คุกคาม-เยี่ยมบ้าน-ปิดกั้นเสรีภาพยังอยู่: ทวนสถานการณ์สิทธิฯหลัง ‘ประยุทธ์’ กลับทำเนียบ

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบเนื่องต่อไป ภายหลังการเลือกตั้งที่มีคำถามเรื่องความเสรีและเป็นธรรม และหลังการโหวตเลือกจากที่ประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. 2562  อีกทั้งแม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะต้องยุติบทบาทลง หลังการเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยได้กลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ และสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชน ก็ไม่ได้เรียกว่า “ดีขึ้น” หรือแตกต่างออกไปทั้งหมดจากช่วงยุค คสช. แต่อย่างใด แม้จะมีการสั่งโอนย้ายคดีในศาลทหารมายังศาลพลเรือน แต่การดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมืองก็ยังคงดำรงอยู่ต่อไป อีกทั้งการพยายามปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ และปรากฏการณ์อย่างการบุกเข้าติดตามประชาชนถึงบ้านช่องส่วนบุคคล ก็ยังคงดำเนินไปอยู่ แม้ดูเหมือนว่าไม่ได้มีกฎหมายใดให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการดำเนินการเช่นนั้นก็ตาม

รายงานชิ้นนี้ ทบทวนสถานการณ์การปิดกั้นการใช้สิทธิเสรีภาพและการติดตามคุกคามประชาชน ในช่วงเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านอีกครั้งของสถานการณ์การเมืองไทยภายใต้รัฐบาลใหม่ ที่มีนายกฯ หน้าเดิม

 

นายกฯ จากการเลือกตั้ง(?) ยังปิดกั้นการถูกล้อเลียน เหมือนตอนเป็นหัวหน้า คสช.

ตลอด 5 ปีเศษที่ผ่านมา คสช. พยายามปิดกั้นการแสดงออกในลักษณะล้อเลียนคณะรัฐประหาร และหัวหน้ารัฐบาลทหาร แต่หลังจากผ่านการเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และแกนนำ คสช. ก็ได้ยอมรับว่าตนเปลี่ยนมาอยู่ในสถานะของ “นักการเมือง” แล้ว

ในระบอบประชาธิปไตยนั้น การวิพากษ์วิจารณ์ การชุมนุมเรียกร้อง หรือการล้อเลียนเหล่านักการเมืองนั้น ก็นับเป็นสิทธิเสรีภาพอย่างหนึ่งของประชาชนที่กระทำได้ แต่ก็ดูเหมือนว่า “นักการเมืองหน้าใหม่” จะยังไม่มีอารมณ์ขันอยู่เช่นเดิม เมื่อผู้คนที่ออกมาแสดงออกล้อเลียนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคสช. ยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปห้ามปราม หรือติดตามข่มขู่ ในช่วงระยะที่ผ่านมา

กรณีนายยัน ฮีริค มาฉัล (Yan Marchal) ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย ได้เผยแพร่คลิปเพลงล้อเลียนเพลง “คืนความสุขประเทศไทย” โดยมีเนื้อหากล่าวถึงการผิดสัญญาของรัฐบาลทหารและปัญหาการบริหารและทุจริตคอรัปชั่นของรัฐบาล คสช. จนมียอดการเข้าชมสูงถึงกว่า 1 ล้านวิว  แต่เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 62 นายยันระบุว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 2 นาย เดินทางมาที่บ้าน และบังคับให้เขาลบคลิปดังกล่าว มิเช่นนั้นตำรวจจะไม่ยอมออกไปจากบ้าน และยังให้เขาลงลายมือชื่อยอมรับข้อตกลงที่มีเนื้อหายอมรับว่าการโพสต์คลิปวิดีโอล้อเลียน คสช. เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และจะไม่กระทำอีก รวมทั้งให้เขาทำคลิปแสดงความขอโทษต่อรัฐบาลและประชาชนชาวไทยต่อพฤติกรรมที่เกิดขึ้น

