เผยแพร่ครั้งแรกที่ Freedom bridge
ตั้งแต่เมื่อเดือนธ.ค. ปีที่แล้ว “บูม” จิรวัฒน์ พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์ วัย 32 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เหตุจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กทั้งหมด 3 โพสต์ ถูกศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา ปัจจุบันจิรวัฒน์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยยังอยู่ระหว่างการต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว
เป็นเวลา 200 กว่าวันแล้ว สำหรับครอบครัวของบูม ที่รอคอยการกลับมาของ “สามีและพ่อ” แม้จะมีการยื่นประกันบูมมากว่า 10 ครั้ง แต่ศาลยังคงยกคำร้อง โดยระบุไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพูดคุยกับ “แพร” (นามสมมติ) ภรรยาของบูม ถึงชีวิต ความคิด ผลกระทบในรอบ 200 กว่าวัน ที่ไม่มีสามีที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขอยู่เคียงข้าง
“แพร” และ “บูม” รู้จักและคบหาเป็นแฟนตั้งแต่ช่วงเรียนมหาวิทยาลัย ก่อนแต่งงาน 5 ปีให้หลัง รวมระยะเวลาราว 10 ปี ที่พวกเขาดูแลกันและกัน
แพรบอกว่า บูมกับเธอ สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยการทำธุรกิจมาด้วยกัน เพราะเป็นพวกชอบทำงาน และทำงานหนัก หาอะไรมาขายได้ก็มักจะสรรหามาอยู่เรื่อย ๆ ไม่เคยหยุดทำงาน พวกเขามีลูกสาว 1 คน ซึ่งปัจจุบันอายุ 5 ขวบใกล้ 6 ขวบแล้ว โดยในวันฟังคำพิพากษานั้น บังเอิญกลายเป็นวันเกิดของลูกสาวพอดี และกลายเป็นวันที่บูมไม่ได้เดินทางกลับบ้านไปด้วยกัน
เราชวนแพรเล่าย้อนกลับไปยังช่วงเวลา 3 ปีก่อน นาทีแรกที่ได้ทราบว่า บูมมีคดีความ และ ตกใจยิ่งกว่าเมื่อทราบว่าคนแจ้งความเป็นญาติแท้ ๆ ของตัวเอง
.
ญาติที่โตมาในบ้านรั้วเดียวกัน แจ้งความสามีตัวเอง
“ช่วงที่มีจดหมาย (หมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา) มาที่บ้านพ่อแม่ของบูม ช่วงนั้นเป็นช่วงโควิดระบาดหนัก เมื่อ 3 ปีก่อน หนูกับบูม ติดโควิด รักษาตัวกันอยู่ที่โรงพยาบาล ตอนนั้นลูกอายุประมาณ 2 ขวบ ก็เลยฝากลูกไว้กับญาติก่อน แล้วก็ไปรักษาตัวประมาณอาทิตย์ สองอาทิตย์”
แพรบอกกับเราว่า ความรู้สึกแรกที่ได้รับหลังจากเห็นภาพหมายเรียกที่แม่ของบูมส่งมาให้ดูทางโทรศัพท์ คือรู้สึกงุนงง หลังจากนั้นแม่ได้ถ่ายชื่อคนแจ้งความมา ทำให้แพรทราบว่าคนแจ้งความคือญาติของเธอที่เติบโตมาในรั้วบ้านเดียวกัน
“เราตกใจว่าคนที่ฟ้องเป็นญาติเรา ตกใจว่าเกิดอะไรขึ้น บูมเขาแชร์อะไรไป ประจวบเหมาะกับตอนนั้นเราค้าขายออนไลน์แล้ว ใส่รหัสเฟซบุ๊กผิด โดนล๊อกเฟซบุ๊กส่วนตัวทำให้เข้าไปดูอะไรไม่ได้เลย ก็เลยไม่รู้ว่ามันเกิดจากอะไร ได้มาเห็นตอนมารับทราบข้อกล่าวหาแล้ว คนที่ฟ้องแคปมาหมดเลย”
.
