การต่อสู้ของ ‘หลวงพี่ธรรม’ นักบวชผู้ชูป้ายสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ

ปฐมเทศนาบนเส้นทางประชาธิปไตย: เรื่องราวก่อนการตื่นรู้ของ ‘พระ/เณร’ แห่งราษฎร (3)

24 ก.ค. 2564 ในปีนี้ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 หรือ ‘วันอาสาฬหบูชา’ อันเล่ากันว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ‘ธรรมจักรกัปวัฒนสูตร’ ต่อหน้าปัญจวัคคีย์ทั้งห้า ส่งผลให้พราหมณ์โกณฑัญญะ มี “ดวงตาเห็นธรรม” จนได้บวชเป็นพระสงฆ์ในพุทธศาสนา ทำให้มีพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์ รวมเป็นพระรัตนตรัยครบบริบูรณ์

เนื่องในช่วงวันสำคัญของชาวพุทธนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนอ่านเส้นทาง “ตาสว่าง” ของภิกษุ-สามเณร 3 รูป ซึ่งมักปรากฎตัวอยู่ในการชุมนุมต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและความเท่าเทียมร่วมกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนปลดแอก 18 ก.ค. 2563 นอกจากนี้ยังชวนให้ประชาชนทั่วไปร่วมทำความเข้าใจอุปสรรคและสถานการณ์ของนักบวชที่ออกมาสนับสนุนขบวนการประชาชน ซึ่งมักถูกมหาเถรสมาคมเรียกว่าเป็นพฤติกรรม ‘ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง’

บทสัมภาษณ์ ซีรีย์ “ปฐมเทศนาบนเส้นทางประชาธิปไตย: เรื่องราวก่อนการตื่นรู้ของ ‘พระ/เณร’ แห่งราษฎร” นี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 บทตอน ตามเรื่องราวของพระ-เณรแต่ละองค์ ซึ่งมีที่มาที่ไปและ “หนทาง” ก่อนเข้าสู่ขบวนการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมที่มีความเฉพาะต่างกัน

อ่านตอนที่ 1 >> หลวงพี่ภูผา: จากเด็กแห่งภูพาน บทกวีที่ถูกอ่านบนเวทีชุมนุม สู่ ‘แก๊งแครอท’

อ่านตอนที่ 2 >> การเดินทางทางความคิดของ ‘สามเณรโฟล์ค’ นักบวชผู้เผชิญข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์



.

พระผู้ถูกจุด ‘ระเบิดความคิด’ จากเวิร์คชอปสันติวิธี

เป็นระยะเวลานานมากเหลือเกินกว่าพระสงฆ์ที่สนใจศึกษาเรื่องราวทางสังคมจะกล้าก้าวออกมาข้างหน้าเพื่อแสดงความสนับสนุนกระบวนการเคลื่อนไหว “หลวงพี่ธรรม” พระผู้บวชมา 31 พรรษา เป็นตัวอย่างหนึ่งในนั้นเพราะแม้สังคมเริ่มมีบรรยากาศที่เปิดกว้างและสนับสนุนพระ แต่กรอบกฎที่กำหนดตัวพระนั้นเป็นโครงสร้างขนาดใหญ่ที่ไม่อาจขัดขืนได้โดยง่าย

“ก่อนบวชเป็นนักนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิค กรุงเทพฯ เรียนชั้น ปวส. การท่องเที่ยว ตั้งใจว่าหลังเรียนจบจะบวชอยู่แล้ว ในปี 2533 อายุ 21 ปี ก็บวชเป็นพระ สมัยนั้นเราไม่ได้มีความคิดเรื่องการเมืองอะไรมากนัก แต่เราก็รู้จักเรื่องราวเดือนตุลา 2519 ตั้งแต่อายุ 7 ขวบเพราะตอนนั้นเห็นในหนังสือพิมพ์และได้ยินผู้ใหญ่คุยกัน โตมาก็เคยอ่านเรื่องราวเดือนตุลาอยู่บ้าง มีความรู้สึกร่วมเรื่องสังคมควรมีความยุติธรรม ในชีวิตตั้งแต่เติบโตมาจนอายุ 21 ปี ไม่เคยเห็นชุมนุมใหญ่ๆ จนกระทั่งเห็นการประท้วงรัฐบาลปี 2535 สมัยวัยรุ่นเราอาจจะเข้าใจการเมืองแค่ระดับหนึ่งเท่านั้น”

