ศาลลงจำคุกอีก 3 ปี “เก็ท” เห็นว่าทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย ส่วน “โจเซฟ” ยกฟ้อง ม.112 เห็นว่าเพียงกล่าวถึงเรื่องในประวัติศาสตร์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง

27 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาธนบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ “โจเซฟ” (นามสมมติ) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่

ศาลอาญาธนบุรี พิพากษาจำคุก 3 ปี “เก็ท” โดยเห็นว่าคำปราศรัยทำให้กษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง แต่ให้ยกฟ้อง “โจเซฟ” ในข้อหานี้ พร้อมกับให้ลงโทษปรับทั้งสองคนในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ คนละ 200 บาท  

.

เดิมคดีนี้มีจำเลย 3 คน ได้แก่ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท จำเลยที่ 1, โจเซฟ (นามสมมติ) จำเลยที่ 2 และมิ้นท์ (นามสมมติ) นักกิจกรรมกลุ่มนาดสินปฏิวัติ จำเลยที่ 3 ปัจจุบันเหลือจำเลยเพียง 2 ราย คือ โสภณและโจเซฟ เนื่องจากมิ้นท์ได้ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง

ในการสืบพยานคดีนี้ เก็ทได้แถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยขอ ‘ถอนทนายความ’ ของตนเอง และไม่ประสงค์จะมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล

รวมถึงไม่ขอลงลายมือชื่อในเอกสารทุกรายการ 

ตลอดการพิจารณา มีเพียงทนายของโจเซฟทำหน้าที่ในคดี ทำให้เนื้อหาการถามค้านหลักเป็นประเด็นคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งฝ่ายจำเลยพยายามชี้ให้เห็นว่ามีเนื้อหาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการประหารพระเจ้าตากสิน มีการอ้างอิงไว้ในงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การใส่ความหรือไม่ได้พาดพิงกษัตริย์องค์ปัจจุบัน รวมทั้งฝ่ายโจทก์เองก็ไม่ได้มีการนำสืบให้เห็นว่าข้อความเป็นเท็จอย่างไร

วันนี้ที่บริเวณศาลอาญาธนบุรี มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา มีการสนธิกำลังระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บางขุนเทียน เจ้าหน้าที่ตำรวจศาล เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่สำนักอำนวยการประจำศาลอาญาธนบุรี รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำพิเศษธนบุรี โดยตลอดห้องโถงก่อนเข้าห้องพิจารณาที่ 11 บนชั้น 3 ของอาคารศาล มีเจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานดังกล่าวยืนเรียงตลอดสองข้างก่อนถึงห้องพิจารณา      

ทั้งนี้ มีผู้มาให้กำลังใจเก็ทและโจเซฟจำนวนมาก ทั้งครอบครัว คนใกล้ชิด อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และเพื่อนนักกิจกรรม ภายใต้บรรยากาศหยุดยาวก่อนนับถอยหลังเข้าสู่ปี 2567    

ก่อนเริ่มอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ศาลได้แจ้งให้ผู้มาให้กำลังใจและสังเกตการณ์คดีแยกเข้าไปนั่งฟังการถ่ายทอดวิดีโอที่ห้องข้าง ๆ และไม่อนุญาตให้ใช้อุปกรณ์สื่อสาร โดยจะต้องฝากโทรศัพท์ไว้กับเจ้าหน้าที่เท่านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้จัดให้ฝากไว้ที่ตะกร้าหน้าห้อง 

เวลา 09.20 น. เก็ทถูกเบิกตัวจากห้องขังใต้ถุนศาลขึ้นมายังห้องพิจารณา โดยเขาถูกใส่กุญแจเท้าล่ามข้อเท้าทั้งสองข้างเข้าด้วยกัน และในห้องพิจารณามีเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล 2 นาย นั่งประกบตลอดเวลา ส่วนเจ้าหน้าที่อื่นอีก 4 นาย กระจายตัวกันอยู่     

ในห้องพิจารณาเจ้าหน้าที่อนุญาตให้เพียงผู้ที่เกี่ยวข้องในคดี ครอบครัว และคนใกล้ชิดอีก 3 คนเข้ามาในห้องพิจารณา 

.

เวลา 09.25 น. ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา มีรายละเอียดโดยสรุปใน 2 ประเด็น ดังนี้ 

ข้อหาตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493

ศาลรับฟังข้อเท็จจริงว่า ก่อนวันเกิดเหตุมีการนัดหมายชุมนุมจริงตามสื่อออนไลน์ โดยไม่มีข้อเท็จจริงว่ามีบุคคลมาขอใช้เครื่องขยายเสียงก่อนจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และในวันเกิดเหตุพยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันว่า จำเลยทั้งสองได้ขึ้นปราศรัยตามบันทึกถอดเทปในสำนวนคดีโดยใช้ไมค์ขยายเสียง ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ห่างไปถึง 20 เมตรได้ยินเสียง จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ 

จำเลยทั้งสองจึงร่วมกันมีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 วรรคแรก, มาตรา 9 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ปรับคนละ 200 บาท 