สู้กับกระบวนการยุติธรรม และสู้กับมะเร็งไปพร้อมกัน
แพรเล่าต่อไปว่าเมื่อทั้งคู่ หายจากโควิด ซึ่งขณะนั้นใช้เวลารักษาเกือบหนึ่งเดือน เธอและบูมก็เดินหน้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมด้วยการไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ยานนาวา
“พอออกมา ก็ไปสถานีตำรวจ หลังจากรักษาโควิดหายเกือบเดือน ตำรวจก็สอบสวน มีคนแนะนำมาว่าให้ติดต่อมาที่ศูนย์ทนายฯ ตั้งแต่นั้นก็เลยคุยกับศูนย์ทนายฯ มาโดยตลอด”
แม้บูมจะมีความสนใจในการเมืองอยู่เดิม แต่แพรยอมรับว่าตัวเองไม่ได้เป็นคอการเมือง โดยแทบไม่ได้ติดตามข่าวสาร เพราะทำงานตั้งแต่เช้าจนค่ำ
“วัน ๆ หนูทำแต่งาน ตี 5 ครึ่ง ตื่นไปส่งลูก หลังจากนั้นทำงาน 7 โมงครึ่ง – 8 โมง กลับไปอยู่บ้านพ่อ 1-2 ชั่วโมง ออกมาทำงาน แล้วก็ไปรับลูก 2-3 ทุ่มเข้าบ้าน หลับ ตื่นมาทำงานเที่ยงคืน ตี 1 หนูกับบูม กลับบ้านดึก ๆ ชอบหาอะไรมาขาย ทำไปเรื่อย ๆ ขายได้ก็เอามาขายอีก แต่เงินลงทุนไม่ได้เยอะนะ
“ระหว่างที่สัมภาษณ์อยู่นี้ก็ขายไปได้หลายตัวอยู่นะ เมื่อก่อนเราแพ็คของกันหน้าตั้ง ทำเองทุกขั้นตอน นอน 4 ชั่วโมงทุกวัน ทำงานหนักมาก แต่ตอนนี้เราทำทุกอย่างคนเดียว และต้องทำทุกอย่างน้อยลง เพราะเราไม่ไหว”
ภายหลังบูมถูกสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว ก่อนจะนัดสืบพยานระหว่างวันที่ 25 เม.ย. 2566 และวันที่ 27 – 29 ก.ย. 2566 อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่บูมกำลังต่อสู้คดีในปี 2566 แพรก็พบสัญญาณของความเจ็บป่วย
“หนูเริ่มรู้ว่าหนูป่วยตอนกุมภาพันธ์ วันที่ 13 ปีที่แล้ว เราเคยใช้ชีวิตมาปกติ เหมือนวัยรุ่นทั่วไปแล้วก็ทำงาน ๆ จนมีอยู่วันนึงที่รู้สึกว่ามีก้อนที่หน้าอก แต่ก็ไม่กล้าไปตรวจ ตอนแรกคิดว่าตัวเองท่อน้ำนมตัน เพราะว่าเราก็ให้นมลูกเอง เลยคิดว่าไม่น่าจะเป็นอะไร
“จนเวลาผ่านไปคืนหนึ่ง ปวดจนนอนไม่ได้ ปวดจี๊ด ๆ เหมือนมดกัดข้างในร่างกาย ต้องไปหาหมอ ไปเมมโมแกรมดู ไปหาหมอหลายที่ พบว่ามีก้อนถึง 3 ก้อนที่เต้านม หมอบอกว่าเสี่ยงมากที่จะเป็นมะเร็ง ก้อนใหญ่ที่สุดใหญ่ 4.75 เซนติเมตร และมันลามไปที่ต่อมน้ำเหลือง”
