‘วารุณี’ คือใคร ในสายตาของครอบครัว

ถ้าเคยติดตามเธอบนโซเซียล อาจติดภาพจำความแรง! แบบ ‘ตัวแม่’

ถ้าคุ้นตาคอนเทนต์เพจ ‘น้อง’ บนหน้าฟีด จะรู้ว่าสมญานามเธอคือ ‘กีของเพจ’

คนจำนวนไม่น้อยเดาว่าเธอเลือกแดงชัวร์ เชียร์ขนาดนี้ ยังไงก็ ‘นางแบก’

กับหลายคนรู้จักเธอในฐานะผู้ต้องขังคดี ‘ม.112’

เป็นคนหนึ่งที่กำลัง ‘อดอาหารและน้ำประท้วง’

ฯลฯ

แล้วคุณล่ะ ถ้าพูดถึงชื่อ ‘วารุณี’ รู้จักเธอในแง่มุมไหน

รู้สึกรัก ชื่นชม ก็เฉยๆ หรือเคยเป็น ‘ศัตรู’ กับเธอมาก่อน    

แต่กับ ‘ครอบครัว’ แน่ล่ะว่าเธอเป็นที่รักของพวกเขาเสมอ 

เป็นลูกสาวที่พ่อภูมิใจ

เป็นพี่สาว เป็นเพื่อน เป็นเหมือนแม่อีกคน ของน้องๆ

เป็นเสาหลักที่มั่นคงและเข้มแข็งของบ้าน

เป็นทุกสิ่ง เป็นเหมือนโลกทั้งใบ

ชีวิตของทุกคนในบ้านเดินทางมาจนถึงวันนี้ได้ เพราะมีวารุณีเป็นกำลังสำคัญ คอยผลักดัน และสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง และพวกเขาจะ ‘ไม่ยอม’ เสียเธอไปเด็ดขาด

ชวนรู้จัก ‘น้ำ-วารุณี’ ผู้ต้องขังคดี มาตรา 112 ในอีกแง่มุมหนึ่ง มุมที่น้อยคนจะได้เห็นมัน ผ่านสายตา คำบอกเล่า ความห่วงใยจากคนในครอบครัว ที่ตอนที่มีเหลือเพียงคุณพ่อ น้องชาย และน้องสาว 

1. 

คือ คนร่างซูบบาง

ช่วงสายเวลาประมาณ 11.00 น. ของวันอังคารที่ 29 สิงหาคม 2566 ครอบครัวของวารุณีทั้งสามคนเดินทางมาตามนัดหมายของทนายความ เพื่อที่คุณพ่อจะได้เซ็นเอกสารลงนามในฐานะ ‘ผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแล’ ในคำร้องยื่นขอประกันวารุณีต่อศาล ซึ่งเป็นการยื่นประกันตัวครั้งที่ 5 แล้ว (ในจำนวนนี้ มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่ง 2 ครั้ง) ภายในระยะเวลากว่า 2 เดือนที่วารุณีถูกคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง 

การพบเจอกันสั้นๆ ไม่กี่ชั่วโมงเพื่อจัดการเอกสารประกันตัว ทำให้เรามีโอกาสได้สนทนากับครอบครัวของวารุณี 

ตอนนี้แต่ละคนอาศัยอยู่กันคนละที่ คนละจังหวัดกัน นานๆ ทีถึงจะได้เจอกันตามวาระและโอกาส แต่ตอนนี้ทั้งครอบครัวได้รวมตัวกันอีกครั้งเป็นการเฉพาะกิจ เพราะต่างก็ห่วงใยสมาชิกในครอบครัวอันเป็นที่รักยิ่ง

คุณพ่อ อายุ 58 ปี เป็นเกษตรกร และค้าขายอยู่ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ อยู่ที่บ้านหลังที่วารุณีและลูกๆ ทุกคนเติบใหญ่มา แม้ต่างคนต่างแยกย้ายกันไปทำงานและมีชีวิตของตัวเองแล้ว แต่พ่อก็ยังไม่ไปไหน

น้องชาย อายุ 28 ปี ทำงานเป็นพยาบาล อยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลก อายุห่างจากวารุณีประมาณ 4 ปี 

น้องสาว อายุ 26 ปี ทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นคนคอยเข้าเยี่ยมพี่สาวที่เรือนจำแทบจะทุกวัน คอยดูแลเรื่องส่วนตัว ซื้อของใช้และอาหาร ก่อนที่วารุณีจะตัดสินใจอดอาหารประท้วง ทุกความเคลื่อนไหวบนโซเซียล ทุกการแจ้งข่าวสารสำคัญก็เป็นเธอเองที่รับหน้าที่นี้ เธออายุห่างจากวารุณีประมาณ 6 ปี  

พ่อและน้องชายเดินทางมาจากต่างจังหวัด เช้านี้ ทั้งสามคนได้งีบนอนอยู่ที่ห้องนอนของวารุณีเพียงไม่กี่ชั่วโมงก็ต้องตื่นแต่เช้าตรู่ เพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเข้าเยี่ยมวารุณีที่เรือนจำตั้งแต่เวลาประมาณ 9 โมงเช้า แต่ได้เข้าเยี่ยมจริงๆ ก็ปาไป 10 โมงกว่าแล้ว

ทั้งสามคนเข้าเยี่ยมวารุณีพร้อมกัน เป็นการเยี่ยมที่มีเพียงกระจกใสๆ กั้นระหว่างกลางเท่านั้น เวลาจะพูดคุยกันต่างฝ่ายต่างก็ต้องยกหูโทรศัพท์ขึ้นมาคุยผ่านมัน

นี่เป็นการเจอหน้าวารุณี ‘ครั้งแรก’ ของพ่อ น้องชาย ในฐานะญาติผู้เข้าเยี่ยมผู้ต้องขัง ขณะที่วารุณีอดอาหารประท้วงเป็นวันที่ 9 และจำกัดการดื่มน้ำของตัวเองเป็นวันที่ 6 การประท้วงดังกล่าวได้ดำเนินมาตั้งแต่วันที่ 21 ส.ค. 2566 ก่อนจะถูกยกระดับเป็นการอดน้ำร่วมด้วยในวันที่ 24 ส.ค. เป็นต้นมา โดยวารุณีจะดื่มน้ำเฉพาะเวลาทานยานอนหลับและยารักษาโรคอารมณ์สองขั้วเท่านั้น

(แต่ล่าสุด เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่ผ่านมา วารุณียอมทานข้าวต้มครั้งละ 10 ช้อนตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อจะได้รับประทานยาฆ่าเชื้อมีกำหนด 7-10 วัน และยืนยันว่าหลังจากนั้นจะกลับไปอดอาหารประท้วงดังเดิม) 

วันนี้คุยกันเรื่องอะไรบ้าง

พ่อ – ส่วนมากลูกชายลูกสาวคุย  

น้องสาว – พ่อไม่คุย เพราะพ่อหลบไปยืนร้องไห้อย่างเดียวเลย วันนี้เหมือนพี่เขาอัปเดตอาการว่าเป็นยังไงบ้าง วันนี้ตาเขาดู ‘โหล’ มากกว่าทุกวันที่เจอกัน

ตาโหล?

น้องชาย – เบ้าตามันลึกลงไปมาก เหมือนเขาผอมลงมากๆ

น้องสาว – น้ำหนักพี่น้ำตอนนี้อยู่ที่ 33 กิโลแล้ว ปกติเขาใส่แมสตลอดก็เลยไม่ได้เห็นโครงหน้าว่าผอมขนาดไหน แต่ที่สังเกตเห็นเลย คือ ‘แขน’ ของเขาเล็กลงมากๆ

น้องชาย – เล็กมาก!  

