เลื่อนส่งตัวอัยการศาลอาญาคดีรินดา หมิ่นประยุทธ์ โอนเงินหมื่นล้าน ด้านคดีธารา ม.112 สืบพยานโจทก์ ย้ำควบคุมตัวโดยไม่จำเป็นต้องมีหมายจับเพราะใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก สืบครั้งต่อไป 27 ตุลาคม
จากกรณีที่นางรินดา พรศิริพิทักษ์โพสต์ข้อความลงในสื่อออนไลน์กล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และภรรยาได้โอนเงินหมื่นล้านบาทไปธนาคารในสิงคโปร์ อันเป็นความเท็จ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา และถูกอัยการศาลทหารกรุงเทพสั่งฟ้องตามข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ฐานกระทำให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ประมวลกฎหมายอาญา ม.384 แกล้งบอกเล่าความเท็จให้เลื่องลือจนเป็นเหตุให้ประชาชนตื่นตกใจ และข้อหาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ม.14 ต่อมาศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นว่าคดี นางรินดา พรศิริพิทักษ์ โพสข่าวลือหมิ่นประมาทประยุทธ์ ไม่เข้าองค์ประกอบตามมาตรา 116 เป็นเพียงคดีหมิ่นประมาทฯ เท่านั้น และอยู่ในเขตอำนาจของศาลยุติธรรม ศาลทหารจึงสั่งจำหน่ายคดีจากศาลทหาร
วันนี้ (8 ก.ค. 2559) พนักงานสอบสวนจากกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.)นัดส่งตัวให้อัยการศาลอาญา แต่อัยการมีความเห็นเลื่อนการส่งตัวออกไปก่อนเนื่องจากมีความเห็นให้พนักงานสอบสวน ปอท.ทำเรื่องประกันตัวในชั้นพนักงานสอบสวนเสียก่อน ทำให้คดีนี้ยังอยู่ระหว่างดำเนินการรอฟังคำสั่งอัยการจึงยังไม่มีหมายเลขคดี และนัดกำหนดส่งตัวให้อัยการอีกครั้งภายในเดือนหน้า
ส่วนคดีที่นายธารา (ขอสงวนนามสกุล)จำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา112 ฐานนำเข้าและเผยแพร่คลิปข้อความเสียงที่มีเนื้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ดูหมิ่น ใส่ความหมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ จำนวน 6 คลิปนั้น
ที่ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานโจทก์ โดย ร.อ.กณัฐพงศ์ โพธิ์สุข หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ควบคุมจำเลยและตรวจค้นจากกองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ขึ้นเบิกความว่า ขณะควบคุมตัวจำเลยนั้นไม่ได้ใช้อำนาจในการควบคุมตัวตามประมวลวิธีพิจารณาความทางอาญาเพราะอยู่ในช่วงประกาศกฎอัยการศึกจึงใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกโดยไม่จำเป็นต้องแสดงหมายค้นและหมายจับจากศาลแต่อย่างใด
พยานฝ่ายโจทก์กล่าวต่อไปว่า ไม่เคยเปิดดูเว็บไซต์ที่เป็นช่องทางในการเผยแพร่คลิปที่เป็นมูลเหตุในคดีนี้ แต่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ขายสูตรสมุนไพร ในการเข้าควบคุมตัวและตรวจค้นนั้นได้รับการประสานมาจากเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) โดยที่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอโทรให้จำเลยมาเจอที่ห้างเซนจูรี่ อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพื่อทำทีขอซื้อสมุรไพรจากจำเลย แล้วมีเจ้าหน้าที่ทหารในชุดฝึกลายพราง 5 นายและเจ้าหน้าที่จากดี เอสไอในชุดนอกเครื่องแบบจำนวน 7 นาย เมื่อไปถึงจุดนัดพบเจ้าหน้าที่ทหาร 2 นายก็ควบคุมตัวและพาตัวขึ้นรถฮัมวี่ไปที่ห้องเช่าของจำเลยย่านพหลโยธิน 61 พบคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กโทรนิกส์ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอจึงยึดไว้โดยไม่มีหมายค้นแต่อย่างใด
“ต่อมาจึงนำจำเลยไปที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยไม่ได้เป็นผู้ซักถามข้อเท็จจริง เมื่อทนายความถามว่า บันทึกการตรวจค้นทำที่มณฑลทหารบกที่ 11 ใช่หรือไม่ พยานบอกว่าใช่ แต่เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเป็นผู้ทำบันทึกการตรวจค้น” ร.อ.กณัฐพงศ์กล่าวและว่า ช่วงเวลาตั้งแต่การจับกุมจนถึงพาตัวจำเลยไปคุมขังไว้ที่ มทบ.11 นั้น จำเลยไมได้ติดต่อญาติและทนายความตามสิทธิที่ได้รับแม้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูงก็ตาม
สำหรับการสืบพยานโจทก์ครั้งต่อไปในคดีนี้เป็นวันที่ 27 ตุลาคม
อ่านเพิ่มเติม
คดี ‘ธารา’ อัพโหลดคลิปเสียงบรรพต นัดสืบพยาน 21 ธ.ค. นี้
คดีโพสต์ประยุทธ์โอนหมื่นล้าน ไม่เข้า 116 ศาลอาญามีความเห็นอยู่ในอำนาจศาลยุติธรรม