https://www.facebook.com/marchal/posts/10157459597369388

เอกสารข้อตกลงที่เจ้าหน้าที่ตำรวจให้นายยันเซ็นยินยอม

ในช่วงเวลาเดียวกัน ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 62 ผู้ใช้เฟซบุ๊กบัญชีชื่อ “ศุกล เครือเสน” ซึ่งมักเผยแพร่คลิปตลกเรื่องเพศและล้อเลียนการเมือง ได้โพสต์เฟซบุ๊กว่าเขาถูกติดตามโดยบุคคลซึ่งไม่แสดงตัวชัดเจนว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือไม่ หลังเผยแพร่คลิปวิดีโอที่แสดงความเห็นวิจารณ์ คสช. ในลักษณะล้อเลียน และถูกแชร์ไปเป็นจำนวนมาก ต่อมาวันที่ 14 มิ.ย. เขาได้ไลฟ์สดผ่านเฟซบุ๊คเล่าว่าขณะที่เขาลงจากเครื่องบินเพื่อเดินทางต่อไปแสดงหมอลำที่ จ.ศรีสะเกษ ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมารับและนำตัวไปที่ค่ายทหารเพื่อ “ปรับทัศนคติ” โดยทหารได้สั่งห้ามไม่ให้ทำคลิปล้อเลียนการเมือง ก่อนปล่อยตัวออกมา

ในช่วงเดือนมิถุนายน ยังมีปรากฏการณ์ในวันไหว้ครูประจำปี คือวันที่ 13 มิ.ย. 62 เกิดกระแสการทำพานไว้ครูที่มีเนื้อหาล้อเลียนหรือกล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองในหลายโรงเรียนทั้งในกรุงเทพและต่างจังหวัด โดยที่โรงเรียนชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย หลังจากมีภาพนักเรียนชั้นมัธยมตอนปลาย จัดทำพานไหว้ครูเป็นรูปตาชั่ง ข้างหนึ่งที่หนักกว่าเขียนว่า “250 เสียง” อีกด้านที่เบากว่าเขียนว่า “หลายล้านเสียง” รวมทั้งมีพานรูปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาที่โรงเรียน เพื่อเข้าไปพบนักเรียนและครูที่ปรึกษา แต่ทางตำรวจปฏิเสธว่าไม่ได้มีการขอให้นักเรียนลบภาพพานออกจากสื่อออนไลน์ ขณะที่ผู้อำนวยการยังได้เรียกนักเรียนเข้าไปอบรม โดยระบุว่ายังเป็นเด็กอยู่ ไม่ควรไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

พานไหว้ครูของนักเรียนมัธยมโรงเรียนชุมพลโพนพิสัย จ.หนองคาย

ขณะที่ในระดับมหาวิทยาลัย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนยังได้รับรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่สันติบาลเดินทางไปพบนายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน เพื่อเข้าสอบถามว่านักศึกษาในคณะจะมีการจัดกิจกรรมอะไรหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่ใกล้เปิดเทอม โดยฐิติพลได้ให้ความเห็นว่าเจ้าหน้าที่อาจจะมีความกังวล เนื่องจากมีข่าวเรื่องการทำพานไว้ครู และก่อนหน้านี้ก็เคยเข้ามาพบเขาเพื่อติดตามกิจกรรมนักศึกษาหลายครั้ง

“จริงๆ ผมไม่ได้รู้สึกแปลกใจที่ยังมีการคุกคาม เพราะนายกฯ ก็คนเดิม ทหารก็ยังคงมีอำนาจเหมือนเดิม อย่างไรก็ตาม เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่มา เนื่องจากได้รับคำสั่ง แต่ที่เป็นปัญหาคือรัฐบาลที่ยังละเมิดสิทธิประชาชน และละเมิดงานวิชาการอยู่เรื่อยๆ แม้จะมีการเลือกตั้งไปแล้ว มันไม่ได้สะท้อนให้เห็นว่าเขาต้องการให้ประเทศกลับไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ทั้งที่รัฐบาลไม่ควรทำอย่างนั้น และควรหยุดคุกคามประชาชน เสมือนว่าเราเป็นคนที่กระทำความผิด ทั้งที่เราไม่ได้ทำผิดอะไร และรัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะทำอย่างนั้น ไม่ว่าจะเป็นการคุกคาม หรือติดตามใดๆ แม้กระทั่งการอ้างว่ามาเยี่ยม และมาขอถ่ายรูปไปรายงาน ‘นาย’ หรือหน่วยงานรัฐ เพราะการกระทำเหล่านั้นทำให้ประชาชนไม่มีความปลอดภัยในชีวิต มันเป็นการละเมิดสิทธิของเรา” อาจารย์ฐิติพลกล่าว

