้นมาต่อสู้อีกครั้ง”

ถึงแม้จะพบว่ามีอุปสรรคนานัปกว่าจะเกิดสิ่งที่อยากเห็นในวงการสงฆ์ได้ หลวงพี่ภูผาก็ไม่ได้ท้อใจ “ผมคิดว่าอย่างน้อยถ้ายังเกิดไม่ได้ เริ่มแรกให้เริ่มมีวงวิชาการ เปิดพื้นที่ปลอดภัยให้ได้คุยกันในเรื่องการเมือง เรื่องคณะสงฆ์ น่าจะพอปลุกพลังของพระของเณรได้บ้าง” 

.

X