ปล่อยตัว “วารุณี”  สิ้นสุดการคุมขังคดี ม.112 กว่า 1 ปี 5 เดือน เกือบครบกำหนดโทษ

วันที่ 27 พ.ย. 2567 เวลา 13.20 น. ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ “น้ำ” วารุณี (สงวนนามสกุล) ชาวพิษณุโลก วัย 33 ปี ผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 จากกรณีที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 1 ปี 6 เดือน กรณีโพสต์ภาพตัดต่อพระแก้วมรกตสวมชุดราตรีแบรนด์ SIRIVANNAVARI ขณะรัชกาลที่ 10 เปลี่ยนเครื่องทรง ได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว หลังถูกคุมขังจนเกือบครบกำหนดโทษ 

เกี่ยวกับคดีนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2564 วารุณีถูกเจ้าหน้าที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) จับกุมตามหมายจับ ถึงบ้านที่พิษณุโลก พร้อมยึดโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก อย่างละ 1 เครื่อง ก่อนควบคุมตัวมาสอบปากคำที่ บก.ปอท. ในกรุงเทพฯ โดยพบว่าคดีมี นพดล พรหมภาสิต เป็นผู้กล่าวหา

หลังการสั่งฟ้องคดี เมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลอาญาพิพากษาให้เธอมีความผิดตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยรับสารภาพ ลดโทษจำคุกเหลือ 1 ปี 6 เดือน และเธอไม่ได้รับการประกันตัวมานับแต่วันนั้น

ต่อมา ในวันที่ 16 ส.ค. 2566 วารุณียื่นอุทธรณ์คำพิพากษาในระหว่างที่ถูกคุมขังอยู่ในทัณฑสถานหญิงกลางฯ ระหว่างนั้น เธอได้ขอยื่นประกันตัวเองเป็นจำนวนกว่า 4 ครั้ง แต่ถูกศาลปฏิเสธเรื่อยมา ทำให้วารุณีประท้วงอดอาหารในเรือนจำ เพื่อทวงคืนสิทธิประกันตัวเป็นเวลากว่า 46 วัน โดยยุติการประท้วงอดอาหารในวันที่ 6 ต.ค. 2566 

ในระหว่างปี 2566 – 2567 เธอยื่นประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 8 ครั้ง ศาลได้ยกคำร้องเรื่อยมา ระบุคำสั่งว่า ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ทำให้ในวันที่ 11 เม.ย. 2567 วารุณีตัดสินใจยุติการต่อสู้ในชั้นอุทธรณ์ โดยได้ยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ที่ยื่นไป

ในวันที่ 18 ส.ค. 2567 มีการออก พ.ร.ฏ.อภัยโทษ พ.ศ. 2567 วารุณีพักฟื้นฟูร่างกายตัวเองจากการประท้วงอดอาหาร โดยถูกคุมขังอยู่ในโรงพยาบาลราชทัณฑ์เรื่อยมา เป็นหนึ่งในผู้ต้องขังที่เข้าเกณฑ์ได้อภัยโทษ เนื่องจากเธอถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของโทษที่ได้รับ

อย่างไรก็ตาม ภายหลังการขอถอนอุทธรณ์ ศาลไม่ได้มีคำสั่งเรื่อยมา โดยเพิ่งมีหมายนัดให้มาฟังคำสั่งเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ระบุคำสั่งว่า อนุญาตให้ถอนอุทธรณ์ของจำเลย และจ่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ ซึ่งกินระยะเวลากว่า 7 เดือน ตั้งแต่ที่จำเลยยื่นขอถอนอุทธรณ์  ทำให้เธอได้รับการปล่อยตัวหลังถูกคุมขังไปรวม 1 ปี 5 เดือน (คิดเป็นรวม 518 วัน) เกือบครบกำหนดโทษตามคำพิพากษาของศาล

มีข้อสังเกตว่า หากคำสั่งดังกล่าวออกมาภายในเดือนสิงหาคม 2567 ที่มีการประกาศ พ.ร.ฎ.อภัยโทษฯ วารุณีก็มีโอกาสที่จะได้รับการปล่อยตัวเร็วขึ้นกว่านี้ ส่งผลต่อสิทธิของผู้ต้องขังอย่างสำคัญ 

ทั้งยังมีตัวอย่างคดีของ “ทีปกร” ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีกรายหนึ่ง ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี และได้ตัดสินใจยื่นถอนอุทธรณ์เพื่อให้คดีสิ้นสุดเช่นเดียวกัน ในเวลาใกล้เคียงกับวารุณี และศาลมีคำสั่งให้ถอนอุทธรณ์ได้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 แล้ว ใช้เวลารวมหลังยื่นคำร้องขอถอนอุทธรณ์ไป 1 เดือนเศษ

.