น้องสาว – ปกติพี่เขาจะหนักประมาณ 38-41 กิโล แต่ว่าตั้งแต่เข้าไปอยู่ในเรือนจำ เขาก็ซูบผอมลงเรื่อยๆ ถ้าเห็นด้วยตาตัวเองจะรู้ว่าแขนเขามันเล็กมาก

น้องสาวพูดเสร็จแล้วหันหมุนดูรอบๆ ตัว พยายามหาสิ่งของบางอย่างมาอุปมาแทนขนาดรอบวงแขนพี่สาวของตัวเองอย่างรีบร้อน หยิบรวบดูไมโครโฟน … ม้วนกระดาษ … ยังไม่ใช่ … จู่ๆ เธอก้มหน้าลงมองแขนของตัวเอง และพูดว่า “แขนพี่น้ำประมาณครึ่งหนึ่งของแขนหนูได้ …” 

‘เลยเหรอ’ เราอุทานเสียงหลง เพราะน้องสาววารุณีเป็นคนรูปร่างผอมเล็กพอสมควร แขนของเธอเองน่าจะมีขนาดกว้างประมาณ 2 ข้อนิ้วครึ่งเห็นจะได้ หากเป็นจริงอย่างที่เธอบอก แสดงว่าตอนนี้วารุณีคงผอมเอามากๆ 

น้องชายของวารุณีเป็นพยาบาล วันนี้เขาบอกพี่สาวว่าจะต้องขอหมอตรวจเลือดให้ได้ ถึงจะรู้ความผิดปกติของร่างกาย เพราะบางอย่างไม่สามารถตัดสินได้จากการมองเพียงภายนอก น้องชายยังได้กำชับวารุณีว่าเวลาเจอหมอแล้ว ต้องขอให้หมอตรวจค่าอะไรบ้าง

ค่าน้ำตาลในเลือด, ค่าไต, ค่าของเสียคั่ง ฯลฯ

น้องชาย – แกก็ทำท่าเหมือนจะเข้าใจ แต่พอเราวนกลับมาถามว่า ‘จำได้มั้ยว่าต้องตรวจอะไรบ้าง’ เขาก็บอกว่า ‘จำไม่ได้แล้ว’ เหมือนเขาเบลอ ขนาด ‘วัน’ กับ ‘เดือน’ พี่เขาก็จำสลับกันไปหมดแล้วตอนนี้ นับวันไม่ได้แล้ว 

น้องชาย – แล้วเขาก็ดูตาลอย … 

น้องสาว – ส่วนใหญ่เขาจะนั่งฟังพวกเราซะมากกว่า เพราะเหมือนเขาต้องใช้แรงเยอะมากๆ เวลาต้องพูด เหมือนเขาไม่ค่อยมีแรงแล้วค่ะ แต่ก่อนเวลาพูดเขาจะเอามือผายตาม มีภาษากาย จริตจะก้าน แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว นั่งนิ่งๆ คุยอย่างเดียว

2.

คือ นางรำตัวน้อย

คือ คนขับรถรับส่งไปโรงเรียน

พ่อเจอหน้าวารุณีครั้งล่าสุดจริงๆ เมื่อช่วงสงกรานต์ หรือประมาณ 4 เดือนที่แล้วนี่เอง แต่การกลับมาเจอลูกสาวตัวเองอีกครั้งในวันนี้ต่างออกไป พ่อแทบไม่พูดอะไร วารุณีบอกผ่านทนายความออกมาภายหลังว่า วันนั้นพ่อได้แต่ยืนหลบหลังลูกๆ แล้วร้องไห้ เช็ดน้ำตาอยู่คนเดียวเงียบๆ

พ่อ – เขาตัวเล็กอยู่แล้ว วันนี้ตอนเขายกถือหูโทรศัพท์ แขนเขาเล็กลงเยอะ 

พ่อ – ร่างเล็กตั้งแต่เด็ก ตัวเล็กตั้งแต่เด็กๆ ตอนเกิดมีน้ำหนักแค่ 2 กิโลกับอีก 2 ขีด ตอนเด็กก็ขี้โรคเยอะ 

พ่อเริ่มเล่าร่ายยาวย้อนไปถึงลูกสาวตัวเองในวัยเด็ก 

พ่อ – ท้องอืดประจำ แต่สองคนนี้ไม่เป็น (น้องสาวกับน้องชาย) นั่นเดี๋ยวก็ไข้ เดี๋ยวก็หน๋าว เดี๋ยวก็ร้อยแปดพันเก้า ตอนเด็กหมอเคยให้วัคซีนแล้วสลบนิ่งไปเลย เหมือนต๋ายแล้วเกิดใหม่ (พูดด้วยสำเนียงภาคเหนือ)

ตอนวารุณีอายุได้ 6 เดือนเศษ เธอต้องรับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบ ปรากฏว่าหลังหมอฉีดให้เสร็จเพียงชั่วครู่ เด็กหญิงวารุณีในตอนนั้นก็แน่นิ่งไปเลย จนพ่อคิดว่าเธอคงหัวใจหยุดเต้นไปแล้ว

พ่อ – ผมก็รีบกอดเอา เอาผ้าห่มคลุมให้อุ่นขึ้นมา สรุปก็ฟื้นขึ้นมานั่นแหละ! ก็ดีขึ้นมาตั้งแต่วันนั้นแหละ

พ่อบอกว่า ตั้งแต่ครั้งนั้นเด็กหญิงวารุณีก็เติบใหญ่มาอย่างแข็งแรง ไม่เผชิญโรคภัยไข้เจ็บอะไรอีกเลย พอโตขึ้นหน่อยได้เข้าเรียนชั้นอนุบาล ด้วยความที่หน้าตาน่ารักจิ้มลิ้มและความกล้าแสดงออก คุณครูประจำชั้นเลือกให้วารุณีมาแต่งตัวเป็นนางรำตัวน้อยของโรงเรียน และเธอก็ได้เป็นนางรำ หรือ ‘เด็กนาฏศิลป์’ เรื่อยมาจนถึงชั้นประถมปลาย

พ่อ – พ่อนี่แหละไปส่ง จนกระทั่งถึง ม.3 ม.4 ขี่รถเครื่อง (รถจักรยานยนต์) ไปส่งไปรำ ไปโฮงเฮียน (โรงเรียน) เวลามีงานกิจกรรมของโรงเรียนบ้าง งานจังหวัดบ้าง งานขามหวาน (มะขามหวาน) ประจำจังหวัดก็ต้องไปรำประจำ งานแข่งเรือหรืออะไรก็ไป โรงเรียนเขาจะจัดไปเอง ทางครูเขาจะขอมา

พ่อเคยไปดูวารุณีรำไหม

พ่อ – ไปทุกครั้งแหละ ต้องไปรับไปส่ง

พ่อ – เวลาเขารำก็สวยดี เขารำกันหลายคนนะ เป็นชุดใหญ่ๆ แสดงรำพร้อมกัน

พอวารุณีย้ายไปโรงเรียนมัธยมต้น เธอก็ไม่ได้เป็นนางรำอีกแล้ว พ่อบอกว่า ขึ้นรำครั้งหนึ่งต้องใช้เงินเยอะพอสมควร ประมาณ 1,000 – 2,000 บาท เป็นค่าแต่งตัว ค่าชุดรำ ค่าแต่งหน้า บางครั้งก็ต้องซื้อชุดใหม่ทั้งหมด ในตอนนั้นครอบครัวไม่ได้มีเงินมาก วารุณีจึงต้องหยุดทำกิจกรรมไปก่อน และหันไปตั้งใจเรียนแทน

วารุณีและน้องๆ อายุห่างกันแค่คนละ 3-4 ปี เวลาเข้าเรียนจึงไล่เลี่ยกันมาก ตอนเธออยู่ชั้น ม.3 น้องชายก็จะอยู่ชั้นประถมปลาย ส่วนน้องสาวก็จะอยู่ชั้นประถมต้น ทั้ง 3 คนค่อนข้างสนิทกันมาก และยิ่งวารุณีโตขึ้นเท่าไหร่ก็ดูเหมือนว่าเธอจะยิ่งมีบทบาทในการคอยดูแลน้องๆ แทนพ่อแม่มากขึ้นเท่านั้น

ตั้งแต่ขับมอเตอร์ไซค์คล่องจนพ่อแม่วางใจ เด็กหญิงวารุณีในชุดนักเรียน ชั้น ม.3 เลื่อนขั้นขึ้นเป็น ‘คนขับรถรับ-ส่งน้องๆ’ แทนคุณพ่อ โดยพ่อได้ซื้อรถมอเตอร์ไซค์คันใหม่คันแรกให้เธอเป็นเจ้าของเสียเลย ทุกวันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา 3 พี่น้องต้องนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์อัดแน่นกันไปเรียนทุกวัน แต่ต่างคนต่างเรียนอยู่โรงเรียนคนละแห่งกัน วารุณีต้องขับไปส่งน้องสาวก่อนเป็นคนแรก ตามด้วยน้องชายเป็นคนที่ 2 แล้วค่อยวนกลับมาที่โรงเรียนของตัวเองเป็นจุดหมายสุดท้าย 