“ ปี 2538 มีโอกาสเข้าร่วมเวิร์คชอปเรื่องสันติวิธี ในช่วงหนึ่งของเวิร์คชอป มีประเด็นเกี่ยวกับ LGBT ในกิจกรรม expression line มันเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้เข้าร่วมหันมาตระหนักรู้เรื่องความเป็นชายขอบของมนุษย์ว่ามนุษย์มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ภายใต้อัตลักษณ์เหล่านั้น LGBT เป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกมองข้าม ปฎิกริยาของคนเข้าร่วมตอนนั้นค่อนข้างช๊อคเมื่อรู้ว่าผู้เข้าร่วมในเวิร์คชอปนั้นมีบางคนเป็น LQBT นึกภาพดูว่าตอนนั้นปี 2538 คนยังไม่มีการรับรู้เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เยอะ การมีประเด็นนี้ขึ้นมาเหมือนกับระเบิดตูมขึ้นมาบรรยากาศกลายเป็นเดดแอร์ จึงจุดความคิดให้กับเราว่าทำไมคนเราไม่ยอมรับความแตกต่างทางเพศและทำไมคนที่เป็น LQBT ต้องรู้สึกกดดัน ”

หลวงพี่ธรรมเล่าย้อนถึงช่วงเวลาที่เกิดคำถามใหญ่ขึ้นเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศเป็นครั้งแรก หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น หลวงพี่ได้เริ่มค้นหาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศเพื่อตอบคำถามของตนเอง

“ปี 2544  หกปีหลังจากนั้นเราเขียนบทความขึ้นมาเรื่องหนึ่งชื่อ “เกย์ เลสเบี้ยน วิบากกรรมของใคร” เป็นบทความที่พูดถึงความเป็นเพศกับพุทธศาสนา ตีพิมพ์ในวารสาร ‘เสขิยธรรม’ ตอนนั้นวารสารนี้มีฉบับออนไลน์ด้วย เนื่องจากบทความนี้นำเสนอเนื้อหาที่ค่อนข้างล้ำหน้ามาก คือบอกว่า LQBT ไม่ได้เป็นกรรมแต่เป็นผลพวงจากสังคมชายเป็นใหญ่ การที่บทความเกี่ยวกับพุทธศาสนาไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ทำให้มีคนแชร์ไปเยอะมาก ตามเว็บบอร์ดเกย์ก็แชร์กันไปเยอะ มีแต่คนพูดถึง จนมีคนบอกว่าเว็บมันล่มไปเลย เรากลับไปดูอีกทีก็ไม่ทันแล้วว่าเขาคุยอะไรกัน ไม่รู้มันล่มหรือเว็บมาสเตอร์เขาลบออกไปก็ไม่รู้”

“ตอนนั้นกลายเป็นบทความที่เปลี่ยนความคิดคนมาก แต่คนที่แอนตี้ก็จะบอกว่าศาสนาพุทธก็ยังบอกว่าเป็นกรรมอยู่ดีนั่นแหละ”

.

“วิบากกรรม” ของพระเณรเมื่อเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาไม่เคยเข้าร่วมกิจกรรมแบบที่ต้องปรากฎตัวมาก่อนเลย เนื่องจากภาพลักษณ์ของพระที่ถือป้ายไม่ค่อยปรากฎมาก่อน  แต่ระยะหลังมีม็อบการเมืองแล้วมีพระออกไปร่วม เราคิดว่าสังคมยอมรับได้มากขึ้น”

“ตั้งแต่ปลายปี 2563 ที่เริ่มปรากฎภาพพระเข้าร่วมชุมนุม กระแสตอบรับของโซเชี่ยลและในที่ชุมนุมค่อนข้างยอมรับมากขึ้น มันเลยทำให้การมีภาพพระถือป้ายเป็นพาวเวอร์อย่างหนึ่ง ก่อนหน้านี้เคยไปถือป้ายที่รัฐสภา “ฅนทำแท้งไม่ใช่ฅนบาป หยุดประณามฅนทำแท้ง” การที่เราเริ่มออกมาเพราะรู้สึกปลอดภัย ”

หลวงพี่ธรรมเล่าถึงความรู้สึก ก่อนตัดสินออกมาแสดงออกทางการเมือง โดยเฉพาะในประเด็นการเรียกร้องสิทธิเรื่องความหลากหลายทางเพศ ซึ่งอยู่ในความสนใจมาหลายปีแล้ว

