ย้อนไปในช่วงเวลานี้เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหารที่ยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ก่อนออกประกาศและคำสั่ง คสช. ออกมามากมาย ที่ไม่เอื้อต่อสิทธิพลเมืองโดยเฉพาะประชาชนที่ถูกมองว่าเป็นฝั่งตรงข้ามกับรัฐ หนึ่งในนั้นคือ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารในคดีการเมือง 3 ประเภท โดยมีคดีมาตรา 112 เป็นหนึ่งในนั้น ทั้งเป็นข้ออ้างในการไล่จับกุมประชาชน โดยใช้โทษทัณฑ์ที่สูงเป็นอาวุธสำคัญ จากการเก็บข้อมูลพบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในช่วงที่ คสช. อยู่ในอำนาจ อย่างน้อย 169 คน
วันหนึ่งในปลายเดือนมกราคม ปี 2558 “อัญชัญ” อดีตข้าราชการระดับสูง กลายเป็นหนึ่งในผู้ถูกจับกุมในคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หลังถูกกล่าวหาเป็นหนึ่งในผู้อัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจจัดรายการใต้ดิน รวมทั้งหมด 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กรรม ในช่วงนั้นมีประกาศกฏอัยการศึกด้วย อัญชัญจึงถูกนำตัวไปควบคุมในค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน ก่อนถูกตั้งข้อกล่าวหาและถูกสั่งฟ้องในศาลทหารกรุงเทพ โดยถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงกลางตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว
กระทั่งหลังการคุมขังไปแล้วราว 3 ปี 10 เดือนเศษ เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน 2561 อัญชัญได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 5 แสนบาท และคดีถูกโอนย้ายมายังศาลอาญาในช่วงปี 2562 ทว่าก่อนที่จะมีการสืบพยานโจทก์ต่อจากที่ค้างไว้ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 อัญชัญขณะนั้นในวัย 65 ปี ตัดสินใจกลับคำให้การในคดี เป็นให้การรับสารภาพเสียก่อน ด้วยหวังว่าศาลจะลดโทษและระยะเวลาในการคุมขัง
กับอิสรภาพชั่วคราวที่ได้รับเพียงไม่กี่ปี วันที่ 19 ม.ค. 2564 หรือเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกคดี 112 กระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เท่ากับพิพากษาจำคุก 29 ปี 174 เดือน (ราว 43 ปี 6 เดือน)
อัญชัญไม่ได้อุทธรณ์คดีต่อ ต้องเข้าไปถูกจองจำที่ทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง ถึงตอนนี้เธอก็รับโทษมา 3 ปีแล้ว เมื่อรวมกับการถูกคุมขังระหว่างพิจารณา ทำให้อัญชัญใช้ชีวิตภายใต้การจองจำมาแล้ว 6 ปี กำลังจะเข้าปีที่ 7 โดยเธอมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกประมาณอีกกว่า 8 ปีข้างหน้า ที่คงต้องใช้ชีวิตในเรือนจำ โดยเมื่อถึงวันนั้นเธอจะมีอายุ 74 ปี
น่าสังเกตว่าว่า “บรรพต” ซึ่งเป็นผู้จัดรายการตามที่มีการกล่าวหานี้ ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 จากความผิดกระทงเดียว และศาลทหารได้พิพากษาจำคุก 10 ปี ลดโทษให้กึ่งหนึ่งเนื่องจากรับสารภาพ เหลือจำคุก 5 ปี และเขาพ้นโทษดังกล่าวไปแล้ว
.
บันทึกเยี่ยม ‘อัญชัญ’ ครั้งล่าสุด : ขอให้สิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่สมหวัง
ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2566 ทนายความเข้าเยี่ยมอัญชัญ 2 ครั้ง เท่าที่สังเกตในสิ่งที่เปลี่ยนไป ผมที่เธอย้อมดำไว้เริ่มหงอกโคนแล้วบางส่วน เธอดูซึม ไม่สดใส แต่ยังกระตือรือร้นที่จะเล่าเรื่องราวให้ฟังเหมือนเดิม
อัญชัญถามว่า “ได้ข่าวเรื่องอภัยปีนี้มั้ยลูก ป้ารออภัยมาตั้งแต่ปี 2565 ผิดหวังมา 2 ครั้งแล้ว ไม่ได้สมหวังสักที นี่ป้าต้องติดคุกไปอีก 7 ปี 9 เดือนเหรอลูก” ทนายพยายามให้กำลังใจและปลอบใจป้า ว่าถึงยังไงตอนนี้ก็ยังมีการเรียกร้องเรื่องการนิรโทษกรรมฯ อยู่ หากสำเร็จ ป้าก็จะไม่ต้องติดคุกนานขนาดนั้น
“ป้าก็หวังไว้อย่างนั้นแหละลูก ขอให้ปี 2567 มันมีความคืบหน้า ป้าก็อยากมีอิสระอย่างเขาบ้าง คดี ม.112 ก็เป็นคดีการเมืองที่เขาจับกันระเนระนาด ถ้ามี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รวมมาตราพวกนี้ด้วย ก็จะดีมาก”
วันต่อมาที่เข้าเยี่ยม ทนายความนำภาพกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองเมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2566 ซึ่งมีคนเขียนข้อความให้กำลังใจอัญชัญไปให้อ่าน รวมถึงรูปภาพและข้อความต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเธอในแท็ก #saveanchan และ #ยกเลิก112 ไปให้ดู เธอตั้งใจอ่านข้อความต่าง ๆ ทั้งที่น้ำตาคลอเบ้า แววตามีความสุขอย่างเห็นได้ชัด พูดชมว่าสวยมาก น่ารักมาก และกล่าวขอบคุณไม่ขาดปาก
เมื่อดูรูปหมดแล้ว สิ่งแรกที่เธอพูดคือฝากอวยพรปีใหม่ให้ทุกคนที่ยังไม่ลืมกัน ”ขอให้ทุกคนมีสุขภาพแข็งแรง มีพลังกายพลังใจ ประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง ขอให้สิ่งที่เรากำลังต่อสู้อยู่สมหวังด้วยนะลูก“
ก่อนกล่าวอีกว่า “ถ้าขอพรปีใหม่ได้ ป้าก็อยากให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนได้รับอิสรภาพไว ๆ ขอให้อดทนกันไว้ อยู่กับปัจจุบันให้ได้ ป้าเข้าใจว่าอยู่ในคุกมันก็มีหลายเรื่องนะ”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม: การต่อสู้ของ “อัญชัญ” จำเลยคดี 112 กับโทษจำคุกครึ่งชีวิต
ศาลจำคุก 87 ปี “อัญชัญ” คดีม.112 เหตุแชร์คลิป “บรรพต” สูงสุดเท่าที่เคยบันทึกไว้