น้องสาว – คนแรกที่พี่น้ำต้องแวะไปส่งก็คือเรา เพราะว่าโรงเรียนเราอยู่ไกลที่สุด ไกลมากๆ เกือบไปถึงอีกอำเภอหนึ่งเลย ไกลมากจริงๆ ค่ะ 

น้องชาย – ใช่ๆ แล้วพี่น้ำก็ค่อยขับย้อนกลับมาส่งผม 

น้องสาว – สำหรับมอเตอร์ไซค์ก็คือมันเป็นระยะทางที่ ‘ไกลมาก’ แค่ขาไปอย่างเดียวอาจจะ 16 กิโลได้ อาจจะเป็นไปได้ … ถ้ารวมไปกลับก็ประมาณ 30 กว่ากิโลได้เลย

30 กิโลเมตร … เธอคือไรเดอร์วัยมัธยมตัวจริง

ตลอดระยะทางที่ว่า ถนนสายที่ใช้เดินทางส่วนใหญ่เป็น ‘ทางหลวง’ ซะด้วย ฉะนั้นโดยเฉพาะช่วงเช้าและเย็นของทุกวันรถจะวิ่งกันเยอะมาก ทั้งรถบรรทุก รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ 

แต่จนเรียนจบ ทั้งน้องสาวและน้องชายก็ไม่เคยต้องมีแผลถลอกปอกเปิกจากอุบัติเหตุบนถนนเลยสักครั้ง 

ถ้าเป็นช่วงที่น้ำเรียนอยู่ชั้น ม.3 เรียนเสร็จแล้วเธอจะขับรถไปรับน้องๆ แล้วกลับบ้านได้เลยทันที แต่เมื่อเธอขยับขึ้นมาเรียนชั้น ม.ปลาย บางวันไปรับน้องๆ มาแล้ว แต่ทุกคนก็จะยังไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องนั่งเฝ้าพี่สาว ‘สอนพิเศษ’ อยู่ที่โรงเรียนต่ออีกสักพักหนึ่ง

น้องชาย – ตอนนั้นพี่น้ำเคยไปเรียนภาษาอังกฤษกับครูคนหนึ่ง แล้วทีนี้ครูเขาเห็นแววว่าพี่น้ำน่าจะสอนเด็กที่อายุน้อยกว่าเขาได้ ครูก็เลยจ้างพี่น้ำไปสอนพิเศษ ส่วนใหญ่จะเป็นวิชาคณิต ภาษาอังกฤษ แล้วก็มีวิชาสังคมมาบ้างประปราย

พ่อ – ส่วนมากนักเรียนจะเป็นเด็ก ม.ต้น ม.1-2

พอโตขึ้นอีกหน่อย วารุณี ในวัยนักเรียนชั้น ม.6 ก็เริ่มทำงานพาร์ทไทม์ในร้านพิซซ่าเป็นอีกงานหนึ่งควบคู่ไปด้วย ทั้งๆ ที่ยังเรียนอยู่ ตอนนั้นเธอทำงานพิเศษตั้งแต่เลิกเรียนตอนเย็น ไปจนถึงประมาณ 3-4 ทุ่มได้ โดยพ่อจะเป็นคนขับรถเข้าไปรับที่ห้างในตัวเมืองเพชรบูรณ์ที่น้ำทำงานอยู่เพื่อพากลับบ้านทุกวัน

น้องสาว – ตอนนั้นพี่น้ำกลับดึก กลับดึกมากแทบทุกวัน

พ่อ – พ่อต้องไปรับ ไกลอยู่ หลายกิโล อยู่ในเพชรฯ นั่นแหละ

ตอนนั้นครอบครัวเดือดร้อนเรื่องเงินหรือเปล่า ทำไมวารุณีถึงได้ขยันทำงานหาเงินทั้งที่ตัวเองยังเรียนไม่จบ ครอบครัวบอกว่า ส่วนหนึ่งเพราะเธอมีของที่อยากได้ด้วย แต่อีกส่วนก็เอามาซื้อขนมและของกินอร่อยๆ ให้น้องๆ และคนในบ้านได้ทานกันตลอด 

น้องสาว – เวลาที่เขาได้เงินมา เขาก็จะซื้อให้น้องก่อน น้องอยากกินอะไรก็จะให้น้องก่อน

ของชิ้นไหนจากพี่น้ำที่รู้สึกประทับใจมากที่สุด

น้องสาว – โห เขาให้เยอะมากเลย

น้องชาย – ใช่ ให้เยอะมาก จำไม่ได้เลยครับ 

น้องสาว – จำไม่ได้ว่าชิ้นแรกมันคืออะไรนะคะ แต่ว่าที่จำได้ขึ้นใจเลยก็น่าจะเป็น ‘โทรศัพท์’ ที่เรารู้สึกว่ามันเป็นของชิ้นใหญ่สำหรับเรา พี่น้ำซื้อโทรศัพท์ให้เรา จำได้ว่าเป็น ‘ไอโฟน’ 

น้องสาว – เราไม่เคยบอกเขาเลยว่า ‘เราอยากได้’ แต่ถ้าเขารู้ว่าโทรศัพท์ของเราไม่ดี เขาก็จะซื้อให้น้องใหม่เลยค่ะ, โทรศัพท์ของเรา พี่น้ำเป็นคนซื้อให้ทุกเครื่องเลยค่ะ 

น้องชาย – ส่วนใหญ่เวลาเขาได้ตังค์มา พี่น้ำก็จะถามว่า ‘อยากกินอะไร’ นิสัยเขาเป็นอย่างนี้ครับ เป็นมาตั้งแต่เด็ก ล่าสุดที่ไปเจอเขามาเมื่อเช้า (ที่เรือนจำ) เขาก็จะบอกว่า ‘ให้พาพ่อไปกินหมูกระทะร้านนี้นะ, น้องสาวรู้ ให้น้องสาวขับรถพาไป’ เขาก็ยังเป็นห่วงพ่อ ทั้งที่ตัวเองไม่ได้กินข้าวมาเป็น 10 วันแล้ว

น้องสาว – ถึงเขาจะไม่ได้กินข้าว แต่เขากลับเป็นห่วงพ่อมากกว่าตัวเอง เขารู้ว่าพ่อเดินทางมาไกลน่าจะเหนื่อย เขาก็บอกว่าให้พาไปกินข้าวอร่อยๆ ด้วยนะ เขาเป็นห่วงทุกคน ถึงแม้ในตอนนี้ ตอนที่เขาตัวผอมมาก ไม่ได้กินข้าวมาหลายวันก็ตาม เขาเป็นคนแบบนี้แหละค่ะ

ถึงตอนนี้ ทุกคนเล่าแล้วร้องไห้ไปด้วย และพากันเช็ดน้ำตา

3.

