7 ก.พ. 2565 – ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดหมายตรวจพยานหลักฐานในคดีของ “อดีตสามเณรโฟล์ค” หรือ สหรัฐ สุขคําหล้า ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สืบเนื่องจากการขึ้นปราศรัยในชุมนุม #บ๊ายบายไดโนเสาร์ จัดโดยกลุ่มนักเรียนเลว เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2563 บริเวณใต้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส (BTS) สถานีสยาม
ทั้งนี้ คดีนี้มีรัฐธนภักษ์ สุวรรณรัตน์ เป็นผู้เข้าแจ้งความไว้ที่ สน.ปทุมวัน โดยอ้างว่า ได้ฟังการเผยแพร่เทปบันทึกคำปราศรัยของสหรัฐและเห็นว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อรัชกาลที่ 10 จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน คดีใช้เวลา 5 เดือนครึ่ง จึงถูกอัยการฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาล
>>> เปิดฟ้องคดี ม.112 ‘อดีตสามเณรโฟล์ค’ เหตุปราศรัยกิจกรรม “บ๊ายบายไดโนเสาร์” ปลายปี 63
สหรัฐพร้อมทั้งทนายความ และผู้ที่เดินทางมาให้กำลังใจ เข้าร่วมการพิจารณาคดีที่ห้องพิจารณา 402 ของศาลอาญากรุงเทพใต้ ในช่วงเวลาราว 10.10 น. ศาลได้อธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง และจำเลยให้การปฏิเสธ
ต่อมาจึงเริ่มกระบวนการตรวจพยาน อัยการแถลงว่าคดีนี้โจทก์จะขอนำสืบพยานทั้งหมด 18 ปาก ในจำนวนนี้ เป็นตัวผู้แจ้งความ 1 ปาก, เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด 9 ปาก จาก 5 หน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย ได้แก่ สน.บางยี่ขัน, สน.ปทุมวัน, กองบังคับการปราบปรามการกระทําผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.), กองบังคับการตำรวจนครบาล 6 (บก.น.6) และกองพิสูจน์หลักฐานกลาง
อัยการแถลงว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจแต่ละรายที่จะเข้ามาเบิกความต่างมีส่วนร่วมในคดีในหลายหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ผู้สังเกตการณ์และตรวจสอบว่ามีการชุมนุม, สายสืบ, เจ้าหน้าที่ที่รับหน้าที่ถอดเทป, เจ้าหน้าที่ที่จะมาให้ความหมายเกี่ยวกับรหัส 904 ซึ่งจำเลยได้ปราศรัยถึงในการชุมนุม, ผู้ตรวจบันทึกหลักฐานภาพเคลื่อนไหวว่ามีการตัดต่อหรือไม่, เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบบัญชีเฟซบุ๊ก รวมไปถึงพนักงานสอบสวนในคดี
นอกจากนั้น ยังมีพยานบุคคลทั่วไปที่จะมาให้ความเห็น รวม 6 ราย โดยเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญ 2 ราย รายหนึ่งจะมาให้การในฐานะตัวแทนจากสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ในขณะที่อีกรายคือ “อานนท์ นิด้า” หรือ ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ โจทก์ยังระบุอีกว่า จะนำพยานวัตถุรวม 20 ชิ้น เข้าร่วมในการสืบ