ข้อหาตามมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือไม่

ศาลเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 ที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ต้องพิจารณาโดยคำนึงถึงสถานะของสถาบันกษัตริย์และความรู้สึกของบุคคลประกอบด้วย พยานโจทก์เบิกความไปในทางสอดคล้องกันว่า จำเลยที่ 1 ปราศรัยโดยมีการกล่าวถึงพระนามของรัชกาลที่ 10 ยืนยันข้อเท็จจริงว่าไม่ทรงงาน และยังลุ่มหลงในไสยศาสตร์ เห็นว่าคำปราศรัยดังกล่าวทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ส่วนจำเลยที่ 2 คำปราศรัยไม่ได้มีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 แต่กล่าวถึงรัชกาลที่ 1 ศาลเห็นว่า แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อกษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ย่อมส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศ ซึ่งประเทศไทยปกครองโดยพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งถึงระบอบประชาธิปไตย พระมหกษัตริย์ยังคงได้รับการเคารพสักการะให้ทรงเป็นประมุขของประเทศ ทรงงานโดยใช้อํานาจนิติบัญญัติผ่านทางรัฐสภา อํานาจบริหารผ่านทางคณะรัฐมนตรี และอํานาจตุลาการผ่านทางศาล มีการสืบราชสันตติวงศ์ตามรัฐธรรมนูญ โดยประชาชนทุกคนยังคงผูกพันกับสถาบันกษัตริย์ตลอดมา

ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ปราศรัยโดยสรุปว่า ชนชั้นนำ ชนชั้นปกครอง หมายถึงกษัตริย์เป็นเทวราชา เป็นเทพอวตารมาจุติ ประชาชนต้องหมอบกราบ และราชวงศ์เก่าในอดีตมีการฆ่าเพื่อแย่งชิงราชสมบัติ ทั้งหมดควรเป็นการกระทำของเทวราชา เทพอวตารหรือไม่ ให้พี่น้องไปไตร่ตรองเอาเอง 

ศาลเห็นว่าคำกล่าวของจำเลยที่ 2 เป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริง และข้อมูลทางประวัติศาสตร์ที่ว่าพระมหากษัตริย์มีเมียหลายคนหรือมีการแย่งชิงทรัพย์สมบัติกันก็เป็นเรื่องทั่วไป ส่วนที่จำเลยที่ 2 กล่าวถึงสาเหตุการตายของพระเจ้าตากสินก็เป็นข้อมูลที่ไม่มีข้อยุติทางประวัติศาสตร์ ทำให้จำเลยที่ 2 เชื่อแบบนั้นได้ การกล่าวถึงเทพอวตารไม่ได้เป็นการยืนยันข้อเท็จจริง โดยจำเลยที่ 2 ได้ให้ผู้ฟังที่เป็นประชาชนไปคิดเองต่อ ศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงอะไร และเลือกหยิบบางประเด็นมาปราศรัยเท่านั้น 

ทั้งนี้ในคำฟ้อง ได้แยกฟ้องจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 จากกัน พยานโจทก์ไม่มีน้ำหนักพอให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง จำเลยที่ 2 จึงไม่มีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ยกฟ้อง

ศาลพิพากษา การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ในข้อหามาตรา 112 ให้จำคุก 3 ปี และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท ให้นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากคดี ปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ที่ศาลอาญามีคำพิพากษาก่อนหน้านี้

ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับ 200 บาท ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง 

.

หลังจากฟังคำพิพากษา โจเซฟได้จ่ายค่าปรับต่อศาลเป็นที่เรียบร้อย ส่วนเก็ทปฎิเสธที่จะจ่ายค่าปรับและไม่ขอประกันตัวในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ให้เวลาบางส่วนต่อเก็ทได้พูดคุยกับครอบครัวและผู้ที่ศาลอนุญาตให้เข้าห้องพิจารณาได้ จากนั้นเก็ทถูกนำตัวออกจากห้องพิจารณาเพื่อเดินทางกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ด้วยกำลังรักษาความปลอดภัยอย่างแน่นหนา 

ทั้งนี้ เก็ทถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 หลังถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุก ในคดีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว โดยลงโทษในข้อหามาตรา 112 จำคุก 3 ปี และลงโทษในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 6 เดือน ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัวมานับแต่นั้น หากรวมโทษจำคุกในสองคดี เท่ากับ 6 ปี 6 เดือน

.

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: 

อ่านประมวลคดี – เมื่อการพูดถึงข้อเท็จจริงทางปวศ. อาจผิด ม.112: ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 ของ “เก็ท-โจเซฟ” กรณีปราศรัย #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน 

คำแถลงไม่ยอมรับอำนาจศาล – ‘เก็ท’ ถอนทนาย คดี 112 เหตุปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” พร้อมปฏิเสธอำนาจศาล เรียกร้องสิทธิประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมือง – ยุติคดี ม.112 ทั้งหมด 

อ่านคำฟ้อง – ยื่นฟ้อง ม.112 คดี 3 นักกิจกรรมร่วมปราศรัย “ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ก่อนศาลยกคำร้องขอถอนประกัน “มิ้นท์” นาดสินปฏิวัติ

X