คือ เสาหลักของครอบครัว

คือ แม่อีกคน

จุดเปลี่ยนสำคัญของครอบครัวเกิดขึ้นเมื่อครั้งที่ทุกคนได้สูญเสีย ‘แม่’ ไป และเป็นวิกฤตสำคัญที่ประกอบสร้างวารุณีให้เป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นคนที่เข้มแข็งอย่างทุกวันนี้

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ช่วงปี 2556 ตอนนั้นวารุณีเรียนมหาลัยฯ อยู่ชั้นปีที่ 4 และใกล้จะจบเต็มทีแล้ว ช่วงที่แม่เริ่มป่วยหนักมากขึ้นจากโรคมะเร็ง เป็นช่วงเดียวกับที่วารุณีต้องฝึกงานและทำโปรเจกต์ขอเรียนจบเทอมสุดท้าย ทำให้วารุณีไม่ได้มีเวลามาเยี่ยมแม่บ่อยมากนัก รวมถึงมีเหตุสุดวิสัยเกี่ยวกับการเรียนที่มหาลัยเกิดขึ้นบ่อยครั้ง วารุณีได้มาเยี่ยมแม่อีกทีก็ตอนที่อาการทรุดหนักมากแล้ว

น้องสาว – ตอนนั้นเหมือนพี่น้ำได้มาเยี่ยมแม่ที่โรงพยาบาลแค่ครั้งเดียว หลังจากนั้นพี่น้ำก็ไม่รู้เลยว่าสภาพแม่เป็นยังไง หรืออาการหนักแค่ไหน พอมาหาแม่อีกที แม่ก็ถูกสอดท่อทุกอย่างแล้ว เขาไม่รู้ว่าแม่อาการหนักขนาดนี้

ในตอนนั้นวารุณีสภาพจิตใจย่ำแย่มากพอสมควร เธอต่อว่าน้องๆ ว่าทำไมถึงไม่บอกเธอว่าแม่อาการเป็นหนักขนาดนี้แล้ว และเมื่อแม่จากไป เธอเป็นคนที่เสียใจมากที่สุดคนหนึ่ง แต่ไม่นานเธอก็ต้องรีบฉุดตัวเองขึ้นมาจากความเศร้าโศก เพื่อดูแลทุกคนอย่างที่แม่ฝากฝังไว้ 

น้องสาว – แม่สนิทกับลูกทุกคน เวลาพี่น้ำมีเรื่องอะไรเขาจะคุยกับแม่ซะเยอะ เวลาเขาเหนื่อย เขาท้อ เขาก็จะคุยกับแม่ได้ แต่พอแม่เสียไป เขาเองก็ยังไม่มีเวลาได้ทำใจก็ต้องรีบโตแล้ว เพราะว่าต้องเลี้ยงน้อง ต้องเป็นที่พึ่งให้น้อง มันโหดกับเขามากตอนนั้น 

น้องสาว – เหมือนตั้งแต่ตอนนั้นพี่น้ำกลายเป็น ‘แม่’ แทนแม่ของพวกเราที่เสียไปแล้ว ทั้งที่ตอนนั้นเขาน่าจะเคว้งมากเหมือนกัน เพราะเขาก็กำลังจะเรียนจบ แล้วจู่ๆ แม่ก็มาเสียไปก่อน 

ตอนแม่ของพวกเธอจากไป น้องชายของวารุณีใกล้จะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยเต็มทีแล้ว ส่วนน้องสาวก็กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย ความรับผิดชอบทั้งหมดนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างมากอยู่ทีเดียว นั่นทำให้วารุณีต้องรีบหางานทำ เข้ามาดูแลเรื่องการเงินของทุกคนในครอบครัวทันที แม้ว่าเธอจะเพิ่งเรียนจบก็ตาม

น้องสาว – พอจบมาแล้วควรจะได้พัก แต่เขาก็ไม่ได้หยุดพักเลย เขาก็ต้องโต ต้องทำงานเลย โตเป็นผู้ใหญ่เลย เลี้ยงน้องเลย ที่พวกเราจบมหาลัยมาได้ก็เพราะพี่น้ำนี่แหละเป็นคนส่งเสีย

ครอบครัวของวารุณีที่เพชรบูรณ์เป็นเกษตรกร พ่อและแม่ทำนาข้าว ซึ่งจะเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปี 1-3 ครั้ง เกี่ยวข้าวได้กี่ครั้งขึ้นอยู่กับว่าปีนั้นน้ำท่วมมากหรือน้อย ถ้าปีไหนน้ำท่วมก็ปลูกได้แค่ครั้งเดียว บางทีปลูกไปแล้วแต่ถูกน้ำท่วมจนต้นข้าวตายไปก่อนก็มีบ่อย เกี่ยวข้าวครั้งหนึ่งจะขายข้าวเปลือกได้ประมาณ 30,000 – 50,000 บาท ซึ่งยังต้องหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก เช่น ค่ารถเกี่ยวข้าว ค่าปุ๋ย จนบางครั้งก็แทบไม่มีเงินเหลือใช้

วารุณีเรียนจบปริญญาตรีเกี่ยวกับศาสตร์แพทย์แผนไทย ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร แต่ตอนนั้นเธอคิดว่า หากทำงานตรงสายรายได้ก็จะไม่สูงมาก และอาจจะไม่พอเลี้ยงดูคนที่บ้าน งานแรกๆ ที่วารุณีตัดสินใจเลือกทำ จึงเป็นงาน ‘พนักงานขายเครื่องมือการแพทย์’ เพราะถ้ายิ่งขายได้เยอะก็จะได้คอมมิชชั่นเยอะตามไปด้วย

น้องสาว – เขาพยายามปิดยอดให้ได้เยอะๆ พยายามทำให้ได้ เพราะช่วงที่พี่น้ำจบแล้วทำงาน พี่ชายหนูเข้าปี 1 พอดี มันใช้ค่าใช้จ่ายเยอะ ซึ่งเราก็จะขึ้นมอปลายอีก

ในตอนนั้นน้องชายวารุณีเข้าเรียนคณะพยาบาลศาสตร์ มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าเทอม เทอมละประมาณ 16,000 บาท ตอนปี 1 อยู่หอใน เสียค่าหอเป็นเทอม เทอมละ 6,000 กว่าบาท พอย้ายไปอยู่หอนอกมหาลัยตั้งแต่ปี 3 เป็นต้นไป ก็ต้องเสียค่าหอมากขึ้น เป็นเดือนละประมาณ 4,000 บาท  

ขณะเดียวกันน้องสาวที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย แม้จะยังไม่ได้มีค่าใช้จ่ายอะไรมากมายเท่าพี่ชาย แต่วารุณีก็พยายามให้น้องสาวของเธอได้เรียนพิเศษอยู่ตลอด ซื้อคอร์สติว หาที่เรียนพิเศษ ซื้อหนังสือให้ ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมากอยู่เช่นเดียวกัน

พอน้องสาวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็เป็นวารุณีที่ส่งเสียค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด ค่าเทอมเทอม 12,000 บาท และทุกเดือนต้องจ่ายค่าหอพักประมาณ 4,500 บาท

พ่อ – เขาทำงานหาเงินส่งให้น้องเรียนด้วย ส่วนพ่อก็ได้ส่งให้บ้างไม่ได้ส่งบ้าง เพราะพ่อรายได้น้อย ฝนแล้ง น้ำท่วม อะไรเยอะแยะมากมาย พออยู่ได้เฉยๆ เกษตรกรทุกวันนี้มันอยู่ยาก ค่าครองชีพในเมืองมันสูงกว่าบ้านนอกหลายเท่า

น้องชาย – เราก็พยายามเซฟค่าใช้จ่ายให้ได้มากที่สุด ปกติพี่น้ำเขาจะไม่ได้ให้ค่าขนมเป็นรายเดือน เพราะว่าสิ้นเดือนทีก็ต้องจ่ายก้อนใหญ่หลายอย่าง หลายครั้งพี่น้ำเองก็ไม่มี บางครั้งก็ขอห้าร้อยมั้ง หรือพันหนึ่ง ก็ต้องขอเป็นรายครั้งไป 

น้องสาว – เหมือนกันค่ะ ส่วนใหญ่ถ้าวันอาทิตย์ก็จะขอทีหนึ่ง เป็นค่ากิน ส่วนค่าหอ ค่าเดินทาง ก็คือพี่น้ำ เหมือนเขาเป็นแม่เราเลย ทุกอย่างเป็นพี่น้ำที่ดูแลเรา พี่เขาเป็นทุกอย่างของเราจริงๆ

น้องสาว – ถ้าถามว่า นอกเหนือจากเงินค่ากินข้าว ค่ารถ ค่าเรียนที่เขาให้แล้ว ยังมีอะไรอีก เขาจะชอบซื้อของให้ โดยเฉพาะในโอกาสพิเศษของเรา พี่น้ำก็จะเป็นคนออกตังค์ตลอด

น้องชาย – ใช่ อย่างผมเรียนพยาบาลจะมีพิธีรับหมวก พี่น้ำก็จะซื้อของให้ ให้ตังค์ แล้วก็พอจบก็เป็นพิธีรับเข็ม รับปริญญา เขาก็ให้ตังค์ ให้ของขวัญอีก