“วันที่ 17 พฤษภาคม 2564 เราไปชูป้าย ‘LGBT ไม่ได้เป็นกรรม แต่คือการครอบงำจากระบบชายเป็นใหญ่’ ที่หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ในงาน IDAHOT International Day Against Homophobia, Transphobia, Biphobia ซึ่งเป็นวันต่อต้านความรังเกียจต่อความหลากหลายทางเพศสากล ไม่ได้รู้สึกกลัวอะไรเลย แต่พอชูป้ายเสร็จ ก็มีตำรวจนอกเครื่องแบบวิ่งตามเรามา โดยบอกว่ามีคนแจ้งว่ามีพระมาร่วมชุมนุม จัดกิจกรรมกับฆราวาส เขาขอดูใบสุทธิของเรา เราบอกว่าเราไม่มี ไม่ได้เอามา มีแต่บัตรประชาชน” หลวงพี่เล่าที่มาที่ไปของประสบการณ์การถูกตรวจบัตร เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคม

“เขาบอกว่าขอบัตรประชาชนก็ได้ แต่เราก็ไม่ให้ดู เขาเลยยื่นบัตรของเขาให้ดูว่าเป็นเจ้าหน้าที่ พอเขาให้ดูอย่างนั้น เราเลยต้องเอาบัตรของเราให้ดู จริง ๆ เราเดินหนีด้วยซ้ำแต่เขามากันหลายคน เราอยู่คนเดียว เหมือนมากดดันเรา มาจับตัวเราด้วยซึ่งสถานการณ์โควิดยังมีการมาจับตัวเราอีก  จากนั้นเขาก็ถ่ายรูปบัตรเราไป ถ่ายรูปไปไม่พอ บอกว่าเราต้องไปที่ สน.ด้วย เราก็บอกว่าอ่าวถ่ายรูปไปแล้ว แล้วทำไมยังต้องไป สน. อีก” หลวงพี่จึงต้องเดินทางไปสน.พร้อมกับตำรวจนอกเครื่องแบบเพื่อไปตรวจสอบบัตรประชาชน โดยในวันนั้นยังไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมากไปกว่าการถูกถ่ายภาพบัตรและนั่งรออยู่ที่สน.”

แม้จะมีประสบการณ์ตรงที่ทำให้รู้สึกถูกคุกคามทางกายภาพจากเจ้าหน้ารัฐ แต่หลวงพี่ยังไม่ได้รับผลกระทบจากกระแสสังคมเกี่ยวกับการออกมา call out ของพระ ในเรื่องเพศสภาพ การทำแท้ง ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่ขัดแย้งกับการตีความคำสอนพุทธศาสนากระแสหลักโดยตรง

“ไม่ทันได้สังเกตคอมเมนต์เลย เพราะพอโดนเอาตัวไปวันนั้น เพื่อนก็แชร์กันไปใหญ่ว่าเราโดนจับแล้ว สังคมก็ค่อนข้างห่วงใย เราคิดว่าคนไม่ได้แอนตี้อะไรมากนัก อาจจะมีบ้าง คิดว่าสังคมออนไลน์ไม่ได้ปฎิเสธหรือรังเกียจที่มีพระออกไปถือป้ายรณรงค์มากนัก”

อย่างไรก็ตามผลกระทบที่สำคัญเป็นเรื่องหลังจากถูกถ่ายภาพบัตรประชาชน

“สักพักมีจดหมายส่งไปที่วัดจากสถานีตำรวจพร้อมส่งภาพที่เราถือป้าย มีเอกสารเยอะแยะไปหมด เหมือนเอาเราไปฟ้องเจ้าสำนัก เช้ามาเจ้าสำนักเรียกเราไปคุยท่ามกลางผู้ช่วยสงฆ์อีกสิบรูปเพื่อไต่สวนความตามจดหมายและเอกสารจากสถานีตำรวจ ในเนื้อหารายงานแจ้งว่ากิจกรรมในวันดังกล่าวนอกจากมีพระภิกษุถือป้าย มีการจุดเทียน พระภิกษุยังนั่งร่วมกิจกรรม กลายเป็นว่าเราเป็นพระที่ทำผิด เจ้าสำนักพูดว่าท่านเป็นเจ้าอาวาสมาเป็นสิบ ๆ ปียังไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ เรานึกในใจว่าเราก็บวชมาตั้งนานก็ยังไม่เคยเจอเหตุการแบบนี้เหมือนกัน ท่านยังพูดอีกว่าการที่เราทำแบบนี้ทำให้วัดเสื่อมเสียชื่อเสียง เรานึกในใจบางทีอาจเป็นเรื่องทำให้วัดมีชื่อเสียงก็ได้เพราะเราช่วยสะกิดเตือนสังคมให้ตระหนักรู้ในเรื่องความไม่เท่าเทียมของมนุษย์” หลวงพี่ธรรมเล่าถึงวิธีทีการจัดการกับพระที่แสดงออกทางการเมืองว่านี่เป็นวิธีการหนึ่งที่ทำให้พระที่ออกมาเคลื่อนไหวรู้สึกผิดและอับอาย

