บุกจับประชาชน 2 ราย อ้างว่าเป็นคนปาระเบิดใส่รถ ตร. แยกโรงกรองน้ำ ดินแดง หลัง #ม็อบ31ตุลา 1 ราย ยืนยัน ไม่ได้เข้าร่วม ก่อนศาลอาญาไม่ให้ประกัน

ราว 19.00 น. วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า มีการจับกุมประชาชน 2 ราย ตามหมายจับก่อนควบคุมตัวไปที่ สน. ดินแดง เพื่อดำเนินคดี ทั้ง 2 ราย คือ ธีรภัทร (สงวนนามสกุล) อายุ 21 ปี และปฐวีกานต์ (สงวนนามสกุล) อายุ 25 ปี ถูกจับเนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวหาว่า ได้เข้าร่วมในการชุมนุมของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 และปาระเบิดใส่รถของตำรวจ

ธีรภัทรถูกจับกุมที่บริเวณหน้าโรงแรม Oh Bangkok Hostel ซอยสามเสน 4 ในเวลาราว 16.50 น. ในขณะที่ปฐวีกานต์เดินทางไปยัง สน. มักกะสัน ในช่วงราวบ่ายโมง ตามที่ตำรวจโทรมานัดหมาย แต่ภายหลังราวบ่ายสาม สน. มักกะสัน ได้ส่งตัวเขามาที่ สน.ดินแดง ระบุว่า เนื่องจากเขาฝ่าฝืนไม่ไปตามหมายเรียกของ สน.ดินแดง

ในกรณีของปฐวีกานต์ หลังถูกจับกุมมา สน.ดินแดง เขายังถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวขึ้นรถไปทำการตรวจค้นบ้าน โดยไม่มีหมายค้น แต่พ่อเป็นผู้อนุญาตให้เข้าค้น ก่อนตำรวจนำตัวกลับมาที่ สน.ดินแดง ควบคุมตัวเข้าห้องสืบสวน เช่นเดียวกับธีรภัทร โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบได้กันทนายความและแม่ที่เพิ่งทราบข่าวการจับกุมและตามไปที่ สน.ดินแดง ในช่วงค่ำ ไม่ให้อยู่ร่วมในกระบวนการสอบปากคำ แม้ว่าสิทธิในการมีทนายและผู้ไว้วางใจจะเป็นสิทธิตามกฎหมายก็ตาม

.

ผู้ต้องหาระบุ ถูกเอาปืนจ่อหัว ก่อนเอาตัวเข้าสอบปากคำในห้องสืบสวน 3 ชม. ปฏิเสธให้ทนาย – แม่ เข้าร่วม 

ในการทำบันทึกการจับกุมในช่วงเย็นที่ สน.ดินแดง โดยไม่มีทนายความและผู้ไว้ใจของทั้งสองร่วมในกระบวนการ ระบุว่า ทั้งสองถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สน.ดินแดง, กองบังคับการปราบปราม และกองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ 191 ตามหมายจับของศาลอาญาที่ จ.1993/2564 และ จ.1994/2564 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 พร้อมทั้งยึดสิ่งของติดตัวธีรภัทรเป็นวัตถุพยาน ได้แก่ กระเป๋าสะพายสีแดงดำ 1 ใบ และรถจักรยานยนต์ไม่ได้ติดป้ายทะเบียน 1 คัน 

ตามหมายจับธีรภัทรและปฐวีกานต์ถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐาน “ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ และความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ” 

ในชั้นจับกุม ทั้งสองรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับ และยังไม่เคยถูกจับในคดีนี้มาก่อน 

กระทั่งราว 23.00 น. ธีรภัทรและปฐวีกานต์จึงถูกนำตัวออกจากห้องสืบสวน นำตัวมาส่งให้พนักงานสอบสวน โดยก่อนหน้านั้น ในช่วง 4 ทุ่ม ธีรภัทรถูกนำตัวออกมาที่รถจักรยานยนต์ของเขาครู่หนึ่ง โดยทนายความพบว่า ธีรภัทรอยู่ในอาการร้องไห้ด้วย 