ภาพเจ้าหน้าที่สันติบาลเข้าพูดคุยกับอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี (ภาพจาก Titipol Phakdeewanich)

 

การเยี่ยมบ้าน-ติดตามจับตากิจกรรมทางการเมืองยังมีต่อเนื่อง แม้ได้เลือกตั้งแล้ว?

ปฏิบัติการอีกรูปแบบหนึ่งที่เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเคยใช้มาอย่างต่อเนื่อง ในยุค คสช. คือการเข้าจับตาสอดส่องที่บ้านหรือที่พักอาศัยของนักกิจกรรมหรือประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง รวมทั้งการเข้าติดตามในช่วงที่มีวาระทางการเมืองสำคัญๆ เพื่อตรวจสอบการเคลื่อนไหว แม้จนหลังการเลือกตั้งและมีการเลือกนายกรัฐมนตรีแล้วก็ตาม ปฏิบัติการในลักษณะนี้ก็ยังดำเนินต่อไป ราวกับกลายเป็น “เรื่องปกติ” ไปเสียแล้ว

ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมที่ผ่านมา ปฏิบัติการดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ช่วงแรกคือในขณะที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ครั้งที่ 34 ซึ่งเป็นการประชุมประจำปีของผู้นำในประเทศในภูมิภาคอาเซียน ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายน 2562 ทั้งก่อนหน้าและระหว่างการประชุม มีรายงานกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามนักกิจกรรม นักศึกษา หรือประชาชนที่เคยเข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางการเมือง มากกว่า 20 ราย เพื่อติดตามว่าจะมีการเคลื่อนไหวในช่วงการประชุมอาเซียนหรือไม่ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้เคยเข้าร่วมการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง

รูปแบบในการติดตาม มีตั้งแต่การใช้วิธีอย่างการโทรศัพท์สอบถามความเคลื่อนไหว ไปจนถึงติดตามถึงที่บ้านพัก โดยส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องทื่หรือตำรวจหน่วยสืบสวนที่เข้าติดตาม ถึงที่พักอาศัยหรือที่มหาวิทยาลัย มีการขอถ่ายรูปและสอบถามความเคลื่อนไหวว่าจะมีการทำกิจกรรมอะไรหรือไม่ บางรายถูกมาติดตามในช่วงดึกดื่น

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย ไปตามหาตัว ศรีไพร นนทรีย์ กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง และเป็นผู้ถูกดำเนินคดีกรณีชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ตามที่อยู่ในบัตรประชาชน แต่ไม่เจอใคร เนื่องจากเธอไม่ได้อยู่ที่บ้านหลังดังกล่าวแล้ว เจ้าหน้าที่ยังได้เดินทางกลับมาใหม่เพื่อขอพบเธอกับผู้อยู่ในบ้านดังกล่าวในช่วงเย็น โดยพยายามสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับศรีไพรจากผู้เช่าบ้าน และขอเบอร์โทรศัพท์ แต่ผู้เช่าไม่ได้ให้รายละเอียดกับเจ้าหน้าที่ไว้ นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ยังได้ขอถ่ายรูปผู้เช่าพร้อมกับขอถ่ายบัตรประชาชน ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับศรีไพร โดยอ้างว่าต้องนำไปรายงาน “นาย”

ขณะที่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้รายหนึ่ง ที่เคยร่วมเคลื่อนไหวกับเครือข่ายสหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยว่าในช่วงก่อนการประชุมอาเซียน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจโทรศัพท์มาสอบถามถึงตนที่คณะถึง 2-3 ครั้ง พร้อมกับแจ้งว่าจะขอเบอร์โทรศัพท์ และที่พักที่เขาอยู่ในปัจจุบันด้วย เนื่องจากมีชื่อนักศึกษารายนี้อยู่ในบัญชีซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องติดตามในระหว่างการประชุมผู้นำอาเซียน ว่ามีการไปเคลื่อนไหวหรือชุมนุมที่ใดหรือไม่ แต่ทางอาจารย์ไม่ได้ให้เบอร์ติดต่อของนักศึกษากับเจ้าหน้าที่ไป