ทางด้านฝ่ายจำเลย ระบุต่อคู่ความและศาลว่า ประสงค์จะสืบพยานจำเลยทั้งหมด 4 ปาก ได้แก่ ตัวจำเลยเอง, นักวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา จะมาให้การในประเด็นเรื่องการปราศรัยของสามเณรฯ, เจ้าหน้าที่จากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จะมาให้การในประเด็นเรื่องปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ในประเทศไทย, และนักสิทธิมนุษยชนจากองค์กรระหว่างประเทศ จะมาให้การในประเด็นปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 เทียบกับกรณีการบังคับใช้กฎหมายรูปแบบเดียวกันในต่างประเทศ
ทางคู่ความได้คุยตกลงกันในเรื่องการสืบพยาน ระบุว่า จำเลยจะรับข้อเท็จจริงในเรื่องว่ามีการปราศรัยจริง แต่ข้อความที่ใช้ในการปราศรัยนั้นเป็นข้อความที่ไม่เข้าองค์ประกอบตาม มาตรา 112 และเนื่องจากไม่มีการฟ้องข้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมเข้ามา มีแต่เพียงข้อหา มาตรา 112 จึงขอให้ตัดการสืบพยานโจทก์ปาก พ.ต.อ.พาติกรณ์ ศรชัย ผู้กำกับ สน.ปทุมวัน ซึ่งทำหน้าที่รับแจ้งการชุมนุมสาธารณะ และเป็นผู้แจ้งข้อกฎหมายในวันที่มีการชุมนุม และอีกปากที่ถูกตัดออกคือ พ.ต.ท. ไพรัช พรมวงศ์ รอง ผกก.3 บก.ปอท. รับหน้าที่ตรวจสอบเฟซบุ๊กที่เผยแพร่ภาพเคลื่อนไหวการปราศรัยของสหรัฐ แต่เนื่องจากสำนักงานใหญ่ของเฟซบุ๊กอยู่ที่สหรัฐอเมริกา จึงไม่สามารถตรวจสอบตัวตนได้ คู่ความยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าวได้ จึงเหลือสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 16 ปาก ศาลกำหนดวันนัดให้จำนวน 4 นัด ในขณะที่พยานจำเลย สืบตามเดิมทั้งหมด 4 ปาก ศาลกำหนดวันนัดให้จำนวน 1 นัด
คู่ความได้ตกลงวันนัดสืบพยาน กำหนดนัดเป็นปี 2566 พยานโจทก์จะสืบในวันที่ 14 – 17 มี.ค. ในขณะที่พยานจำเลยจะสืบในวันที่ 21 มี.ค.
.
“ทิดโฟล์ค” ยืนยัน ปราศรัยในเรื่องหลักการศาสนา ระบุต้องมีการพูดอย่างรอบด้าน ไม่ใช่สรรเสริญแต่เพียงอย่างเดียว
ภายหลังจากเสร็จกระบวนการตรวจพยานและกำหนดนัดสืบพยาน ผู้สังเกตการณ์ของศูนย์ทนายฯ ได้พูดคุยกับอดีตสามเณรโฟล์คในเรื่องคดีความ 112 ที่เขาต้องเผชิญ ข้อสังเกตที่พบเห็นระหว่างร่วมกระบวนการตรวจพยาน เหตุการณ์ในวันปราศรัยซึ่งนำพาคดีความ มาตรา 112 มาสู่ชีวิตของนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล รายนี้ รวมไปถึงเจตนารมณ์สำคัญของเจ้าตัวที่ต้องการจะวิพากษ์แนวคิดทางศาสนากระแสหลักที่นำเสนอแต่ภาพของความดีงามแต่เพียงอย่างเดียว แต่ไม่กล่าวถึงมุมมองอีกด้าน ทั้งๆ ที่ก็ควรเป็นสิ่งที่ถูกจารึกไว้เช่นเดียวกัน
“ระหว่างที่มีการพิจารณา อัยการได้แถลงต่อศาลว่า ‘คดีนี้เป็นคดีสำคัญมาก’ ตอนแรกจะมีการสืบในประเด็นเรื่องการชุมนุม กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ทั้งๆ ที่ข้อหามีแค่มาตรา 112 อัยการได้ขอให้ทำการสืบเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้ามาห้ามปรามการชุมนุมด้วย ซึ่งมันไม่เกี่ยวกัน ผมยอมรับข้อเท็จจริงในเรื่องที่ขึ้นปราศรัย แต่ข้อความที่ปราศรัยไม่ได้มีเนื้อหาหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด”
“สิ่งที่ติดในใจคือการที่อัยการบอกว่าคดีนี้เป็นคดี ‘สำคัญ’ ทั้งๆ ที่ทุกคดีของประชาชนทุกควรเป็นสิ่งสำคัญอยู่แล้ว แต่ทำไมต้องมาเน้นหนักในคดีนี้ ทั้งที่ควรจะต้องให้ความสำคัญเหมือนกัน ไม่ใช่แค่เฉพาะกับคดีทางการเมือง”