น้องสาว – ค่าช่างแต่งหน้า ค่าอะไรแบบนี้ ทีแรก เราคิดว่าจะแต่งหน้าเอง จะได้ประหยัด เราไม่อยากรบกวนเขา เขาก็แบบ ‘โอ้ย, ไม่เป็นไรหรอก’ ประมาณว่า มันเป็นวันสำคัญ ถ้ามาแต่งหน้าเองแล้วมันไม่สวยแล้วมันบ้งๆ เบ้งๆ ขึ้นมาแล้วมันจะเป็นยังไง เขาก็บอกว่าให้จ้างช่างไปเถอะ ไม่เป็นไรหรอก ทั้งวันซ้อมแล้วก็วันรับจริงด้วย เท่าไหร่ก็บอกพี่น้ำ 

น้องสาว – ตอนงานบวชพี่ชาย เขาก็มองว่า ค่าใช้จ่ายมันต้องเท่าไหร่ เขาคิดไว้เองเลย เขาไม่ได้ถามว่าใครจะช่วยได้บ้าง หนูก็พยายามบอกว่า เออไม่เป็นไร ค่าใช้จ่าย เดี๋ยวพ่อจัดการด้วย แต่ว่าพี่น้ำก็กังวลว่า แล้วมันจะต้องจ่ายเท่าไหร่ ถ้าเงินไม่พอจะทำยังไง 

น้องสาว – เหมือนพอเขาทำงาน โตขึ้น ได้เงินมากขึ้น เขาก็ให้เรามากขึ้นไปด้วย

น้องสาว – พอบางทีโตขึ้นมันก็ต้องใช้ชีวิตของตัวเอง มันก็อาจจะมีเรื่องความห่างกันบ้าง แต่ถ้าเรามีอะไรเดือดร้อน แน่นอนว่าเราคิดว่าเขาเป็นที่พึ่งแค่ที่เดียวของเราค่ะ ทุกอย่างเขาต้องรับผิดชอบ เหมือนเขาแบกทุกอย่างมาตลอด แล้วเขาก็คิดว่า เขาจะทำแบบนี้ต่อไป ‘เออ, ไม่เป็นไรหรอก เดี๋ยวพี่น้ำจ่ายให้เอง’ เขาเป็นคนแบบนี้ค่ะ อย่างค่าบ้าน พี่น้ำก็ช่วยผ่อน

เธอหมายถึง ‘บ้านหลังใหม่’ ที่พิษณุโลกที่น้องชายอยู่ทุกวันนี้ ก่อนหน้านี้สมัยที่วารุณีและน้องชายเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเดียวกันที่จังหวัดพิษณุโลก พวกเขาได้เช่าบ้านหลังหนึ่งไว้พักระหว่างเรียน แต่เมื่อน้องชายเรียนจบก็ได้ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดพิษณุโลกเรื่อยมาจนถึงตอนนี้ วารุณีจึงเสนอให้น้องชายซื้อบ้านไว้เป็นของตัวเอง เผื่อว่าสักวันทั้งครอบครัวจะได้มาอยู่ด้วยกันที่บ้านหลังนี้อย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยวารุณีอาสาช่วยผ่อนบ้านหลังนี้คนละครึ่งกับน้องชาย

ไม่เคยมีสักนาทีเดียวที่เธอจะทอดทิ้งครอบครัวไว้เบื้องหลัง ความกังวลต่อเรื่องการเงินและความเป็นอยู่ของครอบครัว คือ ความเครียดสำคัญเรื่องหนึ่งที่ทำให้วารุณีกินอยู่ไม่สุขในเรือนจำ เธอบอกผ่านทนายความออกมาตลอดๆ ว่า เป็นห่วงทุกคน เป็นห่วงน้องสาวว่าจะเอาเงินที่ไหนใช้ น้องชายจะเอาเงินที่ไหนผ่อนบ้าน หรือพ่อจะอยู่ยังไง ฯลฯ

น้องสาว – หนูมาคิดตลอดเลยนะ สมมติว่า กลับกันถ้าหนูเป็นคนเกิดก่อน ถ้าหนูไม่ใช่น้องคนเล็ก หนูจะทำได้เท่าพี่เขาไหม เราคิดกับตัวเองตลอด เราคิดว่าตัวเองน่าจะทำไม่ได้เท่าพี่เขา (ร้องไห้)

4. 

คือ เทพีสงคราม

 คือ นางแบก คือ ติ่งส้ม ?

มาถึงตรงนี้หลายคนคงรู้จักวารุณีมากขึ้นบ้างแล้ว จะเห็นว่าสำหรับครอบครัวแล้ว เธอเป็นที่รัก ไม่ได้บกพร่องในการเป็นลูกหรือพี่สาวเลย แต่สมาชิกในบ้านทุกคนก็ยอมรับตามตรงว่า กับคนอื่นข้างนอกบ้านเธอเองก็ไม่ใช่คนดีแบบ 100% 

ทั้งสามรู้ดีว่า วารุณีเป็นที่รู้จักของคนจำนวนหนึ่งในโซเซียล ในบทสนทนาบนโลกอินเทอร์เน็ต บางครั้งเธอเป็นผู้สร้างเสียงหัวเราะ แต่บางครั้งก็เป็นผู้สร้างความเกลียดชัง บางคนอาจไม่ถูกใจเธอ แต่ก็มีไม่น้อยที่ชื่นชอบและติดตามในความเป็นวารุณี

วารุณีเองเคยให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง โดยแนะนำตัวเองว่าเป็น ‘ชาวเน็ตมืออาชีพ’ ด้วย

เมื่อเธอถูกคุมขังในครั้งนี้ หลายคนตั้งคำถามต่อวารุณีอยู่ตลอดว่า เธอใช่ ‘นางแบก’ หรือไม่ บ้างก็โต้ว่าไม่ใช่ ไม่ได้เป็น วารุณีเป็น ‘ติ่งส้ม’ ต่างหาก บ้างก็ถามหารีแอคจากพรรคการเมืองที่วารุณีน่าจะกาให้ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา

หรือยิ่งไปกว่านั้น บางการแสดงความคิดเห็นและการวิพากษ์วิจารณ์ของวารุณีในอดีตถูกหยิบยกมาเป็นข้อโต้แย้งกับสังคมว่า นี่ไง เธอสมควรแล้วที่จะถูกขัง โดยเฉพาะการเคยวิพากษ์วิจารณ์ต่อกรณีที่ผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และกรณีที่ผู้ต้องขังการเมืองเคยใช้วิธีอดอาหารประท้วงเพื่อทวงคืนสิทธิประกันตัว   

จากการตั้งคำถามและคาดเดาของผู้คนบนโซเซียลมีเดีย ครอบครัวของวารุณีเองได้ติดตามอยู่ตลอด และได้รับคำถามเหล่านี้โดยตรงหลายครั้ง แต่ครอบครัวไม่อยากให้ทุกคนหลงอยู่ในประเด็นเหล่านั้นมากจนลืมประเด็นสำคัญที่ว่า ‘ไม่ว่าใครก็ควรได้รับเป็นธรรม’

น้องสาว – เรารู้สึกว่าจริงๆ พี่สาวเราก็ไม่ได้เป็นคนดีแบบ 100% คนเราก็ต้องมีอะไรที่ไม่ดีบ้าง พี่น้ำเองก็มีมุมในอินเทอร์เน็ตที่เขาอาจจะมีการตอบโต้ใครหลายคน มีการทะเลาะกับคนในโซเซียล แต่อยากให้มองว่าเขาเป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่อยากให้ยกเงื่อนไขที่เขาเคยจะทะเลาะกับใครหรือทำอะไรไว้มาเป็นเหตุผลว่า สมควรทำให้เขาได้รับการติดคุกในครั้งนี้ ไม่อยากให้คนมองแบบนั้น 

ครอบครัวของวารุณี โดยเฉพาะน้องสาวเข้าใจและยอมรับความจริงว่า มีคนจำนวนไม่น้อยอาจจะเคยเจ็บช้ำจากการกระทำของวารุณีบนโลกโซเซียลเมื่อครั้งอดีต แต่สิ่งที่ครอบครัวยอมรับไม่ได้ นั่นคือ การปล่อยข่าวโคมลอยที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับวารุณี รวมถึงการโน้มน้าวให้คนในสังคมเกลียดและต่อต้านวารุณี สิ่งนี้ครอบครัวมองว่า ไม่แฟร์กับคนที่กำลังถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ เพราะเธอไม่มีโอกาสที่จะแก้ต่างให้กับตัวเองได้เลย 

ถ้าจะรู้สึกเกลียดหรือไม่สงสาร อยากให้เป็นความรู้สึกของเขาคนนั้นจริงๆ ไม่ใช่ถูกโน้มน้าวหรือคล้อยตามข่าวเท็จ ครอบครัวของวารุณีทิ้งท้ายไว้ในประเด็นนี้ 

5.