แพรชี้ให้ดูแขนด้านซ้ายของเธอ ตั้งแต่ไหปลาร้าลงไป ซึ่งผิวแห้งเล็กน้อยเป็นผลมาจากการฉายแสงรักษามะเร็ง
“หนูตัดหมดเลยต่อมน้ำเหลือง ที่แขนด้านซ้ายตอนนี้ไม่รู้สึกอะไรเลยยุงกัดก็ไม่รู้สึก เพราะว่าน้ำเหลืองไม่มีแล้ว ตอนนี้ยกมือก็ยกสุดไม่ได้ ตอนนี้ตัดหน้าอกไปหนึ่งข้าง แขนด้านซ้ายผิวแห้งมาก ถ้าลองสังเกตดู หมอก็ให้ทาครีมของโรงพยาบาล แต่ใคร ๆ ก็พูดว่าหนูไม่เหมือนเป็นคนที่เป็นมะเร็ง แต่หนูก็บอกว่า “มึง…กูเป็น” วิ่งยังวิ่งไม่ค่อยได้เลย เหนื่อย”
แพรพูดถึงกระบวนการรักษาของเธอที่ดำเนินไป ในช่วงเวลาเดียวกับที่บูมก็ต้องต่อสู้คดีไปด้วย
“เราให้คีโมทุกสามอาทิตย์ รวม ๆ แล้วก็ประมาณแปดครั้งในครึ่งปี พอเราคีโมจบก็ผ่าตัดเต้านมเลย แต่ระหว่างที่เรากำลังฉายแสงอยู่ เราก็ดันไปตรวจเจอก้อนที่รังไข่ด้วย ไม่ได้เป็นก้อนมะเร็ง แต่ก็เป็นก้อนเนื้องอกขนาด 6 เซนติเมตร ซึ่งใหญ่มาก ตอนนี้ตัดรังไข่ไปแล้วหนึ่งด้าน จริง ๆ แล้วต้องตัดรังไข่ทั้งหมด ตอนนี้เราเหมือนคนเป็นหมัน
แพรบอกว่าเธอดูแลตัวเองได้มาเสมอ ตราบใดที่ยังมีบูมช่วยกันดูแลลูก บูมไปโรงพยาบาลกับเธอแค่หนึ่งครั้งตลอดการรักษา จากนั้นเธอสามารถขับรถไปคีโมเอง และกลับบ้านมาได้
“หลังรู้ว่ามีคดี บูมพยายามสร้างระบบการทำงานขึ้นมา เพราะเขาคิดไว้อยู่แล้วว่าต้องโดนแน่ ๆ (ติดคุก) เค้าคิดของเค้าเอง ตอนที่ได้ประกันตัวออกมาช่วงระหว่างสืบพยาน เค้าเลยวางแผนชีวิต บอกว่าเราต้องทำนั่นทำนี่
“รู้มั้ยว่าวันที่ฟังคำพิพากษา 6 ธันวาคมปีก่อน เป็นวันเกิดลูกหนูพอดี วันนั้นหนูร้องไห้เลย ช่วงนั้นพอเรารู้วันตัดสิน ปีที่แล้วเป็นปีที่หนูให้คีโม 8 ครั้ง ผ่าตัดไป 2 รอบ รักษามะเร็ง หนูฉายแสงวันสุดท้ายวันที่ 2 ธันวาคม วันที่ 3 ก็ชวนบูมไปเที่ยวกัน หัวล้าน ๆ แบบนั้นแหละ คีโม ผ่าตัด ฉายแสงจบ พอวันที่ 6 เขาก็ติดคุกเลย”
แพรบอกว่าถึงแม้จะตัดรังไข่ไปแล้วหนึ่งด้าน และคงอีกด้านไว้เพื่อผลิตฮอร์โมน แต่รังไข่ที่เหลืออยู่ก็ดูจะมีปัญหา จากการที่เธอได้ไปตรวจสุขภาพตามรอบ ก่อนให้สัมภาษณ์ไม่นาน
