ตั้งแต่ต้นเดือน ส.ค. 2567 ที่ผ่านมา ทนายความเข้าเยี่ยม 2 ผู้ต้องขัง ได้แก่ ‘แม็กกี้’ ที่เรือนจำกลางคลองเปรม และ ‘อัญชัญ’ ผู้ต้องขังสูงวัย ที่ฑัณฑสถานหญิงกลาง ที่ช่วงปลายเดือน ก.ค. ถึง กลางเดือน ส.ค. ของทุกปีเหล่าผู้ต้องขังต่างรอคอยการอภัยโทษ ที่จะได้ลดหย่อนวันจองจำ โดยเฉพาะโทษสูงของอัญชัญ ที่หากมีการอภัยโทษก็จะทำให้เธอมีโอกาสได้กลับไปใช้ชีวิตข้างนอกกับครอบครัวเร็วขึ้น แต่เมื่อสิ่งนั้นยังไม่เกิดขึ้น ก็คงต้องรอคอยต่อไป
แม็กกี้: อยากเห็นอภัยโทษ แม้ตัวเองยังไม่ใช่ผู้ต้องขังเด็ดขาด
วันที่ 2 ส.ค. 2567 ทนายสังเกตว่าผมแม็กกี้สั้นลงมาก แม็กกี้หัวเราะก่อนเล่าว่า ที่คลองเปรมต่างรู้อยู่แล้วว่า LGBTQ+ สามารถไว้ผมยาวได้ แต่วันหนึ่งมีผู้คุมขังที่เป็นคนหลากหลายทางเพศอยู่แดน 1 ออกไปศาล พอไปถึงศาล ศาลเห็นผมยาว ศาลก็ตำหนิเรือนจำ ว่าทำไมปล่อยให้นักโทษผมยาวแบบนี้ จึงกำชับเรื่องตัดผมนักโทษว่าต้องขาว 3 ด้าน พอเกิดเหตุการณ์นั้น คลองเปรมก็จับตัดผมเลย แต่ทางฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐก็มีพูดว่า ตราบใดที่เราสวยอยู่ ทรงผมไม่ใช่ปัญหา “ปกติฝ่ายเขาไม่อะไรกับทรงผมนะแม่ มีครั้งนี้แหละที่ศาลกำชับมา เลยต้องตัดกัน”
จากเรื่องทรงผม แม็กกี้ได้แอ่นอกด้านขวาให้ทนายดูตัวอักษรที่อยู่บนเสื้อสีแดงเข้ม คำว่า ‘Maggie_1997’ มองเผิน ๆ เหมือนกับการใช้ด้ายปักชื่อ แต่แม็กกี้บอกว่าเป็นการใช้สีมาเขียน จ้างเขียนไป 15 บาท คนทำก็เป็นเพื่อนผู้ต้องขังด้วยกัน โดยวิธีใช้ดินสอร่างตัวอักษรก่อน แล้วจึงจะใช้สีจากขวดเล็ก ๆ มาเขียน วิธีเขียนแบบนี้ทางผู้คุมไม่ว่า เพราะป้องกันการหายได้ เมื่อถามว่า เลข 1997 มีความหมายอะไร แม็กกี้แจ้งว่าเป็นเลขปีเกิดของเธอ
แม็กกี้ถามถึงเรื่องนารา ที่ศาลพิพากษารอลงอาญาได้ออกจากเรือนจำที่กรุงเทพ แต่ต้องถูกอายัดตัวอีกคดีที่ต่างจังหวัด ทำให้คืนนั้นนารายังไม่ได้กลับบ้าน เมื่อเล่าถึงตรงนี้แม็กกี้มีสีหน้าสลด สงสารนารา และเล่าเพิ่มว่ามีเพื่อนผู้ต้องขังที่เป็นกะเทย เพิ่งย้ายมาจากเรือนจำราชบุรี เล่าว่า “ที่นั่นเข้มงวดมาก ทรงผมนักโทษต้องสกินเฮด ไม่ให้ใส่รองเท้าเดิน เวลาเดินต้องเดินตามเส้นที่ตีไว้ ถ้าไม่เดินตามเส้นนั้นก็จะถูกลงโทษ กะเทยที่นั่นก็มีน้อย”
เมื่อพูดถึงการอภัยโทษ “ข้างในก็รอกันแม่ แต่ก็ไม่เห็นมาสักที” ก่อนอัพเดตเรื่องของบุ้งที่ทนายได้ออกแถลงการณ์ไว้ล่าสุด แม็กกี้ฝากข้อความ “ขอให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นกับบุ้งสักที”