ภาพชายนอกเครื่องแบบที่มาเฝ้าบริเวณบ้านของ วลี ญาณะหงษา

กรณีของ วลี ญาณะหงษา ผู้ถูกดำเนินคดีถึง 4 คดีจากการร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ได้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าติดตามถึงที่บ้านในยามวิกาล โดยเธอระบุว่าในเวลากลางดึกของวันที่ 22 มิ.ย. 62 มีชายฉกรรจ์ประมาน 4 – 5 คน มากดกริ่งหน้าบ้านพัก โดยเธอไม่ได้ออกไปเปิดประตู แต่ก็ทำให้วลีนอนไม่หลับทั้งคืน

จนกระทั่งรุ่งเช้า เมื่อเดินออกมาหน้าหมู่บ้าน เพื่อไปร่วมกิจกรรมที่แยกเพลินจิต ซึ่งมีการนัดหมายชูป้ายรณรงค์ไม่ให้มีการทำร้ายนักกิจกรรมและเรียกร้องเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรม ก็พบว่ามีชายฉกรรจ์ 4 คน อ้างเป็นเจ้าหน้าที่สืบสวนนครบาล 9 รออยู่ตรงป้อมยาม เข้ามาล้อมสอบถามว่าเธอจะไปไหน มีการถามถึงวัตถุประสงค์การไปร่วมกิจกรรม พร้อมกับระบุว่าเจ้าหน้าที่จะไปส่งเธอ “เผื่อมีอันตราย” ทำให้เธอต้องเดินทางโดยมีเจ้าหน้าที่ประกบไปตลอดทาง

ขณะที่นักกิจกรรม ผู้นัดหมายชูป้ายในวันดังกล่าว อย่างนายอนุรักษ์ เจนตวนิชย์ หรือ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” ระบุว่าก่อนกิจกรรม ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอก 3 นาย เดินทางมาหาถึงบ้าน เพื่อสอบถามรายละเอียดการจัดกิจกรรม หลังเขาไปแจ้งจัดการชุมนุมไว้ และเมื่อถึงวันทำกิจกรรม เจ้าหน้าที่ได้มีการไปรับตัวฟอร์ดจากที่บ้าน โดยแจ้งว่าจะพาไปส่งถึงที่จัดกิจกรรมตรงแยกเพลินจิต

แต่ต่อมากลับมีการเปลี่ยนเส้นทาง แล้วกลับกลายเป็นการควบคุมตัวอนุรักษ์ไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้พบกับผู้บัญชาการตำรวจสันติบาลแทน ก่อนจะมีการเจรจาไม่ให้เขาไปทำกิจกรรมที่แยกเพลินจิตอีก และได้พาตัวไปยื่นหนังสือถึงตัวแทนกระทรวงการต่างประเทศแทน ปรากฏการณ์นี้จึงสะท้อนว่าการพยายามปิดกั้นการแสดงออกของประชาชนยังดำเนินต่อไป ภายใต้การดำรงตำแหน่งนายกฯ อีกครั้งของพล.อ.ประยุทธ์

ภาพนายอนุรักษ์ พร้อมกลุ่มประชาชน ทำกิจกรรมชูป้ายหน้ากระทรวงการต่างประเทศ หลังเจ้าหน้าที่ไม่ให้ทำกิจกรรมที่แยกเพลินจิต (ภาพจากฟอร์ด เส้นทางสีแดง)

ด้านพัฒน์นรี ชาญกิจ มารดาของสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ “จ่านิว” ระบุว่าช่วงการประชุมอาเซียน ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาติดตามสิรวิชญ์ถึงที่บ้านอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งแต่วันที่ 21 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ได้ขอให้ประธานกรรมการหมู่บ้านพามาคุยที่บ้าน และบอกด้วยว่าจะมาดูบ่อยๆ เพราะไม่อยากให้จ่านิวถูกทำร้ายในท้องที่ ภายหลังจากมีการลอบทำร้ายสิรวิชญ์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 มิ.ย.

