จดหมายจาก “เก็ท” โสภณ: ขอให้มิตรสหายที่ต้องกระจัดกระจาย ได้รู้ว่าคุณไม่ได้อยู่เดียวดาย

ต่อเนื่องจากจดหมายฉบับเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2566 เก็ท โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ที่ถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีมาตรา 112 ยังคงใช้ความพยายามในการสื่อสารเรื่องราวของเขา ผ่านการบันทึกเป็นตัวหนังสือออกมา แม้จะเผชิญกับการเซนเซอร์จดหมายของทางเรือนจำ

ครั้งนี้เก็ทย้อนภาพจำถึงเหล่าผู้ที่ต้องลี้ภัยจากการแสดงออกทางการเมืองเพราะถูกคุกคามโดยอำนาจรัฐ โดยเฉพาะการถูกบังคับให้สูญหาย ที่ต่างสร้างบาดแผลทางความทรงจำให้กับคนที่อยู่รอบตัวของเหยื่อการคุกคามนั้น  จดหมายอีกฉบับเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในห้องขัง ทั้งความรู้สึกนึกคิดกับขบวนการต่อสู้ด้านสิทธิพลเมืองและประชาธิปไตย ที่เก็ทสะท้อนว่าการต่อสู้ของเขายังคงเข้มข้นไม่เปลี่ยนแปลง พร้อมกับหวังจะขยายเรื่องราวไปสู่วงกว้างมากขึ้น

ปัจจุบัน (จนถึงวันที่ 12 ม.ค. 2567) เก็ทถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 142 วัน หลังศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดีที่พิพากษาจำคุก 3 ปี ในข้อหาตามมาตรา 112  และจำคุก 6 เดือน ในข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว ซึ่งเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด

หนำซ้ำเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2566 ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาจำคุก “เก็ท” อีก 3 ปี ตามมาตรา 112 จากกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่

.

คุณไม่ได้อยู่เดียวดาย วันหนึ่งการต่อสู้ของเราจะผลิบาน

จดหมายลงวันที่ 20 ธ.ค. 2566

เวลามองไปที่บางสิ่งหรือบางที่ ก็จะทำให้ความทรงจำบางอย่างผุดขึ้นมา เราอยู่ห้อง 16 เเดน 4 ห้องนี้ในวันธรรมดาจะเป็นห้องรับฝากขังผู้ต้องขังที่กลับมาจากศาลช่วงค่ำ ก่อนจะนำพวกเขากลับแดนเดิมในวันถัดไป เรียกสั้น ๆ ว่า “ห้องฝากลอย” 

วันที่มีผู้ต้องขังจากแดนอื่นมานอนด้วย ห้องนี้ก็แทบจะไม่มีที่ว่าง แต่ช่วงวันหยุดหรือช่วงที่ผู้ต้องขังออกศาลยังไม่กลับมา ห้องนี้ก็จะโล่งแทบกลิ้งได้

เวลาที่เรามองไปที่โล่ง ๆ ในห้อง มันก็ทำให้เรานึกถึงคำพูดว่า “ในคุกยังมีที่ว่างอีกมาก เอาลูกแม่ไปทำไม อย่างน้อยถ้าขังลูกแม่ไว้ในคุก แม่ยังมาหาได้” นี่เป็นคำพูดของแม่กัญญาที่พูดถึง “พี่ไอซ์” สยาม ธีรวุฒิ หนึ่งในผู้ลี้ภัยการเมืองที่ภายหลังถูกบังคับสูญหาย 

พอนึกถึงผู้ลี้ภัยและผู้ถูกบังคับสูญหาย ความทรงจำเกี่ยวกับผู้เสียหายคนอื่นก็ผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ก่อนเข้าคุกช่วงช่วงต้นปี “ป้าน้อย” ภรรยาลุงสุรชัย ก็บอกกับพวกเราว่าถ้าหนูต้องเข้าคุก ต้องกินผลไม้รักษาสุขภาพให้ดีนะลูก เอาจริง ๆ เราก็อยากบอกป้าแกว่า เราไม่ชอบผลไม้ ส่วนลุงสุรชัยทุกวันนี้ก็ยังคงไม่พบตัว 

ในขณะที่มีการพบศพ “พี่โต้ง” ชัชชาญ บุปผาวัลย์ และเพื่อนที่ลี้ภัยด้วยกัน อยู่ที่แม่น้ำโขง เมื่อวานมีการชุมนุมที่แยกปทุมวันพูดถึง พ.ร.บ.สมรสเท่าเทียมฯ สมองเราก็นึกถึงผู้ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางเพศและเป็นผู้ถูกบังคับสูญหาย “พี่ต้าร์” วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ถ้าเขาอยู่และสามารถอยู่ในไทยได้อย่างปลอดภัย คงจะเป็นกำลังสำคัญและกระบอกเสียงของประเด็นนี้แน่ ๆ  