ก่อนจากทนายถามเรื่องอาหารที่ปกติแม็กกี้จะรีบนำเสนอว่าช่วงนี้ได้ทานอะไรบ้าง “อากาศแบบนี้หนูก็อยากกินก๋วยเตี๋ยว ในนี้ไม่มีขาย แต่หนูดัดแปลงเอามาม่าคัพ มาปรุงใส่พริกป่น น้ำตาล น้ำส้มสายชูก็ให้ฟีลก๋วยเตี๋ยวอยู่นะแม่”
เมื่อถามว่าอยากฝากอะไรสื่อสารเพิ่มอีก แม็กกี้พูดหงอย ๆ อยากออกไปใช้ชีวิตข้างนอก อยู่ในนี้เบื่อมาก ๆ ยิ่งพอคิดถึงเรื่องโทษมันก็ท้อ “บางทีเราได้ยินข่าวคนนั้นคนนี้จะได้อภัย หรืออีกคนจะอยู่อีกกี่ปี ๆ แบบนี้ แต่ของเรายังไม่เด็ดขาดเลย มันก็ท้อ ๆ นอยด์ ๆ อยู่บ้างค่ะ” แม็กกี้บอกทิ้งท้ายว่าพยายามปลอบใจตัวเอง ทำให้ตัวเองมีความสุขด้วยการแต่งหน้า “แบบฉันสวย เป็นวิธีที่หนูใช้จัดการความเครียดความท้อของตัวเอง”
ปัจจุบัน (14 ส.ค. 2567) แม็กกี้ถูกคุมขังทั้งที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรมมาแล้ว 298 วัน
.
อัญชัญ: อภัยโทษ ความหวังเพียงไม่กี่อย่าง ที่จะได้ออกไป
วันที่ 5 ส.ค. 2567 อัญชัญอยู่ในชุดเสื้อสีฟ้าเข้ม มีเสื้อกั๊กสีน้ำเงินสวมทับ เป็นเครื่องแบบของผู้ต้องขังหญิงที่คุ้นเคย ทนายเห็นแววตาดีใจระคนแปลกใจ รวมถึงรอยยิ้มกว้างที่เหมือนจะทะลุออกมาใต้แมสก์ เพราะไม่ได้เจอป้านานมากแล้ว ได้แต่ฝากความคิดถึงผ่านคนนั้นคนนี้เข้าไป อาจจะเป็นเพราะความเครียดที่สะสมมาหลายวัน อัญชัญจึงดูโทรมกว่าครั้งล่าสุดที่เจอ โคนผมหงอกรอบกรอบหน้าและผิวคล้ำแดดทำให้ดูแตกต่างจากภาพจำของคนข้างนอกที่เห็นตามสื่อต่าง ๆ อยู่มาก
“เป็นยังไงบ้างลูก” ป้ารีบไถ่ถามสารทุกข์สุกดิบ ทนายบอกป้าว่า วันนี้ไม่ต้องรีบคุยก็ได้ เพราะไม่ได้มาถามอะไรเป็นพิเศษ ถ้าไม่ทันจะรีบหาเวลามาเยี่ยมใหม่ ป้าจึงดูผ่อนคลายขึ้น
“ป้าก็เหมือนเดิมลูก อยู่แบบเบื่อ ๆ เครียดมาก (คิ้วขมวด) เรื่องอภัยน่ะลูก มันเป็นความหวังของเรา” ก่อนเล่าถึงว่าช่วงนี้มีหลายหน่วยงาน เข้ามาดูงานในเรือนจำเยอะ โดยเธอเองก็ไม่รู้ว่าเข้ามาทำอะไรกัน แต่พอมาที ป้าก็ต้องออกมานั่งรอ จนกว่าแขกจะเข้าออกหน่วยงานเสร็จ ไปไหนไม่ได้ เอาน้ำมาได้ขวดเดียว บางทีก็มีข่าวลือว่าจะมีอภัยรอบพิเศษ แต่ป้าก็ไม่รู้ว่าจริงไม่จริง ก็ต้องอยู่ไปแบบนี้ “อาทิตย์ที่แล้วป้าเครียดมาก แต่ทำไงได้ กรรมเยอะน่ะลูกที่ต้องมาเกิดในประเทศนี้ เฮ้อ ไม่ต้องห่วงป้านะลูก เดี๋ยวป้าก็ทำใจได้ (ยิ้ม)”
จากนั้น ทนายแจ้งความคืบหน้าเรื่อง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ถามป้าว่า อยากจะลองยื่นนิรโทษกรรมตัวเองหรือไม่ “ถ้าไม่มีอภัยโทษ ป้าก็อยากจะทำนะลูก เพราะเราก็รับราชการตอบแทนคุณแผ่นดินมาเกือบ 40 ปี ไม่เคยมีเรื่องทุจริตในหน้าที่ ป้าอยากออกไปดูแลพี่ชายในบั้นปลายชีวิต”