สหรัฐ สุขคําหล้า
“ในส่วนของคดี วันที่ขึ้นปราศรัย ผมเองก็เตรียมตัวมาประมาณหนึ่ง ได้พูดถึง ‘อำนาจที่มองไม่เห็น’ การใช้อำนาจอ่อน (ซอฟต์ พาวเวอร์ – Soft Power) ที่ถูกปลูกฝังเข้ากับคนที่เข้าวัดทำบุญ พระเองก็มีการท่องบทสวดที่มีเนื้อหาสรรเสริญองค์พระราชาและพระราขินี ผมก็เลยตั้งคำถามว่า ทำไมเราพูดแต่ในส่วนที่ดี แต่ทำไมเราถึงไม่พูดในส่วนที่เป็นข้อเสียเลย พูดถึงภัยของพระราชาบ้าง ทั้งๆ ที่มีบทสวดที่เกี่ยวข้องกับภัยของพระราชาในพุทธศาสนา อย่างบทขัดรตนสูตร แต่ทำไมกลับไม่ถูกเอามาพูด หรือนำมาสอน”
“ในส่วนของภาคเหนือ จะมีคำสอนในบทเทศน์ช่วงเข้าพรรษา ตอนขึ้นธรรมาสน์ จะมีการสอนเรื่องภัยของพระราชา หรือแม้แต่นิทานชาดก ว่าด้วยเรื่องว่าพระราชามีภัยอย่างไร มีอำนาจอย่างไร มีเรื่องที่ผมเคยเทศน์เกี่ยวกับพระราชาในชาดกว่า ไปฆ่าพ่อฆ่าแม่คนอื่น ลูกที่เกิดมาของเขาก็พยายามจะล้างแค้น ปลอมตัวเองไปสอบเป็นทหารมหาดเล็ก จนได้ใกล้ชิดกับพระราชา ตอนท้ายของชาดก สุดท้ายสองฝ่ายก็ไม่ถือโทษโกรธแค้นด้วยเพราะความเมตตา ที่จะสื่อคือ มันมีเรื่องการสอนเกี่ยวกับผลกรรม ว่าถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีผลลัพธ์เป็นอย่างไร ชาดกพยายามสอนเรื่องเมตตา สอนเรื่องภัยของพระราชาด้วย ยังมีการพูดถึงในมุมอื่นๆ ที่ไม่ใช่แค่สรรเสริญอย่างเดียว”
ในส่วนของทิศทางของคดี โฟล์คเล่าว่า เขายังอาจสะท้อนความรู้สึกไม่ได้มาก เพราะยังไม่เห็นกระบวนการสืบพยานโจทก์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เขายืนยันชัดเจนว่าการบังคับใช้มาตรา 112 นั้นมีปัญหา ทั้งด้วยความเปิดกว้างในเรื่องของการตีความ รวมไปถึงการให้อำนาจใครก็ตาม ทั้งๆ ที่คนนั้นไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง แจ้งความดำเนินคดี เหล่านี้จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตามองกันต่อไป
“คงต้องรอดูในชั้นสืบพยานก่อนว่าพยานโจทก์ให้การเกี่ยวกับคดีอย่างไร แล้วเขามองว่ามันมีความผิดอย่างไร เพราะมาตรา 112 มันตีความได้ค่อนข้างกว้าง ทำให้เราเห็นได้ไม่ชัดเจนว่าศาลจะตีความในรูปแบบไหน การพูดแบบไหนถือว่าเข้าข่ายหมิ่นฯ เพราะเราก็ปราศรัยในเรื่องของหลักการของศาสนา ว่ามันมีการพูดถึงพระราชาในรูปแบบนั้นจริงๆ ตอนที่พูด ผมก็ยังเป็นเณรอยู่ เป็นการพูดเกี่ยวกับหลักคุณธรรมจริยธรรมทั่วไป”
“นอกจากเรื่องความกว้างสำหรับพื้นที่การตีความ มาตรา 112 ยังกำหนดให้ใครแจ้งความเดำเนินคดีก็ได้ แม้ไม่ใช่คู่กรณี อย่างคดีผม คนแจ้งความเขาก็เป็นประชาชนทั่วไปที่ผมไม่รู้จักด้วยซ้ำ อนาคต เราอาจต้องรอดูต่อไปว่าทิศทางจะเป็นอย่างไร”
.
อ่านเรื่องราวของ “ทิดโฟล์ค” เพิ่มเติม
การเดินทางทางความคิดของ ‘สามเณรโฟล์ค’ นักบวชผู้เผชิญข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์
.
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “สามเณรโฟล์ค” ปราศรัยในม็อบ #บ๊ายบายไดโนเสาร์ วิจารณ์การนำ ม.112 กลับมาใช้
.