“เราก็โตมาผ่านร้อนผ่านหนาว พูดจริง ๆ ตอนนี้เหมือนคนอายุ 50 แล้ว มะเร็งก็เป็นมาแล้ว แฟนเข้าคุกก็เจอมาแล้ว เหมือนประสบการณ์ชีวิตมันสอนเรา ว่าเราต้องดูแลตัวเอง อันไหนไม่ไหวเราก็แค่พูด เมื่อวานหนูไปซีทีสแกนมา ผลออกมาไม่ดี หมอบอกว่าน่าจะต้องผ่าตัดอีกครั้ง ทำให้เราเครียดมาก หนูบอกเขาว่าหนูขอเวลาหน่อย อยากให้บูมได้ประกันและออกมาดูลูกก่อน เราถึงจะไปผ่าตัดได้
“ก้อนที่อยู่ข้างใน เราไม่เจ็บเลย มีแค่บางครั้งที่ประจำเดือนมาแล้วจะปวดท้อง นอกจากนี้ค่ามะเร็งของหนูก็ขึ้นด้วยเกือบสองเท่า น่าจะเป็นผลจากความเครียด เราไปตรวจเลือดวันที่ 9 ก.ค. แต่ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. มา รู้เลยว่าตัวเองนอนไม่พอ เพราะนอนดึก เหมือนมีเรื่องในหัวเยอะ ทั้งงาน ทั้งอะไร มันกดดันมาก มะเร็งก็เป็นสิ่งที่อาการทรง ๆ พูดไม่ได้ว่าเราจะหาย
“ซึ่งส่วนนี้ที่เราเป็นกังวล เพราะผัดหมอเรื่องการผ่าตัดมดลูกเพิ่มเติมมาสองเดือนแล้ว เราเป็นห่วงลูก กลัวว่าถ้าผ่าตัดจะไม่มีใครดูแลลูก และไม่มีใครทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว เพราะเราต้องพักฟื้น แต่หยุดทำงานไม่ได้”
.
แม่เลี้ยงเดี่ยวจำเป็น ผู้ป่วยมะเร็ง และภรรยานักโทษการเมือง
การกลายเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ขณะที่สามีต้องมาติดคุกอาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่หนักอึ้งสำหรับแพรแล้ว แต่ในฐานะแม่และผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กคนหนึ่ง แพรยังมีอีกหลายบทบาทที่ต้องบริหารจัดการ การที่บูมต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำโดยไม่ได้รับการประกันตัว ทำให้แพรต้องแบกรับธุรกิจที่เคยทำด้วยกันสองแรก กลับเป็นต้องดูแลอยู่เพียงลำพัง ทั้งงานหน้าบ้านและหลังบ้าน ตลอดการสนทนากว่าสองชั่วโมง แพรต้องรับโทรศัพท์มากกว่า 6-7 สาย และทำงานไปด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ เพราะทุกนาทีหมายถึง รายได้ที่จะเข้ามาในครอบครัวเพิ่มขึ้น