ก่อนจะเล่าว่า ช่วงนี้ก็พยายามออกกำลังกาย ในเรือนจำมีให้เต้นออกกำลังกายในเรือนนอนครึ่งชั่วโมง เปิดมาหลายวันแล้ว เลยพยายามดูแลตัวเอง ตอนนี้กินยาความดันอย่างเดียว พยายามนั่งสมาธิให้เป็นที่พึ่ง “ป้ายังฝึกดูดวงอยู่นะลูก ได้ออกไปแล้วจะดูให้ (แววตาสดใสขึ้น) แต่มันไม่มีหนังสือให้ศึกษาเลย จะให้ญาติส่งมาก็ไม่ได้ ตอนนี้เพื่อนผู้ต้องขังมีเล่มเล็ก ๆ มาให้อ่าน เป็นหนังสือเลข 7 ตัว 9 ฐาน ถ้าไม่ได้ออกก็จะศึกษาให้ถ่องแท้”
โดยที่บทสนทนายังพูดไม่จบ สายก็ถูกตัดไป เป็นอันว่าหมดเวลา 15 นาทีของการเยี่ยมญาติแล้ว ทนายความรู้สึกเหมือนได้ยินเสียงป้าในระหว่างแตะมือกันผ่านกระจกกับซี่ลูกกรงที่กั้นกลางว่า “แล้วมาหาป้าอีกนะ มาอีกนะ”
วันที่ 7 ส.ค. 2567 วันนี้อัญชัญออกมาช้ามากเพราะเวลาเข้าเยี่ยมเป็นช่วงฝนตกหนัก เจอป้านั่งรอในชุดยูนิฟอร์มเดิมทั้งรอยยิ้ม ท่าทางผ่อนคลายมากขึ้น ไม่ดูเครียด กังวล เหมือนคราวก่อนที่เจอ ก่อนเล่าสภาพความเป็นอยู่ช่วงฝนตกว่า “ข้างในเฉอะแฉะ น้ำท่วม ป้าต้องย่ำน้ำออกมา แต่พอฝนตก อากาศก็เย็นขึ้นมาหน่อย เดือนก่อน ๆ ร้อนมากเลย ป้าก็ยังกินอะไรได้ตามปกติ มีน้อง ๆ ซื้อข้าวมาให้ทุกวัน แต่บางวันก็ไม่มี”
เมื่อถามถึงสภาพจิตใจ เธอตอบว่า ก็ต้องรอ เพราะไม่รู้จะทำยังไง พร้อมถามเรื่องข่าวการอภัยโทษจากข้างนอกอีกครั้ง ทนายบอกป้าว่า ข้างนอกตรงโต๊ะเจ้าหน้าที่ห้องเยี่ยมมีป้ายเขียนไว้เลยว่า “ยังไม่มีข่าวเรื่องอภัย อย่าหลงเชื่อข่าวลือ” ป้าก็เงียบไป ดูเศร้าขึ้นมาทันที
ก่อนจากทนายแจ้งข่าวเรื่องวันนี้จะมีการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล (ขณะนั้นผลการตัดสินยังไม่ออก) ว่าหากถูกยุบ ใครหลายคนจะถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปด้วย ป้ามีท่าทีตกใจมาก
“ยุบพรรคอีกแล้วเหรอ แล้วประเทศจะเป็นยังไงต่อไปละลูก เสียดาย พอมีพรรคที่ประชาชนรุ่นใหม่เลือกเข้ามา ก็มาทำลายความหวังกันแบบนี้” ก่อนเล่าทิ้งท้ายว่า ประเทศไทยมักโดดเด่นในเรื่องที่ไม่เป็นไปตามหลักสากล ก่อนจากกันอัญชัญได้เพียงฝากเป็นกำลังใจให้คนภายนอกว่า “สู้ ๆ นะคะ ขอให้สู้ต่อไป”
จนถึงปัจจุบัน (14 ส.ค. 2567) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางหลังศาลมีคำพิพากษามาแล้ว 3 ปี กับ 6 เดือน 25 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 9 วัน
ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม
บันทึกเยี่ยม 5 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ขอบคุณที่ยังนึกถึงผู้ต้องขัง รอคอยช่วงเวลาที่ดอกไม้จะบาน