พนักงานสอบสวนเริ่มแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำในช่วงราวเที่ยงคืน โดยแจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาทั้งสองในคดีนี้ว่า เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 22.20 น. ขณะที่ ร.ต.อ. ณัฐ ปาสุวรรณ ปฏิบัติหน้าที่ร้อยเวรสายตรวจ บก.ป.  ได้ขับขี่รถสายตรวจจากอาคารเพชราวุธ มุ่งหน้าธนาคารออมสิน ถนนดินแดง เมื่อมาถึงแยกโรงบำบัดน้ำดินแดง ได้มีกลุ่มรถจักรยานยนต์ราว 20 คัน ขว้างปาวัตถุระเบิดใส่พื้นถนน ขณะที่ ร.ต.อ. ณัฐ เห็นว่าไม่ปลอดภัยจึงได้กลับรถเพื่อจะกลับทางเดิม 

ขณะนั้นธีรภัทร แต่งกายใส่ผ้าคลุมหน้าสีดํา ได้ขับขี่รถจักรยานยนต์ไม่สวมแผ่นป้ายทะเบียนมาจอดกลางถนน จากนั้นหยิบสิ่งของออกจากกระเป๋า วิ่งเข้ามาใกล้รถที่ ร.ต.อ. ณัฐ ขับ พร้อมทั้งขว้างปาวัตถุระเบิดใส่รถของตำรวจ โดนที่ประตูรถด้านซ้าย 1 ลูก จากนั้น ปฐวีกานต์ ได้วิ่งตามรถยนต์คันดังกล่าว พร้อมกับขว้างระเบิดตามหลัง 2 – 3 ครั้ง หลังจากขับรถออกมาจากที่เกิดเหตุ ร.ต.อ. ณัฐ ได้ตรวจสอบความเสียหายปรากฏว่า ประตูรถด้านซ้ายบุบยุบจากเหตุระเบิด จึงได้มาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน สน. ดินแดง

พนักงานสอบสวนระบุว่า กระทำดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกายเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ฯ, ร่วมกันกระทำให้เกิดระเบิดจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันทำ มี ใช้ วัตถุระเบิดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน” 

ธีรภัทรและปฐวีกานต์ยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายในวันที่ 23 ธันวาคม 2564

ทั้งนี้ ธีรภัทรได้ให้ข้อมูลกับทนายความว่า ตัวเขาไม่ได้เข้าร่วมในการชุมนุมวันที่ 31 ตุลาคม 2564 ตามที่ตำรวจกล่าวหา  แต่ชุดจับกุมยืนยันจะใส่ข้อมูลว่า เขาเข้าร่วมปาระเบิดในวันดังกล่าว โดยระหว่างถูกจับกุมเขาถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบข่มขู่โดยการเอาปืนจ่อหัวด้วย 

.

ส่งฝากขังคอนเฟอเรนซ์ศาลอาญา ศาลไม่ให้ประกันตัว ทั้งคู่ถูกส่งตัวไปเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

หลังจากเสร็จกระบวนการ ทั้งสองถูกขังที่ สน.ดินแดง 1 คืน ก่อนที่ในช่วงเช้าวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 พนักงานสอบสวนได้ทำการยื่นคำร้องฝากขังผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ขณะที่ครอบครัวของทั้งสองยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยขอติดกำไลอิเลคทรอนิกส์ติดตามตัว (EM) ด้วย

ต่อมาช่วงบ่าย ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้ง 2 คน ทำให้ธีรภัทรและปฐวีกานต์ถูกส่งตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทันที

ก่อนหน้านี้ ธีรภัทรเคยถูกจับกุมจากการเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 โดยถูกตั้งข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, มั่วสุมก่อความวุ่นวาย และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ก่อนได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยวางเงินสดจำนวน 35,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

.

X