“การทำธุรกิจต่อ มีธุรกิจที่ทำร่วมกันมาอยู่แล้ว แต่ไม่ได้แปลว่าจะทำได้ดีเหมือนเดิม เนื่องจากเมื่อก่อนเราเป็นคนที่ทำงานหลังบ้าน ส่วนบูมเป็นคนที่ทำงานหน้าบ้าน ยังมีลูกค้าถามหาเค้าตลอด หนูก็บอกว่าเค้าไปธุระ ก็ต้องพูดแบบนี้ตลอด”
แพรบอกอีกว่าผลกระทบใหญ่ด้านการงานที่ครอบครัวต้องเจอ คือการต้องปิดร้านขายเสื้อผ้า
“เราทำหลายอย่าง ขายเสื้อผ้าออนไลน์ไซส์ใหญ่ หาของจุกจิกมาขาย เคยเปิดร้านขายเสื้อผ้า แต่พอบูมเข้าไปข้างใน ก็ไม่มีใครที่จะช่วยดูร้านได้ เลยต้องปิดร้านไป เพราะหนูทำหลายอย่างไม่ไหว และสุขภาพของเราก็เริ่มไม่แข็งแรงด้วย
“(นิ่งเงียบ) .. จริง ๆ เราไม่ได้ห่วงเขาเลย เขายังมีพ่อ มีแม่ มีน้อง แต่ลูกเรา มีแค่เรากับเขาที่เป็นเสาหลักให้ แล้วเขาอยู่ข้างใน ส่วนเราอยู่ข้างนอกแล้วไม่สบาย เราไม่ได้ไม่ไว้ใจตายาย ทุกคนหวังดีกับลูกหมด แต่เราก็อยากเห็นลูกเราเติบโตไปตามวัยของเขา เราเลยอยากให้เขาออกมา ซักปีนึงก็ได้ อย่างน้อยมาดูลูก ให้เราได้ไปรักษาตัว เรารู้นะ ว่าเขาต้องกลับเข้าไป
“พูดจริง ๆ กลายเป็นคนกลัวตายไปเลย เพราะกลัวว่าจะไม่มีใครดูลูก กลัวว่าจะไม่มีใครหาเงินให้บูมกินข้าว”
แพรบอกว่าตอนนี้ต้องเริ่มพูดคุยกับบูมอย่างจริงจัง ถึงเรื่องวิธีการดูแลลูก หากเธอจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดซึ่งประวิงเวลามากว่า 2 เดือนแล้ว
“หนูก็ว่าหนูเข้มแข็งนะ หนูก็สู้ชีวิตของหนู แต่ผ่านไปเดือน ๆ นึงก็ไม่มีเงินเก็บหรอก แต่ก็ทำให้มันผ่าน ๆ ไป แต่ตอนนี้ก็เริ่มจะต้องวางแผนแก้ปัญหาแล้ว ถ้าเกิดว่าเค้าอยู่ในเรือนจำระยะยาว ถ้าจำเป็นจริง ๆ ที่เราจะต้องเข้ารับการผ่าตัด จะทำยังไงต่อ เพราะมันจะหาเงินไม่ได้ มีปัญหากับเรื่องธนาคารมาก เพราะทุกอย่างเป็นชื่อบูมหมด ธนาคารไม่ให้คนอื่นทำอะไรได้เลย”
เป็นโชคร้ายซ้ำซ้อนในฐานะคนทำธุรกิจ ที่ก่อนเข้าเรือนจำ บัญชีของบูมโดนอายัดทั้งหมดเนื่องจากมีคนร้ายเอาบัญชีของเขาไปหลอกให้คนโอนเงิน
“ถึงเราจะเคลียร์เรื่องได้ แต่บัญชียังคงโดนอายัดและจะแก้อายัด ธนาคารยืนยันว่าบูมต้องเป็นคนมาทำเรื่อง เอง ถ้าบูมไม่ออกมาเราทำอะไรไม่ได้เลย เงินทั้งหมดนั้นคือค่าเทอมลูก”
.