พอพูดถึงไพรด์หลาย ๆ คน เราก็นึกถึง “พี่มิ้นท์” ช่วงที่พี่มิ้นท์ยังอยู่เขาถูกกลุ่มคนคลั่งเจ้าคุกคาม โดนแจ้ง 112 ไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนปกป้องเขาเลย หลังพี่มิ้นท์ไป พี่เขาเล่าว่าช่วงนั้นนั้นเก็ทกับตะวันโดนศาลขัง ในบ้าน พี่บุ้งกับใบปอก็ติดคุก คนอื่น ๆ ก็โดนเงื่อนไข จนขยับไม่ได้  มันเป็นความรู้สึกเหมือนไม่มีใครเลย หลายครั้งเราก็คิดว่าถ้าพี่มิ้นท์อยู่ตรงนี้ก็คงดี แต่ทำไงได้ประเทศนี้สำหรับหลายคนก็ไม่ได้ปลอดภัยพอใช้ชีวิตได้ 

สยามเมืองยิ้ม ไม่ได้ยิ้มต้อนรับทุกคน ขอให้มิตรสหายที่ต้องกระจัดกระจาย ได้รู้ว่าคุณไม่ได้อยู่เดียวดายวันหนึ่งการต่อสู้ของเราจะผลิบาน

ถึงวันนั้นเราจะกลับมาพบกัน

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง

20 ธ.ค. 2566

.

จะแก้แค้นแทนสหายคนกล้า จะต่อสู้เพื่อประชาไปตลอดกาล

จดหมายลงวันที่ 27 ธ.ค. 2566

ผมขอแสดงความเสียใจกับการจากไปของคุณดารุณี กฤตบุญญาลัย อีกหนึ่งผู้ลี้ภัยทางการเมือง ที่จบชีวิตลงที่ต่างประเทศ  ผมสัญญาว่าจะต่อสู้อย่างเต็มที่เพื่อให้สังคมเรามีประชาธิปไตยมีสิทธิเสรีภาพ freedom of speech วันหนึ่งผู้คนที่มีความหลากหลายต้องอยู่ร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม 

อย่างที่หลายคนประเมินกัน พออากาศเย็นลงในคุกก็มีคนป่วยเพิ่มขึ้น คนนึงหายป่วย อีกคนก็ป่วยต่อ ผมได้รับข้อความถามจากคนข้างนอกว่าข้างในเป็นยังไงบ้าง คุกก็เหมือนแดนสนธยาอะไรที่ไม่เคยเห็นข้างนอกก็อาจจะเห็นได้ในนี้ อะไรที่มนุษย์ผู้มีสติและสำนึกสมบูรณ์มองว่าไม่ปกติ ก็อาจพบเจอได้ดาษดื่นในนี้ จนบางคนที่อยู่มานานก็เผลอคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติไปแล้ว 

เคยมีคนบอกว่าเปลี่ยนแดนก็เหมือนเปลี่ยนประเทศ ผมก็เห็นว่าค่อนข้างจริง ถึงจะมีกฎระเบียบเป็นฐานหรือกรอบเหมือนกัน แต่วิธีการบริหารของผู้คุมแต่ละแดนต่างกัน โชคดีที่ผมอยู่แดนที่สามารถคอนซัลท์กับผู้คุมได้ และโชคดีที่แดนที่ผมอยู่ ผู้ต้องขังทุกคน (เกือบทุกคน) ได้เบาะรองนอนมาเสริมจากผ้าสามผืน ทำให้พอนอนอุ่นขึ้นในวันอากาศหนาว 

แต่ผมก็แค่โชคดี แดนอื่น ๆ ก็ยังมีแค่ผ้าสามผืนอยู่ สำหรับเรื่องประชาธิปไตยสิทธิเสรีภาพในนี้ให้ใส่นิเสธ (สิ่งตรงข้ามกับความจริง) ไปได้เลย สิ่งที่เรายึดมั่นไม่มีในนี้หรอก ตลอดเวลาผมอยู่ในนี้ ผมก็ใส่แต่เสื้อกุยเฮงสีฟ้าที่หาได้ทั่วไปในร้านค้าเรือนจำ ทั้งนี้เพื่อย้ำเตือนว่าที่นี่ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ที่ของเรา เพื่อย้ำเตือนว่าเรามาทำอะไรที่นี่ 

เรื่องการเคลื่อนไหวผมได้ข่าวการต่อสู้ของเพื่อน ๆ อยู่เรื่อย ๆ ขอบคุณมาก ๆ ที่ยังสู้อยู่ด้วยกัน ต่อจากนี้เราคงต้องแผ่การเคลื่อนไหวให้กว้างขึ้น กระตุ้นการตื่นรู้ให้เพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมรับแรงปะทะในปีหน้า ผมเองก็จะสู้อย่างเต็มที่นะ เรามาไกลกันมากแล้ว และยังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะเปลี่ยนไปข้างหน้าหรือถอยย้อนกลับไปข้างหลัง 

“จะแก้แค้นแทนสหายคนกล้า จะต่อสู้เพื่อประชาไปตลอดกาล จะสร้างสรรค์สังคมแห่งอุดมการณ์ อีกไม่นานจะเอาธงแดงปักกลางนคร” (ท่อนหนึ่งจากเพลง “สหาย” ของจิ้น กรรมาชน)

โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง 

เวลา 04.00 น.

X