“เรากลับมาทบทวนว่ามันเป็นเรื่องคอขาดบาดตายเลยหรือ แค่มีพระรูปหนึ่งออกไปถือป้าย การไปถือป้ายก็คือการแสดงปริศนาธรรมให้คนไปขบคิดค้นหาคำตอบ บางทีเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เห็นจำเป็นจะต้องเดือดร้อนขนาดนั้น”

“สุดท้ายท่านก็มีมติให้เราถูกภาคทัณฑ์เหมือนโดนใบเหลืองนั่นแหละ เป็นการตักเตือน อย่าให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีก แล้วให้เราเซ็นเอกสารรับทราบ จากนั้นเขาคงนำจดหมายนั้นส่งกลับไปให้สถานีตำรวจเพื่อรายงานว่าทางสงฆ์มีการจัดการแล้ว”

เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาสู่การตัดสินใจสำคัญว่าหลวงพี่ไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวอีกแล้ว

“เรามองว่ามันเป็นกระบวนการที่สงฆ์มีความสัมพันธ์กับรัฐ รัฐใช้สงฆ์ในการควบคุมประชากรสงฆ์ด้วยกันเองด้วยการมอบยศมอบตำแหน่งให้ เมื่อมอบยศมอบตำแหน่งให้ก็ตามมาด้วยอำนาจในการจัดการสงฆ์โดยไม่จำเป็นต้องพินิจพิจารณาว่าการที่พระไปแสดงออกเรื่องความคิดทางการเมืองนั้นเป็นเรื่องของการแสดงออกเรื่องอริยสัจ 4 (ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค) ของคนชายขอบ แต่กลับไปมองว่าเป็นการทำผิด พ.ร.บ.สงฆ์ ซึ่ง พ.ร.บ.สงฆ์เป็นสิ่งที่มาทีหลังพระธรรมวินัยด้วยซ้ำ”

“เราคงไม่ได้ออกไปอีกเพราะอาจจะโดนมาตรการอะไรที่สุดจะคาดเดา จะว่าไปมันก็คือการถูกรังแกผ่านระบบนั่นแหละ แต่ถึงจะไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมอะไรก็ยังมีวิธีการอื่นที่หลากหลายในการแสดงออกทางความคิดทางสังคม อย่างการเขียนบทความเชิงวิชาการแบบที่เคยทำมาตลอด”

เมื่อโยนคำถามว่าเป็นได้หรือไม่ ที่พระจะรวมตัวกันตั้งวัดที่มีความเป็นประชาธิปไตยและสนับสนุนให้พระแสดงออกทางการเมืองได้ หลวงพี่ให้ความเห็นว่า

“ค่อนข้างเป็นไปได้ยากในสังคมนี้เพราะการเป็นพระสงฆ์ไทยขาข้างหนึ่งก็เข้าไปเหยียบอยู่ใน พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 แล้ว ส่วนขาอีกข้างแม้จะเป็นข้างที่อยู่ในพระธรรมวินัย แต่ก็ดูเหมือนว่าขาข้างที่อยู่ใน พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 จะมีอิทธิพลทั้งเนื้อตัวของพระภิกษุสงฆ์รูปนั้นมากกว่าขาอีกข้างที่เหลือ”  

“ข้าราชการ พระ และ นักเรียน อยู่ในระบบที่โดนกดเหมือนกันหมด เหมือนกับเป็น “รัฐซ้อนรัฐ” หากต้องการปฎิรูปจากภายในก็ยังเป็นเรื่องยากมาก พระนี่ถ้าถูกจับสึกด้วยเหตุผลทางการเมืองก็ไม่รู้จะบวชได้อีกไหม ใครจะกล้าบวชให้เพราะพระอุปัชฌาย์ในประเทศไทยทุกรูปอยู่ภายใต้บงการของรัฐ สรุปก็คือจีวรที่เราห่มอยู่มันไม่ใช่จีวรของพระพุทธเจ้า แต่จีวรนี้มันได้ตกเป็นของรัฐซะแล้ว”

.

.

