25 พ.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ธีรภัทร” (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 1 และ “ปฐวีกานต์” (สงวนนามสกุล) จำเลยที่ 2 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน และทำให้เกิดระเบิดฯ หลังจากถูกกล่าวหาว่าปาวัตถุที่ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายระเบิดใส่รถสายตรวจ ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส คืนวันที่ 31 ต.ค. 2564 บริเวณดินแดง
ศาลพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองคนมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะ ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุกและไม่พบประวัติที่เป็นข้อเสียหายร้ายแรง ให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกในคดีส่วนตัวอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่สามารถรอการลงโทษได้
.
ทบทวนคดี: ถูกจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีทนายความและผู้ไว้วางใจ ก่อนถูกสั่งฟ้องในข้อหาพยายามทำร้ายเจ้าพนักงาน และทำให้เกิดระเบิดฯ
ธีรภัทรและปฐวีกานต์ถูกจับกุมและสอบสวนโดยไม่มีทนายความ เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 ธีรภัทรถูกจับกุมที่บริเวณหน้าโรงแรม Oh Bangkok Hostel ซอยสามเสน 4 ส่วนปฐวีกานต์เดินทางไปพบตำรวจ สน. มักกะสัน ตามนัด แต่ภายหลัง สน. มักกะสัน ได้ส่งตัวเขามาที่ สน.ดินแดง ระบุว่า เขาไม่ไปตามหมายเรียกของ สน.ดินแดง ทั้งยังถูกนำตัวขึ้นรถไปทำการตรวจค้นบ้านโดยไม่มีหมายค้น
ในขั้นตอนการทำบันทึกจับกุมและสอบปากคำในชั้นจับกุม ตำรวจชุดสืบได้กันทนายความและแม่ที่เพิ่งทราบข่าวการจับกุมและตามไปที่ สน.ดินแดง ในช่วงค่ำ ไม่ให้อยู่ร่วมในกระบวนการ แม้ว่าสิทธิในการมีทนายและผู้ไว้วางใจจะเป็นสิทธิตามกฎหมายก็ตาม
ก่อนพนักงานสอบสวนเริ่มแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ และความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ” ซึ่งธีรภัทรและปฐวีกานต์ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยเฉพาะธีรภัทรซึ่งได้ให้ข้อมูลกับทนายความว่า ตัวเขาไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมในวันเกิดเหตุตามที่ถูกกล่าวหา และในระหว่างถูกจับกุมเขาถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบข่มขู่โดยการเอาปืนจ่อศีรษะ
ภายหลังทั้งคู่ถูกตำรวจนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังและไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยถูกขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จนครบ 7 ผัด หรือ 84 วัน (24 พ.ย. 2564 ถึง 15 ก.พ. 2565) ก่อนได้รับการปล่อยตัว เนื่องจากอัยการยังไม่ได่ยื่นฟ้องคดีต่อศาล
.
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทั้งสองคนต่อศาลอาญา โดยบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2564 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
จําเลยทั้งสองร่วมกันกระทําให้เกิดระเบิดโดยขว้างสิ่งของที่ทําให้เกิดแรงสั่นสะเทือนคล้ายวัตถุระเบิดใส่รถยนต์วิทยุสายตรวจ ยี่ห้อโตโยต้า รุ่น Camry ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้เสียหายที่ 1 ขณะที่ ร.ต.อ.เอกณัฐ ปาสุวรรณ ผู้เสียหายที่ 2 ขับรถยนต์วิทยุสายตรวจออกตรวจป้องกันอาชญากรรมในพื้นที่กรุงเทพมหานครถึงบริเวณดินแดง และทำร้ายร่างกาย ร.ต.อ.เอกณัฐ ขณะขับรถย้อนกลับเส้นทางเดิม โดยจําเลยทั้งสองได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ติดตาม และกระทําให้เกิดระเบิดจํานวนหลายครั้งจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น
จําเลยทั้งสองลงมือกระทําความผิดไปตลอดแล้ว แต่การกระทําไม่บรรลุผล เนื่องจาก ร.ต.อ.เอกณัฐ ขับรถออกจากบริเวณที่เกิดเหตุได้ทัน จึงไม่ได้รับอันตรายแก่กาย และแรงระเบิดถูกประตูหลังด้านซ้ายของรถยนต์คันดังกล่าว ได้รับความเสียหาย มีรอยบุบ ยุบและรอยถลอกของสีเป็นรูปวงกลม มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 10 เซนติเมตร
การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221 ฐานทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289, 296 ฐานพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน
ภายหลังศาลรับฟ้อง ธีรภัทรและปฐวีกานต์ให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่อย่างไรก็ตาม ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันระหว่างพิจารณาคดี โดยมีคำสั่งว่า “พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ข้อกล่าวหาเป็นคดีร้ายแรง คดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยชั่วคราวแล้ว เชื่อว่าจำเลย 1-2 จะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว” ถูกนำตัวไปคุมขังทันที และได้รับการประกันตัวหลังถูกขังไปทั้งสิ้น 68 วัน (18 ส.ค. 2566 – 24 ต.ค. 2566)
ต่อมา ศาลอาญานัดสืบพยานในเดือน ต.ค. 2567 แต่ในระหว่างการสืบพยานโจทก์ ธีรภัทรและปฐวีกานต์ได้ขอถอนคำให้การเดิมที่ให้การปฏิเสธ และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ทำให้ศาลมีคำสั่งสืบเสาะและนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
.