คือ สาวกของแซ๊บ!

นอกจากข่าวโคมลอย คนคอยจ้องโจมตี ด่าทอ แสดงเกลียดชังต่อวารุณีบนโซเซียลแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้ครอบครัวเป็นทุกข์มากที่สุดในตอนนี้คงไม่พ้นการที่วารุณีถูกพิพากษาจำคุกด้วยโทษ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา มิหนำซ้ำในตอนนี้เธอกำลังอดอาหารและน้ำประท้วงเพื่อทวงสิทธิประกันตัวอยู่ด้วย 

อันที่จริงคดีความของวารุณีเริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอถูกตำรวจจาก บก.ปอท. เข้าจับกุมถึงพิษณุโลกและถูกนำตัวมากรุงเทพฯ ในช่วงปลายปี 64 จนเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2566 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 3 ปี แต่ให้ลดโทษกึ่งหนึ่ง เพราะรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยที่ศาลไม่ให้รอการลงโทษ ทำให้วารุณีถูกคุมขังชั้นอุทธรณ์มาตั้งแต่วันนั้น  

ในวันที่ศาลนัดฟังคำพิพากษา วารุณีเองก็ไม่ได้เผื่อใจว่าศาลจะสั่งคุมขังเธอเรื่อยมาเช่นนี้ เพราะเธอเองไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน เมื่อถูกดำเนินคดีในครั้งนี้ก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนีหรือบ่ายเบี่ยงไม่ยอมไปตามนัดหมายเลยสักครั้ง และที่สำคัญเธอมองว่า พฤติการณ์ต้นเรื่องเกี่ยวกับการโพสต์รูปตัดต่อพระแก้วมรกตใส่กระโปรงนั้นไม่ได้ร้ายแรงมาก หากจะเทียบกับคดี ม.112 คดีอื่นๆ 

ไม่ใช่แค่วารุณีที่คิดผิด แต่ครอบครัวก็คิดผิดเช่นกัน

พ่อ – รู้สึกไม่ดีตรงที่ว่าลูกไปถูกจองจำ มันไม่น่าจะถึงอย่างนี้ ติดคดีไม่ได้ฆ่าคนตาย ไม่ได้ยาเสพติด โทษไม่น่าจะหนักขนาดนี้ พ่อยังคิดว่าคงจะได้รอลงอาญาสัก 2 ปีอะไรก็ว่าไป เพราะเขาเป็นคนดีมาตลอด ตั้งแต่เด็กมาแล้วแหละ ไม่เคยเอาเปรียบใครอะไรใคร พ่อเลี้ยงพ่อดูแลมากับมือ

น้องสาว – ก่อนหน้านี้ เราเคยฟังเรื่องในเรือนจำฟังจากคนอื่น ซึ่งเราก็รู้ว่ามันก็แย่ มันไม่ได้ดีหรอก จนวันหนึ่งต้องมาฟังจากปากพี่สาวตัวเอง มันทำให้เรารู้ว่า ที่เคยคิดว่าแย่ มันแย่ไปได้กว่านั้นอีกอะ ขนาดเรา ‘แค่ฟัง’ เรายังรู้สึกว่ามันแย่มาก แล้วคนที่อยู่ข้างในล่ะ มันคงจะสุดๆ มากๆ จริงๆ สำหรับพวกเขา 

น้องสาว – ห่วงเขามากๆ เพราะว่าพี่น้ำเป็นคนรักอิสระ อยู่ข้างนอกเขาสามารถทำอะไรได้ตามใจ แต่ถ้าอยู่ข้างในมันมีกฎ มีเกณฑ์ที่ต้องทำ ต้องปฏิบัติ แล้วข้างในเขาไม่ได้ปฏิบัติเหมือนเราเป็นคนๆ หนึ่งที่มีจิตใจ เขาคงจะเข้มงวดมากๆ ทั้งเรื่องอาหารการกิน การนอน 

น้องสาว – เป็นห่วงทั้งเรื่องสุขภาพของเขาด้วย ที่เขาต้องกินยาไบโพลาร์ เวลาจะส่งยาโรคประจำตัวให้เขา มันมีกระบวนการหลายอย่างมาก กว่าจะไปถึงเขามันต้องใช้เวลา เรากลัวว่าเขาจะไม่ได้กินยาต่อเนื่อง มันจะเป็นผลไม่ดีกับเขาเอง 

เหมือนอย่างตอนที่วารุณีต้องเข้าเรือนจำวันแรก เธอต้องรอเกือบสัปดาห์ได้ถึงจะได้รับยาปรับสมดุล ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาโรคอารมณ์สองขั้ว (Bipolar) ทั้งที่ญาติได้ส่งยาเหล่านี้ให้เรือนจำตั้งแต่วันแรกๆ ที่วารุณีถูกคุมขังแล้ว ทำให้ระหว่างที่ไม่ได้ทานยา เธอจะมีความบกพร่องทางอารมณ์ นอนไม่หลับ และว้าวุ่น

เมื่อวารุณีถูกคุมขัง ความเป็นอยู่ของคนในครอบครัวจึงระส่ำระสายตามไปด้วย เพราะภาระหลายอย่างยังคงต้องการรายได้จากการทำงานของเธอ รวมถึงหนี้สินส่วนตัวของวารุณีเองด้วย

น้องสาว – ถ้าเรื่องการเงินที่บ้าน แน่นอนเขาเป็นเสาหลักค่ะ ช่วงที่พี่น้ำต้องเข้าเรือนจำแรกๆ มันกระทบกับพวกเราเยอะมากๆ ค่าห้อง ค่าบ้าน หนี้ ฯลฯ พอเขาไม่อยู่ เราก็ต้องเป็นคนจัดการทั้งหมด ต้องพยายามรับมือว่าจะใช้จ่ายยังไง แล้วก็พยายามประหยัดเงินให้มากขึ้นมากๆ มันหนักจริงๆ 

น้องสาว – แต่มาช่วงหลังๆ เราสองคน (น้องทั้งสองคน) คุยกันว่า อย่างน้อยต้องให้พี่น้ำสบายใจว่า ‘เราหาเงินได้ มันทำได้’ จะได้ให้เขาตัดเรื่องที่กังวลใจมากๆ ออกไป ให้เขาได้เบาใจ 

น้องสาว – ก่อนที่เขาจะอดข้าว เราพยายามสั่งข้าวสั่งอาหารให้เขา อย่างน้อยความเป็นอยู่ไม่ดี นอนไม่ดี อาบน้ำไม่ดี แต่ให้เขาได้กินอาหารที่ดี ที่เขาชอบ 

วารุณีบอกว่า ชอบ ‘แหนมแท่ง’ ที่น้องสาวซื้อให้มาก บอกว่ารู้ใจที่สุด!

น้องสาว – ใช่ๆ พวกไข่เจียวแหนม เขาชอบ ของเปรี้ยวๆ ดองๆ อะไรแบบนี้

น้องชาย – ส่วนใหญ่เขาชอบกินยำ อาหารทะเล พวกส้มตำปูม้า กุ้งสด ไปบ้านทีไรก็จะสั่งตลอด

น้องสาว – อีกอย่างพี่น้ำชอบกิน คืออาหารใต้ แกงไตปลาอะไรแบบนี้ 

น้องสาว – ชอบกินอะไรแซ่บๆ อะไรทำนองนั้น

พ่อ – น้ำพริกปลาร้าสับก็ชอบ

ถึงตอนนี้วารุณีจะรู้สึกหิวแค่ไหน รู้สึกกระหายเท่าไหร่ แต่เธอจะยังไม่แตะของชอบที่ว่ามานี้ 

เพราะเธอกำลังตั้งใจอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วงอย่างแน่วแน่ 

ปฏิเสธเรื่องพื้นฐานและจำเป็นของความเป็นมนุษย์ เพื่อให้ได้ความเป็นมนุษย์กลับคืน … 

5. 