นอกจากนี้เพื่อนบ้านได้มาบอกด้วยว่ามีชายร่างท้วมสองคนมาเดินวนเวียนหน้าบ้านของพัฒน์นรี แล้วถามว่าเธอจะกลับบ้านกี่โมง แต่พัฒน์นรีไม่ทราบว่าชายสองคนนั้นเป็นใคร วันต่อมายังมีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตาม และเธอยังสังเกตเห็นรถแปลกๆ มาจอดหน้าบ้าน ทั้งยังมีผู้ชายหัวเกรียนมายืนอยู่หน้าบ้านตลอด จนวันที่ 23 มิ.ย. ก็ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาที่บ้านอีก 2 นาย โดยแม่สิรวิชญ์ระบุว่า “เหมือนอยู่ในโครงการ ฝากบ้านไว้กับตำรวจ”

กระทั่งวันที่ 28 มิ.ย. 62 กลับเกิดเหตุการณ์ลอบทำร้ายสิรวิชญ์อย่างรุนแรงกว่าครั้งแรก ระหว่างเขาเดินทางออกจากบ้าน โดยที่ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่มาติดตามความเคลื่อนไหวก่อนเกิดเหตุแต่อย่างใด

 

การติดตามนักเคลื่อนไหวต่อเนื่อง โดยอ้างเรื่องความปลอดภัย แม้คสช.ยุติบทบาท

ขณะเดียวกัน หลังเกิดกรณี “จ่านิว” ถูกดักทำร้ายซ้ำสองอีกครั้ง ทั้งยังมีลักษณะรุนแรงขึ้น จนเขาได้รับบาดเจ็บอย่างหนัก โดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ยังไม่สามารถติดตามคนร้ายมาดำเนินคดีได้จนถึงปัจจุบัน หากแต่สถานการณ์ดังกล่าว กลับกลายเป็นข้ออ้างให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการเข้าติดตามกลุ่มนักกิจกรรมหลายคนถึงที่บ้าน โดยอ้างว่าเพื่อมาติดตามคุ้มครองความปลอดภัยตามคำสั่งของรัฐบาล

ตลอดช่วงเดือนกรกฎาคม จึงมีรายงานการเข้าติดตามนักกิจกรรมหรือผู้เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง ในหลักหลาย 10 คน โดยบางกรณีเจ้าหน้าที่ก็แสดงตัวว่าเดินทางมาเพื่อติดตามความปลอดภัยตามคำสั่ง แต่บ้างก็ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามาติดตามหรือต้องการสิ่งใด รวมทั้งบางกรณียังนำกำลังไปเป็นจำนวนมากและมีลักษณะข่มขู่คุกคาม ทำให้เกิดความตื่นตกใจในหมู่ประชาชน

ยกตัวอย่าง กรณีของเทวินทร์ และประนอม พูลทวี สองสามีภรรยาผู้ร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ระบุว่าครอบครัวถูกติดตามมาตั้งแต่ช่วงการประชุมอาเซียนแล้ว โดยเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมาติดตามขอถ่ายรูปด้วยที่บ้านหลายวันต่อเนื่องกัน

จนเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 62 พวกเขาก็ถูกติดตามอีก โดยมีชายสองคนมาสอบถามกับประนอมที่กำลังเดินทางไปจ่ายตลาด ว่าเธอกำลังจะไปไหน และเทวินไปอยู่ที่ไหน โดยไม่ได้แสดงตนว่าเป็นเจ้าหน้าที่หรือระบุว่าสังกัดหน่วยงานใด และต้องการสิ่งใด ชายทั้งสองคนยังได้ขี่จักรยานยนต์ติดตามเธอไปตลาด จนเธอซื้ออาหารเสร็จ ทำให้เธอเกิดความกังวล ประกอบกับเพิ่งมาสถานการณ์การทำร้ายสิรวิชญ์ ทำให้เทวินทร์และประนอมตัดสินใจไปแจ้งลงบันทึกประจำวันถึงเหตุการณ์ดังกล่าวเอาไว้ที่สภ.เมืองสมุทรปราการ ทางตำรวจที่รับแจ้งระบุว่าจะไปตรวจสอบกล้องวงจรปิด และให้ตำรวจนอกเครื่องแบบไปตรวจตราเป็นระยะให้

เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เดินทางมาที่บ้านของประจิณ ฐานังกรณ์ ผู้ชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง (ภาพจากประจิณ ฐานังกรณ์)

กรณีของประจิณ ฐานังกรณ์ ผู้ร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง ระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ค. มีตำรวจจากสน.มีนบุรี 5 นาย ไปหาเขาที่บ้าน แต่ได้พบกับญาติของเขา เมื่อญาติจะใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพไว้ ก็ได้ถูกข่มขู่ว่าห้ามถ่ายภาพ “เดี๋ยวจะจับเข้าคุก” จนทำให้ญาติของประจิณตกใจกลัว ต้องรีบโทรศัพท์ถึงประจิณ เพื่อให้ตำรวจได้คุยกับเขาแทน โดยเจ้าหน้าที่ได้ถามข้อมูลถึงที่พักอาศัยและงานที่เขาทำ

ทางด้านนักวิชาการและนักศึกษาก็ถูกติดตามตัวในช่วงเวลาเดียวกัน อาทิเช่น อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจากสน.ดอนเมือง มาพบหน้าบ้าน โดยแจ้งว่า “นาย” สั่งให้มาตรวจสอบดูว่าเขายังพักอาศัยอยู่ที่บ้านหลังนี้หรือไม่ และตรงกับข้อมูลที่มีอยู่ในระบบหรือไม่

เจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบที่เดินทางมาที่บ้านอนุสรณ์ อุณโณ (ภาพจาก Anusorn Unno)

กรณีของกันต์ แสงทอง นิสิตปริญญาโทจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ก.ค. ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบประมาณ 5-6 นาย อ้างว่าเป็นฝ่ายสืบสวน สน.ตลิ่งชัน เดินทางมาพบเขาที่บ้าน อ้างเรื่องการดูแลความปลอดภัยหลังเกิดเหตุกรณีทำร้ายสิรวิชญ์ โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าได้เดินทางมาก่อนนี้ครั้งหนึ่งแล้ว แต่ไม่พบ จึงมาอีกครั้ง กันต์ระบุว่าการมาของเจ้าหน้าที่ไม่ได้ทำให้ตนอุ่นใจหรือรู้สึกปลอดภัย แต่กลับทำให้หวาดระแวงที่มีตำรวจมาพบถึงบ้าน

กรณีการติดตามนี้ ยังเกิดขึ้นกับผู้สื่อข่าวอิสระ อย่างนายสงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ที่เมื่อวันที่ 15 ก.ค. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย เดินทางมาพบที่บ้าน อ้างว่า “นาย” ให้มาสอบถามประวัติส่วนตัวของเขา โดยเขาไม่ยินยอมให้ข้อมูล เช่นเดียวกับในวันเดียวกัน ยังมีรายงานกรณีผู้ประสานของสมัชชาคนจน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามหาตัวทั้งที่บ้านและสำนักงาน โดยอ้างว่ามาติดตามความปลอดภัย หลังกรณีทำร้าย “จ่านิว”

หญิงผู้เคยร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้งอีกรายหนึ่ง ยังระบุว่าในช่วงกลางเดือนกรกฎาคม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่า 10 นาย เดินทางไปสอบถามถึงตนที่บ้านว่าอยู่บ้านนี้หรือไม่ ทำให้คนที่บ้านของเธอตกใจ เพราะมีเจ้าหน้าที่เดินทางไปพร้อมกันจำนวนมาก ราวกับว่าเธอกระทำความผิด