“พ่ออยู่ในโรงพยาบาลที่ใหญ่มาก ๆ คนในนั้นป่วยเป็นโรคระบาด”
แม้ตลอดการพูดคุยแพรไม่ได้ร้องไห้ หรือแสดงท่าทีโศกเศร้าให้ได้เห็นเลย แต่เมื่อพูดถึงลูก แพรเสียงสั่นเล็กน้อย
“ตอนนี้บางมุมเขาเงียบขึ้น แต่เราไม่รู้ว่ามาจากเรื่องนี้หรือเปล่า หรือเขาแค่กำลังโต ลูกจะได้ไปหาบูมบ่อย ทุก ๆ ครั้งที่เขาไม่สบายและต้องหยุดเรียน เราก็จะพาเขาไปเยี่ยมที่เรือนจำ จนลูกถามว่าทำไมหนูต้องมาหาป๊า ทุกครั้งที่หนูหยุดเรียน เราเลี้ยงตัวเองได้ก็จริง แต่ตอนนี้ที่บ้านก็ช่วย เรามีภาระหลัก ๆ ก็การผ่อนบ้านรถและค่าเทอมลูก ค่าโฆษณาสินค้าที่ต้องจ่ายทุกเดือน
“ถ้าถามว่ามีผลกระทบกับลูกมั้ย เรารู้สึกว่าลูกขาดคนดูแล บางทีลูกโหยหาพ่อ จะจองเยี่ยมไลน์ก็เต็ม เต็มไวมาก เปิดจอง 9 โมง 9 โมง 5 นาที เต็มแล้ว เราก็ต้องสรรหากิจกรรมให้ลูกเราทำ ให้เขาตื่นเต้น และลืม ๆ เรื่องพ่อไป อย่างวันนี้ก็บอกว่าเดี๋ยวเราไปอิเกีย ไปกินครัวซองที่หนูชอบ
“ถ้าบูมไม่มีคดี พวกเราวางแผนจะให้ลูกเรียนนานาชาติ ตอนนั้นเป็นช่วงที่ลูกเข้าอนุบาลพอดี จริง ๆ เราจองไปแล้วด้วย แต่หาเงินคนเดียวมันไม่ไหวจริง ๆ หาไม่ทัน สุดท้ายก็เลยเรียนโรงเรียนอื่น ค่าเทอมก็ยังแพงอยู่ แต่ก็ยังไม่แพงเท่านานาชาติ ลูกมีน้อยใจเรื่องว่าคนอื่นมีพ่อ แล้วพ่อหนูไปไหน พ่อไม่เคยมารับที่โรงเรียน มีงานโรงเรียนที่ต้องไปดูลูก แต่เราไปคนเดียว คนอื่นเขามีพ่อแม่มาดู”
แพรต้องคอยบอกลูกว่าพ่อไม่ได้ไปไหน ไม่เหมือนกับเธอที่ไม่มีแม่อยู่แล้ว หากอยากเจอแม่ ก็เจอได้แค่ในรูป
“ดูม๊าสิ ม๊าก็ไม่มีแม่ อยู่กับอากงสองคน ยังอยู่ได้เลย ไม่มีอะไรที่มันครบหรอก เราบอกว่าแม่เราอยู่ในรูปแต่พ่อหนู เรายังไปหาได้ เวลาพาลูกไปเรือนจำ เราก็บอกลูกว่า พ่อไม่สบาย เป็นโรคระบาดหนัก ลูกคงคิดว่าที่นั่นเป็นโรงพยาบาล ที่มีคนป่วยอยู่รวมกันทั้งหมด หนูคิดจะพูดกับเขาเหมือนกัน แต่คิดว่าจะรอให้โตอีกสักพัก”
.
หวังได้รับการประกันตัวระหว่างพิจารณา และลดโทษในชั้นอุทธรณ์
แพรบอกว่าตลอดเวลาที่บูมติดคุก เธอไปเยี่ยมที่เรือนจำเกือบทุกวัน รวมถึงซื้ออาหารส่งให้เขาด้วย แม้มีกองทุนช่วยส่งอาหารให้ แต่บูมมักอยากได้อาหารพิเศษเพิ่มจากที่บ้านด้วย