คือ คนที่เวลาชีวิตกำลังนับถอยหลัง

ตั้งแต่ 28 มิ.ย. 2566 วันที่ศาลพิพากษาจำคุก วารุณีถูกจองจำอยู่ในเรือนจำเรื่อยมา จากวันผัดเป็นหลายวัน เป็นสัปดาห์ ผ่านไปเป็นเดือน และนานกว่าสองเดือนแล้ว ระหว่างนั้นทนายความและวารุณียื่นประกัน และยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันไปที่ศาลสูงอย่างต่อเนื่อง

ครั้งแล้วครั้งเล่าที่ยื่นคำร้องต่อศาล แต่ศาลก็มักจะมีคำสั่งตอบกลับมาลักษณะเดิมทุกสั่ง เหมือนกับว่าแทบจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย กระทั่งวารุณีถูกคุมขังไปกว่าเดือนครึ่ง เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2566 ทนายความได้ยื่นขอประกันครั้งที่ 4 วารุณีเชื่อมั่นมากว่า ศาลจะมีคำสั่งให้ประกันเธอสักที เพราะในรายละเอียดคำร้องที่เสนอต่อศาลไปครั้งนั้น ทั้งเธอและครอบครัวได้พยายามทำ ‘ทุกหนทาง’ แล้วจริงๆ เพื่อให้ศาลได้เห็นว่าเธอสำนึกผิด จะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และจะยอมรับผลของคดีความเมื่อถึงที่สุดแล้ว 

น้องสาว – ทุกคนพยายามทำทุกอย่างแล้ว ถ้ายังไม่ได้อีก เขาก็น่าจะผิดหวังมากๆ เลย แล้วตอนนั้นเป็นช่วงที่เขาเริ่มคิดเรื่องอดอาหารแล้ว 

ผลปรากฏว่า ครั้งนั้นศาลอาญาส่งต่อให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องเหมือนเช่นเคย จากนั้นศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง ‘ยกคำร้อง’ โดยให้เหตุผลทำนองเดิมว่า ข้อหามีอัตราโทษสูง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเคยไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว และเหตุตามคำร้องไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม 

ศาลยังได้ให้เหตุผลไปถึงอาการเจ็บป่วยของวารุณีที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว ซึ่งต้องเข้ารับการรักษาและพบแพทย์ต่อเนื่องเป็นประจำว่า ‘ที่อ้างว่าเจ็บป่วยนั้นกรมราชทัณฑ์สามารถดูแลจัดการให้ได้ หากยังคงรักษาพยาบาลอยู่ในเรือนจำอาการจะไม่ทุเลาดีขึ้น จำเลยชอบที่จะร้องขอให้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลหรือสถานบำบัดรักษาทางสุขภาพจิตนอกเรือนจำได้ตาม พ.ร.บ.ราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 …’

น้องสาว – พอไม่ได้ประกัน พี่น้ำก็เลยตัดสินใจอดอาหาร 100% อดแน่นอน ตอนนั้นเราไม่อยากให้เขาอดค่ะ เราก็พยายามไปคุยกับเขาว่า ‘มันเป็นการทำร้ายตัวเองนะ, รอให้กระแสข้างนอกมันดีกว่านี้ก่อนไหม, ตอนนี้กระแสเลือกนายกฯ มันกลบข่าวอื่นหมดนะ

น้องสาว – เราพยายามพูดว่า ชีวิตนี้เรามีแค่เขานะ ตั้งแต่แม่เสียไป เราก็มีที่พึ่งพาแค่เขาคนเดียวนะ 

น้องสาว – เขากลับเรากลับถึงขนาดว่า ‘ลองมาติดแทนพี่ดูไหม’ เขาทนไม่ไหว เขาแย่มากแล้วตอนนั้น เราพูดอะไรไป เขาก็ไม่รอแล้ว กระแสจะเป็นยังไงก็ช่าง พอเขาตัดสินใจแบบนี้เราก็ต้องซัพพอร์ตแหละนะ มันถอยกลับไปไม่ได้แล้ว  

น้องชาย – ตอนนั้นเราเยี่ยมพี่น้ำแบบวิดีโอคอลคุยกันผ่านไลน์ เราก็ไม่ได้บอกนะว่า ‘ห้ามทำ’ พี่น้ำบอกว่า ‘นึกว่าจะห้าม’ ตอนแรกก็เป็นห่วงอยู่แหละ เพราะการอดอาหารเป็นเรื่องใหญ่ แต่พอเขาตัดสินใจไปแล้วมันก็ห้ามอะไรไม่ได้ เขาเริ่มไปแล้ว เราก็พยายามจะซัพพอร์ตทุกอย่างเท่าที่ทำได้ 

น้องชาย – ตอนนั้นเขาฟังเราพูดแล้วก็ร้องไห้ด้วย บอกว่า ‘ดีใจ ที่การตัดสินใจครั้งนี้ยังต้องมีคนซัพพอร์ตอยู่’ 

ตอนนี้ทุกคนกังวลอะไรบ้าง

น้องชาย – กังวลเรื่องร่างกายเขามาก เพราะว่าร่างกายคนเราไม่เหมือนกัน การอดน้ำอดอาหารบางคนอยู่ได้เดือนหนึ่ง สองเดือน แต่บางคนอาจจะอยู่ไม่ถึง มันเป็นเรื่องของการเก็บพลังงานสำรองไว้ในร่างกาย แต่เขาเป็นคนกินน้อยอยู่แล้ว เขาตัวเล็กอยู่แล้ว พลังงานสำรองน่าจะไม่เยอะเท่ากับคนอื่น

พ่อ – กลัวเขาจะช็อก

น้องสาว – กังวลว่า ‘เขาจะตายจริงๆ ค่ะ’ … เรารู้ว่าพี่สาวเราไม่ได้กลัวความตายหรอก

น้องสาว – ถึงจะไม่ได้กลัวความตาย แต่ว่าระหว่างที่เขาจะไปมันต้องทรมานมากๆ เรารู้สึกว่าไม่ควรจะมีใครมาทำอะไรอย่างนี้เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม เรารู้สึกไม่แฟร์กับเขาเลย เขาต้องมาทรมานร่างกายตัวเองขนาดนี้เลยเหรอกับการโพสต์รูปหนึ่งรูป 

น้องสาว – ถ้าถามว่ากังวลแค่ไหน เรากังวลมากจนไม่อยากจะคิดลำดับต่อไปเลยว่ามันจะเป็นยังไงบ้างค่ะ บางทีเราก็เหมือนพยายามหลอกตัวเองว่า ‘เดี๋ยวสถานการณ์จะดีขึ้น, เดี๋ยวถ้ากระแสมันดีขึ้นมา ฯลฯ’ เหมือนคอยให้กำลังใจตัวเองตลอดว่า พี่น้ำจะต้องไม่ไปถึง ‘ขั้นนั้น’ … 

น้องสาว – ทุกวันนี้จะเข้าเยี่ยมเขา เราคิดแต่ว่า ‘วันนี้จะได้เจอเขาไหม, วันนี้เขาจะยังออกมาไหวหรือเปล่า’
คิดอยู่แค่นี้เลยค่ะ 

พ่อ – ทำใจไม่ได้ 

พ่อ – ทำอย่างนี้โอกาสที่จะรอดยาก

น้องชาย – พ่อเขากลัว กลัวว่าจะเป็นอะไรไปก่อน

น้องสาว – พ่อเขาไมได้สนับสนุนให้ทำแบบนี้

พ่อ – แค่ได้ข่าวก็เสียใจแล้ว เพราะว่าการอดอาหารมันเป็นสิ่งที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายของเรา แม้แต่น้ำคุณก็กินทุกวัน ไม่กินก็หิวจนใจจะขาด เราต้องกินข้าว เราต้องกินเพื่อทดแทนพลังงานร่างกายที่เสียไป 

พ่อ – ติดคุกยังมีวันได้ออก แต่ถ้าตายแล้วก็จบชีวิตไปเฉยๆ กว่าพ่อจะเลี้ยงให้ใหญ่อยู่ได้ถึง 30 ปีนี้มันต้องดูแลขนาดไหน กว่าจะโตได้ 