จนถึงช่วงสิ้นเดือนกรกฎาคมแล้ว ปฏิบัติการลักษณะนี้ก็ยังดำเนินต่อไป โดยยุภา แสงใส ผู้ถูกดำเนินคดีจากการร่วมชุมนุมคนอยากเลือกตั้ง เปิดเผยเมื่อวันที่ 30 ก.ค. 62 ว่าได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวนสังกัดนครบาล 5 ในชุดนอกเครื่องแบบจำนวน 2 นาย เดินทางมาที่บ้าน โดยมีการรอพบเธอกว่าหนึ่งชั่วโมง เจ้าหน้าที่แจ้งเธอว่าเป็นการมาดูแลความปลอดภัยตามคำสั่งของรัฐบาล หลังจากกรณีจ่านิว พร้อมให้เบอร์โทรของเจ้าหน้าที่ไว้กับเธอ หากมีเหตุใดให้ติดต่อมาได้

การติดตามประชาชนเหล่านี้ เกิดขึ้นภายหลังการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 ให้ยกเลิกคำสั่งและประกาศ คสช. ต่างๆ จำนวนกว่า 70 ฉบับ เมื่อวันที่ 9 ก.ค. 62 และคาบเกี่ยวกับการนำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 62 ทำให้ทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยุติบทบาทลงตามรัฐธรรมนูญ

แม้ยังมีข้อถกเถียงว่าเจ้าหน้าที่ทหารยังสามารถใช้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และ 13/2559 ได้หรือไม่ โดยที่คำสั่งทั้งสองฉบับนี้ไม่ได้ถูกยกเลิกไป และได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารยศร้อยตรีที่ คสช. แต่งตั้ง ในการออกคำสั่งเรียกบุคคลมารายงานตัว จับกุมบุคคลซึ่งกระทำความผิด เข้าไปในเคหสถาน หรือสถานที่ใดๆ เพื่อตรวจค้น เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าบุคคลซึ่งกระทำความผิดหลบซ่อนอยู่ แต่คำสั่งทั้งสองฉบับนี้เอง ก็ไม่ได้ระบุเรื่องการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้านหรือติดตามความเคลื่อนไหวของประชาชนทั่วไป และคสช. เองก็ไม่ได้ดำรงอยู่แล้ว จึงยังเป็นปัญหาว่าคำสั่งสองฉบับนี้จะยังคงมีผลอยู่อีกหรือไม่

อีกทั้ง เจ้าหน้าที่ที่เข้าติดตามนักกิจกรรมหรือประชาชนในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา มีแนวโน้มจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลหรือตำรวจสายสืบในท้องที่เป็นหลักมากกว่า (แม้หลายครั้ง ก็ไม่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเหล่านี้มีสังกัดใด) จึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับอำนาจตามคำสั่งทั้งสองฉบับนี้ และสำหรับเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ก็ไม่มีตามกฎหมายใดให้อำนาจเข้าไปยังบ้าน-เคหสถานของบุคคล หรือไปติดตามตัวบุคคล โดยไม่มีหมายเรียกหรือหมายศาลใดๆ ได้ ทำให้การดำเนินการโดยเจ้าหน้าที่ในลักษณะนี้ ไม่ได้มีฐานอำนาจทางกฎหมายใดๆ รองรับแต่อย่างใด

ภายใต้สถานการณ์การติดตามคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็น “เรื่องปกติ” ในยุค คสช. แต่ภายหลังประเทศไทยผ่านการเลือกตั้ง มีการตั้ง “รัฐบาลใหม่” พร้อมการยุติบทบาทของ คสช. ไปแล้ว ปฏิบัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนเหล่านี้ ไม่ควรถูกถือเป็น “เรื่องปกติ” และเรื่องที่มีความชอบธรรมทาง “กฎหมาย” อีกต่อไป

 

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

ทหารยังคงอำนาจควบคุมตัวพลเรือน : ข้อสังเกตต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 เรื่อง การยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่หมดความจำเป็น

ย้อนดู “การเยี่ยมบ้าน” นักกิจกรรมในยุค คสช. กับคำถามถึงสถานะทางกฎหมาย (ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ หรือไอลอว์)

มองทหาร-ตำรวจตระเวนเยี่ยมบ้านคนอยากเลือกตั้ง ในฐานะปฏิบัติการจิตวิทยา #ปจว.

 

 

X