“เขากินเยอะ เราก็ซื้ออาหารให้เขาทุกวัน ตั้งแต่ติดมา แพรก็ไปเยี่ยมเกือบทุกวัน เพราะเขาขอให้ไปเยี่ยม นอกจากวันไหนไม่ได้จริง ๆ ก็จะบอกเขาล่วงหน้า ถ้าไม่ใช่เรา เขาก็ให้เป็นพ่อแม่เขาเยี่ยมก็ได้ เราก็ไม่ได้เดือดร้อนมากที่จะไปเยี่ยมเขา เพราะเราทำงานที่ไหนก็ได้อยู่แล้ว เราบอกพ่อแม่เขาว่าไม่ต้องคิดอะไรมาก เดี๋ยวเราจะคิดแทน พ่อแม่จะไม่ค่อยเข้าใจเรื่องขั้นตอนทางกฎหมายเท่าไร
“เรื่องการสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ เราคุยกันว่า ยังไงสุดท้ายเขาก็ต้องโดน 6 ปี ไม่สู้ ไม่อุทธรณ์ก็คือ 6 ปี เพราะฉะนั้นรอคำพิพากษาศาลอุทธณ์ เผื่อว่าจะได้ลดโทษบ้าง เพราะเราไม่เคยมีคดีอื่นเลย ขอโอกาสเขาหน่อยแล้วกัน เผื่อเขาจะให้เรา ถ้าติดไปซักพัก อาจจะขอพักโทษได้บ้างก็ได้ อย่างมีคนที่เขาติด 6 ปี แล้วลดโทษเหลือ 4 ปี เราก็บอกว่าเขาว่า 4 ปี เราก็โอเคแล้วนะ
“เราบอกบูมว่า เวลาไม่คอยท่านะ ออกมาอาจจะไม่เจอเราแล้วก็ได้ เราไม่รู้ว่าอนาคตจะเป็นยังไง เมื่อวันจันทร์ก็เพิ่งชับรถชนไป ป้ายทะเบียนหลุดเลย หนูก็บอกว่ามันเกิดขึ้นได้ตลอด ความเป็น ความตาย แล้วหนูต้องมาใช้ชีวิตแบบนี้ หนูอยากให้เขาสู้ และออกมาดูแลลูก ไม่ต้องดูแลเราเลย แต่ดูแลลูก”
ประเด็นเรื่องการผ่าตัดของแพร เป็นเรื่องหลักที่ทั้งสองคนพูดคุยกันในตอนนี้
“บอกเขาแล้วว่าตอนที่ผ่าตัด ไม่ต้องมาดูเรา ดูลูกไปเลย เอาให้เต็มที่ เพราะหนูก็ดูแลลูกเท่าที่หนูจะทำได้ เราไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลบ่อย ถึงเราอยู่บ้านแดียวกัน แต่ช่วงก่อน บูมจะดูแลลูกเป็นหลัก และจริง ๆ ลูกสนิทกับพ่อมากกว่าแม่
แพรวาดฝันอย่างติดตลกว่า หากเขาได้ประกันตัว เธอจะขอไม่ทำงาน จะขอเป็นแม่บ้านบ้าง
“แต่มันก็ไม่ได้หรอก คนมันทำงานมาตลอด อาจจะพักวันสองวัน เคยฝันกับบูมไว้ว่า อยากจะเปิด racing สนามแข่งรถ แล้วก็มีเสื้อผ้าสไตล์เด็กแว๊นซ์ขายด้วย อยากจะทำเป็นห้างเล็ก ๆ ขายให้เด็กแว๊นซ์ เราไม่ได้โตมาแบบนั้น แต่พวกนั้นไม่ใช่คนไม่ดีเลย พวกเขาขยันมาก ต้องขวนขวายมาก ตีสี่ต้องลุกขึ้นมาเข็นผักแล้ว สิบโมงทำงาน ขายเสื้อผ้า ขายจนรวยมาแล้ว หนูก็อยากรวย อยากใช้เงินแก้ปัญหา แต่ก็ต้องใช้หนี้ก่อน”
.