พ่อ – ถ้าไม่หยุด กลัวจะไม่รอด ถ้าทำต่อไปก็ต้องตาย จะช้าหรือเร็วเท่านั้นแหละ 

พ่อ – ถ้าอยู่ข้างนอกยังพอห้ามได้ แต่อยู่ข้างในทำไม่ได้ เพราะว่ามันเขตหวงห้าม ถ้าอยู่ข้างนอกนี้ไม่กินก็ยังเอาใส่ปากให้กินได้อยู่ แต่อยู่ในนั้นหมดสิทธิ์ที่จะทำอะไร เข้าไปหาก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้สักอย่าง

พ่อ – วันนี้ไปหาเขา เขาคิดว่าพ่อไม่รู้ว่าอดอาหารอยู่ เขาโกหกพ่อว่า ‘ไม่สบาย’ แค่นั้นเอง พ่อก็ต้องเตรียมใจไว้เยอะเหมือนกันแหละ … ไม่อยากให้ทำ

น้องสาว – วันนี้พ่อแอบไปยืนร้องไห้อยู่ข้างหลังคนเดียว ไม่คุยกับพี่น้ำเลย

พ่อ – ก็ไม่อยากเห็น ไม่อยากเห็น 

น้องสาว – เหมือนทนดูสภาพลูกไม่ได้

พ่อ – ไม่อยากเห็น (ร้องไห้)

6. 

คือ ลูกสาวที่พ่อภูมิใจ

คือ พี่สาวของน้อง

คือ แม่คนที่สอง

คือ … 

วารุณีเป็นอะไรสำหรับครอบครัว 

น้องสาว – เป็นครอบครัว เป็นแม่ เป็นพี่ แล้วก็เป็นพ่อด้วย 

น้องสาว – จริงๆ เขาเป็นทุกอย่างในชีวิตหนูนะ แค่คิดว่าถ้าเขาไม่อยู่ เราอยู่ไม่ได้ แค่นั้นเลย เขาคือทุกอย่างจริงๆ เป็นทั้งแม่คนที่ 2 ด้วย แล้วก็เป็นทุกอย่าง คือไม่รู้ว่าจะบรรยายยังไงกับเขาค่ะ เพราะว่าการให้สิ่งที่เขาทำให้เรา มันเกินที่เราจะพูดออกมาได้หมด 

น้องสาว – สำหรับครอบครัวเขาไม่เคยมีเรื่องบกพร่องอะไรเลย คิดว่ามันเกินหน้าที่เขาด้วยซ้ำที่เขาทำให้เรา 

น้องชาย – พี่น้ำเป็นทั้งแม่ ทั้งพี่สาวเลย เพราะว่าทำให้เราหมดทุกอย่างจริงๆ เราไม่คิดว่าเขาจะทำให้ได้ขนาดนี้ เขาทำงานหนักตั้งแต่สมัยเรียน เราไม่คิดว่าเขาจะทำเพื่อครอบครัวขนาดนี้ เขาเป็นมากกว่าพี่สาวอีกนะ เรามีปัญหาเดือดร้อนอะไร เขาจะมาดูแลตลอด 

น้องชาย – ตอนที่ผมป่วยนอนไม่มีแรงเลย กล้ามเนื้ออ่อนแรงไปเลย เขาก็หาเวลามาเยี่ยม มาถามว่าอยากได้อะไรบ้าง ส่งไปตรวจแล็ป อะไรที่ต้องเสียเงินเขาจ่ายเงินให้หมดเลย หลายเรื่องมากที่เขาทำให้ จนไม่รู้ว่าจะตอบแทนอะไรให้เขาได้บ้าง 

พ่อ – เขาเป็นคนดีสำหรับพ่อนะ พ่อภูมิใจที่สุดแล้ว เด็กๆ เขาก็ไม่ดื้อ สามารถที่จะดูแลน้องได้ ครอบครัวอบอุ่นนะ ไม่ได้แตกแยกกัน มีพ่อ มีแม่ ปู่ย่า ตายายคอยดูแลกันอยู่ แยกกันก็ตอนที่ได้เรียนนี่แหละ แต่ถึงจะห่างกัน แต่เราก็หาเวลามากินข้าวมาอยู่ด้วยกันตลอด เขาคือความสุขอย่างหนึ่งในชีวิตพ่อนะ

วารุณีบอกว่า เดือนนี้ (กันยายน) น้องสาวทำงานเดือนแรก และอยากใช้เงินเดือนเดือนแรกเลี้ยงข้าวพี่ใช่ไหม

น้องสาว – ใช่ค่ะ อยากจะชวนไปกิน Nice Two Meat U ที่เป็นร้านปิ้งย่างเกาหลี แล้วก็มีปูดอง เพราะพี่น้ำเขาชอบปูดองมากกกก 

น้องสาว – วันที่ 30 กรกฎาคมเป็นวันเกิดเรา ซึ่งพี่น้ำยังอยู่ในเรือนจำอยู่ เขาก็อวยพรให้เรา แล้วเขาก็ขอโทษที่ปีนี้ไม่ได้พาไปกินอะไรอร่อยๆ เขาบอกว่า ‘ถ้าอยู่ข้างนอกจะพาไปกิน Nice Two Meat U แล้วนะ’ 

น้องสาว – เขายังอุตส่าห์จำสิ่งที่เราชอบได้ ร้านนี้เป็นร้านที่เราชอบทั้งคู่เลย ก็เลยคิดว่าถ้าเขาได้ออกมาอยากพาเขาไปกินร้านนี้ เพราะว่าเขาไม่ชอบกินข้าว พวกปิ้งๆ ย่างๆ เขาชอบ พวกของดองเขายิ่งชอบ

น้องสาว – หนูว่า ‘อาหารใต้’ ก็ดูเป็นตัวเลือกที่เขาน่าจะคิดถึงมากๆ เหมือนกัน เขาชอบกินอาหารใต้ที่ ‘ร้านแก้วแกงใต้’ นั่นมาก ไม่มีร้านไหนที่อร่อยถูกใจเขาเท่าร้านนั้นแล้ว

น้องชาย – ไม่รู้ว่ากรุงเทพฯ เขากินอะไรกัน แต่ถ้าไปพิษณุโลกผมจะพาเขาไปกินหมูกระทะกับส้มตำครับ 

พ่อ – ส่วนมากนะ ตอนโตมาเนี่ยเขาจะพาไปกินซะมากกว่า ที่ไหนอร่อยๆ เขาก็จะพาไป

พ่อ – แต่ถ้าให้เลือกจริงๆ ร้านไหนที่เขาชอบ อยากกินตรงไหน อร่อยๆ อยู่ตรงไหนก็จะพาไป ก็จะหามาให้ ไม่ว่าจะเป็นอะไรที่เขาชอบ อยากให้เขาได้กินจะได้แข็งแรง

ภายหลังเราจบบทสนทนาสั้นๆ นี่แล้ว คุณพ่อของวารุณีได้เซ็นเอกสารคำร้องยื่นประกันตัววารุณี ในฐานะ ‘ผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแล’ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับศาลอีกอย่างหนึ่งว่า หากให้ประกันตัววารุณีออกมา พ่อจะคอยกำกับดูแลให้วารุณีปฏิบัติตามเงื่อนไขใดๆ ก็ตามที่ศาลกำหนด รวมถึงกำชับให้มารายงานตัวต่อศาลตามนัดหมาย และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องที่ศาลต้องการให้ทำตาม

การยื่นประกันครั้งนี้นับว่าเป็นครั้งที่ 5 แล้ว แต่ทว่า ในเวลาต่อมา ศาลฎีกาก็ยังคงมีคำสั่งเช่นเดิมว่าไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างลักษณะเหตุผลทำนองเดิม คือ ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก ข้อหามีอัตราโทษสูง เกรงว่าจะหลบหนี … 

ปัจจุบัน ‘วารุณี’ ถูกคุมขังระหว่างสู้คดีในชั้นอุทธรณ์มานานกว่า 3 เดือน เป็นการประท้วงศาลด้วยการอดอาหารและอดน้ำ ร่วม 1 เดือนแล้ว ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าปลายทางของการลุกขึ้นสู้ครั้งนี้จะไปถึงจุดไหน 

X