บันทึกเยี่ยมฉบับสุดท้ายก่อน “วารุณี” ได้รับการปล่อยตัว

ก่อนการปล่อยตัว เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 ทนายความได้เข้าเยี่ยมวารุณี หลังได้ทราบข่าวจากญาติของเธอว่าจะมีการปล่อยตัวเธอแล้ว วารุณีแจ้งว่า เมื่อวันที่ 25 พ.ย. เจ้าหน้าที่ได้นำตัวเธอไปถ่ายรูป ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเกิดขึ้นกับผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัวในระยะ 1 – 2 วันนี้

ก่อนหน้านี้ ทางราชทัณฑ์ได้ทำหนังสือถามกับศาลถึงวันปล่อยตัว ศาลได้ระบุคำสั่งว่าปล่อยตัวเมื่อครบกำหนด ตอนนั้นวารุณีแจ้งกับพ่อไปว่าเธอคงจะได้ออกเดือนธันวาคม พ่อก็มีท่าทีเศร้าใจบอกว่าเสียดายที่ลูกสาวไม่ได้รับการอภัยโทษ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2567 ซึ่งเธอถูกเบิกตัวไปฟังคำสั่งศาล ก็ไม่ได้มีระบุวันที่ชัดเจนที่เธอจะได้รับการปล่อยตัว ซึ่งศาลก็ดูมีท่าทีงง ๆ กับคำถามของเธอ จึงให้ไปนั่งรออยู่ที่ใต้ถุนศาล จนเวลาล่วงเลยถึง 6 โมงเย็น แต่จนแล้วจนรอด วารุณีก็ไม่ได้รับคำตอบว่าเธอจะได้รับการปล่อยตัวภายในวันใด 

หลังกลับมาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ วารุณีเล่าต่อว่า จริง ๆ เธอนอนไม่หลับมาตั้งแต่วันที่ถูกเบิกตัวไปฟังคำสั่งถอนอุทธรณ์ ยิ่งใกล้วันจะปล่อยตัวยิ่งนอนไม่หลับ และเกิดความเครียด จนกินอะไรไม่ค่อยลง จนน้ำหนักลดอีก

เมื่อช่วงสัปดาห์ก่อน เรือนจำได้ให้บุคลากรเข้ามาตรวจมะเร็งปากมดลูกให้กับผู้ต้องขัง ซึ่งผลน่าจะออกหลังจากนี้หนึ่งอาทิตย์ แต่วารุณีคาดว่าเธอน่าจะได้รับการปล่อยตัวก่อนที่ผลตรวจจะออกมา

เมื่อถามกับเจ้าหน้าที่เรือนจำว่าวันเด็ดขาดของเธอคือวันใดกันแน่ ก็ได้รับคำตอบเพียงว่าเธออยู่ในช่วงได้รับการอภัยโทษแน่นอน ซึ่งจริง ๆ ถ้าเธอได้รู้วันเด็ดขาดก่อนหน้านี้ ก็คงจะสามารถยื่นเรื่องขอพักโทษได้ แต่พอวันเด็ดขาดเข้ามากระชั้นชิด ก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำเรื่องดังกล่าว

.

หลังปล่อยตัววารุณี ยังมีผู้ต้องขังจากการแสดงออกทางการเมือง จำนวนอย่างน้อย 33 ราย แยกเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 24 ราย โดยผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดีมีอย่างน้อย 22 คน และมีผู้ต้องขังที่คดีถึงที่สุดแล้วอย่างน้อย 10 ราย  รวมทั้งมีเยาวชน 1 คน ที่ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์คดีในสถานพินิจฯ 

.

ย้อนอ่านบันทึกชีวิตในเรือนจำของวารุณี : บรุ๊คส์แห่งคุกชอว์แชงค์ และดอกไม้มิตรภาพที่เบ่งบานในใจ “วารุณี” เพราะบางครั้งคุกคือ ‘เซฟโซน’ ของใครบางคน 

‘อภัยโทษ’ กล่องสุ่มชะตาชีวิตจากใจ “น้ำ” วารุณี 

‘วารุณี’ คือใคร ในสายตาของครอบครัว

X