อนาคตขององค์กรสงฆ์ และสังฆมณฑลในฝัน 

“อยากให้เอาพ.ร.บ.สงฆ์ออกไป แล้วคืนสิทธิการเลือกตั้งให้แก่พระ และอยากให้มีการแยกรัฐออกจากศาสนา เอางบที่มีกับเรื่องศาสนาไปพัฒนาประเทศส่วนอื่นๆ หรือเอางบไปดูแลเรื่องสวัสดิการโดยรวมของประชาชนดีกว่า งบประมาณด้านศาสนามีเป็นพันล้านเงินจำนวนมากมายเหล่านี้ควรนำไปใช้ในเรื่องสวัสดิการของประชาชน เราคิดเหมือนนักเคลื่อนไหวทุกคนว่าศาสนาเป็นเรื่องของศรัทธา เป็นเรื่องของการปฎิบัติภายในของแต่ละคน ศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว มันไม่ควรถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติอะไรแบบนั้น ในเมื่อศาสนาเป็นเรื่องส่วนตัว แม้แต่ในบัตรประชาชนจึงไม่ควรระบุไว้ด้วยเหมือนกันว่าใครนับถือศาสนาอะไร เพราะบัตรประชาชนของประเทศในทวีปยุโรปหรืออเมริกาที่เขาก้าวหน้าก็ไม่มีการระบุอัตลักษณ์ทางศาสนา”

ข้างต้นเป็นความคิดเห็นของพระวัย 53 ปี ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสิทธิพิเศษจากความเป็นพระด้วยต้นทุนทางวัฒนธรรมของไทย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการบวชมานานหลายสิบพรรษาประกอบกับอายุที่อยู่ในวัยกลางคน ไม่ได้ทำให้ความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพอ่อนด้อยหรือล้าหลังแต่อย่างใด  หลวงพี่พูดอย่างหนักแน่นว่าอย่างไร ชีวิตมนุษย์สำคัญกว่า

“ระหว่างมนุษย์กับศาสนา เราว่ามนุษย์มีความสำคัญกว่านะ เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต รัฐไม่ควรออกกฎหมายเพื่อปกป้องศาสนาเพราะศาสนาไม่ใช่สิ่งมีชีวิต ตอนนี้มีกฎหมายหลายอย่างที่ออกมาเพื่อปกป้องศาสนา เช่นการห้ามแต่งกายเลียนแบบสงฆ์ มันไปปกป้องเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของนักบวชแทนที่จะปกป้องชีวิตคน มีการไปออกกฎหมายห้ามลบหลู่ศาสนา ไปให้ความสำคัญกับตัวศาสนาแทนที่จะเอาชีวิตคนเป็นตัวตั้ง ถ้าคุณเอาศาสนาเป็นตัวตั้งแสดงว่าชีวิตคนไม่มีความหมายเลยใช่ไหม ทั้ง ๆ ที่ศาสนาเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น บางทีเราอาจจะต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ว่าระหว่างคนกับศาสนา อะไรคือสิ่งเร่งด่วนที่เราต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก”

“ศาสนาเป็นสิ่งที่รับสืบทอดกันมา เหมือนเกมส์บอกต่อที่คุณให้คนมายืนเรียงกันสิบคน กว่าคนที่หนึ่งจะบอกต่อมาถึงคนที่ สิบคำสอนมันก็เพี้ยนไปแล้ว ภาษาที่เกิดขึ้นมานานเป็นพันปี ข้ามจากทวีปหนึ่งไปสู่ทวีปหนึ่ง ข้ามจากแคว้นหนึ่งไปสู่ดินแดนที่ต่างกันมากทั้งภาษาและวัฒนธรรม ข้ามจากช่วงเวลาเป็นพันปี มันจะไม่ผิดเพี้ยนไปเลยหรือ แสดงว่ากฎหมายที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อปกป้องอะไรซักอย่างที่ต้องอาศัยปัญญาในการพิสูจน์ว่าอะไรจริงอะไรเท็จ บางครั้งถึงขนาดลงโทษด้วยการฆ่าคน ปรับคนเป็นเงิน จับคนไปขังคุก มันคุ้มกับสิ่งที่ต้องใช้เวลาพิสูจน์หรือ เรื่องราวของความเชื่อที่อาจต้องใช้เวลาพิสูจน์กันทั้งชีวิต มันคุ้มกันหรือกับคำตัดสินไม่กี่นาทีที่อาจทำให้คนต้องเสียทรัพย์ เสียอิสรภาพ”

“ทั้งนี้ แม้สามารถกลับมาใช้ธรรมวินัยในการปกครอง ก็อาจจะต้องมีการสังคายนา วิเคราะห์อีกครั้งว่าอันไหนใช้ได้ อันไหนใช้ไม่ได้แล้ว เพราะวินัยที่ใช้กับคนกลุ่มหนึ่งในอีกที่หนึ่ง อาจจะไม่เวิร์คกับคนอีกกลุ่ม หลังผ่านไปเป็นพันปีแล้ว” หลวงพี่ทิ้งท้าย

.

X