วันที่ 29 มิ.ย. 2566 ศาลแขวงพระนครเหนือ นัดฟังคำพิพากษาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “พี” พีรพงศ์ เพิ่มพูล นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “ม็อบ 23 ตุลา งานเสวนา FREE OUR FRIENDS FREE OUR FUTURE คืนอิสรภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2564
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นโดยกลุ่มทะลุฟ้า เพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมืองในขณะนั้น และเรียกร้องการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยมีการเสวนาพูดคุยปัญหาจากอดีตผู้ต้องขังคดีมาตรา 112, ทนายความ, นักกิจกรรมกลุ่มทะลุฟ้า และนักศึกษาฝึกงาน ทั้งยังมีกิจกรรมดนตรีและนิทรรศการศิลปะที่บริเวณรั้วเรือนจำ
ต่อมาภายหลังกิจกรรม มีผู้ถูกตำรวจ สน.ประชาชื่น ออกหมายเรียกมาดำเนินคดี 2 ราย ได้แก่ พีรพงศ์ และ “แซน” เยาวชนซึ่งขณะนั้นอายุ 16 ปี ทั้งสองคนทำหน้าที่เป็นพิธีกรงานเสวนาดังกล่าว แต่ไม่ได้มีการดำเนินคดีกับผู้จัดหรือผู้เข้าร่วมเสวนาคนอื่นๆ
เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 พ.ต.ท.ฐิตานนท์ ไชยเขียว พนักงานสอบสวน ได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองคนว่า กระทำความผิดฐาน “ร่วมกันชุมนุมหรือทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคำสั่งกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่าห้าสิบคน” อันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และต่อมาพนักงานสอบสวนก็ได้แจ้งข้อกล่าวหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เพิ่มเติม
ต่อมาในวันที่ 19 ต.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ได้ยื่นฟ้องคดีของพีรพงศ์ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ รายละเอียดตามคำฟ้องระบุว่า พีรพงศ์ และพวกอีก 60 คนที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้รวมตัวมั่วสุมกันจัดกิจกรรมชุมนุม มีผู้เข้าร่วมร้องเพลงและเต้นรำ สลับกับการพูดปราศรัย โดยไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตามที่ทางราชการกำหนด ผู้เข้าร่วมชุมนุมอยู่ใกล้ชิดกันโดยไม่เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล บางคนไม่สวมใส่หน้ากากอนามัย อาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดการแพร่โรค
คดีนี้พีรพงศ์ ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้สืบพยานโจทก์และจำเลยไปตั้งแต่วันที่ 23-25, 29 พ.ค. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้
วันนี้ (29 มิ.ย. 2566) เวลา 9.30 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 14 ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาคดีและอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้
เห็นว่า จำเลยเข้าร่วมกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคระบาด และทำการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ทั้งที่ทราบดีอยู่แล้วว่าเป็นการกระทำโดยฝ่าฝืนกฎหมาย
จำเลยควรรอให้สถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติก่อน หรือจนกว่ารัฐจะยกเลิกคำสั่งห้ามชุมนุม เพราะการชุมนุมอาจทำให้มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความปกติสุขของประชาชนในประเทศ
จำเลยจึงไม่อาจกล่าวอ้างได้ว่า ตนไม่มีความผิด เพราะมีเสรีภาพในการชุมนุมที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญไทย มาตรา 44 หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กฎหมายเพื่อปิดปากประชาชน ข้อต่อสู้ของจำเลยไม่อาจรับฟังได้ ส่วนพยานจำเลยที่นำสืบมีน้ำหนักน้อยกว่าโจทก์ เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมตามกระทงความผิดไป ลงโทษจำคุก 20 วัน ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 10,000 บาท ส่วน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ปรับ 200 บาท
จำเลยให้การเป็นประโยชน์ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงเหลือจำคุก 15 วัน ในข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 7,500 บาท ส่วน พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ปรับ 150 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน เห็นควรให้โอกาสจำเลย ให้รอการลงโทษจำคุกมีกำหนด 1 ปี
รวมพีรพงศ์ต้องชำระค่าปรับต่อศาลเป็นเงิน 7,650 บาท
ในส่วนของ “แซน” ได้ถูกแยกดำเนินคดีไปฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง โดยมีนัดสืบพยานโจทก์และจำเลยในวันที่ 6-8 ก.ย. 2566
.
.
ย้อนดูรายละเอียดกิจกรรม #ม็อบ23ตุลา64 : คืนอิสรภาพ ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดย Mob Data Thailand