ศาลพิพากษาว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 2 ปี แต่ให้ปฐวีกานต์รอลงอาญาไว้ ส่วนธีรภัทรไม่สามารถรอลงอาญาได้เนื่องจากถูกคุมขังในคดีอื่นก่อนแล้ว
วันนี้ (25 พ.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 907 ปฐวีกานต์เดินทางมาฟังคำพิพากษาพร้อมกับครอบครัวและทนายความ ส่วนธีรภัทรถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำกลางสมุทรปราการ โดยมีเครื่องพันธนาการคือกุญแจข้อเท้าทั้งสองข้าง เนื่องจากถูกคุมขังอยู่ในคดีส่วนตัว ซึ่งครอบครัวของธีรภัทรก็เดินทางมารอให้กำลังใจเช่นกัน
ต่อมา ในเวลา 11.15 น. เมื่อศาลเสร็จจากการพิจารณาคดีอื่น จึงเริ่มอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ โดยสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า
พิพากษาว่า จำเลยทั้งสองคนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 221, มาตรา 296 ประกอบมาตรา 289 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรม ฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิดจนน่าจะเป็นอันตรายต่อบุคคลอื่นหรือทรัพย์ของผู้อื่น ตามมาตรา 221 จำคุกคนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท และในฐานร่วมกันทำให้เกิดระเบิดฯ และพยายามทำร้ายเจ้าพนักงานซึ่งกระทำตามหน้าที่ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานทำให้เกิดระเบิดฯ ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกคนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท
รวมจำคุกคนละ 4 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 200,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี และปรับจำเลยที่ 2 จำนวน 100,000 บาท พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจจำเลยทั้งสอง ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 เคยได้รับโทษจำคุก ไม่พบประวัติที่เป็นข้อเสียหายร้ายแรง สมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการลงโทษจำเลยที่ 2 ไว้ 2 ปี ส่วนจำเลยที่ 1 ได้รับโทษจำคุกในคดีส่วนตัวอยู่ก่อนแล้ว จึงไม่สามารถรอการลงโทษได้
วธูสิริ หาญสิริกุล และ ธีระเดช กิ่งแก้วจิรกุล องค์คณะผู้พิพากษา
.
หลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ปฐวีกานต์ถูกใส่กุญแจมือและควบคุมตัวไปยังห้องเวรชี้ระหว่างรอชำระค่าปรับ ซึ่งหลังหักลบวันที่ถูกคุมขังในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาคดีจำนวน 152 วันแล้ว (500 บาท/วัน) เหลือค่าปรับที่ต้องชำระทั้งสิ้น 24,000 บาท หลังครอบครัวชำระค่าบ้านแล้ว ปฐวีกานต์จึงได้รับการปล่อยตัวและเดินทางกลับบ้าน ส่วนธีรภัทรถูกควบคุมตัวกลับไปยังเรือนจำกลางสมุทรปราการ
ทำให้ปัจจุบันมียอดผู้ถูกคุมขังจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง รวมเป็นจำนวนอย่างน้อย 34 คน