ความฝันอันเรียบง่าย: อยากมีชีวิตอยู่เพื่อแนะนำการใช้ชีวิตให้ลูก และไม่เป็นภาระใคร
แพรสงบนิ่งกว่าที่เราจินตนาการเอาไว้มาก และความคาดหวังของแพรต่อสุขภาพของเธอ และสถานการณ์อื่น ๆ ในชีวิตก็ไม่ได้แตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปแต่อย่างใด
“หนูไม่ได้เดือดร้อนมากหรอก แต่หนูเป็นห่วงลูก” แพรย้ำประโยคนี้เสมอ เธอบอกว่าแม้ที่บ้านมีญาติผู้ใหญ่หลายคน เนื่องจากเป็นครอบครัวใหญ่ แต่หลังจากบูมติดคุกไม่มีใครซ้ำเติมหรือโจมตีเธอ มีแต่จะเป็นห่วงและทุกข์ใจเพราะสงสารหลานที่ไม่มีพ่ออยู่ด้วย เธอจึงรู้สึกโชคดีที่ไม่ต้องหนักใจเรื่องครอบครัวเพราะได้รับความช่วยเหลือสนับสนุน
“ตอนแรกหมอพูดแค่เราอยู่ได้ไม่เกิน 2 ปี อีกไม่กี่เดือนจะครบ 2 ปี ถ้าเราผ่าน 2 ปีมาแล้ว ถึงมีความหวังว่าจะอยู่ได้อีก 5 ปี และเพิ่มเป็น 7 ปี หนูไม่หวังอะไร และคิดว่าคงอยู่ไม่ถึงช่วงที่ลูกโต แต่ก็ขอแค่ให้ลูกดูแลตัวเองได้บ้างก็ดีแล้วนะ
“อยากอยู่จนเขาโตพอจะตัดสินใจเองได้ ลูกเราเป็นผู้หญิง เราอยากจะได้เป็นคนแนะนำเขาในการใช้ชีวิต ถีงจะมีพ่อหรือปู่ย่า แต่เราที่เป็นแม่และใกล้ชิด ก็อยากเป็นคนสอน เช่น การใส่ชุดชั้นใน ใส่เสื้อทับ ใส่กางเกงขาสั้นในกระโปรง
“หนูบอกตลอดว่า แม่ทำให้ได้ทุกอย่างที่บ้าน แต่สุดท้ายหนูต้องทำทุกอย่างได้เอง เราอยากให้เขาใช้ชีวิตเองได้ ความหวังเกี่ยวกับชีวิตของตัวเอง หนูไม่ได้อยากหายนะ แค่อยากใช้ชีวิตแบบคนทั่วไป หาเงินได้ พึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระใคร แค่เดินได้ ยังขับรถได้ รู้ว่ามันก็ยังทรง ๆ ตอนแรกยังทำใจไม่ได้หรอก แต่ถ้ายังอยู่แบบนี้ได้ ก็คิดว่าอยู่ได้นะ”
อนาคตเป็นสิ่งคาดเดาได้ยาก ทุกนาทีที่หมุนไปในชีวิตของแพรคงหนักหนาไม่ต่างจากบูมที่อยู่ในเรือนจำ สำหรับแพรแล้ว เธอยังต้องรับมือกับความกดดันทางธุรกิจ สุขภาพที่พร้อมจะพรากลมหายใจของเธอไปได้ทุกเวลา และความห่วงใยเกินจะเอ่ยต่อลูกสาวตัวน้อยที่ยังอยู่ในวัยอนุบาล
แพรทิ้งท้ายประโยคเรียบง่ายคล้ายเป็นคำถามดัง ๆ ว่า “ถ้าเราตายก่อนบูมได้ประกันตัว แล้วลูกจะอยู่กับใคร?”
.
สถานการณ์ล่าสุดของครอบครัวนี้ ในเดือนพฤศจิกายน 2567 แพรเปิดเผยว่าตัวเธอตรวจพบก้อนเนื้อที่ตับ และต้องเข้าผ่าตัดในเดือนมกราคม 2568 ซึ่งสิ่งที่เธอกังวลที่สุดคือต้องทิ้งลูกไว้ให้ตากับยายช่วยเลี้ยงในระหว่างที่เธอต้องเข้ารับการผ่าตัดและพักฟื้น
ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์ของจิรวัฒน์ ขายของออนไลน์อยู่ดี ๆ ก็โดน ม.112 : สำรวจความรู้สึกหลังห้องพิจารณาคดีที่ 402 ของ “จิรวัฒน์” จำเลยคดีมาตรา 112
.